- สมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดียทำให้การใช้หน้าจอได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเด็กและวัยรุ่น เปลี่ยนผ่านจาก ‘วัยเด็กที่เน้นการเล่นสนุก’ (Play-Based Childhood) เป็น ‘วัยเด็กที่เน้นแต่การเล่นโทรศัพท์’ (Phone-Based Childhood)
- เทคโนโลยีเหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงสมองและพัฒนาการของเด็กไปอย่างสิ้นเชิง เด็กขาดการพัฒนาทักษะในโลกจริง มีแนวโน้มที่จะวิตกกังวลง่ายขึ้น จัดการอารมณ์ได้ยากขึ้น และมีสมาธิที่สั้นลง
- โจนาธาน เฮดท์ นักจิตวิทยาสังคมจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ชี้ว่าการปกป้องลูกในโลกจริงเกินเหตุ ในขณะที่ปกป้องลูกในโลกเสมือนน้อยเกินไป คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กยุคนี้กลายเป็น The Anxious Generation
คุณจะยอมส่งลูกของคุณไปดาวอังคารไหม?
นี่เป็นคำถามจากบทนำในหนังสือ The Anxious Generation (ยุคสมัยแห่งความวิตกกังวล) ของ โจนาธาน เฮดท์ (Jonathan Haidt) นักจิตวิทยาสังคมและศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก แน่นอนว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนยอม เพราะดาวอังคารมีสภาพแวดล้อมที่อันตรายกว่าโลกมาก อีกทั้งบริษัทที่ส่งคนไปดาวอังคารก็คงไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กเลย
ดาวอังคารในเรื่องนี้ไม่ต่างอะไรจาก ‘โซเชียลมีเดีย’ ในโลกโซเชียลมีคนแปลกหน้ามากมายและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสำหรับเด็ก อีกทั้งบริษัทที่สร้างแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็คงไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กเลย แล้วทำไมพ่อแม่ถึงยอมให้ลูกเล่นโซเชียลมีเดียโดยไร้การดูแล ซ้ำยังให้เด็กทำสัญญาเปิดบัญชีผู้ใช้โดยปราศจากความยินยอมจากผู้ปกครอง
อันที่จริงจะโทษพ่อแม่ก็ไม่ถูก เพราะในตอนที่โซเชียลมีเดียเพิ่งเกิดขึ้น ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อเด็กเข้ามาใช้งานจะส่งผลอย่างไร เฮดท์ยกตัวอย่างว่าเหมือนกับแอลกอฮอล์และบุหรี่ที่ตอนแรกสามารถขายให้กับทุกคนได้ จนกระทั่งค้นพบว่าของเหล่านี้เป็นอันตราย เลยมีการกำหนดอายุขั้นต่ำที่จะสามารถซื้อได้
แล้ว ‘โซเชียลมีเดีย’ อันตรายกับเด็กอย่างไร?
