เมื่อบ้านเมืองเดินเข้าสู่โหมดเลือกตั้งอีกครั้ง บรรยากาศรอบๆ เต็มไปด้วยป้ายหาเสียงและข่าวสารด้านการเมืองที่หลั่งไหลเข้ามาให้เห็นได้ในทุกสื่อ The Potential จึงชวน 9 New Voter ตอบคำถามสำคัญสำหรับการเลือกตั้ง(สภาชิกสภาพผู้แทนราษฎร) ครั้งแรกในชีวิต
คำตอบหลากหลาย-แน่นอน เราตั้งใจ แต่สิ่งที่มีเหมือนกันทุกคนคือ “อยากกากบาทเต็มทน”
ถึงคราวนี้จะเลือกพลาดก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราก็ได้เลือก และต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เลือก…พวกเขาว่าอย่างนั้น
ธรรมธวัช ธีระศิลป์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศิลปศาสตร์ ประธานกลุ่มอิสระล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เลือกตั้งครั้งแรกรู้สึกอย่างไร
รู้สึกกระตือรือร้นมาก เพราะจะได้มีส่วนร่วมกำหนดอนาคตประเทศ ให้เป็นไปในแนวทางที่เราคาดหวัง
นโยบายใดที่ให้ความสนใจเป็นพิเศษ
หลักๆ สนใจนโยบายด้านการศึกษา เพราะเป็นการพัฒนาคุณภาพของประชาชนให้มากขึ้น เราควรได้รับการศึกษาที่ดีที่สุดด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยที่สุด อีกด้านคือนโยบายด้านสวัสดิการ ที่จะช่วยทำให้ประชาชนมีหลักประกันแน่นอนในชีวิตตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน หรือกระทั่งเรื่องกองทัพ ที่ต้องอยู่ใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือนที่เป็นประชาธิปไตย เพื่อป้องกันไม่ให้มีรัฐประหารอีกครั้ง อันที่จริงไม่ว่าจะนโยบายเล็กหรือใหญ่ ถ้ามีผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางเศรษฐกิจ หรือทางวัฒนธรรม ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจทั้งสิ้น
อยากเห็นอะไรบ้างในรัฐบาลชุดต่อไป
อยากเห็นประเทศที่ปกครองด้วยมติของคนส่วนมาก และเคารพในสิทธิของคนส่วนน้อย ที่ประชาชนทุกเสียงจะได้รับการรับฟัง
อยากเห็นประเทศที่มีกลไกการปกครองด้วยประชาธิปไตยเข้มแข็งและสามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้ อยากเห็นประเทศที่ความมั่งคั่งไม่กระจุกอยู่ที่คนไม่กี่กลุ่ม แต่กระจายออกไปสู่ผู้ยากไร้มากขึ้น อยากเห็นประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมพรั่งและทันสมัย อยากเห็นประเทศที่ปกครองด้วยหลักนิติรัฐ ที่กฎหมายได้รับการบังคับใช้อย่างยุติธรรม ไม่ผันแปรตามอำนาจ (สงสัยจะหวังมากไป)
คิดว่าเสียงของคนรุ่นใหม่สำคัญแค่ไหน
คนรุ่นใหม่นี้ได้เกิดและเติบโตในสังคมไทยที่มีปัญหาต่างๆ มากมาย และพวกเขาจะต้องทนอยู่กับปัญหาเหล่านี้ไปอีกนาน ดังนั้นเสียงของคนกลุ่มนี้จึงยิ่งทวีความสำคัญ เพราะอนาคตของชาติกำลังเรียกร้องให้ประเทศของตนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ก้าวหน้ามากขึ้น มิใช่วนเวียนอยู่ในกะลาใบเก่าๆ อย่างนี้ อีกทั้งเสียงของคนรุ่นปัจจุบันก็จะเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญต่อเนื่องไปอีกหลายปี ดังนั้นหากเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแล้ว คนรุ่นใหม่ย่อมสำคัญพอๆ กับคนรุ่นเก่าที่ถืออำนาจปกครองอยู่
ทำไมรัฐบาลต้องฟังคนรุ่นใหม่
แท้จริงแล้วเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลควรฟังเสียงประชาชนทั้งหมด คนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยเลือกตั้งก็เป็นหนึ่งในนั้น การเมืองเป็นเรื่องที่พวกเขาต้องการจะมีส่วนร่วม คนรุ่นใหม่อาจจะมีแนวคิดไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่ก็เป็นพลังที่จะขับเคลื่อนประเทศนี้ไปข้างหน้าได้ หากได้รับการสนับสนุนเพียงพอ
อยากฝากคำพูดอะไรถึงคนที่เลือกตั้งครั้งแรกเหมือนกัน
เลือกสิ่งที่จะสร้างอนาคตที่ดีที่สุดให้ตัวเราและประเทศ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร หรือประเทศไทยในอนาคตจะดีหรือแย่ลงขนาดไหน แต่อย่างน้อยเราก็ได้แสดงพลังออกมาแล้วว่าเราต้องการสิ่งใด
ที่สำคัญไม่ว่าจะคิดเห็นอย่างไร อย่างน้อยคุณค่าและหลักการของประชาธิปไตยก็ควรเป็นสิ่งที่เรารักษาและยึดมั่นเอาไว้ มิใช่มุ่งหวังจะเอาชนะทางการเมืองจนต้องหันไปใช้วิธีนอกระบบดังที่เป็นในปัจจุบัน
ก่อนเลือกตั้งครั้งแรก การเลือกอะไรสำคัญที่สุดในชีวิต
ตอนจบ ม.6 แล้วจะเข้ามหาวิทยาลัย การเลือกมหาวิทยาลัยและคณะที่เรียนนั้นจะส่งผลถึงการใช้ชีวิตและเส้นทางในอาชีพการงานของเราในอนาคต เราต้องเลือกด้วยตนเอง ไม่ใช่เลือกตามใจของพ่อ-แม่ เพราะเราจะตอบโจทย์ของตัวเราเองได้ดีที่สุด และแม้ว่าจะพลาดไปก็เลือกใหม่ได้หากยังไม่สายเกินไป
การเลือกตั้งนั้นก็เช่นเดียวกัน เพราะไม่เพียงแต่จะกำหนดอนาคตของประเทศเท่านั้น แต่ผลที่ได้จากการเลือกตั้งก็จะมาเกี่ยวพันกับชีวิตเราไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ก็สำคัญพอๆ กับการเลือกสิ่งอื่นๆ ที่สำคัญต่อชีวิตของเรา
เติ้ล-ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหาร SPACETH.CO วัย 20 ปี
เลือกตั้งครั้งแรกรู้สึกอย่างไร
รู้สึกเฉยๆ เพราะมันไม่ยุติธรรมตั้งแต่การออกกติการวมถึงกระบวนการหลายๆ อย่าง
