Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Early childhoodFamily Psychology
14 May 2025

เติบโตไปด้วยกัน Alpha Generation EP.5 ‘ตัวตนภายในที่แข็งแรง ภายนอกจึงไม่เปราะบาง’

เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • เด็กบางคนเมื่อไม่เป็นตามที่หวังหรือตามที่สังคมคาดหวัง อาจเริ่มจากความโกรธและไม่พอใจตัวเอง แต่เมื่อพยายามจนหมดแรง ความโกรธค่อยๆ กลายเป็นความเศร้าและผิดหวัง หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ ความเศร้าก็อาจพัฒนาเป็นโรคทางใจที่ทำร้ายตัวเองในที่สุด
  • เด็กไม่จำเป็นต้องเข้มแข็งหรือแข็งแกร่งตลอดเวลา และไม่จำเป็นต้องเก่งทุกอย่าง เขาไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองกับใคร แม้แต่กับตัวเขาเองก็ตาม
  • การสร้าง ‘ตัวตนที่แข็งแรง’ ให้เด็กแข็งแรงทั้งกายใจ เริ่มจากพื้นฐานธรรมชาติที่เรียบง่ายที่สุดนั่นก็คือ ‘การมีสายสัมพันธ์ที่ดีในวัยเยาว์’ เด็กที่ได้รับความรักอย่างเพียงพอจากพ่อแม่ จะสามารถเติบโตและสร้างคุณค่าในตัวเอง

ในวันที่สังคมออนไลน์ที่ทำให้เปลือกภายนอก สำคัญกว่าแก่นภายใน

“ลูกป้าสอบติดหมอแล้ว เราล่ะสอบติดอะไร?”

“ในรูปทำไมดูอ้วนขึ้น ไปทำอะไรมา?”

ญาติผู้ใหญ่ในสังคมออนไลน์ทักมา

“นี่เพื่อนคนนั้นเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ใหม่ คนมาดูให้หัวใจเต็มเลย”

เพื่อนที่ทักมาหาเราในวันที่ลงเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ใหม่เหมือนกัน

จากป้าข้างบ้านในอดีตที่จะพูดคุยกันข้ามรั้วบ้าน มาถึงญาติผู้ใหญ่ในยุคสังคมออนไลน์ที่สอดส่องดูข้อมูลในโปรไฟล์ของเราใน Facebook ยังไม่วายเมื่อหนีจากแพลตฟอร์มเดิมไป ไปเล่น Instagram ก็ยังเจอสังคมออนไลน์ที่ให้ความสำคัญกับ ‘ยอดไลค์’ ‘ยอดแชร์’ ‘ยอดคนดู’ เพราะนั่นคือสัญลักษณ์ของการได้รับการยอมรับจากผู้อื่น แม้ใจจริงไม่อยากจะสนใจเรื่องเหล่านี้เลย แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกๆ วันที่คนรอบตัวเองเป็นไปตามกระแสหลัก ใช้ชีวิตผ่านโลกออนไลน์ไปพร้อมกับการใช้ชีวิตประจำวัน สังคมออนไลน์จึงมีอิทธิพลกับเด็กๆ มากกว่าที่เราคิด 

เด็กทุกคนต้องการ ‘ความรัก’ ‘การยอมรับ’ และ ‘ความสนใจ’ จากคนรอบตัว ยิ่งเด็กวัยรุ่นการยอมรับจากเพื่อนและสังคมเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เพราะวัยนี้เป็นวัยที่พยายามค้นหาตัวตนของตัวเอง และกำลังทดลองใช้ชีวิตในสังคมจำลองอย่างโรงเรียน เด็กวัยรุ่นต้องการอิสระ และในขณะเดียวกันก็ต้องการทางเลือก หรือ มีคนแนะนำมากกว่าบีบบังคับให้เขาต้องทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง 

