- นโม Inskru ไม่ใช่ครู แต่คือ สถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิตด้านการออกแบบและดีไซน์ UX มาสร้างสตาร์ทอัพการศึกษา
- Inskru คือสตาร์ทอัพการศึกษาที่ต้องการสร้างพื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน ช่วยครูแก้ปัญหาภาระการศึกษา กระตุ้นจินตนาการการสอนที่สนุกและเป็นไปได้
- “ฝันอยากเห็นอาชีพครูเป็นอาชีพที่คนสบายใจจะเป็น คนเก่งมาเป็นครูได้ ใครๆ ก็อยากเป็นครู” คือความตั้งใจและภาพที่นโมอยากเห็นภายใน 5 ปี
ภาพ: ลักษิกา จิรดารากุล
“จริงๆ Inskru มาจาก Pinterest* นะ เป็นนักออกแบบต้องดู Pinterest ก่อนใช่ไหม (หัวเราะ) หาแรงบันดาลใจน่ะพี่ ถ้าให้คิดจากศูนย์มันคิดไม่ออกอยู่แล้ว พอจะทำสตาร์ทอัพเรื่อง ‘ครู’ เลยคิดว่าครูก็น่าจะต้องมีแรงบันดาลใจในการสอนเหมือนกัน ยิ่งมี input เยอะเท่าไร เราก็ยิ่งมีวัตถุดิบในการจับนู่นเชื่อมนี่มาพัฒนาคาบสอนของเรา จากตอนแรกที่อาจเห็นมุมมองแค่ข้างเดียว แต่ถ้ามุมมองเรากว้างขึ้น คาบเรียนของเราก็ดีขึ้นไหม?”
นโม-ชลิพา ดุลยากร เจ้าของแพลตฟอร์ม Inskru สตาร์ทอัพทางการศึกษาที่ต้องการสร้างพื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน กล่าวด้วยเสียงใสผ่านดวงตายิบหยี
หลายคนคุ้นหน้าเธอจากความเคลื่อนไหวในวงการศึกษาจนหลายคนเข้าใจผิดไปหลายทีว่าเธอต้องมีคำว่า ‘ครู’ นำหน้าชื่อแน่ๆ แต่อันที่จริงเธอเป็น ‘นักออกแบบ’ ที่เพิ่งก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัยชื่อดังแถวสามย่านเพียงไม่ถึง 2 ปี Inskru เองก็ถือเป็นธีสิสจบปริญญาตรีที่เธอปลุกปั้นด้วยสายตานักออกแบบเพราะต้องการแก้ปัญหาภาระงานครู
“ins – ที่มาจากคำว่า inspire / kru – ถอดเสียงจากคำว่า ครู” นโมเล่าให้ฟังอีกครั้งแม้จะเล่าให้สื่อหลายสำนักฟังไม่รู้กี่ทีแล้ว
ที่ชวนนโมมานั่งคุยในบ่ายแก่ๆ ของวันฝนโปรยในฤดูเปิดเทอม เพราะก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน นโมและทีมงานเพิ่งปิดจ็อบโครงการ Inskru Hackathon งานที่ชวนครูและคนหลากอาชีพมาร่วมพัฒนา ‘นวัตกรรม’ ทางการศึกษา ใช้แว่นตาของนักออกแบบพยายามแก้ปัญหาหนักในห้องเรียนฉบับ Hackathon เอาไอเดียบางอย่างมาจับทำให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างในเวลาอันรวดเร็ว
ปรัชญาของมันคล้ายว่าถ้าปล่อยให้ไอเดียนั้นอยู่ในอากาศเนิ่นนาน ความสร้างสรรค์จะไม่สดใหม่ คนคิดคนทำพลอยเฉา สุดท้ายไอเดียที่ว่านั้นจะถูกผลักเข้าไปอยู่ใน ‘wish list’ – รอคอยไปก่อนนะ เพราะต้องไปทำสิ่งที่สำคัญกว่า
ความน่าสนใจของงานคือ นโมเอาวิธีการทำงานแบบ developer มาจับกับปัญหาของครู ผู้ที่เข้าร่วมงาน Inskru Hackathon มีทั้งนักออกแบบ นักจิตวิทยา ครู นักเรียน ผู้ปกครอง นักวิจัย ภาคประชาสังคม กราฟิกดีไซเนอร์ นักออกแบบประสบการณ์ (UX designer)
มันตื่นตาตื่นใจ เพราะหลายๆ ปัญหาที่เคยคิดว่าหนักหนาสำหรับครู พอนำมาจับกับวิธีคิดของคนสายอาชีพอื่น ก็กลายเป็นความสนุกและเป็นไปได้
