- พี-ปาล์ม-พีช สามหนุ่มสาวเจ้าของผลงาน Time for Tales ที่ช่วยเปิดโลกการเรียนรู้ของน้องๆ ผู้พิการทางสายตาผ่านนิทานที่บอกเล่าผ่านเสียงและสัมผัส
- Time for Tales ถือเป็นภาพความสำเร็จของทั้งสามในการเปิดโลกการเรียนรู้ให้แก่น้องๆ ผู้พิการทางสายตา แต่ขณะเดียวกัน จากกระบวนการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ ก็ช่วยเปิดโลกใบใหม่ให้ทั้งสามคนได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นเช่นเดียวกัน
- พี-ปาล์ม-พีช คือตัวอย่างคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะใช้พลังด้านบวกของตัวเอง สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้แก่ผู้อื่นเพื่อสังคมที่ดีขึ้น
ภาพ: โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่
ขึ้นชื่อว่าการทำเพื่อผู้อื่น ย่อมสวยงามเสมอ ยิ่งผู้อื่นคือผู้ด้อยโอกาสหรือผู้พิการ คุณค่าของความสวยงามนั้นย่อมทวีคูณ
เรากำลังพูดถึง ‘พี’ ภาดา โพธิ์สอาด, ‘ปาล์ม’ วสุพล แหวกวารี และ ‘พีช’ พัชฌาพร วิมลสาระวงศ์ นิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3 หนุ่มสาวที่ร่วมกันเปิดโลกการเรียนรู้ของน้องๆ ผู้พิการทางสายตาผ่านนิทานที่บอกเล่าผ่านเสียงและสัมผัส ที่ชื่อว่า Time for Tales
ที่จุดเริ่มต้น…ความฝันไม่ใช่ความจริง
หากสิ่งที่นักพัฒนาที่ดีจำเป็นต้องมี คือ การทำเพื่อผู้อื่น ‘พี’ นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ก็ถือได้ว่ามีคุณสมบัติของการเป็นนักพัฒนาตั้งแต่ต้นทาง จากการที่เธอได้ทดลองเป็นคนตาบอดในนิทรรศการ Dialogue in The Dark จนเกิดความอยากที่จะทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา บวกกับความชอบของเล่นเป็นทุนเดิม จนออกมาเป็น Time for Tales ในรูปของ Senior Project ขึ้น
“เราสนใจด้านของเล่นอยู่แล้ว คิดว่ามันน่าจะสนุก เลยอยากทำของเล่นเพื่อคนพิการ ด้วยความที่เรียนด้านคอมพิวเตอร์ เลยอยากทำของเล่นที่เป็น High Technology สำหรับเด็กพิการ ตอนแรกที่คิดไว้มันอลังการมากเลย (หัวเราะ) อยากทำตุ๊กตาที่พูดได้ โต้ตอบได้ ใช้ speed recognition เป็นบอร์ดเกมใหญ่ๆ ที่เด็กจับต้องได้และมีเสียงตอบกลับมา” พีเล่าถึงต้นทางความฝัน ที่ไม่ต้องรอเวลาเนิ่นนาน เพราะเธอลงมือทำความฝันนั้นให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นภายในเวลา 6 เดือน โดย Time for Tales เวอร์ชั่นแรกเป็นบอร์ดเกมบล็อคกระดาษรูปทรงสี่เหลี่ยมที่สามารถโต้ตอบกับผู้เล่นได้ โดยมีทั้งส่วนที่เป็นฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ (แอพพลิเคชั่นแอนดรอยด์)
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีฐานคิดของความเป็นนักพัฒนา แต่ผลงานร่างแรกก็ได้สอนให้พีรู้ว่า ความฝันมันไม่ใช่ความจริงเสมอไป โดยเฉพาะการพัฒนาผลงานขึ้นโดยปราศจากการศึกษาหรือเก็บข้อมูลจากผู้ใช้จริง
