- Pattani Decoded คือนิทรรศการบอกถึงสุนทรียะของคนปัตตานีต่อสิ่งต่างๆ นำเสนอผ่านงานศิลปะ งานออกแบบ มีกิจกรรมเดินล่องส่องย่าน ชมภาพถ่าย เปิดบ้านเก่า พาเรียนรู้ประวัติศาสตร์
- กิจกรรมเดินล่องส่องย่าน เป็น private space ที่อนุญาตให้คนเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ผ่านจิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์ร่วมของย่านที่ไม่มีตัวตน ปลุกพื้นที่ส่วนตัวแต่ทำให้คนนอก ‘มีส่วนร่วม’ และสร้าง ‘การเรียนรู้’
- เป้าประสงค์ของ Pattani Decoded ไม่ใช่แค่การถอดรหัส แต่บอกถึงสุนทรียะของคนที่อยู่บนต้นทุนทางวัฒนธรรม-ต้นทุนทางศิลปะที่รุ่มรวยในพื้นที่มานานแล้ว ไม่เพียงแค่สิ่งของ แต่บอกไปถึง identity ตัวตนของผู้คน อธิบายด้วยภาพใหม่ที่ไม่ใช่มุมมองจากคนนอกหรือรัฐที่มองว่านี่คือ มุสลิม จีน พุทธ
ภาพ: เดชา เข็มทอง
ระหว่างเดินเท้าในกิจกรรม ‘เดินล่องส่องย่าน’ บนถนนสามเส้นและเป็นย่านเศรษฐกิจทั้งเก่าใหม่ของเมืองปัตตานี ในงาน Pattani Decoded (ถอดเสียงได้ตรงเป๊ะกับคำว่า ‘ดีโคตร’) ครูมะ-อรรถพร อารีหทัยรัตน์ ในฐานะผู้ที่เกิดและเติบโตบนถนนเส้นนี้ ในฐานะลูกชายของคุณพ่อที่ทันครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ที่เมืองปัตตานี ไกด์กิตติมศักดิ์คอยเล่าเรื่องราวของตึกเก่าแต่ละตึกราวกับเวลาเมื่อ 50-100 ปีก่อนกลับมาอยู่ตรงหน้าอีกครั้ง
บ้างเป็นตึกใหม่ที่ถูกบูรณะจากเรือนจำปัตตานี บ้างเป็นตึกที่เคยเป็นที่ทำการของทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้างเป็นตึกของคหบดีจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานจากการอพยพหรือถูกส่งมาจากส่วนกลางในช่วงเขียนแผนที่ประเทศราวรัชกาลที่ 5 บ้าง บ้างชี้ชวนให้ดูลักษณะของตัวตึกที่ได้รับอิทธิพลจีน สิงคโปร์ ปากีสถาน หรือจากความเป็นบริติชในช่วงที่อังกฤษเข้ามามีบทบาทในเมืองปาตานีในช่วงสมัยนั้น
ความสนุกของงานคือ มันไม่เหมือนการท่องเที่ยวแบบ ‘จัดวาง’ อย่างงานท่องเที่ยวไทยในที่อื่นๆ หรืออาจเพราะตื่นตาตื่นใจกับเรื่องเล่าเล็กๆ น้อยๆ ที่มาจากปากเจ้าของเรื่องจริง จากตึกรามบ้านช่องที่ยังมีแต้มรอยของวันวาน แต่ก็ปนไปกับความร่วมสมัยของงานศิลปะที่ถูกจัดวางตลอดถนนทั้งสามเส้น
ทั้งหมดทั้งมวล เมืองดูมีชีวิต!
