- Book Re:public ร้านหนังสือที่ดู ‘การเมื้องการเมือง’ มักจัดเสวนาที่ขึ้นชื่อขึงขัง เช่น เมื่อความจริง (และนิยาย) โดนดำเนินคดีในประเทศไทยยุคกษัตริย์นิยมล้นเกิน, ศาสนา เพศวิถี และความหลากหลายทางเพศ ไม่รวมเวิร์คช็อปที่จัดขึ้นเสมอๆ เช่น ห้องเรียนประชาธิปไตย, ห้องเรียนดีเบต หรือ Human ร้าย Human wrong
- บทสนทนากับสาวแว่นสองคนที่เป็นทั้งพนักงานร้านหนังสือ, ผู้ร่วมปรุงสูตรเวิร์คช็อปเชิงวิพากษ์, ดีไซเนอร์, นักพิสูจน์อักษร หรือนักคิด ว่าตกลงแล้วร้านหนังสือ Book Re:public มีอำนาจที่จะทำอะไรได้บ้างนะ
- “แค่ตั้งตนว่าจะไม่สนใจการเมืองมันก็คือการเมืองแล้ว มันมีปัจจัยไหนล่ะที่ทำให้คุณรู้สึกว่าขอวางเรื่องนี้ไป ถ้าคุณไม่สนใจการเมืองคุณสนใจอะไร เพลงแร็พ ลูกทุ่ง ลูกกรุง ก็เป็นการเมืองนะ การที่จู่ๆ วันหนึ่งคุณอยากจะลุกขึ้นมากินคลีน เฮ้ย ลองเช็คตัวเองดีๆ มันอาจจะเป็นการเมืองก็ได้นะเว้ย”
เสวนาที่พบเจอได้ในร้านหนังสือ Book Re:public มีชื่อราวๆ นี้…
อ่านออกเสียง ตอน ‘เปิดปาก เปิดพื้นที่เสรีทางความคิด’, เมื่อความจริง (และนิยาย) โดนดำเนินคดีในประเทศไทยยุคกษัตริย์นิยมล้นเกิน, ศาสนา เพศวิถี และความหลากหลายทางเพศ, Book Talk ‘นีโอลิเบอรัล(มั้ย)ศาสตร์’ หรือแม้แต่ ตุลาการภิวัตน์หรือรัฐประหารบนบัลลังก์ศาล
ยังไม่รวมเวิร์คช็อปที่จัดขึ้นเสมอๆ เช่น ห้องเรียนประชาธิปไตย โครงการเรียนรู้นอกมหาวิทยาลัยเพื่อทำความเข้าใจประชาธิปไตยในชีวิตประจำวัน, ห้องเรียนดีเบต (Critical Thinking) โครงการฝึกความคิดเชิงวิพากษ์และกระบวนการถกเถียงด้วยเหตุผล หรือ Human ร้าย Human wrong – กิจกรรมไฮไลท์ประจำปีที่ชวนผู้เข้าร่วมเวิร์คช็อปมาใช้ศิลปะแนวใหม่เป็นสื่อกลางเพื่อแสดงออกและสื่อสารเรื่องสิทธิมนุษยชน
เรียกได้ว่า คำว่าวาทกรรม (discourse) หรือกระบวนทัศน์ (paradigm) ดูเป็นศัพท์พื้นๆ ไปเลย
เจ้าของร้านคือ อ้อย รจเรข วัฒนพาณิชย์ อดีต NGO ชุมชนคนรักป่าและเจ้าของไอเดียห้องเรียนประชาธิปไตย พนักงานร้านทั้ง 2 คน บัว-นันท์ณิชา ศรีวุฒิ และ ออยล์-ชนมน วังทิพย์ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการจัดเสวนาและห้องเรียนนอกระบบทั้งหลายที่ว่า พวกเธอยอมรับด้วยเสียงหัวเราะขื่นๆ ขำๆ ว่าการเมืองเป็นเรื่องน่าปวดหัวจริงๆ นั่นแหละ แต่เราจะไม่สนใจมันจริงๆ ได้หรือเปล่า แล้วถ้าเราสนมันแบบปักลึก หน้าที่ของร้านหนังสืออิสระเล็กๆ ในเมืองเชียงใหม่จะสนุกสนานอยู่บนพื้นฐานของการโต้เถียงและความขัดแย้งได้มากแค่ไหน
นันท์ณิชา คืออดีตนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มักจะตั้งคำถามกับกรอบสังคมที่ต้องเชื่อมโยงกับคนอื่นตลอดเวลา ความสนใจด้านพลวัตทางสังคมและการเมืองรอบตัวตั้งแต่รั้วมหาวิทยาลัยทำให้เธอนำทักษะด้านศิลปะมาสื่อสารในประเด็นด้านการเมืองตั้งแต่ครั้งยังเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรมกับร้าน Book Re:public จนถึงปัจจุบันที่นั่งวาดสีน้ำสวยงามอยู่บนกระดาษ แต่เคลือบสาส์นของเสวนาการเมืองทั้งสิ้น