จึงเป็นเหตุให้ The Potential สนใจอยากชวนนโมคุยถึงวิธีคิดการสร้าง Inskru โดยใช้รูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม การเป็นนักเคลื่อนไหวที่อยู่ตรงกลางระหว่างสายธุรกิจจ๋ากับคนทำงานสายสังคมศาสตร์ นอกจากนี้ นโมยังเป็นนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ในประเด็นการศึกษาที่ไม่ได้สวมหมวกครู แต่เป็นนักออกแบบ ทำงานเรื่องพื้นที่และการออกแบบการเรียนรู้สร้างสรรค์แก้ปัญหาการศึกษาในสเกลที่เป็นไปได้ เป็นบอร์ดพินเทอเรสต์ทำให้ครูมีจินตนาการเรื่องการสอนและการจัดการภาระงานศึกษาแบบใหม่ๆ ที่สนุกและเป็นไปได้
Inskru ที่มาจากสายตานักออกแบบประสบการณ์
ก่อนจะพูดเบื้องหลังงาน Hackathon อยากให้นโมเล่าที่มาที่ไป จากนักศึกษาออกแบบ เพราะอะไรจึงเปลี่ยนมาอยู่สายงานการศึกษาได้
นโมสนใจเรื่องการศึกษาอยู่แล้ว คุณย่าเป็นเจ้าของโรงเรียนประถม บ้านนโมอยู่ในโรงเรียนเลย แต่ตอนนั้นเราไม่ชอบโรงเรียน ครูทุกคนปฏิบัติกับนโมแตกต่างจากปกติ หรือเวลาเพื่อนแกล้งก็จะบอกว่าไปฟ้องย่าสิ เรารู้สึกว่า “ทำไมต้องปฏิบัติกับเราแบบนี้ ฉันเป็นเด็ก ฉันเข้าใจ ฉันไม่ได้อยากมีอภิสิทธิ์” ตอนเด็กๆ คงไม่ได้พูดขนาดนี้นะ แต่ความรู้สึกในใจคือไม่อยากแตกต่างหรือได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นนโมเลยไม่มีความทรงจำที่ดีตอนเป็นเด็กประถมเลย แต่พอเข้ามัธยมจะอีกเรื่อง ดีขึ้น เพราะย้ายโรงเรียนแล้ว
ทีนี้เข้ามหา’ลัย เลือกเรียนคณะสถาปัตยกรรม ด้านการออกแบบและเรื่องดีไซน์ UX (User Experience) หรือการออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งาน พอจับสองอันนี้มาเชื่อมกัน ก็คิดว่าเราสามารถดีไซน์ประสบการณ์ผู้เรียนให้ดีกว่านั้นได้รึเปล่านะ เราเลยยิ่งอินกับการทำ Inskru เพราะเหมือนได้เอาสิ่งที่เรียนด้านสถาปัตย์มาเชื่อมกับสิ่งที่เป็นการศึกษา นโมพบว่ามันเชื่อมได้หลายอย่างมากเลย
ไม่ได้เริ่มต้นจากความอยากเป็นครู แต่เป็นนักออกแบบที่สนใจประเด็นการศึกษา?
ชอบสอนหนังสือด้วย ก่อนหน้านั้นก็ชอบสอนหนังสือเด็ก ทำค่ายอาสา ด้วยความที่เรียนเรื่องการออกแบบมา เลยคิดเยอะมากว่าจะออกแบบการเรียนยังไงให้เด็กๆ ในห้องเรียน นโมเอาเรื่อง design thinking มาคิดกับการสอนด้วยนะ แต่พอกลับมาจากค่าย เด็กๆ ก็ต้องเรียนกับครูของเขาอยู่ดี เลยคิดว่าถ้าทำให้ครูสร้างคาบเรียนได้น่าจะอิมแพคกว่า มีวิธีการสอนที่น่าสนใจหรือมีความหมายต่อเด็กได้ ตอนนั้นมันมี inspire แบบเป็นก้อนมัวๆ อยู่ แต่พอเอาเรื่องนี้ไปคุยกับพี่ยีราฟ (สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร ผู้ก่อตั้ง Saturday School) และพี่เคนโด้ ซึ่งเป็น developer ที่เคยทำ Saturday School เขาบอกว่าคิดเหมือนกัน ก็เลยรวมตัวกันทำ Inskru แต่ด้วยความที่ทุกคนก็ขยายไปทำทางของตัวเอง Inskru เลยเหลือนโมคนเดียว (ทำเสียงร้องไห้เบาๆ)
Inskru จึงเริ่มจากสายตาของนักออกแบบ?
