- จากประสบการณ์กว่า 15 ปีที่ผ่านมา พิเชษฐได้กลั่นกรองออกมาเป็น ‘วิชากู’ เพื่อให้ผู้ที่สนใจเดินเส้นทางศิลปะได้เรียนรู้ และไม่มีทางได้ค้นพบในโลกวิชาการ
- อาชีพศิลปินเป็นอาชีพเดียวที่เริ่มต้นจากศูนย์ ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน แต่สิ่งที่ทำให้คนต่างกันคือการฝึกฝน ทุ่มเท เพื่อพิสูจน์ว่าเราเป็นคนที่มีคุณภาพหรือไม่ เพราะคนซื้องานศิลปะ เขาจ่ายให้คุณภาพและประสบการณ์
- สิ่งที่สำคัญที่จะสู้กับ AI ในอนาคตคือ ความผิดพลาด เพราะ AI ทำไม่ได้แต่คนทำได้ โดยเฉพาะงานศิลปะ ความผิดพลาดนี่แหละที่จะทำให้งานศิลปะงาม
- ในบทบาทคุณพ่อ มีสี่ข้อที่พิเชษฐสอนลูก คือ 1.ความรับผิดชอบ 2.ความคิดสร้างสรรค์ 3.ความเป็นตัวของตัวเอง และ 4.ความเป็นอิสระ
‘I’m a Demon’ โดย พิเชษฐ กลั่นชื่น ณ โรงละครช้าง ชุดการแสดงที่พิเชษฐออกมารำโขนเพียงคนเดียว โดยไม่ใส่ชุดโขน ไม่ใส่เสื้อผ้า บางตอนใส่เพียงแค่กางเกงชั้นในเท่านั้น เผยให้เห็นถึงความงามของร่างกายในทุกท่วงท่าของนักเต้น ผิดแปลกไปจากการแสดงโขนทั่วไปที่ผู้แสดงจะแต่งองค์ทรงเครื่องแบบเต็มยศ
งานแสดงชิ้นนี้เกิดจากการที่พิเชษฐตั้งคำถามกับสิ่งที่เรียกว่า ‘นาฏศิลป์ไทย’ สร้างงานศิลปะในแง่มุมที่ฉีกออกจากกรอบสังคมและวัฒนธรรมไทย กล้านำเสนองานศิลปะแม้ว่าจะถูกคนในสังคมตำหนิและไม่ยอมรับ
ในทางกลับกัน พิเชษฐ เป็นที่ยอมรับระดับโลก การันตีจากตารางการแสดงที่เต็มก่อนหนึ่งปีทุกครั้ง รวมถึงรางวัลการันตีมากมาย เช่น รางวัล ‘Routes’ ECF Princess Margriet Award for Cultural Diversity จาก European Cultural Foundation รางวัล ‘Chevalier of the French Arts and Literature Order’ จาก The French Ministry of Culture เป็นต้น
จากประสบการณ์กว่า 15 ปี พิเชษฐได้กลั่นกรองออกมาเป็น ‘วิชากู’ ที่เล่าถึงเส้นทางการเป็นศิลปิน ที่ยืนยันด้วยน้ำเสียงแน่วแน่ว่า “มันเป็นทักษะชีวิต ทำจริง พิสูจน์จริง” เพื่อให้ผู้ที่สนใจเดินเส้นทางศิลปะได้เรียนรู้ และไม่มีทางค้นพบได้ในโลกวิชาการ
“กูคิด กูทำ กูเชื่อ กูค้นคว้า กูพิสูจน์ กูสอน จนเป็นรูปธรรมแล้ว นี่คือจุดกำเนิดของวิชากู” พิเชษฐ อธิบาย
วิชากูอาจไม่มีหลักสูตรหรืองานวิจัยใดๆ มารองรับ แต่นี่คือสิ่งที่ทำให้ตารางชีวิตและงานของพิเชษฐแน่นตลอด 365 วัน ต้องการจองคิวล่วงหน้า แนะนำว่าอย่างน้อย 1 ปี
ทั้งหมดทั้งมวลนี้เพราะคำว่า ‘ศิลปะ’
และ ‘ความผิดพลาด’ จะทำให้ศิลปะงดงาม…
วิชากู VS วิชาการ
วิชากู คืออะไร
ผมต้องย้อนไปไกลมาก ผมเคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ในวันที่ผมสอนหนังสือ ทุกคนยอมรับว่าผมเป็นอาจารย์ วันหนึ่งผมลาออก สิ่งที่ผมพูด สิ่งที่ผมเขียนกลับไม่มีน้ำหนักในเชิงองค์ความรู้เลย สังคมนี้ไม่ได้มองว่าสิ่งที่เขียนโดยคนคนนี้เป็นความรู้หรือไม่เป็นความรู้ แต่ไปมองว่าคนคนนี้มีตำแหน่งในสถานภาพว่าเป็นครูหรือไม่เป็นครู ก็เท่านั้น
ผมเชื่อเรื่องประสบการณ์ เชื่อเรื่องระยะการทำงานอันยาวนาน ผมเริ่มเขียนองค์ความรู้ของผมเอง แล้วเอาไปให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัย ว่าคุณสนใจอันนี้ไหม ตีพิมพ์ไหม ลองเอาไปสอนเด็กไหม ทุกคนจะบอกว่าไม่ ทุกคนจะบอกว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัว
ผมก็ เฮ้ย สังคมนี้บ้าหรือเปล่า ไปเอาความรู้โดยวัดว่าคนคนนั้นมีตำแหน่งในระบบราชการจริง แต่ไม่เห็นว่าสิ่งที่เขาเขียนจริงๆ เป็นองค์ความรู้จริงๆ จากประสบการณ์จริง เป็นความรู้ แล้วผมเองก็เป็นอาจารย์มาก่อน พอผมลาออก ก็ไม่นับว่าเป็น ผมก็มองว่า ไอ้ห่า ตลกดี เอางี้ เขียนเอง เอาไปลงในเฟซบุ๊ค เป็นบทความวิชากู คือ กูคิด กูทำ กูเชื่อ กูค้นคว้า กูพิสูจน์ กูสอน จนเป็นรูปธรรมแล้ว นี่คือจุดกำเนิดของวิชากู
กว่าจะเป็นบทความวิชากู ต้องเริ่มจากอะไรบ้าง
มาจากบันทึกว่าผมไปทำงานที่ไหน เจออะไร เกิดอะไรขึ้น มีรูปแบบวิธีการเป็นอย่างไร ผมเริ่มจากบันทึก แต่ก่อนหน้านั้นมันเป็นบันทึกที่อยู่ในสมุดบันทึกด้วย ผมมีเป็นสิบๆ เล่มเลย ผมเลยเอาลง กับอันที่เขียนใหม่ เอาลงไปเรื่อยๆ เพื่อให้คนตามอ่าน
จริงๆ ไม่ได้สนใจว่าจะมีคนตามอ่านเยอะหรือไม่ แต่เรามองว่ามันคือองค์ความรู้ที่ควรจะเขียนทิ้งเอาไว้ แล้ววันหนึ่งมันน่าจะมีประโยชน์ เมื่อคนอื่นเดินเข้ามาในสายอาชีพนี้ หรืออยากรู้ว่าวิธีการที่เขาทำงานกันเป็นอย่างไร
ถัดจากบันทึกก็เป็นหัวข้อ บางอันเป็นส่วนที่เกิดขึ้นในสังคม บางอันเป็นเหมือนปัญหาที่เกิดขึ้นในแวดวงศิลปะ ผมเห็นว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วจะเกิดอะไรขึ้นข้างหน้า นี่คือส่วนที่เขียนในบทความวิชากู
การเรียนศิลปะ ผู้เรียนที่เรียนในระบบ ออกมาเป็นอย่างไร ต่างจากผู้เรียนที่เรียนแบบวิชากูอย่างไร
องค์ประกอบทางศิลปะกับศิลปะแยกออกจากกัน อาหารมีองค์ประกอบของอาหาร ขิง ข่า ตะไคร้ กระเทียม เป็นส่วนประกอบ หลังจากที่เอามารวมกันแล้วจะเป็นอาหารที่เราเรียกว่าต้มยำกุ้ง แล้วอาหารนี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เรียกว่ารสชาติ ในศิลปะเราเรียกสิ่งนี้ว่าความงาม หรือการเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของคน เป็นสามส่วนแบบนี้
ระบบการเรียนในมหาวิทยาลัยสอนเรื่ององค์ประกอบที่จะสร้างศิลปะ คุณต้องลงสีแบบนี้ คุณต้องมีน้ำหนักของเส้นแบบนี้ คุณต้องรู้เรื่องสีนั้นสีนี้ให้อารมณ์ต่างๆ เราเรียนรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบเกี่ยวกับการปรุงอาหารเป็นหลัก นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย
แต่ในประสบการณ์นอกมหาวิทยาลัยของคนที่เป็นศิลปิน เขาไม่สนใจมานั่งเรียนสิ่งเหล่านี้ เขาจัดการกับองค์ความรู้ และประสบการณ์ที่เขามีอยู่ แล้วเอาสิ่งที่เขาคิดว่ามันน่าจะเกิดรสชาติใหม่ๆ หรือสิ่งใหม่ๆ เอามาทำ สร้าง นี่คือต่างกัน
คนที่เรียนในมหาวิทยาลัยจะสร้างอาหาร หรือศิลปะที่เหมือนๆ กัน และเป็นรสชาติเดิม ส่วนคนที่เรียนศิลปะจากประสบการณ์ เรียนหรือไม่เรียนในมหาวิทยาลัย หรือเรียนในอีกระบบหนึ่ง จะสร้างรสชาติอาหารที่ทำให้เกิดกระบวนการของการกระตุ้นทางความรู้สึก หรือทางอารมณ์ ชอบไม่ชอบของผู้บริโภค
งานศิลปะที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยคุณจะพึงพอใจมันเลย เพราะมันเป็นไปตามสูตร เวลาเราซื้อหนังสือทำอาหารมา ใส่กี่ช้อนกี่ชาม ก็อร่อยมาเลย สมบูรณ์แบบ ศิลปะไม่ได้ต้องการความสมบูรณ์ คนทำงานศิลปะในฐานะศิลปิน ต้องการความท้าทาย ต้องการทำให้คุณรู้สึก
‘รู้สึก’ ในคำที่ผมพูดคำนี้ ชอบก็ได้ ไม่ชอบก็ได้ คือความตั้งใจของการปรุงรสชาติของอาหารชิ้นนี้
ถามว่า ไม่ชอบมันดีอย่างไร มันทำให้คุณได้รู้สึกว่าคุณได้กินอาหารอีกครั้งหนึ่ง เพราะคุณรู้สึกถึงรสชาติในเวลานั้น แต่ไอ้ของเดิมคุณไม่รู้ คุณกินโดยอัตโนมัติไปแล้ว นี่คือความต่าง
