- ความยากในการระบุว่าตัวเองกำลังรู้สึกอะไรเป็นลักษณะสำคัญของภาวะที่เรียกว่า ‘Alexithymia’ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพจิตและนำไปสู่ปัญหาในความสัมพันธ์ได้
- คนที่มีอาการ Alexithymia อาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นคนไร้อารมณ์ เนื่องจากมักไม่ค่อยแสดงอารมณ์ของตัวเองออกมาให้คนอื่นรับรู้ แต่แท้จริงแล้วยังมีอารมณ์ความรู้สึกเกิดขึ้น เพียงแต่ไม่สามารถอธิบายได้ว่าอารมณ์เหล่านั้นคืออะไร และควรจะแสดงออกมาอย่างไร
- การเกิดภาวะ Alexithymia มี ‘ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม’ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การเลี้ยงดู ประสบการณ์วัยเด็ก สังคมรอบข้าง ฯลฯ หากครอบครัวและสังคมส่งเสริมให้เด็กมีความรู้เท่าทันทางอารมณ์จะช่วยลดการเกิดภาวะ Alexithymia ในอนาคตได้
หลายครั้งในช่วงชีวิตของเราอาจพบเจอกับสถานการณ์ที่น่าอึดอัดหรือไม่สบายใจ เพียงแต่ในบางครั้งเรากลับบอกไม่ได้ว่าตัวเองกำลังรู้สึกอะไรอยู่ ร่างกายของเรามีความรู้สึกอึดอัดแปลกๆ เหมือนมีบางอย่างผิดที่ผิดทาง แต่กลับอธิบายไม่ถูกว่าความรู้สึกนี้คืออะไร
ประสบการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นกับใครหลายคน บ้างก็คิดว่าเป็นเรื่องปกติ บ้างก็ก่อให้เกิดความสับสนทั้งกับตัวเองและคนรอบข้าง ความยากในการระบุว่าตัวเองกำลังรู้สึกอะไรเป็นลักษณะสำคัญของภาวะที่เรียกว่า ‘Alexithymia’ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพจิตและนำไปสู่ปัญหาในความสัมพันธ์ได้
Alexithymia คืออะไร?
‘Alexithymia’ หรือที่แปลว่า ‘ภาวะไร้คำให้กับอารมณ์’ หมายถึง ภาวะที่บุคคลมีความยากลำบากในการระบุ ทำความเข้าใจ และแสดงออกถึงอารมณ์ของตนเอง พูดง่ายๆ คือ ขาดความตระหนักรู้ในอารมณ์ของตัวเอง หรือในภาษาทั่วไปเรียกว่าเป็น ‘ภาวะมองไม่เห็นอารมณ์’ (Emotional Blindness)
ภาวะ Alexithymia ไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติทางจิต (Mental Disorder) ตามคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตฉบับที่ 5 (DSM-5) อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้มักเป็นอาการที่เกิดร่วมกับโรคทางจิต (เช่น ซึมเศร้า, PTSD) และโรคทางกายอื่นๆ (เช่น สมองบาดเจ็บ, พาร์กินสัน)
อาการหลักๆ ของ Alexithymia
- มีปัญหาในการพินิจภายใน (Introspection) ไม่สามารถตรวจสอบความคิดความรู้สึกภายในจิตใจของตัวเองได้
- สับสนว่าการตอบสนองทางร่างกายเชื่อมโยงกับอารมณ์อย่างไร เช่น ไม่แน่ใจว่า ‘ใจเต้นแรง’ เพราะกำลังตื่นเต้นหรือกลัว
- ยากลำบากในการสื่อสารอารมณ์ของตัวเองให้ผู้อื่นรับรู้ มักใช้การคิดแบบมุ่งเน้นภายนอก (Externally Oriented Thinking) เช่น เน้นพูดถึงสิ่งที่จับต้องได้ โดยละเลยความรู้สึกหรือการใช้จินตนาการ
- ยากลำบากในการระบุและตอบสนองอารมณ์ของผู้อื่น เช่น อ่านสีหน้าไม่ออก ไม่เข้าใจความแตกต่างของน้ำเสียง
ทั้งนี้ คนที่มีอาการ Alexithymia อาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นคนไร้อารมณ์ เนื่องจากมักไม่ค่อยแสดงอารมณ์ของตัวเองออกมาให้คนอื่นรับรู้ จึงอาจดูเหมือนเป็นคนด้านชา
แต่แท้จริงแล้ว Alexithymia ยังมีอารมณ์ความรู้สึกเกิดขึ้น เพียงแต่ไม่สามารถอธิบายได้ว่าอารมณ์เหล่านั้นคืออะไร และควรจะแสดงออกมาอย่างไร
แนวโน้มการพบ Alexithymia
