- ทุกวันนี้โลกเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่บางสิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์กลับไม่ได้โตตามไป และความสัมพันธ์ของผู้คนกลับเปราะบางลง โดยเฉพาะ ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ กลายเป็นว่าเด็กๆ ขาดความใส่ใจและความเข้าใจในกันและกัน
- บางครั้งผู้ใหญ่มักจะมองไปไกลถึงปลายทางที่อยากให้เกิดในตัวเด็กๆ จนลืมไปว่าต้นทางที่ดีจะนำไปสู่ปลายทางที่ดี ‘ต้นทาง’ ของความเห็นอกเห็นใจคือ ‘การใส่ใจสิ่งเล็กๆ รอบตัว’ ที่เรามักหลงลืมและมองข้ามไป
- เด็กที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมักจะเป็นเด็กที่มีความมั่นใจในตัวเองและมองเห็นคุณค่าในตัวเขาและผู้อื่น แม้จะอ่อนโยน แต่ไม่ได้อ่อนแอ และพร้อมจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ยอมรับเคารพความแตกต่างหลากหลาย ที่สำคัญเขาเคารพตัวเขาเองและรักตัวเองเป็น
‘โลกเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่บางสิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์กลับไม่ได้โตตามไป’
ในขณะที่สิ่งปลูกสร้าง เทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้สังคมให้ความสำคัญกับความสามารถและทักษะที่ต้องนำมาใช้งานและควบคุมสิ่งเหล่านี้ เช่น ทักษะการสื่อสาร ภาษาที่สอง สาม ไปจนถึงภาษาโค้ดดิ้ง และความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เด็กๆ ถูกคาดหวังให้เรียนรู้ ปรับตัว และเติบโตอย่างรวดเร็วตามสิ่งเหล่านี้ไป แต่ความสามารถหนึ่งที่อาจถูกมองข้าม ไม่ได้เติบโตไปพร้อมกับเด็กๆ และสังคม สิ่งเล็กๆ ที่ทำให้หัวใจของเรามองเห็นกัน ความสามารถนั้นก็คือ ‘ความเห็นอกเห็นใจ’
‘สังคมที่ขาดความเห็นอกเห็นใจ เพราะมองไม่เห็นกันและกัน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนก็จะเปราะบาง หัวใจของเราต่างก็อ่อนแอ’
ทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็ว ความสัมพันธ์ก็เช่นกัน เจอกันผ่านสังคมออนไลน์ พูดคุยแลกเปลี่ยนสร้างความสัมพันธ์ผ่านหน้าจอ ทุกอย่างที่รวดเร็วและง่ายดาย กลับกลายเป็นดาบสองคมในเวลาเดียวกัน เรากลับไม่เห็นความสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งหรือแม้แต่จะพยายามประคับประคองและรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้ อีกทั้งการแสดงออกทางความคิดเห็นและการแสดงอารมณ์โดยไม่กลั่นกรองทำได้รวดเร็ว ทำให้เราต่างไม่ระวังและทำร้ายจิตใจกันง่ายขึ้น ส่งผลให้ความสัมพันธ์จบลงอย่างง่ายดายไม่แพ้กัน
‘ปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความเห็นอกเห็นใจ‘
ความเห็นอกเห็นใจจำเป็นต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ เพราะหัวใจของเด็กเปิดรับได้ง่ายที่สุด อีกทั้งการสร้างฐานทางใจตั้งแต่วัยเยาว์จะแข็งแรงและเติบโตได้ดี
‘ก่อนที่เด็กๆ จะมีความเห็นอกเห็นใจ เด็กๆ ต้องมองเห็นตัวเองเสียก่อน จากนั้นจึงจะแผ่ขยายและพัฒนาไปสู่การมองเห็นผู้อื่น’
จุดเริ่มต้นของ ‘การมองเห็นตัวเอง’
