- ศุกร์ที่ 20 กันยายน คือ วันที่วัยรุ่น คนรุ่นใหม่ และทุกวัยที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อม นัดกันทิ้งงาน โดดเรียน ออกมาร่วม ประท้วงสภาพอากาศ ในชื่อกิจกรรม Fridays For Future
- บทความชิ้นนี้จะพาไปทำความรู้จักตัวตนและความคิดของคนรุ่นใหม่ที่สู้เพื่อเป้าหมายเดียวกัน แต่อยู่คนละมุมโลก
- คำถามที่เหมือนกันของพวกเขาคือ ทำไมผู้ใหญ่ไม่ทำอะไร แต่พวกเขาไม่ยอมเสียเวลาไปกับการนั่งรอคำตอบ พวกเขาเลือกที่จะ ‘ลง-มือ-ทำ’
เรื่อง: ชนฐิตา ไกรศรีกุล, อรสา ศรีดาวเรือง
ศุกร์ที่ 20 กันยายน คือ วันที่วัยรุ่น คนรุ่นใหม่ และทุกวัยที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อม นัดกันทิ้งงาน โดดเรียน ออกมาร่วม Global Climate Strike หรือ ประท้วงสภาพอากาศ
และเพราะมีหัวขบวนวัย 16 อย่างง เกรตา ธุนเบิร์ก ที่ใช้วิธีโดดเรียนทุกๆ วันศุกร์เพื่อประท้วงวิกฤตโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนลุกขึ้นมาทำตาม ลุกลามไปทั่วโลก กลายเป็นกิจกรรม Fridays For Future ที่จัดพร้อมกันในหลายประเทศ เพื่อแสดงจุดยืนสู้เพื่อกู้โลก
ล่าสุด นายกเทศมนตรีนิวยอร์กอนุญาตให้นักเรียน 1.1 ล้านคน หยุดเรียนแล้วออกมาประท้วงเป็นเพื่อนเกรตาแล้ว (ถ้าผู้ปกครองอนุญาต)
The Potential จึงพาไปทำความรู้จักตัวตนและความคิดของคนรุ่นใหม่ที่อยู่คนละมุมโลก แต่สู้เพื่อโลกใบเดียวกัน
คำถามที่เหมือนกันของพวกเขาคือ ทำไมผู้ใหญ่ไม่ทำอะไร
พวกเขาไม่ยอมเสียเวลาไปกับการนั่งรอคำตอบ พวกเขาเลือกที่จะ ‘ลง-มือ-ทำ’
1. ลุยซา นอยบาวเออร์ (Luisa Neubauer) 23 ปี ⋅ เยอรมนี
“ฉันไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะมาเป็น climate activist” ลุยซา นอยบาวเออร์ (Luisa Neubauer) นักศึกษา วัย 23 ปี จากกรุงเบอร์ลิน และหนึ่งในสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม School Strike for Climate ในประเทศเยอรมนี กล่าวไว้บนเวที Ted Talk เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
สิบปีก่อน ลุยซา รู้จัก Green House Effect หรือปรากฏการณ์เรือนกระจกครั้งแรกในคาบวิชาภูมิศาสตร์ขนาด 90 นาที
“ตอนนั้นรู้สึกหงุดหงิดมากว่าทำไมเรื่องระดับใหญ่อย่างนี้ถึงถูกบีบอัดให้อยู่ในคาบหนึ่งของวิชาเดียว”
ความหงุดหงิดนั้นยังคงอยู่ ลุยซาจึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาตรีด้านภูมิศาสตร์ และทุกอย่างก็เปลี่ยนไปตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้เห็นข้อมูลวิทยาศาสตร์เบื้องหลังทั้งหมด
“เรากำลังอยู่ในยุคการทำลายล้างสูงสุดของมนุษยชาติ เราอยู่ในยุคที่ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนไหนการันตีได้ว่าเราจะรอด”
ตอนที่ลุยซาเรียนปีหนึ่ง ตรงกับช่วงที่ผู้นำทั่วโลกมาประชุม การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกครั้งที่ 21 หรือ COP21 ที่กรุงปารีส ปี 2015
“ตอนนั้นสื่อประโคมข่าวว่าประวัติศาสตร์หน้าใหม่กำลังเกิดขึ้น ชาวโลกไม่ต้องเป็นห่วงหรอก แต่คำถามคือ มันใช่ไหม” ลุยซากล่าวต่อว่า หลังทุกประเทศลงนามข้อตกลง สถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้น กลับเลวร้ายลงกว่าเดิมด้วยซ้ำ
“ทั้งผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ ผู้นำ นักการเมือง พวกเขากลับไปทำธุรกิจกันเหมือนเดิม สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกันต่อไป”