The Potential นั่งล้อมวงคุยกับตัวแทนผู้จัดงาน ได้แก่ ราชิต ระเด่นอาหมัด ประธานกลุ่ม Melayu Living, เลิฟ-กริยา บิลยะลา อดีตนักจัดการความรู้ TCDC และ อานัส พงค์ประเสริฐ ประธานกลุ่มสายบุรี ลุคเกอร์ ถึงความตั้งใจเบื้องหลัง อยากทำอะไรกับพื้นที่ อยากสื่อสารอะไร และมี ‘รหัส’ อะไรบ้างที่พวกเขาอยากถอดผ่านเรื่องเล่าเรื่องราวของเมืองท่าปัตตานีที่เคยรุ่งเรืองและเป็นแหล่งอารยธรรม
หลังจบบทสนทนาและผู้เขียนต้องลี้ภัยฝนเข้ามานั่งที่ร้านกาแฟในตึกเก่าติดแม่น้ำปัตตานีที่เคยรุ่งเรือง นั่งรอฝนซา (และเพื่อนร่วมทริปที่หนีไปชิมอาหารที่กิจกรรม Chef Table!) นึกถึงสิ่งที่เพิ่งคุยกับทีมทำงานไม่กี่นาทีก่อนว่า เออหนอ… เราเคยคิดว่า public space คือสิ่งปลูกสร้างคงที่พร้อมให้คนเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์และเรียนรู้ แต่ ‘เดินล่องส่องย่าน’ กลับเป็น private space ที่อนุญาตให้เราเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ผ่านจิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์ร่วมของย่านที่ไม่มีตัวตน ปลุกพื้นที่ส่วนตัวแต่ทำให้คนนอก ‘มีส่วนร่วม’ และสร้าง ‘การเรียนรู้’ ได้เหมือนกัน
งานสร้างสรรค์ที่ Melayu Living เคยทำก่อนหน้านี้มีอะไรบ้าง
เลิฟ: ก่อนหน้านี้เราจัดกิจกรรมเดินย่านที่ชื่อ ‘อา-รมย์-ดี’ ชวนคนเดินย่านเก่าบนถนนสามสายของเมืองคือ อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ และ ฤาดี ถอดออกเป็นคำว่า ‘อา-รมย์-ดี’ โดยได้ asa can (กรรมาธิการสถาปนิกเพื่อสังคมและเมือง สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์) เป็นผู้สนับสนุน
ราชิต: ก่อนหน้านี้เราเชิญพี่หมู นนทวัฒน์ (นนทวัฒน์ เจริญชาศรี Design Director) และพี่ใหญ่ (ผู้ก่อตั้ง DUCTSTORE) มา talk วัยรุ่นเข้ามาฟังเยอะมาก รู้สึกเลยว่ามันเป็นการส่งพลังให้กัน เลยคิดกันว่าทำไมไม่ลองจัด design week ในปัตตานีบ้าง ตอนนั้น Melayu Living เองก็มีมาสองปีกว่า คิดว่าเราน่าจะทำงานสเกลนี้ได้ จากงานเดินย่านในวันนั้น ผ่านมาหนึ่งปี เราก็เริ่มเตรียมงานตั้งแต่วันนั้นเลย
ในส่วนของงานนี้ เรามองว่าไม่ใช่แค่ Melayu Living แล้วที่จะเป็นแม่งาน แต่ให้ทุกเครือข่าย ทุกกลุ่มกิจกรรมมาทำงานร่วมกัน อย่างเช่น อานัส จากกลุ่มสายบุรีลุคเกอร์ ก็ชวนมารับหน้าที่ด้านดนตรี และภาพยนตร์ มาแจมกันสนุกๆ
