- จะทำความเข้าใจคนที่เราโกรธ เกลียด ไม่ชอบ ไม่สนใจ ไม่แม้แต่อยากจะทำความเข้าใจ ได้อย่างไร?, บางครั้งเราอยากสื่อสารอย่างสันติกับคู่กรณีมาก แต่เค้าไม่ให้ความร่วมมือเลย แบบนี้จะทำอย่างไรดี, แม้เรา ‘เข้าใจ’ ความต้องการของเราและคู่กรณี แต่เป็นความเข้าใจของเราฝ่ายเดียว มันจะเปลี่ยนอะไรได้จริงหรือ?
- คุยกับ ดร.ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์ นักฝึกอบรมจาก Peace Academy และ จันทร์ทิพย์ ปิยะวรธรรม ผู้ก่อตั้ง ‘บ้านขวัญเอย’ ถึงกระบวนการภายใน ตั้งหลักทำความเข้าใจตัวเองก่อนเข้าใจคนอื่นผ่านกระบวนการสื่อสารอย่างสันติ
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ผู้เขียนมีโอกาสร่วมเวิร์คช็อปสั้นๆ เพียง 3 ชั่วโมง (แต่เวิร์คช็อปมี 2 วันเต็ม) ในหัวข้อ ‘การสื่อสารอย่างสันติ เพื่อเรียนรู้ที่จะอยู่กับตัวเองและความแตกต่าง’ จัดโดยทีม โรงน้ำชา (Togetherness for Equility and Action – TEA)
จุดประสงค์เพียงว่า เพราะเคยแต่ศึกษาวิธีสื่อสารอย่างสันติเพียงหน้ากระดาษ (เพื่อเขียนงานชิ้น หยุดทำร้ายใจด้วยคำพูด เริ่มต้นกันใหม่ด้วยการสื่อสารอย่างสันติ) เข้าใจหลักการเบื้องต้นและรู้ว่าจะสื่อสารออกมาเป็นคำพูดที่ชัดเจนและลดความขัดแย้งอย่างไร แต่ถ้าคำพูดหรือพฤติกรรมที่แสดงออก เปรียบเป็นยอดของภูเขาน้ำแข็ง, การปรับใจ ปรับความคิด ทำความเข้าใจเจตนาและความต้องการของตัวเองอย่างจริงจัง เปรียบเป็นส่วนฐานของภูเขา เป็นการทำงานภายในตัวเอง ‘ก่อน’ จะสื่อสาร ซึ่งข้อนี้… อาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยากกว่ามาก
การได้พบกับ ดร. ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์ นักฝึกอบรมจาก Peace Academy ด้านการสื่อสารอย่างสันติและการพัฒนาจิตวิญญาณ ผู้เริ่มต้นนำแนวคิดนี้เข้ามาฝึกสอนให้กับผู้สนใจ และ จันทร์ทิพย์ ปิยะวรธรรม ผู้ก่อตั้ง ‘บ้านขวัญเอย’ ห้องเรียนด้วยกระบวนการศิลปะสร้างสรรค์เพื่อการเข้าใจตัวเอง ในฐานะกระบวนกรนำเวิร์คช็อปในวันนั้น เราจึงถือโอกาสเปิดวงสนทนาคุยสั้นๆ เรื่องการ ‘ปรับใจ’ หรือการทำงานภายใน ก่อนการสื่อสาร ด้วยคำถามไม่กี่ข้อ เช่น
เราจะทำความเข้าใจคนที่เราโกรธ เกลียด ไม่ชอบ ไม่สนใจ ไม่แม้แต่อยากจะทำความเข้าใจ ได้อย่างไร?, บางครั้งเราอยากสื่อสารอย่างสันติกับคู่กรณีของเรามาก แต่เค้าไม่ให้ความร่วมมือเลย แบบนี้จะทำอย่างไรดี หรือ แม้เรา ‘เข้าใจ’ ความต้องการของเราและคู่กรณี แต่เป็นความเข้าใจของเราฝ่ายเดียว มันจะเปลี่ยนอะไรได้จริงหรือ?
