- A Beautiful Day in the Neighborhood ภาพยนตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของ ลอยด์ โวเกล นักข่าวนักสัมภาษณ์มือรางวัล แต่แทนที่โวเกลจะเป็นคนตั้งคำถาม เขากลับถูก เฟรด โรเจอร์ส นักจัดรายการเด็กกว่า 40 ปี ย้อนถามกลับด้วยคำถามพื้นฐานไม่กี่ข้อ แต่มันทรงพลังและถูกจังหวะพอ จนทำให้เขาต้องกลับไปย้อนดูที่มาที่ไปหรือปมวัยเด็กของตัวเอง และจัดการกับมัน
- คำถามแต่ละคำถามที่โรเจอร์สถามโวเกลคือคำถามที่ทำให้โวเกลเข้าใจ กลับไปแก้ไขปมปัญหาความสัมพันธ์ของเขากับพ่อ และชวนให้เรา ในฐานะคนดู ต้องคิดตามไปด้วย
หมายเหตุ : มีการเปิดเผยเนื้อหาหนังบางส่วน
ถ้าพูดถึงหนังฮีโร่ เรื่องที่ทุกคนอาจนึกถึงคือ แบทแมน ซูเปอร์แมน หนังแนวฮีโร่ที่ตัวละครเอกสามารถใช้พลังพิเศษ ‘เหนือมนุษย์’ ช่วยคน …จนเป็นฮีโร่ แต่วันนี้ผู้เขียนได้มาดูหนัง ‘ฮีโร่’ อีกมุมหนึ่งคือ A Beautiful Day in the Neighborhood ‘ฮีโร่’ ที่บอกว่าไม่ว่าใครก็เป็นฮีโร่จากเรื่องราวของตัวเองได้ (be the hero on your own)
เพียงแต่ต้องไปเรียนรู้แบบดำดิ่งเผชิญหน้ากับความกลัว เพื่อย้อนกลับไปทำความเข้าใจประสบการณ์ในชีวิตและปมบาดแผลภายในจิตใจของเราจนค้นพบศักยภาพที่จะก้าวข้ามความเจ็บปวด พบขุมพลังที่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตและแบ่งปันต่อผู้อื่นได้ เรียกว่าเป็น “Hero’s Journey” อย่างแท้จริง
พอผู้เขียนได้มาดูหนังเรื่องนี้ก็รู้สึกว่าการเดินทางของตัวละครเอกในเรื่อง คือ ลอยด์ โวเกล (แสดงโดย แมทธิว รีส) ผู้รับบทเป็นนักเขียนเจ้าของรางวัลด้านการเขียนข่าวเจาะลึกมุมมืดของบุคคล ผู้มาพร้อมกับปมปัญหาภายในจิตใจคือความโกรธแค้นพ่อ เป็นสัมภาระที่พกติดตัวมาตลอดชีวิต เป็น Hero’s Journey ในแนวทางที่ว่านี้
หนังเปิดด้วยเหตุการณ์ที่บรรณาธิการนิตยสารให้โวเกลไปเขียนงานเกี่ยวกับ ‘Hero’ ชายที่แสนดีที่สุดแห่งยุคอย่าง เฟรด โรเจอร์ส (แสดงโดย ทอม แฮงค์ส) นักจัดรายการโทรทัศน์เพื่อเด็กที่ครองใจชาวอเมริกายาวนานกว่า 40 ปี ผ่านทางรายการ MisterRogers และ MisterRogers’ Neighborhood ด้วยเหตุผลเดียวว่า ‘ไม่มีคนดังคนไหนอยากให้เขาสัมภาษณ์อีกแล้วหลังจากเขาเจาะลึกตัวตนของเขาและเอาไปเขียนเสียๆ หายๆ’ ในขณะที่โวเกลก็รับงานนี้แบบเสียไม่ได้ เพราะเขาเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าโรเจอร์สเป็นนักบุญดังที่คนทั่วไปเข้าใจ
แต่หนังเล่าให้เห็นเหตุการณ์ ‘พลิกผัน’ คนที่ไปสัมภาษณ์เองกลับกลายเป็นคนเล่าเรื่อง ‘ฮีโร่’ จากการเดินทางด้านใน โวเกล – ในฐานะคนสัมภาษณ์ – ได้ย้อนมองตัวเองจากการตั้งคำถามอันทรงพลังของ โรเจอร์ส – ที่ต้องอยู่ในฐานะผู้ให้สัมภาษณ์ – ผู้ที่เข้าใจชีวิต มีประสบการณ์ เสมือนผู้ที่เคยผ่าน Hero’s Journey มาก่อน