คนทำงานตั้งใจอยากสื่อสารอะไรใน Pattani Decoded
อานัส: ส่วนตัวมองว่ามันไม่ใช่แค่การถอดรหัส แต่บอกถึงสุนทรียะของคนที่นี่ต่อสิ่งต่างๆ และเสนอผ่านงานศิลปะ งานออกแบบ มันไม่ใช่ความแข็งกระด้างเหมือนที่ปรากฏในสื่อ ในพาดหัวข่าวรายวัน ซึ่งมันน่าสนใจมากถ้าเราทำให้เกิดอิมแพคออกมา เรามีต้นทุนทางวัฒนธรรม ต้นทุนทางศิลปะ ที่รุ่มรวยในพื้นที่มานานแล้ว งานนี้จะนำมาคิดและแยกตามแต่ละหมวดหมู่ และมันไม่ใช่แค่สิ่งของ แต่เป็น identity ตัวตนของผู้คน อธิบายด้วยภาพใหม่ที่ไม่ใช่มุมมองจากคนนอกหรือรัฐที่มองว่านี่คือ มุสลิม จีน พุทธ
ความต้องการสื่อสาร ‘รหัส’ แบบนี้ นำมาสู่การออกแบบกิจกรรมใน Pattani Decoded อย่างไร
เลิฟ: งานนิทรรศการที่จัดช่วงต้นกิจกรรมคือการเปิดบ้านเก่า เราอยากให้คนเข้าใจว่าจริงๆ แล้วพื้นที่มีเรื่องราวแบบไหนและทุกคนคือเจ้าของบ้านนะ เช่น การเปิดบ้านหลังหนึ่งของ ‘ตระกูลวัฒนายากร’ (ที่ตั้งกลุ่ม Malayu Living) เราเล่าของสิบชิ้น สิบอย่าง แต่ละอย่างเล่าถึงบ้าน ถึงปัตตานี ช่วงบ่ายมีการเปิดวงคุยของผู้คนในฐานะคนที่อยู่จริงหรือใช้ชีวิตในพื้นที่จริงๆ ว่าเขามีมิติชีวิตอื่นๆ อย่างไร
ราชิต: อีกส่วนคือนิทรรศการภาพถ่ายซึ่งเรามองว่า ช่างภาพของเรามีเยอะมากที่น่าสนใจ พยายามจะมีให้ได้ทุกปี และขยายความต่อจากเลิฟ ทุกงานที่เราจัด เราพยายามเชิญพี่ๆ สถาปนิกและดีไซเนอร์จากกรุงเทพฯ ลงมา อยากให้เขามาอยู่ร่วมกันกับเราและกลับไปบอกต่อว่ามันไม่ได้น่ากลัวเหมือนที่คนอื่นคิดนะ
แปลว่าเป้าหมายอีกด้านของคนทำงาน ต้องการทำความเข้าใจเรื่องภาพจำการเป็นพื้นที่สีแดงด้วยรึเปล่า
ราชิต: (พยักหน้า) มันมีคนที่พูดถึงความรุนแรงอยู่แล้ว เลยรู้สึกว่าเราไม่ต้องพูดซ้ำหรือตีโพยตีพายว่าที่นี่มันแย่ คนชอบถามว่า “เอ้ย อยู่ได้ไง มีข่าวขนาดนี้” คนอาจบอกว่าเราโลกสวยนะ แต่เราอยากพูดอีกด้านที่เป็นเชิงบวก
เลิฟ: มันปฏิเสธไม่ได้เนอะ มันมีภาพแบบนั้น แต่เราพยายามสื่อสารอีกด้าน และเอาจริงๆ ความต้องการอีกอย่างคืออยากให้คนในพื้นที่สร้างเครือข่ายต่างๆ ให้รู้จักกัน อย่างกิจกรรมวันนี้ทำให้เห็นความสัมพันธ์ใหม่ๆ หมุดหมายสำคัญของงานนี้ก็คือคนในพื้นที่นี่แหละ ให้เข้าใจว่าบ้านเขามีอะไร มีจุดเด่นอะไร มีเอกลักษณ์อะไรที่ไม่ถูกพูดถึงเลย คนข้างนอกอาจรู้สึกว่า “เอ้ย อันนั้นก็ดี อันนี้ก็ดี” แต่เราอยากให้คนในภูมิใจกับพื้นที่และบ้านของตัวเอง