บางครั้งผู้ใหญ่มักจะมองไปไกลถึงปลายทางที่อยากให้เกิดในตัวเด็กๆ จนลืมไปว่าต้นทางที่ดีจะนำไปสู่ปลายทางที่ดี ‘ต้นทาง’ ของความเห็นอกเห็นใจคือ ‘การใส่ใจสิ่งเล็กๆ รอบตัว’ ที่เรามักหลงลืมและมองข้ามไป
ขั้นที่ 1 มองเห็นตัวเอง ดูแลตัวเอง
สิ่งเล็กๆ ที่มือน้อยๆ สามารถทำได้นั่นก็คือ ‘การดูแลร่างกายตัวเอง’
นี่คือจุดเริ่มต้นของความใส่ใจ เด็กๆ จะรู้จักใส่ใจผู้อื่น เขาต้องเริ่มจากการใส่ใจตัวเองเสียก่อน
– ตื่นเช้ามาล้างหน้าส่องกระจก
– เอ๊ะมีขี้ตาต้องแคะให้หมด
– มีคราบน้ำลาย น้ำมูก ล้างและเช็ดให้สะอาด
– อาบน้ำ ถูสบู่ ล้างจนหมดฟอง
– เช็ดตัวให้แห้ง แล้วแต่งตัว
– ติดกระดุมเรียงไปจากบนลงล่าง
– ใส่ถุงเท้าใส่ใจ มองข้างรองเท้าซ้าย-ขวา
จากร่างกายค่อยๆ พัฒนาไปสู่การแต่งตัวภายนอก จากส่องกระจกมองเห็นตัวเอง สายตาของเขาจะค่อยๆ มองออกไปนอกตัว
ขั้นที่ 2 มองเห็นสิ่งของ ดูแลสิ่งของ
เมื่อดูแลร่างกายได้ดี สิ่งของรอบตัวคือด่านแรกก่อนไปสู่ผู้คน เด็กๆ ที่ใส่ใจสิ่งของจะพัฒนาไปสู่การดูแลสิ่งที่ละเอียดมากขึ้น
– ให้เด็กๆ ดูแลสิ่งของอย่างไร เริ่มจาก ‘รื้อแล้วเก็บเข้าที่ตามเดิม’
• เล่นแล้วเก็บ
• หยิบมาใช้แล้วเอาไปคืน
– ให้เด็กๆ ดูแลรับผิดชอบสิ่งนั้นด้วยตัวเอง
• กระเป๋านักเรียนของเขา ให้เขาถือเอง
• กระติกน้ำของเขา ให้เขาล้างเอง
• ถุงเท้า-รองเท้าของเขา ให้เขาซักเอง
– อะไรที่ทำไม่เป็น เราสอนได้
แม้จะชอบหรือไม่ชอบ ถ้าเราได้ทำเองอาจจะเหนื่อยลำบาก แต่เพราะเหนื่อยและลำบาก เด็กๆ จึงเห็น
คุณค่าของการดูแลสิ่งนั้น และภูมิใจเมื่อทำได้ด้วยตัวเอง ในขั้นนี้เราจะเห็นเด็กที่ดูแลของตัวเองได้ จะ
พัฒนาทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นยิ่งขึ้นมา ได้แก่
– การมีวินัยและรับผิดชอบ
เด็กที่ดูแลของของตัวเองจะไม่โทษคนอื่น เพราะเขาเป็นคนเตรียมและดูแลของนั้น
• ถ้าเขาทำของหาย เขาจะหาเองก่อน
• ถ้าเขาลืมของ เขาจะไม่โทษใคร
– ประเมินตัวเองได้และพยายามแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน
เด็กที่ช่วยเหลือตัวเองเยอะและทำอะไรๆ ด้วยตัวเอง เขาจะประเมินความสามารถตัวเองกับปัญหาที่เจอ ได้ ถ้าไม่ยากเกินไป และเคยทำมาก่อน เขาจะทำมันด้วยตัวเอง เช่น
• ใส่รองเท้าไม่ได้ เขาจะลองเองก่อน ถอดไม่ได้ เขาจะพยายามก่อน
• จัดระเบียบกล่องของเล่นและกระเป๋านักเรียน เขาจะทดลองจัดและเก็บ จดจำที่ของของได้เอง แต่ถ้ายากเกินไป เขาจะกล้าขอความช่วยเหลือ
ขั้นที่ 3 มองเห็นพื้นที่รอบตัว ดูแลพื้นที่รอบตัว
เด็กๆ ที่ดูแลร่างกายและสิ่งของของเขาได้จะพัฒนาไปสู่การดูแลพื้นที่รอบตัวที่เขาเข้าไปใช้งาน ในขั้นนี้มีหัวใจสำคัญที่แสนเรียบง่ายก็คือ ‘ใช้แล้วทำให้เหมือนเดิม’ และ ‘ถ้าทำสกปรกก็ทำความสะอาดให้เหมือนก่อนมาใช้งาน”
– ‘พื้นที่แรก’ ที่เด็กทุกคนควรดูแลคือบ้าน
เช่น
• กินข้าวเสร็จก็เช็ดเก็บเศษอาหารที่หกเลอะเทอะ
• เข้าห้องน้ำเสร็จก็กดชักโครกและปิดไฟ
• ตื่นนอนมาเก็บที่นอนให้เรียบร้อย
• เล่นแล้วเก็บห้องให้เหมือนเดิม
เมื่อดูแลบ้านได้ดี เด็กๆ จะแผ่ขยายไปสู่การใส่ใจสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
– ‘โรงเรียน’ ที่เด็กๆ ไปเรียน เด็กๆจะดูแลได้ดี
