- หลายครั้งห้องเรียนเป็นสมรภูมิรบ และครูคือคนที่เข้ามาไกล่เกลี่ย ไม่ควรเพิกเฉยกับความขัดแย้งหรือมองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมชาติ
- เครื่องมือสำคัญที่จะเข้ามาช่วยครูคือ NVC หรือการสื่อสารอย่างสันติ ไม่ใช่การลงโทษให้เรื่องมันจบๆ ไป
- นอกจากครูฟังอย่างตั้งใจ เด็กๆ คู่ขัดแย้งก็จะได้เรียนรู้ความต้องการของอีกฝ่ายด้วยการฟังและเข้าใจซึ่งกันและกัน
โรงเรียนเป็นพื้นที่ทางสังคมที่เด็กๆ ใช้เวลาชีวิตในแต่ละวันมากกว่าที่บ้านเสียอีก ห้องเรียนจึงเป็นทั้งโลกแห่งความรู้ ห้องทดลอง และสนามเด็กเล่น
นอกจากจะเป็นพื้นที่พัฒนาทักษะ ความรู้ โรงเรียนยังเป็นสนามแรกๆ ของชีวิตให้เด็กๆ เรียนรู้การสร้างความสัมพันธ์ ความไว้วางใจ และความรัก
แต่บางครั้งโรงเรียนอาจกลายเป็นสมรภูมิรบได้เช่นกัน
“หนูทะเลาะกับเพื่อนไม่อยากไปโรงเรียนเลย” “เพื่อนในห้องล้อเรื่องกระเป๋าไม่เลิก หนูอาย ไม่อยากไปโรงเรียนแล้ว!” การทะเลาะเบาะแว้งที่อาจฟังเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาประสาเด็กน้อย บางครั้งไม่ได้จบลงอย่างสวยงาม แต่กลับลงเอยด้วยความรุนแรง กระทบกระทั่ง ที่ส่งผลร้ายต่อจิตใจ รวมถึงประสิทธิภาพการเรียนรู้และการเข้าสังคมของพวกเขา ก่อเกิดความเครียด วิตกกังวล จนลุกลามเป็นปัญหาทางจิตใจเช่น ภาวะซึมเศร้า
บทความนี้จึงต้องการนำเสนอแนวทาง การสื่อสารอย่างสันติ หรือ Nonviolent Communication (NVC) ให้เป็นทางเลือกหนึ่งที่ครูสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือจัดการความขัดแย้งระหว่างนักเรียน (conflict management) และออกแบบบรรยากาศการเรียนรู้ที่ปราศจากอคติหรือการตัดสินว่ากล่าวผู้อื่น โดยครูเป็นผู้ช่วยนำทาง ปลูกฝังให้พวกเขาถอยห่างจากการนำตนเองเป็นศูนย์กลางของโลก แล้วทำความรู้จักกับวิธีสื่อสารอย่างสันติ คือทุกคนรับฟังความต้องการและเคารพในความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน
เพราะเราเพิกเฉยกับความขัดแย้ง มองความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมชาติ
แม้เราจะมีครูฝ่ายปกครองและระเบียบควบคุมความประพฤติพร้อมกับมาตรการลงโทษเพื่อป้องกันหรือรับมือความขัดแย้งรุนแรงระหว่างนักเรียนอย่างเข้มงวดแค่ไหน แต่ปัญหาการทะเลาะเบาะแว้ง พูดเสียดสีด่าทอกัน ใช้กำลังข่มขู่ บังคับจิตใจ ล่วงละเมิด รังแกกลั่นแกล้งเพื่อความสนุกก็ไม่เคยหมดไป
ทุกครั้งที่เกิดความขัดแย้งหรือความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นทางวาจาหรือกำลัง นอกเหนือจากบทลงโทษและการเยียวยาจิตใจ
ประเด็นสำคัญที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่มากพอคือทำอย่างไรเราจึงจะแก้ทัศนคติการคุกคามกันและสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