สำหรับลุยซา การติดตั้งพลังงานลมและแสงอาทิตย์เป็นเรื่องดี แต่มันก็ช้าเกินไป ไม่ทันกราฟอุณหภูมิที่พุ่งสูงสุดและทำลายสถิติท
“ไม่มีคำตอบใดเกินคาดหมาย แต่สิ่งที่รับไม่ได้คือ อุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลและบรรดาผู้นำ ต่างทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้การเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น อย่างน้อยก็เพื่อผลประโยชน์และการเลือกตั้งครั้งต่อไป
“เป็นการประชุมที่ทั้งเศร้าและแปลก คนเดียวที่แตกต่างและน่าสนใจจริงๆ คือ เกรตา ธุนเบิร์ก วินาทีนั้นฉันตัดสินใจเคลื่อนไหวกับเกรตา ตอนนั้นมีแค่ฉันกับเกรตาที่นั่งอยู่ตรงนั้นในที่ประชุมใหญ่ ล้อมรอบไปด้วยผู้ใหญ่ใส่สูทที่ดูยุ่งๆ ตลอดเวลาแต่ไม่มีความคิดใดๆ กับเรื่องนี้ (climate change) เลย”
การที่ผู้ใหญ่ไม่คิดทำอะไรกับเรื่องนี้ในทางกลับกันมันยิ่งสร้างพลังมหาศาลให้ลุยซา และนั่นเป็นจุดเริ่มต้น ทำให้ต้องกลับมาทำอะไรที่บ้านเกิด
พอกลับมาเบอร์ลิน ลุยซาเจอกลุ่มเพื่อนที่คิดเหมือนกันและเดินหน้า Fridays for Future ด้วยกัน นำมาสู่การประท้วงครั้งแรก
“เราไม่มีเงิน ไม่มีแหล่งทุน และไม่มีไอเดียเลยว่าประท้วงยังไง ดังนั้นเราเลยเริ่มจากสิ่งที่เราถนัด คือ พิมพ์ข้อความผ่าน WhatsApp แล้วส่งทั้งวันทั้งคืนไปถึงทุกคนเท่าที่จะทำได้” ปฏิบัติการในคืนนั้นทำให้ลุยซาพบเพื่อนเต็มไปหมดในการประท้วงวันรุ่งขึ้น และวันนั้นลุยซาเรียกตัวเองได้เต็มปากเต็มคำว่า climate activist
“เรากำลังพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้ระยะเวลาที่สั้นที่สุด เราไม่มีเวลาแม้สักปีให้รออีกต่อไป ไม่ว่ากรณีไหนๆ โลกต้องเลิกฝากความหวังไว้กับนักประท้วงรุ่นเด็ก ใช่…พวกเราเจ๋ง และเรายังทำต่อ เราไม่มีขีดจำกัด เราคือจุดสตาร์ท แต่จงอย่าลืมว่า นี่ไม่ใช่ภารกิจของคนรุ่นนี้ แต่คืองานของมนุษยชาติ
“ทุกคนเป็น climate activist ได้ เราต้องการทุกคน ทุกวัย ทุกมุม ถ้าคุณคือนักร้อง จงร้อง ถ้าคุณคือครู จงสอน ถ้าคุณคือนักการธนาคาร บอกนายจ้างว่าคุณเตรียมตัวจะลาออกถ้าเขายังคงลงทุนในพลังงานฟอสซิล”
อ้างอิง
Why you should be a climate activist
Climate Cabinet: Luisa Neubauer considers German climate measures inadequate
2. อเล็กซานเดรีย วิลลาเซญอร์ (Alexandria Villaseñor) 14 ปี ⋅ สหรัฐอเมริกา
อเล็กซานเดรีย วิลลาเซญอร์ (Alexandria Villaseñor) วัย 14 ปี จากแมนฮัตตัน สหรัฐอเมริกา ผู้ก่อตั้ง Earth Uprising กลุ่มนักเคลื่อนไหววัยเยาว์ด้านสิ่งแวดล้อม ที่นิยามตัวเองว่า “We are a team of young people who want to save the planet”
ตั้งแต่ต้นปี 2019 อเล็กซานเดรียใช้เวลาทุกวันศุกร์แบบนี้: ตื่นตอน 8 โมงเช้า แทนที่จะไปโรงเรียน เธอกลับออกจากบ้านที่แมนฮัตตัน นั่งรถไฟใต้ดิน มุ่งสู่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ และนั่งบนม้านั่ง 4 ชั่วโมง เพื่อทำหน้าที่ผู้ประท้วงเพื่อสภาพอากาศ-โดยลำพัง หรือ solitary climate striker
อเล็กซานเดรียบอกเหตุผลว่า เธอกำลังสู้เพื่ออนาคตของเธอเอง
“อย่างที่ เกรตา ธุนเบิร์ก พูด ถ้าเด็กๆ โดดเรียน มันก็จะดึงความสนใจได้ แค่หนึ่งคนที่ทำ มันก็ทำให้คนสนใจแล้ว” อเล็กซานเดรียให้ความสำคัญกับการดึงความสนใจ โดยเฉพาะความสนใจจากบรรดาผู้นำและเจ้าหน้าที่รัฐต่างๆ เพราะการประท้วงของเด็กคือการแสดงถึงความไม่ยอมของประชาชน และเป็นแรงกดดันต่อผู้นำประเทศทั้งหลาย”
ประสบการณ์ตรงคืออีกเหตุผลส่วนตัวที่ผลักให้เด็กวัย 14 ทำอย่างนี้ ต้องย้อนกลับไปในเดือนพฤศจิกายน 2018 อเล็กซานเดรียกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่แคลิฟอร์เนีย ซึ่งตรงกับช่วงเวลา camp fire – ไฟป่าที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์แคลิฟอร์เนีย แม้บ้านของอเล็กซานเดรียจะอยู่ไกลออกไปเป็นร้อยไมล์ แต่เมืองกลับถูกปกคลุมไปด้วยควัน และโรคหอบหืดของเธอก็ต้านไม่ไหว
“มันเป็นอากาศที่แย่ที่สุดในโลก ขนาดเราห่อตัวด้วยผ้าขนหนูเปียกและสอดไว้ใต้ประตู ก็เอาไม่อยู่ พ่อแม่ต้องจองตั๋วกลับแคลิฟอร์เนียเที่ยวเร็วที่สุด” นั่นเป็นประสบการณ์แรกจาก climate change ของเด็กหญิง
พอกลับมาบ้าน อเล็กซานเดรีย จึงค้นหาข้อมูลทันทีว่า ไฟป่าส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศอย่างไรบ้าง ทำไมแคลิฟอร์เนียอากาศแห้งขนาดนั้น จนได้พบกับเกรตาและสปีช อเล็กซานเดรียจึงตัดสินใจดำเนินรอยตาม
“การเป็นนักเคลื่อนไหว ต้องเสียสละมากๆ ครูหนูสนับสนุนมากๆ ครูบอกให้หนูส่งลิงค์ข่าว ความเคลื่อนไหวมาให้ตลอดๆ ด้วย”
ทุกครั้งในการประท้วงอย่างโดดเดี่ยว อเล็กซานเดรียได้รับกำลังใจผ่านทางข้อความมากมาย เธอคิดว่าการเคลื่อนไหวในยุโรป ยอดเยี่ยมมาก พวกเขาไม่นิ่งนอนใจ และหวังใจว่าสหรัฐจะเป็นแบบนั้นบ้าง
“เราคือหนึ่งในกลุ่มคนที่หาทางวิ่งหนีภัยในอนาคตจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โรงเรียนจึงไม่สำคัญอีกต่อไป”
อ้างอิง
14-YEAR-OLD CLIMATE ACTIVIST ALEXANDRIA VILLASEÑOR KNOWS INACTION IS NOT AN OPTION
The Teen Activist Who’s Spent 12 Fridays Outside the United Nations Striking for the Climate
3. ไรแอนน์ คริสติน แม็กซิโม ฟรังกา (Rayanne Cristine Maximo Franca) 25 ปี ⋅ บราซิล
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หญิงชาวพื้นเมืองนับหมื่นคนเดินทางเข้าเมืองหลวงเพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองป่าไม้แอมะซอน หนึ่งในนั้นคือ ไรแอนน์ คริสติน แม็กซิโม ฟรังกา (Rayanne Cristine Maximo Franca) นักกิจกรรมหญิงชาวพื้นเมืองวัย 25 ปี หลังมีการแย่งชิงดินแดนชนพื้นเมืองและทำลายป่าแอมะซอนอย่างหนักตามนโยบายเปลี่ยนผืนป่าเป็นที่ดินเพื่อการเกษตรเชิงอุตสาหกรรมและการทำเหมืองของประธานาธิบดีชาอีร์ บอลโซนาโร (Jair Bolsonaro)
ครอบครัวของฟรังกาและชนพื้นเมืองคนอื่นๆ แบ่งปันพื้นที่เพียง 13 เปอร์เซ็นต์ของป่าแอมะซอนทั้งหมดเป็นที่อยู่อาศัย เธอและสมาชิกครอบครัวเคยถูกขู่ฆ่าหลายครั้งเพราะบิดาออกมาต่อต้านคอร์รัปชัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้เธอหยุดการเคลื่อนไหว วันนี้ฟรังกาตัดสินใจออกมาเดินขบวนด้วยตัวเองเพื่อต่อต้านลัทธิบริโภคนิยมที่กำลังกัดกินดินแดนป่าแอมะซอนอย่างไร้ซึ่งความเคารพธรรมชาติและเมินสิทธิของชนพื้นเมือง
“เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาแสนสำคัญ ที่บราซิล มีขบวนประท้วงหญิงล้วนครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาวพื้นเมือง มีทั้งผู้ใหญ่ หญิงสาว และเด็กหญิงจากหลากหลายอาชีพเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ศิลปิน สมาชิกรัฐสภา ครู เกษตรกร ทุกคนช่างสวยงามและหลากหลาย”
