- บทเรียนชีวิตที่จิตแพทย์อยากบอก เขียนโดยนายแพทย์ เอ็ม. สก็อตต์ เปค จิตแพทย์ชื่อดังชาวอเมริกัน แปลเป็นภาษาไทยโดยรองศาสตราจารย์ วิทยากร เชียงกูล สำนักพิมพ์โอ้มายก้อด (OMG BOOKS)
- บทเรียนหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘วินัย’ (Self-Discipline) ซึ่งในความหมายนี้คือความกล้าในการเผชิญหน้ากับความจริงของชีวิต และผลักดันตัวเองไปข้างหน้า โดยอาศัยความพยายามอันแน่วแน่ไม่ย่อท้อ
- จิตแพทย์เปค แนะนำเครื่องมือที่ช่วยให้ทุกคนเรียนรู้และฝึกฝนการมีวินัยในตนเอง ได้แก่ 1.รู้จักอดเปรี้ยวไว้กินหวาน 2.ยอมรับความรับผิดชอบ 3.ยึดถือความเป็นจริง 4.รักษาความสมดุล
สมัยยังเด็ก หนึ่งในคุณสมบัติที่บ้านและโรงเรียนคาดหวังจากผมมากที่สุดคือสิ่งที่เรียกว่า ‘วินัย’
ห้ามตื่นสาย ห้ามเถียงผู้ใหญ่ ห้ามใจร้อน ตัดผมเกรียนสามด้าน แต่งกายให้เรียบร้อย อ่านหนังสือทุกวัน งานบ้านต้องช่วย ฯลฯ
ในตอนนั้น เด็กชายตัวเล็กๆ อย่างผมไม่ได้เข้าใจอะไรมากนัก ทำได้ก็แค่เชื่อฟัง ทำตามโดยไม่มีสิทธิตั้งคำถาม ที่น่าแปลกคือ สิ่งที่ผู้ใหญ่สั่งให้เราทำนั้น หลายอย่างพวกเขากลับไม่เคยทำให้ดูเป็นตัวอย่างเลย
ผมจึงเติบโตมากับความเชื่อว่าวินัยคือ ‘กฎศักดิ์สิทธิ์’ ที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากไม่ทำตาม ก็จะถูกลงโทษอย่างรุนแรง ทำให้ผมอดทนทำตามวินัยต่างๆ ด้วยความกลัว
ทว่าในวันที่ผมโตขึ้น ผมกลับพบความย้อนแย้งซ่อนอยู่ โดยเฉพาะกับผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่ถูกปลูกฝังให้มีวินัยมาตั้งแต่เด็กกลับกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไร้วินัยในชีวิตอย่างน่าใจหาย
บางคนอาจตื่นเช้า แต่กลับใช้เวลาไปกับการไถมือถืออย่างไร้จุดหมาย, บางคนทำงานไปวันๆ เพื่อรอเวลาเลิกงาน, บางคนอาจไม่กล้าเถียงเจ้านายต่อหน้า แต่ลับหลังกลับนินทาอย่างเมามัน หรือบางคนทำตามกฎอย่างเคร่งครัด แต่กลับไม่เข้าใจว่ากฎมีไว้เพื่ออะไร
วินัยที่คนรุ่นก่อนพยายามสอนเราจึงคล้าย ‘พิธีกรรมที่ต้องทำตาม’ มากกว่าจะใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาชีวิต พวกเขาไม่ได้สอนให้เราฟังเสียงของตัวเอง และใช้วินัยมาจัดการมันอย่างเหมาะสม