แม้เบื้องต้นเราอยากโฟกัสถึงกรณีความขัดแย้งในบ้านและโรงเรียน แต่ในเมื่อการสื่อสารคือชีวิต ประเด็นในบทความนี้จึงนำไปใช้ได้หลายสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในบ้าน รั้วโรงเรียน และ โลกของการทำงาน
การสื่อสารอย่างสันติ
‘การสื่อสารอย่างสันติ’ (nonviolent-communication) เรียกสั้นๆ ว่า NVC คือวิธีสื่อสารด้วยความตระหนักรู้ว่า ‘ความรู้สึก’ และ ‘ความต้องการ’ ของตัวเองคืออะไร
ที่โกรธ ที่ไม่พอใจ หรือหลายครั้งเป็นความปั่นป่วนภายในที่อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ เกิดขึ้นเพราะความต้องการใดอย่างหนึ่งไม่ได้รับการตอบสนอง เมื่อความต้องการไม่ถูกตอบสนอง เราจึงเกิดความรู้สึกบางอย่างโดยเฉพาะความรู้สึกเชิงลบ (เช่น เพราะต้องการความเคารพจากเพื่อนร่วมงาน เมื่อถูกเพื่อนร่วมงานตำหนิซึ่งหน้า จึงรู้สึกโกรธและแค้นใจ)
เบื้องต้น การใช้ NVC ไม่ว่าจะเป็นการบอกความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง หรือ เพื่อเป็นเครื่องมือรับฟังความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่น ประกอบไปด้วย 4 อย่างคือ
การสังเกต (Observations): สังเกตเห็นว่าเกิดอะไรขึ้น
ความรู้สึก (Feelings): เรารู้สึกอย่างไร
ความต้องการ (Needs): ที่รู้สึกอย่างนั้น เกิดจากความต้องการของเราในเรื่องอะไร
การร้องขอ (Requests): เราจะขอให้ผู้ฟัง ทำหรือตอบสนองในสิ่งที่เราต้องการอย่างไร
หากเปรียบคำพูดหรือการกระทำเป็นภูเขาน้ำแข็ง การ ‘พูดจา’ ด้วยภาษา NVC เป็นเพียงส่วนยอดของภูเขา แต่การค้นว่าความรู้สึกหรือความต้องการ คือก้อนน้ำแข็งที่ลึกลงไปใต้ผิวน้ำ อีกบทบาทหนึ่งของ NVC คือวิธีการเพื่อกลับไปตรวจทานความต้องการภายใน หรือเหตุผลลึกลงไปที่กำหนดพฤติกรรมของเรา
ข้างต้นคือหลักการ แต่วิธีค้นให้ลึกว่าความต้องการของเราต่อสถานการณ์นั้นๆ คืออะไร ทำได้หลากวิธี โดยเฉพาะการตั้งคำถามกับตัวเองหลากมิติ แต่ในเวิร์คช็อปที่โรงน้ำชา กิจกรรมหนึ่งที่ผู้เขียนเข้าร่วมคือ การตั้งวงสนทนาโดยใช้การ์ดคำศัพท์ ‘ความรู้สึก’ และ ‘ความต้องการ’ ซึ่งเรื่องเล่าในวง ถูกขอให้ระดับความแรงของปัญหาอยู่ในระดับ 3-4 (รุนแรงสูงสุดอยู่ที่ระดับ 10) วิธีการเล่นคือ ให้แต่ละคนเล่าเรื่องภายในที่ตัวเองรู้สึกติดค้าง หาคำตอบไม่ได้ สลัดไม่หลุด เมื่อเล่าจบ ให้ผู้เล่าหยิบการ์ด ‘ความรู้สึก’ ของตัวเองออกมา 3 ใบ หลังจากนั้นให้ผู้ฟังหยิบการ์ด ที่คิดว่าเป็น ‘ความต้องการ’ ของผู้เล่าออกมา เป็นการฝึกเพื่อรับฟังอย่างเข้าใจ