ทำเว็บไซต์ก่อนเลย ซึ่งแบบ… พัง (หัวเราะ) เว็บไซต์ไม่ได้มีคนอ่านขนาดนั้น แต่ใช่ มันเริ่มจากแบบนั้น นโมมาจากสายสตาร์ทอัพด้วย แต่ไม่ได้มองมันเป็นธุรกิจ แต่ใช้หลักการเรื่อง market research หรือ positioning map แล้วมาพัฒนาตัวโมเดลของเรา
แต่จริงๆ แล้ว Inskru เริ่มต้นจากธีสิสจบของนโม ตอนแรกมันไม่ใช่แบบนี้เลย แต่เป็นแอพฯ คล้ายๆ ติวเตอร์ ซึ่งมันไม่ได้ตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและไม่ใช่สิ่งที่เราอิน นโมทำโปรเจ็คต์นั้นไปแล้วหนึ่งเทอมด้วยนะ แต่สุดท้ายตัดสินใจเปลี่ยน ใช้เวลาปิดเทอมหาว่าจริงๆ แล้วเราอยากทำอะไร และเพราะบ้านนโมเองทำโรงเรียนประถม เลยลงไปโรงเรียน ไปคุยกับครูว่ามีปัญหาอะไร
นโมคุยกับครูไปทั่วเลยว่าเขาเป็นยังไง เจอปัญหาอะไร ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการทำเอกสาร นี่ขนาดเอกชนก็ยังมีปัญหาเลย
มีครูคนหนึ่งสะท้อนว่าเขาต้องลบสื่อการสอนทุกครั้งและดาวน์โหลดใหม่ทุกเทอมเพราะเมมโมรีในเครื่องเต็ม เราถามเขาต่อว่ามีการแชร์ไฟล์ให้คนอื่นรึเปล่า เขาบอกว่าไม่ได้มีการแชร์ ตอนนั้นเลยเริ่มมาคิดว่า เออ… ชอบเรื่องนี้อะ ถ้าเราทำพื้นที่ที่เก็บไฟล์แล้วให้ทุกคนมาแชร์ไฟล์ไว้ใช้ร่วมกันน่าจะดี หรือถ้ามันมีที่ให้ครูได้มาใช้ source เรื่องวิธีการสอนร่วมกันน่าจะดีนะ
ความน่าสนใจของ Inskru อีกอย่าง คือเป็นการทำงานเรื่องการศึกษาผ่านเวทีสตาร์ทอัพ ในแง่ธุรกิจเพื่อสังคม
Inskru ก่อตัวมาจากเวทีสตาร์ทอัพ นโมเอาไอเดียของ Inskru ไปแข่ง EdTeach Hackathon แต่ช่วงแรกโดนตียับเพราะในเชิงการตลาด target group ไม่มีกำลังจ่าย เราหาตังค์ไม่ได้ ล้มแบบไปครั้งหนึ่งแล้วไปคิดไอเดียที่จะหาเงินได้ สุดท้ายคิดมาจนถึงตีสอง ตีสาม เราก็ยังไม่อิน เลยเอา Inskru นี่แหละพรีเซนต์ สุดท้าย Inskru ได้ที่ 2 งงมาก (หัวเราะ)
ความดีงามที่เราเริ่มจากฝั่งนี้ (ธุรกิจเพื่อสังคม) คือเราสามารถเชื่อมสายที่โคตร (ลากเสียง) จะสังคมกับสายธุรกิจให้มาเจอกันได้ เราพยายามบาลานซ์ตัวเองให้อยู่ตรงนี้ เพราะตรงนี้เป็นคอนเนคชั่นที่ดีมาก เขาพาเราไปคุยกับคนนั้นคนนี้ได้ Inskru เองก็เป็นที่รู้จักขึ้นมาเพราะสายธุรกิจช่วยผลักดันด้วย ยังขอบคุณตัวเองเลยที่เอา Inskru ไปเข้าประกวด เพราะตอนนั้นมันได้กำลังใจมหาศาล ได้คอนเนคชั่นของคนที่อยู่ในนั้น อย่างพี่ยุ้ย Stormbaker (ยุ้ย จันทนารักษ์ MD ของ StormBreaker Venture โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการด้านการศึกษา) ก็เป็นประตูที่ทำให้เราได้รับการสนับสนุนและเดินต่อ