“ตอนทำเป็น Senior Project แทบไม่ได้ไปศึกษา user เลยค่ะ ทำตามใจที่อยากได้ เริ่มทำตอนเดือนสิงหาคม 2559 เสร็จเดือนมกราคม 2560 อาจารย์ก็พาไปทดลองใช้จริงกับน้องๆ ที่โรงเรียนธรรมิกวิทยา ซึ่งน้องๆ ส่วนใหญ่ไม่มีสมาร์ทโฟน จึงต้องลดสโคปผลงานลงเหลือเพียงฮาร์ดแวร์” พีเล่า โดยที่ในตอนนั้นเธอยังไม่รู้หรอกว่า นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของมหกรรมการแก้งานเท่านั้น
ขับตามผู้เชี่ยว เลี้ยวตามผู้ใช้
ด้วยความต้องการให้ผลงานของตัวเองพัฒนาไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริง พีจึงผลักดัน Time for Tales เข้าประกวดในการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 19 (NSC 2017) โดยผลงานสามารถผ่านเข้าไปถึงรอบสุดท้าย ก่อนต่อยอดด้วยการเข้าร่วมโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปี 5 ซึ่งทำให้พีต้องชวนเพื่อนร่วมคณะอย่างปาล์ม และพีชจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เข้ามาร่วมทีม
“ตอนเข้าต่อกล้าฯ มีแค่พีกับปาล์ม 2 คน ปาล์มดูเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนพีดูภาพรวม story การอัดเสียง จากนั้นก็ชวนพีชมาช่วยเรื่องออกแบบรูปลักษณ์ภายนอก ที่ต้องชวนมาเพราะตอน NSC มีปัญหาเยอะมาก (หัวเราะ) หลายคนบอกว่างานมีศักยภาพที่จะไปต่อได้ แต่มีหลายเรื่องที่ต้องทำ ทั้งการออกแบบ เสียง story วงจร มันเยอะจนคิดว่าเราทำคนเดียวไม่ไหวแล้ว ไม่งั้นมันจะไม่ดีสักอย่าง” พีเล่าอย่างอารมณ์ดี
แต่เชื่อได้เลยว่า ณ ตอนที่ต้องปรับแก้ผลงานนั้น อารมณ์ของทั้งสามไม่ได้ดีเหมือนตอนนี้แน่
“เวอร์ชั่นแรกถูกคอมเมนท์เยอะมากค่ะ เพราะไม่ตอบโจทย์คนพิการ ต้องปรับปรุงหลายอย่าง ทั้งเซนเซอร์ที่ยังไม่ดี ทีมโค้ชแนะนำให้เปลี่ยนเป็น RFID (เทคโนโลยีหนึ่งที่ใช้ในการระบุสิ่งต่างๆ โดยอาศัยคลื่นวิทยุ) แทน ทั้งรูปร่างที่เป็นบล็อคสี่เหลี่ยมลูกบาศก์มันเล่นยากสำหรับน้อง จึงเปลี่ยนเป็นทรงกระบอก คือคิดใหม่ re-designed ใหม่หมดเลย” พีเล่า
และเพื่อให้สเต็ปการพัฒนาผลงานของทีมเป็นไปอย่างเข้ารูปเข้ารอยที่สุด ทีมโค้ชจึงแนะนำให้ทั้งสามรู้จักกับ พี่กี้ BLIX POP (ณัชชา โรจน์วิโรจน์ ประธานกรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง บริษัท บลิกซ์ พ็อพ จำกัด) ผู้ประกอบการธุรกิจของเล่นสำหรับเด็กพิการทางสายตา ซึ่งคำแนะนำของพี่กี้ก็ได้ช่วยสร้างแนวทางการพัฒนาผลงานของทีมให้ชัดเจนขึ้น
“พี่กี้เป็นเหมือน mentor ที่คอยดูแล งานก็เลยพัฒนามาเป็นอีกรูปแบบหนึ่งเลย ที่สำคัญคือพี่เขาสอนเรื่องการนำผลงานไปทดสอบกับน้องๆ คนตาบอดว่าควรทำอย่างไร ควรทำ mock up แบบไหน สัมภาษณ์เด็กและคุณครูอย่างไร วิธีการสังเกตพฤติกรรมการเล่นของน้องทั้งหมด เวลาน้องเล่นให้ดูกระทั่งองศาของมือว่าเขาเล่นไม่สะดวกหรือเปล่า” พีชเล่า
ปรับแก้จนแล้วเสร็จ ก็ได้ฤกษ์นำผลงานเวอร์ชั่น 2 ไปทดลองใช้จริงกับน้องๆ โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ เพื่อจะพบกับโจทย์ใหม่ให้ปรับปรุงผลงานอีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องการปรับขนาดและรูปทรงของผลงานให้ไม่เป็นอันตรายต่อน้องๆ ซึ่งก็ทำให้ทีมต้องรื้อสร้างผลงานใหม่ (อีกครั้ง) โดยพัฒนาเวอร์ชั่น 3 ให้เป็นแบบเลโก้ ด้วยเหตุผลด้านความแข็งแรง แต่เพราะติดปัญหาเรื่องงบประมาณ ทำให้ทีมตัดสินใจพัฒนาเวอร์ชั่น 4 ขึ้น โดยใช้ไม้เป็นวัสดุ ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นปัจจุบัน