หญิงชาวพื้นเมืองทุกคนรวมตัวกันเดินขบวนในหัวข้อ ‘ดินแดน: ร่างกายของเรา จิตวิญญาณของเรา’ ฟรังกาเล่าว่าร่างกายของชาวพื้นเมืองหลายคนปนเปื้อนไปด้วยพิษปรอทจากฝีมือของเหมืองผิดกฎหมายที่ผุดขึ้นในพื้นที่ป่าที่ควรเป็นของสตรีพื้นเมือง ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด
ฟรังกาและกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงกำลังหาทางขยับขยายเครือข่ายออกไป ผ่านการอบรม สัมมนา และทำเวิร์คช็อปในหัวข้อเกี่ยวกับสิทธิและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหญิงพื้นเมืองจำนวนไม่กี่คนที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยและเคยร่วมงานกับองค์การสหประชาชาติ ฟรังกาบอกว่าการเข้าถึงข้อมูลและการมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะอาจเป็นเรื่องท้าทายสำหรับหญิงสาวชนพื้นเมืองรุ่นเยาว์ แต่คนเราจะ ‘เยาว์’ ถึงวัยไหนก็เป็นเพียงเกณฑ์ที่สังคมนั้นๆ ตั้งขึ้นมาเท่านั้น
“ถึงเวลาที่โลกต้องฟังเสียงของเรา และถึงเวลาที่ประเทศนี้ต้องตระหนักว่าผู้หญิงพื้นเมืองก็ถือสิทธิเท่าๆ กับคนอื่นทั่วไป” ฟรังกากล่าว
อ้างอิง
Inside the indigenous fight to save the Amazon rainforest
From where I stand: “It is time that the world hears our voice”
4. มาริเนล ยูบัลโด (Marinel Ubaldo) 22 ปี ⋅ ฟิลิปปินส์
ทันทีที่ซูเปอร์ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนมาเยือนฟิลิปปินส์ในปี 2013 มาริเนล ยูบัลโด (Marinel Ubaldo) ก็รับรู้ได้ถึงสัญญาณเตือนของความน่ากลัวจากสภาวะภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง
ซูเปอร์ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน หรือคนฟิลิปปินส์จำไม่ลืมในชื่อ ‘โยลันดา’ คร่าชีวิตคนไป 11 ราย และเปลี่ยนสถานะยูบัลโด จาก ‘เด็กนักเรียนดีเด่น’ มาเป็น ‘ผู้ประสบภัย’
แม้ได้รับข้อความเตือนภัยล่วงหน้าและบอกต่อคนอื่นให้รีบอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย แต่ก็ไม่มีใครคาดถึงว่าซูเปอร์ไต้ฝุ่นโยลันดาจะ ‘ซูเปอร์’ ถึงขนาดทำลายชุมชนซามาร์ตะวันออก บ้านของยูบัลโด จนเธอไม่เหลือแม้แต่กล่องที่เคยใช้เป็นที่เก็บรางวัลต่างๆ ที่โรงเรียนมอบให้ ยูบัลโดและคนอื่นๆ ได้กินแต่หัวมันสำปะหลังประทังชีวิต โรงเรียนพังเสียหาย ส่วนพ่อที่มีอาชีพชาวประมงก็สูญเสียเครื่องมือทำกินไปกับพายุ
หลังรอดชีวิต ยูบัลโดเปลี่ยนสถานะตัวเองอีกครั้ง จากเด็กหญิงผู้ประสบภัยธรรมดาๆ มาเป็นหนึ่งในเยาวชนแกนนำเพื่อต่อต้านบริษัทเชื้อเพลงฟอสซิลขนาดใหญ่ ต้นเหตุสำคัญของสภาวะภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง (climate change)
ยูบัลโดเข้าร่วมกับกลุ่ม ‘Plan International’ โครงการชุมชนเพื่อส่งเสริมสิทธิเด็กในฟิลิปปินส์เพื่อพูดคุยถึงปัญหาภูมิอากาศโลก ให้ความรู้กับชุมชน นำเสนอวิธีปรับตัวเพื่ออยู่รอด เธอเรียนรู้ผลกระทบของภาวะภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อชุมชนชายฝั่ง บ้านของเธอ
“เยาวชนเองก็มีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ เราไม่ใช่เพียงเหยื่อหรือผู้ชมเหตุการณ์อยู่ห่างๆ เราต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตเรา”
