- เบื้องหลังความดุ คือ กุญแจสำคัญ : การไม่เชื่อในพรสวรรค์ แต่เชื่อสุดใจในพรแสวง
- เขาเป็นผู้ตั้งกฎ ตื่นตอน 6.45 วิ่งทุกเช้า รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ฝึกซ้อมกอล์ฟช่วงบ่ายในสนามจริงกลางแดดเปรี้ยง บ่ายเรียนว่ายน้ำทุกวันห้ามงอแง เรื่องเรียนเป็นรอง การบ้านไม่ต้อง-พ่อทำให้
- เวลาลูกแพ้ พ่อคนนี้ไม่เคยถามเลยว่า ‘ทำไม’ เพราะถ้าทำอย่างเต็มที่แล้ว ไม่เป็นไรเลยลูก เรารับผิดชอบร่วมกัน
ภาพ: Mind Da Hed
12 มิถุนายน 2560 คือวันประกาศคะแนนอย่างเป็นทางการในรายการแมนูไลฟ์ แอลพีจีเอ คลาสสิก (Manulife LPGA Classic) นครออนตาริโอ ประเทศแคนาดา ที่โปรเม-เอรียา จุฑานุกาล ลงแข่งเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ทำให้เธอผงาดขึ้นเป็นนักกอล์ฟหญิงมือหนึ่งของโลกเป็นผลสำเร็จ
หากค้นชื่อของเธอในเสิร์ชเอนจิ้น บทสัมภาษณ์หลายๆ ชิ้นระบุตรงกันว่า ชีวิตของโปรเม…ไม่มีกลีบกุหลาบโปรยรายทาง
เธอเริ่มต้นจับไม้กอล์ฟครั้งแรกเมื่ออายุ 5 ขวบ กับพี่สาว โปรโม-โมรียา จุฑานุกาล อายุ 7 ขวบ เพราะขณะนั้น สมบูรณ์ จุฑานุกาล ผู้เป็นพ่อ เปิดร้านขายอุปกรณ์กอล์ฟที่สนามไดรฟ์กอล์ฟแห่งหนึ่ง เมื่อเห็นลูกสาววิ่งเล่นซุกซนอยู่ในร้าน ทำให้สมบูรณ์ยื่นไม้กอล์ฟสำหรับเด็กให้เล่น หวังให้ทั้งสองขยับย้ายไปเล่นบริเวณอื่น เพื่อพ่อและนฤมล จุฑานุกาล ผู้เป็นแม่จะได้ทำงานอย่างคล่องตัว
เริ่มจากการจับไม้เล่นๆ จนกระทั่งมองเห็นโอกาสพัฒนาด้านกีฬาของเด็กทั้งสอง นำไปสู่ความมุ่งมั่นฝึกฝน ปั้นให้สองพี่น้องเป็น ‘นักกีฬาอาชีพ’ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ตื่นนอน 6.45 น. ไปถึงโรงเรียนเกือบ 7 โมงครึ่ง วิ่งรอบสนาม 45 นาที กินอาหารเช้าที่ถูกจัดสรรให้ครบทั้ง 5 หมู่ เปลี่ยนเสื้อผ้าในรถตู้ส่วนตัว แล้วเข้าเรียนจนถึงเที่ยงครึ่งเพื่อมาซ้อมกอล์ฟอย่างจริงจังในช่วงบ่าย ตกเย็นไปเรียนว่ายน้ำ ว่ายไปกลับคนละไม่ต่ำกว่า 2,000 เมตร และกลับถึงบ้านเกือบ 3 ทุ่ม ดูโทรทัศน์ผ่อนคลายเล็กน้อยแล้วเด็กๆ จึงเข้านอน
ทั้งหมดนี้คือกิจวัตรประจำวันที่เด็กๆ ทั้งสองต้องทำทุกวันตั้งแต่ยังเล็ก อย่างที่สมบูรณ์เล่าว่า “ทั้งหมดนี้ นอกจากจะเป็นการฝึกร่างกายให้แข็งแรง มันคือการสร้างวินัย ซึ่งทั้งสองอย่างสำคัญมากสำหรับการสร้างนักกีฬา”