ในหลายปีมานี้ เด็กและวัยรุ่นทั่วโลกมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น
- การสำรวจของกรมสุขภาพจิตจากกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี ระหว่างวันที่ 12 ก.พ. 2022 – 27 ก.พ. 2024 พบเด็กเสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 10.86 และเสี่ยงฆ่าตัวตายมากถึงร้อยละ 19.12
- การวิเคราะห์ข้อมูลจาก National Survey on Drug Use and Health ของสหรัฐฯ พบว่า อัตราการเกิดภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นอายุ 12-17 ปี เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 8.1% ในปี 2009 เป็น 15.8% ในปี 2019
- ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2024 ระบุว่า 1 ใน 7 ของเด็กอายุ 10-19 ปีทั่วโลกประสบกับปัญหาสุขภาพจิต แต่ส่วนมากกลับไม่ได้รับการตรวจและรักษา โดยส่วนใหญ่มักเป็นภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และความผิดปกติทางพฤติกรรม
จากข้อมูลเหล่านี้ทำให้เห็นได้ว่าวัยรุ่นทั่วโลกมีปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฮดท์เสนอว่า หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้วัยรุ่นมีปัญหาสุขภาพจิต คือ ‘โซเชียลมีเดีย’ และ ‘สมาร์ตโฟน’
เฮดท์กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา วัยรุ่นในสหรัฐฯ มีปัญหาภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานั้นคือการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีอย่าง ‘สมาร์ตโฟน’ และ ‘โซเชียลมีเดีย’
เทคโนโลยีนี้เติบโตขึ้นทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ตั้งแต่ปี 2013 ครัวเรือนไทยมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเป็นอินเทอร์เน็ตจากสมาร์ตโฟนที่มีการแข่งขันราคาอย่างดุเดือดในช่วงเวลานั้น การเข้าถึงโซเชียลมีเดียจึงสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านโทรศัพท์เพียงเครื่องเดียว ไม่จำกัดแค่บนคอมพิวเตอร์อีกต่อไป
สมาร์ตโฟนทำให้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียได้อย่างง่ายดาย ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มเด็กและวัยรุ่นด้วย ในจุดนี้การใช้หน้าจอได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันและเบียดบังกิจกรรมอื่นๆ ที่เด็กควรทำ นั่นคือ ‘การเล่นสนุกในโลกจริง’
กล่าวได้ว่า เด็กในยุคนี้ได้เปลี่ยนผ่านจาก ‘วัยเด็กที่เน้นการเล่นสนุก’ (Play-Based Childhood) เป็น ‘วัยเด็กที่เน้นแต่การเล่นโทรศัพท์’ (Phone-Based Childhood)
เฮดท์เรียกการเปลี่ยนผ่านนี้ว่า ‘The Great Rewiring’ (การเปลี่ยนระบบครั้งใหญ่) เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงสมองและพัฒนาการของเด็กไปอย่างสิ้นเชิงผ่านการดึงเด็กให้เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในโลกเสมือน เด็กมีแนวโน้มที่จะวิตกกังวลง่ายขึ้น จัดการอารมณ์ได้ยากขึ้น และมีสมาธิที่สั้นลง
เมื่อเด็กเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์ เด็กจะขาดการพัฒนาทักษะในโลกจริง เช่น ทักษะสังคม การจัดการความขัดแย้ง การสร้างปฏิสัมพันธ์ ฯลฯ ซึ่งทักษะเหล่านี้ไม่สามารถสร้างในโลกออกไลน์ได้ โดยเฮดท์ชี้ว่า ‘โลกออนไลน์/โลกเสมือน’ กับ ‘โลกจริง’ มีสิ่งที่แตกต่างกัน 4 ประการ ดังนี้
- การใช้ร่างกาย
โลกจริงต้องใช้ร่างกายในการสื่อสาร มีทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา เรารับรู้ว่ากำลังคุยกับคนอยู่จริงๆ แต่ในโลกเสมือนไม่ต้องใช้ร่างกาย ใช้เพียงแค่ข้อความในการสื่อสาร คู่สนทนาอาจไม่ใช่คนด้วยซ้ำไป (อย่างเช่น เอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบัน)
- ความต่อเนื่อง
การสื่อสารในโลกจริงต้องใช้ความต่อเนื่อง คนหนึ่งถาม อีกคนหนึ่งตอบ ดังนั้นการเรียนรู้จังหวะการพูดและการผลัดเปลี่ยนกันสนทนาจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่การสื่อสารในโลกเสมือนไม่มีความต่อเนื่อง คนหนึ่งพิมพ์ข้อความ อีกคนหนึ่งอาจใช้เวลาหลายชั่วโมงในการตอบ (นี่เป็นเหตุที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่เกิดความวิตกในการคุยโทรศัพท์หรือการสื่อสารที่ใช้ความต่อเนื่อง เพราะไม่มีเวลาคิดนานเหมือนกับการพิมพ์)
- จำนวนคนที่สื่อสารด้วย
ในโลกจริงมักเป็นการสื่อสารแบบหนึ่งต่อหนึ่ง หรือหนึ่งต่อหลายคน โดยเราจะมีปฏิสัมพันธ์ได้ทีละกลุ่มในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ในโลกเสมือนเกือบทั้งหมดเป็นการสื่อสารแบบหนึ่งต่อหลายคน เกิดการกระจายข้อมูลออกไปเป็นวงกว้างและมักไม่สามารถลบได้ โดยเราจะมีปฏิสัมพันธ์หลายๆ กลุ่มคู่ขนานกันไป
- การเข้าร่วมและออกจากกลุ่ม
ในโลกจริงจะมีเกณฑ์ที่สูงในการเข้าร่วมกลุ่มใดๆ เพราะต้องลงทุนและใช้เวลามากในการสร้างความสัมพันธ์ ทำให้เราไม่อยากละทิ้งกลุ่ม จึงพยายามรักษาและแก้ไขความขัดแย้งกันไป แต่ในโลกเสมือนการเข้าร่วมกลุ่มใดๆ จะมีเกณฑ์ที่ต่ำ เพราะไม่ต้องลงทุนในความสัมพันธ์มาก มักเป็นความสัมพันธ์แบบฉาบฉวยและตื้นเขิน ทำให้เราสามารถละทิ้งกลุ่มได้อย่างง่ายดาย ไม่ชอบก็แค่กดออกจากกลุ่มหรือบล็อกได้เลย
จากความแตกต่างระหว่างโลกออนไลน์กับโลกจริงทำให้เราเห็นได้ว่า การสื่อสารในโลกสองใบนี้ใช้รูปแบบที่ต่างกัน ดังนั้นการใช้เวลาในโลกออนไลน์เพียงอย่างเดียวจึงไม่สามารถนำไปสู่การเรียนรู้ทักษะในโลกจริงได้ อีกทั้งยังอาจนำไปสู่ความวิตกกังวลหรือประหม่าได้เมื่อต้องสื่อสารในโลกจริง
การใช้ ‘หน้าจอ’ อย่างไม่เหมาะสมคือปัญหา
ในปีนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชี้ว่า ปัญหาการติดการหน้าจอเป็นหนึ่งในประเด็นสุขภาพที่ต้องจับตา กลุ่มเด็กเล็กมีการเข้าถึงและใช้เวลากับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต) ที่เพิ่มขึ้นทุกปี
เนื่องด้วยพ่อแม่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานหาเลี้ยงดูครอบครัว ทำให้ใช้เวลาอยู่กับลูกน้อยลง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จึงเป็น ‘ตัวช่วย’ ในการเลี้ยงลูก เพราะอุปกรณ์เหล่านี้ดึงดูดความสนใจของเด็กได้เป็นอย่างดี ทำให้ลูกอยู่นิ่งและมีเวลาให้พ่อแม่จัดการงานอื่นได้
อีกทั้งเฮดท์ยังระบุว่า เทรนด์การเลี้ยงลูกในปัจจุบันคือ การปกป้องลูกในโลกจริงอย่างเกินเหตุ ในขณะที่การปกป้องลูกในโลกเสมือนกลับน้อยเกินไป กล่าวคือ พ่อแม่ไม่ยอมให้ลูกออกไปเล่นหรือทำกิจกรรมนอกบ้านเพราะกลัวว่าจะเป็นอันตราย อย่างน้อยการนั่งเล่นโทรศัพท์อยู่ในบ้านก็ยังอยู่ในสายตาของพ่อแม่ตลอดเวลา โดยที่ไม่รู้เลยว่าหน้าจอก็เป็นภัยร้ายกับเด็กได้เช่นกัน
การให้เด็กเล็กใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดต่อกันเป็นเวลานานหรือเป็นประจำ ทำให้เด็กขาดปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ ไม่ได้เรียนรู้การสื่อสาร ทักษะทางสังคม และการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น
(ทั้งนี้ อาจมีบางคนแย้งว่าการให้เด็กดูคลิปจะได้ฝึกพูด ฝึกภาษาได้ ซึ่งไม่ถูกต้องเท่าไรนัก)
จูเลียน ไพน์ (Julian Pine) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล กล่าวว่า เด็กเรียนรู้การพูดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ การฟังเสียง และการสังเกตปาก (เป็นเหตุให้คำแรกที่เด็กพูดได้จะเป็นเสียงที่เกิดจากริมฝีปาก เช่น /ม/ /ป/ /บ/) หน้าจอเป็นปฏิสัมพันธ์แบบทางเดียว ไม่เหมือนกับคนที่มีการโต้ตอบซึ่งกันและกัน ดังนั้นการใช้หน้าจอมากเกินไปจนขาดปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์อาจทำให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาที่ล่าช้าและมีปัญหาการสื่อสารได้
สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (AAP) แนะนำว่า เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรใช้หน้าจอเลย และเด็กอายุ 2-5 ปี ควรใช้ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน โดยมีผู้ปกครองอยู่ด้วยตลอดเพื่อกำกับดูแลและพูดคุยด้วย อีกทั้งควรเลือกใช้เฉพาะสื่อสร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการคิดการอ่าน
ส่วนในเด็กโตขึ้นมาหน่อยมีการศึกษาพบว่า การใช้โซเชียลมีเดียเป็นประจำมีความเชื่อมโยงอย่างมากกับอาการซึมเศร้า วิตกกังวล และปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ อย่างไรก็ดี หากการใช้งานมีพ่อแม่กำกับดูแล การสนับสนุนจากครอบครัว และการปลูกฝังความเมตตากรุณาต่อตนเอง (Self-compassion) ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นเหมือนเกราะป้องกันไม่ให้ผลเสียที่เกิดจากโซเชียลมีเดียมาทำร้ายเด็กได้
ไฮดท์เน้นย้ำว่า การปกป้องลูกในโลกจริงเกินเหตุ ในขณะที่ปกป้องลูกในโลกเสมือนกลับน้อยเกินไป คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่วิตกกังวลมากขึ้น การเล่นสนุกในโลกจริงถูกพ่อแม่ห้ามปรามและแทนที่ด้วยโลกเสมือนอย่างไร้การดูแล ทำให้เด็กขาดการพัฒนาทักษะทางสังคมที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเด็กจากกรมสุขภาพจิตแนะนำว่า การเลี้ยงลูกในยุคนี้ต้องจำกัดระยะเวลาการใช้หน้าจอ, เปิดโอกาสให้เด็กได้พบปะและทำกิจกรรมกับเพื่อนวัยเดียวกัน, หากิจกรรมเสริมทักษะอื่นๆ และฝึกให้เด็กรู้จักอดทนและรอคอย เพื่อให้เขาได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล
อ้างอิง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ [สสส.]. (2567). จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2568.
สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (ม.ป.ป.). สำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน.
Isriya Paireepairit. (2014). 2014 Thai Telecom Industry: Battle for Cheap Smartphones.
Jonathan Haidt. (2024). The Anxious Generation: How the Great Rewiring of Childhood Is Causing an Epidemic of Mental Illness. Penguin Press.
Liu, T., Cheng, Y., Luo, Y., Whang, Z., Pang, P.C., Xia, Y. & Lau, Y. (2024). The Impact of Social Media on Children’s Mental Health: A Systematic Scoping Review. Healthcare, 12(23), 2391.
Massaroni, V., Donne, V.D., Marra, C., Arcangeli, V., & Chieffo, D.P.R. (2024). The Relationship between Language and Technology: How Screen Time Affects Language Development in Early Life—A Systematic Review. Brain Sciences, 14(1), 27.
PPTV Online. (2024). เปิดปม “สุขภาพจิต” ของวัยรุ่น รีบสังเกตเยียวยาก่อนรุนแรง!.
RobWords. (2025). The incredible way babies learn to talk.
The MATTER. (2024). ผลสำรวจพบ Gen Z และ Millennials ชอบพิมพ์ข้อความ มากกว่าโทรศัพท์ เพราะการโทรทำให้วิตกได้มากกว่า.
Wilson, S., & Dumornay, N.M. (2023). Rising Rates of Adolescent Depression in the United States: Challenges and Opportunities in the 2020s. Journal of Adolescent Health, 70(3), 354-355.World Health Organization [WHO]. (2024). Mental health of adolescents.