หลายครั้งหนังทำให้เราเห็นแววตาของโรเจอร์สร่ำไห้กับชีวิตที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ ชีวิตที่ผ่านเรื่องราวบาดเจ็บต่างๆ นานา แต่ก็ด้วยสายตาของเขาที่มองเห็นเรื่องราวความงดงามของชีวิตแบบนี้และนำมาสร้างละครหุ่น ขับร้องบทเพลง ถ่ายทอดความรู้สึก การเรียนรู้และการก้าวข้ามให้คนได้จรรโลงใจเมื่อช่วงเวลานั้นมาถึงผ่านทางรายการที่เขาจัด จึงไม่แปลกใจที่โรเจอร์ส จะให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือโวเกล นักเขียนคนที่เขามองเห็น ‘บาดแผล’ ในตัว เป็นพิเศษ
ด้าน ลอยด์ โวเกล เสียแม่ไปในวัยเด็ก ในช่วงที่แม่กำลังจะตาย พ่อเขาหายหน้าไป ทิ้งภาระที่ต้องตัดสินใจในการรักษาแม่ในช่วงวิกฤตินั้นทั้งหมดให้เขาและน้องสาว หนำซ้ำพ่อทิ้งเขาและน้องสาวหลังแม่จากไป โวเกลโตมาด้วยความโกรธแค้นพ่อ อภัยไม่ได้ เป็นสัมภาระที่พกติดตัวตั้งแต่เด็กจนโต เมื่อเจอพ่ออีกครั้งในงานแต่งงานของน้องสาว เขาไม่สามารถจะสานความสัมพันธ์กับพ่อได้เมื่อเจอกัน ในที่สุดวันนั้นเขาชกหน้าพ่อด้วยความโกรธแค้น แน่นอน เขาทั้งคู่เกิดบาดแผลจากเหตุการณ์นั้น บาดแผลใหม่ที่ทับซ้ำบาดแผลเก่าของทั้งคู่ที่ยังไม่ได้รับการรักษา
การได้ไปสัมภาษณ์โรเจอร์สของโวเกล คือ Hero’s Journey ที่เริ่มต้นขึ้น เขาไปพบโรเจอร์สขณะที่มีบาดแผลบนใบหน้า ความโกรธที่มีต่อพ่อยังคงคุกรุ่น และด้วยรอยแผลนี่เองคือจุดเริ่มต้นของการเดินทาง ที่ทำให้โวเกลต้องเทียวไปสัมภาษณ์โรเจอร์สอยู่หลายครั้ง แต่มากกว่าการได้สัมภาษณ์ ท้ายที่สุดโรเจอร์สช่วยให้โวเกลได้รักษาอาการบาดเจ็บของตัวเองและพ่อ แม้ไม่ใช่หนังแอคชั่น แต่อารมณ์ในช่วงนี้ก็เข้มข้นมาก คำพูดหรือคำถามแต่ละคำถามที่โรเจอร์สถามโวเกลคือคำถามที่ทำให้โวเกลเข้าใจ และกลับไปแก้ไขปมปัญหาความสัมพันธ์ของเขากับพ่อได้ และชวนให้เรา – ในฐานะคนดู ต้องคิดตามไปด้วย เช่นคำถามที่ว่า
“พ่อของคุณทำให้คุณเป็นคุณทุกวันนี้ยังไง?”
“ลองจินตนาการถึงคนที่รักเรา”
ที่พีคสำหรับผู้เขียนคือตอนที่โวเกลฝัน เขาเผชิญกับความกลัวจนกระทั่งเข้าสู่สภาวะฝัน (dreamland) ในจิตใต้สำนึกเพื่อกลับไปคุยกับแม่ ในฝันนั้นแม่พูดว่า…
“ไม่ต้องโกรธพ่อเพื่อแม่ แม่ไม่ได้ติดค้างอะไร”
ใช่แล้ว! เขาโกรธพ่อมาทั้งชีวิตเพราะต้องการดูแลความรู้สึกของแม่
และอีกช่วงที่หนังพาเราไปเข้าใจความเป็นพ่อ ผ่านตัวละครพ่อของโวเกลว่า พ่อเองก็ไม่ใช่คนที่สมบูรณ์แบบ เขาไม่เคยเป็นพ่อ ไม่รู้ว่าต้องใช้ชีวิตยังไง ในขณะที่ครอบครัวคาดหวังว่าพ่อจะเป็นที่พึ่งให้ได้ แต่เขาทำไม่เป็น ณ ช่วงชีวิตนั้น เรื่องราวบทบาทพ่อ หนึ่งในเรื่องที่โวเกลผู้กำลังมีลูกในวัยทารก ผู้ที่ดูแลคนอื่นไม่เป็น ผู้ที่ให้ความสำคัญกับงานมากกว่าความสัมพันธ์และครอบครัวจะได้กลับมาเดินทางด้านในและแก้ไขมัน ท้ายที่สุดแล้วเราเห็นตัวละคร โวเกล ได้หลอมรวมกับการเป็นคนที่อ่อนโยน เป็น ร้องไห้ได้ ดูแลคนที่เขารักได้ โวเกลได้เปลี่ยนผ่าน และเรียนรู้ว่าการจะเป็นพ่อที่ดีได้ ต้องยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง ของพ่อ และสุดท้ายเขาได้พลังที่จะโอบอุ้มดูแลและให้ความรักกับลูกได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น