แต่ก็เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นโอกาสที่เราจะได้หลุดออกจากรัฐบาลรัฐประหารที่อาจจะสืบทอดอำนาจด้วยการเขียนกฎให้ตัวเองชนะ
เนื่องจากตัวเองเป็นคนที่เชื่อมั่นในพลังของเสียงแม้กระทั่ง 1 เสียง ทำให้รู้สึกมีความหวัง
นโยบายใดที่ให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ
สนใจด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการศึกษาด้วย เพราะเรารู้สึกว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเนื่องจากอยู่ในวัยเรียน และส่งผลกับเราโดยตรง เพราะก็มีงานบางส่วนที่ต้องทำร่วมกับหน่วยงานรัฐบาล เราอยากทำงานร่วมกับรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ที่ดีต่อเทคโนโลยี ไม่ใช่แค่พูดเรื่อง Thailand 4.0 แต่หลายอย่างยังทำเหมือนอยู่ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
อยากเห็นอะไรบ้างในรัฐบาลชุดต่อไป
อยากให้ไม่โกหก แค่นั้นเลย อยากให้ทำในสิ่งที่พูด และทำออกมาจริงๆ ระบบรัฐสภา ‘ที่ดี’ มันถูกออกแบบมาเพื่อให้เราตรวจสอบการทำงานต่างๆ ได้อยู่แล้วว่านโยบายดีหรือไม่ดี เห็นผลหรือไม่เห็นผล แต่ถ้าใครก็ตามโกหก ทุกอย่างก็จบกัน มันไม่ได้เป็นเกมที่เล่นกันอย่างจริงใจตั้งแต่แรก
คิดว่าเสียงของคนรุ่นใหม่สำคัญแค่ไหน
สำคัญ ลองคิดดูว่าเราเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุด 8 ปีที่แล้ว มี virgin voter ทั้งหมดเข้ามาจำนวนกี่ล้านคน คนพวกนี้อยู่ภายใต้รัฐประหารมา 4 ปี และความวุ่นวายทางการเมืองตลอด 8 ปีที่ผ่านมา พวกเขาก็คงมีความกระหายที่อยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรให้ดีขึ้น
ทำไมเราต้องฟังคนรุ่นใหม่
เพราะคนรุ่นใหม่คืออนาคตจริงๆ พวกเขากำลังจะโตขึ้นไปอยู่ในสังคม เข้าไปเติมในส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐบาล ภาคเอกชน เป็นแรงงานสำคัญ เป็นนักธุรกิจ เขาควรมีสิทธิออกแบบประเทศที่เขาจะอยู่ไปอีกต่ำๆ ก็ 50 ปี
อยากฝากอะไรถึงคนที่เลือกตั้งครั้งแรกเหมือนกัน
การเลือกตั้งครั้งนี้แม้จะมีกติกาหลายๆ อย่างที่เห็นอย่างชัดเจนว่าไม่ยุติธรรม แต่มันก็เป็นความหวังที่เราจะต่อสู้เพื่ออนาคตของประเทศให้หลุดจากอำนาจที่อาจจะสืบทอดต่อไปอีกอาจจะมากถึง 10 ปี ดังนั้น เราไม่ได้บอกว่าให้เลือกใครหรือไม่ให้เลือกใครเพราะไม่ใช่หน้าที่ของเรา แต่เราอยากให้ทุกคนพึงระลึกว่า นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และเราต้องรับผลของการกระทำ เหมือนตอนที่ลงเสียงประชามตินั่นแหละ
ก่อนเลือกตั้งครั้งแรก การเลือกอะไรสำคัญที่สุดในชีวิต
ตอนนั้นตอน ม.3 เราเลือกที่จะไม่ทำตามค่านิยมของสังคม ไม่ไปเรียนพิเศษ ไม่เข้าเรียนวิชาที่เห็นแล้วว่าไม่เป็นประโยชน์ ตั้งคำถามกับครู และมาเริ่มทำงานครั้งแรก เราทำทุกอย่างที่เด็กไทยไม่ถูกสอนให้เป็น แต่วันนี้มันกลับให้ประโยชน์กับเรามากๆ ทั้งด้านความคิด ด้านการเรียนหรือการงาน ดังนั้นน่าจะเป็นการตัดสินใจที่สำคัญที่สุด คือการเลือกที่จะเป็นตัวเอง
ร่มเกล้า ช้างน้อย ครูสอนคณิตศาสตร์ โรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม วัย 29 ปี
เลือกตั้งครั้งแรกรู้สึกอย่างไร
คือเอาจริงๆ ผมยังไม่เคยเลือกตั้งเลย เพราะไม่เคยสนใจการเมืองมาก่อน จนได้เรียนรู้จากอาจารย์ที่เคารพ ได้เรียนรู้จากข่าว จากคนรู้จัก เพื่อน พี่ น้อง ก็เลยรู้ว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก เลยทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้น ที่จะได้เลือกผู้แทนที่จะเป็นคนส่งเสียงแทนเรา ในการกำหนดบทบาทเป้าหมายของประเทศ
นโยบายแบบไหนที่ชอบ
นโยบายที่แตกต่าง ประหลาด ชาวบ้านไม่ทำ นโยบายที่เปลี่ยนสมมุติฐานเพื่อให้แก้ปัญหาเก่าๆ ที่เขาแก้ไม่ได้ ผมชอบหมดเลย เช่น เรื่องกัญชา ไม่มีคนเสพกัญชาที่ไหนมาฆ่าคนหรอกครับ นอนยิ้มเรี่ยวแรงหายกันทั้งนั้น แต่ก็ไม่ได้บอกว่าจะต้องเอามามอมเมานะครับ มันต้องมีกติกาที่ดี และผมเชื่อว่าเราจะใช้ประโยชน์จากมันได้มากกว่าโทษ หรือเรื่องเกณฑ์ทหาร ผมดูหนังฝรั่งเยอะ เลยพอมองภาพออกว่า ทหารเกณฑ์กับทหารสมัคร มันต่างกันมากจริงๆ กองทัพจะได้มีประสิทธิภาพ มากกว่ากองทัพลงพุง ที่เอาทหารไปตัดหญ้ารอบกองทัพ ตกเย็นเตะตะกร้อ เช้ากวาดพื้น
ส่วนด้านการศึกษา ถ้าพรรคไหนยกเลิกระบบการสอบที่ไม่รอบด้านออกได้คงจะเลิกเลย ทุกวันนี้นักเรียนมาค้นหาตัวเองตอน ม.ปลายกันเยอะมาก บางคนเรียนมหาวิทยาลัยยังไม่พบตัวเองเลย เฮ้ย การศึกษามีปัญหาแล้ว ถ้าแก้เรื่องนี้ได้ เอาครับ รวมไปถึงแบบเรียนที่ไม่ตรงไปตรงมาเรื่องประวัติศาสตร์ด้วย ควรมีข้อมูลหลายด้านให้เด็กได้คิด ค้นพบ สงสัย จนเกิดการตั้งคำถาม ผมว่าเรื่องพวกนี้จะทำให้การเรียนในไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่นอน
อยากเห็นอะไรในรัฐบาลชุดต่อไป
อยากเห็นรัฐที่ทำงานกับประชาชน มองเห็นปัญหาของโครงสร้างระบบบริหาร แก้ปัญหาในเชิงลึกและเชิงกว้างเป็น ใจกว้างพอที่จะรู้ว่าสังคมมีความเชื่อที่หลากหลาย บางคนเชื่อว่าเผด็จการดี บางคนเชื่อในสถาบันกษัตริย์ บางคนเชื่อว่าศาสนาควรมาก่อน บางคนเชื่อในประชาธิปไตย และอยู่ได้บนความแตกต่างนี้ ไม่ใช่ว่าตัวเองเชื่ออย่างนี้แล้วบังคับให้ทุกคนมาเชื่อแบบตัวเอง ใครไม่เชื่อเหมือนเราคือไม่ฉลาด ใจไม่กว้าง
คิดว่าเสียงของคนรุ่นใหม่สำคัญแค่ไหน
สำคัญมากพอกับเสียงคนทุกรุ่น เพราะทุกคนเจ็บปวดเวลาที่ไม่มีคนฟังเราใช่ไหมครับ ดังนั้นทุกเสียงควรถูกฟัง ทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่า เพื่อประกอบภาพปัญหาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ทำไมรัฐบาลต้องฟังคนรุ่นใหม่
นั่นสิ ทำไมต้องฟัง ประสบการณ์ก็น้อยกว่า อายุน้อยกว่า จะฟังทำไม จริงๆ ไม่ควรฟังแค่คนรุ่นใหม่ครับ ควรฟังคนทุกรุ่น เพราะทุกคนใช้สอยพื้นที่สาธารณะด้วยกัน ก็ควรฟังทั้งหมดครับ
ฝากคำพูดอะไร ถึงคนที่เลือกตั้งครั้งแรกเหมือนกัน
อยากให้เลือกในพรรคที่ตัวเองเชื่อนั่นแหละครับ ถ้าไม่ดีเราค่อยเลือกใหม่ แต่หวังว่าเราจะได้เลือกเอง ไม่ใช่มีคนมาเลือกให้อีก มันดูไม่มืออาชีพและโตเป็นผู้ใหญ่เท่าไหร่ครับ
ก่อนจะเลือกตั้งครั้งแรก เคยเลือกอะไรมาแล้วคิดว่าสำคัญที่สุด
ขอเลือกว่าจะทำงานครูต่อ ด้วยเหตุผลเพื่อสิ่งที่เราคิดว่ามันยิ่งใหญ่หรือจากไปด้วยเหตุผลของตัวเอง พูดไปก็จะรู้สึกอ้วกๆ หน่อย แต่ที่ผมยังเลือกเป็นครูอยู่เพราะคิดว่า เราน่าจะดีลกับเด็กได้ถ้าเขาเปิดใจและคงช่วยให้สังคมในอนาคตกล้าตั้งคำถาม กล้าต่อสู้เหมือนที่เราทำอยู่ตอนเป็นครู
ผมกำลังสร้างสังคมให้มีแรงเสียดทาน เพื่อให้เกิดพลังงานและก้าวไปได้ ก็หวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะทำให้แรงเสียดทานในตัวผมยิ่งแข็งแรงและละเอียดมากขึ้นครับ
รชา เหลืองบริสุทธิ์ นักเรียนสาขานิเทศศาสตร์ เอกวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วัย 22 ปี
เลือกตั้งครั้งแรกรู้สึกอย่างไร
ตื่นเต้น ไม่ได้เห็นบรรยากาศการเมืองคึกคักแบบนี้มานานแล้ว ถ้ามองแบบโลกสวยมันเป็นอะไรที่ชุ่มชื่นหัวใจ เพราะว่าประชาชนได้แสดงความคิด ตัดสินใจใดๆ ด้วยการลงคะแนนเสียง เฮ้ย เรามีสิทธิได้เลือกว่ะ แล้วเราได้มีโอกาสเจอพื้นที่หนึ่งที่ทำให้เห็นว่าทุกคนมีอะไรที่เท่ากัน ซึ่งเอาจริงๆ ไม่ค่อยได้เห็นเท่าไหร่
นโยบายแบบไหนที่ชอบ เรื่องอะไร ด้านอะไร
เราสนใจนโยบายหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องการศึกษาที่จะเป็นต้นทุนทางความคิดและเป็นพื้นฐานในหลายๆ เรื่อง สนใจเรื่องแรงงานเพราะเราก็กำลังจะจบแล้วไปเป็นแรงงานในอนาคต แล้วเราก็สนใจนโยบายแนวสาธารณสุข จำพวกสุขภาพ เพราะความเจ็บป่วยมันไม่ได้เข้าใครออกใคร
ถ้าถามว่าชอบนโยบายแบบไหนก็คงจะชอบหลายๆ นโยบาย ถ้าจะยกตัวอย่าง อย่างเรื่องสุขภาพ อยากเห็นสวัสดิการความไม่เหลื่อมล้ำสิทธิในเรื่องของการรักษาพยาบาล ทำนองว่าไม่มีใครได้มากกว่าเพราะทำอาชีพนี้หรืออาชีพนั้น จะชอบนโยบายที่ไม่ต้องไปรอโรงพยาบาลรัฐเข้าคิวตอนตีห้า ได้ตรวจตอนบ่ายโมง ถ้าแก้ปัญหาโรงพยาบาลแออัดจะดีมากๆ หรืออย่างเรื่องนโยบายเรื่องการศึกษา จบมาหลายปีก็ยังรู้สึกอึดอัดปัญหาหลายๆ อย่าง ที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โรงเรียนคุณภาพกระจุกในตัวเมือง ชุมชนเล็กๆ มีครู 1 คน สอน 8 วิชา อะไรทำนองนี้
จริงๆ เราอยากเห็นนโยบายอะไรที่ตอบสนองปัญหาที่มากมายในปัจจุบัน คือเรารู้ว่าเเก้ไม่ได้หมด แต่ก็เอาหน่อยทีละนิดก็ได้ น่าจะเป็นอะไรที่เป็นประโยชน์ในอนาคต
อยากเห็นอะไรในรัฐบาลต่อไป
อยากเห็นอะไรใหม่ๆ ไม่วนลูปเดิม ทำตามระบบระเบียบประชาธิปไตย ว่าไปด้วยการทำงานและสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ รัฐบาลครั้งหน้าอาจไม่เวิร์คก็เดี๋ยวว่ากันใหม่ เลือกใหม่อีก 4 ปี
คิดว่าเสียงของคนรุ่นใหม่สำคัญแค่ไหน
สำหรับเราก็สำคัญพอๆ กับเสียงคนรุ่นอื่นๆ นั่นแหละ ถ้านับคะแนนเสียงคนรุ่นใหม่ก็จะมีประมาณแปดล้านเสียง ถามว่าสำคัญแค่ไหน ก็แปรเป็น สส.ได้ราว 100 คน (ใช่ไหม) น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญของทุกๆ พรรคได้เหมือนกัน
ทำไมรัฐบาลต้องฟังคนรุ่นใหม่
เราก็อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีกันทุกคน ถามว่าทำไมรัฐบาลต้องฟังเสียงคนรุ่นใหม่ เพราะเสียงคนรุ่นใหม่ก็เป็นเสียงหนึ่งในประชาชนหลายๆ รุ่นที่รวมกัน เสียงข้างมากเลือกพวกคุณจนไปเป็นรัฐบาล คุณคือตัวแทนเรา แล้วทำไมไม่ฟังเสียงเรา? (อันนี้พูดถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง) แต่ถ้ารัฐบาลพิเศษที่มาจากรัฐประหารก็นะ… (ยิ้มอ่อน)
ฝากคำพูดอะไร ถึงคนที่เลือกครั้งแรกเหมือนกัน
อยากชวนออกมาเลือกตั้งกัน เธอจะเลือกพรรคไหนก็ตามชอบเลย เพราะเราคิดว่าทุกคนศึกษาข้อมูลกันมาแล้ว ก็วันที่ 24 มีนา 2562 ลุย! มาลงคะแนนเสียงกัน
ก่อนเลือกตั้งครั้งแรก เคยเลือกอะไรมาแล้วคิดว่าสำคัญที่สุด
เอาจริงๆ เราก็มีโอกาสได้เลือกตลอดในช่วงชีวิตที่ผ่านมาว่าจะทำอะไร ไม่ทำอะไร จากส่วนของต้นทุนทางครอบครัว หรือสภาพจิตใจที่ว่าด้วยความสบายใจในการอยู่ร่วมกัน คือมีคุณภาพชีวิตที่ดีส่วนหนึ่งมาจากครอบครัว ซึ่งต้องมีอีกหลายๆ ส่วนประกอบ เช่น สิทธิต่างๆ ที่เราควรได้รับจากรัฐ ฯลฯ ลองไปดูจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน (เราควรได้ ควรมีอะไรแบบนั้นสำหรับคุณภาพชีวิตของประชาชน)