คือคนภายนอกอาจรู้สึกว่านี่คือพื้นที่สีแดง แต่สำหรับเรา เราไม่รู้สึกว่าตรงนี้ต่างจากย่านบางรักที่เติบโตและขยายความเจริญจากเส้นทางน้ำและขยายความรุ่งเรืองขึ้นมาบนถนน มันเหมือนกัน มันเป็นศูนย์กลางของเมือง
ราชิต: แต่เราไม่ได้บอกว่ามันเจ๋งมากหรือดีที่สุดนะ แค่รู้สึกว่า ลองเข้ามาดูกัน
เมื่อเช้าในกิจกรรม ‘เดินล่องส่องย่าน’ พาคนไปชมบ้านต่างๆ บนถนนทั้งสามสาย เล่าไปทีละบ้าน ทีละตึกผ่านเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เช่น ตึก TK Park และตึกข้างกันเคยเป็นเรือนจำ ตึกสีเหลือง (ซึ่งเคยเป็นสีดำและถูกเรียกว่าตึกดำ) ขนาด 3 คูหา สูง 3 ชั้น เคยเป็นที่ประจำการทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และตึกหน้าตาคล้ายทรงจีน แต่ผู้บรรยายให้ข้อมูลว่าน่าจะได้รับอิทธิพลจากสิงคโปร์ในช่วงรัชกาลที่ 6 และเรื่องเล่าจากปากคำของคนที่ยังอยู่อื่นๆ เชื่อมกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยถูกเล่าให้เป็นข้อมูลสาธารณะ
อยากให้ช่วยขยายความเพิ่มเติมว่าทีมงานได้ข้อมูลเหล่านี้มาอย่างไร และคิดยังไงกับข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ แต่เชื่อมกันแล้วร้อยเป็นประวัติศาสตร์เมืองในภาพใหญ่อย่างนี้
เลิฟ: ตอนที่ทำกิจกรรม ‘เดินย่านอา-รมย์-ดี’ ทำให้เรามีโอกาสได้ไปคุยกับบ้านต่างๆ ประวัติศาสตร์ก็จะมีสองด้านเนอะ คือจากบันทึกส่วนกลางของรัฐ กับ ประวัติศาสตร์ชาวบ้านหรือมุขปาฐะต่างๆ มันมีเรื่องต่างๆ ที่น่าสนใจมากแต่ไม่ถูกบอกต่อ เราพบว่าบ้านแต่ละหลังซึ่งจะรวมกันกลายเป็นย่าน มันมีจุดเชื่อมโยงกัน คำถามคือ… เรามีข้อมูลส่วนไหนที่ไม่ถูกบอกต่อ? แน่นอนว่าพอพูดถึงสามจังหวัดเราจะคิดถึงมุสลิมอย่างเดียว แต่มันมีกลุ่มอื่นๆ ที่ …เนี่ย พอต้องอธิบายแบบนี้ก็กลายเป็นว่าเรากำลังพูดในลักษณะของการแบ่งแยกกลุ่ม คล้ายเวลาเราพูดคำว่า ‘ปรองดอง’ ‘สามัคคี’ ‘พหุวัฒนธรรม’ คือเป็นวาทกรรมใช่ไหม? แต่ความตั้งใจของพวกเราคือ ทุกคนคือเพื่อนบ้าน ทุกคนอยู่ด้วยกัน เช่น เส้นถนนแรกคือถนนอาเนาะรู นี่คือชุมชนชาวจีน หมายความว่ามันมีความสัมพันธ์ของคนในที่เชื่อมโยงกันมาตลอด
หรือถนนตรงนี้ (ปัตตานีภิรมย์) คือกลุ่มพ่อค้าวาณิช ตรงข้ามกันคือกลุ่มชุมชนอาเนาะซูงา กลุ่มมุสลิม หรือถนนฤาดี คือชุมชนใหม่ที่ถูกสร้าง มีโรงภาพยนตร์ มีกลุ่มซ่อมรถที่เข้ามาในช่วงสงครามโลก มันมีมิติอื่นๆ ที่ซ่อนอยู่หลายเลเยอร์มากๆ ในพื้นที่