หากบอกว่าการดูละครคือการย้อนมองดูตัว หนังเรื่องนี้เป็นกระจกสะท้อนที่นอกจากเห็นการเดินทางของฮีโร่แบบโวเกลแล้ว จากนั้นเรายังได้ดูตัวเอง หนังเชื้อเชิญให้เราได้กลับไปค้นเจอห้วงเวลาที่เราจะได้เรียนรู้จากบาดแผล ด้านมืดและด้านสว่างของเรา ถ้าผู้อ่านสนใจ ‘การเดินทางของฮีโร่’ และอยากย้อนมองดูตัวเองก็อยากเชื้อเชิญให้ไปชมกันนะครับ
ขณะดูหนัง เห็นเส้นทางของลอยด์ โวเกลที่เริ่มต้นถูกเคาะประตูโดย บก. ที่ให้ไปสัมภาษณ์โรเจอร์ส เผชิญปัญหาและความกลัวสุดๆ จนไปสู่การหลอมรวมเป็นตัวตนใหม่ทำให้นึกถึงโจเซฟ แคมเบลล์ นักเขียน และนักตำนานวิทยา (mythologist) ชาวอเมริกัน เขาได้เสนอแบบแผนการเดินทางของฮีโร่ มี 12 ขั้นตอน ซึ่งหากผู้อ่านเริ่มมีเหตุการณ์เช่นนี้ เริ่มมีบางอย่างมาเคาะประตู ก็ลองปล่อยให้ตัวเองได้เดินทางสู่ Hero’s Journey ดูได้
- ช่วงที่ยังอยู่ในโลกที่คุ้นเคย
- มีเสียงเรียกให้ออกผจญภัย โดนเคาะประตูจากปัญหาในชีวิต เรียกร้องให้เราค้นหา ฮีโร่จะเกิดความสงสัยและเริ่มต้นออกเดินทาง
- การปฏิเสธเสียงเรียก มีเสียงเรียกให้ทำในสิ่งที่ต่างออกไป เรามักปฏิเสธและบอกตัวเองว่าเราอยากที่จะอยู่ในโลกธรรมดาสามัญเช่นเดิม
- การพบครู มีการส่งเพื่อน ครู ผู้มีทักษะ หนังสือ หรือธรรมชาติ มาช่วยให้เราฝึกฝน เรียนรู้มุมใหม่ ขยายศักยภาพ เพื่อเดินทางไปในเป้าประสงค์ของตัวเอง
- การข้ามเขตแดน ตัดสินใจและก้าวข้ามขอบของโลกธรรมดาสามัญไปยังอีกโลกหนึ่ง ไปพบเงื่อนไข กฎเกณฑ์ และระบบคุณค่าที่ไม่คุ้นเคย
- การรับบททดสอบ เจอศัตรูและมิตรที่จะช่วยเหลือ
- ทดลองหาวิธีการใหม่ๆ ในการจัดการกับบททดสอบที่เข้ามา ปรับเปลี่ยนวิธีคิด ตัวตน หรือการแสดงออก เพื่อให้ชนะอุปสรรคที่เข้ามา
- การเผชิญอุปสรรคสูงสุด เป็นช่วงเวลาของความเป็นความตายที่ต้องเผชิญสิ่งต่างๆ ภายในตนเอง เช่น ด้านมืดของตนเอง หรือความกลัวที่สุดในชีวิต การสลัดละทุกๆ อย่างที่เราเคยเป็น ซึ่งวิธีก้าวข้ามเราต้องทำงานกับด้านต่างๆ ของตนเอง
- การรับรางวัล หากก้าวผ่านระยะของการเผชิญอุปสรรคได้ เป้าประสงค์จะมอบรางวัล ของขวัญ ความรัก บทเรียน หรือปัญญา จะเกิดการเติบโตและเปลี่ยนแปลงภายในกลายเป็นคนใหม่ที่ต่างจากเดิม
- เดินทางกลับสู่โลกปกติ
- การเกิดใหม่ เจอบททดสอบที่ต้องใช้ความรู้และทักษะทั้งหมดที่ได้เรียนรู้ระหว่างการเดินทางเพื่อเอาชนะบททดสอบสุดท้ายไปให้ได้ เป็นการปรับตัวสู่โลกปกติอย่างแท้จริง
- การกลับมาพร้อมพลังวิเศษ กลับไปยังโลกปกติแล้วแบ่งปันความรู้ พลัง หรือสิ่งต่างๆ ที่ได้รับออกไปสู่โลก