ชนมนเองก็เป็นเด็กที่ชอบดูปัญหาพัลวันของการสื่อสารและการมีอยู่ของมนุษย์ อดีตนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาและวรรณกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่บอกว่า รอยแตกแยกหรือการปะทะทางความคิดที่เกิดจากความไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดไปได้ไม่สิ้นสุด และการเมืองก็เป็นเรื่องของทุกคนบนโลก
Book Re:public จึงดูเป็นร้านหนังสือที่ ‘การเมื้องการเมือง’ เคยมีนักอ่านเดินเข้ามาที่ร้านแล้วถามว่าพนักงานชอบเสื้อ ‘สีอะไร’ หรือชี้ป้ายหน้าร้านแล้วกระซิบกระซาบกันว่านี่เป็นร้านหนังสือที่สนับสนุน liberal democracy แบบสุดโต่ง แต่ในเมื่อจุดยืนของร้านคือการเปิดโอกาสให้พูด ใครๆ ก็มีสิทธิพูดได้ แล้วจะมาดีเบทห้ำหั่นต่อกันอย่างไรค่อยว่ากันอีกที
และต่อจากนี้คือบทสนทนากับสาวแว่นสองคนที่เป็นทั้งพนักงานร้านหนังสือ, ผู้ปรุงสูตรเวิร์คช็อปเชิงวิพากษ์, ดีไซเนอร์, นักพิสูจน์อักษร หรือนักคิดก็ตามว่าตกลงแล้วร้านหนังสือสำหรับ Book Re:public มีอำนาจที่จะทำอะไรได้บ้างนะ
ตอนเข้ามาทำงานที่ Book Re:public รู้สึกว่าที่นี่เป็นแค่ร้านหนังสือหรือมากกว่านั้น
บัว: เราเข้ามาทำงาน 2 ปีที่แล้ว และเคยคลุกคลีกับกิจกรรมที่นี่ตั้งแต่ตอนเรียน และคิดว่า นี่มันร้านหนังสือการเมืองที่มีแต่คนโหดๆ คนวิชาการมาอยู่รวมกัน แล้วในฐานะที่เราเป็นเด็กที่เรียนศิลปะมา เราเลยคิดว่าจะต้องสื่อสารยังไงดีให้เด็กยุคใหม่เข้ามาในร้านมากขึ้น เราเลยค่อยๆ ออกแบบกิจกรรมและโปรโมทร้านที่ตอบโจทย์คนที่อยากมีพื้นที่ในการพูดคุยและแลกเปลี่ยนประเด็นทางสังคมมากขึ้น
คำว่าการเมืองที่ Book Re:public อยากจะสื่อสารออกไปกับคนรุ่นใหม่ไม่ใช่การเมืองเรื่องโครงสร้างที่เป็นเรื่องรัฐบาล การบริหารประเทศอะไรแบบนั้น แต่คำว่าการเมืองมันอยู่ในทุกฝีก้าว ทุกเวลาของคุณ ตั้งแต่เรื่องโครงสร้างการเมืองในครอบครัว เช่น ทำไมพ่อถึงมีสิทธิพูดมากกว่า หรือเรื่องของเพศสภาพที่มีความหลากหลายในรั้วมหาลัย การใช้ชีวิตในเชียงใหม่ หรือการออกแบบผังเมืองต่างๆ
เราพยายามกระตุกให้ผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นเด็กหรือกลุ่มวัยรุ่นพยายามโฟกัสกับจุดนี้ก่อน แล้วค่อยไปต่อยอดเรื่อยๆ ว่าจากปัญหาที่คุณคิดว่ามันเป็นการเมือง เรื่องของคุณมันไปสัมพันธ์กับโครงสร้างสังคมอย่างไร มองเป็นสเต็ปๆ ไปเพื่อที่จะให้เขาเรียนรู้คำว่าการเมืองและสิทธิของตัวเองเท่าที่เขาจะพอไหว เลยเป็นอีกภาพลักษณ์หนึ่งที่เราพยายามจะนำเสนอให้กับกลุ่มเยาวชน ตั้งแต่โครงการ human ร้ายฯ critical thinking หรือโครงการดีเบต