การสื่อสารอย่างสันติ หรือ NVC เป็นกระบวนการพูดและฟังที่งดเว้นการกล่าวโทษหรือตัดสินผู้อื่น ออกแบบโดย ดร.มาร์แชล โรเซนเบิร์ก (Dr.Marshall Rosenberg) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและนักไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระดับโลก ในประเทศไทย NVC ได้รับการเผยแพร่มาตั้งแต่ปี 2547 โดยหลายหน่วยงาน เช่น เสมสิกขาลัย (SEM) สถาบันขวัญแผ่นดิน ให้เป็นแนวทางสร้างเสริมความเข้าใจระหว่างคนในสังคมและแก้ไขความขัดแย้งและความรุนแรงให้บรรเทาเบาบาง
โดยมุ่งเน้นการสื่อสารด้วยความเมตตากรุณา (empathy) เมื่อเป็นผู้พูดเราจะไม่พูดทำร้ายผู้อื่นทั้งทางตรงทางอ้อม เมื่อเป็นผู้ฟังเราจะเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่เอาตนเองเป็นไม้บรรทัดตัดสินว่ากล่าวคนอื่น
หลักการโดยย่อของ NVC
1. love and compassion – มอบความรักและความเมตตากรุณากับทุกคน
2. needs – เข้าใจว่าเบื้องหลังความรู้สึก การกระทำ หรือคำพูดนั้น ทุกคนมีความต้องการบางอย่าง การแสดงออกทั้งหมดล้วนเพื่อให้บรรลุสิ่งนั้น
3. self-responsibility and needs consciousness – ทุกคนควรรับผิดชอบต่อความรู้สึกที่เกิดขึ้นของตนเอง ไม่กล่าวโทษหรือผลักให้เป็นความผิดคนอื่น และควรรู้ว่าตนเองต้องการอะไร
4. ใช้กระบวนการพูดและฟังที่จะไม่กระตุ้นความบาดหมาง ด้วยการมองสถานการณ์ตามความจริง (observation) บอก/ถามความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา (feelings) บอก/ถามความต้องการอย่างตรงไปตรงมา (needs) และร้องขอให้ทำในสิ่งที่เราต้องการ (requests)
5. empathy – เข้าอกเข้าใจผู้อื่นว่าเขาเองก็มีความต้องการที่หวังจะได้รับการตอบสนองเหมือนกับเรา
Nonviolent Communication – มีเมตตาต่อตนเอง ไม่กดความต้องการของตนเอง และกล้าปฏิเสธ
สร้างวัฒนธรรมแห่งสันติในโรงเรียนด้วย NVC
คงไม่ต้องย้ำว่ากฎควบคุมความประพฤติไม่เคยสร้างปาฏิหาริย์ให้นักเรียนเลิกทะเลาะกัน ตราบใดที่พวกเขายังเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล ตัดสินวิพากษ์วิจารณ์ และไม่เคยมองเห็นความต้องการของคนอื่นหรือแม้กระทั่งของตนเอง
การนำหลักการ NVC มาประยุกต์ใช้ในการสื่อสารที่โรงเรียนหรือจัดการความขัดแย้งในหมู่เด็กๆ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคมแห่งสันติที่เป็นรูปธรรมขึ้นมาได้ ด้วยการมีสติทั้งทางกาย วาจา ใจ คือรู้เท่าทันอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก และความต้องการของตนเอง และเผื่อแผ่ความเมตตากรุณาไปยังผู้อื่นต่อไป
เคิร์สเตน คริสเตนเซน (Kirsten Kristensen) ประธานสมาคม LIVKOM ภาคีเครือข่ายศูนย์การสื่อสารเพื่อสันติ ลูกศิษย์ก้นกุฏิของ ดร.โรเซนเบิร์ก เธอเป็นวิทยากรบรรยายและออกแบบการเรียนรู้ตามแนวทาง NVC ให้สถาบันการศึกษาหลายแห่งในเดนมาร์ค เยอรมนี และนอร์เวย์