บทสรุปหนึ่งที่ผู้ร่วมเวิร์คช็อปช่วยกันสะท้อนคือ แม้ปัญหาของผู้เล่ายังไม่คลี่คลาย สถานการณ์ทุกอย่างยังอยู่คงเดิม แต่เมื่อป้ายความต้องการปรากฏ จังหวะที่ผู้ฟังแสดงความต้องการลึกๆ ของเจ้าของเรื่องออกมาได้ คล้ายว่าความหนักอกหนักใจคลี่คลาย ความทุกข์ร้อนใจกว่าครึ่งหายไปจริง
“พอค้นเจอว่าความต้องการของเรามีชื่อเรียกว่าอะไร ความเข้าใจก็เริ่มปรากฏ” หนึ่งในผู้ร่วมเวิร์คช็อปอธิบาย
และนี่คือหนึ่งใน ‘ฟังก์ชัน’ หรือ ‘ปรัชญา’ ของการสื่อสารสันติ ไม่ใช่แค่การสื่อสารที่ตรงไปตรงมาอย่างกรุณา แต่คือความเข้าใจตัวเองและคนอื่นด้วยว่า ที่รู้สึกแบบนั้น เพราะความต้องการอะไร และเมื่อเข้าใจ หลายครั้งความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองและคนรอบข้างก็เปลี่ยนแปลง
กิจกรรมหนึ่งในเวิร์คช็อป คือการให้คนสองคนเอามือดันกันสองครั้ง ครั้งที่หนึ่งให้ดันหรือผลักกันอย่างไม่คิดอะไร ครั้งที่สอง ให้หนึ่งในสองคนนั้นยืนหยัดโดยคิดว่าตัวเองคือต้นไม้กำลังหยั่งรากยาวลึกลงดิน หลายคนสะท้อนว่าการผลักครั้งที่สอง ผู้ที่เป็นฝ่ายตั้งหลักนิ่งขึ้น มี reaction ต่อแรงผลักอย่างมั่นคงมากกว่า ในกิจกรรมนี้ คุณอธิบายว่ามันคือการ ‘ตั้งแกน’ มันคืออะไร?
จันทร์ทิพย์ :เวลาเราคุยกัน เค้าใส่ไป เราใส่มา มันคือการสู้กันในระดับหัว บางครั้งคล้ายว่าเราถูกดูดกลืนพลังงาน ใจเราสั่นไหว การตั้งแกนก็คือการกลับมา center ที่ตัวเอง มีสติ รับรู้ทุกส่วนในร่างกายของเรา ในขณะเดียวกันมันก็กลับไป connect ที่เจตจำนงค์ หรือ intension ของเราด้วย ถ้ามองที่ระดับของภูเขาน้ำแข็ง คล้ายว่าเรากลับไปมอง ไปเชื่อมว่าความต้องการของเราคืออะไร
จริงๆ แล้วมันก็เหมือนการกลับมาหาพลังที่เป็นศูนย์กลางของเรา คือ awareness กับระบบในร่างกาย กับความคิด ความรู้สึก ให้เจตจำนงค์มันหยั่งลง ชัดเจน มั่นคง
ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามสาดคำพูดและพลังงานลบใส่เรา ถ้ามัวแต่ตั้งแกน เราสู้เค้ากลับไปไม่ทัน?
ไพรินทร์ : NVC ไม่ใช่การการต่อสู้ ไม่ใช่การตอบโต้ เพราะแนวคิดการต่อสู้ คือ ‘ถ้าไม่สู้ ก็หนี’ ‘fight หรือ flight’ ถ้าเราด่า เท่ากับเรา fight เค้ากลับ ถ้าเราด่าไม่ไหว เซ็งมากแล้ว เราก็หนี ไม่ไปเผชิญหน้ากับเค้า NVC ไม่ใช่ทั้ง ‘fight หรือ flight’ แต่เป็นการกลับมาตระหนักรู้ถึงสิ่งที่สำคัญสำหรับเรา เป็นการสื่อสารแบบสันติวิธี ซึ่งไม่ใช่ ‘fight หรือ flight’
เช่น อย่างที่แชร์ในวงเวิร์คช็อป พี่มีปัญหากับแม่ แม่มาตัดต้นไม้ที่เค้าเห็นว่ามันไม่ให้ผลที่กินได้ ถ้าพี่จะสู้กลับ พี่ก็ไปว่าแม่ หรือไม่ก็เลิกคุยกับแม่ไปเลยเพราะเบื่อ ปล่อยให้แม่จัดการไปตามสบาย แต่สิ่งที่พี่ทำคือ ตั้งหลักก่อน กลับมา connect กับตัวเองว่าอะไรสำคัญสำหรับพี่ หนึ่งคือ พี่อยากทำให้บ้านร่มเย็น อยากให้แม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่พี่ทำว่ากำลังทำเพื่อช่วยให้บ้านร่มเย็น นี่คือแกนของพี่ “โอเค ชั้นทำเพื่อสิ่งนี้อยู่นะ ชั้นกำลังทำอะไรสักอย่างเพื่อครอบครัว” เมื่อระลึกถึงจุดนี้ ถ้าพี่ต่อว่าแม่กลับ มันจะไม่ใช่สิ่งที่พี่ตั้งใจจะทำจากการปลูกต้นไม้ และแม่จะไม่เข้าใจ ไม่เห็นคุณค่าการปลูกต้นไม้ของพี่
พี่กลับมาทำความเข้าใจ โทรฯ หาเพื่อนที่ให้ความเข้าใจกับพี่ได้ พอได้รับความเข้าใจ ตั้งหลักได้แล้ว มีแกนแล้วว่าเราทำเพื่อครอบครัว จากจุดนี้พี่กลับเข้าบ้านไปฟังแม่ได้แล้วว่า การดึงต้นไม้ทิ้งมันเป็นเพราะอะไร “อ๋อ… แม่อยากปลูกต้นไม้ที่กินได้” “อ๋อ แม่อยากทำให้ครอบครัวมีอาหารกิน ปลูกต้นไม้ที่ทุกคนกินได้” เฮ้ย… พอดูลงไป แม่มีความตั้งใจอยากทำอะไรเพื่อครอบครัวเหมือนเราเลย และเค้าอยากให้เราเห็นคุณค่าตรงนี้ด้วยเหมือนกัน พอเห็นแบบนี้ปุ๊บ ข้างในมันลดความเป็นศัตรูที่อยากเอาชนะแม่
แต่ความต้องการอยากจะได้ต้นไม้ต้นนั้นของเรา จะไม่ถูกตอบสนอง
ไพรินทร์ :และพี่ทำยังไงรู้มั้ย? พอเห็นความต้องการทั้งสองฝั่ง พี่อยากปลูกต้นไม้ให้ร่มเย็นเพื่อครอบครัว แม่อยากปลูกต้นไม้ที่มีผลเพื่อให้คนในครอบครัวกินได้ วันรุ่งขึ้นหลังจากเข้าใจตัวเอง มีหลักแล้ว พี่ไปพูดกับแม่ “เออแม่ ต้นตีนเป็ด ตัดแล้วก็แล้วไป เรามาปลูกมะม่วงกันดีมั้ย” พี่ได้ร่มเงาจากมะม่วง แม่ได้ผลจากมะม่วง วิน-วิน ทั้งสองฝั่ง
ไม่จำเป็นต้องตั้งแกนให้ได้ระหว่างที่คุยและสื่อสารกลับไปเดี๋ยวนั้น แต่กลับไปทำความเข้าใจตัวเอง ซึ่งอาจใช้เวลา?
จันทร์ทิพย์ :มีการตั้งแกนเพื่อสื่อสารกลับไปขณะนั้นด้วย เช่น ครั้งหนึ่งพี่ต้องดูแลหลานซึ่งเป็นลูกคุณอา เด็กๆ มีพี่น้อง 4 คน คนที่ต้องดูแลคือน้องสองคนสุดท้าย ป.4 กับ อนุบาล 3 วันนั้นพี่มาเวิร์คช็อปแบบนี้แหละ กลับถึงบ้านก็เหนื่อย อยากพัก ขณะที่กำลังนอนพัก เราได้ยินเสียงกรี๊ดจากเด็กๆ เค้ากำลังทะเลาะกัน ซึ่งในฐานะที่เราเคยเป็นครูมาก่อน มี mindset บางอย่างเกี่ยวกับการศึกษา การทะเลาะกันแบบนี้จึงเป็นสิ่งที่เราไม่โอเค ขณะนั้นเราเริ่มหงุดหงิด พอเดินเข้าไปหา เห็นตัวเล็กกำลังดึงผมคนพี่ เมื่อเห็นความรุนแรงก็ยิ่งปรี๊ด
พอปรากฏการณ์ตรงหน้าลากพาเราไป เราก็เริ่มเคลื่อนไหว แกนหรือความมั่นคงภายในเริ่มสั่นคลอน พี่ก็ไปแย่งของเล่นกับเค้า กลายเป็นเจ้าคนเล็กเปลี่ยนคู่มาทะเลาะกับพี่ต่อ ปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับแม่ลูกหลายบ้านมาก แม่ลูกทะเลาะกัน เราเข้าไปห้าม กลายเป็นการเปลี่ยนคู่ทะเลาะ ตอนพี่ต่อสู้กับเจ้าตัวเล็กนี่กลายเป็นสนามอารมณ์เลย
ขณะจับเค้าปิดประตูเพื่อ time out เค้าก็จะดึงประตูออก ขณะนั้นพี่รับรู้สภาวะบางอย่าง เกิด awareness เกิดสติ พี่คิดว่าแกนของพี่เริ่มปรากฏขึ้น พี่รับรู้ร่างกาย รับรู้อารมณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในตอนนั้น รู้แล้วว่าเรากำลังโกรธนี่นา ซึ่งมันง่ายมากในการรู้ว่าเรากำลังโกรธนะ แต่เจ้าตัวไม่รู้เพราะกำลังถูกพลังงานพัดพาเพื่อจะเอาประเด็นว่า “ต้องหยุดเด็กคนนี้ให้ได้” ไม่กลับไปที่ความรู้สึก เห็นแต่การกระทำว่าชั้นต้องหยุดเด็กคนนี้ให้ได้
แต่พอกลับไปที่ความต้องการว่า “ชั้นมาดูแลเด็กเหล่านี้เพราะชั้นต้องมาให้ความเข้าใจ ให้ความรัก แทนแม่ของเค้าที่เสียชีวิตไป แต่นี่ชั้นกำลังทำอะไรอยู่?” แล้วก็กลับมาตระหนักถึงแกนที่หยั่งลงไปถึงเป็นความหมายบางอย่างในชีวิตเรา ขณะนั้น ฟึ่บ! ความรู้สึกโกรธทั้งหลายมันหาย แล้วพอเกิด awareness ในตัวเอง ก็เกิด awareness ในคนข้างๆ
การเข้าใจตัวเองจนเกิด awareness ทันเวลา ต้องฝึกใช่มั้ย? จะเกิดกับคนที่ไม่ฝึกได้หรือเปล่า?