‘การค้นหาตัวเองในวัยรุ่น’ เป็นส่วนสำคัญของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่

หากเด็กวัยรุ่นไม่สามารถรับรู้ความต้องการที่มีต่อตัวเอง หรือ แม้จะค้นพบความต้องการนั้น แต่ไม่สามารถทำตามที่ใจต้องการได้ เนื่องจาก…

(1) สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อ เช่น สังคมไม่ให้การยอมรับ ขัดกับค่านิยมของครอบครัว 

(2) ตัวเขาเองที่ไม่สามารถเป็นไปตามที่ตัวเองต้องการได้

สิ่งเหล่านี้สามารถส่งผลให้วัยรุ่นเกิดความกังวลและความคับข้องใจ ถ้าหากไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ปมที่ติดค้างจะนำไปสู่ ‘ความสับสนในบทบาทของตัวเอง’ วัยรุ่นจึงพยายามสุดกำลังเพื่อพิสูจน์ตัวเอง เพื่อตัวเองและคนที่เขารัก เมื่อพยายามเต็มที่แล้วทำไม่ได้ วัยรุ่นมีสองทางเลือก คือการเปลี่ยนเส้นทาง หรือ ปล่อยวาง ในวัยรุ่นบางคนที่หาทางออกให้กับปัญหานี้ไม่ได้ สุขภาพจิตของเขาจะได้รับการบั่นทอนลง

เบื้องหน้าที่สวยงาม อาจมีเบื้องหลังที่เปราะบาง

เบื้องหลังภาพที่ปรากฏในสังคมออนไลน์ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้ยกเว้นเจ้าตัว เด็กวัยรุ่นบางคนไม่สามารถมีชีวิตสวยงามดังที่สังคมรอบตัวเป็น หรือเป็นดังตัวเองวาดฝันไว้ แต่เด็กบางคนเลือกที่จะสร้างภาพเหล่านั้นขึ้นมาในโลกออนไลน์ การโกหกเล็กๆ อาจจะไม่ทำร้ายใครในตอนแรก แต่ทุกการโกหกจะค่อยๆ ขยายตัวไปสู่การโกหกที่ใหญ่ขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น

เด็กหญิงคนหนึ่งอยากให้เพื่อนๆ รับรู้ว่าตัวเองมีฐานะที่ร่ำรวยจึงไปนำภาพบ้านจากในออนไลน์มาโพสต์ ลงโปรไฟล์ตัวเอง เพื่อให้เพื่อนๆ เห็นว่าบ้านของตัวเองนั้นสวยงามหลังใหญ่ ในตอนแรกทุกคนเชื่อเด็กหญิงสนิทใจ จนกระทั่งวันหนึ่งเพื่อนอยากไปเที่ยวที่บ้านของเธอเพื่อไปเห็นบ้านจริงๆ การโกหกจึงขยายตัวขึ้นจากบ้านหลังใหญ่ ก็ต้องโกหกต่อไปว่า “ที่บ้านห้ามเพื่อนมา” เมื่อเพื่อนไม่เชื่อเจ้าตัวก็เริ่มโกรธ 

สุดท้ายเพื่อนก็จับได้อยู่ดีว่าบ้านหลังนั้นไม่ใช่ของเธอ เด็กหญิงไม่ได้ทำลายความเชื่อมั่นของเพื่อนที่มีต่อเธอ แต่เธอทำลายความมั่นใจในตัวเธอเองด้วย

ความพยายามที่จะให้สังคมยอมรับมีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ

  1. ความเชื่อมั่นในตัวเองและความเชื่อมั่นจากผู้อื่น 
  2. สุขภาพกายใจที่สูญเสียไป

เด็กบางคนไม่อาจรับได้เมื่อตัวเองไม่เป็นดังปรารถนา หรือดังที่สังคมคาดหวัง แรกเริ่มเด็กๆ อาจจะรู้สึกโกรธและไม่พอใจตัวเองและสังคม แต่เมื่อพยายามเต็มกำลังจนไม่อาจจะพยายามไปมากกว่านี้ การโกรธค่อยๆ แปลเปลี่ยนเป็นความเศร้า และผิดหวังในตัวเอง นานวันเข้าหากไม่ได้รับการช่วยเหลือความเศร้าเพียงชั่วคราวค่อยๆ กลืนกินตัวตนของเด็กๆ และแปรเปลี่ยนเป็นโรคทางใจที่ทำร้ายตัวเด็กเอง 

ในวันที่สังคมขนาดย่อในมือ กลายเป็นโลกทั้งใบของเด็กและวัยรุ่น

ตั้งแต่โทรศัพท์มีอินเตอร์เน็ต และโลกสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรา สถิติของการเกิดโรคจิตเวชในเด็กและวัยรุ่นพุ่งทะยานสูงขึ้น จากรายงานพบว่า เด็กและวัยรุ่นที่ใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวันมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า รวมถึงมีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล  ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากผลสำรวจล่าสุดระบุว่าวัยรุ่นใช้เวลากับโซเชียลมีเดียเฉลี่ย 3.5 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนั้นผลกระทบของโซเชียลมีเดียต่อการยอมรับรูปร่างหน้าตาหรือภาพลักษณ์ภายนอกของตัวเอง วัยรุ่นอายุ 13-17 ปี ร้อยละ 46 ตอบว่าโซเชียลมีเดียทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ และดูแย่กว่าค่าเฉลี่ย (Riehm, Feder,& Tormohlen, 2019)

สัญญาณที่บ่งบอกว่าเด็กกำลังป่วยใจและต้องการความช่วยเหลือ

(เมื่อพ่อแม่และผู้ใหญ่พบสัญญาณเหล่านี้ในลูกวัยรุ่น ควรให้ความช่วยเหลือกับวัยรุ่นทันที)

  1. การนอนที่ผิดปกติ นอนไม่หลับเลยหรือนอนมากเกินไป 
  2. เก็บตัวอยู่คนเดียว และแยกตัวจากสังคม ไม่อยากทำสิ่งที่เคยชอบทำ ไม่อยากออกไปใช้ชีวิตตามปกติ
  3.  ไม่ใส่ใจดูแลตัวเอง เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน 
  4. มีอาการเจ็บป่วยทางกายแบบหาสาเหตุไม่ได้ เช่น ปวดท้อง ปวดหัว เหนื่อยล้าทั้งวัน
  5. การกินผิดปกติ ได้แก่ เบื่ออาหาร หรือ กินไม่หยุด หรือกินมากเกินปกติ
  6. ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ต้องทำได้ตามปกติ ความสามารถในการคิดอ่านลดลง ไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องธรรมดาๆ ที่เคยทำได้
  7. มีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น ทำอะไรทันที ไม่คิดหน้าคิดหลัง
  8. มีอารมณ์ซึมเศร้า มีความคิดตนเองไม่มีอะไรดี และไม่อยากมีชีวิตอยู่

ภายนอกที่โตอย่างรวดเร็วเกินไป จนภายในไม่อาจเติบโตได้ทันการณ์

เด็กในปัจจุบันสามารถเข้าถึงสื่อต่างๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส โลกทั้งใบถูกย่อขนาดมาให้อยู่ในมือของพวกเขา แม้เด็กๆ จะเรียนรู้อย่างรวดเร็วและถือได้ว่าเก่งขึ้นมากในเรื่องของเทคโนโลยี และเป็นไปได้ว่าอาจจะเก่งกว่าผู้ใหญ่เสียอีก แต่ในทางกลับกันเด็กบางคนที่เก่งเทคโนโลยีเหล่านั้นกลับไม่สามารถทำเรื่องพื้นฐานง่ายๆ ที่จำเป็นกับการเอาชีวิตรอด หรือ ใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพกายใจที่ดี ความสมดุลในการใช้ชีวิตได้หายไป ไม่ต่างอะไรกับวัยเยาว์ที่สูญหายไปในโลกออนไลน์

