- ความขัดแย้งของพ่อแม่กับลูกๆ เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นในครอบครัว มีตั้งแต่เรื่องโต้แย้งหยุมหยิมอย่างลูกอยากเล่นเกมหามรุ่งหามค่ำ จนไปถึงความขัดแย้งผิดใจบานปลายใหญ่โตจนใช้อารมณ์ใส่กัน หากเพิกเฉยไม่แก้ไขให้ทันการ อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของคนในบ้านและความสัมพันธ์ระยะยาวได้
- หนังสือ Parenting from the Inside Out จะมาช่วยไขข้อกังวลใจ โดยพูดถึงรูปแบบความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่กับลูกที่มักพบบ่อย พร้อมกับวิธีรับมือและเปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นความเข้าใจ
- ขณะที่ทะเลาะกัน ถ้าพ่อแม่ระเบิดอารมณ์ ตะคอก ใช้วาจาหรือกำลังด้วยความรุนแรงหยาบคาย การทะเลาะนั้นอาจกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงได้ ลูกจะหวาดกลัวและรู้สึกไม่มีคุณค่าในตัวเอง จนถึงขนาดรู้สึกขาดที่พึ่ง
เชื่อว่าความขัดแย้งของพ่อแม่กับลูกๆ การทะเลาะผิดใจกัน คงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นในครอบครัว โดยเฉพาะพ่อแม่ซึ่งมีความเป็นห่วง คาดหวัง ประกอบกับพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะในขณะที่ลูกเป็นเด็ก บางครั้งเรียกร้องความรักความเอาใจใส่ แต่บางคราวอยากมีอิสระ
เรื่องโต้แย้งหยุมหยิมอย่างลูกอยากเล่นเกมหามรุ่งหามค่ำ แล้วเราห้ามเพราะห่วงสุขภาพเขายังพอทำเนา แต่หากความขัดแย้งผิดใจบานปลายใหญ่โตจนใช้อารมณ์ใส่กัน แล้วเพิกเฉยไม่แก้ไขให้ทันการ อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของคนในบ้านและความสัมพันธ์ระยะยาวได้
ในหนังสือ Parenting from the Inside Out ตำราเลี้ยงลูกจากภายในถึงภายนอกโดยจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านแม่และเด็ก ดร.แดเนียล เจ. ซีเกล และอาจารย์แม่รี ฮาร์ทเซลกูรูด้านพฤติกรรมและการเลี้ยงเด็ก กล่าวถึงรูปแบบความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่กับลูกที่พบได้เสมอๆ ได้แก่
- ความขัดแย้งเรื่องพื้นที่ส่วนตัว
- การสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน
- ความขัดแย้งเมื่อลูกถูกวางกฎระเบียบ
- ความขัดแย้งขั้นรุนแรง
ซึ่งนอกจากทั้งสองได้ให้คำแนะนำในการรับมือความขัดแย้งแล้ว ยังได้อธิบายถึงการทำงานของสมองและจิตใจไว้อย่างน่าสนใจ พร้อมนำเทคนิคที่นำไปปรับใช้เพื่อคลี่คลายปัญหากระทบกระทั่งในชีวิตประจำวันกับลูกรักได้เลย
ความขัดแย้งหยุมหยิมเรื่องพื้นที่ส่วนตัวและสื่อสารไม่เข้าใจกัน
ในการอยู่ร่วมกัน ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกอาจเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายได้ตลอดเวลา เพราะไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็กต่างก็ต้องการคิดอ่านทำอะไรลำพังในพื้นที่ส่วนตัว พ่อแม่ต้องละเอียดอ่อนพอตัวในการอ่านความต้องการเล็กๆ น้อยๆ นี้ของลูกให้ออกว่าเมื่อไหร่เขาต้องการให้สนใจเต็มที่ และเมื่อไหร่ที่เขาไม่อยากให้พ่อแม่เข้าไปวุ่นวาย สำหรับโลกใบเล็กของเด็กทารก เขาจะยังไม่รู้จักพื้นที่ตรงนี้และโลกทั้งใบของเขา คือ พ่อแม่เท่านั้น พ่อแม่ต้องระวังและไม่ควรมีพื้นที่ส่วนตัวแยกออกจากเขา โดยเฉพาะวัยนี้ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่ควรสอนให้รอ เคารพหรืออดทน แต่ถ้าลูกโตพอ สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำนอกจากเคารพพื้นที่ส่วนตัวของเขาแล้ว ต้องสอนให้เขารู้จักเคารพพื้นที่ของคนอื่นควบคู่ไปด้วยเช่นกัน แต่สำหรับลูกวัยรุ่น ทำใจไว้แต่เนิ่นๆ เสียก่อนว่าเขาจะหวงแหนพื้นที่ส่วนตัวของเขาเอาไว้ให้เฉพาะเพื่อนเท่านั้น
พื้นที่ส่วนตัวที่เรากำลังพูดถึง คือ ภาวะจำเป็นชั่วคราวที่ต่างคนต่างจำเป็นต้องขอเวลานอก เพื่อสะสางปัญหาหรือขบคิดเพียงลำพัง สำหรับพ่อแม่ การเอ่ยปากบอกลูกตรงๆ ว่าขอเวลาเป็นส่วนตัวสักครู่เป็นเรื่องควรทำมากกว่าการหลบมุมหนีไปเฉยๆ ไม่บอกกล่าว ปล่อยให้เขาตีความที่แม่หน้าบึ้งเมินเฉยและปลีกตัวจากเขาเพราะเขาทำอะไรผิดรึเปล่า การทำแบบนี้จะยิ่งทำให้ลูกเรียกร้องต้องการมากขึ้น ทางที่ดีควรบอกไปตามตรงว่า ‘แม่ขอเวลาไปคิดแกปัญหาสำคัญสักสิบห้านาทีคนเดียวในห้องทำงาน เสร็จแล้วเดี๋ยวกลับมาอ่านนิทานเรื่องที่หนูชอบให้ฟังนะ’
เรื่องหยุมหยิมที่มักเกิดอีกอย่าง คือ การเข้าใจผิดระหว่างกัน หรือเวลาพ่อแม่ ‘ไม่เก็ท’ ความต้องการที่ลูกสื่อออกมาเพราะกำลังคิดเรื่องงาน หรือตีความที่ลูกบอกไปอีกอย่าง
เด็กมีความคาดหวังให้พ่อแม่เข้าใจและตอบสนองเขาได้ทุกเรื่องเสมอ บางทีการนิ่งเงียบอาจหมายถึงตั้งใจปั้นปึ่งเพราะกำลังน้อยใจ หรือบางทีพ่อแม่ห้ามด้วยความเป็นห่วง แต่เขาอาจตีความว่าถูกตำหนิเพราะทำผิด
พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตอากัปกิริยาและเข้าถึงความรู้สึกที่แท้จริงของเขาว่ากำลังสุข เศร้า น้อยใจ โมโห หรือตื่นเต้น แล้วสะท้อนกลับไปให้ถูกจังหวะและสอดคล้อง เพราะถึงจะเป็นความขัดแย้งเล็กน้อยแต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ใส่ใจดูแลและปรับความเข้าใจ ก็มีสิทธิลุกลามเป็นแผลใหญ่จนยากเกินแก้ไขเช่นกัน
ประเด็นเรื่องการต้องการพื้นที่ส่วนตัวของบุคคล และการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกในครอบครัวนั้น คุณหมอซีเกลยก ทฤษฎีความซับซ้อน (Complexity Theory) มาอธิบายไว้สองประเด็น ข้อแรก ภาวะความซับซ้อนของจิตใจมนุษย์ที่ตัดสลับไปมาระหว่างความต้องการเป็นส่วนหนึ่งร่วมกับผู้อื่น กับความต้องการอิสระเป็นตัวของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ส่วนอีกประเด็นคุณหมอเปรียบเทียบครอบครัวเป็นระบบซับซ้อน (Complex System) ซึ่งมีองค์ประกอบภายในยิบย่อยมากมาย โดยแต่ละส่วนมีคุณสมบัติแตกต่างกัน สาระสำคัญของทฤษฎีนี้ที่ทับซ้อนกับการทำงานของจิตใจ และความเป็นไปในการอยู่ร่วมกันในครอบครัวอยู่ที่การเป็นส่วนหนึ่งในระบบ ซึ่งแม้ว่าแต่ละองค์ประกอบแตกต่างและอยู่อย่างตัวใครตัวมัน แต่ทุกส่วนจำเป็นต้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกันกับส่วนอื่น ในขณะเดียวกันกับที่ยังคงไว้ซึ่งอิสระในคุณสมบัติที่ตัวเองเป็น และสอดผสานจนเป็นหนึ่งเดียวกัน (Harmony) ในที่สุด (ทฤษฎีนี้ยังถูกใช้เทียบเคียงการทำงานในสมองหรือหลักการทางคณิตศาสตร์ต่างๆอีกด้วย)
ทุกระบบซับซ้อนจะมีกลไกจัดระเบียบตัวเองไว้รับมือกับความวุ่นวาย ทางด้านจิตใจจะจัดระเบียบตัวเองได้ต้องได้รับการปลูกฝังติดตั้งความยับยั้งชั่งใจ ส่วนในบ้าน เราเรียกสิ่งนั้นว่า กฎระเบียบหรือขอบเขตการปฏิบัติตัว ที่ทุกคนต้องเข้าใจตรงกัน
สมาชิกซึ่งอยู่ร่วมกันในครอบครัวต่างมีความต้องการ นิสัยใจคอ ไลฟ์สไตล์ เป้าหมายไม่เหมือนกัน (อีกทั้งบางครั้งต้องการเข้าพวกแต่บางครั้งต้องการอยู่เงียบๆคนเดียว) การเคารพซึ่งกันและกัน คือ อีกหนึ่งการจัดระเบียบสมดุลทางความสัมพันธ์ให้ปรับตัวยืดหยุ่นในการรักษาความเป็นตัวเอง และสามารถผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวไปพร้อมกัน
ความขัดแย้งเมื่อลูกถูกจำกัดขอบเขต
พ่อแม่มีหน้าที่สอนให้ลูกรู้จักขอบเขตทั้งในบ้านและสังคมนอกบ้านว่าเขาสามารถทำอะไรได้และไม่ได้บ้าง ซึ่งรวมไปถึงการที่เขาต้องถูกขัดใจ ไม่ได้ทำตามใจอยากเสมอไป เช่น กินขนมแทนข้าว ไปเดินห้างแล้วต้องได้ของเล่น เอาเท้าวางบนโต๊ะ ความขัดแย้งที่เกิดจากการสอนให้ลูกมีขอบเขตเป็นเรื่องธรมดา พ่อแม่ไม่ควรหลีกเลี่ยงละเลยส่วนนี้เพียงเพราะไม่อยากทะเลาะ เพราะมารยาทและการเคารพสิทธิของคนอื่นในสังคมต้องปลูกฝังให้เป็นนิสัยติดตัวจากที่บ้าน
การปฏิเสธอย่างสร้างสรรค์และได้ผลที่สุด คือ เลี่ยงใช้คำว่า ‘ไม่ได้’ ออกไปตรงๆ ยิ่งถ้าห้ามด้วยการพูดว่า ‘อย่า…’ ‘ห้าม…’ เขาจะตีความว่ากำลังถูกตำหนิ และต่อต้านทันที ทางที่ดีควรสังเกตว่าเขารู้สึกอย่างไรเวลาเรียกร้องต้องการแล้วสะท้อนอารมณ์นั้นกลับไปอย่างเข้าอกเข้าใจ เช่น ‘พ่อรู้ว่าหนูอยากกินขนมร้านนี้ หูย ก็มันหอมน่ากินซะขนาดนี้ ดูสิ หอมออกมาข้างนอกเลย พ่อก็อยากกิน แต่นี่ได้เวลามื้อเย็นแล้ว เราต้องกินข้าวก่อนค่อยมากินขนมกัน ตกลงไหม’ วางขอบเขตหรือข้อกำหนดให้ชัดเจนและหนักแน่น ถ้าเขางอแง ทางแก้ไม่ใช่การขู่ให้เงียบ ทำโทษ หรือโอ๋ปลอบ แต่ควรให้เวลาเขาร้องไห้เสียใจและเรียนรู้อารมณ์ตัวเองสักพักพร้อมกับพูดชี้นำให้เขายอมรับว่าเขาจะไม่ได้สิ่งที่ต้องการทุกครั้งด้วยความเข้าใจและมั่นคง และขอบเขตที่วางไว้นี้จะไม่เปลี่ยนแปลง เช่น ‘พ่อเข้าใจความรู้สึกหนูที่ไม่ได้อย่างใจนะ อยากร้องก็ร้องนะลูกจะได้สบายใจขึ้น ถ้าหายเสียใจแล้วเราค่อยไปล้างหน้าล้างตากัน’
ทำความรู้จักกับคันเร่งและเบรกในสมอง
ในการสอนเรื่องขอบเขตหรือวางกฎข้อจำกัด พ่อแม่ต้องเข้าใจกลไกและเรียนรู้ที่จะจัดการอารมณ์ของลูกให้ได้ สมองส่วนหน้า คือ ศูนย์บัญชาการของอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งนอกจากควบคุมอารมณ์โดยเชื่อมต่อกับสมองส่วนนีโอคอร์เทกซ์ที่คิดวิเคราะห์เหตุผลซับซ้อน ส่วนลิมบิกที่รับสิ่งกระตุ้นแล้วแปลงเป็นอารมณ์ความรู้สึก และก้านสมองที่ประมวลผลจากเส้นประสาททั่วตัวเป็นวงจรการตื่นนอน สัญชาตญาณ ภาวะตื่นตกใจเป็นต้นแล้ว มันยังควบคุมไปถึงอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ด้วยเช่น หัวใจ ปอด ลำไส้ ถ้าอารมณ์สมดุลก็หมายถึงสุขภาพจิตที่สมบูรณ์แข็งแรง เวลาตื่นเต้นสมองจะมีกลไกเสมือน ‘คันเร่ง’ สั่งให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ปอดหายใจหอบ ลำไส้ปั่นป่วน ออกอาการลิงโลด และเมื่อสงบลงหรือควบคุมอารมณ์ได้สมองจะค่อยๆ ‘เบรก’ ให้หัวใจกลับมาเต้นปกติ ลมหายใจสม่ำเสมอและลำไส้คลายตัว
การอนุญาตหรือตอบรับลูกว่า ‘ทำได้’ ‘เอาเลย’ ‘โอเค’ เปรียบได้กับการเหยียบคันเร่งในสมองของเขา และตรงกันข้ามเมื่อปฏิเสธว่า ‘ไม่ได้’ สมองเขาจะถูกแตะเบรก ร่างกายจะหนักอึ้ง รู้สึกใจหาย หดหู่ จะให้ดีทั้งกลไกคันเร่งและเบรคในสมองของลูกจำเป็นต้องได้รับการจัดระเบียบจากพ่อแม่ โดยสอนให้เขารู้จักผ่อนหนักเบาถูกจังหวะ ซึ่งหมายความว่าควบคู่กับการวางกฎระเบียบให้เขา ผู้ใหญ่ต้องสอนให้รู้จักการควบคุมอารมณ์ตนเอง หรือมีความยับยั้งชั่งใจ (Self-Regulation) พร้อมกันไปด้วย
ความยับยั้งชั่งใจจะทำหน้าที่เหมือน ‘คลัทช์’ คอยผ่อนพลังที่เกิดจากคันเร่ง (เมื่อเรียกร้องต้องการบางอย่าง) และลดแรงปะทะจากการเหยียบเบรค (เมื่อถูกห้ามหรือปฏิเสธ) ให้เบาบางลง การสอนให้ลูกควบคุมความต้องการให้เป็น พ่อแม่ต้องเริ่มจากค่อยๆ เบนความอยากอันผิดที่ผิดทางของเขาไปยังสิ่งสร้างสรรค์อื่นแทน เช่น เวลาปีนขึ้นโต๊ะกินข้าว หรือขว้างปาข้าวของทั่วบ้าน ‘โต๊ะไม่ได้มีไว้สำหรับปีนนะ ถ้าหนูอยากปีน เก็บแรงไว้เสาร์นี้เอิร์ทกับแม่ไปเล่นปีนตาข่ายในวันเดอร์แลนด์กันดีกว่า’ หรือ ‘กระแทกพื้นแล้วเดี๋ยวตะกร้าพัง แม่ไว้ใส่ของ ถ้าลูกแรงเหลืออยากเล่นสนุก ออกไปเล่นปาบอลกับดุ๊กดิ๊กที่สนามสิจ๊ะ มันกระดิกหางรอให้ลูกไปเล่นด้วยแหนะ’ วิธีนี้สะท้อนว่าพ่อแม่ยอมรับอารมณ์สนุกตื่นเต้นของเขาได้ โดยต้องมีขอบเขตในเวลาและสถานที่ที่เหมาะสม
การสอนให้รู้จักขอบเขตไปพร้อมๆ กับความยับยั้งชั่งใจเป็นการปูให้เขาเรียนรู้ที่จะรับฟังคำปฏิเสธให้เป็น ไม่ทำตามใจอยากได้โดยไม่รู้สึกขาดตกบกพร่อง (สร้าง EQ ที่ดี) ถ้าเขาไม่เคยถูกสอนให้ยับยั้งชั่งใจอยากได้อะไรต้องได้ ก็จะกลายเป็นเด็กงี่เง่าเอาแต่ใจสุดโต่ง
แต่ถ้าหากลูกต่อรอง ต่อต้าน ยอกย้อนไม่รู้จบ นอกจากต้องมีน้ำอดน้ำทนให้สูง พ่อแม่ต้องควบคุมอารมณ์ วางตัวสุขุมและกล่าวให้ชัดเจนหนักแน่น ไม่พูดทีเล่นทีจริง หรือฟิวส์ขาดโดยเด็ดขาด เพราะนั่นจะทำให้เขาเรียนรู้ว่าขนาดผู้ใหญ่ยังควบคุมตัวเองไม่ได้เลย เขาก็ทำกลับไปได้เช่นกัน บางครั้งจึงป่วยการอธิบายต่อคำขอเซ้าซี้โยเยไม่รู้จบ เพราะเขาอาจมีหวังว่าจะโดนตามใจในที่สุด ไม้ตายสั้นๆ คือ ตัดบทว่า ‘ไม่ได้ค่ะ แม่ไม่โอเคที่หนูทำอย่างนี้’ หรือ ‘พ่อรู้ว่าหนูไม่พอใจ แต่พ่อไม่ตามใจเรื่องนี้นะ’