ยกตัวอย่างกิจกรรม critical thinking ที่เปิดโอกาสให้คนมาเข้าร่วมอย่างเป็นรูปธรรมให้หน่อย
ออยล์: กระบวนการของกิจกรรม critical thinking คือเริ่มจากการเอาคำถามง่ายๆ บ้าๆ ที่ไม่มีใครคิดว่าจะถามมานั่งล้อมวงคุยกัน หาเหตุผลให้มันอย่างชัดเจนซึ่งเหตุผลอาจจะไม่มีใครบอกได้ชัดเจนว่ามันผิดหรือถูก แต่ว่าพื้นที่ในวงตรงนั้นมันได้ถูกจัดสรรให้ทุกคนได้พูดและโต้เถียงความเชื่อของตัวเองจนถึงที่สุด จำลองให้เห็นว่าการคุยเรื่องๆ หนึ่งมันไม่มีคำว่าไร้สาระ เพราะเบื้องหลังมันมีเหตุผลอะไรก็ตาม หรือแม้กระทั่งปัญหาสิทธิมนุษยชน เช่น เราควรรับผู้ลี้ภัยมาไหม การคุยกันอาจจะไม่ทำให้เขาพบว่าสิทธิมนุษยชนสำคัญยังไง แต่เขาจะรู้แล้วว่าความคิดเห็นของเขาไม่ใช่ความคิดเห็นหนึ่งเดียวบนโลกนี้ ถ้าเกิดคุณคุยกันด้วยเหตุผลจริงๆ มันอาจจะนำพาคุณไปสู่ทางออกหรือวิธีการใหม่ๆ ได้
ประเด็นที่ถามส่วนใหญ่น่าจะเป็นประเด็นที่ต้องโต้แย้งและใช้ความรู้พื้นฐานบางอย่าง ผู้เข้าร่วมสะท้อนออกมาเป็นยังไงบ้าง
บัว: เช่น ในเวิร์คช็อปดีเบตจะมีกระบวนการการแบ่งคนออกเป็นสองฝ่าย เช่น รถแดงควรจะอยู่ต่อในเชียงใหม่ไหม ก็จะมีฝั่งที่พยายามแย้งกลับว่าไม่ควรอยู่ซึ่งมีจำนวนเยอะมาก แต่ทำยังไงให้เขาคิดถึงว่าถ้าเขายืนอยู่ในจุดของผู้ประกอบการ เขาจะคิดถึงอะไรบ้าง ถ้าเขายืนอยู่ในจุดที่ต้องดีเฟนด์ว่าการมีอยู่ของปัญหานี้มันดียังไง เขาจะรู้สึกถึงใจเขาใจเรา ก็เป็นกระบวนการหนึ่งที่ทำให้คนพยายามเปิดรับความแตกต่าง
ออยล์: เพราะฉะนั้นในโครงการก็จะมีเวิร์คช็อปหลายแบบ ทั้งการสื่อสารทางศิลปะพร้อมกับการเวิร์คช็อปองค์ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนต่างๆ ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะเป็นแค่กลุ่มเล็กๆ 20 คนที่มาเข้าร่วมอย่างเข้มข้น ระหว่างทางเขาจะพัฒนาชิ้นงานของเขาในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่แต่ละคนสนใจไปพร้อมๆ กัน จนสุดท้ายพอจบโครงการ แต่ละคนจะได้ผลิตชิ้นงานศิลปะขึ้นมาเพื่อจัดแสดงร่วมกันในนิทรรศการ
บัว: เรากำลังทำให้เขาเหมือนเป็นศิลปินคนหนึ่งที่จะผลิตผลงานออกไปจัดแสดง ดังนั้นทุกคนจะตั้งคำถามต่องานของเขา ในกระบวนการเลยต้องมีการตรวจสอบหัวข้อนั้นๆ ว่าถ้าคุณคิดแบบนี้ตรรกะวิบัติหรือเปล่า หรือว่าเป็นการแปะป้ายให้กับคนกลุ่มที่กำลังอยู่ในประเด็นปัญหา มันจะมีการตรวจสอบกันอยู่ตลอดเวลาโดยตัวของผู้เข้าร่วมเองจนเจ้าของผลงานต้องไปค้นหาข้อมูลให้มากขึ้น เขาจะต้องทำให้คนหมู่มากรับสารตรงกันกับสิ่งที่เขาจะสื่อสาร แล้วดูว่าสารนั้นน่ะมันมีความ make sense อยู่ไหม
การตรวจสอบที่ว่าใช้เกณฑ์อะไร