อย่างที่ได้เลือก เช่น โรงเรียนที่ได้เรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมปลาย (ถึงเข้ามหาวิทยาลัย) แน่นอนว่าพอมีโอกาสได้เลือก เราก็เลือกสิ่งดีๆ สำหรับเราในต้นทุนที่เรามีอยู่ ซึ่งมันก็ส่งผลดีต่อมา อย่างพูดถึงโรงเรียน เราก็ได้เจอเพื่อนดี เจอคนที่เข้ากับเราได้ ได้เรียนกับครูที่พูดรู้เรื่อง สอนรู้เรื่อง อะไรทำนองนี้
แต่ถ้าถามว่าได้เลือกอะไรที่สำคัญที่สุด อืม ตอบยาก อาจจะเป็นเรื่องการได้เลือกเรียนคณะที่ตัวเองอยากเรียนมั้ง เพราะด้วยวิชาหลายวิชาทำให้เรามองอะไรที่กว้างขึ้นและมีกระบวนการทางความคิด เราเรียนวารสารก็คือ เรียนความจริง มันจะจริงไม่จริง ต้องคอยรื้อถอนเรื่อยๆ แล้วเราต้องมองให้รอบด้านมากๆ ความรู้รอบตัวต้องเยอะ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา เป็นต้น
สรุปคือ มีความสุข และก็คิดว่าการได้เรียนอะไรทำนองนี้จะเป็นประโยชน์ ซึ่งได้มาด้วยการที่เราได้เลือก
เลิศลักษณ์ เกิดพุฒ อดีต media planner วัย 24 ปี ตอนนี้เรียนภาษาอยู่ที่เมลเบิร์น ออสเตรเลีย
เลือกตั้งครั้งแรกรู้สึกอย่างไร
ตื่นเต้นนะ ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะตื่นเต้นอะไรหรอก สงสัยคงเพราะไม่คิดว่าจะต้องรอนานขนาดนี้ ความรู้สึกประมาณว่าในที่สุดก็สักที ตอนนี้อยู่ต่างประเทศ ยุ่งยากนิดหน่อยแต่ก็จะทำเต็มที่ ตามหน้าที่พลเมือง
นโยบายแบบไหนที่สนใจเป็นพิเศษ
ส่วนตัวให้ความสำคัญกับเรื่องความเหลื่อมล้ำและการศึกษา ความเหลื่อมล้ำที่พูดถึงนี่ไม่ได้หมายความถึงแค่ด้านรายได้ ยังมีอีกหลายอย่างที่ไม่สามารถวัดเป็นตัวเลขได้ การศึกษา โอกาส สาธารณูปโภค มันคือคุณภาพชีวิต เห็นได้ชัดมากว่าประเทศไทยความเจริญกระจุกตัวอยู่ที่หัวเมืองใหญ่ แล้วการศึกษานี่ก็เป็นรากฐานของสังคมจริงๆ เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตหลายๆ ด้าน เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งกระบวนการคิดและคุณภาพชีวิตที่ดี แค่คิดว่าเข้าไม่ถึงทุกคนนี่ก็แย่แล้ว แล้วไอ้ที่เข้าถึงนี่มันมีคุณภาพหรือเปล่าอีก? พูดแล้วเหนื่อย
อยากเห็นอะไรในรัฐบาลชุดต่อไป
อยากเห็นคนที่มีวิสัยทัศน์มาทำงานนี้บ้าง เพราะที่ผ่านมาส่วนตัวยังแทบไม่เคยเห็นสิ่งนี้ในนักการเมืองไทยเลย คุณเล่นการเมือง ใช่ แต่คุณเล่นเพื่ออะไร ผลประโยชน์ของประชาชนหรือของใคร ประชาชนส่วนใหญ่วางใจให้อำนาจเลือกคุณเข้ามาก็เพราะว่าเขาไว้ใจ ให้โอกาสคุณ ยอมฝากชีวิตในอีก 4 ปีไว้ในมือคุณ เขาก็คงคาดหวังให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างอยู่แล้วแหละ อยากให้เห็นความสำคัญของประชาชนกันบ้าง อย่าลืมว่าคุณเป็นใคร เข้ามาทำอะไร ทุ่มเทให้เหมือนตอนที่ขายฝันให้กันหน่อย
คิดว่าเสียงของคนรุ่นใหม่สำคัญแค่ไหน
สำคัญนะ ไม่ใช่แค่เสียงของคนรุ่นใหม่แต่เสียงของประชาชนทุกคนสำคัญทั้งนั้น ไม่มีใครควรถูกมองข้าม
ทำไมรัฐบาลต้องฟังคนรุ่นใหม่
ไม่อยากให้ใช้คำว่าต้องฟัง เพราะมันเหมือนเราไปบังคับให้เขาฟัง ทั้งที่จริงๆ แล้วมันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ควรต้องฟังเสียงของประชาชนหรือเปล่า เราไม่ได้จะบอกว่าคนยุคเราดีกว่าคนยุคเก่านะ ที่จะบอกก็คือจะคนรุ่นไหนมันก็เป็นประชาชนคนไทยเหมือนกันหรือเปล่า หลายคนชอบพูดว่าโตกว่า ผ่านมาก่อน อาบน้ำร้อนมาก่อน ใช่ คุณมีความรู้ มีประสบการณ์ที่สั่งสมมาระหว่างอายุขัย แต่ไม่คิดบ้างเหรอว่าเราโตมาคนละยุคคนละสมัย เราอาจจะมีมุมมองอะไรที่คุณไม่เคยผ่านมาก็ได้ อย่าเพิ่งตัดสินกันแค่เพราะอายุ สิ่งที่คุณต้องทำคือรับฟังแล้วคิดตามว่ามันถูกต้องตามนั้นไหม อันที่จริงมันก็เป็นสิ่งที่คนทุกยุคทุกสมัยควรทำนั่นแหละ ใช้เหตุผล ลดอคติ
ฝากคำพูดอะไร ถึงคนที่เลือกตั้งครั้งแรกเหมือนกัน
อ่านเยอะๆ ดูเยอะๆ มีสิทธิอะไรในมือก็ออกไปใช้ให้เต็มที่ สำคัญเลยที่อยากฝากไว้สำหรับ
คนที่บอกว่าตัวเองเป็นคนรุ่นใหม่ ไม่ชอบอะไรก็ย้อนกลับมาดูว่าตัวเองได้ทำแบบที่เราไม่ชอบอยู่บ้างหรือเปล่า รับฟังความเห็นต่าง คุยกันอย่างมีเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ เราถกเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ไม่ใช่เพื่อเอาชนะใคร ส่วนอะไรที่มันไม่ดี หากว่าคนส่วนใหญ่เห็นพ้องกัน สุดท้ายแล้วมันก็จะหมดไปตามยุคสมัย ช้าหน่อยแต่ก็ช่วยๆ กัน อดทนไว้
ก่อนเลือกตั้งครั้งแรก เคยเลือกอะไรมาแล้วคิดว่าสำคัญที่สุด
ตอนเลือกสายวิทย์สายศิลป์ ฟังดูเป็นเรื่องเล็กใช่ไหม แต่ตอนนั้นเครียดมากเลยนะ เพราะยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ชอบอะไร จนสุดท้ายเลือกวิทย์-แพทย์ ไป สรุปเข้ามานั่งขำกับเพื่อนที่คณะบริหาร
อ๊อฟ-กฤษฏิ์ บุญสาร ฟรีแลนซ์ วัย 24 ปี
เลือกตั้งครั้งแรกรู้สึกอย่างไร