เช่น
• ไม่ทิ้งขยะเกลื่อนกลาด
• กดน้ำเมื่อเข้าห้องน้ำเสร็จ
• เลื่อนเก้าอี้เก็บ เมื่อใช้งานเสร็จ
ขั้นที่ 4 มองเห็นผู้อื่น เคารพผู้อื่น
จากขั้นที่ผ่านมาทำให้เด็กรู้จักตัวเองเป็นอย่างดี เด็กๆ รู้ว่า ‘ที่ตัวเองต้องการเป็นอย่างไร’ ดังนั้นจึงคิดได้ว่า ‘ผู้อื่นต้องการในสิ่งเดียวกันได้’ ทุกคนอยากอยู่ร่วมกับคนที่ทำให้ตัวเองสบายใจ
– การรู้หน้าที่
– การรักษาความสะอาด
– การไม่รบกวนกัน และไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
สามข้อนี้คือ ‘กฎพื้นฐานง่ายๆ’ ของความใส่ใจ เด็กๆ เรียนรู้ที่จะเคารพกฎนี้
นอกจากนี้การสื่อสารขั้นพื้นฐานที่จะทำให้เด็กๆ รู้จักเข้าหาคนอื่นอย่างใส่ใจ ได้แก่
– การทักทายคนอื่นก่อน เช่น สวัสดี แนะนำตัวเอง ถาม-ตอบด้วยตัวเอง
– การขอบคุณ เมื่อมีใครทำอะไรดีๆ ให้กับเขา
– การขอโทษเมื่อเขาทำผิดต่อใคร
– การชื่นชมผู้อื่นด้วยตัวเองก่อน
ขั้นที่ 5 ใส่ใจผู้อื่น เห็นอกเห็นใจผู้อื่น
ในขั้นก่อนหน้านี้เด็กๆ จะเรียนรู้การเคารพกติกา
– เมื่อรู้ว่าสิ่งใดควรทำ เขาทำ
– เมื่อรู้ว่าสิ่งใดไม่ควรทำ เขาไม่ทำ
เด็กๆ เขาสังเกตสิ่งแวดล้อมมากขึ้นว่าแต่ละที่เป็นอย่างไร เขาจึงจะสามารถทำให้ทุกอย่างเป็นตามกติกาหรือเก็บทุกอย่างเข้าที่เดิมได้ สิ่งง่ายๆ ค่อยๆ ทำให้เด็กพัฒนาไปสู่ความคิดที่ลึกซึ้งมากขึ้นนั่นคือ ‘การใส่ใจผู้อื่น’
เด็กที่ใส่ใจผู้อื่นไม่ได้หมายความว่าเขาต้องทำให้ผู้อื่นพึงพอใจ หรือ พยายามทำให้ผู้อื่นรู้สึกชอบเขา แต่ความใส่ใจในที่นี้หมายถึงการทำเพราะอยากทำและทำได้ เช่น
– เมื่อเห็นคุณแม่ถือของหนัก เด็กรับรู้และเข้าไปช่วยถือ
– เมื่อเห็นคนเดินต่อเขาเข้ามา เด็กช่วยเปิดประตูให้คนนั้นเข้ามาก่อน
– เมื่อเห็นคนต้องการความช่วยเหลือ ถ้าเขาช่วยไม่ได้ เขาจะพยายามขอความช่วยเหลือ
ทุกครั้งที่เด็กใส่ใจใครสักคน เขาได้รับการมองเห็นคุณค่าเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อเด็กทำสิ่งดีๆ ออกไป โดยไม่ได้รับการมองเห็นหรือชื่นชมจากผู้อื่น แต่คุณค่าในตัวเองที่เขารับรู้ได้งอกงามขึ้นในใจแล้ว
นอกจากนี้ ‘คำพูด’ ที่สื่อถึงความใส่ใจจะเกิดขึ้นด้วยตัวเอง ทั้งการขอบคุณ ขอโทษ และชื่นชมผู้อื่น เด็กๆ ที่ใส่ใจจะพูดคำเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย เพราะเขาจะมองเห็นและตอบสนองทันที
สุดท้าย ‘ความใส่ใจ’ ทำให้เด็กๆ ค่อยๆ มองเห็นผู้อื่น เมื่อใส่ใจมากพอ เขาจะมองเข้าถึงลึกถึงหัวใจอีกฝ่าย หรือ ที่เรียกว่า ‘ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น’
เด็กที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมักจะเป็นเด็กที่มีความมั่นใจในตัวเองและมองเห็นคุณค่าในตัวเขาและผู้อื่น แม้จะอ่อนโยน แต่ไม่ได้อ่อนแอ และพร้อมจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ยอมรับเคารพความแตกต่างหลากหลาย ที่สำคัญเขาเคารพตัวเขาเองและรักตัวเองเป็น
สังคมจะเติบโตต่อไปไม่พังทลาย หากเราหันกลับมาใส่ใจ ‘จิตใจ’ กันมากขึ้น
สังคมที่น่าอยู่จึงไม่ใช่สังคมที่เต็มไปด้วยวัตถุล้ำสมัย แต่คือผู้คนที่มีหัวใจและมองเห็นซึ่งกันและกัน