ยิ่งไปกว่านั้นวินัยยังถูกใช้เป็น ‘เครื่องมือแสดงอำนาจ’ มากกว่าจะเป็นสะพานสู่ศักยภาพ ดังนั้นการปลูกฝังวินัยที่ควรสร้างคนกลับกลายเป็นดาบสองคมที่ทิ่มแทงเราตั้งแต่เล็กจนโต…วันแล้ววันเล่า ราวกับว่าเราต่างใช้ชีวิตในแบบที่คนอื่นบอกให้ทำ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัย แต่ลึกๆ ข้างในกลับรู้สึกว่างเปล่าและไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรจริงๆ ครั้นจะหันไปถามพ่อแม่หรือครูที่อบรมสั่งสอนเรามา ก็ได้รับคำตอบประมาณว่า “เขาก็สอนกันมาแบบนี้ มันไม่ดีตรงไหน ใครๆ เขาก็ทำกัน แล้วที่ฉันทำแบบนั้นก็เพราะหวังดี”
ทว่า ‘ความหวังดี’ ที่ปราศจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และใช้อารมณ์เป็นที่ตั้งนั้นเอง ทำให้เด็กหลายคนที่โตมาเป็นผู้ใหญ่กลัวการตั้งคำถาม ชอบทำตามสั่ง และค่อยๆ สูญเสียตัวตนไปทีละนิด
นายแพทย์ เอ็ม. สก็อตต์ เปค (M. Scott Peck) จิตแพทย์ชื่อดังระดับโลก กล่าวว่า สิ่งต่างๆ ที่เราพบในวัยเด็ก ล้วนมีผลต่อสภาพจิตใจของเราในวันที่เติบโต เขาคือผู้ที่ทำให้ผมเข้าใจความหมายที่แท้จริงของวินัย (Self-Discipline) ผ่านหนังสือเรื่อง ‘บทเรียนชีวิตที่จิตแพทย์อยากบอก’ โดยวินัยในความหมายนี้ไม่ใช่การยอมทำตามกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่คนอื่นเป็นผู้กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยปราศจากการตั้งคำถามหรือหาเหตุผล
แต่คือ ความกล้าในการเผชิญหน้ากับความจริงของชีวิต และผลักดันตัวเองไปข้างหน้า โดยอาศัยความพยายามอันแน่วแน่ไม่กย่อท้อ ซึ่งมันจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเราซื่อสัตย์ต่อตัวเอง รู้ว่าเราเป็นใคร รู้สึกอย่างไร มีปัญหาอะไร คุณค่าที่แท้จริงที่เราต้องการคืออะไร และจะเดินไปถึงสิ่งนั้นได้อย่างไร
“บ่อยครั้งที่เด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นมาโดยถูกพ่อแม่ลงโทษเป็นประจำหรือรุนแรง เช่น ถูกตบ ต่อย เตะ ทุบตี และเฆี่ยนด้วยสาเหตุเพียงเล็กน้อย แต่การสอนวินัยแบบนี้ไร้ความหมาย เพราะเป็นการใช้กำลังบีบบังคับ ไม่ใช่จากการเห็นตัวอย่างและเข้าใจถึงประโยชน์ของการมีวินัย
ถ้าพ่อทุบตีแม่อยู่เป็นประจำ การที่แม่ตีลูกชายเพราะว่าเขาไปทุบตีน้องสาวจะมีเหตุผลที่มีความหมายอะไรสำหรับลูกชาย? มันจะมีความหมายอะไรที่จะสอนให้ลูกรู้จักควบคุมอารมณ์? เนื่องจากเด็กๆ ไม่มีโอกาสเปรียบเทียบการกระทำของผู้ใหญ่ พ่อแม่จึงเปรียบเสมือนคนยิ่งใหญ่ระดับพระเจ้าในสายตาของลูกๆ
สิ่งที่ทำให้ชีวิตเป็นเรื่องยาก คือกระบวนการเผชิญและแก้ไขปัญหานั้นทำให้เรารู้สึกเจ็บปวด ผมเริ่มต้นกล่าวว่า วินัยคือเครื่องมือพื้นฐานที่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาชีวิต เราจะได้เห็นต่อไปว่าเครื่องมือนี้เป็นวิธีที่ช่วยให้เราผ่านความทุกข์ยากและแก้ไขปัญหาอย่างลุล่วง รวมถึงช่วยให้เราเรียนรู้และเจริญงอกงามเมื่อเราสอนตัวเองและลูกหลานให้มีวินัย เรากำลังสอนพวกเขาและตัวเราเองให้รู้จักวิธีผ่านความทุกข์ยากและวิธีเจริญงอกงามด้วยเช่นกัน”
