- Win or Lose เป็นซีรีส์แอนิเมชันออริจินัลเรื่องแรกจาก Pixar Animation Studios ที่สตรีมผ่านทาง Disney+ Hotstar มีทั้งหมด 8 ตอน เล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของ 8 ตัวละครที่อยู่บนเส้นทางการแข่งขันซอฟต์บอลชิงแชมป์ครั้งใหญ่
- ซีรีส์พาเราเข้าไปสำรวจ ‘จิตใจ’ ของตัวละครทั้ง 8 ที่ต่างกันทั้งวัยและสถานภาพ ผ่านประสบการณ์ ความกลัว ความหวัง และวิธีที่พวกเขาจัดการกับความเปราะบางภายใน ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนกลับมาสู่ผู้ชมในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
- หนึ่งในนั้นคือ ลอรี่ เด็กสาวนักกีฬาซอฟต์บอลวัย 12 ปี ที่แบกรับแรงกดดันจากการที่มีพ่อเป็นโค้ช จนทำให้เธอทำผลงานในสนามได้ย่ำแย่ ซีรีส์ช่วยขยายภาพความวิตกกังวลที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและแนวทางที่จะรับมือกับความรู้สึกนั้น
[บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์]
“ทุกคนกำลังมองหาความรู้สึกของชัยชนะ แต่ถ้ามีคนชนะ ใครอีกคนก็ต้องแพ้ หรือบางทีชัยชนะนั้น อาจขึ้นอยู่กับว่าเรามองมันอย่างไร”
ประโยคเปิดจากซีรีส์แอนิเมชัน Win or Lose ของพิกซาร์ ไม่ได้แค่ตั้งคำถามถึงแนวคิดเรื่องแพ้-ชนะเท่านั้น แต่ยังชวนให้เราสำรวจมุมมองภายใน โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ชอบความพ่ายแพ้อย่างผมได้ย้อนคิดถึงคำจำกัดความของ ‘ชัยชนะที่แท้จริง’ ว่าบางครั้งมันอาจไม่เกี่ยวกับการเอาชนะใครเลยก็ได้
Win or Lose ถ่ายทอดเรื่องราวของ 8 ตัวละครหลักที่ล้วนเชื่อมโยงกับ ‘Pickles’ ทีมซอฟต์บอลเยาวชนที่ได้สิทธิเข้าแข่งขันในระดับรัฐ โดยแต่ละตอนอาจไม่ได้เล่าเรื่องการแข่งกีฬาเป็นหลัก หากแต่พาเราเข้าไปสำรวจ ‘จิตใจ’ ของตัวละคร ผ่านประสบการณ์ ความกลัว ความหวัง และวิธีที่พวกเขาจัดการกับความเปราะบางภายใน ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนกลับมาสู่ผู้ชมในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

หนึ่งในตอนที่จับใจผมเป็นพิเศษ คือเรื่องของ ‘ลอรี่’ เด็กสาวที่ต้องแบกรับคำครหาเรื่องการได้อยู่ในทีม เพราะมีพ่อเป็นโค้ช
แม้ซีรีส์จะพยายามสร้างภาพให้ผมรู้สึกเห็นใจ แต่ถ้ามองแบบตรงไปตรงมา ก็พอเข้าใจได้ว่าทำไมเธอถึงถูกเพ่งเล็ง
อย่างไรก็ตาม พิกซาร์ไม่ได้ปล่อยให้ลอรี่ถูกตัดสินแบบที่คนทั่วไปมักตัดสินคนอื่นเพียงภาพภายนอกที่รับรู้อย่างผิวเผิน พวกเขาค่อยๆ ปล่อยรายละเอียดที่เผยให้เห็นความเป็นมนุษย์ของเธอ ความกังวลที่ฝังลึก ความกลัวการไม่เป็นที่ยอมรับ และการพยายามอย่างเงียบๆ เพื่อพิสูจน์คุณค่าของตัวเอง
ลอรี่เป็นเด็กที่มีความวิตกกังวลสูง เธอให้ความสำคัญกับสายตาและคำพูดของคนรอบตัวมากเกินไป จนละเลยที่จะโฟกัสผลงานในสนามซึ่งต้องอาศัยวินัยและความมุ่งมั่นของตัวเอง นั่นทำให้เธอตีไม่เคยโดนลูก และไม่สามารถรับลูกได้อย่างที่ควรจะเป็น จนเริ่มคล้อยตามคนอื่นที่มองว่าเธอไม่เก่งพอ ไม่ดีพอ และเป็นตัวถ่วงของทีม