จำเป็นต้องมีองค์ความรู้พื้นฐานที่เรียกว่าวิชาการก่อนหรือเปล่า แล้วค่อยมาเรียนรู้เรื่องวิชากู
ผมต้องยอมรับว่ามันต้องเริ่มต้นมาจากวิชาการ ต้องเริ่มมาจากการเรียนรู้องค์ประกอบต่างๆ ของสิ่งเหล่านี้ก่อน อันนี้เป็นระบบ เพราะเป็นหลักการของการศึกษา คุณต้องผ่านระบบ คุณต้องวาดรูปเป็น จัดแสงเป็น จัดองค์ประกอบเป็นคุณถึงจะได้ A B C D อันนี้เป็นความสำคัญ แต่ส่วนที่เป็นวิชากู มันคือการตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองเรียนมา มันคือการหักล้างในสิ่งที่ตัวเองเป็น มันคือการเห็นต่างและไม่เห็นด้วยกับขบวนการที่ถูกสร้างเอาไว้แต่เดิม
เหมือนในจุดเริ่มต้นเราต้องยอมที่จะเข้าสู่ระบบก่อน แล้วหลังจากนั้นคุณก็จัดการทำลายมันทิ้งใหม่ แล้วสร้างสิ่งใหม่ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณยอมต่อระบบ และคุณปลาบปลื้มกับระบบ คุณก็จะกลายเป็นอาจารย์สอนศิลปะ เพราะคุณแม่นยำ
คำถามอะไรที่ดังที่สุดตอนที่ยังเรียนอยูในระบบ
ทำไมต้องทำแบบนี้ ทำไมมันต้องใส่เสื้อผ้าที่มันบ้าบอขนาดนี้ มันหนักจะตาย ทั้งๆ ที่การรำ การเต้นโขนมันเหนื่อยจะตายอยู่แล้ว แล้วยังเอาเสื้อผ้าที่หนักขนาดนี้มาใส่อีก ทำไมต้องแต่งหน้า เสียเวลาแต่งหน้าอยู่หนึ่งชั่วโมง แต่รำสิบห้านาที แล้วร่างกายที่ต้องวอร์มก่อนขึ้นเวทีจะมีคุณภาพได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่ผมตั้งคำถามทั้งหมด
พอตั้งคำถามแล้วทำอะไรต่อ
แก้เลย ไม่แต่งหน้า ไม่ใส่เสื้อผ้า งานผมถึงไม่มีชุดโขนอะไรทั้งสิ้น แล้วให้เวลากับการพัฒนาคุณภาพของร่างกาย เพราะร่างกายเป็นวัตถุดิบในการนำเสนอศิลปะการเต้น ฉะนั้นผมต้องให้วัตถุดิบมีคุณภาพสูงที่สุด อร่อยที่สุด จึงเกิดการเทรนร่างกาย แล้วทำให้เห็นร่างกาย นี่คือความต่างที่ผมเป็น
Dance เป็นความงามด้านร่างกาย พอเวลาที่คุณดูโขนละคร คุณไม่เห็นความงามของเรื่องนี้เลย ฉะนั้นมันเลยไม่ถูกมองว่าเป็นศิลปะการเต้น แต่เป็นละครแทน คุณก็ไปตามเรื่อง เห็นไหมครับ จากภาษาที่มันล้อกับตัวละครที่คุณจำได้ คุณไม่ได้รับรู้เลยว่าความงามของศิลปะคืออะไร
ผมตั้งคำถามว่าสิ่งที่เป็นอยู่ อะไรเป็นข้อดีและข้อเสีย ทีนี้ก็มีคำถามต่อไปว่า เราในฐานะที่ไม่ใช่คนที่จะไปรำอยู่ที่กระทรวงวัฒนธรรม ต้องไปรับแขกบ้านแขกเมือง เราจะทำอย่างไร โดยที่เรายังเป็นคนรำไทย แล้วการที่เราต้องจ่ายเงินทำชุดสี่หมื่นมันเป็นเงินมโหฬารมาก เราจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร
ทุกอย่างมันอยู่ร่วมกับการที่จะอยู่รอดกับอาชีพนี้ และมองมันในอีกชุดความรู้หนึ่ง ที่เป็นความรู้เรื่องศิลปะการเต้นไม่ใช่ความรู้เรื่องวัฒนธรรม
นักเต้น นักออกแบบท่าเต้น ผู้กำกับ
อาชีพนักเต้นกับศิลปินเหมือนหรือต่างกัน
ต่างกัน อาชีพนักเต้นไม่ต้องคิด รับจ้างเขาอย่างเดียว เวลาคนอื่นเขาจ้างให้ไปเต้น โอเค พรุ่งนี้จะมีละครนะ อย่างเรื่องโรมิโอ จูเลียต อยากได้นักเต้น ไปสมัคร มีผู้กำกับ มีคนคิดทุกอย่างเอาไว้ให้แล้ว แต่ศิลปินคิดทั้งกระบวนการ ต้องคิดทั้งหมด ฉาก แสง ท่าเต้นจะเป็นอย่างไร จะนำเสนออะไร นี่คือสิ่งที่ต่างกันระหว่างนักเต้นกับศิลปิน แล้วนักเต้นก็เต้นในสิ่งที่เคยเต้น เต้นเป็นอยู่แล้ว แต่การที่คุณเป็นศิลปินคุณต้องสร้างในสิ่งที่คุณไม่เคยสร้าง และต้องสร้างสิ่งใหม่ตลอดเวลา
คุณพิเชษฐนิยามตัวเองว่าเป็นอะไร
ผมเป็นศิลปิน ผมคาบเกี่ยวหลายมิติมาก บางคนเป็นคนออกแบบท่าเต้นโดยที่เขาไม่เต้น บางคนเป็นผู้กำกับ ท่าเต้น โดยมีคนออกแบบท่าให้อีกทีหนึ่ง ผมทำหมดเลย ผมสร้างงานเอง ผมออกแบบท่าเต้นเอง แล้วก็ on stage เองด้วย เพราะฉะนั้นผมกินทั้งสามตำแหน่งเลย ซึ่งอันนี้ไม่มี
การที่จะทำได้ทั้งหมดต้องมีทักษะอะไรบ้าง
ทุกคนต้องเริ่มจากการเป็นนักเต้นก่อน จากนั้นคุณก็จะกลายเป็นคนออกแบบท่าเต้น แล้วหลังจากนั้นคุณก็จะเป็นผู้กำกับ มันจะเป็นลำดับขั้นตอนที่จะกว้างขึ้นไปเรื่อยๆ
- นักเต้นมันอยู่กับร่างกายของตัวเอง สั่งมา อยากได้อะไรบอกมา เดี๋ยวเต้นให้ จะอยู่กับร่างกายตัวเอง
- คนออกแบบท่าเต้น มันเริ่มไปวุ่นกับร่างกายคนอื่น สอนคนอื่นให้เต้นแบบนั้นแบบนี้
- ผู้กำกับ อยู่กับร่างกายตัวเอง อยู่กับร่างกายคนอื่น อยู่กับโปรดักชั่น
คำว่าศิลปะของคุณคืออะไร
ศิลปะคือสิ่งที่เราแชร์กันในสังคมที่ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเรียน ที่จะดูแล เรื่องความเชื่อเป็นเรื่องส่วนตัว มันเป็นเรื่องอีกมิติหนึ่ง แต่ส่วนศิลปะทุกคนมีสิทธิ์
สำหรับวันนี้เรื่องความเชื่อทำให้ศิลปะไกลตัวจากสังคม ในอดีตที่ผ่านมาเรื่องความเชื่อทำให้ศิลปะยังคงอยู่อย่างสมบูรณ์แบบ คือกติกามันต่างกันแล้ว กติกาที่เราพูดเรื่องผีสางเทวดาในศิลปะในวันนั้นกับวันนี้มันต่างกัน วันนี้เราไม่ควรพูดเรื่องนี้แล้ว มันอันตรายเพราะเด็กรุ่นใหม่ไม่เชื่อเรื่องผี เด็กรุ่นใหม่รู้สึกว่าถ้ามันยากขนาดนี้ฉันจะเข้าไปยุ่งกับมันทำไม ไปยุ่งทีหนึ่งก็มีแต่เรื่องราวเต็มไปหมด
แล้วทำอย่างไรให้ศิลปะมันใช้ได้ และให้คนรุ่นใหม่สนใจ
สิ่งแรก ต้องทำให้คนรุ่นใหม่มองเห็นให้ได้ว่ามันมีองค์ความรู้อะไรซ่อนอยู่ในนั้น มากกว่ามันมีความเชื่อและความน่ากลัวอะไรซ่อนอยู่ในนั้น
สอง องค์ความรู้นั้นสามารถที่จะเอาไปเชื่อมโยงหรือไปเกี่ยวข้องกับสาขาวิชาความรู้ในองค์ความรู้อื่นได้อย่างไร
สาม จะเอาไปประกอบอาชีพของตัวเองที่เป็นอิสระได้อย่างไร
สามส่วนนี้ทำให้ได้แล้วคนจะวิ่งมาเข้ามาหามันเอง แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เด็กมองไม่เห็นว่ามันมีความรู้อะไรซ่อนอยู่ จบ เพราะทุกวันนี้เราพูดถึงเรื่องของศิลปะ หรือว่าพูดถึงเรื่องนาฏศิลป์ไทย เราไม่เคยพูดเรื่องความรู้ เราพูดเรื่องความเชื่อ ตำนาน ประวัติศาสตร์ แล้วความเชื่อ ตำนาน ประวัติศาสตร์ มีแต่เรื่องน่ากลัว แล้วก็เรื่องห้ามไปแตะต้อง แล้วก็เรื่องที่คุณเข้าไปยุ่งแล้วคุณจะไม่เจริญ คุณจะชีวิตไม่ดี ใครจะเข้าไป บ้าหรือเปล่า
อาชีพศิลปินธรรมดาๆ มันอยู่ได้ไหม
เราต้องแยกคนออก เช่น คนคนนั้นทำซ้ำสิ่งเดิม เราจะบอกว่าคนกลุ่มนี้จะอยู่ได้แบบลุ่มๆ ดอนๆ คือวาดรูปเดิมๆ วาดรูปที่เคยวาด ที่เคยมีอยู่แล้ว อันนี้ไม่ใช่ศิลปิน ไม่ได้สร้างงานศิลปะ เราเรียกคนเหล่านี้ว่าช่าง
คนอีกกลุ่มสร้างสรรค์งานศิลปะเหมือนกัน แต่งานเหล่านี้มันไม่สะท้อนหรือตอบโจทย์อะไรเลยในสังคมปัจจุบัน หรือไม่ชี้นำอะไรไปสู่สังคมวันข้างหน้าให้เราเห็นว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น คนเหล่านี้ก็จะอยู่ได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จมาก
กับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่สร้างงานมาแล้วให้องค์ความรู้ใหม่ มันให้การกระตุ้นสังคมแบบใหม่ ให้องค์ความรู้ ที่คนเอาไปใช้ได้ และพัฒนาสิ่งนี้ไปสู่อนาคตได้ คนกลุ่มนี้อยู่ได้ และอยู่ได้รวยมาก มโหฬาร
ศิลปะแยกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ ผมอธิบายง่ายๆ ศิลปะแบบโบราณกับศิลปะแบบสมัยใหม่ โบราณบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมความเชื่อ วาดรูปพระพุทธเจ้า วาดรูปสงคราม วาดรูปเจ้านาย ตำนาน
ศิลปะแบบใหม่ ค้นหา มองหาวิธีการ รูปแบบของงานศิลปะแบบใหม่ นำเสนอสิ่งที่คาดว่าจะเกิดอะไรขึ้นในสังคมข้างหน้า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังดำเนินอยู่
เช่นเราตั้งคำถามว่า เด็กวัยรุ่นสมัยนี้มันชอบพูดจาแบบนี้ ทำไมมันชอบพูดจาแบบนี้ ทำไมต้องพูดจาแบบนี้ เราก็หงุดหงิดกับเรื่องนี้มากเลย แล้วเราก็หาคำตอบไม่เจอ มีศิลปินคนหนึ่งทำงานเกี่ยวกับการใช้ภาษาของเด็กรุ่นใหม่ แล้วก็สร้างงานศิลปะมาชิ้นหนึ่ง เขาพยายามอธิบายให้เราเข้าใจว่าเด็กพวกนี้ทำไมใช้ภาษาแบบนี้ แล้วภาษาที่ใช้อยู่มีความงามอย่างไร มีความน่าสนใจไม่น่าสนใจอย่างไร และนำไปสู่การล่มสลาย หรืองอกงามของภาษาใหม่ในอนาคตได้อย่างไร พอเราเข้าไปดูงานศิลปะชิ้นนี้ อ๋อ มันเป็นแบบนี้ มันตอบโจทย์เรา มันตอบโจทย์คำถามที่เราตั้งอยู่ในอนาคต นี่คืองานศิลปะแบบสมัยใหม่
นี่คือศิลปะของวันนี้ เพราะเราให้คุณค่าของคนเท่ากันวันนี้ ในอดีตที่ผ่านมาเราไม่ได้ให้คุณค่าของคนเท่ากัน งานศิลปะจึงตกไปอยู่ในส่วนของความเชื่อ ผู้นำ แต่วันนี้เมื่อโลกเข้าสู่กระบวนการของประชาธิปไตยมากขึ้น เราเห็นคุณค่าของคนมากขึ้น ว่าคนทุกคนมีคุณค่าและคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกัน
4-5 ปีที่ผ่านมาเราเห็นนางแบบที่ขาขาด เราเริ่มเห็นคนที่นั่งรถเข็นทำการแสดงบนเวที เราเห็นนักกีฬาที่แขนขาด ขาขาด เราเห็นคนที่เป็นออทิสติกทำงานศิลปะนี่คืองานศิลปะแบบสมัยใหม่ ภายใต้หลักคิดที่ทุกคนเท่าเทียมกัน
จะสำเร็จได้ อย่ารีบเด็ดมาผัดถั่วงอก
สำหรับคุณพิเชษฐ การเป็นศิลปินอยู่ได้ไหม
รวยเลย โรงละครกับที่คือ 10 ล้าน
ทำอย่างไรถึงจะรวย
สิ่งแรกต้องไม่คิดก่อนว่าจะรวย เด็กทุกคนที่ทำงานศิลปะแล้วไปไม่รอดเพราะว่ามีอันนี้อยู่ในหัวตลอดเวลา คิดจะรวย คิดจะมีชื่อเสียง คิดจะนำเสนองานตัวเองในพื้นที่ต่างๆ ผมจะบอกให้ คนเหล่านี้ไม่เคยได้ไปสักคน คนที่ประสบความสำเร็จทั้งหมดในอาชีพศิลปะ ไม่มีใครคิดว่าตัวเองจะประสบความสำเร็จ และไม่เคยคิดด้วยว่าจะสร้างงานศิลปะ แต่ทุกคนอยู่กับสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขทั้งนั้น
จากนั้นฝึกฝน เรียนรู้ อย่างเดียว ฝึกฝนทุกวัน และเรียนรู้จากคนอื่น เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เรียนรู้จากคนที่เคยทำกันมา เรียนรู้จากงานศิลปะที่กำลังสร้างอยู่ ณ ปัจจุบัน มีจัด exhibition ที่ไหน ต้องไปดู ต้องไปใส่ใจ ต้องไปรับรู้ นี่คือสิ่งที่ต้องทำ
อยู่กับสิ่งที่ชอบไปให้ได้ 10 ปี แล้วหลังจาก 10 ปี ต้นไม้ที่คุณปลูกถึงจะให้ผลผลิต การทำงานศิลปะคือการปลูกต้นไม้ เป็นอาชีพเดียวที่เริ่มต้นจากศูนย์ ไม่มีใครที่เรียนศิลปะคนไหนมาแล้วเริ่มต้นจากการขายรูปได้ห้าหมื่น หนึ่งแสน ทุกคนต้องเริ่มจากขายไม่ได้