ในช่วงแถลงข่าว หลังโปรเมยิงเบอร์ดี้ระยะ 25 ฟุต ลงไปอย่างสวยงาม คว้าแชมป์รายการนี้ไปครองในวัย 22 ปี เธอกล่าวว่า “จงทำตามความฝัน” และ “อย่ายอมแพ้” ซึ่งเป็นคำตอบจริงใจจากการไล่ตามฝันและฝึกฝนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วัยเด็กของเธอ
The Potential ชวนคุณพ่อสมบูรณ์ จุฑานุกาล พูดคุยในบ่ายแก่ๆ วันหนึ่งที่สนามไดร์ฟกอล์ฟย่านบางแค สถานที่แห่งความหลังที่สมบูรณ์กล่าวว่า เขาเคยเปิดร้านขายอุปกรณ์กอล์ฟสาขาหนึ่งที่สนามแห่งนี้ จุดประสงค์เพื่อชวนคุยย้อนกลับไปว่า เขา-ในฐานะผู้สนับสนุน เป็นทั้งพ่อแม่และโค้ช มีวิธีส่งเสริมและหลักคิดในการเลี้ยงลูกอย่างไร โดยเฉพาะการที่ต้องยืนอยู่ระหว่าง ‘การสร้างนักกีฬาอาชีพ’ กับ ‘การสนับสนุนให้เด็กๆ ได้เล่นกีฬา’
เพราะตลอดการสัมภาษณ์ เขาย้ำชัดเจนว่า นี่คือการถ่ายทอดประสบการณ์ของพ่อแม่ที่หวังสร้างกรอบวินัยเพื่อปั้นนักกีฬาอาชีพที่เก่งที่สุดคนหนึ่ง
เชื่อในพรแสวง
ในบทสัมภาษณ์หลายๆ ชิ้น สื่อหลายสำนักพร้อมใจให้สมญานามสมบูรณ์ไว้ว่า ‘คุณพ่ออินดี้’ เพราะในจังหวะชีวิตช่วงหนึ่ง สมบูรณ์ถึงกับขายรถ ขายบ้าน มูลค่ารวมทั้งหมดกว่า 20 ล้าน เพื่อเป็นทุนพาครอบครัวไปตระเวนแข่งกอล์ฟที่สหรัฐอเมริกา
“ผมไม่ได้บ้าหรอก ถ้าเป็นคุณก็คงทำแบบผม เพราะตอนนั้นน้องเมไปไกลแล้ว เราเห็นทางของเขาแล้ว คือเริ่มมีชื่อเสียงในวงการ แข่งชนะหลายๆ รายการ แล้วเราจะไม่ไปต่อเหรอ? ผมตัดสินใจขายทุกอย่างเลย” สมบูรณ์ตอบอย่างมั่นใจตามสไตล์ชายผู้เด็ดขาดและมั่นใจในตัวเอง
นี่ไม่ใช่เงินก้อนใหญ่ที่เขาเคยสูญเสีย เขาเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านั้นเคยทำธุรกิจตกแต่งภายใน แต่ธุรกิจล้มช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 เงินเก็บทั้งชีวิตที่มีอยู่กว่า 30 ล้านบาทหายวับไปกับตา และเพราะวิกฤติครั้งนั้นทำให้เขาหันมาเล่นกอล์ฟอย่างจริงจังเพื่อไม่ให้ตัวเองคิดมาก และเริ่มจับธุรกิจเปิดร้านขายอุปกรณ์กอล์ฟตั้งแต่นั้นมา
ผมเริ่มจากศูนย์ พ่อแม่ผมเสียตั้งแต่อายุ 11 ขวบ ผมไม่ได้มีความรู้อะไร เพราะฉะนั้นผมจึงเชื่อในเรื่องการทำงานหนัก ผมเป็นคนดุ ทำอะไรต้องทำให้ได้ ผมจึงเชื่อในเรื่องพรแสวง ไม่ใช่พรสวรรค์ อยากได้อะไรต้องหาเอง
และนั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กสาวทั้งสองคนได้เริ่มจับไม้กอล์ฟตั้งแต่โมรียาอายุ 7 ขวบ เอรียาอายุ 5 ขวบ