หลายคนเวลาพูดถึงคำว่า ‘ธุรกิจ’ แล้วจะกลัวๆ Inskru เองก็จะไม่สร้างจุดยืนของตัวเองว่าเป็นธุรกิจขนาดนั้น
จริงๆ มีสตาร์ทอัพที่ทำเรื่องการศึกษาและเป็นธุรกิจได้เต็มไปหมดเลย แต่พอเรามาจากสายสังคม อยู่กับ พี่ก๋วย (พฤหัส พหลกุลบุตร กลุ่มละครมะขามป้อม) พี่มะโหนก (ศุภวิชช์ สงวนคัมธรณ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Black Box) ได้เจอกับกลุ่มครู ทำให้เราเอนเอียงมาสายสังคมหน่อยๆ ด้วย และการทำงานกับครูมากๆ รู้ insight ว่าคำว่า สตาร์ทอัพ มันดูน่ากลัวสำหรับพวกเขา ดูเป็นโลกธุรกิจ จนทำให้เราซึ่งตอนแรกเริ่มต้นงานในเชิงสตาร์ทอัพ ก็เริ่มไม่อยากใช้คำนี้
สิ่งที่กลัวเสมอคือ ถ้าเราใช้มุมทางธุรกิจนำทาง ผลประโยชน์มักตกไปอยู่กับคนที่มีเงิน แม้ตอนแรกเราตั้ง impact ไว้อย่างนี้ รู้ทั้งรู้ว่าเราอยากไปแบบนี้ แต่ถ้ามองในทางธุรกิจจ๋า เราก็ต้องหาเงินให้เราอยู่ได้ก่อน สุดท้ายมันก็ตั้งคำถามกับเราแหละว่า สิ่งที่ทำมันเป็นเรื่องการศึกษาจริงเหรอ มันจะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำรึเปล่า
จากที่คุย นโมมักใช้เซนส์ ‘ความอิน’ ของตัวเองนำทางในการตัดสินใจหลายๆ ครั้ง passion แบบไหนที่นโมใช้ตัดสินใจ
(นิ่งคิด) วัดว่าอะไรที่ไม่อินมากกว่า คือเวลาต้องทำอะไรที่มันไกลตัวเรามากๆ รู้ว่ามันไม่ใช่ความชอบของเราเลย แต่ Inskru มันมีความชอบของเราเองอยู่ในนั้นเยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องการออกแบบการสอน
เช่น?
เช่น Inskru มาจาก Pinterest นะ เป็นนักออกแบบต้องดู Pinterest ก่อนใช่ไหม (หัวเราะ) หาแรงบันดาลใจ ถ้าให้คิดจากศูนย์มันคิดไม่ออกอยู่แล้ว พอจะทำสตาร์ทอัพเรื่อง ‘ครู’ เลยคิดว่าครูก็น่าจะต้องมีแรงบันดาลใจในการสอนเหมือนกัน ยิ่งมี input เยอะเท่าไร เราก็ยิ่งมีวัตถุดิบในการจับนู่นเชื่อมนี่มาพัฒนาคาบสอนของเรา จากตอนแรกที่อาจเห็นมุมมองแค่ข้างเดียว แต่ถ้ามุมมองเรากว้างขึ้น คาบเรียนของเราก็ดีขึ้นไหม
อย่างตอนแรก ถ้าเราไม่เห็นคาบเรียนของพล (อรรถพล ประภาสโนบล หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ‘พลเรียน’) นโมก็คิดว่าคาบเรียนน่าจะเป็นแบบหนึ่ง แต่พอเห็นของพล เฮ้ย… คาบเรียนมันเป็นอีกระดับหนึ่งเลยนะ เลยคิดว่าหากมีแพลตฟอร์มที่รวบรวมไอเดียการสอนของครูหลายๆ คนมาไว้ด้วยกัน มันเปิดโลกของครูนะ
ใช้ความชอบที่ไม่ขัดกับความเชื่อของตัวเองใส่ไปในงาน?