บัว: อันดับแรกเราให้วิทยากรมาเสริมความรู้เรื่องต่างๆ ก่อนว่าในเรื่องที่เขาสนใจมันมีข้อมูลอะไรที่เขาต้องไปหาเพิ่มเติม เราจะเชิญวิทยากรหลายรูปแบบ ตั้งแต่คนที่อยู่ในวงการศิลปะไปจนถึงวงการวิชาการมาช่วยเรื่องการออกแบบการทำงานคอนเซ็ปท์หรือศิลปะ สมมุติว่ามีบางคนสนใจประเด็นสิทธิสตรี ก็ต้องไปหาข้อมูลเรื่องนี้แล้วมาเข้ากระบวนการดีเบทซึ่งเป็นเครื่องมือหลักที่ Book Re:public ชอบใช้ แล้วค่อยๆ ดีเบตแย้งกันไป ปรับปรุงเนื้อหาไปเรื่อยๆ
แล้วการเป็น curator หรือคนออกแบบการสื่อสารและเวิร์คช็อปนี้ เราต้องหาข้อมูลหนักมากแค่ไหน
ออยล์: เราเรียกกระบวนการที่ Book Re:public ว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันมากกว่า เพราะไม่ใช่แค่เรา แต่กระทั่งวิทยากรเองจะถูกผู้ร่วมกิจกรรมถามค้านกลับไปในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย มันคือปฏิสัมพันธ์โต้ตอบซึ่งสุดท้ายแล้วมันตอบไม่ได้ตั้งแต่ต้นว่าใครสอนใคร เพราะมาเรียนรู้ร่วมกันใหม่หมดเลย ดังนั้นในการทำงานแต่ละครั้ง ทั้งทีมงาน วิทยากร เราต่างก็ต้องหาข้อมูลกันประมาณนึงเพื่อทำความเข้าใจ เตรียมตัวตอบคำถาม หรือแม้แต่เพื่อตั้งคำถามต่อกันและกันเองในประเด็นที่เราเลือก
แล้วเราทำให้เขาเชื่อมั่นได้อย่างไร ถ้าวางรูปแบบว่าต้องมาเรียนร่วมกัน ไม่ได้มีใครสอนใคร มีคำถามที่เราตอบไม่ได้อยู่ไหม
บัว: มีแน่นอน สมมุติมีสัก 100 คำถาม เราอาจจะตอบไม่ได้สัก 70 คำถามด้วยซ้ำ ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นปัญหา บางทีเราถูกมองว่าเป็นเด็กที่มาจัดเวิร์คช็อปเพราะบางคนจบปริญญาโทมา เขาก็จะมีกำแพงกับเรานิดหน่อย แต่เราก็คิดว่าเราทำงานแบบ Google ละกัน ถ้ามี 70 คำถามแต่เรามี keyword เราเอามันไปค้นหาแล้วหาคนที่เชื่อมต่อกับ keyword นั้นได้อย่างไรบ้าง ซึ่งมันต้องอยู่ที่ผู้เข้าร่วมด้วยว่าจะต่อยอดข้อมูลที่เราหามาให้ไหม
คนเข้าร่วมเวิร์คช็อปต้องทำงานภายใต้ประเด็นการเมืองเท่านั้นไหม
ออยล์: ไม่นะ หัวข้อมันหลากหลายมากๆ อย่างในเวิร์คช็อป Human ร้าย, Human Wrong ที่ต้องเลือกหัวข้อมาสร้างชิ้นงานกัน บางคนมีหัวข้อที่ค่อนข้างส่วนตัวมาก ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำ การเมือง เรามีแม้กระทั่งคนที่ตั้งใจตั้งแต่ต้นเลยว่าจะไม่ทำออกมาในแนวการเมืองเด็ดขาด มันคือการลองให้เขาไปคิดประเด็นสิทธิมนุษยชนใกล้ตัวและความสัมพันธ์ระหว่างเขากับสังคม กระบวนการจะค่อยๆ ทำให้เขาเริ่มเชื่อมโยงเองว่าเขาสัมพันธ์กับสังคมรอบตัวหรือโลกแบบไหน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเรื่องที่เริ่มจากประเด็นส่วนตัวของบางคน เช่น cyber bullying ก็ออกมาเป็นงานที่พูดถึงความคิดเห็นของผู้คนและโลกรอบตัวเขามากขึ้น แม้เริ่มแรกเขาจะเริ่มคิดเรื่องนี้จากประสบการณ์ที่เขาได้รับมา
พอพูดในคอนเซ็ปท์ใหญ่ๆ เรื่องการเมือง สิทธิมนุษยชน เพศ เราคัดประเด็นของแต่ละเวิร์คช็อปยังไงไม่ให้เป็นการแปะป้าย ชี้นำตั้งแต่แรก หรือจริงๆ แล้วมันไม่เป็นอะไร?