มีคนเคยบอกว่าอะไรที่เป็นครั้งแรก คนเรามักจะจำเสมอ เช่น ขับรถครั้งแรก ว่ายน้ำครั้งแรก เพื่อนสนิทคนแรก มีแฟนคนแรก ฯลฯ เช่นเดียวกันการเลือกตั้งครั้งแรกของผม คงเป็นสิ่งที่จะจำไม่ลืม เลือกตั้งครั้งนี้ก็รู้สึกตื่นเต้นดี อาจจะเป็นเพราะการเลือกตั้งมันได้ถูกเลื่อนมาเรื่อยๆ จากนายกฯ ที่ได้ฉายาว่าเป็นคนตลก เพราะชอบหยอกล้อ ล้อเล่นกับสื่อบ่อยๆ ไปเยือนประเทศไหน ก็บอกกับผู้นำประเทศนั้นว่า จะเลือกตั้งปีนั้น ปีนี้ แต่ก็เลื่อนมาตลอด ลักษณะแบบนี้ไม่แน่ใจว่าไปล้อเล่นกับผู้นำเหล่านั้นหรือเปล่า (ล้อเล่นกับโดนัลด์ ทรัมป์) แต่ 24 มีนาคม 2562 ที่จะถึงนี้ คงได้เลือก (หรือเปล่า)
มันเลยเป็นธรรมดาสำหรับผมที่จะตื่นเต้นอยู่ไม่น้อย อยากจะไปกากบาทเต็มทน
นโยบายไหนที่ชอบ
ชอบหลายเรื่องนะ ถ้าจะให้ชอบมากที่สุด คงเป็นเรื่องการศึกษา ตั้งแต่เปิดอาเซียนมา การศึกษาของไทยถูกจัดอันดับไปอยู่ท้ายๆ ของกลุ่มเลย ไม่รู้ด้วยว่าสาเหตุอะไร อาจเป็นเพราะระบบการศึกษาไทยล้าหลังก็เป็นได้
ในฐานะคนที่เพิ่งจบการศึกษาปริญญาตรีมาใหม่ๆ ที่ยังพอหางานทำได้อยู่ (หรือเปล่า) และมองย้อนกลับในอดีตที่ตัวเองได้ผ่านพ้นมา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสิบกว่าปีที่ผ่านมา ครึ่งหนึ่งของช่วงชีวิต เราอยู่กับการศึกษา ได้เรียนวิชาต่างๆ มากมาย ซึ่งบางวิชาก็มักมีคำถามอยู่ใจเสมอว่า “เรียนจบไป วิชาพวกนี้จะเอาไปใช้ได้ในชีวิตประจำวันจริงๆ ใช่ไหม?” กระบี่กระบองเอย ลูกเสือ เนตรนารีเอย วิชาเหล่านี้ช่างล้าหลัง ปลูกฝังค่านิยมผิดๆ
ส่วนพวกวิชาที่เรียนกันอย่างเอาเป็นเอาตายเช่น ฟิสิกส์ เคมี ภาษาอังกฤษ ฯลฯ ก็ไม่ใช่เอาไปใช้ได้ในชีวิตจริงเท่าไหร่ ภาษาอังกฤษที่เรียนท่องแกรมม่ากันหนักหน่วง พอจบออกมาก็ยังไม่สามารถสื่อสารกันได้ แต่ถามว่าสำคัญไหม สำคัญมากในชีวิตปัจจุบัน แต่การศึกษาไทยก็ยังสอนให้คนไทยพูดอังกฤษได้ไม่เท่าไหร่
ถ้ารัฐบาลใหม่เข้ามา มาพัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้น เน้นให้เด็กรู้จักตนเอง จบ ม.6 แล้วต้องรู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยากเข้าคณะอะไร อะไรบ้างคือสิ่งสำคัญในชีวิต สอนให้รู้จักสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง พาออกนอกห้องสี่เหลี่ยมไปเรียนรู้สังคมภายนอก ให้เห็นและเข้าใจปัญหาสังคม ไม่ใช่มัวแต่ปลูกฝังค่านิยม 12 ประการ กล่อมเกลาด้วยอุดมการณ์ชาตินิยม วิชาไหนเห็นว่าไม่สำคัญก็เอาออก วิชาไหนที่ควรเอาเข้ามา เช่น ปรัชญา ก็เอาเข้ามา จะได้วิเคราะห์สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ ไม่ตัดสินคนอื่นเร็วเกินไป รับฟังความเห็นที่แตกต่าง
ผมมองว่าประเทศจะดีขึ้นได้ก็ด้วยตัวคน ไม่ใช่จะรอแต่นโยบายจากรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ประชาชนก็สำคัญด้วยในการจะช่วยพัฒนาประเทศ ความคิดสร้างสรรค์ ไอเดียใหม่ๆ ที่มาจากประชาชน แผ่ขยายจากชุมชนสู่ชุมชน สู่อำเภอ สู่จังหวัด แต่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยตัวเรา
ถ้ามีสิ่งใดที่รัฐบาลควรจะลงทุนแล้วก่อประโยชน์ให้กับประเทศมากที่สุด ก็คือ ‘คน’ โดยการเปิดกว้างทางด้านการศึกษา ถ้าการศึกษาไม่ได้ถูกตีกรอบ คนเรียนก็จะมีไอเดียใหม่ๆ พอคนเหล่านี้จบออกมา ก็จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
อยากเห็นอะไรในรัฐบาลชุดต่อไป
อยากคนเห็นมีสิทธิ เสรีภาพ ในการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นในระดับสังคมการเมือง การชุมนุม หรือแม้แต่ในมหาวิทยาลัย ไม่อยากเห็นภาพกลุ่มเพื่อนเนติวิทย์ถูกล็อคคอ หรือตัวเนติวิทย์ถูกคุกคาม ข่มขู่ แม้กระทั่งในสถาบันการศึกษา หรือเห็นใครบางคนแชร์ข่าว BBC แล้วต้องโดนคดีมาตรา 112 หรือต้องเห็นกลุ่มนักศึกษาโดนอุ้มเวลาไปรำลึกเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม
อยากเห็นรัฐบาลใหม่ใส่ใจกับชาวบ้านมากขึ้น พ่อค้าแม่ค้าตามท้องตลาด พวกเขาขายของกันเป็นอย่างไรบ้าง เดินลงไปหาพวกเขาหน่อย ไม่ใช่ไปแค่ช่วงตอนหาเสียงเลือกตั้ง แต่พอตัวเองได้เป็นรัฐบาลแล้ว กลับหายไปเลย
เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยใส่ใจกับราคาผลผลิตพวกเขาให้มากๆ หน่อย เพราะที่ผ่านมาเสียงพวกเขาไม่ดังเหมือนคนอยู่ในเมืองกรุง ที่นั่งทำงานในห้องแอร์ นั่งกินกาแฟสตาร์บัคส์ เดินช็อปปิ้งหลังเลิกงาน อยากให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน มันแคบลงกว่านี้
ทำไมรัฐบาลต้องฟังคนรุ่นใหม่
เห็นได้ชัดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เกือบทุกพรรคการเมืองจะมีกระแสดึงคนรุ่นใหม่มาลงสมัคร สส. พรรคตน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น โลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน คนก็ต้องเปลี่ยน เจเนอเรชั่นเก่ากำลังจะตายไป เจเนอเรชั่นใหม่เข้ามาแทนที่ แม้แต่ทางการเมืองก็ตามต้องเปลี่ยนไปด้วย
ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยเลือกตั้งเลย มีประมาณ 4 ล้านกว่าคน จากผู้มีสิทธิทั้งหมด 50 ล้านกว่าคน คิดเป็น 8 เปอร์เซ็นต์ของการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าคนรุ่นใหม่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคม การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดี
ฝากคำพูดอะไร ถึงคนที่เลือกตั้งครั้งแรกเหมือนกัน
“Brexit ที่ทำให้สหราชอาณาจักรออกจาก EU นั้น ส่วนหนึ่งมาจากคนรุ่นใหม่ไม่ยอมไปลงประชามติ แล้วหนุ่มสาวเหล่านั้นก็ออกมาเรียกร้องว่าไม่อยากออกจาก EU เพราะตัวเองไม่ได้เป็นคนเลือกออก แต่เป็นคนรุ่นเก่าที่เลือก (อายุเกิน 60) เช่นกันกับการเลือกตั้งครั้งนี้ผมก็อยากเชิญชวนคนรุ่นใหม่ให้ไปใช้สิทธิกันเยอะๆครับ เพื่ออนาคตของพวกเราเอง”
ก่อนเลือกตั้งครั้งแรก เคยเลือกอะไรมาแล้วที่คิดว่าสำคัญที่สุด
การเลือกคณะเข้าเรียนครับ การเลือกครั้งนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตเลยก็ได้ เข้ามหาวิทยาลัยตอนแรก ผมเลือกเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ เพราะตอนนั้นชอบและติดตามพี่สิงห์ วรรณสิงห์มาก ด้วยความอินโนเซนท์ของผม เลยคิดว่าถ้าเรียนเศรษฐศาสตร์ จบมาต้องทำงานคล้ายพี่สิงห์แน่เลย เป็นพิธีกร เป็นนักเดินทาง แต่พอเราไปเรียนแล้ว มันก็ไม่ได้เป็นแบบที่คิดไว้ คิดว่าคงไม่ใช่ทางของเราแล้วล่ะ
เลยมาเรียนปรัชญาเพราะตอนนั้นชอบพุทธศาสนา แต่พอมาเรียนปรัชญาแล้ว มันก็ไม่ได้มีแค่พุทธอย่างเดียว มันมีอย่างอื่นด้วย พวกแนวคิดทางตะวันตก วิชาจริยศาสตร์ทำให้ผมเปลี่ยนความคิดไปหลายเรื่อง มันทำให้รู้ว่าหลักศีลธรรมมันไม่ได้มีแค่พุทธนี่หว่า มันมีหลายๆ หลักคิดด้วย มันเลยสนุก ปรัชญาทำให้เราอยากเข้าเรียนตลอด มีความสุขทุกครั้งที่ได้ไปเรียน บวกกับอาจารย์และเพื่อนด้วย ซึ่งเพื่อนที่เรียนด้วยกันก็ต่างวัยส่วนมากแล้วเป็นผู้ใหญ่ ทำให้เห็นมุมมองที่ต่างออกไปของคนหลายๆ รุ่น
ปัจจุบันผมทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ถามว่า จบมาได้ทำงานตรงกับสายที่เรียนมาไหม มันก็ไม่ได้ตรง 100 เปอร์เซ็นต์หรอก แต่ตอนนี้ก็ชอบที่ได้ทำอะไรพวกนี้อยู่ ช่วยให้คนที่ถูกละเมิดสิทธิได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ สิทธินั้นสามารถทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้น เราก็มีความสุขไปด้วย ผมก็ยินดีที่ตนเองได้ทำสิ่งพวกนี้เพราะ ‘การเลือก’ ครั้งนั้น
มินท์-ศิรประภา ด้วงผึ้ง ล่ามภาษาจีน วัย 23 ปี
รู้สึกอย่างไรกับเลือกตั้งครั้งแรกเลย
สำหรับตัวเรา เรามองว่าการเลือกครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกในทางปฏิบัติ เพราะเคยได้ลงประชามติมาก่อน
รู้สึกว่าความเห็นตัวเองในครั้งนั้น อาจจะแทบไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเลย เพราะผลลัพธ์เหมือนถูกกำหนดไว้อยู่แล้ว
ส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้มองกติกามาก่อนเลยอันดับแรก ซึ่งมันไม่เหมือนกับกติกาครั้งก่อนๆ เหมือนสุภาษิตน้ำน้อยสู้ไฟ มีเปอร์เซ็นสูงที่การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่ได้เป็นอย่างที่เราคาดหวัง เรารู้สึกว่า มันคล้ายกับเหตุการณ์ลงประชามติ เพราะอาจจะไม่ได้สิ่งที่เราคาดหวังด้วยเงื่อนไขของกติกาและการปฏิบัติที่เห็นชัดของภาครัฐ ตัวบุคคล
ความรู้สึกส่วนตัวมองว่า คนกระตือรือร้นที่จะเลือกตั้งมันมี แต่คนรอบตัวเราก็ไม่ค่อยเท่าไหร่ เรามองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เหมือนประชาธิปไตยแบบสวมหน้ากาก ที่ภายนอกดูใช่แต่เนื้อในไม่ใช่
นโยบายไหนที่ชอบ
ไม่เลือกนโยบายขายฝันเกินไป ทุกพรรคมีนโยบายที่ขายฝันทุกพรรค เพราะต้องการให้คนมาเลือกอยู่แล้ว แต่ก็ต้องการพรรคที่สามารถทำนโยบายที่น่าจะผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง เมื่อเทียบกันหลายๆ พรรคแล้ว พรรคที่มีเปอร์เซ็นต์ที่จะผลักดันได้สำเร็จมากที่สุด ก็จะเลือกพรรคนั้น อีกกรณีนึง คือเลือกจากตัวบุคคล เป็นคนดูตลบตะแลงไหม โกหกหรือเปล่า และที่สำคัญคือจุดยืนเป็นของตัวเองและต้องเห็นได้ชัด โดยส่วนตัว เราชอบคนที่มีความแปลกใหม่เป็นตัวของตัวเอง
ถ้าเป็น สส. เก่าๆ ก็ต้องมีความรอบคอบมีความคิดมีประสบการณ์เยอะ ย้ำแต่ก็ต้องดูรายคนนะ ไม่ได้มองว่า สส. แบบเก่าคือคนไม่ดีทั้งหมด เน้นการพิจารณาอย่างรอบด้าน
เราเป็นคนมองภาพรวม ประเทศจะก้าวหน้าได้ก็ต้องเริ่มจากการพัฒนาทุนมนุษย์เสียก่อน แต่การพัฒนาตรงนี้เป็นโจทย์ยาก เพราะคนมีหลายรุ่น หลายวัย ก็เลยมองด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และระบบสาธารณสุข เป็นหลัก คนจะดีได้ก็ต้องเริ่มจากหลักการสามข้อนี้
อยากเห็นอะไรในรัฐบาลชุดต่อไป
เราอยากเห็นเรื่องการคมนาคม เราไปเรียนที่ต่างประเทศ ประเทศที่โดนคนไทยด่าว่าสกปรกอย่างประเทศจีน แต่เขากลับมีการคมนาคมที่เยี่ยมยอดมาก รถเมล์ 10 บาท คนขับสุภาพ ไม่มีตั๋วรถเมล์ มีป้ายบอกทางตลอดสาย เราอยากเห็นตรงนื้ เห็นการเข้าถึงของประชาชนกับของสาธารณะ ถ้าทำตรงนี้ได้จริงจะเป็นผลงานที่เห็นได้ชัดที่สุด เราไม่ชอบฟังอะไรลอยๆ คมนาคมนี่พัฒนามาให้เห็นเลย ทำยังไงจะเปลี่ยนจาก คนหนึ่งมีรถ 1 คัน เป็น คนหนึ่งนั่งรถเมล์ได้ทุกสาย ไปได้ทุกที่
คิดว่าเสียงของคนรุ่นใหม่สำคัญแค่ไหน