สำหรับวินัยที่เปคเปรียบเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาชีวิตนั้น ประกอบไปด้วยวิธีการ 4 อย่าง โดยวิธีแรกเรียกว่า ‘การรู้จักอดเปรี้ยวไว้กินหวาน’
“การชอบเพิกเฉยปัญหาคือสัญญาณของการไม่พร้อมที่จะ ‘อดเปรี้ยวไว้กินหวาน’ การเผชิญปัญหานั้นเจ็บปวด การเต็มใจเผชิญปัญหาแต่เนิ่นๆ ก่อนที่สถานการณ์จะบีบบังคับนั้นหมายความว่า เราต้องยอมวางสิ่งที่น่าอภิรมย์และสิ่งที่ไม่เจ็บปวดไว้ก่อน แล้วหันไปหาสิ่งที่เจ็บปวดหรือยากลำบากกว่า คือการเลือกเผชิญทุกข์ในปัจจุบันเพื่อหวังผลที่น่าพอใจในอนาคต แทนที่จะเลือกคงความสุขสบายในปัจจุบันแล้วหวังว่าความทุกข์ในอนาคตจะไม่เกิดขึ้น
การรู้จักอดเปรี้ยวไว้กินหวาน คือการจัดลำดับความเจ็บปวดและความพอใจของชีวิต ในแบบที่เพิ่มพูนความพอใจโดยเลือกความยากลำบากก่อน นี่เป็นวิธีใช้ชีวิตที่เหมาะสมที่สุดที่เราจะทำได้”
จิตแพทย์ชื่อดังได้ยกตัวอย่างเคสของผู้หญิงวัย 30 ปี มาปรึกษาเขาเรื่องปัญหาการผัดผ่อนการทำงาน โดยเฉพาะการผัดวันประกันพรุ่งกับงานที่ยากๆ และเลือกจะทำแต่งานที่ง่ายๆ (แม้จะไม่สำคัญเท่า)
“แต่ละวันเธอจะใช้ชั่วโมงแรกเลือกทำงานส่วนที่เธอพอใจมากที่สุดก่อน และใช้เวลาอีกหกชั่วโมงที่เหลือทำงานส่วนที่เธอพอใจน้อยที่สุด ผมเสนอว่า ถ้าเธอบังคับให้ตัวเองเอางานส่วนที่ไม่ชอบมากที่สุดมาทำในชั่วโมงแรก เธอจะมีอิสระที่จะใช้เวลาทำงานส่วนที่เธอพอใจในอีกหกชั่วโมงถัดจากนั้น ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าทำงานที่น่าพอใจหนึ่งชั่วโมงและทำงานที่น่าเบื่อหกชั่วโมง เธอเห็นด้วย และเนื่องจากเธอเป็นคนมุ่งมั่นเธอจึงเปลี่ยนอุปนิสัยนี้ได้ และเธอก็แก้ปัญหาผัดวันประกันพรุ่งที่เคยเป็นปัญหาใหญ่ของเธอได้ในที่สุด”
วิธีการถัดมา เรียกว่า ‘การยอมรับความรับผิดชอบ’ เปคแนะนำให้เราตระหนักว่าไม่มีใครช่วยเราแก้ปัญหาได้นอกจากตัวเราเอง แม้ว่ามันจะเจ็บปวดที่ต้องยอมรับว่า ปัญหาหลายอย่างนั้นเกิดจากการที่คนอื่นสร้างและโยนมันให้กับเรา
“เราไม่อาจแก้ปัญหาของชีวิตได้นอกจากจะลงมือแก้ไข ประโยคนี้ฟังดูเหมือนความจริงที่เห็นได้ชัดอยู่แล้ว แต่ความจริงคือคนจำนวนมากยังไม่เข้าใจ นั่นเป็นเพราะว่าเราต้องรับผิดชอบปัญหาก่อนเราถึงจะแก้ปัญหาได้ เราไม่อาจแก้ปัญหาได้ด้วยการพูดว่า “นี่ไม่ใช่ปัญหาของฉัน” เราไม่อาจแก้ปัญหาได้ด้วยการหวังว่าจะมีคนอื่นมาแก้ให้เรา ผมจะแก้ปัญหาได้ก็ต่อเมื่อผมพูดว่า “นี่คือปัญหาของผม และมันขึ้นอยู่กับผมที่จะแก้ไขมัน