สิ่งที่สูญหาย

  • เด็กบางคนสามารถรูปตัวเองและโพสต์ลงในสังคมออนไลน์ได้อย่างคล่องแคล่ว แต่กลับไม่สามารถใช้มือถือช้อนส้อมเพื่อตักหรือหั่นอาหารในปริมาณที่เหมาะสมเข้าปากตัวเองได้
  • เด็กบางคนสามารถป้อนโปรแกรมสั่งหุ่นยนต์ทำอะไรก็ได้ แต่กลับไม่จัดการอารมณ์ตัวเองได้
  • เด็กบางคนสามารถตัดต่อวิดีโอได้อย่างง่ายดาย แต่ไม่สามารถตัดเล็บหรือผูกเชือกรองเท้าได้ด้วยตัวเอง
  • เด็กบางคนสามารถสั่งซื้อของทางออนไลน์ได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ไม่สามารถหุงข้าวหรือเดินข้ามถนนไปซื้ออาหารเองได้
  • เด็กบางคนสามารถสร้างรายการของตัวเองใน Youtube ได้ แต่ไม่สามารถส่งงานได้ตรงเวลา

ยังคงย้ำเตือนเสมอว่า ‘เทคโนโลยีไม่ใช่ผู้ร้าย’ แต่การใช้งานอย่างเหมาะสมตามวัยและรักษาสมดุลชีวิตเป็นสิ่งที่สำคัญ และจำเป็นยิ่งที่ต้องสอนเด็กๆ ทุกคน รวมทั้งผู้ใหญ่อย่างเราด้วยเช่นกัน พ่อแม่ที่มีแนวโน้มใช้เทคโนโลยีตลอดเวลา ลูกจะมีแนวโน้มเป็นเช่นนั้นเช่นกัน ดังนั้นการสร้าง ‘ตัวตนที่แข็งแรง’ ให้เด็กๆ ตั้งแต่วัยเยาว์จำเป็นยิ่ง 

‘ตัวตนที่แข็งแรง’ ไม่ได้แปลว่าต้องแข็งแกร่งหรือเก่งที่สุด

เด็กไม่จำเป็นต้องเข้มแข็งหรือแข็งแกร่งตลอดเวลา บางวันเหนื่อยล้าและอ่อนแอ ก็ควรหยุดพักแล้วค่อยไปต่อ

เด็กไม่จำเป็นต้องเก่งทุกอย่างหรือต้องเป็นหนึ่งทุกเรื่อง เขาไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองกับใคร แม้แต่กับตัวเขาเองก็ตาม ขอเพียงมีสักอย่างที่เขารักที่จะทำและเขารู้สึกว่าตัวเองทำได้ดี เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือตัวเขามองเห็นคุณค่าภายในตัวเองและยอมรับตัวเองอย่างจริงใจ

พ่อแม่และผู้ใหญ่ควรมอบ ‘ตัวตนที่แข็งแรง’ ให้เด็กๆ ตั้งแต่วัยเยาว์

(1) รักและยอมรับในสิ่งที่เด็กเป็น จิตใจของเด็กจึงได้รับการเติมเต็ม ‘รัก’ โดยการมีเวลาคุณภาพ เคียงข้าง สัมผัสด้วยรัก เล่น อ่าน ทำสิ่งต่างๆ ร่วมกัน ดังนั้นพ่อแม่จำเป็นต้องวางหน้าจอลง หรือ วางสิ่งต่างๆ ลง เพื่อใช้เวลากับลูกตรงนั้น

‘ให้การยอมรับ’ ไม่เปรียบเทียบ ไม่กดดัน ไม่คาดหวังเกินวัยหรือในสิ่งที่ไม่ตรงกับตัวเด็ก 