ยูบัลโดเข้าร่วมการประชุม 21st Conference of the Parties (COP21) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเพื่ออภิปรายว่าปัญหาสภาพภูมิอากาศโลก ‘ปล้น’ อนาคตเยาวชนไปอย่างไร เธอเรียกร้องให้ผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลกแก้ไขปัญหาโดยร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ในสารคดี ‘Girl and Typhoons’ สารคดีบันทึกเรื่องราวของยูบัลโด เด็กหญิงที่รอดชีวิตจากภัยพิบัติและกลายมาเป็นนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อม เธอบอกว่า “หนูอยากให้โลกรู้ว่าสภาวะภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงในฟิลิปปินส์เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่แค่ความคิดลอยๆ และเราต้องทนอยู่กับมัน”
ยูบัลโดเป็นหนึ่งในทีมงานร่วมจัดกิจกรรม ‘Global Climate Strike’ หรือการนัดหยุดเรียนทั่วโลกเพื่อประท้วงในประเด็นสิ่งแวดล้อมในวันที่ 20 กันยายนในปีนี้
อ้างอิง
Yolanda survivor makes waves in Paris climate talks
5 young activists who inspired us in 2018
5. เอ็มมา ลิม (Emma Lim) 18 ปี ⋅ แคนาดา
เอ็มมา ลิม (Emma Lim) นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแมคกิลล์ เรียนวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ วัย 18 ปี เธอคือนักกิจกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้ริเริ่มขบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขนานนามว่า #NoFutureNoChildren แคมเปญที่เธอเชิญชาวแคนาดาทุกคนให้เข้าร่วม ได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ที่ผ่านมา ที่อาคารรัฐสภา Parliament Hill
วิธีการต่อสู้ของลิมน่าสนใจ เธอใช้การเจรจาต่อรองผ่านแคมเปญ โดยการสาบานตนว่าจะไม่มีลูกจนกว่าเธอจะแน่ใจว่ารัฐบาลแคนาดากำลังดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การต่อสู้ของเธอได้รับการสนับสนุนจากผู้คนมากมาย และเมื่อเช้าวันอังคารที่ผ่านมา ผู้คนกว่า 300 คนได้ลงนามในแคมเปญออนไลน์ของเธอ ที่ระบุว่า
“ฉันสัญญาว่าจะไม่มีลูกจนกว่าฉันจะแน่ใจว่ารัฐบาลของฉันจะรับรองอนาคตที่ปลอดภัยสำหรับเรา”
ลิมกล่าวว่า “ผู้คนที่เข้าร่วมการปฏิญาณในครั้งนี้ กำลังเลิกล้มความตั้งใจในการเป็นพ่อและแม่ แม้สิ่งนี้ควรจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเรา สิ่งนี้จะแสดงให้เห็นว่าเราจริงจังกับเรื่องนี้มากแค่ไหน และปัญหานี้ร้ายแรงเพียงใด”
ย้อนกลับไป ลิมคือเด็กสาวธรรมดาคนหนึ่งที่มีความฝัน ฝันของการเป็นแม่ เธอต้องการที่จะเป็นแม่ตั้งแต่จำความได้ และเธอยังมีรายชื่อของลูกในอนาคตอยู่ในคอมพิวเตอร์อีกด้วย เธอกล่าวว่า “การลุกขึ้นมายอมแพ้ต่อความฝันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และฉันกังวลว่าความพยายามอย่างที่สุดของฉันจะไม่ทำให้อะไรเปลี่ยนแปลง”
ครั้งหนึ่งในวัยเด็ก เธอมีความรักชาติ และมีความเชื่อเหมือนเด็กทั่วไปว่ารัฐบาลของเธอสามารถทำอะไรก็ได้ แต่ความรู้สึกนั้นกำลังจะจางหายไป “ชัดเจนแล้วว่าผู้นำของเราไม่ได้ทำสิ่งนี้อย่างจริงจังและนี่เป็นปัญหาร้ายแรง” เธอกล่าวโดยอ้างถึงการที่รัฐบาลอนุมัติการขยายท่อส่งก๊าซทรานส์เมาน์เทนของรัฐบาลสหรัฐ
ลิมรู้สึกไม่ประทับใจในสิ่งที่เธอได้เห็นจากกลุ่มเสรีนิยม และอนุรักษนิยมในประเทศของเธอ เธอกล่าวว่า “ฉันคิดว่าพวกเขาขี้ขลาด ในแคนาดาเราต่างรู้ว่าจำเป็นต้องมีการดำเนินการเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ แต่คนที่ควรจะเป็นผู้นำของเรากลับกำลังหาทางออกง่ายๆ พวกเขาแทบจะไม่ทำอะไรเลย มีแค่นโยบายห้ามใช้พลาสติก ในขณะที่เราต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” เธอกล่าวต่อว่า “ขณะเดียวกัน แอนดรูว์ เชียร์ – หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม กลับไม่ได้มีการวางแผนเชิงนโยบายในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจริง ไม่มีอะไรเลย และเขายังต้องการที่จะยกเลิกการกำหนดราคาคาร์บอนอีกด้วย”
เช้าวันเปิดแคมเปญของลิม แคทเธอรีน คาร์ท ผู้เป็นแม่ได้เดินทางไปยังไปออตตาวาเพื่อสนับสนุนลูกสาว เธอกล่าวว่า “มันเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่จะสนับสนุนลูกๆ ของพวกเรา” และเธอยังหวังว่าการต่อสู้ของครั้งนี้ จะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะถึงแม้เธอจะอยากให้ลิมมีลูก แต่เธอบอกว่าโลกนี้ตกอยู่ในความระส่ำระสายเพราะวิกฤติสภาพภูมิอากาศ
“แล้วฉันจะเห็นแก่ตัวโดยการสนับสนุนให้เธอมีลูกภายใต้สถานการณ์เหล่านี้ได้อย่างไร” แม่ของลิมกล่าว
อ้างอิง
Hundreds join student’s climate-change pledge: No kids until Canada takes action
6. เดนิซ เซวิคูซ (Deniz Çevikuş) 11 ปี ⋅ ตุรกี
ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เดนิซ เซวิคูซ (Deniz Çevikuş) นักกิจกรรมชาวตุรกี วัย 11 ปี ใช้เวลาว่างไปกับการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมรวมไปถึงการประท้วงในวันศุกร์ของทุกสัปดาห์ ( Friday Climate Strikes) ณ ศูนย์กลางของเมืองที่ใหญ่ที่สุดในตุรกี และเป็นที่ที่เธอถือป้ายเชิญชวนผู้คนที่เดินผ่านเข้ามาพูดคุยเกี่ยวกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในประเทศ
“คุณรับรู้ถึงวิกฤติสภาพภูมิอากาศไหม? ถ้าอยากรู้ หนูอธิบายได้” คือประโยคบนป้ายที่เธอยืนถือเพื่อชักชวนผู้คนบนถนนที่พลุกพล่าน มากกว่านั้น เธอยังชวนเพื่อนร่วมชั้นเรียนมาร่วมเคลื่อนไหวโดยการเดินเท้าไปยังแหล่งช็อปปิ้งที่มีผู้คนขวักไขว่พร้อมทั้งอธิบายสาเหตุที่อุตสาหกรรมแฟชั่นส่งผลกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศอีกด้วย
ด้วยเพราะตุรกีเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 18 ของโลกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง เดนิซจึงตระหนักและรับรู้ปัญหาที่ผู้คนในประเทศกำลังเผชิญ ทั้งจากโครงการขุดในเทือกเขาคาซ (Kaz) ในภูมิภาคเอเจียน (Aegean) ทางตะวันตกของตุรกีที่นักเคลื่อนไหวในประเทศมักกล่าวว่า
“รัฐบาลตุรกีมักให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางธุรกิจเหนือสิ่งแวดล้อมซึ่งนำไปสู่โครงการก่อสร้างและการขุดทำลายในพื้นที่อนุรักษ์อย่างมหาศาล”
จุดเริ่มต้นของเด็กสาวนักเคลื่อนไหววัย 11 ปีคนนี้ได้เดินตามรอยเท้าของนักเคลื่อนไหวรุ่นพี่ชาวสวีเดนวัย 16 ปี นามว่า เกรตา ธุนเบิร์ก ผู้มีชื่อเสียงหลังจากการเข้าร่วมการประท้วงเรื่องสภาพอากาศนอกรัฐสภาสวีเดนเมื่อวัย 15 ปี
จนถึงเวลานี้ เป็นเวลากว่า 19 สัปดาห์แล้วที่เดนิซ ออกมาเคลื่อนไหวและขับเคลื่อนการรับรู้ของคนในกรุงอังการา เมืองหลวงของตุรกี เธอกล่าวในโชเชียลมีเดียเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า “จำนวนผู้คนที่ยินดีที่จะฟังเราอธิบายนั้นเพิ่มมากขึ้น”
อ้างอิง
Turkey’s 11-year-old activist demands grown-up action on climate change
7. แพทย์หญิงสนาธร รัตนภูมิ 31 ปี ⋅ ประเทศไทย ผู้ก่อตั้งเพจ Too Young to Die
ย้อนกลับไปในปี 2011 เพจ Too Young to Die ถูกตั้งขึ้นโดย นักศึกษาแพทย์หญิงสนาธร รัตนภูมิภิญโญ หรือหมอจอย วัย 31 ปี ครั้งนั้นเธอตั้งใจว่าเพจนี้จะทำหน้าที่รณรงค์และให้ความรู้ด้านปัญหาโลกร้อน แต่เธอก็ได้บอกเราว่า เธอก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่ขี้เกียจ และละเลยด้วยมองว่าปัญหานั้นยังไกลตัว Too Young to Die จึงถูกปล่อยทิ้งร้างไว้อย่างนั้น จนปัญหาที่เธอเคยมองว่าอีก 200-300 ปีคงจะสำแดงผล มันเคลื่อนเข้ามาใกล้เธอทุกที
“จนกระทั่งไปเจอรายงานของ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) เขาออกข่าวมาว่า เรามีเวลาเพียง 10 ปีในการลดก๊าซเรือนกระจก เพราะว่าตอนนี้มันเยอะเกินไปแล้ว เราก็ขนลุกเลย 10 ปีมันไม่นานเลยนะ คงต้องทำอะไรสักอย่าง เราเลยคุยกับเพื่อนว่าจะกลับมาขับเคลื่อนเพจ” เธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนปัญหาผ่านเพจ Too Young to Die ที่ถูกทิ้งร้างไว้นานหลายปีร่วมกับเพื่อนอีกสองคนคือ หมอแป้ง-วีรยา มานามวีรสิทธิ์ และ หมอซวง-ลดาทิพย์ ทองธเนศ
หมอจอยกล่าวว่า “เราอยากสื่อสารให้คนรู้สึกกลัวกับปัญหามากกว่านี้ รู้จักที่จะตั้งคำถามว่า สรุปถือแค่ถุงผ้ามันได้ผลไหม และตั้งคำถามไปยังผู้นำของเราว่าที่ทำอยู่ตอนนี้ เราพยายามกันเพียงพอหรือยัง เราไม่ได้แอนตี้พรรคการเมืองหรือรัฐบาลใด แต่จากกระแสการทำงานของหน่วยงานทั่วโลก ไม่มีที่ไหนทำได้ตามเป้าเลย เราอยากให้ทุกคนกลัวปัญหาและมีความรู้พอที่จะกล้าตั้งคำถามผู้นำ และกล้าออกมาบนถนนมากกว่านี้ด้วยนะ”
และ 20 กันยายนนี้ หมอจอยและเพื่อนได้เปิดพื้นที่ให้เกิดการพูดคุยกันทั้งภาครัฐและเอกชนต่อปัญหาโลกร้อนในกิจกรรม Fridays for Future เธอเล่าว่า “เราอยากให้มานั่งคุยกันดีกว่า ว่าตอนนี้เราอยู่ถึงไหนกันแล้ว เราเชิญภาครัฐเพื่อให้โอกาสเขาได้พูดว่านโยบายไปถึงไหนแล้ว แล้วเราอยากได้อะไร และจะทำอย่างไรต่อไป”
โดยหมอจอยได้บอกถึงเป้าหมายของเธอและเพื่อนว่า “รัฐบาลต้องประกาศว่าภาวะโลกร้อนคือภาวะฉุกเฉิน บอกทุกคนว่าทุกคนกำลังแย่ บอกประชาชน โรงเรียน ทุกคนจะได้กลัว แล้วทุกคนจะได้ช่วยกัน เราต้องควบคุมก๊าซให้ได้เท่านี้ๆ นะ ติดตามปีต่อปีนะ ซึ่งในตอนนี้ก็มีหลายประเทศประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินแล้ว อังกฤษ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส แคนาดา เขาตื่นกันแล้ว”
8. นันทิชา โอเจริญชัย 21 ปี ⋅ ประเทศไทย ผู้ก่อตั้ง กลุ่ม Climate Strike Thailand
“นี่ไม่ใช่การซ้อม นี่คือภาวะฉุกเฉินวิกฤติภาวะโลกร้อน Climate Strike Thailand กลับมาแล้ว 20 กันยายนนี้ การเรียนและการงานรอได้ แต่ความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศรอไม่ได้! เราจะเรียกร้องสิทธิมนุษย์ของเรา เพื่อความอยู่รอดในอนาคตบนโลกที่เป็นบ้านเพียงหลังเดียวของเรา และเราต้องการความช่วยเหลือจากคุณ!!”
คำประกาศกร้าวบนกิจกรรม Global Climate Strike – Bangkok SEP. 20 ของกลุ่ม Climate Strike Thailand ที่เริ่มต้นและขับเคลื่อนโดย หลิง-นันทิชา โอเจริญชัย วัย 21 ปี ผู้ก่อตั้ง กลุ่ม Climate Strike Thailand เธอเล่าว่า อาจจะเพราะเธอเรียนด้านสิ่งเวดล้อม ภาวะโลกร้อนจึงเป็นเรื่องที่เธอกังวลมาโดยตลอด และก่อนหน้านี้เธอได้ใช้เพียงปลายปากกาบอกเล่าปัญหาเท่านั้น กระทั่งเธอได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ เกรตา ธุนเบิร์ก นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมวัย 16 ปี ที่ได้สร้างแคมเปญ Friday for Future ได้จุดประกายให้หลิง ขับเคลื่อนกิจกรรมนี้ในประเทศไทย
“เราได้เห็นบทสัมภาษณ์ของเกรตา เรารู้สึกเหมือนกันนะ ทำไมไม่มีใครใส่ใจเรื่องนี้ และทำไมคนที่เขามีอำนาจในการจัดการปัญหานี้ ไม่เห็นความสำคัญของมัน และไม่เฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้นนะ ทุกคนเลย”
20 กันยายน คือหมุดหมายที่เยาวชนทั่วโลก ออกมารวมตัวกันที่ถนนเพื่อส่งเสียงบอกคนในโลกว่าโลกเแย่แล้ว และหลิงคือหนึ่งในผู้ที่เชื่อในสิทธิและเสียงของตน ว่าสิ่งที่พวกเรากำลังจะบอก ผู้ใหญ่ต้องฟังได้แล้ว
“ถ้าเป็นเมืองนอก เขาจะออกมาบนท้องถนนแสนสองแสน มันจะมีประสิทธิภาพ เพราะคนไม่ได้ไปทำงาน เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน มันมีผล แต่ว่าถ้าเมืองไทย เด็กคนหนึ่งไม่มาเรียนก็เรื่องของเด็ก ไม่ได้เกรด ไม่ได้คะแนน มันไม่มีมีอิมแพคเลย อีกอย่างวัฒนธรรมของเรา กดทับเด็กไม่ให้กล้าพูด เด็กไม่ควรพูดในสิ่งที่ตัวเองคิด และควรจะทำตามผู้ใหญ่ และนอกจากเรื่องความเป็นเด็กภาพของการประท้วงในประเทศเรามันดูไม่ดี มันดูรุนแรง ไม่ได้มองว่าการเดินประท้วง มันเป็นการแสดงสิทธิของเรา”
กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงพลังงาน คือหมุดหมายในวันพรุ่งนี้ของกิจกรรม Global Climate Strike – Bangkok หลิงกล่าวว่า
“เราเรียกร้องอยู่หลักๆ 2 เรื่องคือ 1. อยากให้ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉิน (climate emergency) ที่เขาประกาศกันไปแล้วหลายประเทศ และ 2. เราอยากให้มีเป้าว่าภายในปี 2025 หยุดใช้พลังงานถ่านหิน และใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทน 50 เปอร์เซ็นต์ ของ Renewable Energy Share และอยากให้เป็น 100 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2040 นี่คือข้อเรียกร้องของเรา”
เมื่อการเดินขบวนครั้งนี้สิ้นสุดลง หลิงยังยืนยันว่าภารกิจของ Climate Strike Thailand จะยังคงเดินหน้าต่อไปในการรณรงค์และให้ความรู้กับคนในสังคม
“เราอยากสร้างความรู้ รณรงค์เรื่องนี้ให้คนไทยเข้าใจก่อน เมื่อมีความเข้าใจมากขึ้น เราจะสามารถเรียกร้องมากขึ้นได้ เพราะตอนนี้ถ้าไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเรียกร้อง รัฐบาลก็ไม่ได้จำเป็นต้องมาแก้ปัญหาเรื่องนี้” หลิงทิ้งท้าย