ผมถึงได้รักอาชีพนี้มาก เพราะเราเริ่มเท่ากัน ศูนย์ แล้วเราจะแตกต่างในวันที่เราฝึกฝนหนัก ทุ่มเท ทำสิ่งนั้นอย่างดี แล้วมันจะพิสูจน์ว่าเราเป็นคนที่มีคุณภาพ มีศรัทธา มีความมุ่งมั่น ฉะนั้นเราจะเติบโตไปพร้อมกับการที่เป็นคนที่มีคุณภาพ กับงานที่มีคุณภาพ แล้วนั่นคือเหตุผลว่าทำไมเขาถึงยอมจ่ายหนึ่งล้าน ยอมจ่ายสองล้าน เพราะเขาจ่ายกับคนที่มีคุณภาพ งานที่มีคุณภาพ และเวลาที่เราให้กับคุณภาพที่เป็น สิบๆ ปีไป วันที่เขาซื้องานศิลปะ เขาไม่ได้ซื้อ ณ เวลานั้น เขาซื้อตั้งแต่วันแรก
คนที่เรียนศิลปะ ผมนิยามเป็นปรัชญาแบบง่ายๆ ก็คือการปลูกต้นไม้ พอคุณปลูกเสร็จ มันงอกขึ้นมา เป็นต้นอ่อน พอมันงอกออกมาเป็นต้นอ่อนปุ๊บ วันนั้นคุณใจร้อน คุณเอามันไปผัดถั่วงอกซะ จบ จบไปเลย
รอให้มันโตขึ้นมา พอออกใบ อ้าว เสือกเด็ดใบไปทำชาอีก อ่าว มึงจบ
ปลูกให้แกร่งจนเป็นต้น พอออกเป็นดอก เริ่มเกิดความงามขึ้นมาแล้ว คนเริ่มมองเห็นเราแล้ว เราเริ่มแสดง exhibition ครั้งที่หนึ่ง คนเริ่มมองเห็นเราแล้ว ใจเย็นๆ อย่าเพิ่งรีบ เพราะเมื่อไหร่จากดอกมันจะกลายเป็นผล พอมันออกผลครั้งแรก ก็ได้ราคาในระดับหนึ่ง พอหลังจากนั้นเมื่อต้นไม้มันออกผลแล้วหนึ่งครั้ง ทิ้งมันเลยครับ เพราะหลังจากนั้นเราจะเก็บตลอดเวลา
ถ้าระหว่างทาง 10 ปีเกิดเหนื่อยหรือท้อขึ้นมาแล้วทำอย่างไร
ก็แพ้ไป อันนี้จะเป็นการคัดกรองคนโดยอัตโนมัติ ง่ายๆ นะ เรียนจบมหาวิทยาลัยตอนอายุ 24 ทำงานอีก 10 ปี คุณอายุ 34 คุณประสบความสำเร็จ เริ่มมีคนมองเห็น เริ่มที่จะขายรูปได้ คุณคิดว่าจาก 34 ปี ไปอีกกี่ปีกว่าคุณจะตาย คุณเสียแค่สิบ แล้วพอเวลาผ่าน 34 ไปแล้ว คนยอมรับแล้ว เวลาที่ราคามันขึ้น มันขึ้นแบบบ้าเลือดนะ มันไม่ได้ขึ้นทีละเจ็ดร้อย หนึ่งพัน มันขึ้นทีละแสน ล้าน ได้เลย ขึ้นแบบไม่มีกติกา แล้วงานศิลปะมันน่าสนใจ ยิ่งอายุเยอะ คนยิ่งมั่นใจ คนยิ่งเชื่อมั่น
ใช้ความผิดพลาดเข้าสู้ AI
สำหรับเด็กที่อยากเรียนศิลปะ ไม่ว่าจะแขนงไหนก็ตาม แต่พ่อแม่จะบอกว่า จะเอาไรกิน ศิลปินไส้แห้ง คิดเห็นอย่างไร
ก็จริง พ่อแม่พูดก็ถูก แต่ชุดคำถามนี้กับพ่อแม่กลุ่มนี้คือสี่สิบขึ้นไป วันนี้พ่อแม่ที่อายุสามสิบกว่าจะไม่ถามลูกเรื่องพวกนี้แล้ว เพราะว่าวันนี้คนที่ทำงานศิลปะเริ่มเป็นรูปธรรมในสังคม และการเรียนศิลปะไม่ได้ถูกจำกัดอยู่กับการที่เขาเป็นศิลปิน ศิลปะเคลื่อนที่ตัวมันเองเข้าสู่ระบบ creative economy เคลื่อนตัวเองเข้าสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ สร้างแบรนด์ของตัวเอง
อนาคตข้างหน้าทุกคนจะเรียนศิลปะ เพราะมันคือการเพิ่มมูลค่าให้กับอาชีพ และเป็นอาชีพที่อิสระให้กับตัวเองโดยที่คุณไม่ต้องเปิดร้าน เพราะว่าทุกวันนี้เรามีออนไลน์ เราครีเอทแล้วโพสต์บนออนไลน์ได้เลย เราสามารถสร้างแบรนด์ที่ที่อื่นไม่มี
ผมเพิ่งกลับมาจากมาเลเซีย ผมก็เกิดคำถาม เอ๊ะ ฉันจะไปที่ไหนดี พอไปแล้วฉันก็เห็นว่า Starbucks IKEA Gucci มีเต็มไปหมด ทุกที่มันเหมือนกันหมดแล้ว สิ่งเดียวที่ทำให้มันเคลื่อนตัวและยังไปได้คืองานแฮนด์เมด และงานที่คนอื่นผลิตไม่ได้ ฉะนั้นอนาคตข้างหน้าต้องสายศิลปิน และสายศิลปะอย่างเดียว
ยิ่งการที่เกิดขึ้นของ AI ยิ่งต้องใช้ศิลปะและต้องแฮนด์เมด ถ้าใครรีบฉกฉวยตอนนี้ ชนะนะครับ ผมบอกเลย ส่งลูกเรียนศิลปะเลย แล้วมาฟังทัศนคติจากผม แล้วผมไกด์ทางให้ว่ามันจะประสบผลสำเร็จได้อย่างไร
สิ่งที่สำคัญที่จะสู้กับ AI ในอนาคตคือ ความผิดพลาด เพราะ AI ทำไม่ได้แต่เราทำได้ และเป็นสิ่งเดียวที่เราต้องรักษาเอาไว้ แต่คนพยายามที่จะไม่รักษาสิ่งนี้ คนพยายามสร้างความเพอร์เฟ็คต์ให้กับตัวเอง ทุกวันนี้เราต้องย้ายตัวเองให้เป็นบุคคลที่มีความผิดพลาดตลอดเวลา โดยเฉพาะการสร้างงานศิลปะ ความผิดพลาดนี่แหละ ที่จะทำให้งานศิลปะงาม