ในเว็บไซต์ของเธอเผยแพร่คลิปวิดีโอความยาว 5 ตอน เรื่อง Culture of Peace in School with NVC ซึ่งถ่ายทอดขั้นตอนการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้และไกล่เกลี่ยความขัดแย้งด้วย NVC ของโรงเรียนเตรียมประถมแห่งหนึ่งในเดนมาร์ค ทำให้เราเห็นวิธีที่ครูใช้ปลูกฝังเหล่าหนูน้อยวัยตั้งแต่ก่อนชั้นประถมให้เคารพและเมตตากันและกัน อีกทั้งยังสามารถจัดการความขัดแย้งในชั้นเรียนได้อย่างน่าติดตาม
ก่อนอื่น นอกเหนือจากครูกับนักเรียนต้องทำความเข้าใจหลักการและขั้นตอน NVC ซึ่งประกอบด้วย observation, feelings, needs, requests ที่กล่าวมาข้างต้น ในห้องเรียนควรมีกระดานคำศัพท์แยกแยะหมวดหมู่คำที่ใช้แสดงความรู้สึก (feelings) และความต้องการ (needs) ติดไว้ให้นักเรียนมองเห็นและสามารถยกมาใช้สื่อสารได้ทุกเมื่อ (สามารถอ้างอิงตัวอย่างคำศัพท์ได้จากบทความนี้)
ฟังอย่างนิ่งสงบ สยบความขัดแย้ง
คลิป Culture of Peace in School with NVC แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์การทะเลาะเบาะแว้งของเด็กๆ ในวันเปิดเทอมของคุณครู ฌอง โอลุนด์ ลอริทเซน (Jean Olund Lauritzen) ในโรงเรียนเตรียมประถมแห่งหนึ่งในเดนมาร์ค สาวน้อยผมทองซิลวียกมือฟ้องครูว่า ช่วงพักเบรกเธอถูกลุดวิก นักเรียนชายกับกลุ่มเพื่อนของเขาวิ่งไล่จับแล้วยังพยายามตรึงแขนเธอไว้ไม่ให้กระดุกกระดิก เธอวิ่งหนี ตะโกนให้คนช่วยแต่ก็ไม่เป็นผล เพื่อนๆ ไล่กวดไม่เลิก เธอเจ็บและไม่พอใจ จึงมาฟ้องครู
ครูลอริทเซนเล่าว่า ก่อนที่เธอจะรู้จัก NVC เธอมักตำหนิเด็กที่แกล้งเพื่อนทำนองว่า “อย่าแกล้งเค้าสิ ทีหลังต้องทำอย่างนั้นสิ อย่างนี้สิ” เธอรวบรัดตัดตอนการรับฟังสิ่งที่อยู่ในใจของพวกเขาไปสู่การอบรมสั่งสอนเลยทันที
เมื่อคริสเตนเซนนำ NVC เข้ามาใช้กับโรงเรียน เธอจึงได้เรียนรู้ที่จะปรับทัศนคติใหม่เมื่อเข้าใจว่า นักเรียนที่แสดงออกก้าวร้าวรุนแรง ตีหรือแกล้งเพื่อนมี ‘ความต้องการ’ บางอย่างเป็นแรงขับที่ทำให้เขาทำเช่นนั้น เขากำลังอยากบอกอะไร แทนที่จะดุและตราสถานะให้เขาเป็นคนผิด เธอรู้ว่าสิ่งที่เด็กเหล่านั้นต้องการที่แท้คือการได้รับความเอาใจใส่และรับฟัง “หนูต้องการอะไร” “ตอนนี้หนูรู้สึกยังไง” ขณะเดียวกันเธอมองว่าความขัดแย้งไม่ลงรอยกันเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
เพราะเด็กทุกคนล้วนอยากให้ใครรับฟังความต้องการของพวกเขา ครูลอริทเซนจึงมักถามว่า “ทุกคนคิดอย่างไรกับเรื่องนี้กันบ้าง” “พวกเราควรหาทางออกยังไง” เพื่อให้โอกาสทุกคนในห้องแสดงออกและมีส่วนร่วมเสมอ
ต่อไปนี้คือกระบวนการ NVC ที่ครูลอริทเซนใช้ถามและรับฟังสาวน้อยซิลวีกับลุดวิกอย่างใจเย็น โดยค่อยๆ ไกด์ให้พวกเขาเปิดเผยความรู้สึกและความต้องการระหว่างกันดังนี้
1. กระตุ้นให้เล่าเหตุการณ์ – ครูลอริทเซนกระตุ้นให้ซิลวีและเพื่อนที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อฟังความให้รอบด้าน เธอรับฟังอย่างสงบนิ่งเท่านั้น ไม่ตำหนิหรือชมเชยใดๆ ทั้งสิ้น
“เกิดอะไรขึ้นจ๊ะ ซิลวี”
“ที่เพื่อนเขาวิ่งไล่ เขามาจับตรงไหนบ้าง”