ราชิต: เราอยู่ในยุคที่ไม่รู้ว่าใครพยายามแยกเราออกจากกัน พอเราคุยกับผู้ใหญ่ เขาบอกเลยว่าสมัยก่อนมันไม่เป็นแบบนี้ คนมุสลิม จีน พุทธ เขาอยู่ด้วยกัน โอเคเขามีความแตกต่างในแง่อะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้ มันมี แต่เขาเข้าใจกัน แต่เดี๋ยวนี้มันแยกกันเลย คนจีนเราไม่ยุ่ง มีความเกลียดชังซ่อนอยู่ เอาจริงๆ ก็ด้วยการเข้ามาของคำว่า ‘สันติภาพ’ แต่ก่อนมันไม่มีคำพวกนี้ เช่น บ้านขาวบนถนนอาเนาะรู มันคือสโมสรที่เวลามีงาน คนมุสลิมก็จะมาช่วยทำกับข้าว เขาอยู่ด้วยกันปกติ
พูดได้ไหมว่างาน ‘เดินย่านอา-รมย์-ดี’ เป็นจุดตั้งต้นให้เห็นจิ๊กซอว์เหล่านี้?
เลิฟ: ใช่ ครั้งที่แล้วเห็นจิ๊กซอว์หลายส่วนจากบ้านแต่ละหลัง บางส่วนมาจากการสัมภาษณ์ที่ลงไปคุยกับคนเฒ่าคนแก่ของที่นี่ ทำให้เราทำการบ้านต่อได้ว่านอกจากรหัสแรกจะต่อไปยังรหัสที่สองจากเรื่องอะไรได้บ้าง
คนในพื้นที่เข้าใจเรื่องเล่าจากอาคารบ้านเรือนแบบนี้มากน้อยแค่ไหน
อานัส: เอาจริงๆ มันก็คือปัญหาหลักของโครงสร้างรัฐที่วางไว้ การศึกษาไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความเป็นท้องถิ่น ความเป็นมาตุภูมิ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากที่คนควรรู้ แต่เรากลับเรียนหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรา ผมคิดว่าถ้าไม่มีกิจกรรมลักษณะนี้ คนรุ่นใหม่ก็ไม่รู้ว่ามันเคยเกิดอะไรขึ้น
มีใครรู้ไหมว่าอดีตประธานาธิบดีเกาหลี เคยมาคุมไซต์งานบนถนนเส้นปัตตานี-นราธิวาส และเปิดออฟฟิศที่นี่ พอกลับไปบ้านก็ไปลงสมัครผู้ว่าราชการและลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ไม่มีใครรู้ว่านี่คือบริษัทของเขา มันมีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแบบนี้อยู่ ยังมีคนเล่าได้ มีคนเชื่อมต่อได้
หรืออย่างย่านนี้ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจ เราจะเห็นการเข้ามาของคหบดีจีนในพื้นที่ มีการส่งตัวแทนจากส่วนกลางมาเก็บภาษีในพื้นที่ มันเห็นการเปลี่ยนแปลงของเรื่องราวในพื้นที่ที่สำคัญ แต่คนในพื้นที่ไม่รู้ โรงเรียนไม่ได้สอน ทำให้เราต้องมาหาจิ๊กซอว์กันเอง ในเชิงวิพากษ์นะครับ… เราเองก็เข้าถึงงานวิชาการที่เก็บเรื่องราวในพื้นที่ยากมาก ทำงานนี้ยิ่งรู้เลยว่ามันมีน้อย (เน้นเสียง) แต่การทำกิจกรรมแบบนี้มันไปกระตุ้นความอยากรู้ของคนข้างใน มันเป็นประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับตัวตนของเขาจริงๆ มันทำให้เขาออกมา เปิดบ้าน คุยเรื่องตระกูลของเขา บรรพบุรุษเขาเป็นส่วนหนึ่งที่ร้อยประวัติศาสตร์ในพื้นที่อยู่ ซึ่งมันน้อยมากฮะ เด็กไม่รู้หรอก
ความตั้งใจของคนทำงาน ส่วนหนึ่งมาจากแรงขับที่เติบโตมาท่ามกลางความขัดแย้งรึเปล่า
เลิฟ: สำหรับเราแบ่งเป็นสองส่วน คนที่อยู่ในพื้นที่มาแต่เกิด กับ ภาพจำของคนนอก โดยเฉพาะหลังปี 2547 เหตุการณ์มันรุนแรงไปมาก ถ้าเสิร์ชกูเกิลจะไม่มีภาพอื่นเลยนอกจากภาพระเบิดอย่างเดียว ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็นภาพอีกแบบที่ไม่เหมือนภาพของเรา ภาพจำหรือความเข้าใจของเขาต่างจากเรามาก
แต่การได้ออกไปเรียนรู้แล้วกลับมาบ้านอีกครั้ง ทำให้เราเห็นศักยภาพในพื้นที่และคิดว่าเราดึงบางอย่างกลับมาได้ การรวมกลุ่มกันก็เป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่ทำให้คนเห็นมิติใหม่ๆ เป็นสิ่งเร้าอย่างหนึ่งแหละ เราต้องการสร้างคำตอบใหม่ๆ ให้กับมายาคติที่คนเข้าใจกัน
อานัส: เหตุการณ์มันเป็นสิ่งเร้าอันหนึ่งที่ทำให้สิ่งเหล่านี้ผุดออกมาแต่ละคนๆ เรามองว่าผลพวงจากเหตุการณ์ทำให้คนตื่นตัวในเรื่องที่ไม่ดี แต่ก็ทำให้มีคนที่รู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องออกมาพูด ต้องแสดงความเป็นตัวตนหรือพรีเซนต์บางอย่างออกไป
แว่นของคนอื่นอาจเป็นแว่นของความรุนแรง แต่งานเรามีบลูแจ๊ส มีดีเจมาเปิดแผ่น แต่มันดูคอนทราสต์กับความเข้าใจของคนนอก แต่ที่จริงคนข้างในมีสุนทรียะตลอด ไม่ได้อยู่กับความกังวล
เอาจริงๆ นะ ช่วงที่เราอยู่กรุงเทพฯ เรากลัวมากกว่าตอนกลับมาอยู่บ้านจริง หรือตอนกลับบ้านช่วงปีสองปีก็ยังกลัวๆ นะ แต่สักพักคนมันปรับแล้ว คนเริ่มเข้าใจ แล้วเหตุการณ์ก็ไม่ได้เยอะขนาดนั้น
ราชิต: เราตั้งคำถามนะ เวลาเราอยู่กรุงเทพฯ เรากลับกลัวมากว่าเดินเข้าไปในซอยนี่จะเจอใครมาดักปล้นไหมนะ แต่ที่นี่ไม่มีเหตุการณ์แบบนั้น ถ้าเทียบสถิติการเสียชีวิต อาจจะน้อยกว่าที่อื่นด้วยซ้ำ แต่ภาพความรุนแรงมันขายได้
คุณพูดถึงความมีสุนทรียะในพื้นที่หลายครั้ง อยากให้อธิบายภาพตรงนี้เพิ่มเติม