ใช่ๆ ซึ่งรู้สึกว่ามันดีมาก ทำให้ทุกวันนี้ที่ทำอยู่มันสนุกมาก มันทำได้เรื่อยๆ ทุกงานเป็นสิ่งที่เราอยากทำทุกอย่างเลย
Inskru Hackathon: แก้ปัญหาห้องเรียนสร้างสรรค์ด้วยวิธีคิดแบบ developer
หนึ่งปีผ่านไป จากแรงบันดาลใจสร้างแพลตฟอร์มแบ่งปันไอเดียการสอนที่ตั้งต้นจาก Pinterest สู่ การระดมไอเดียสร้างสรรค์จริงรูปแบบ Hackathon อยากให้นโมเล่าวิธีคิด เบื้องหลังให้ฟังค่ะ
เริ่มจากการคุยกับพี่ทราย TDRI (ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา) ว่าถ้าครูได้มาสร้างนวัตกรรมการเรียนการสอนกันก็น่าจะดีนะ พี่ทรายเขามีแนวคิดแบบ Hackathon อยู่แล้ว พอมาคุยกันมันเลย พรึ่บๆๆ เสร็จแล้วเลยไปชวนพี่ๆ จาก Saturday School มา kick off กัน
ตอนนโมแข่งงาน EdTech Hackathon (เฟ้นหา Edtech Startup ที่สามารถสร้างนวัตกรรม หรือ เทคโนโลยีทางการศึกษา) มันทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ของไอเดียแบบ Inskru แต่ว่างานนั้นทำให้เราต้องมาคิดถึงการตอบโจทย์ทางธุรกิจ พอต้องคิดถึงธุรกิจทำให้มันตอบโจทย์คนแค่บางกลุ่มและจะไม่ตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำ พอจะทำของตัวเอง Inskru Hackathon เลยอยากเอาข้อจำกัดเรื่องการตอบโจทย์ทางธุรกิจออกไปและเริ่มจาก insight เริ่มจากปัญหาจริงๆ อีกอย่างคือ ในงาน EdTech Hackathon บังคับว่าต้องเป็นเทคโนโลยี งานของเราเองเลยไม่บังคับ ออกมาเป็นอะไรก็ได้
หนึ่งในความน่าสนใจของ Inskru Hackathon คือคนที่มาร่วมหลากหลายมาก เห็นว่ามีนักจิตวิทยา พ่อแม่ นักวิจัย นักเรียนมัธยมก็มา
ปัญหาการศึกษาเป็นเรื่องที่ทุกคนอินง่าย ทุกคนมี pain point (ปัญหาของลูกค้าที่เกิดจากสาเหตุบางอย่างที่ทำให้ลูกค้าไม่ชอบหรือทำให้ชีวิตลำบากขึ้น จนทำให้ลูกค้าต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการแก้ไขปัญหาที่ว่าคือ การซื้อสินค้าหรือใช้บริการบางอย่างเพื่อแก้ปัญหานั้น) แต่พอถึงเวลาจริงๆ หลายคนจะบอกว่าเขาไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหน ไม่รู้จะทำเรื่องอะไร เราเลยอยากหาจุดที่เขากับการศึกษาเจอกันให้ได้ งานนี้เลยอยากเป็นจุดเชื่อมให้ทุกคน ไม่ว่าจากอาชีพอะไรได้มาเจอกัน
ตัวอย่างนวัตกรรมที่คนหลายอาชีพมาคิด solution แก้ปัญหาการศึกษาในงานและคิดว่ามันมากๆ