“พอเพื่อนทำอย่างนั้น แล้วหนูทำยังไงต่อ”
“หนูได้พูดอะไรกับเพื่อนที่มาไล่จับหนูมั้ย พูดกับเขาไปว่ายังไงจ๊ะ พวกเขาเป็นเพื่อนห้องนี้หรืออยู่ต่างห้อง”
“มีใครในห้องเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับซิลวีบ้าง เล่าให้ครูฟังหน่อยได้ไหม”
“ที่หนูบอกว่าพยายามช่วยซิลวี หนูช่วยยังไง แล้วช่วยสำเร็จไหม”
“ซิลวี หนูสังเกตเห็นเพื่อนที่เข้ามาช่วยไหม”
2. ถามความรู้สึก – ในสถานการณ์ไกล่เกลี่ย ครูลอริทเซนกระตุ้นให้ลุดวิกบอกความรู้สึกออกมาขณะที่เขากำลังคิดว่าตนเองเล่นสนุก จากนั้นเธอสอดแทรกให้เขาลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา โดยให้เดาความรู้สึกจากมุมมองของอีกฝ่าย
“ลุดวิก หนูรู้สึกยังไงกับเรื่องที่ซิลวีเล่าจ๊ะ”
“ที่หนูรู้สึกสนุกเพราะหนูตอบตกลงที่จะเล่นกับเพื่อนอย่างชัดเจนแล้วใช่ไหมจ๊ะ”
“หนูรู้สึกยังไง ตอนซิลวีอธิบายวิธีที่เพื่อนๆ จับตัวไว้แล้วเธอพยายามวิ่งหนี”
“เธอไม่แน่ใจว่า ซิลวีเขาอยากเล่นต่อรึเปล่าเหรอ”
“แล้วหลังจากที่ซิลวีเขาบอกว่าเขาเจ็บและไม่สนุกล่ะ เธอคิดว่าซิลวีรู้สึกยังไง”
“จู่ๆ เพื่อนที่กำลังเล่นด้วยกันวิ่งหนีไป พวกหนูคิดว่าเพื่อนคนนั้นรู้สึกยังไง”
3. ถามความต้องการ – ความต้องการเป็นสิ่งที่รอการรับฟังเพื่อตอบสนองมากที่สุด ครูจำเป็นต้องมองทะลุสถานการณ์ทั้งหมดไปยังความต้องการ ความต้องการบางอย่างไม่จำเป็นต้องได้รับการตอบสนอง ขอแค่มีคนรับฟังอย่างเข้าใจ
“ลุดวิก หนูต้องการให้ซิลวีปฏิบัติกับหนูยังไง หนูจึงจะมั่นใจว่าซิลวีไม่อยากเล่นต่อแล้ว”
“ซิลวี ถ้าย้อนกลับไปตอนที่วิ่งหนีเพื่อนๆ มีคำพูดตรงไหนที่หนูอยากเปลี่ยนหรือแสดงออกอย่างอื่นบ้างไหมจ๊ะ”
“มีใครในห้องอยากพูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้างจ๊ะ”
4. ถามถึงสิ่งที่อยากลงมือทำ – การถามว่าตัดสินใจจะทำอะไรต่อไป คือการบอกพวกเขาว่าถึงเวลาที่ต้องหาทางออกและแก้ปัญหานี้เสียทีแล้ว
“เราควรพูดคุยกับเพื่อนที่วิ่งไล่หนูตอนนี้เลยดีไหม”
“พวกหนูมีวิธีแสดงออกยังไงให้เพื่อนเข้าใจว่าเราอยากเล่นหรือไม่อยากเล่นด้วย”
“เธอคิดจะทำยังไงหลังจากนี้จ๊ะลุดวิก”
“ใครที่หนูอยากคุยเรื่องนี้ด้วย ซิลวีหรือจ๊ะ มีคนอื่นที่อยากคุยด้วยอีกไหม”
“โมฮัมเหม็ด เธออยากคุยกับลุดวิกและซิลวีรึเปล่า”
“ซิลวี หนูตกลงใจที่จะคุยกับลุดวิกไหม การพูดคุยกันอาจช่วยให้หนูเข้าใจกันมากขึ้นนะ”
การเปิดอกเจรจาของเจ้าตัวเล็ก
ซิลวี: “ฉันไม่สนุก ฉันบอกให้เธอหยุด”
ลุดวิก: “แต่โมฮัมเหม็ด ไม่ได้บอกให้ฉันหยุดนี่”
ซิลวี: “เธอคิดว่าฉันสนุกเหรอ ในเมื่อฉันวิ่งหนีอยู่ตลอด”
ลุดวิก: “ก็เรากำลังเล่นเกมกันอยู่ ฉันจะรู้ได้ยังไง”
ซิลวี: “แต่ฉันไม่ได้เล่นเกมนั่นกับเธอซักหน่อย ฉันถึงตะโกนให้คนช่วยไง ถ้าฉันเล่นด้วยฉันจะไม่พูดซักคำ”
ลุดวิก: “โอเค งั้นครั้งหน้าฉันจะเข้าใจตามนี้ละกัน”