“พอดีว่าหุ้นส่วนที่เปิดร้านขายอุปกรณ์กอล์ฟด้วยกัน เขาถอนตัวไป ตอนนั้นผมไม่มีทางเลือกก็เลยต้องไปเรียนคอร์ส fitting club หรือเรียนทำอุปกรณ์ไม้กอล์ฟอย่างจริงจังที่อเมริกา ผมเลยทำไม้เล็กๆ ให้โมรียาและเอรียาเอาไว้เล่นตอนเด็กๆ ให้เขาไปเล่นที่อื่นในช่วงที่ผมขายของ สุดท้ายเล่นไปเล่นมา ผมเลยคิดว่า สอนเขาเลยดีกว่า”
จากวันที่สองพี่น้องเริ่มจับไม้กอล์ฟตามประสาเด็ก กระทั่งกลายเป็นการจับไม้อย่างจริงจัง และเป็นที่รู้จักในนาม Thai Sisters ของแฟนกอล์ฟทั่วโลกในที่สุด
สร้างกติกาสู่เส้นทางนักกีฬาอาชีพ
“ผมเป็นคนดุนะ” เขายืนยันเช่นนั้นหลังเล่าให้ฟังว่า กรอบกติกาและกิจวัตรประจำวันของ Thai Sisters ตั้งแต่ 7-8 ขวบ เป็นเช่นไร
อย่างที่เกริ่นไว้แต่ต้นคือ ตื่นนอนตอน 6.45 วิ่งทุกเช้า รับประทานอาหารที่จัดเตรียมไว้ครบทั้ง 5 หมู่ ฝึกซ้อมกอล์ฟช่วงบ่ายในสนามจริงท่ามกลางแดดเปรี้ยง เรียนว่ายน้ำทุกวันอย่างไม่งอแง นอกจากนี้ ผู้เป็นพ่อต้องไปทำความเข้าใจกับโรงเรียนของคู่พี่น้อง Thai Sisters ว่า ครอบครัวจุฑานุกาลกำลังสร้างนักกีฬาอาชีพ เรื่องเรียนเป็นรอง
“ตอนนั้นใครเห็นผมฝึกลูกแบบนี้ก็ต่อว่ากันทั้งนั้น หาว่าผมบังคับลูกเกินไป แต่ผมก็บังคับจริงๆ นะ คือผมเลือกแล้วว่าจะต้องฝึกฝนจนเป็นอาชีพ เพราะฉะนั้นวินัยและร่างกายเป็นสิ่งสำคัญมาก ถึงเวลาลงน้ำต้องลง วิ่งก็ต้องวิ่ง และถ้าฐานความคิดช่วงเด็กๆ แน่น จนกลายเป็นความแข็งแกร่ง เป็นวินัย ต่อไปเขาก็จะทำมันอย่างเป็นกิจวัตรประจำวัน”
ไม่ใช่แค่นั้น ‘คุณพ่ออินดี้’ ยังอินดี้ขนาดเอาการบ้านของลูกมาทำแทน เมื่อครูมาทราบภายหลังจึงต้องเชิญผู้ปกครองไปพูดคุย ซึ่งสมบูรณ์ก็ยืนยันชัดเจนอีกครั้งว่า เขาได้เลือกเส้นทางนี้แล้ว
“ทางโรงเรียนค่อนข้างเข้าใจ หรือเขายอมผมก็ไม่รู้ (หัวเราะ) เขาอนุญาตให้เด็กๆ เรียนถึงเที่ยง ตอนที่เอรียาอายุ 8 ขวบ แล้วเริ่มไปต่างประเทศ (ตัวแทนประเทศเข้าแข่งขัน จูเนียร์ เวิลด์ กอล์ฟ แชมเปียนชิป ที่สหรัฐ) ต้องขาดเรียน ครูก็จะให้มาเรียนวันเสาร์-อาทิตย์ หรือจับกลุ่มเรียนเพิ่มเติมกับครู”
ถามว่าทั้งหมดนี้ทำไปเพื่ออะไร นี่คือการกดดันและทำให้เด็กคนหนึ่งไม่ได้เล่นเหมือนเด็กคนอื่นในวัยเดียวกันหรือเปล่า? สมบูรณ์ตอบอย่างชัดเจนว่า เด็กทั้งคู่ก็มีชีวิตอย่างเด็กคนอื่นทั่วไป แต่อาจต้องทำความเข้าใจด้วยว่า เขากำลังสร้างพิมพ์เขียวสำหรับการสร้างนักกีฬาอาชีพ