การตอบโต้ด้วยอารมณ์ใส่ลูกเพื่อเอาชนะเวลาเขาต่อต้าน หรือเถียงไม่เลิกรา เป็นการสร้างความคับข้องใจให้เขารู้สึกเสียหน้าว่าตนผิด เขาจะหันหลังใส่คำแนะนำหรือทางเลือกอื่นทันที โทสะจากพ่อแม่จะไปเหยียบเบรคในสมองลูกแบบกระแทกกระทัน ขณะที่เขากำลังเหยียบคันเร่งเตรียมพุ่งทะยาน ผล คือ คลัทช์ไม่ทำงาน รถเสียความควบคุม อารมณ์ที่ถูกเหยียบเบรคจนหัวทิ่มจะยิ่งผลักให้เขาจงใจเหยียบคันเร่งให้แรงขึ้นเพื่อเอาชนะ อารมณ์เตลิดเปิดเปิงนี้จะแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมงี่เง่าหนักข้อขึ้นกว่าเดิม
ความขัดแย้งขั้นรุนแรง
การทะเลาะผิดใจกับลูกอาจกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงได้ หากพ่อแม่ระเบิดอารมณ์ ตะคอก ใช้วาจาหรือกำลังด้วยความรุนแรงหยาบคายจนเขาหวาดกลัว และรู้สึกไม่มีคุณค่าในตัวเองจนรู้สึกถึงขนาดขาดที่พึ่ง
สาเหตุหลักของความขัดแย้งขั้นรุนแรงมักมาจากพ่อแม่ที่มีปมเลวร้ายตอนเป็นเด็กแล้วมาลงกับลูกโดยไม่รู้ตัว เช่น เคยถูกทิ้งขว้าง ใช้ความรุนแรง เปรียบเทียบกับคนอื่น เลี้ยงอย่างลำเอียง เป็นต้น ครั้นโตมาเป็นพ่อแม่ก็ส่งต่อพฤติกรรมที่เคยได้รับ เพราะติดกับปมเดิมจนมองไม่เห็นความต้องการที่ลูกมี หรือเก็บกดไว้จากการถูกจิตปิดกั้นไม่รับรู้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดซ้ำรอยเดิมกับตอนเด็ก ในหนังสือเรียกกลไกปิดกั้นทางจิตนี้ว่า Shame Dynamic ซึ่งกลไกจะทำงานในจิตใจที่ฝังจำความบาดหมางที่มีต่อพ่อแม่ในวัยเด็กโดยการสร้างเกราะป้องกันไม่ให้ตัวเองรู้สึกอับอายที่ตนเองบกพร่อง จิตจะปิดกั้นเหตุการณ์ที่พ้องกับความบาดหมางในอดีต ทำให้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วเกิดปัญหากระทบกระทั่งกับลูก พ่อแม่ก็จะหนีหรือเมินปัญหาที่มีกับลูกโดยอัตโนมัติ
พ่อแม่ที่มีปมบาดแผลและถูกครอบงำด้วย Shame Dynamic ลึกๆ มักรู้สึกขายหน้า เสียเซลฟ์ คิดว่าตนเป็นพ่อแม่ที่บกพร่องที่มีปากเสียงทะเลาะเบาะแว้งกับลูกหรือโดนลูกดื้อใส่ ชอบฟังเสียงคนรอบข้างมากเกินไป เพราะกลัวคนอื่นจะติงว่าเลี้ยงลูกผิด อย่างเวลาลูกร้องโยเยในห้างจะอับอายและแคร์สายตาคนอื่นว่าคิดกับตัวเองอย่างไร แทนที่จะพยายามทำความเข้าใจว่าลูกต้องการอะไร พ่อแม่กลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะดุลูกรุนแรงทันทีเพราะรู้สึกอาย ในกรณีที่ลูกดื้อรั้นมากๆ พ่อแม่บางบ้านอาจเกิดความรู้สึกกับตัวเองว่าเป็นพ่อแม่ไม่เอาไหนได้เช่นกัน ซึ่งต้องระวังว่าความคิดทำนองนี้อาจไปสะกิดแผลในวัยเด็ก จนเกิดภาวะหมางเมินลูกจากกลไกปิดกั้นตนเองอย่างที่กล่าวมาได้
ติดตามตอนจบได้ที่ ความขัดแย้ง และวิธีสงบศึกกับลูกด้วยดี ตอน 2