ยกตัวอย่างความงามที่เกิดจากความผิดพลาดได้ไหม
“เต้นๆ แล้วล้ม คนแม่งจำเลย เต้นมาเป็นชั่วโมง กูล้มนี่จำเลย พูดอยู่นั่นว่ากูเต้นแล้วล้ม” นี่ไง เห็นไหม ในวันที่นักเต้น เพอร์เฟ็คต์ร้อยเปอร์เซ็นต์หมด มีผู้ออกแบบท่าเต้นคนหนึ่งเอาผู้หญิงที่ไซส์ XL ทั้งหมดมาเต้นบนเวที เชื่อไหมว่าคนจำโปรดักชั่นนี้ได้ครึ่งโลก
นี่คือเราในอนาคต อย่าแข่งความเป็นเพอร์เฟ็คต์กับ AI ควรแข่งความผิดพลาด แล้ว AI จะงง มันจะไม่เข้าใจว่าจะดีลกับมนุษย์กลุ่มนี้อย่างไร เพราะมันอ่านไม่ได้ ถอดสูตรไม่ได้ นี่คือสิ่งที่เรามีและความเป็นมนุษย์ที่สำคัญที่สุดคือคุณถอดความซับซ้อนของเราไม่ได้ โดยเฉพาะความซับซ้อนที่ผิดพลาด
เมื่อไหร่ที่เราเชื่อเรื่องความผิดพลาด เราเชื่อเรื่องความไม่สมบูรณ์แบบ วันนั้นเราจะอยู่ในโลกที่มีการแข่งขันสูงได้อย่างสบายตัวและใจเย็น เพราะเราไม่ต้องไปแข่งกับคนอื่น แล้วเราจะรู้สึกว่าตัวเราเป็นแบบนี้เราสมบูรณ์แบบแล้ว เราจะดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างที่เราเป็น แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราเริ่มที่จะแข่งขัน สร้างความเพอร์เฟ็คต์ เราจะมองโมเดลนี้ โมเดลโน้น แล้วเราพยายามที่จะเป็นสิ่งนั้น นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมเด็กวันนี้ถึงไม่ประสบความสำเร็จ
พ่อแม่ควรบอกลูก สื่อสารกับลูกอย่างไร ว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นได้
คืออย่างนี้ พ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงลูก พ่อแม่เลี้ยงตัวเองผ่านลูก พ่อแม่เลี้ยงลูกเพื่อให้สภาวะความหวาดกลัว ทำให้ความมั่นคงในความรักที่มีต่อลูกเกิดขึ้นให้ได้ แล้วใช้บรรทัดฐานความสำเร็จของอดีตที่ตัวเองเชื่อมายัดใส่เด็ก พ่อแม่เลี้ยงตัวเอง ทำให้ตัวเองหายหวาดกลัว หายเจ็บปวด และอยู่ในวันข้างหน้าได้โดยใช้ลูก พ่อแม่เลิกเลี้ยงตัวเองผ่านลูก
ให้พ่อแม่เลี้ยงลูกเพื่อที่จะให้ลูกไปอยู่กับอนาคต อย่าเลี้ยงลูกให้อยู่กับปัจจุบัน เด็กไม่ได้ใช้ชีวิตปัจจุบันนะเด็กใช้ชีวิตวันข้างหน้า ฉะนั้นคุณต้องเลี้ยงเขาเพื่อวันข้างหน้าแล้ว อะไรที่คนบอกว่าสิ่งนี้กำลังบูมเลย ต้องให้ลูกเรียน ผมขอแนะนำ อย่าให้ลูกเรียนเป็นอันขาด เพราะมันจะมีเยอะแยะไปหมด คุณต้องให้ลูกเรียนในสิ่งที่ไม่มีคนให้ลูกเรียน สิ่งที่ทุกคนคิดว่ามันไม่น่าจะเกิดขึ้น หรือมันเป็นไปไม่ได้หรอก มันไม่เข้าท่า ไปเลย อันนี้คืออันที่หนึ่ง
อันที่สอง ถอยลงไปให้สุดเลย ถ้าไปไกลที่สุดไม่ได้ ถอยกลับไปให้ถึงที่สุด ไปทำในสิ่งที่เขาไม่ทำแล้ว แล้วทิ้งมันไปแล้ว แล้วเขาไม่เอามันอีกต่อไปแล้ว เขาไม่เคยใช้มันอีกแล้ว อย่างเช่น บอกลูกว่า แม่อยากให้หนูเรียนวิธีการสร้างเตาอั้งโล่ ถ้าเด็กคนนี้ทำได้ จะรวย เพราะไม่มีใครรู้แล้วว่าเตาอั้งโล่ทำอย่างไร หุงข้าวอย่างไร
ศิลปินสอนลูก
พ่อแบบพิเชษฐสอนลูกอย่างไร ใช้ความเป็นศิลปินสอนลูกอย่างไร แค่ไหน
สิ่งที่เราพูดกันมากที่สุดคือ ความรับผิดชอบ ความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นตัวของตัวเอง และความเป็นอิสระ
ความเป็นตัวของตัวเอง จะเป็นภูมิคุ้มกันของเขาเมื่อเขาอายุยี่สิบกว่า ต้องเข้าสู่สังคม เขาจะพ่ายแพ้สังคม เพื่อน คนที่อยู่รอบข้าง ฉะนั้นนี่เป็นเรื่องที่สำคัญ