ไพรินทร์ : มันก็แล้วแต่นะ บางคนเค้ากลับไปมีสติได้เร็ว เป็นความสามารถของเค้าเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ายิ่งฝึกมากก็ยิ่งเก่งขึ้น เหมือนทางเดินบนสนามหญ้า เดินทางเดิมบ่อยๆ หญ้าก็เตียน เช่น เวลาใครว่ามาบ่อยๆ เราว่ากลับ ทางเดินนี้ก็กลายเป็นทางเดินที่ชัดเจน แต่ถ้าเราเริ่มฝึกทางใหม่ หญ้ายังรกครึ้ม ก็ต้องฝึกบ่อยๆ หญ้าจึงจะเตียน
จันทร์ทิพย์ : เวลามีเรื่องเข้ามา แทนที่จะเข้าทางเดิมก็เดินไปเข้าทางใหม่ แล้วทางเดินเก่าที่เราชอบเดินเวลาทะเลาะหรือเถียงกับเค้า ถ้าเราไม่กลับไปเดินทางนั้นบ่อยๆ หญ้ามันก็จะขึ้นรกปิดทางเดิมนั้น
ไพรินทร์ : แต่มันเกิดขึ้นได้กับบางคนไม่เคยฝึกนะ
ที่เคยรับรู้ มีคุณลุงคุณป้าคู่หนึ่ง ใช้ชีวิตด้วยกันมาก็ไม่เคยทะเลาะกัน ไม่เคยว่ากันเลย ทั้งๆ ที่ไม่เคยเข้าเวิร์คช็อป เช่น ลุงทำแก้วแตก ป้าบอกว่าก็จะไม่ว่าลุง ให้เหตุผลว่า เพราะแก้วมันแตกแล้ว จะไปว่าคนอื่นทำไมให้ใจเค้าแตกด้วย
เราจะใช้ NVC กับคนที่ไม่รู้จัก NVC ได้มั้ย?
ไพรินทร์ :ใช้ได้นะ
แต่ขอให้ระลึกไว้ว่าเป้าหมายของ NVC ไม่ได้ทำเพื่อเปลี่ยนแปลงใครอีกคน แต่เพื่อให้เกิดความเข้าใจ สร้าง connection ระหว่างกัน แม้เราอาจไม่เปลี่ยนเลยนะ แต่เราจะเข้าใจลงไปลึกๆ ว่า ที่เค้าเป็นแบบนี้เพราะอะไร?
แค่เราเข้าใจ ก็โอเคแล้วหรือ?
ไพรินทร์ : เมื่อกี๊ที่เราเล่นไพ่ สถานการณ์ข้างนอกของเรายังเหมือนเดิมเลย ปัญหายังไม่ได้รับการแก้เลย แต่พอเรามีความเข้าใจ ข้างในมันเปลี่ยน มาร์แชล โรเซนเบิร์ก (ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา NVC และนักไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระดับโลก) บอกว่า สิ่งแรกที่ต้องปล่อยวางในการฝึก NVC คือ ความคิดว่าเราจะทำให้คนอื่นเปลี่ยนได้
ตอนทำความเข้าใจเรื่องนี้ เราคิดว่าจะใช้การสื่อสารแบบ NVC เพื่อเปลี่ยนความคิด การกระทำคนอื่นได้?