ออยล์: มันจะเริ่มตั้งแต่การเขียนโครงการเลยว่าท้ายที่สุดแล้วเราอยากให้เขาได้อะไร ซึ่งจะมีทั้งที่ตัวเราถือวิสาสะคิดว่ามันต้องมี เช่น อย่างน้อยๆ ต้องมีเรื่องสิทธิมนุษยชน ด้วยความที่ครึ่งหนึ่งของเนื้อหาเป็นสิ่งที่เราเลือกมา มันเลยอาจจะเวิร์คหรือไม่เวิร์คก็ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยความที่มันเป็นโครงการต่อเนื่อง เราจะค่อยๆ เรียนรู้จากผู้เข้าร่วมกิจกรรมและประเมินอยู่ตลอดเวลาว่าเขาต้องการอะไร ระหว่างทางมันจึงเกิดการปรับขึ้นเรื่อยๆ เช่น ในระหว่างเวิร์คช็อปที่ 1 เขาอาจจะบอกว่ายังไม่มีกิจกรรมที่เขาชอบเลย เราก็ต้องกลับมานั่งคิดแล้วว่าเราจะสามารถเพิ่มมันเข้าไปได้ไหม
แต่เราก็ต้องหนักแน่นเวลามีคนบอกว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นปัญหา ประชาธิปไตยไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป สิ่งที่เราต้องทำคือหาที่มาของคำถาม พยายามหาคำตอบให้ทั้งเขาและตัวเราเองว่ามันดียังไง มันไม่ดียังไง อะไรที่มันแก้ไขได้ อะไรที่เรามองไม่รอบหรือสื่อสารผิดจุด แต่ในจุดที่เรามองมันว่าเป็นทางเลือกที่ใช้การได้มากที่สุด เราจะไม่มีทางเปลี่ยนใจ
เช่น ถ้าพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนแล้วคน ‘อี๋’ ถ้าถามว่างั้นเราควรเลี่ยงดีไหม เราไม่ทำแบบนั้นเพราะมันเป็นเรื่องที่ต้องพูด จะเกลียดกันบ้างก็ได้ ไม่มีปัญหา
ไม่จำเป็นว่าทุกคนที่จบจากเวิร์คช็อปจะต้องรู้สึกสนใจการเมืองอย่างเข้มข้นใช่ไหม
ออยล์: ไม่จำเป็นเลย แต่มีคำพูดหนึ่งที่ประทับใจทีมงานมาจนถึงทุกวันนี้ คือมีผู้ร่วมเวิร์คช็อปบอกว่าเขาไม่เคยรู้สึกมาก่อนเลยว่ารัฐบาล การเมือง หรือแม้กระทั่งทหารมันเกี่ยวข้องกับชีวิตเขายังไงจนกระทั่งเขาต้องไปคิดงานศิลปะของตัวเอง เข้าไปติดตามข่าวสารด้วยตัวเอง กลายเป็นว่าเขาสนใจและได้ตระหนักถึงมันแล้ว งานศิลปะชิ้นนั้นๆ มันเลยเกิดขึ้นมาเพื่อสื่อสารเรื่องนั้นโดยเฉพาะเพราะมันกลายเป็นความตั้งใจของเขา ไม่ใช่ของเราอีกต่อไป
สรุปแล้วเราเป็นร้านหนังสือไหมนะ
ออยล์: เป็นด้วยสิ เป็นพื้นที่ที่สำคัญมากด้วย ทีมงานจะบอกกันเสมอว่าไม่ว่าจะมีร้านหนังสือหรือไม่ เราก็ต้องสานต่อกระบวนการต่อไป แต่การที่เรายังมีร้านหนังสือร้านนี้อยู่ด้วยมันทำให้สิ่งที่ทำมันพิเศษขึ้น ในโลกที่ทุกอย่างไปโผล่บนพื้นที่ออนไลน์มันส่งผลให้พื้นที่เพื่อพูดคุยทางกายภาพจำเป็นอย่างมาก หรือเป็นพื้นที่เพื่อร่วมมือทำอะไรบางอย่างด้วยกัน แล้วมันจะพาคนมากมายเข้ามาทั้งคนที่สนใจหรือไม่สนใจการเมือง นักศึกษา เด็ก พระ คนแก่วนเวียนมาพูดคุยกัน