เมื่อนักเรียนเปิดอกพูดคุยกันเรียบร้อย สิ่งที่ครูลอริทเซนทำคือสรุปความรู้สึกของทุกฝ่ายและถามผลลัพธ์ว่าการเจรจาจบลงอย่างไร ไม่มีการตัดสินว่าใครถูกใครผิดในเรื่องนี้ ทั้งสองฝ่ายได้พูดในสิ่งที่ตนต้องการและรับฟังสิ่งที่อยู่ในใจอีกฝ่ายจนปรุโปร่ง โดยมีครูอีกคนที่รับฟังพวกเขาทั้งสองและแสดงความเข้าใจอย่างสงบนิ่งไม่ตัดสินอีกด้วย เมื่อทั้งสองหันหน้าพูดคุยกันแล้ว ครูลอริทเซนให้พวกเขาอธิบายสิ่งที่ได้เรียนรู้ให้เพื่อนในชั้นฟัง
ลุดวิก: “ถ้าเพื่อนวิ่งหนีตอนเรากำลังเล่นด้วยกัน แปลว่าเขาไม่อยากเล่นด้วยฮะ”
โมฮัมเหม็ด: “ผมคิดว่า ซิลวีบอกว่าเธอไม่สนุกด้วยกับเกมที่เราเล่น”
ซิลวี: “หนูต้องบอกเขาออกไปตรงๆ ว่าไม่เล่น”
ในบทความ Got Conflict? Learn to manage it skillfully ดร.ริชาร์ด บาร์บิเอรี (Dr. Richard Barbieri) ปรมาจารย์ด้านการแก้ปัญหาความขัดแย้งแห่งฮาร์วาร์ดชี้ว่า การฟังเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอันทรงอานุภาพที่สุด เพราะมันนำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจ แค่รับฟังอย่างตั้งใจโดยไม่ต้องคำนึงว่าควรพูดอะไรโต้ตอบกลับไป ไม่เอ่ยขัด ไม่ต้องอธิบายสิ่งที่ตัวเองคิด
เมื่อรับฟังอย่างเปิดใจและเข้าไปอยู่ในมุมมองของผู้อื่น เราจะเห็นอคติที่บังตาไม่ให้เราหันไปหาทางออกได้ชัดขึ้น สุดท้ายแล้วสิ่งประเสริฐสุดที่จะตามมาเมื่อเราแก้ไขความขัดแย้งกันได้อย่างสันติ ก็คือความเมตตากรุณาที่จะเจริญงอกงามขึ้นภายในใจของเรานั่นเอง
เพื่อให้นักเรียนทุกคนในชั้นได้เรียนรู้การแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้งไปด้วยกัน ขั้นต่อไปครูลอริทเซนนำเหตุการณ์นี้มาขึ้นกระดานให้เด็กๆ ในห้องเรียนช่วยกันคาดเดาความรู้สึกและความต้องการของทั้งซิลวีและลุดวิกที่เกิดขึ้น ‘ระหว่าง’ เหตุการณ์ความขัดแย้งของทั้งคู่ ออกมาได้ดังนี้
ครูลองถามทั้งสองว่าสิ่งที่พวกเขารู้สึกและต้องการตรงกับที่เพื่อนๆ เดาไหม ซิลวีเห็นด้วยทุกข้อ แต่ลุดวิกนั้นบอกว่าเขาไม่ได้โกรธ แต่ขณะเกิดเหตุเขายอมรับว่ารู้สึกหงุดหงิดเมื่อซิลวีตะโกนใส่เขา และเขาขอเพิ่ม ‘การสนับสนุน’ ลงไปในความต้องการบนกระดานด้วยตนเอง
เมื่อเขียนความรู้สึกและความต้องการของทั้งสองฝ่ายไว้ในรูปหัวใจสองดวงแล้ว ครูลอริทเซนทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วให้ทุกคนช่วยเสนอหนทางแก้ไข
“สิ่งที่เกิดขึ้นคือซิลวีถูกวิ่งไล่จับโดยเธอไม่ยินยอมพร้อมใจ มีการตะโกนกันด้วย ลุดวิกต้องการให้คนรับฟังเขาและอยากได้เสรีภาพที่จะตัดสินใจด้วยตนเอง ซิลวีเองก็อยากได้ความสงบสุขและมิตรภาพ พวกหนูคิดว่า อะไรคือสิ่งที่จะทำให้พวกเขามองเห็นความต้องการของกันและกันได้อย่างนี้”
เด็กๆ ตอบว่า “ฟังสิ่งที่อีกฝ่ายบอก”
“แล้วพวกเขาทั้งคู่ควรทำอย่างไรเพื่อจะได้รู้สึกดีขึ้น”
“คืนดีกัน”, “เวลาเล่นกัน ก็ฟังว่าเพื่อนชอบไม่ชอบอะไร”, “เล่นกันโดยมีผู้ใหญ่ดูแล”, “คุยกันถึงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเป็นเพื่อนกันใหม่”