และเพราะเขาไม่เชื่อในพรสวรรค์ แต่เชื่อเกินร้อยในพรแสวง ซึ่งมาควบคู่กันกับการตั้งเป้าหมายให้ชัดว่า ‘ครอบครัวเรา’ โดยเฉพาะพ่อแม่ต้องการสนับสนุนลูกให้เป็นนักกีฬาอาชีพ ไม่ใช่แค่สนับสนุนให้เล่นกีฬา ที่สำคัญต้องมั่นคงและสร้างกติกาในการฝึกซ้อมและฝึกวินัยให้เพียงพอ
ที่บอกว่าเด็กต้องมีพรสวรรค์ ไม่จำเป็นเลย ถ้าพ่อแม่ดำเนินนโยบายที่ถูกต้อง สำหรับผม พ่อแม่สำคัญที่สุดในการสร้างนักกีฬา แต่ถ้าเราใช้วิธีเก่าๆ ก็ไม่ได้จริงๆ เช่น เราเชื่อมั่นในโค้ชเกินไป อะไรก็โยนให้โค้ชหมด แต่คนที่อยู่กับเด็กๆ คือพ่อแม่
“ตอนนี้แค่เห็นเด็กๆ จับไม้ตีกอล์ฟ ผมดูรู้เลยว่าจะลงหรือไม่ลง เพราะเราอยู่กับเขา เราเห็นทุกอย่าง เห็นกำลังแขนของเขา ความเร็วของเหล็ก แรงลมที่ปะทะมา คือทุกอย่างมากกว่าโค้ชไปแล้ว แถมยังเป็นนายทุน เป็นขี้ข้าด้วย (ยิ้ม) ต้องนวดเท้า นวดตัว ทำทั้งหมดให้เขา”
ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
จากการฝึกอย่างหนักตั้งแต่เล็กๆ ผ่านความกดดันทั้งในโลกของการทำงานและการฝึกซ้อมอย่างโชกโชน ปฏิเสธไม่ได้ว่านั่นคือหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เธอทั้งคู่ก้าวขึ้นสู่อันดับโลก เป็นนักกีฬาอาชีพ ทำงานเร็วกว่าคนรุ่นเดียวกันที่อยู่ในหลักสูตรการศึกษาทั่วไป
“เขา (เมและโม) เคยให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า เขามีช่วงชีวิตวัยเด็กที่น้อย แต่ถ้าถามผม ผมก็มีช่วงผู้ใหญ่ที่น้อยเหมือนกัน (หัวเราะ) เพราะเราอยู่ด้วยกันตลอดเวลา เวลาที่เขาซ้อม ผมก็อยู่ข้างๆ ไม่กล้าไปไหน เพราะคิดว่าถ้าอยากให้เขาขยัน เราก็ต้องทำให้ดู ถ้าลูกซ้อมแล้วเรากลับมานั่งดูคลิป อ่านหนังสือเล่น แบบนี้ก็ไม่น่าใช่
“แต่พอช่วงที่เขาอายุ 12-13 ปี เป็นวัยรุ่นและเก่งในอาชีพแล้ว เราก็เริ่มปล่อย พอเขาเป็นวัยรุ่น ผมก็ไปยุ่งกับชีวิตเขาไม่ได้แล้ว ผมปล่อยเลย เพราะผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมสร้างมา กรอบที่วางไว้มันแน่นแล้ว เขามีวินัยและแข็งแรง วันที่เขาขึ้นที่หนึ่งของโลกผมก็ไม่ได้อยู่ในสนามนะ รู้พร้อมข่าวเลย มันเป็นปกติของกอล์ฟ แพ้ชนะเป็นเรื่องปกติ แต่ใครจะรู้ว่าวันนั้นเขาจะชนะ