(2) สอนให้เขาช่วยเหลือตัวเองตามวัย ได้แก่ กินข้าว อาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว เข้าห้องน้ำ และอื่นๆ เมื่อเด็กดูแลตัวเองได้ เขาจะสามารถพึ่งพาตัวเองและเอาตัวรอดได้

(3) สอนให้เขาดูแลและรับผิดชอบงานตามวัย ได้แก่ เก็บของเล่น งานบ้าน การบ้าน งานที่ได้รับมอบหมาย เด็กที่ทำสิ่งที่จำเป็นเสร็จแล้วค่อยไปทำสิ่งที่อยากทำ เขาจะพัฒนาการควบคุมตัวเองขึ้นมา (Self-control) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการยับยั้งชั่งใจ การตัดสินใจ และการสร้างสมดุลที่ดีในชีวิต

(4) สอนให้เขาทำทุกๆ อย่างอย่างเต็มที่ เน้นที่ความตั้งใจพยายามและกระบวนการระหว่างทางมากกว่าผลลัพธ์ปลายทาง เพื่อให้เด็กไม่ยอมแพ้และพยายามต่อไปในวันที่ยังทำไม่ได้ หรือ ผลลัพธ์ไม่เป็นดังหวัง

(5) สอนให้เขาชื่นชมตัวเองและผู้อื่นเป็น โดยเราชื่นชมเขาก่อน ชื่นชมที่ความพยายามและความตั้งใจระหว่างทางมากกว่าผลลัพธ์ที่ปลายทาง เพื่อให้เขามองเห็นคุณค่าในตัวเองและผู้อื่น

(6) เมื่อเขาทำผิดพลาดสอนให้เขาเรียนรู้และยอมรับความผิดพลาด และให้เขาลุกขึ้นใหม่อีกครั้ง เพื่อแก้ไข รับผิดชอบ พัฒนา และเติบโตต่อไป เด็กจึงเกิดความทนทานด้านจิตใจ

(7) ไม่ปกป้องเขาจากความทุกข์ยากลำบาก แต่เคียงข้างและเผชิญปัญหาไปพร้อมกับเขาจนข้ามผ่านได้ การอดทนรอคอย เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ถ้าเด็กไม่เคยรอคอยสิ่งใด เขาจะไม่สามารถอดทนจนไปถึงปลายทางได้

‘ภาพลักษณ์’ และ ‘รูปร่างหน้าตา’ คือสิ่งที่อาจจะเปลี่ยนได้ไม่มาก แต่คุณค่าสามารถเติมเต็มความมั่นใจของเด็กๆ ได้ คุณค่าภายในตัวเองจึงสำคัญยิ่งเพื่อให้เด็กฝ่าฟันอคติและกระแสสังคมที่โหมกระหน่ำพวกเขาไปได้ ถ้าเด็กๆ รับรู้ตั้งแต่วัยเยาว์ว่าตัวเอง ‘ทำอะไรเพื่อตัวเองและผู้อื่นได้’ พวกเขาจะไม่หวั่นไหวต่อความคิดเห็นเชิงลบที่มีต่อตัวเขา และพัฒนาตัวเองต่อไป

‘ตัวตนที่แข็งแรง’ การสร้างเด็กที่แข็งแรงทั้งกายใจ จึงเริ่มจากพื้นฐานธรรมชาติที่เรียบง่ายที่สุดนั่นก็คือ ‘การมีสายสัมพันธ์ที่ดีในวัยเยาว์’ 

เด็กที่ได้รับความรักอย่างเพียงพอจากพ่อแม่ จะสามารถเติบโตและการสร้างคุณค่าในตัวเองเรื่อยมาจากการลงมือทำสิ่งต่างๆ ตามวัยอย่างที่ควรจะเป็น ที่สำคัญเมื่อเด็กเรียนรู้ว่าเขาเป็นที่รักและยอมรับ เขาจึงรักและยอมรับตัวเอง และเรียนรู้ที่จะรักผู้อื่นเป็น