กลุ่ม Fasttrack ที่ทำเว็บไซต์มาจัดการเอกสารราชการ มันเป็นการทำงานร่วมกันของแก๊งครูที่มี pain point ในงานเอกสาร กับ แก๊งสตาร์ทอัพที่เคยทำผลงานด้านเอกสารการเงินมาก่อน ที่ชอบเพราะนโมเห็นเบื้องหลังการทำงานของเขา ทีมครูนำเอกสารทั้งหมดมากาง ทีม developer ก็สอนครูออกแบบการวางโครงสร้างข้อมูล เราเห็นคุณครูนั่งทำ excel ในรูปแบบคล้ายการเขียนโค้ดเลย ทีมครูก็บ่นทีม developer ว่าพูดอะไรไม่รู้เรื่อง แต่สุดท้ายด้วยความเปิดใจพร้อมเรียนรู้ของแก๊งครูก็ทำให้ก้าวข้ามอุปสรรคทุกอย่างมาได้ มันมันตรงนี้แหละ ซึ่งตอนนี้ทีมนี้เขาจะทำจริงวางขายในโรงเรียนแล้ว คุณครูก็มาเป็นฝ่ายขายด้วย
อีกกลุ่มคือ Krucare เป็นการรวมตัวกันของนักเรียน ครู ปกครอง ผู้บริหารสตาร์ทอัพ และยูทูบเบอร์ชื่อดังแห่งหนึ่ง ทีมนี้มันตรงที่เขาเลือก pain point การจัดการปัญหาพฤติกรรมเด็กของฝ่ายปกครอง ครูเองก็ไม่ได้อยากจัดการเด็ก เด็กเองก็ไม่ชอบการจัดการของครู เลยเกิดปัญหาความสัมพันธ์ขึ้น กลุ่มนี้เลือกแก้ปัญหาโดยใช้แอพพลิเคชั่นจัดการคะแนนพฤติกรรมเด็ก (แอพพลิเคชั่นนี้จะทำให้เด็กทุกคนรู้ที่มาที่ไปว่าโดนหักคะแนนพฤติกรรมเพราะอะไร ให้นัยยะของระบบเป็นคนหักคะแนนไม่ใช่ครู ลดการเผชิญหน้ากันระหว่างครูและนักเรียน เด็กเองจะรู้คะแนนของตัวเองตลอดปีทำให้รู้ว่าคะแนนของตัวเองปริ่มน้ำจนจวนจะมีปัญหาตอนปลายภาคหรือเปล่า และถ้าถูกหักคะแนนอย่างไม่สมเหตุสมผล เด็กสามารถขอตรวจสอบได้ ส่วนวิธีแก้ไขคะแนนสร้างสรรค์และออกแบบได้ เช่น ถ้าเด็กคนนี้ชอบเล่นฟุตบอลมากๆ ก็อาจไม่ให้เขาลงสนามแข่งฟุตบอลเป็นเวลาหนึ่ง)
ครูเล่าว่ากว่าจะทำให้เด็กในทีมเปิดใจคุยกับครูก็ปาไปครึ่งวันแล้ว ดราม่ามาก (หัวเราะ) แต่สุดท้ายผลงานก็ออกมาได้ พอเอาไปทดสอบในโรงเรียนปรากฏว่าเด็กไม่สนใจคะแนนพฤติกรรม แต่ต้องการพื้นที่พูดคุยกับครู pivot solution (การปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ในขั้นสุดท้าย) เป็นชีทแผ่นนึงที่ทำให้ครูและนักเรียนได้ reflect กันแทน (ดูได้ที่: https://inskru.com/idea/-LmnVN6r5CUmGZqBSgE8)
ที่ออกแบบให้คนหลากอาชีพมาเจอกัน ตั้งใจทำให้เกิดอะไร อยากเห็นภาพอะไร
นโมเชื่อในความ co-creation ตอนเรียนดีไซน์ ถ้าเอาคนจากอาชีพต่างๆ มาเจอกัน เราจะได้มุมมองจากอาชีพนั้นมาเติม เลยรู้สึกว่ามันน่าจะเกิดอะไรใหม่ได้แน่นอน แต่นโมลุ้นมากเลยนะ ไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น
จบงานแล้ว ได้ตามที่วาดหวังไหม
จริงๆ ฝันว่าทุกทีมจะไปต่อได้ (หลายทีมไม่ได้ไปต่อในช่วงการนำไปทดลองในโรงเรียน) ด้วยความที่คนในทีมมาจากสองฝั่งสองโลก (โลกการศึกษา กับ คนในอาชีพอื่น) ครูบางคนก็มาจากต่างจังหวัด เลยยากที่จะมาเจอกันเพื่อคุยงานให้ไปต่อได้ เข้าใจแล้วว่าทำไมงาน Ed Hackathon เขาถึงให้คนสมัครมาเป็นทีม เพราะทีมสำคัญมาก พอทีมคลิกกัน มันก็อยากทำงานกันต่อ แต่นโมมีข้อสังเกตนะ บางทีมก็มาจากต่างโรงเรียนและอยู่คนละจังหวัด แต่ไปต่อได้ เขาจะมีคาแรคเตอร์ของความขบถนิดๆ มีความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่เขาก่อกันขึ้นมา
ข้อค้นพบหรือข้อสังเกตในด้านอื่น มีอะไรบ้าง
มันได้ product ที่หาไม่ได้ในงาน EdTech Hackathon สมมุติฐานที่ตั้งไว้มันถูกต้อง คือถ้าเราคิดด้วยธุรกิจตั้งแต่แรกมันจะไม่มีไอเดียอะไรเหล่านี้ ใครจะอยากมาแก้ปัญหาเอกสารครู แล้วจะขายนวัตกรรมแบบนี้ในโรงเรียนได้เหรอ? คำถามมากมายจะตามมาและมันจะปิดความเป็นไปได้นั้นลง แต่งานนี้มันทำให้ความเป็นไปได้ใหม่ๆ เกิดขึ้นได้จริง เพราะเราเอาข้อจำกัดนั้นออกไป และนโมก็บิลด์ทีมตั้งแต่วันแรกว่าเราทำงานนี้ด้วยจุดประสงค์ 3 ข้อ คือ
หนึ่ง – Co-creation งานนี้ไม่ได้อยากให้คุณมาถามๆๆ ครู พองานจบแล้วคุณก็ทิ้งครูไว้ แต่อยากให้ทุกคนไปพร้อมกัน เชื่อในศักยภาพของกันและกัน พัฒนา product ไปด้วยกัน
สอง – Impact งานนี้จะไม่ทำอะไรที่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ทิ้ง target ไหนไว้ข้างหลัง ต้องทำให้มันเกิด impact ขึ้นให้ได้
สาม – เราจะไม่ทำอะไรที่เป็นการแก้ปัญหาแบบ one size fit all
อีกอย่างคือ นโมรู้สึกว่ามันเป็นคอมมูนิตี้แบบหนึ่ง จากแต่ก่อนที่เรามีแค่ครู แต่ตอนนี้เราจะเห็นคนที่มี passion ทางการศึกษามาอยู่ด้วยกัน เป็นข้อดีมากๆ
ความตั้งใจ ภาพที่อยากเห็น Inskru เป็นในอีก 3–5 ปี
(นิ่งคิด) ไม่มีเลย อยู่กับปัจจุบัน (ทำเสียงร้องไห้และหัวเราะในคราวเดียว) แต่ถ้าตอบแบบความตั้งใจรวมๆ นโมอยากเห็นระบบและวัฒนธรรมดีขึ้นจนทำให้ครูมีความสุข เด็กมีความสุข
นโมฝันอยากเห็นอาชีพครูเป็นอาชีพที่คนสบายใจจะเป็น คนเก่งมาเป็นครูได้ ใครๆ ก็อยากเป็นครู ถ้าเราไม่สร้างค่านิยมหรือระบบให้เป็นแบบนั้น มันจะไม่มีครูที่อยากเป็นครูจริงๆ เข้ามา ระบบก็ยิ่งถอยหลังไปเรื่อยๆ นี่เป็นส่วนหนึ่งที่คิดตลอดเวลาว่า “ทำไงวะ?”
ส่วนนักเรียนมีความสุข คืออยากเห็นทุกห้องเรียนมีวัฒนธรรมใหม่ในการสอน ไม่มีการใช้อำนาจ ไม่มีการเรียนเพื่อท่องจำ เด็กก็จะอยู่ในห้องเรียนอย่างมีความสุขมากขึ้น
*Pinterest เว็บไซต์ที่รวบรวมภาพ คลิปวิดีโอ กราฟิก และงานทางภาพอื่นๆ ที่เน้นความสวยงามของศิลปะและการออกแบบ เว็บไซต์ที่ถือเป็นแหล่งชุมนุมของนักออกแบบทั่วโลก แต่อันที่จริงก็เป็นเว็บไซต์ที่คนทั่วไปเข้าไปหาแรงบันดาลใจในงานออกแบบ ตัวเลขผู้เข้าใช้ล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2019 อยู่ที่ 300 ล้านคน/เดือน หลายคนใช้คำว่า Pinterest ในความหมายเฉพาะ เช่น แต่งบ้านแบบ Pinterest, ทำงานอาร์ตแบบ Pinterest |