อานัส: ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามองภาพความเป็นไทย เราจะรู้สึกว่าภายใต้คำนี้มันจะมีตัวตน มีองค์ความรู้ มีต้นทุนทางวัฒนธรรมอยู่ ซึ่งต้นทุนทางวัฒนธรรมแบบนี้มันบ่งบอกถึงอารมณ์และนิสัยคนในพื้นที่ได้ ของเราก็เหมือนกัน เรามีวายังกูเละ (หนังตะลุง) หรืองานผ้า มันล้วนต้องใช้ความสุนทรียะเพื่อสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ เราพยายามจะบอกว่าคนที่นี่ไม่ใช่คนที่แข็งกระด้าง อย่างปฏิเสธไม่ได้นะ มันมีกระแสอิสลามโมโฟเบีย หรือความหวาดกลัวต่ออิสลาม เราจะบอกว่ามันไม่ใช่ พื้นที่มีความสุนทรียะสูงมาก คนที่นี่นั่งฟังเสียงนก ชอบแต่งตัว หลงใหลในความสวยงามทุกมิติ นี่ล้วนเป็นความสุนทรียะทั้งหมดเลย
พื้นที่ปาตานี… ผมขอใช้คำนี้ในนิยามความเป็นสามจังหวัดนะ ปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นที่นี้ได้รับอิทธิพลจากบริติช-มาลายาตอนที่อังกฤษเข้ามามีบทบาทในพื้นที่ อิทธิพลเหล่านี้ผ่านเข้ามาผ่านดนตรี วรรณกรรม ถ้าดูบ้านในช่วงเวลา 50-100 ปีจะเห็นความเป็นบริติชหมดเลย แม้แต่การแต่งกายก็ได้อิทธิพลจากบริติชเยอะมาก คุณลองไปดูการแต่งกายคนแก่ เขาจะใส่สูทกับผ้าโสร่ง หรืออย่างคนรุ่นปู่ผมเขาจะเล่นดนตรีเพื่อให้คนมาฟังแล้วก็สอนศาสนา ผมชอบมองว่าคนที่นี่มีความสุนทรียะ
ความตั้งใจของคนทำงาน ภาพที่อยากเห็นหลังงานนี้
ราชิต: คนภายในและนอกตื่นตัวกับกิจกรรมแบบนี้ เรากำลังจะบอกว่าการออกแบบคือของใกล้ตัวของทุกคน อย่าไปคิดว่างานดีไซน์เข้าถึงยาก อะไรที่ง่ายที่สุดคือการออกแบบ งานออกแบบคือการแก้ปัญหา ชาวบ้านรู้ ชุมชนรู้ มันจะพัฒนาคาแรคเตอร์ของย่านให้ชัดขึ้น ย้ำตลอดว่าเราไม่อยากให้ทุกที่ทำซ้ำหรือทำตามนโยบายอะไรที่โยนลงมา เราอยากให้ทุกคนมีไอเดียและทำด้วยทุนของตัวเอง
เลิฟ: เรามองว่านี่คือ pre-designed week คือการเตรียมตัวคนในพื้นที่ว่าเราเข้าใจพื้นที่แบบไหน เตรียมเปิดใจให้ทุกคนเข้าใจเรา และทำให้ฝั่งข้างนอกเห็นว่ามันมีจุดดีหรือมีข้อมูลในพื้นที่ยังไงบ้าง การมาเจอกัน ทำให้เกิดความเข้าใจใหม่ๆ มุมมองใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น
อานัส: ในฐานะที่ผมรับผิดชอบเรื่องดนตรีนะฮะ …มีน้องคนหนึ่งจากวง Stu do vol. เขาทำซาวด์ดนตรีจากกลองพื้นบ้าน ขลุ่ย มามิกซ์เป็นดีเจมิกซ์ เขาเคยคุยกับผมว่าตอนอยู่กรุงเทพฯ เขาถอดความเป็นพื้นที่ลำบากมากเพราะมันไกลกันเป็นพันกิโลเมตร แต่เขาพยายามจินตนาการเสียงฝนตกในป่าฮาลา-บาลาว่าเป็นยังไงเพื่อเลียนเสียงเข้าไปในซาวด์ พยายามใส่เสียงยามเช้าในบ้านเขาของวันลงไปในซาวด์
ความคาดหวังของผมคืออะไรแบบนี้ ให้คนที่ถูกซ่อนไว้ในแต่ละพื้นที่ได้เอาสิ่งที่ซ่อนอยู่ได้ผุดออกมา