ท้ายที่สุด เมื่อการไกล่เกลี่ยดำเนินมาถึงหนทางแก้ไข ครูลอริทเซนสรุปทบทวนทางออกที่เพื่อนๆ ช่วยกันเสนอเหล่านี้ให้เด็กทั้งสองลองใคร่ครวญ พร้อมกับอธิบายให้ลุดวิกฟังว่าขณะที่เราเล่นกับเพื่อนแล้วเพื่อนวิ่งหนีกลางคัน ถ้าเราไม่แน่ใจว่าเขาอยากเล่นต่อหรือไม่ เราต้องถามและรับฟังความสมัครใจของเพื่อนหรือขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่เมื่อเกิดความเข้าใจผิด สำหรับซิลวีเธอเรียนรู้แล้วว่าเธอต้องปฏิเสธอย่างตรงไปตรงมาเมื่อไม่เต็มใจ
สามารถชมคลิป Culture of Peace in School with NVC ทั้ง 5 ตอน ที่นี่
ติดเบรกในใจด้วยสติ
จะว่าไปแล้ว กระบวนการ NVC นั้นแฝงหลักธรรมพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องสติ คือฝึกจิตใจให้รู้เท่าทันตนเอง เป็นเบรกในใจที่คอยหยุดเราในที่ที่ควรหยุดและการมีเมตตาธรรมกับเพื่อนมนุษย์ คุณครูโมนา แวง (Mona Vang) ครูชั้นมัธยมปลายที่เดียวกันกับครูลอริทเซนซึ่งหันมาใช้ NVC เป็นแนวทางทั้งในการสอนที่โรงเรียนและชีวิตประจำวัน เล่าว่า NVC เปลี่ยนแปลงเธอไปในทางที่ดีขึ้นอย่างใหญ่หลวง หลักการและขั้นตอนการสื่อสารทำให้เธอหยุดทบทวนสิ่งที่อยู่ภายในตนเองก่อนที่จะแสดงอาการปรี๊ดแตกหรือพูดบางอย่างปุบปับออกมาตามสิ่งกระตุ้น
จากที่เคยอารมณ์ร้อนและตัดสินคนว่าโง่ตลอดเวลา NVC สอนให้เธอหยุดพิจารณาว่าแท้จริงแล้วเธอต้องการอะไรจากอีกฝ่าย เมื่อเข้าใจความรู้สึกตนเอง เธอก็พร้อมรับฟังความต้องการของผู้อื่นอย่างเมตตาเช่นกัน
“ฉันรู้สึกเหมือน NVC เป็นของขวัญที่ฟ้าประทานมาให้ มันทำให้ฉันเข้าถึงสิ่งที่อยู่ข้างในตัวเองและรับผิดชอบต่อมัน ทั้งในแง่ของความรู้สึกส่วนตัวและการปฏิบัติหน้าที่ของครู ฉันรู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไปใส่ใจกับความต้องการมากขึ้นและมองเห็นความสำคัญว่าสิ่งที่ต้องการนั้นมันสำคัญมากน้อยแค่ไหน มันทำให้ฉันเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น”
หากจุดเริ่มต้นของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข คือการบ่มเพาะความรัก ความเข้าใจและเมตตากรุณาให้แก่กัน NVC คือวิธีการสื่อสารที่ช่วยให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ ด้วยหลักการที่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งมีความต้องการที่ต้องได้รับการตอบสนองด้วยกันทุกคน
เมื่อทุกคนพร้อมรับฟังซึ่งกันและกัน ความเข้าใจในข้อนี้เกิดขึ้นแล้ว ความไว้วางใจ ความร่วมมือ และความปลอดภัยในห้องเรียนก็จะตามมา ที่สุดแล้วโรงเรียนจะเป็นพื้นที่แห่งสันติและมิตรภาพ ไม่เพียงมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดีและเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ นักเรียนเหล่านี้นี่เองที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสังคมอันผาสุกและปราศจากความรุนแรงต่อไป