จากงานศึกษาขนาดใหญ่ในปี 2006 พบว่า ภาวะ Alexithymia พบได้ใน 9.9% ของประชากร หรือพูดง่ายๆ คือจากประชากรทั้งหมด 100 คน อาจพบคนที่มีภาวะ Alexithymia ได้ประมาณ 10 คน อีกทั้งยังพบได้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
Dr. Ronald F. Levant นักจิตวิทยาและอดีตประธานสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (APA) ได้ตั้งสมมุติฐานเกี่ยวกับการพบภาวะ Alexithymia ในเพศชายมากกว่าเพศหญิงว่า ‘Normative Male Alexithymia’ หรือแปลว่า ‘ภาวะไร้คำให้กับอารมณ์ในชายตามบรรทัดฐาน’
‘ชายตามบรรทัดฐาน’ ในที่นี้หมายถึงผู้ชายที่ยึดติดกับ ‘ความเป็นชายตามขนบ’ (Traditional Masculinity) ซึ่งเป็นความเชื่อที่ว่าผู้ชายเป็นเพศที่แข็งแกร่ง มีอำนาจ และเป็นขั้วตรงข้ามกับผู้หญิง ทำให้ผู้ชายไม่ได้รับการปลูกฝังความเข้าใจเกี่ยวกับอารมณ์ในวัยเด็ก อีกทั้งสังคมยังไม่ส่งเสริมให้ผู้ชายเรียนรู้เกี่ยวกับอารมณ์ เพราะมองว่าเป็นเรื่องของผู้หญิง
โดยในปี 2020 มีงานวิจัยที่พิสูจน์ว่าสมมุติฐาน ‘Normative Male Alexithymia’ ของ Dr. Levant เป็นจริง เนื่องจากพบว่าความเป็นชายตามขนบมีความสัมพันธ์กับภาวะ Alexithymia ในเพศชาย
กล่าวโดยสรุปคือ การเกิดภาวะ Alexithymia มี ‘ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม’ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การเลี้ยงดู ประสบการณ์วัยเด็ก สังคมรอบข้าง ฯลฯ หากครอบครัวและสังคมส่งเสริมให้เด็กมีความรู้เท่าทันทางอารมณ์จะช่วยลดการเกิดภาวะ Alexithymia ในอนาคตได้
อย่างไรก็ตาม การเกิดภาวะ Alexithymia ก็ไม่ได้มีแค่ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่ยังมี ‘ปัจจัยด้านร่างกาย’ ด้วย เช่น พันธุกรรม คนที่มีญาติพี่น้องเป็น Alexithymia ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นภาวะนี้ด้วย หรือการบาดเจ็บในสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ก็อาจก่อให้เกิด Alexithymia ได้เช่นกัน
ผลกระทบจาก Alexithymia
Dr. Brett Marroquin นักจิตวิทยาคลินิก กล่าวว่า การระบุอารมณ์ไม่ได้ ทำให้เราปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยากลำบาก เพราะอารมณ์เป็นสิ่งที่เราใช้รับรู้ถึงสถานการณ์ต่างๆ เช่น ปลอดภัย/อันตราย, เร่งรีบ/ไม่เร่งรีบ คนที่ระบุอารมณ์ไม่ได้อาจทำให้ตีความสถานการณ์ได้ไม่ดีและนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด
หากอธิบายในเชิงจิตวิเคราะห์ อารมณ์ในตอนแรกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกายที่ระดับ ‘จิตก่อนสำนึก’ (Preconscious) ซึ่งเป็นส่วนของจิตใจที่เราไม่ได้ตระหนักถึง แต่หากใช้ความตั้งใจก็จะสามารถดึงขึ้นมาที่ระดับ ‘จิตสำนึก’ (Conscious) ให้เรารับรู้ได้
แม้อารมณ์ที่เกิดขึ้นในระดับจิตก่อนสำนึกจะไม่ได้ทำให้เราตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของมัน แต่อารมณ์ในระดับนี้ก็ส่งผลต่อร่างกายแล้ว เช่น เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เกิดพฤติกรรมที่ตอบสนองอารมณ์นั้น การจะดึงอารมณ์ขึ้นมาในจิตสำนึก เราจะต้องใช้ความพยายามในการระบุว่ามันคืออารมณ์อะไร
เมื่ออารมณ์ขึ้นมาอยู่ในระดับจิตสำนึก การพยายามควบคุมอารมณ์จึงเกิดขึ้น โดยการควบคุมในที่นี้อาจหมายถึงการคงอารมณ์นั้นไว้ หรือพยายามลด-เพิ่มระดับของอารมณ์นั้น ดังนั้นคนที่มีภาวะ Alexithymia ที่ไม่ทราบว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นคืออะไร จึงไม่สามารถดึงอารมณ์ขึ้นมาในจิตสำนึกได้ ทำให้ควบคุมอารมณ์ได้ยาก
ยิ่งไปกว่านั้น คนที่มีภาวะ Alexithymia อาจเกิดการสะสมของอารมณ์ กล่าวคือ ร่างกายเกิดการกระตุ้นเร้าจากอารมณ์ที่ไม่ได้รับการจัดการอยู่ต่อเนื่อง จนนำไปสู่ความเจ็บป่วยทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง แน่นหน้าอก ฯลฯ โดยอาการในลักษณะนี้เรียกว่า ‘กายวิปริตด้วยจิตเป็นเหตุ’ (Psychosomatic Disorder)
นอกจากนี้ คนที่มีภาวะ Alexithymia อาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดย Dr. Cynthia King นักจิตวิทยาคลินิก กล่าวว่า คนที่มีภาวะนี้มักมีปัญหาในการรับรู้และเข้าใจอารมณ์ของคนอื่น ทำให้ไม่รู้ว่าต้องตอบสนองอย่างไรจึงจะเหมาะสม อีกทั้งอีกฝ่ายก็อาจไม่เข้าใจคนที่มีภาวะนี้ด้วย เพราะไม่สามารถอธิบายอารมณ์ของตัวเองและไม่เข้าใจว่าตัวเองต้องการอะไร อีกฝ่ายเลยไม่รู้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร
เมื่อไม่มีความเชื่อมโยงทางอารมณ์ระหว่างทั้งสองฝ่าย การทำความเข้าใจกันจึงเป็นเรื่องยาก
เพราะคนเราจะสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งได้ก็ต้องมี ‘การเปิดเผยตนเอง’ (Self-disclosure) เปิดเผยความคิด ความรู้สึก และข้อมูลของตัวเอง เพื่อทำให้อีกฝ่ายเข้าใจว่าเราเป็นคนอย่างไรและสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่ความใกล้ชิดสนิทสนมและความไว้วางใจในที่สุด
การวินิจฉัย Alexithymia
เนื่องจาก Alexithymia ไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติทางจิตตามคู่มือ DSM-5 ทำให้ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการวินิจฉัย โดยแนวทางที่นิยมในปัจจุบันคือการใช้แบบประเมินตนเองเพื่อตรวจสอบว่ามีอาการเข้าข่ายภาวะนี้มากน้อยแค่ไหน
หนึ่งในแบบประเมินที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบันคือ ‘Toronto Alexithymia Scale’ (TAS-20) ซึ่งประกอบด้วยคำถาม 20 ข้อที่เป็นการให้คะแนน 1-5 ว่าเห็นด้วยกับประโยคที่ยกมาหรือไม่ เช่น ฉันมักจะสับสนว่าฉันกำลังรู้สึกอารมณ์อะไรอยู่, ฉันมักจะไม่รู้ว่าทำไมฉันถึงโกรธ
ด้วยความที่แบบประเมินมีคำถามเพียง 20 ข้อ ทำให้คนทั่วไปสามารถประเมินได้ด้วยตัวเองโดยใช้เวลาเพียง 5-10 นาทีเท่านั้น และแม้ว่าจะไม่มีเวอร์ชันภาษาไทย แต่คำศัพท์ที่ใช้ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ยากมากนัก ทำให้คนทั่วไปสามารถประเมินได้ในเบื้องต้นว่าตัวเองมีภาวะ Alexithymia ในระดับไหน เพื่อจะได้วางแผนถึงแนวทางการแก้ไขได้
ทั้งนี้ หากพบว่ามีแนวโน้มจะเป็น Alexithymia และเคยมีประวัติบาดเจ็บทางสมอง หรือมีความเสี่ยงที่จะมีความเจ็บป่วยทางจิต (เช่น ซึมเศร้า, PTSD) แนะนำให้ไปพบผู้เชี่ยวชาญ เพราะ Alexithymia ก็อาจเป็นอาการที่พบร่วมกับโรคอื่นๆ ได้
การรักษา Alexithymia
การแก้ไขภาวะ Alexithymia ในขั้นต้นควรเริ่มจากการฝึกฝนการระบุอารมณ์ของตัวเองผ่านการใช้ ‘วงล้ออารมณ์’ (Wheel of Emotions) วิธีใช้คือสำรวจตัวเองว่าตอนนี้กำลังรู้สึกอย่างไร โดยเริ่มจากเลือกอารมณ์พื้นฐานที่อยู่ตรงกลางของวงล้อ จากนั้นค่อยๆ ขยับออกไปทีละขั้น เพื่อเลือกอารมณ์ที่เจาะจงมากขึ้น
การพยายามเรียกชื่ออารมณ์เป็นเทคนิคที่เรียกว่า ‘Name it to Tame it’ (เรียกมันเพื่อทำให้มันเชื่อง) ของจิตแพทย์ Dr. Dan Siegel โดยเขาได้อธิบายว่า การเรียกชื่ออารมณ์ทำให้สมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์สงบลงและกลับสู่สภาวะที่สมดุล ทั้งนี้ เราอาจฝึกเรียกชื่ออารมณ์ได้จากการมองย้อนกลับไปที่เรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเองแล้ววิเคราะห์ว่าตอนนั้นเรารู้สึกอย่างไรกันแน่
นอกจากนี้ ‘การสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย’ ก็เป็นอีกเทคนิคที่ช่วยสร้างความตระหนักรู้ถึงอารมณ์ เพราะอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นย่อมทำให้ร่างกายของเราเกิดความเปลี่ยนแปลงไปโดยอัตโนมัติ เช่น ใจเต้นแรง หายใจแรง กล้ามเนื้อตึง เหงื่อออก มือเย็น ฯลฯ
อีกทั้ง ‘การสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย’ พร้อมกับ ‘การสำรวจบริบทแวดล้อม’ ก็จะช่วยให้เราเข้าใจได้มากขึ้นว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นคืออะไร เพราะอารมณ์บางอย่างอาจมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เหมือนกัน เช่น ‘ใจเต้นแรง’ อาจเกิดจากความตื่นเต้นหรือความกลัว ถ้าเราดูบริบทรอบตัวไปด้วยก็จะช่วยให้เราเจาะจงได้มากขึ้นว่าอารมณ์นี้คืออะไรกันแน่
อย่างไรก็ตาม หากภาวะ Alexithymia เกิดขึ้นจากการบาดเจ็บทางสมอง วิธีการเหล่านี้ก็อาจใช้ไม่ได้ผล ทางที่ดีที่สุดคือการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการประเมินที่ละเอียดมากขึ้น และรับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมกับเรามากที่สุด เพราะวิธีการรักษาแบบหนึ่งก็อาจไม่ได้เหมาะกับทุกคนเสมอไป
แม้ว่า Alexithymia จะไม่ใช่ความผิดปกติทางจิต แต่ภาวะนี้ก็ส่งผลต่อการเข้าใจตัวเองและผู้อื่น รวมไปถึงการสร้างความสัมพันธ์ การไม่สามารถระบุหรือแสดงออกถึงอารมณ์ได้อย่างเหมาะสมอาจเป็นสัญญาณของโรคทางจิตหรือโรคทางกายได้ ดังนั้นจึงไม่ควรปล่อยให้ภาวะนี้ดำเนินต่อไปโดยไม่ได้รับการแก้ไข
อ้างอิง
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2024). การเปิดเผยตนเอง – Self-disclosure.
มาโนช หล่อตระกูล. (2011). ทฤษฎีจิตวิเคราะห์.
วีระวัฒน์ อุทัยรัตน์. (2517). กายวิปริตด้วยจิตเป็นเหตุ PSYCHOSOMATIC DISORDERS. วารสารครุศาสตร์, 4(5), 60-66.
สหประชาชาติ ประเทศไทย. (2021). วันนี้คุณได้ลองถามตัวเองบ้างหรือยังว่าคุณรู้สึกยังไง?
Dan Siegel. (2014). Name it to Tame it.
Edupedia Publications. (2021). THE THREE LEVELS OF HUMAN CONSCIOUSNESS: The Unknown Inside You.
Jayne Leonard. (2025). What to know about alexithymia (emotional blindness).
Kristeen Cherney. (2024). Alexithymia: Difficulty Recognizing and Feeling Emotions.
Liaqat, H., Malik, T.A., & Bilal, A. (2020). Impact of Masculinity and Normative Male Alexithymia on Interpersonal Difficulties in Young Adult Males. Mediterranean Journal of Clinical Psychology, 8(2),
Mattila, A.K., Salminen, J.K., Nummi, T., & Joukamaa, M. (2006). Age is strongly associated with alexithymia in the general population. Journal of Psychosomatic Research, 61(5), 629-635.
Natalie Engelbrecht. (2024). Toronto Alexithymia Scale.
Panayiotou, G. (2018). Alexithymia as a core trait in psychosomatic and other psychological disorders. In Charis, C., & Panayiotou, G. (Eds.), Somatoform and other psychosomatic disorders: A dialogue between contemporary psychodynamic psychotherapy and cognitive behavioral therapy perspectives (pp. 89-106). Springer International Publishing/Springer Nature.Wendy Wisner. (2023). Alexithymia Might Be the Reason It’s Hard to Label Your Emotions.