ก็ถ้าเราดูตามตัวเลข new voter ก็มีจำนวนมาก และมีความสำคัญ
มันเป็นครั้งแรกที่จะทำให้เราได้รู้ว่าการมีอำนาจในมือมันเป็นอย่างไร คนกลุ่มนี้ก็ได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง ได้ศึกษาข้อมูลมาหลายปี ว่าถ้าไม่เลือกจะต้องเจอกับอะไร เช่น เราให้โอกาสบางคนอยู่ตรงนี้แล้ว หลายปีแล้ว แต่ก็ทำไม่ได้ มันถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลง
ทำไมรัฐบาลต้องฟังคนรุ่นใหม่
เราว่าพวกเขาต้องตระหนักว่า เพราะอำนาจของประชาชน พวกเขาถึงได้เข้าสู่สภา ได้เป็นรัฐบาล พวกเขาต้องฟัง เพราะเสียงจากทุกคนมันสะท้อนมาจากความรู้สึกอยากให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นไหนก็ควรจะได้รับสิ่งที่ดีขึ้น ยังไงรัฐบาลก็ต้องฟังเสียงสะท้อนตรงนี้
มีอะไรอยากบอกคนเลือกตั้งครั้งแรกเหมือนกัน
คิดซะว่า ไม่ต้องตื่นเต้น ให้มองการเลือกตั้งว่าเหมือนการทำข้อสอบ ที่มันไม่ได้มีแค่หนเดียว ศึกษาให้ดีว่าคนที่เราชอบพรรคที่เราเลือกเป็นยังไง ไม่ต้องกลัวว่าถ้าเลือกผิดไปแล้วจะมีคนมาว่า ยังไงมันเป็นสิทธิของเรา
แต่ก็ต้องคิดดีๆ ให้รอบคอบ ว่าการเลือกครั้งนี้จะมีผลต่ออนาคตอย่างไร
คิดว่าการเลือกอะไร เป็นการเลือกที่สุดๆ ของตัวเอง
ลำดับ 1 ของเราคือการเลือกสายเรียนตอน ม.ปลาย ระหว่างสายวิทย์หรือสายศิลป์ ลำดับ 1.1 คือเลือกตั้งครั้งนี้นี่แหละ (หัวเราะ)
เทมป์-กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ นักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น วัย 24 ปี
เลือกตั้งครั้งแรกรู้สึกอย่างไร
สำหรับเราตื่นเต้นอยู่แล้ว เลือกตั้งครั้งล่าสุดตอน พ.ศ. 2557 ตอนนั้นถ้านับไปก็อายุ 19 ปีแต่เราจำอะไรไม่ได้เลย จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าทำไมไม่ได้ไปเลือก คือตอนนั้นน่าจะอยู่ปี 2 เรียนหนักมาก เห็นข่าวทางโทรทัศน์มีการประท้วงปิดคูหา ใครไปเลือกตั้งคือคนไม่รักชาติ ญาติเราก็ไปร่วม แพทย์ พยาบาล ไปร่วมขบวนแสดงพลังกันออกหน้าออกตา แต่ตอนนั้นเราน่าจะตั้งใจเรียนมาก และรู้สึกว่าการเมืองมันไกลตัวเหลือเกิน ชีวิตเราเกิดมาแค่เรียน ทำงาน หาเงินก็พอแล้ว
แต่ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเราเริ่มติดตามข่าวการเมืองมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะว่าดูภาพยนตร์ และข่าวที่แชร์กันบนสื่อออนไลน์
เราเริ่มรู้สึกว่าการเมืองเป็นอะไรที่อยู่ในอากาศ เรามองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่กลับสำคัญกับชีวิตมาก อย่างการทำงานของเราทุกวันนี้ ทำไมคนไข้เยอะ ทำไงงบกระทรวงสาธารณสุขถึงไม่เคยพอ ทำไมสิทธิข้าราชการถึงได้อะไรมากกว่าสิทธิบัตรทอง และอื่นๆ อีกมาก ปัญหาเหล่านี้สามารถอธิบายได้ด้วยวิกฤตการณ์การเมืองไทยที่เรื้อรังหมักหมมได้หมดเลย
เรายังไม่จบเป็นแพทย์นะ แต่ก็ทำงานคลุกคลีในโรงพยาบาลตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา เรามักได้ยินแพทย์หรือพยาบาลหลายคนพูดกับคนไข้ว่า “ทำไมถึงทำตัวแบบนี้ ไม่รักตัวเองเหรอ” เราได้อ่านสัมภาษณ์ของ อาจารย์ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อาจารย์ด้านนาซีศึกษา ท่านอธิบายว่าทำไมเราถึงมองชีวิตหนึ่งชีวิตไม่มีคุณค่า มันจะมีคำภาษาเยอรมันว่า menschlichkeit แปลว่าความเป็นมนุษย์ที่จะอยู่ร่วมกันกับมนุษย์อื่นๆ อย่างสันติ และเห็นคุณค่าของชีวิตทั้งของเราเองและของคนอื่น คือคนเยอรมันจะไม่ได้จอดทางม้าลาย เพราะแค่กลัวกฎหมาย แต่เขายังนึกถึงทั้งคุณค่าชีวิตของทั้งตนเองและคนอื่นด้วย
มันน่าสนใจมากๆ ว่าประเทศนี้ที่ผ่านประวัติศาสตร์โหดร้ายมาเยอะ อย่างการฆ่ากันอย่างถูกกฎหมายกลางกรุงเทพฯ รวมไปถึงเรื่องราวของคนอีกมากที่ไม่อยู่ในประวัติศาสตร์หลักและยังไม่ได้รับความยุติธรรม เหตุการณ์เหล่านี้เราไม่เคยได้รับรู้ ศึกษา หรือวิพากษ์วิจารณ์อย่างชัดเจนเสียที คนที่พยายามจะพูดถึงก็ถูกไล่ให้ออกไปนอกประเทศ เราจึงกลายเป็นคนที่กลัวความตายได้ตามสัญชาตญาณ แต่ไม่รู้สึกถึงการมีคุณค่าในตนเอง เพราะคนในประเทศนี้ตายหรือถูกขับไล่ออกไปได้อย่างง่ายๆ
นโยบายไหนที่ชอบ
เราสนใจแนวคิดของรัฐสวัสดิการในช่วง 3-4 ปีนี้ เพราะมันชัดเจนมากๆ ว่าประเทศไทยภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่กำลังนำพาไปสู่ความไม่เท่าเทียมกัน (inequality) การแบ่งขั้วตรงข้าม (polarization) ความยากจน (poverty) และความสิ้นไร้ไม้ตอก (misery) เหมือนที่ Manuel Castells นักมานุษยวิทยาชาวสเปนผู้ศึกษาโลกาภิวัตน์ได้กล่าวไว้
เราเชื่อว่ารัฐสวัสดิการจะช่วยตอบคำถามตรงนี้ การที่รัฐเข้ามาคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิต ไม่ใช่ทิ้งให้เรามีชีวิตตามมีตามเกิดเหมือนทุกวันนี้ ใครที่จนก็จะจนไปจนตาย นั่นไม่ใช่เพราะเขาไม่มีความสามารถ แต่รัฐไม่สามารถสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยให้ประชาชนเติบโตได้ตามศักยภาพที่เขามีได้
อยากเห็นอะไรในรัฐบาลต่อไป