“ถึงผมจะกลับมาเมืองไทยเพื่อรักษาสุขภาพ (โรคหัวใจ) ส่วนเด็กๆ อยู่กับแม่ที่นู่น แต่พวกเขาก็เดินตามแผนต่อ เพราะเขารู้แล้วว่าต้องทำอย่างไร แล้วก็เดินตามแผนที่ตั้งไว้”
มีแรงต้านทานมากมายที่ส่งมาถึงสมบูรณ์ ทั้งวิจารณ์โปรแกรมการฝึกซ้อมและการตั้งกติกาที่เขามีต่อลูก รวมถึงความอินดี้และเจ้าอารมณ์ แต่ทั้งหมดสมบูรณ์ยืนยันว่า
“เราแค่มองต่างกัน”
เขาเล่าให้ฟังว่า ช่วงที่เด็กๆ เริ่มแข่งขันอาชีพ หรือช่วงที่เอรียาอายุ 11-12 ปี มีองค์กรหนึ่งเข้ามาช่วยสนับสนุนความรู้และออกแบบโปรแกรมสำหรับนักกีฬาให้ หนึ่งในนั้นคือ ทีมพูดคุยจากจิตแพทย์ สมบูรณ์เล่าว่า ช่วงนั้นทำให้โปรแกรมการฝึกซ้อมของลูกค่อยผ่อนคลายขึ้น มีกติกาการฝึกซ้อมใหม่ คือมีวันหยุดเบาสบายมากขึ้นสำหรับเด็กๆ แต่เขายืนยันชัดว่า วิธีการที่เขาออกแบบ คือการสร้างนักกีฬาอาชีพ ต้องมีวินัยและความเชื่อใจจากครอบครัว ซึ่งอาจเป็นวิธีที่คนอื่นเข้าใจได้ยาก และครอบครัวอื่นอาจไม่ต้องทำตาม
“คือไม่ต้องขายบ้านขายรถอย่างผม” เขาย้ำและหัวเราะ แต่ยืนยันเช่นเดิมคือ พิมพ์เขียวและกติกาเป็นสิ่งสำคัญ
แม้หลายๆ คนอาจจะไม่ค่อยเข้าใจคุณพ่ออินดี้คนนี้มากนัก แต่ในบทสัมภาษณ์ของ Thai Sisters หลายๆ ชิ้นกล่าวคล้ายกันว่า สิ่งที่ผลักดันพวกเธอมาถึงวันนี้ได้ก็เพราะการสนับสนุน ความรัก และความเข้าใจจากครอบครัว
“เวลาที่แพ้ ผมไม่เคยถามเลยว่า ‘ทำไม’ เพราะถ้าทำอย่างเต็มที่ ทำอย่างที่วางแผนแล้วแพ้ ไม่เป็นไรเลย มีแข่งทุกอาทิตย์ อาทิตย์หน้าเอาใหม่ ไม่มีใครไม่เคยแพ้ เดี๋ยวพ่อดูให้ แต่ถ้าขี้เกียจซ้อม อันนี้อีกเรื่อง”
อาจเป็นคำตอบที่บอกตัวตนอีกมุมหนึ่งของคุณพ่อและโค้ชสมบูรณ์คนนี้ได้ ว่านอกจากจะอินดี้แล้ว ยังมีมุมอบอุ่นและเข้าใจอย่างที่โปรเมให้สัมภาษณ์ด้วย
ปัจจุบันสมบูรณ์กล่าวว่า เขาอยากใช้ชีวิตหลังจากนี้เพื่อส่งต่อแนวความคิด วิธีการ และอยากสร้างนักกีฬาอาชีพรุ่นใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นต่อไป รุ่นสู่รุ่น ด้วยความคิดที่ย้ำตลอดการสนทนาในบ่ายวันนั้นว่า
“ผมไม่เชื่อในพรสวรรค์ เชื่อในพรแสวง และเราสร้างมันได้ถ้าเดินไปถูกทาง”
หมายเหตุ: คุณพ่อสมบูรณ์แจ้งว่า หากผู้ปกครองท่านใดต้องการคำปรึกษาเรื่องโปรแกรมการฝึกซ้อม เขายินดีให้คำปรึกษาอย่างไม่เสียค่าใช้จ่าย และย้ำว่า อย่ารอให้เด็กๆ ‘ฉายแวว’ เพราะการฝึกนักกีฬาไม่มีคำว่า ‘แวว’ หรือ ‘พรสวรรค์’