มีน้อยคนที่จะมีสุขภาพจิตสมบูรณ์โดยไม่มีอาการของโรคประสาทหรือบุคลิกลักษณะผิดปรกติในระดับใดระดับหนึ่ง เหตุผลก็คือว่าในชีวิตจริงนั้น การแยกแยะว่าอะไรที่เราควรรับผิดชอบและอะไรที่ไม่ใช่ความรับผิดชอบของเรานั้น เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สุดของมวลมนุษย์ เราไม่อาจแก้ปัญหานี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะว่าตลอดชีวิตของเรา เราต้องประเมินอย่างต่อเนื่องว่าความรับผิดชอบของเราอยู่ตรงไหนในแต่ละขั้นตอนของเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ และถึงแม้เราจะประเมินมากพอและถี่ถ้วนแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่ทำให้เราเจ็บปวด
การจะผ่านกระบวนการประเมินอย่างเพียงพอ เราต้องเต็มใจและสามารถอดทนต่อการตรวจสอบตัวเองอย่างต่อเนื่อง เราไม่ได้เกิดมาพร้อมกับความสามารถและความเต็มใจนี้ หากแต่ต้องเรียนรู้และสร้างมันขึ้นมา”
เครื่องมือถัดมาคือ ‘การยึดถือความเป็นจริง’ เป็นวิธีการจัดการกับความรู้สึกเจ็บปวดจากการแก้ปัญหา โดยเปคบอกว่า ยิ่งเราเห็นความเป็นจริงของโลกได้ชัดเจนเท่าไร เราก็จะพร้อมรับมือกับโลกและทำแผนที่ชีวิตได้ดีขึ้นเท่านั้น
“ปัญหาใหญ่ที่สุดของการทำแผนที่ไม่ได้อยู่ที่ว่าเราต้องตั้งต้นจากศูนย์ แต่อยู่ที่ว่าหากเราต้องการทำแผนที่ชีวิตให้แม่นยำ เราจะต้องแก้ไขมันอยู่เสมอๆ โลกนั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งสภาพแวดล้อม เทคโนโลยีและวัฒนธรรม ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ตำแหน่งที่เรามองดูโลกจะเปลี่ยนไปอย่างสม่ำเสมอและรวดเร็ว
อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากเราพยายามพัฒนาทัศนคติที่มีต่อโลกมายาวนานและเหนื่อยยาก จนได้แผนที่ชีวิตสำหรับตัวเราเองที่ดูมีประโยชน์และใช้การได้ดี แต่แล้วจู่ๆ ก็ต้องเผชิญข้อมูลใหม่ที่บอกเราว่าทัศนคติของเราผิดพลาด และเราต้องทำแผนที่ชีวิตฉบับใหม่ การลงทุนลงแรงครั้งใหม่ซึ่งแฝงความรู้สึกเจ็บปวดไว้นี้ดูน่ากลัว และแทบแบกรับไม่ไหว สิ่งที่เรามักทำโดยไม่ค่อยรู้ตัวก็คือ เพิกเฉยต่อข้อมูลใหม่นี้ บ่อยครั้งการเพิกเฉยนี้เป็นมากกว่าการไม่ยอมรับอย่างเงียบๆ เราอาจประณามข้อมูลใหม่ว่าผิดพลาด เป็นอันตราย นอกรีต เป็นผลงานของปีศาจ เราอาจรณรงค์ต่อต้านมัน หรือแม้แต่พยายามครอบงำปรับเปลี่ยนโลกให้เข้ากับทัศนคติมุมมองของตัวเรา