สุดท้าย ‘ในวันที่โลกหันหลังให้กับลูก ขอให้พ่อแม่อ้าแขนโอบกอดเขาไว้’

ไม่ใช่ทุกคนที่จะผ่านเรื่องราวหนักหนาสาหัสไปได้ แต่ในวันที่หนักหนามีมือทั้งสองที่จับเอาไว้ไม่ปล่อย และคนๆ นั้นที่รักและเชื่อมั่นในตัวเขา อยู่ตรงนั้นเคียงข้างไม่ห่าง ลูกรับรู้ถึงความรักเหล่านั้นได้ และแม้ว่าจะไม่พร้อมเดินหน้าต่อเดี๋ยวนั้น แต่เขาจะไม่หมดหวังกับตัวเอง เพราะพ่อแม่ยังไม่ยอมแพ้ในตัวเขา

อ้างอิง

Monitoring the Future: A Continuing Study of American Youth (8th- and 10th-Grade Surveys), 2021. (n.d.). Www.icpsr.umich.edu. https://www.icpsr.umich.edu/web/NAHDAP/studies/38502/versions/V1

Riehm, K. E., Feder, K. A., & Tormohlen, K. N. (2019). Associations between Time Spent Using Social Media and Internalizing and Externalizing Problems among US Youth. JAMA Psychiatry, 76(12), 1266–1273. https://doi.org/10.1001/jamapsychiatry.2019.2325

Tags:

พ่อแม่ปฐมวัยเด็กการเลี้ยงดู

Author:

illustrator

เมริษา ยอดมณฑป

นักจิตวิทยาเจ้าของเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ เพจที่อยากให้ทุกคนเข้าถึง ‘นักจิตวิทยา’ ได้มากขึ้นในฐานะเพื่อนแปลกหน้าผู้เคียงข้าง ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาที่ห้องเรียนครอบครัว เป็น "ครูเม" ของเด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่ ความฝันต่อไปคือการเป็นนักเล่นบำบัด วิทยากร นักเขียน และการเปิดร้านหนังสือเล็กๆ เป็นของตัวเอง

Illustrator:

illustrator

ninaiscat

ทิพยา ทิพย์พันธ์ (ninaiscat) เป็นนักวาดภาพประกอบและนักออกแบบกราฟิกอิสระ ชอบแมว (เป็นชีวิตจิตใจ) ชอบทำกับข้าว กินกาแฟทุกวันและมีความฝันว่าอยากมีบ้านสักหลังที่เชียงใหม่

Related Posts

  • Family PsychologyEarly childhood
    เติบโตไปด้วยกัน Alpha Generation EP.4 ‘ความวิตกกังวลสูงในเด็ก’ อาจเริ่มต้นจากความกังวลของพ่อแม่

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Book
    บ้านเล็กในป่าใหญ่: ที่พักพิงแสนปลอดภัยในโลกอันน่าหวาดหวั่นคือ ‘ครอบครัว’

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Space
    เพราะ ‘การเล่น’ ไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ: ‘เทศกาลเล่นอิสระ’ พื้นที่ปลดปล่อยจินตนาการของเด็ก 

    เรื่อง สุมณฑา ปลื้มสูงเนิน

  • Movie
    Life is Beautiful: โลกอาจโหดร้าย พ่ออาจไม่สมบูรณ์แบบ แต่ความรัก(ลูก)นั้นทำให้ชีวิตงดงามเสมอ

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • How to enjoy life
    สอนให้เด็กรู้ว่าอารมณ์ไม่ใช่ผู้ร้าย เรียนรู้และเข้าใจตัวเองผ่านดนตรี: กฤษดา หุ่นเจริญ

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ชุติมา ซุ้นเจริญ

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel