- ‘ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ’ เป็นผลงานของ ฮิงาชิโนะ เคโงะ นักเขียนนิยายชื่อดังชาวญี่ปุ่น ที่ได้รับแปลเป็นภาษาต่างๆ รวมทั้งภาษาไทย โดย น้ำพุสำนักพิมพ์ แปลโดย กนกวรรณ เกตุชัยมาศ อีกทั้งยังถูกดัดแปลงเป็นซีรีส์ ละครเวที รวมทั้งภาพยนตร์
- หนังสือเล่าเรื่องราวของชายหนุ่มสามคนที่เข้าไปในบ้านร้างที่เป็นอดีตร้านชำ และพบจดหมายขอคำปรึกษาจากอดีตเมื่อ 40 ปีก่อน จึงตัดสินใจตอบจดหมายแทนเจ้าของร้านเดิม โดยจดหมายเหล่านั้นเชื่อมโยงโลกปัจจุบันกับอดีต และได้เรียนรู้ความหมายของการฟังอย่างตั้งใจผ่านการตอบจดหมายเหล่านั้น
- การรับฟังอย่างตั้งใจ โดยไม่ด่วนตัดสิน ยังช่วยให้ผู้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ได้เห็นและเข้าใจปัญหาจากมุมมองของผู้ที่มีปัญหา ไม่ใช่มองจากมุมของตัวเองเพียงอย่างเดียว
เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ปาฏิหาริย์’ เราจะนึกถึงความพิเศษที่ผิดปกติ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะโดยรากศัพท์แล้ว คำนี้หยิบยืมมาจากคำภาษาบาลีและสันสกฤต แปลว่า สิ่งอัศจรรย์ เหนือวิสัยที่คนธรรมดาสามัญสามารถทำได้
ขณะที่ในภาษาอังกฤษ คำที่ตรงกับคำว่า ปาฏิหาริย์ ก็คือ Miracle ซึ่งมีความหมายว่า เหตุการณ์อันน่ายินดีและน่าประหลาดใจ ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ด้วยกฎธรรมชาติ หรือหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์
ด้วยเหตุนี้ เวลาที่มีการใช้คำว่า ‘ปาฏิหาริย์’ เราก็มักจะนึกถึงสิ่งที่พิเศษ ไม่ธรรมดา ดีเลิศเกินจริง จนบางครั้ง เราก็หลงลืมไปว่า การกระทำที่เป็นเรื่องปกติ ธรรมดาสามัญ ก็สามารถส่งผลให้เกิดสิ่งดีๆ อย่างเหลือเชื่อไม่แพ้ปาฏิหาริย์ได้เช่นกัน
หนังสือเรื่อง ‘ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ’ คือหนึ่งในผลงานการเขียนของ ฮิงาชิโนะ เคโงะ นักเขียนนิยายชื่อดังชาวญี่ปุ่น ที่สร้างความประทับใจไปทั่วโลก ได้รับแปลเป็นภาษาต่างๆ (รวมทั้งภาษาไทย โดย น้ำพุสำนักพิมพ์ แปลโดย กนกวรรณ เกตุชัยมาศ) อีกทั้งยังถูกดัดแปลงเป็นซีรีส์ ละครเวที รวมทั้งภาพยนตร์ ทั้งเวอร์ชันภาษาญี่ปุ่นและภาษาจีน
สำหรับในบ้านเรา หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มักจะถูกแนะนำเป็นลำดับต้นๆ เมื่อมีการตั้งคำถามถึงหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจ หรือนวนิยายฟีลกู้ดที่อ่านแล้วให้ความอิ่มเอมใจ รวมทั้งปลุกกำลังใจในการต่อสู้กับปัญหาชีวิต
ที่จริงแล้ว เคโงะ เป็นนักเขียนที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นปรมาจารย์ด้านนิยายสืบสวนสอบสวน ซึ่งเจ้าตัวเองก็ชอบอ่านหนังสือแนวนี้ และยอมรับว่า นิยายแนวสืบสวนสอบสวน คือแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาอยากเป็นนักเขียน
แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผลงานของเคโงะ มีความโดดเด่นและแตกต่างจากนิยายสืบสวนสอบสวนทั่วๆ ไป ก็คือ เขามักจะสอดแทรกเรื่องราวดราม่า ปมปัญหาชีวิตของตัวละคร ซึ่งในหนังสือเรื่อง ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ เป็นผลงานที่ไม่ใช่แนวสืบสวนสอบสวน แต่เป็นนิยายดราม่าเต็มตัว เคลือบฉาบด้วยความแฟนตาซีเหนือจริง
ตัวละครหลักของหนังสือเล่มนี้ เป็นชายหนุ่มสามคน ประกอบด้วย โชตะ อัตสึยะ และโคเฮ ทั้งสามคือตัวแทนของคนขี้แพ้ สถานะจัดอยู่ในระดับล่างของสังคม เรียนก็ไม่จบ ทำงานก็ไม่ได้เรื่อง สิ่งเดียวที่ช่วยให้พวกเขาอยู่รอดได้ คือ การก่ออาชญากรรมเล็กๆ น้อยๆ เช่น ขโมยข้าวของตามบ้านคน เพื่อประทังชีวิตไปวันๆ
หลังจากงัดแงะบ้านหลังหนึ่งที่พวกเขาดูลาดเลาไว้ก่อนแล้ว แต่กลับไม่ได้ทรัพย์สินมากมายอย่างที่คิดไว้ ชายหนุ่มทั้งสาม จำเป็นต้องหาที่กบดานชั่วคราว เพื่อรอเวลาให้ถึงตอนเช้า จะได้โดยสารรถไฟหลบหนีพร้อมกับเงินสดที่ขโมยมาได้
ท่ามกลางความเงียบสงัดของค่ำคืน หัวขโมยหนุ่มทั้งสาม พบกับบ้านร้างหลังหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นร้านขายของชำมาก่อน ทั้งสามเข้าไปในบ้านหลังนั้น หมายจะหลับสักงีบเอาแรง เพื่อรอให้ท้องฟ้าเริ่มสาง ทว่า ในตอนนั้นเอง ก็มีเสียงดังมาจากกล่องรับไปรษณีย์ของบ้าน
เมื่อหายตกใจแล้ว อัตสึยะ เดินไปดูที่กล่องรับไปรษณีย์และพบจดหมายฉบับหนึ่ง เขียนชื่อผู้ส่งว่า ‘กระต่ายในดวงจันทร์’ แต่ไม่ได้จ่าหน้าชื่อผู้รับ
เนื้อความในจดหมายฉบับดังกล่าว เป็นการขอคำปรึกษาปัญหาชีวิตของหญิงสาวที่เรียกตัวเองว่า กระต่ายในดวงจันทร์ โดยเล่าว่า เธอเป็นนักกีฬา ผู้มีความฝันอยากเป็นตัวแทนของประเทศ ลงแข่งขันในรายการมหกรรมกีฬาโอลิมปิก แต่ปัญหาของเธอก็คือ ชายหนุ่มคนรักของเธอ ผู้คอยสนับสนุนและให้กำลังใจเธอทุกอย่าง ในการทำตามความฝันเพื่อเป็นตัวแทนประเทศลงแข่งโอลิมปิก ที่กำลังจะจัดขึ้นในปีหน้า เกิดล้มป่วยหนัก ซึ่งหมอบอกว่า เขามีโอกาสจะอยู่ได้เพียงแค่หกเดือนเท่านั้น
กระต่ายในดวงจันทร์ควรทำอย่างไร เธอควรจะทุ่มเทฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ เพื่อทำตามความฝัน ซึ่งไม่ใช่แค่ความฝันของเธอคนเดียว แต่ยังเป็นความฝันของชายหนุ่มคนรักด้วย ที่อยากเห็นหญิงสาวได้ลงแข่งโอลิมปิก หรือ ควรจะเลิกล้มความฝันนั้นแล้วใช้เวลาอยู่กับชายหนุ่มคนรักจนถึงนาทีสุดท้ายในชีวิตของเขา
“ทุกวันนี้ฉันใช้ชีวิตโดยไม่รู้จะทำอย่างไรดี… ระหว่างที่กำลังกลุ้มใจอยู่คนเดียว ฉันบังเอิญไปได้ยินข่าวลือเรื่องร้านชำนามิยะของคุณเข้า ก็เลยเกิดความหวังขึ้นมารำไรว่า อาจจะได้รับคำแนะนำดีๆ… ได้โปรดช่วยฉันด้วยนะคะ”
หลังจากนั้น ชายหนุ่มทั้งสามเจอนิตยสารเล่มหนึ่ง ที่ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับร้านชำของคุณนามิยะ โดยในบทความระบุว่า จุดเริ่มต้นของการเป็นร้านชำที่ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิต เริ่มมาจากชื่อ ‘นามิยะ’ ใกล้เคียงกับคำว่า ‘นายะมิ’ ที่แปลว่า ปัญหากลุ้มใจ ทำให้เด็กๆ ในละแวกนั้น เริ่มพูดเล่นกันว่า ร้านของคุณนามิยะ รับปรึกษาปัญหากลุ้มใจทุกชนิด
โดยในช่วงแรกๆ จะมีแต่พวกเด็กๆ ที่มาขอคำปรึกษาจากคุณนามิยะ ซึ่งปัญหากลุ้มใจของพวกเด็กๆ มักจะเป็นปัญหาทีเล่นทีจริง เช่น ถ้าผมไม่ชอบเรียนหนังสือเลย แต่อยากสอบได้ 100 คะแนนเต็ม จะต้องทำอย่างไร ทางด้านคุณนามิยะ แม้จะรู้ว่าเป็นแค่คำถามลองภูมิ แต่ก็ให้คำตอบที่ผ่านการคิดใคร่ครวญมาอย่างดี ทำให้ทุกคนที่ขอคำปรึกษา ต่างพอใจกับคำตอบที่ได้รับ
จากจุดเริ่มต้นที่เป็นแค่การเล่นสนุกของเด็กๆ ค่อยๆ เติบโตกลายเป็นเรื่องจริงจัง คนที่มีปัญหาชีวิต ไม่ว่าจะเรื่องความรัก การเรียน การทำงาน หรือปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น ต่างเชื่อว่า ถ้าเขียนจดหมายมาขอคำแนะนำจากคุณนามิยะ พวกเขาจะได้รับคำตอบ ที่อาจเป็นทางออกของชีวิตได้ ในรูปของจดหมายที่วางไว้ในกล่องส่งนมที่หลังร้านในวันรุ่งขึ้น
สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ เรื่องราวของร้านชำนามิยะ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว ในปัจจุบัน ร้านชำแห่งนี้กลายเป็นบ้านร้างไม่มีคนอยู่ ตัวคุณนามิยะ เจ้าของร้านน่าจะเสียชีวิตไปแล้ว ชายหนุ่มทั้งสาม แม้จะเป็นคนร้ายทำผิดกฎหมาย แต่ก็ยังมีจิตใจที่ดี จึงตัดสินใจสวมบทบาทคุณนามิยะ เขียนจดหมายตอบเพื่อคลี่คลายปัญหาให้แก่หญิงสาว ผู้เรียกตัวเองว่า กระต่ายในดวงจันทร์ หรืออย่างน้อย ก็ช่วยให้หญิงสาวรู้สึกดีกว่าไม่ได้รับจดหมายตอบกลับเลย
หลังจากส่งจดหมายโต้ตอบกันหลายฉบับ ชายหนุ่มทั้งสาม (รวมทั้งคนอ่านหนังสือด้วย) ได้พบความจริงอันน่าตกใจว่า จดหมายฉบับนี้ถูกส่งมาจากอดีตเมื่อสี่สิบปีก่อน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ร้านขายของชำของคุณนามิยะ ได้กลายเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างโลกปัจจุบันกับโลกอดีตไปแล้ว
นอกจากนี้ ยังดูเหมือนว่า เวลาในร้านชำของคุณนามิยะ แทบจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ หรือเดินช้าลงมาก ตราบใดที่ชายหนุ่มทั้งสามยังอยู่ในบ้านหลังนี้ เวลาของพวกเขาแทบจะไม่เดินหน้าเลย ซึ่งนั่นหมายความว่า พวกเขาสามารถใช้เวลาเขียนจดหมายโต้ตอบกับผู้ส่งจดหมายได้นานเท่าที่ต้องการ
ข้อได้เปรียบของการอยู่คนละช่วงเวลา ก็คือ หัวขโมยทั้งสามรู้ว่า ประเทศญี่ปุ่นจะตัดสินใจคว่ำบาตรไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกที่สหภาพโซเวียตเป็นเจ้าภาพ ในปี 1980 นั่นหมายความว่า ต่อให้กระต่ายในดวงจันทร์ ทุ่มเทฝึกซ้อมจนได้เป็นตัวแทนของประเทศ เธอก็ไม่มีโอกาสได้ลงแข่งโอลิมปิกอยู่ดี ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงเขียนจดหมายบอกหญิงสาวด้วยถ้อยคำที่หนักแน่นว่า จงทิ้งความฝันไปโอลิมปิกเสีย และใช้เวลาอยู่กับชายหนุ่มคนรักที่ป่วยหนักดีกว่า
“โอลิมปิกเป็นเพียงแค่งานกีฬาสีขนาดใหญ่เท่านั้น คงเป็นเรื่องน่าเสียดายมากหากคุณต้องเสียเวลาไปกับเรื่องนั้นทั้งที่เหลือเวลาอยู่ร่วมกับคนรักเพียงน้อยนิด”
ครับ ฟังดูน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดจริงๆ แต่หญิงสาวกลับรู้สึกลังเล เพราะทุกครั้งที่ได้คุยกับชายคนรักว่า เธอทุ่มเทกับการฝึกซ้อมมากแค่ไหน ชายหนุ่มก็ยิ่งแสดงความดีใจออกมาอย่างชัดเจน จนตัวเธอเองไม่แน่ใจแล้วว่า ควรจะเลิกฝึกซ้อมตามคำแนะนำของคุณนามิยะดีหรือไม่
ถ้าคุณเคยรับบทเป็นที่ปรึกษาให้กับเพื่อน คงรู้ดีว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะโดยปกติแล้ว การที่คนเราต้องการขอคำปรึกษาจากใครสักคน ก็เพราะความไม่แน่ใจ ลังเล สับสน ในคำตอบที่ตัวเองอาจจะมีอยู่ในใจแล้ว ดังนั้น หลายต่อหลายครั้งที่ได้คำตอบที่เหมือนจะดีที่สุดแล้ว เจ้าของปัญหา กลับยังไม่กล้าตัดสินใจเชื่อตามคำแนะนำนั้น
ชายหนุ่มทั้งสามรู้สึกโกรธที่กระต่ายในดวงจันทร์ ไม่ทำตามคำแนะนำที่ดีที่สุดที่พวกเขามีให้ จึงต่อว่าอย่างรุนแรงผ่านทางจดหมาย พร้อมทิ้งท้ายว่า ถ้าเธออยากทำอะไรก็เชิญ ทำอย่างที่ต้องการและเชิญเสียใจกับผลที่ตามมาให้พอ
จากนั้น จดหมายของกระต่ายในดวงจันทร์ก็หายไปพักใหญ่ๆ ก่อนจะส่งมาอีกฉบับ (ซึ่งถ้าจะยึดตามเวลาของกระต่ายในดวงจันทร์ ก็คือหลายเดือนหลังจากนั้น) โดยหญิงสาวได้เขียนจดหมายมาเพื่อขอบคุณคุณนามิยะ และบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเธอ
กระต่ายในดวงจันทร์ เลือกที่จะไม่เชื่อคำแนะนำของคุณนามิยะ เธอตัดสินใจมุ่งมั่นกับการฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายก็ไม่ผ่านการคัดตัว ขณะที่นักกีฬาคนอื่นที่ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนของประเทศ ก็ไม่ได้ลงแข่งโอลิมปิก เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศคว่ำบาตรการแข่งขันที่สหภาพโซเวียตเป็นเจ้าภาพ
แต่สิ่งที่หญิงสาวอยากบอกที่สุด คือ ในช่วงนาทีสุดท้ายก่อนสิ้นใจ ชายคนรักของเธอได้พูดกับเธอว่า “ขอบคุณสำหรับความฝันนะ” ตอนนั้นเอง กระต่ายในดวงจันทร์ จึงรู้ว่า ความฝันที่เธอและเขามีร่วมกันนั้นเอง ที่ทำให้ชายคนรักยังมีกำลังใจต่อสู้กับโรคร้ายจนวันสุดท้ายได้
อัตสึยะ โชตะ และโคเฮ ถึงกับหัวเราะออกมาที่เรื่องราวจบลงด้วยดี ทั้งที่ทุกอย่างผิดไปจากสิ่งที่คิดไว้ คำแนะนำที่ดีที่สุดของพวกเขา โดยเฉพาะประโยคเด็ดที่ว่า “โอลิมปิกก็แค่งานกีฬาสีเท่านั้น” กลับถูกหญิงสาวตีความว่า เป็นคำพูดลองใจเพื่อให้เธอค้นลึกลงไปในใจตัวเองว่า จริงๆ แล้ว เธอให้ค่ากับความฝันนั้นมากน้อยแค่ไหน
จริงๆ แล้ว การทำหน้าที่ผู้ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตของชายหนุ่มทั้งสาม (รวมถึงตัวคุณนามิยะ ที่มีการเล่าย้อนอดีตถึงด้วย) ยังมีอีกหลายเรื่องราว แต่ผมจะไม่หยิบยกขึ้นมาเล่าให้ฟังอีก เพราะหัวใจสำคัญของทุกเรื่องล้วนตรงกัน นั่นคือ การรับฟังอย่างตั้งใจ
ปาฏิหาริย์ที่ทำให้คุณนามิยะ และชายหนุ่มทั้งสาม กลายเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่โดนใจทุกคน ไม่ได้มาจากการใคร่ครวญหาคำตอบเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากการรับฟังอย่างตั้งใจ ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ ‘การได้ยิน’ สิ่งที่เจ้าของปัญหาพูด แต่ยังเป็น ‘การให้ความสำคัญ’ หรือ ‘การให้คุณค่า’ กับความรู้สึกของคนที่กำลังมีปัญหาด้วย
ในช่วงแรกๆ ที่โคเฮ โชตะ อัตสึยะ ตอบจดหมายของกระต่ายในดวงจันทร์ พวกเขาอาจคิดแค่เพียงว่า ถ้าหญิงสาวได้จดหมายตอบ ก็น่าจะพอใจแล้ว และทุกอย่างก็น่าจะจบลง แต่กลับกลายเป็นว่า กระต่ายในดวงจันทร์ยังส่งจดหมายกลับมา ทำให้หัวขโมยทั้งสามต้องปรับบทบาทกลายเป็น ‘ผู้รับฟัง’ อย่างตั้งใจมากขึ้น เพื่อให้ได้รู้ว่า หญิงสาวเจ้าของปัญหา ต้องการอะไรกันแน่
การรับฟังอย่างตั้งใจ โดยไม่ด่วนตัดสิน ยังช่วยให้ผู้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ได้เห็นและเข้าใจปัญหาจากมุมมองของผู้ที่มีปัญหา ไม่ใช่มองจากมุมของตัวเองเพียงอย่างเดียว
และที่สำคัญที่สุด การที่ใครคนหนึ่ง ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะลังเล สับสน ไม่แน่ใจในตัวเอง ได้มีโอกาสบอกเล่าถึงปัญหาของตัวเองอย่างละเอียด ให้แก่ใครสักคนที่รับฟังอย่างตั้งใจ จะช่วยให้เขาได้ทบทวนและมองปัญหาได้ชัดเจนมากที่สุด ซึ่งบ่อยครั้งที่พบว่า หลังจากได้ระบายปัญหาออกไปแล้ว ผู้ที่ขอคำปรึกษา จะมองเห็นคำตอบด้วยตัวเอง หรือจะยิ่งมั่นใจในคำตอบที่เคยคิดไว้อยู่แล้ว
การรับฟัง จึงไม่ใช่แค่การอยู่เงียบๆ ปล่อยให้อีกฝ่ายได้ระบายปัญหาเท่านั้น แต่เป็นการสร้างปาฏิหาริย์แห่งการรับฟัง ทำให้อีกฝ่ายมั่นใจว่า ที่ตรงนี้คือ พื้นที่ปลอดภัย ที่มีอีกใครอีกคนพร้อมจะอยู่เป็นเพื่อนเขาเสมอในการค้นหาคำตอบของทุกปัญหา