คนเราจะหลีกเลี่ยงความเป็นจริงเมื่อความจริงนั้นทำให้รู้สึกเจ็บปวด เราจะแก้ไขแผนที่ชีวิตเราได้ก็ต่อเมื่อเรามีวินัยมากพอที่จะเอาชนะความรู้สึกเจ็บปวดนั้น การจะสร้างวินัยได้เราต้องซื่อตรงต่อความจริงอย่างเต็มที่ นั่นก็คือเราจะต้องถือว่าความเป็นจริงนั้นสำคัญกว่าและจำเป็นต่อประโยชน์ของตัวเรามากกว่าความสะดวกสบายเฉพาะหน้า คิดในทางกลับกัน เราต้องมองว่าความไม่สะดวกสบายเฉพาะหน้านั้นมีความไม่สำคัญในเชิงเปรียบเทียบและเราควรยินดีต้อนรับมันด้วยซ้ำ หากว่ามันจะช่วยให้เราค้นพบความเป็นจริง
การมีสุขภาพจิตที่ดีคือ กระบวนการอุทิศตนต่อความเป็นจริงไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม”
วิธีการสุดท้ายสำหรับวินัยคือ ‘การรักษาความสมดุล’ ซึ่งการจะใช้ชีวิตอย่างมีวินัยได้นั้นจำเป็นต้องรักษาสมดุล มีความยืดหยุ่น และไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง
“การมีวุฒิภาวะทางจิตใจต้องอาศัยความสามารถที่จะสร้างสมดุลครั้งแล้วครั้งเล่า ระหว่างความต้องการ เป้าหมาย หน้าที่ความรับผิดชอบ ทิศทาง ฯลฯ ที่ขัดแย้งกัน คุณลักษณะสำคัญอันหนึ่งของวินัยในการสร้างสมดุลนี้คือ การรู้จักยอมสละ (give up) เรื่องที่ควรสละในสถานการณ์ที่เหมาะสม
ข้อคิดประการสุดท้ายสำหรับวินัยในการสร้างสมดุลและแก่นแท้ของมันเรื่องการยอมสละก็คือ คุณต้องมีบางสิ่งอยู่เสียก่อน คุณถึงมีอะไรที่จะสละออกไปได้ คุณไม่อาจสละสิ่งที่คุณไม่มีอยู่ได้ ถ้าหากคุณยอมสละชัยชนะโดยที่คุณเองไม่เคยชนะมาก่อน คุณก็จะเป็นได้แค่สิ่งที่คุณเป็นมาตลอดคือ เป็นคนขี้แพ้ คุณต้องสร้างอัตลักษณ์ของคุณให้ได้ก่อนที่คุณจะสละมัน คุณต้องพัฒนาอัตตาของคุณให้ได้ก่อนที่คุณจะสลายมัน นี่ฟังดูเหมือนเป็นความเข้าใจในขั้นแบเบาะมากๆ แต่ผมคิดว่าจำเป็นต้องพูดออกมา เพราะมีคนหลายคนที่ผมรู้ว่าเขามีภาพของการเติบโตทางจิตใจอยู่ แต่ก็ไม่อยากลงทุนลงแรง
พวกเขาอยาก (และเชื่อว่าเป็นไปได้) ข้ามขั้นตอนของการมีวินัยและหาทางลัดง่ายๆ ไปสู่การเป็นผู้สูงส่ง บางครั้งก็พยายามเลียนแบบลักษณะภายนอกของผู้สูงส่ง เช่น ไปใช้ชีวิตในทะเลทราย หรือฝึกเป็นช่างไม้ บางคนเชื่อว่าการเลียนแบบเช่นนี้ จะทำให้เขากลายเป็นนักบุญหรือศาสดาพยากรณ์ได้ แต่เขาไม่เข้าใจว่าจริงๆ แล้วเขายังเป็นแค่เด็กที่ยังไม่โต และจะต้องเผชิญ ความจริงที่เจ็บปวดกว่า เขาต้องเริ่มฝึกวินัยตั้งแต่ต้นและพัฒนาไปทีละขั้น”