“เราไปเดินดูของเล่นที่มีอยู่ในตลาดว่าเขามีอะไรบ้าง นอกจากพลาสติกก็มีไม้ ซึ่งเข้ากับแนวคิดที่อยากให้ผลงานของเรามีความเป็นมิตรมากที่สุด ดูจริงมากที่สุด คิดว่าถ้าน้องได้สัมผัสของเล่นที่เป็นไม้น่าจะให้ความรู้สึกที่ดีขึ้น จึงเปลี่ยนเป็นไม้หมดเลย และสัดส่วนก็จะสอดคล้องกับความจริงมากขึ้น” พีเล่า
อุปสรรคยิ่งหลายขั้น ความสำเร็จยิ่งสูงค่า
ธรรมชาติของคนเรา ลำพังแค่อุปสรรคด่านเดียวก็อาจเพียงพอแล้วที่จะทำให้ใครหลายคนพับความฝันเก็บใส่กระเป๋ากลับบ้าน แต่สำหรับ พี-ปาล์ม-พีช ที่ต้องการแก้งานถึง 3 รอบ ซึ่งแต่ละรอบไม่ใช่แก้นิดๆ หน่อยๆ แต่ถึงขั้นรื้อทำใหม่ คำว่าหนักหนายังน้อยไป
“ช่วงพัฒนาเวอร์ชั่น 2 กับ 3 ถือว่ายากที่สุดแล้วค่ะ ช่วงนั้นคุยกับพี่กี้แล้วรู้สึกท้อเพราะต้องรื้อทำใหม่ ตอนนั้นน้องพีชเพิ่งเข้ามาร่วมทีมก็เชียร์ให้ทำใหม่ แต่พีไม่อยากทิ้ง ถ้าทำใหม่มันต้องไปเริ่มใหม่หมด ต้องคิดใหม่หมด ช่วงนั้นเครียดมาก แล้วกว่าจะได้แบบใหม่มาก็ต้องปรับกันเยอะมาก เหนื่อยทั้งเดือน เป็นช่วงปิดเทอมที่ทุกคนเหนื่อยมาก” พีเล่าถึงการเผชิญหน้ากับความยากลำบากในการพัฒนาผลงาน ที่นอกจากจะต้องเครียดกับเนื้องานแล้ว การทำงานเป็นทีมก็เป็นปัญหามาก
“แรกๆ มีอุปสรรคเยอะมากค่ะ เพราะวิธีคิดของเด็กวิศวะกับเด็กสถาปัตย์มันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว พีกับปาล์มเป็นวิศวะคอมพิวเตอร์จะมองเรื่องการใช้งาน ไม่ต้องสวยมากหรอก (หัวเราะ) ส่วนพีชเป็นเด็กสถาปัตย์ก็จะมองเรื่องความสวยงามเป็นหลัก แรกๆ เถียงกันเยอะมาก เพราะพีชอยากทำให้มันสวย ส่วนที่เหลือหนูแค่ขอให้ใช้งานได้ ก็เหนื่อยมากกว่าจะจูนกันได้ (หัวเราะ)” พีเล่าอย่างอารมณ์ดี
แต่สุดท้าย ทีมก็ใช้วิธีการแลกเปลี่ยนอย่างตรงไปตรงมา บนฐานของการประนีประนอม และเดินหน้าต่อไปด้วยการวางใจในความรับผิดชอบของแต่ละคน กระนั้น แม้จะรวมทีมกันลงตัวขึ้น แต่ภาระงานที่หนักหนา บวกกับความคาดหวังจากครอบครัว ก็ยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่คอยบั่นทอนพลังกายพลังใจของทุกคน
“มีช่วงหนึ่งที่อยากจะเลิกทำเหมือนกัน เพราะพีรู้สึกเหนื่อย และตอนนั้นก็เรียนจบแล้ว ที่บ้านก็อยากให้ทำงานประจำสักที ทำไมไม่เริ่มทำงาน ทำแต่อันนี้อยู่ได้ แล้วตอนนั้นผลงานเรายังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันที่จะไปบอกเขาได้ เลยนั่งคิดว่าควรจะไปต่อไหม สุดท้ายคิดว่าต่อให้เราไปทำงานประจำ ชีวิตมันก็แค่ผ่านไปวันๆ การทำตรงนี้มันเป็นโอกาส เรามีโอกาสที่จะได้ไปแข่งที่ญี่ปุ่น (i-CREATe) มันได้ประสบการณ์ ได้เจอคนหลากหลาย พีมาทำงานนี้ได้เจอทั้งนักธุรกิจ ดีไซเนอร์ ซึ่งมันไม่ได้มีโอกาสที่จะได้เจอคนแบบนี้ในชีวิตปกติ เลยคิดว่าทำให้มันสุดๆ เหนื่อยก็ทำไป สุดท้ายน่าจะได้อะไรกลับมาบ้าง เรื่องเงินช่างมันก่อน” พียิ้ม
และมากกว่านั้นคือ สัญญาใจของทีมที่ให้ไว้กับผู้ใช้ กลายเป็นแรงดลใจที่ทำให้พวกเขาเลือกสู้ไม่ถอย!