เราจะบอกว่าประเด็นที่ต้องมีร้านหนังสืออยู่ เพราะเรื่อง human touch ใช่ไหม
บัว: อย่างน้อยเราได้เจอคนเป็นๆ จริงๆ ยังมีคนที่สนใจและอยากซื้อหนังสือจากร้านเราเพราะเขาไปหาทั่วเชียงใหม่แล้วไม่เจอ เราก็ต้องหาให้เจอ ในกรณีที่หนังสือหมด เราก็ต้องพูดคุยกับเขาต่อว่าเล่มนี้แทนได้ไหม หรือเราสั่งจากร้านนี้ให้ สักพักหนึ่งจากลูกค้าจะกลายเป็นเพื่อนที่แวะมาคุยกับเรา จากเพื่อนกลายเป็นคนที่สนใจกิจกรรมแล้วมาเข้าร่วมกับเรา มันเป็นคอนเนคชั่น ไม่ได้มีแค่คอนเซ็ปท์ที่เราอยากนำเสนอว่าเป็นร้านหนังสือการเมืองหรือเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่เป็นพื้นที่ที่เราได้มาเจอคนที่มีความสนใจใกล้เคียงกัน แล้วเขาก็ลากเพื่อนคนนู้นคนนี้มาหาเรา
การมีอยู่ของร้านหนังสืออิสระจำเป็นไหม
ออยล์: สำหรับเรามันจำเป็นอยู่แล้ว เพราะร้านหนังสืออิสระมันไม่ได้มีไว้เพื่อขายหนังสืออย่างเดียว แต่ละที่มันมีคาแรคเตอร์ ตัวตนและประเภทของตัวเอง ซึ่งมันเปิดให้กับคนที่แสวงหาสิ่งเฉพาะบางอย่างที่เขาที่หาที่อื่นไม่ได้ คนชอบหนังสือปรัชญาหรือวิชาการจ๋าอาจจะมาที่นี่ คนชอบอ่านวรรณกรรมอาจจะไปที่ร้านเล่า (ในเชียงใหม่) แล้วร้านหนังสืออิสระมันเป็นพื้นที่ที่มีชีวิตชีวาไม่ว่าจะเป็นที่นี่หรือที่ไหนก็ตาม หรือแม้กระทั่งร้านหนังสือแบบ chain store เราว่าร้านหนังสือน่ะ ยิ่งมีมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเพราะมันคือการเพิ่มทางเลือกให้ใครก็ตามที่กำลังหา comfort zone ในการอ่านอยู่ แล้วเราก็ดีใจมากที่ Book Re:public มันตอบโจทย์กลุ่มคนหนึ่งได้แบบนั้นเหมือนกัน
นักอ่านที่เข้ามาร้านเราเพิ่มขึ้นไหม
ออยล์: เพิ่มขึ้นนะ ในช่วงที่เขาบอกว่าร้านหนังสือกำลังจะตายน่ะ เรารู้สึกว่าการอ่านหนังสือมันกลับมาเป็นเทรนด์ที่ดีถึงขั้นที่ว่า บางคนมองว่าการมีวรรณกรรมติดตัวสักเล่มคือความเท่ เป็นการ branding อย่างหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะมีด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตามที่พาเรามาเจอหนังสือแล้วเราได้ทดลองอ่านมัน มันจะเปิดประตูให้กับการอ่านถัดๆ ไปของเรา เพราะฉะนั้นเรามีทั้งนักอ่านที่รู้ว่าตัวเองจะเข้ามาอ่านหรือไม่อ่านอะไร หรือคนที่พลัดหลงเข้ามาและอยากลองหาหนังสือกลับไปอ่านสักเล่ม เพียงแต่ว่าเมื่อเขาได้เข้ามาที่ร้านหนังสือแล้ว เลือกแล้ว เขาได้รับประสบการณ์ที่ดีจากหนังสือเล่มนั้นไหม
เลยกลับไปตอบโจทย์เรื่องความจำเป็นของร้านหนังสืออิสระเพราะมันคือการช่วยสร้างความประทับใจแรกในการอ่านหนังสือของเขา เพราะไม่ว่าคุณจะอ่านอะไรก็ตาม คุณอ่านมันได้อย่างสบายใจหรือเปล่า แล้วถ้าคุณยังไม่แน่ใจว่าคุณจะอ่านมันดีไหม มันควรจะมีใครสักคนบอกคุณว่าคุณอ่านมันได้
ในฐานะคนสร้างสรรค์เวิร์คช็อปและพนักงานร้านหนังสือ ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงต้องสนใจการเมือง
บัว:
แค่เราตั้งตนว่าจะไม่สนใจการเมืองมันก็คือการเมืองแล้ว มันมีปัจจัยไหนล่ะที่ทำให้คุณรู้สึกว่าขอวางเรื่องนี้ไป ถ้าคุณไม่สนใจการเมืองคุณสนใจอะไร เพลงแร็พ ลูกทุ่ง ลูกกรุง ก็เป็นการเมืองนะ การที่จู่ๆ วันหนึ่งคุณอยากจะลุกขึ้นมากินคลีน เฮ้ย ลองเช็คตัวเองดีๆ มันอาจจะเป็นการเมืองก็ได้นะเว้ย
แต่ถ้าคุณมีคำถามอะไรสักอย่างขึ้นมาคุณก็ต้องอยากจะรู้ สิ่งนั้นมันคือการเมืองด้วยหรือเปล่า การที่คุณพยายามจะตั้งคำถามที่จะทำให้คุณหลุดออกจากกรอบบางอย่างที่บอกให้คุณไม่ต้องตั้งคำถามก็ได้ สิ่งนี้อาจจะทำให้กลุ่มวัยรุ่นสนใจการเมืองที่ยังไม่ได้อยู่ในแฮชแท็กของคำว่าการเมือง ถึงจุดหนึ่งเขาจะพยายามที่จะหาคำตอบหรือตั้งคำถามกับกรอบที่ล้อมเขาอยู่ แล้วเดินไปในกรอบต่อๆ ไป นี่ก็คือการที่คุณค่อยๆ ทำความเข้าใจการเมืองแล้ว
ออยล์: คุณไม่ต้องสนใจมันก็ได้ ไม่ชอบมันก็ได้ แต่อย่างน้อยต้องรู้ว่าคุณไม่มีทางที่จะหนีมัน เราไม่ได้พยายามจะโยนมันไปกระแทกหัวคุณนะ เพียงแต่ว่ามันอยู่รอบตัวคุณตั้งแต่แรก สิ่งที่เราพยายามทำเสมอมาคือการยืนยันว่ามันมีอยู่ และแม้มันจะนำมาซึ่งความขัดแย้ง จุดยืนของ Book Reฯ คือการบอกว่าเรื่องที่มันดูน่าวุ่นวายเนี่ยเป็นเรื่องที่พูดได้ และเป็นเรื่องของพวกคุณด้วย ดังนั้นคุณจะรับรู้มันแล้วไม่สนใจมันก็ได้ คุณอาจจะรู้สึกว่ามัน bullshit แต่ก่อนที่จะไปถึงการตัดสินใจสุดท้ายนั้น เราอยากให้คุณรับรู้และลองสัมผัสประสบการณ์บางอย่าง คิดกับมันอย่างลึกซึ้งก่อนว่าคุณจะปัดมันออกไปจากชีวิตได้สำเร็จจริงๆ ไหม สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือการไม่ยุ่งกับมันจริงๆ เหรอ
ในฐานะมนุษย์เอง ตั้งแต่ที่เราคลุกคลีกับเรื่องราวหนักหน่วงนี้มา มันหล่อหลอมเราไปในทิศทางที่เราชอบตัวเองไหมหรือเราเหนื่อยกับมันแล้ว