การแก้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่เอื้ออำนาจให้แก่พวกพ้อง และแน่นอนว่าอยากเห็นสิ่งที่ทำได้เหมือนกับตอนหาเสียง ซึ่งเราก็เข้าใจได้ว่าหลายๆ นโยบายที่ลดอำนาจของชนชั้นนำอย่างการลดงบกองทัพ หรือภาษีที่ดิน ภาษีมรดก นโยบายเหล่านี้อาจต้องใช้เวลาพอสมควร อาจไม่เกิดภายในระยะเวลาสี่ปีที่เขาทำงาน
ทำไมรัฐบาลต้องฟังคนรุ่นใหม่
เราเพิ่งได้ดูสัมภาษณ์ของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 คนหนึ่ง เขาศึกษารัฐธรรมนูญผ่านการวิเคราะห์ของนักวิชาการด้านกฎหมาย เขาตื่นเต้นกับการเลือกตั้งครั้งนี้มาก ทั้งๆ ที่เขายังไม่มีสิทธิจะเลือกตั้งด้วยซ้ำตามกฎหมาย เราประหลาดใจมากเพราะถ้าเทียบกัน เวลานั้นเรากำลังนั่งรถจากบ้านร้อยกว่ากิโลเมตรเพื่อเข้าไปเรียนในโคราชทุกสัปดาห์ ชีวิตเรามีอยู่แค่นั้น มีแต่หนังสือและการทำโจทย์เพื่อให้ได้คะแนนมากๆ แต่ในยุคสมัยของเทคโนโลยีนี้ไม่ใช่เลย วัยรุ่นมีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนกระบวนการประชาธิปไตย เขาไม่ฟังหรอกเพลงเด็กเอ๋ยเด็กดี หนักแผ่นดิน หรือค่านิยม 12 ประการมันล้าสมัยและไร้รสนิยม
ฝากคำพูดอะไรถึงคนที่เลือกตั้งครั้งแรก
เราในฐานะคนที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งที่สอง (ยังไม่ได้ใช้สิทธิของตัวเองในครั้งแรก) ก็คงบอกว่าเรามาร่วมด้วยช่วยกัน ใช้สิทธิในฐานะคนไทยคนหนึ่ง เราอย่างเห็นประเทศมีหน้าตาแบบไหน ขึ้นอยู่กับเราทุกคน
ก่อนจะมาเลือกตั้งครั้งแรก เคยเลือกอะไรมาแล้วที่คิดว่าสำคัญที่สุด
เลือกใช้ทุน (ไม่เรียนต่อเฉพาะทาง)
เฟนเดอร์-ธนพล จูมคำมูล นักร้อง/นักดนตรี Solitude is Bliss อายุ 26 ปี
เลือกตั้งครั้งแรกรู้สึกอย่างไร
รู้สึกเหมือนโดนบีบครับ (ฮ่า) บีบให้ใช้สิทธิในกติกาที่ไม่ยุติธรรม ในฐานะประชาชนคนนึงที่กำลังจะได้รับผลที่จะตามมาหลังจากนี้ ก็ถือว่าเป็นการมีส่วนร่วมที่น่ากระอักกระอ่วนประมาณนึง
นโยบายไหนที่ชอบ
สาธารนูปโภค (สายไฟลงดิน) การเพิ่มคุณภาพและมาตรฐานของการคมนาคม ปฏิรูปการศึกษา, กองทัพ, ระบบราชการ ชอบนโยบายที่เพิ่มความโปร่งใสและตรวจสอบได้กับทุกหน่วยงานทั้งระบบ ตรงนี้ผมคิดว่ามันจะเป็นปลายเปิดไปสู่การแก้ปัญหาทุกระดับที่ลึกและกว้างขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมคิดว่าความโปร่งใสที่ว่ามาเป็นเรื่องพื้นฐานที่รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยควรจะต้องใส่ใจยึดเป็นหลักอยู่แล้ว
อยากเห็นอะไรในรัฐบาลต่อไป
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และความโปร่งใสของระบบรัฐ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนทั้งกายภาพและปัญญา ความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรและสาธารณูปโภค มีการปรับแก้กฎหมายให้เป็นธรรมต่อประชาชนเอื้อประโยชน์ต่อประชาชน ลดการผูกขาดของนายทุนและชนชั้นปกครอง จริงๆ ถ้ารัฐบาลไหนทำแบบนี้ได้ ใครมันจะไม่รักกัน
ทำไมรัฐบาลต้องฟังคนรุ่นใหม่ ฝากคำพูดอะไรถึงคนที่เลือกตั้งครั้งแรก
เพราะคนรุ่นใหม่คือกำลังหลักในอนาคต เป็นผู้ที่มีชีวิต ทำงาน และขับเคลื่อนโลก มีการปรับตัวและเรียนรู้อย่างเปิดกว้าง (ระดับมวลรวม) ด้วยทักษะทางเทคโนโลยี การรับข้อมูลที่ซับซ้อนและเป็นผู้สร้างนวัตกรรมของยุคสมัยถัดไป เพราะฉะนั้นความรู้สึกนึกคิดของคนรุ่นใหม่จึงสำคัญมาก ในการใช้เป็นข้อมูลเพื่อปรับโครงสร้างสังคมที่สอดคล้องกับโลกที่หมุนไปอย่างไม่หยุดหย่อน
ฝากคำพูดอะไรถึงคนที่เลือกตั้งครั้งแรก
จงเปิดกว้างรับข้อมูล วิเคราะห์ ตัดสินใจ และใช้สิทธิ นอกเหนือจากนี้ก็ระวังใจตัวเอง มีคติหรือความคิดเห็นได้ แต่อย่าเผลอไปอินเอาอารมณ์ไปเกลือกกลั้วคาดหวังจนเกินไปนะครับ เพราะการเมืองทำให้เครียดได้ มากๆ (จากใจผู้เคยจิตตก)
ก่อนจะมาเลือกตั้งครั้งแรก เคยเลือกอะไรมาแล้วที่คิดว่าสำคัญที่สุด
คงจะเป็นการตัดสินใจซิ่วครั้งแรกและพาตัวเองมาอยู่ที่เชียงใหม่ครับ เพราะตอนนั้นค่อนข้างสับสนไม่รู้จะเอาใจตัวเองเพ่งไปทางไหน อายุ 19 จะเด็กก็ไม่ใช่จะวัยรุ่นก็ไม่เชิง (แบบบรรทัดฐานไทย) แต่ที่รู้คือมีเรื่องที่อยากทำหลายอย่าง คิดอยู่นานจึงตัดสินใจจะพาตัวเองไปสู่ที่ที่มีโอกาสต่างๆ รออยู่น่าจะดีกว่า ถึงแม้ตอนนั้นก็ยังไม่รู้เลยว่าจะมาทำอะไร เพื่ออะไร แต่คิดว่าเชียงใหม่จะเป็นปลายเปิดพอที่จะทำให้ผมได้ทดลองขยับชีวิตได้อย่างอิสระมากขึ้น
ในฐานะคนเลือกตั้งครั้งแรก ได้ศึกษากลไกการเลือกตั้งที่ถูกออกแบบมาตั้งแต่ประชามติหรือเปล่า คิดเห็นอย่างไร
ศึกษามาบ้างครับ ถึงไม่ดีเทลนักก็รู้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีกติกาที่ไม่แฟร์ มีความคลุมเครือแอบแฝงอยู่มากมายจากช่องโหว่ของกลไก
แรกสุด ผมคิดว่าจะไม่สนับสนุนการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมครั้งนี้ (หมายถึงไม่ใช้สิทธิ) เพราะไม่พอใจกับความ ‘ขี้โกง’ แบบนี้สุดๆ แต่พอคิดว่านี่เป็นโอกาสเดียวในสภาวะบีบคั้นนานนับหลายปีมานี้ก็คิดว่าจำเป็นต้องออกไปเลือก ถึงแม้ว่าท้ายสุดผลลัพธ์ที่ออกมาอาจจะยากที่จะยอมรับก็ตาม เราคงต้องทำหรือไม่ก็ต้องปิดหูปิดตาหนีออกจากโลกนี้ไปอย่างสุดชีวิต