“เราปรับแก้งานตั้งแต่เวอร์ชั่น 1-4 ภายในเวลาแค่ 6-7 เดือน ซึ่งมันน้อยมาก แต่ที่ทำได้เป็นเพราะเราไปสัญญากับน้องๆ ไว้ว่าเราจะทำให้เสร็จ เพราะเราเห็นน้องๆ เล่นแล้วเขามีความสุข เราจึงอยากจะทำให้มันได้ เราอยากจะส่งมอบให้พวกเขาได้เล่นของเล่นชิ้นนี้จริงๆ” พีเผยถึงแรงบันดาลใจ
การเติบโตไปสู่โลกใหม่
ถึงวันนี้ที่ผลงาน Time for Tales ของพี-ปาล์ม-พีช ได้เดินทางออกจากความเป็น Senior Project ไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกใช้งานจริงของน้องๆ 5 โรงเรียนในกรุงเทพฯ ในรูปแบบของการบริจาค ให้น้องๆ ได้ยิ้มและสนุกไปกับเสียงและสัมผัสของโลกนิทาน และปัจจุบัน ทีมก็กำลังทำโครงการระดมทุนในรูปแบบ cloud funding ผ่านเทใจดอทคอม เพื่อขยายผลรอยยิ้มไปสู่น้องๆ คนตาบอดทั่วประเทศต่อไป
“มันเหมือนเป็นความสำเร็จหนึ่งที่เราได้มาถึงจุดที่ไม่คิดว่าจะทำได้ ทำให้คิดว่าตอนนี้เราทำได้ถึงขนาดนี้แล้ว ในอนาคตถ้าจะทำอะไรที่มากกว่านี้ เราก็มั่นใจในตัวเองมากขึ้นว่าเราน่าจะทำได้” ปาล์มกล่าว
ถือเป็นภาพความสำเร็จของทั้งสามในการเปิดโลกการเรียนรู้ให้แก่น้องๆ ผู้พิการทางสายตา แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยกระบวนการทำงานตลอดระยะเวลาของค่าย ก็เปรียบได้กับกลไกที่ช่วยเปิดโลกใบใหม่ให้ทั้งสามได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นเช่นเดียวกัน
“เราไม่เคยทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันแบบนี้มาก่อนเลยค่ะ (หัวเราะ) ได้เรียนรู้เยอะมาก ทั้ง process การทำของชิ้นหนึ่งว่า design thinking process เป็นอย่างไร ได้เรียนรู้ business model ว่าต้องทำอย่างไร ได้เจอพี่ๆ นักวิจัย นักธุรกิจ ได้ตระหนักว่าการมีคอนเนคชั่นสำคัญมาก มันทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น อย่างล่าสุด มูลนิธิสยามกัมมาจลให้ไปคุยกับบริษัท รักลูก เรื่องการระดมทุน หรือการเข้าไปคุยกับ Plan Toys เรื่องการประกวด มันทำให้เราเข้าถึงทรัพยากรได้เร็วขึ้นมากๆ และการได้ไปเจอคนหลากหลาย ก็ทำให้เราได้แนวคิด ได้วิธีการคิดใหม่ๆ เยอะมาก” พีกล่าว ก่อนยกตัวอย่างวิธีการคิดที่ได้รับมา ซึ่งช่วยยกระดับตัวตนของทั้งสามให้เติบโตขึ้นเป็นนักพัฒนาเต็มตัว
“รู้สึกเป็นผู้ใหญ่ขึ้นเยอะมากค่ะ ก่อนหน้านี้พีค่อนข้างใจร้อน อยากทำอะไรให้มันเสร็จๆ ไป แต่พอมาทำงานนี้เราต้องค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ ทำงาน อีกอย่างจากเมื่อก่อนคิดว่าคนเราจะประสบความสำเร็จได้ต้องเก่งมากๆ ก่อน ต้องมีประสบการณ์หลายปี แต่พอทำงานนี้จึงได้รู้ว่า มีหลายครั้งที่ธุรกิจเกิดขึ้นจากความไม่พร้อม แต่เจ้าของเขาพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่เริ่มก็ไม่มีทางที่จะได้ทำ เพราะฉะนั้นถ้าอยากทำอะไรต้องเริ่มเลย ถ้าไม่เริ่มก็ไม่มีทางสำเร็จ” พีกล่าว