แต่ยิ่งไปกว่าการตัดสินจากภายนอก คือความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของลอรี่เอง ซึ่งพ่อของเธอในฐานะโค้ชก็เห็นถึงปัญหาดังกล่าว เขาเฝ้ามองเธอห่างๆ อย่างห่วงใย พร้อมให้คำแนะนำง่ายๆ ว่า “เล่นให้มีความสุข” แต่แน่นอน ความวิตกกังวลไม่ได้หายไปเพียงเพราะมีใครมาบอกให้ใจเย็นหรือปล่อยวางความคิด
“ความกดดันก็เหมือนน้ำตาล ถ้าใส่ในกาแฟแค่ช้อนชาเดียว มันก็จะอร่อยเลิศ แต่ถ้าใส่มากไปจะอี๋และแหวะ!” พ่อบอกกับลูกทีมหลังการแข่งขันครั้งหนึ่ง ซึ่งทำให้เห็นว่าความกดดันก็มีข้อดี แต่ต้องควบคุมให้มันสมดุลกับจิตใจ
หนึ่งในลูกเล่นที่พิกซาร์ใช้อย่างชาญฉลาด คือการสร้างตัวละคร ‘Sweaty’ หรือเจ้าก้อนความกังวลซึ่งมีเพียงลอรี่เท่านั้นที่มองเห็น เจ้าก้อนความกังวลที่คอยตามเกาะติดลอรี่นี้สามารถขยายหรือหดตัวไปตามระดับความกลัวในใจ และมันยังเป็นตัวแทนของเสียงในหัวที่หลายคนคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นเสียงมักที่บอกเราว่า “เรามันไม่ดีพอ” “คนอื่นกำลังผิดหวังในตัวเรา” หรือ “อย่าพลาดอีกล่ะ ไม่งั้น…”

หากเราไม่ปล่อยให้มันครอบงำจนเสียศูนย์ ผมมองว่าความวิตกกังวลนี้ คือกลไกเตือนภัยของสมองที่เกิดจากสัญชาตญาณ การเรียนรู้ และประสบการณ์ในอดีต เพื่อช่วยเราวิเคราะห์สิ่งต่างๆ รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
Sweaty จึงไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เหมือนอย่างที่พ่อของลอรี่บอก เพราะมันจะคอยผลักดันให้ลอรี่ตื่นแต่เช้ามาซ้อมซอฟต์บอลทุกวัน หรือการเอ่ยปากขอร้องเพื่อนร่วมทีมบางคนและพ่อให้ช่วยฝึกฝนเธอเพิ่มเติม เพื่อเข้าใกล้กฎ 10,000 ชั่วโมง ซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อว่า หากใครฝึกฝนสิ่งใดสิ่งหนึ่งถึง 10,000 ชั่วโมง ก็จะเชี่ยวชาญในสิ่งนั้น
แน่นอนว่าผลจากความพยายามอย่างหนัก ในที่สุดลอรี่ก็ตีลูกซอฟต์บอลได้สำเร็จ แต่ถึงอย่างนั้น ในวันแข่งขัน ความกังวลความกดดันต่างๆ ได้ย้อนกลับมาหลอกหลอนลอรี่ เธอเริ่มมีอาการจิตตกจนนำไปสู่ปฏิกิริยาทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเหงื่อออกมากผิดปกติ มือไม้อ่อนแรง และกินขนมไม่หยุด ลอรี่ลืมสิ่งที่ฝึกซ้อมมาตลอดสัปดาห์ และตีไม่โดนลูกเหมือนที่ทุกคนคุ้นเคย พ่อที่เห็นท่าไม่ดีจึงขอเวลานอก ก่อนพยายามดึงสติลูกสาวให้กลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ
และแล้วช่วงเวลาสำคัญที่สุดของลอรี่ก็มาถึง เมื่อเจ้าก้อนความกังวลขยายใหญ่จนกลืนเธอเข้าไปทั้งตัว ลอรี่ในร่างเดียวกับปีศาจยักษ์ถามพ่อว่า “หนูดีพอไหม” พร้อมกับระบายความอัดอั้นตันใจถึงสิ่งที่เธอได้ยินมาตลอดคือ “เธออยู่ตรงนี้ได้เพราะเป็นลูกของโค้ช”
ด้านพ่อของเธอก็ไม่ได้แก้ต่างในเรื่องนั้น แต่เลือกจะบอกว่า “เฮ้! ลูกกำลังค้นหาตัวตนของลูก มันไม่ได้เกี่ยวว่าลูกต้องเป็นคนเก่งที่สุด แค่ลูกทำมันให้ดีที่สุด ใจเย็นๆ เดี๋ยวลูกก็คุมเกมได้”
สำหรับผม ประโยคนี้ไม่ใช่แค่คำปลอบใจ แต่คือบทเรียนชีวิตที่ย้ำเตือนว่าเราทุกคนล้วนเคยผิดพลาด และนั่นไม่ใช่จุดจบ หากเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ การค้นหาตัวเองท่ามกลางความสับสนและไม่แน่นอน
เพราะบางครั้ง ‘ชัยชนะที่แท้จริง’ ไม่ได้วัดจากคะแนนหรือถ้วยรางวัล แต่คือการกล้ายอมรับข้อบกพร่องของตัวเอง เรียนรู้จากมัน และใช้มันเป็นแรงผลักดันในการเติบโต

ดังนั้นบทเรียนสำคัญที่สุดจาก Win or Lose คือ ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่ใช่เรื่องการชนะคนอื่นให้มากที่สุด แต่เป็นการชนะใจตัวเองในแต่ละวัน ต่อให้วันนี้เรายังไม่เก่งพอหรือยังไปไม่ถึงเป้าหมายก็ไม่เป็นไร เพราะตราบใดที่เรายังไม่หยุดพยายาม และยังเชื่อมั่นในเส้นทางของตัวเอง สุดท้ายแล้ว ผลลัพธ์ของ 10,000 ชั่วโมง ที่เราทุ่มเทด้วยใจ จะค่อยๆ ผลิบาน และกลายเป็น ‘ดอกไม้แห่งศักยภาพ’ ที่งดงามตามฤดูกาลของมัน