ความเป็นอิสระ ผมป้องกันเขาจากกระบวนการของระบบการศึกษาและวัฒนธรรมของประเทศนี้ ที่ครอบและชี้นำแบบนี้ ฉะนั้นลูกผมต้องมีกระบวนการทางความคิดที่เป็นอิสระ
หน้าที่และความรับผิดชอบ คือสิ่งที่เขาต้องกระทำกับผู้อื่น และสังคม
ความคิดสร้างสรรค์ คือการพัฒนา การมอง การเรียนรู็ การหยิบจับสิ่งต่างๆ เอามาใช้ แล้วก็ทำให้มันเป็นสิ่งอื่นได้ นี่คือสิ่งที่เราต้องการ
สอนโดยวิธีแบบไหน
เราไม่สอนโดยวิธีการที่เป็นการเรียน เช่น ผมสอนเรื่องความคิดสร้างสรรค์ หนูเอาโทรศัพท์วางบนโต๊ะให้พ่อหน่อย บนโต๊ะนี้ ทำไมหนูถึงวางตรงนี้ ไหนเล่าให้พ่อฟัง หนูว่ามันอยู่ใกล้กับตัวหนูดี อ้าว และทำไมมันอยู่ใกล้กับตัวหนูแล้วมันถึงดี ก็หนูจะได้หยิบมันได้ โอเค หนูวางแบบอื่นได้ไหม เขาก็จะเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ นี่คือเรื่องความคิดสร้างสรรค์ว่าเขาจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร
อย่างเรื่องความอิสระด้านความคิด เขาจะหยิบจับได้หมด โรงละครเป็นอิสระของเขา ทุกครั้งที่ผมสร้างโปรดักชั่น ผมจะให้เขาเล่นได้หมด ทำได้หมด จัดการมันได้หมด เพราะผมไม่ต้องการให้เขารู้สึกว่าศิลปะเป็นกฎกติกา ข้อบังคับ แล้วทำให้เขาต้องหยุดตัวเอง แล้วห่างจากพ่อ ศิลปะที่นี่ทำให้เขาอยู่กับพี่ๆ ทุกคน ทำให้เขาได้เล่น ทำให้เขาสนุก ทำให้เขาเป็นส่วนหนึ่งนี่คือสิ่งที่เราสร้าง
เวลาผมบอกว่า หนูปิดเทอม หนูไปทัวร์กับพ่อนะ เดินทางกับพ่อ หนูจะต้องรู้จักคำว่าช่วยเหลือคนอื่น ช่วยเหลือคนอื่นคืออะไร หนูเห็นกระเป๋าไหม ถ้าเห็นเราก็ช่วยคนอื่น เราสอนผ่านแบบนี้ นี่คือสิ่งที่เราสอน สอนเป็นคำๆ แล้วก็ให้เขาเรียนรู้คำนั้นว่ามันเป็นพฤติกรรมอย่างไร ใช้อย่างไร
เราไม่เคยยัดเยียดเรื่องศิลปะให้กับเขา เพราะว่าเขาเรียนอยู่แล้ว แล้วเราไม่เชื่อในเรื่องการเรียนในระบบ ผมไม่อยากให้ลูกเป็นศิลปินเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะว่าลูกได้หมดแล้ว ลูกได้ชีวิตและวิถีของการเป็นศิลปิน การอยู่กับศิลปินไปเรียบร้อยแล้ว
ผมต้องการให้ลูกเป็น หนึ่ง เป็นหมอ เราไม่มีหมอรักษานักเต้นในประเทศนี้แม้แต่คนเดียว ที่มีความรู้และเข้าใจในเรื่องสรีระร่างกายของนักเต้น เพราะนักเต้นเจ็บ เข่าเจ็บ ข้อเท้าเจ็บ หลังเจ็บ ผมต้องการให้เขาเป็นหมอเพื่อรักษานักเต้น
เวลาเจ็บผมต้องรักษาตัวเอง ผมรู้สึกว่าถ้าเขาทำสิ่งนี้ได้น่าจะดี เพราะว่าเขาจะช่วยเหลือคนอื่นได้อีกเยอะ หมอในโรงพยาบาลไม่เข้าใจว่าพวกผมทำอะไร หมอเข้าใจว่าอาชีพผมคือเต้นแอโรบิค ผมปวดหัวกับหมอมากเลย ผมไม่รู้ว่าจะอธิบายหมอว่าอย่างไร
อย่างเช่นผมเจ็บหลัง ผมมีปัญหาเรื่องกระดูกสี่ข้ออยู่ข้างหลัง หมอบอกให้นอนแล้วยกขา ผมก็ยกขึ้นมา หมอถามว่าเจ็บไหม ไม่เจ็บ แล้วบอกไปอีกหมอก็ถามอีก ก็เริ่มเจ็บนิดหน่อย หมอบอกโอ้โห คุณยกขาได้สูงขนาดนี้ผมว่าคุณไม่ได้เป็นอะไรหรอก คือหมอไม่รู้ว่าเราเป็นนักเต้นไง นักเต้นมันยกขาพาดข้างหลังได้ คือมันไม่มีคนอาชีพนี้ ฉะนั้นทุกอย่างมันไม่มีใครรู้เรื่องอะไรเลย เขาไม่เข้าใจแล้วก็จะจับผ่าอย่างเดียว แต่ที่เมืองนอกก็จะมีหมอที่เข้าใจโดยเฉพาะ ผ่านกระบวนการบำบัด 1 2 3 4 เลย ไล่กันทีละขั้นตอนเลย
สอง ผมต้องการให้เขาเป็นนักธุรกิจ ในการบริหารจัดการงานศิลปะ เพื่อต่อรอง เอาเงินมาให้ศิลปินมาทำงานศิลปะให้ได้ บ้านเราไม่มีคนแบบนี้