เพราะถึงที่สุดแล้ว การรอคอยที่จะเรียนรู้จากผู้อื่น แม้จะช่วยให้เราพัฒนาตนเองขึ้นได้จริง แต่ก็คงไม่เร็วและตรงประเด็นเท่าการที่เราริเริ่มเรียนรู้ด้วยตัวเอง
“อย่างที่บอกว่าพวกเราไม่ใช่หัวธุรกิจอยู่แล้ว มีหลายครั้งที่เราทำอะไรพลาดไปเราก็ไม่รู้ ก็ต้องไปอ่านหนังสือ เรียนคอร์สออนไลน์เกี่ยวกับธุรกิจมากขึ้น ปรึกษาเพื่อนที่เรียนด้านการตลาด การทำ cloud funding หรืออย่างการนำเสนอก็จะศึกษาจาก TED TALK แล้วฝึกเอง การเรียนรู้พวกนี้มันช่วยเราได้เยอะมากค่ะ” พีกล่าวด้วยรอยยิ้ม
ก้าวสู่การเป็นนักพัฒนา
กล่าวได้ว่า ด้วยการบ่มเพาะของโครงการต่อกล้าฯ บวกกับประสบการณ์จากการพัฒนาผลงาน และการศึกษาเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง ทำให้พี-ปาล์ม-พีช เติบโตขึ้นในมิติของการเป็นนักพัฒนาที่พร้อมจะสร้างสรรค์ผลงานที่จะช่วยเหลือ แก้ปัญหา หรือยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อื่นให้ดีขึ้นกว่าเดิม
“การได้เข้าโครงการต่อกล้าฯ ถือว่าเราได้เกินกว่าที่หวังไว้มากเลยค่ะ ตอนแรกเราแค่อยากจะพัฒนาตัวเอง ผลงานก็อาจจะพัฒนาขึ้นมาบ้าง แต่ไม่ได้มองว่าจะไปถึงจุดไหน (หัวเราะ) แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า เราอยากทำผลงานนี้เพื่อช่วยคนอื่น ถ้าเราได้ช่วยคนอื่นด้วยก็ดีสิ ซึ่งมันก็เป็นหนทางหนึ่งที่เราสามารถทำได้เรื่อยๆ ต่อไปในอนาคตได้ด้วย” พีกล่าวอย่างอารมณ์ดี
“ประเทศไทยมีปัญหาเยอะมาก (ลากเสียง) แต่เราไม่อยากเหมือนคนทั่วไปที่บอกว่านี่เป็นปัญหา แต่ไม่ทำอะไร ถ้าเราเป็นคนหนึ่งที่ทำแล้วคนอื่นมาเห็น อย่างคนอื่นมาเห็นของเล่นของเราแล้วเขามีแรงบันดาลใจที่อยากทำอะไรเพื่อคนอื่นด้วย มันจะเป็นพลังบวกที่ส่งต่อไป คนอื่นก็จะได้ทำสิ่งดีๆ ให้ประเทศเรามากขึ้นไปอีก ประเทศเราก็จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ” พีกล่าวทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจ
นี่คือตัวอย่างคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะใช้พลังด้านบวกของตน สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้แก่ผู้อื่นในสังคม เพื่อสังคมที่ดีขึ้น เพื่อโลกที่สวยงามขึ้นเหมือนดังผลงานโลกนิทานของทั้งสาม
เป็นโลกใบสวยที่เราจะได้มองเห็นและชื่นชมไปด้วยกัน