ไพรินทร์ : แต่มันไม่มีทางที่เราจะเปลี่ยนคนอื่นได้ ถึงแม้เราพยายามแค่ไหน ดูตัวเราเอง แค่จะเปลี่ยนตัวเองยังยากเลย
จันทร์ทิพย์ : แต่ขณะที่เราฝึกไปเรื่อยๆ การใช้ชีวิตของเราจะเปลี่ยน การพูด การเผชิญกับปัญหาของเราจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในเวิร์คช็อปพูดกันว่า
“เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรใคร แต่โลกจะเปลี่ยนเมื่อไป เมื่อข้างในใจเราเปลี่ยนแปลง”
พอทำไปสักพัก เราจะเห็นว่าแม่เราเปลี่ยน แต่แม่ไม่ได้เปลี่ยนในแง่พฤติกรรมนะ ความรู้สึกของเราที่มีต่อแม่ต่างหากที่จะเปลี่ยนไป ด้วยความที่เราเข้าใจเค้าลึกลงไป จากเดิมที่เอะอะก็โกรธ เอะอะก็เถียง เราจะเริ่มเข้าใจ หรือมีความกรุณากับแม่มากขึ้น แล้วพอความคิดเราเปลี่ยน พลังงานเราเปลี่ยนนะ ท่าทีเปลี่ยน คำพูดเปลี่ยน บรรยากาศระหว่างกันเปลี่ยน การกระทำเปลี่ยนหมดเลย
พอเราเปลี่ยน มันก็เป็น action และ reaction พอเราขยับองศา สักพักเค้าจะงงๆ เช่น “ถ้าเป็นเมื่อก่อน ทะเลาะกับลูกประจำเพราะมันชอบบ่นแม่ แต่พักหลังลูกแปลกๆ นะ พูดอะไรลูกก็ไม่บ่นไม่อะไร” สักพักแม่ก็จะเริ่มใจเย็นได้มากขึ้น เพราะสนามพลังของเรากับแม่เปลี่ยน แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนเพราะเราบอกให้เค้าเปลี่ยน และเราก็ไม่รู้เลยว่าเค้าจะเปลี่ยนตอนไหน แต่เราจะใส่สนามพลังงานนี้ไปเรื่อยๆ สะสมไป แล้ววันหนึ่งเมื่อถึงเวลา เค้าอาจจะเปลี่ยน หรืออาจไม่เปลี่ยนเลยก็ได้ในชีวิตก็ได้นี้นะ เพราะเราเป็นแค่หนึ่งในปัจจัยของการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดของเค้า
ในกรณีที่เรารู้วิธีทำความเข้าใจทั้งตัวเองและเค้า สร้างพื้นที่ เปลี่ยนอุณหภูมิหรือสนามพลังในบ้านได้ แต่เราโกรธมากจนไม่แม้แต่อยากจะเข้าใจ ทำได้มั้ย?
ไพรินทร์ : เวลาเราขึ้นไปเครื่องบิน หากเกิดเหตุฉุกเฉินแล้วมีสายออกซิเจนตกลงมา สิ่งแรกที่ต้องทำคือใส่สายออกซิเจนให้ตัวเองก่อนจะใส่ให้ใครอีกคน ‘ความเข้าใจ’ ก็คือออกซิเจน ถ้าข้างในเรามีออกซิเจนไม่พอ เราก็ไม่มีความสามารถจะไปช่วยคนอื่นได้ หลายคนมาทำงานเรื่องภายในกันมากก็เพื่อเติมออกซิเจนนะ เติมความเข้าใจให้ตัวเองก่อน มันไม่มีความสามารถนะถ้าเรายังเลือดอาบ แผลเปิดเหวะหวะ พอมีคนมาด่าเราแล้วเราจะแบบ โหย… ให้ความเข้าใจเค้าทันควันโดยที่เรายังไม่ได้ทำแผลให้ตัวเองเลย
อันนี้ก็เป็นตัวอย่างเว่อวังไปหน่อยนะ ตัวอย่างที่ใกล้ตัวมาหน่อย เช่น วันนี้ที่เราเล่นไพ่กัน มีคนมาเข้าใจเราว่าขณะนี้เราต้องการอะไร ข้างในเรามันก็เปลี่ยนจากการที่ได้รับความเข้าใจจากเพื่อน