บัว: มีทั้งเหนื่อยและชอบนะ เอาตรงๆ ชอบเพราะมันเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันที่เราต้องสนใจอยู่แล้ว เราเป็นเด็กเรียนศิลปะที่ดำรงอยู่กับคำถามที่ว่าทำไมเราไม่อยากเป็นนักศึกษาหรือเด็กดีในกรอบมหาวิทยาลัย พอเริ่มเจอคนที่มีทัศนคติเหมือนเราก็เริ่มกลายเป็นความชอบ แต่ก็กลายเป็นความเหนื่อยเหมือนกันเพราะเราต้องไปหาข้อมูลเพิ่มหรือทำตัวอยากรู้อยากเห็นเรื่องราวตลอดเวลา ขาอีกก้าวหนึ่งเราเป็นคนที่ออกแบบเวิร์คช็อปด้วย มันเลยเกิดการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ซึ่งมีประเด็นสนใจมากมายมาแลกเปลี่ยนกัน
ออยล์: ชอบอยู่แล้ว ชอบเสมอมาและเสมอไป แต่เรารู้สึกกลัวจากการได้ทำงานหรือเจอคน เรารู้ว่าอะไรที่เราไม่รู้มันเยอะมากมาย หรือคนเก่งๆ มีมากมายแค่ไหน มีเรื่องที่เราต้องฝึกฝนเรียนรู้อีกมาก ทุกวันนี้ก็ทำไปด้วยความกลัววืด แต่ในขณะเดียวกันก็สนุกไปด้วย เราว่าการทำงานแบบนี้มันทำลายอีโก้เราได้เก่งมาก เราเคยคิดว่าถ้าเราตั้งใจเต็มที่ มันจะไม่มีทางผิดพลาด แต่เราเกือบจะลืมไปว่าการสื่อสารมันไม่มีวันสมบูรณ์อยู่แล้ว แถมยังนำมาซึ่งปัญหามากมายตลอดเวลา โดยเฉพาะการสื่อสารทางการเมืองระหว่างกลุ่ม แต่เราก็ชอบความกลัวนะ เพราะมันทำให้เรารู้สึกว่าต้องแสวงหาทางใหม่ๆ ต่อไปในการทำมันให้ดีขึ้น
คุณค่าของการเป็นพนักงานร้านหนังสือและลงมือออกแบบกระบวนการทั้งหมดนี้คืออะไร
บัว: พอเราอยู่ในนามสกุล Book Re:public มันมีคุณค่าของมันอยู่แล้วในแบบที่ที่ทำงานที่อื่นไม่สามารถให้ได้ ประสบการณ์ที่เราต้องสื่อสารกับคนหมู่มาก พยายามสร้างกิจกรรมหรือสร้างสิ่งที่จะทำให้คนที่มีความสนใจคล้ายๆ กับเรามาเจอกัน การที่เราได้เจอคนเหล่านี้คือคุณค่าที่เราให้กับมัน เป็นแรงผลักดันให้เราทำงานต่อไป อยากเจอคนใหม่ๆ อยากตั้งคำถามหรือเจอคนที่มีแรงฮึดแบบนี้เหมือนกัน คุณค่าของการทำงานเลยเป็นสิ่งใหม่ๆ ที่เราอยากเจอ อยากจะเห็นสิ่งที่เราสร้างมีคนมาร่วมสร้างด้วยกันเพิ่ม
ออยล์: มันทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น ซึ่งเราไม่รู้นะว่ามันคือคุณค่าแบบไหน แต่เราเชื่อว่าอย่างน้อย ในฐานะคนเตรียมการ จัดกระบวนการหรือคลุกคลีอยู่กับมัน เราได้เรียนรู้ตัวเองจากการทำงานตลอดเวลาว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไร มีทัศนคติยังไง หรือเราจะจัดการกับโลกใบนี้ยังไง เราคิดว่าอย่างน้อยที่สุดถ้ามันจะมีคุณค่าอะไรสักอย่างในงานที่เราทำ มันคือการที่ใครสักคนได้เจอหนึ่งในคำตอบทั้งหลายสักหนึ่งข้อก็ยังดี