ในระดับความบาดหมางทางใจ การทำความเข้าใจเค้าและเราเป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่ในกรณีที่ต้องการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของคนตรงข้ามบางอย่าง จะทำหรือคิดอย่างไรดี
จันทร์ทิพย์ : เราอาจคิดว่ามันมีทางเดินแค่ทางเดียวเพื่อจะได้รับในสิ่งที่ตัวเองต้องการ เช่น เราอยากจะบอกให้แม่หยุดพฤติกรรมนี้ วิธีการของเราคือพูดกับแม่ว่า ‘หยุด หยุดทำเถอะ หยุดบ่น’ แล้วเราก็คุ้นเคยกับวิธีการนี้ แต่ถ้าทำอย่างเดิมแล้วไม่ได้ผล แสดงว่าวิธีการนี้ทำต่อไปไม่ได้
แต่พอเรากลับไปที่ความต้องการ จะเห็นว่ามีวิธีการหลากหลายที่จะไปถึงความต้องการนั้น เช่น ถ้าเราชัดเจนว่าต้องการความสุขในบ้าน แล้วแม่ขี้โกรธ เราอาจลองพาแม่ไปข้างนอกบ้านบ้าง ไปผ่อนคลาย หรืออาจเปลี่ยนจากการพูดว่า “แม่อย่าทำแบบนี้” เป็น “วันนี้หรือตลอดทั้งอาทิตย์ชั้นจะชมแม่ ชั้นจะหาทุกจุด ไม่ให้พลาดแม้แต่จุดเดียว” มันมีวิธีอื่นๆ ที่จะสร้างความสุขได้หลากหลายแบบ เพียงแต่ให้รู้ชัดว่า “ความสุขคือความต้องการของเรา”
ทั้งหมดที่เราคุยกันเป็นความสัมพันธ์ภายในบ้าน ซึ่งความรุนแรงจากเต็ม 10 อาจอยู่แค่ระดับ 3 แต่ในระดับที่ใหญ่กว่านั้น NVC ทำงานได้ถึงระดับไหน?
ไพรินทร์ :มีอยู่เคสหนึ่งที่บราซิลเป็นการทำงานเยียวยาในกระบวนการยุติธรรม ลูกชายของผู้หญิงคนหนึ่งถูกวัยรุ่นฆ่า ผู้กระทำถูกตัดสินจำคุก แต่กระบวนยุติธรรมของเค้าเอาผู้กระทำออกมาคุยกับแม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถูกกระทำได้ ซึ่งเคสนี้ใช้ NVC ใช้การรับฟังและใช้ชุมชน มาร่วมรับฟังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย
กระบวนการไม่ได้หาว่าผู้กระทำผิดเพราะอะไร แต่มองลึกลงไปว่า “ที่ทำ ทำเพราะอะไร?” คนกลางช่วยให้ผู้กระทำเข้าใจตัวเองได้ จนมีออกซิเจนพอจะมาฟังแม่ของคนเค้าฆ่าได้ ในที่สุด ผู้กระทำสามารถฟังความรู้สึกของแม่ผู้ตายได้ด้วยว่า ในฐานะแม่ เค้ารู้สึกสูญเสียขนาดไหน เคสนี้จบที่สองคนนี้มีข้อตกลงกันว่า ทุกวันของสัปดาห์ซึ่งเป็นวันที่ลูกของผู้หญิงคนนี้ถูกฆ่า วัยรุ่นคนนี้จะออกจากคุกมานั่งกินน้ำชากับแม่ คือมันมีพลังเยียวยาได้ขนาดนั้น
แต่คนตรงกลางสำคัญ เพราะต้องทำให้บรรยากาศของชุมชน คนที่มาฟัง เข้าใจด้วย
ไพรินทร์ : มันไม่ใช่การตัดสินถูกผิด แต่เป็นบรรยากาศความเข้าใจลึกลงไปเรื่อยๆ จนเห็นความเป็นมนุษย์ในกันและกันได้ อันนี้แหละเป็นสิ่งที่มีศักยภาพในการเยียวยาลึกมาก