- ด้วยความเชื่อว่า ‘ไม้แข็ง’ จะช่วยป้องปรามเด็กไม่ให้เดินทางผิด ‘ครูโจ’ วิฑูลย์ แซมสีม่วง โรงเรียนเทศบาล 3 (ชาญวิทยา) จึงเคยลงโทษเด็กถึงขั้นให้เด็กออกจากโรงเรียนมาแล้ว แต่เพราะความรู้สึกผิด ทำให้ครูโจเปลี่ยนมายเซ็ตของตัวเองในการดูแลเด็ก
- เรื่องราวของครูโจผู้ใช้การสื่อสารด้วยหัวใจ เข้าใจ และอยู่เคียงข้างนักเรียน ไม่เพียงสร้างการเปลี่ยนแปลงในชั้นเรียนของเขา ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิด โครงการ ‘ครูนางฟ้า’ ที่เสริมศักยภาพครูในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยใช้หลักจิตวิทยาสังคม
- หัวใจสำคัญในการที่ครูคนหนึ่งจะดูแลเด็กได้ก็คือ ครูจะต้องมีใจที่เมตตาต่อเด็ก ให้ความใส่ใจ และรับฟังโดยไม่ตัดสิน
“ผมเคยเป็นครูฝ่ายปกครองสายโหดที่เด็กกลัวมาก วันที่เด็กมีปัญหา เราใช้วิธีผลักเด็กออกจากระบบ จนเกิดความรู้สึกผิดในใจ ก็เลยพยายามเปลี่ยนมุมมองความคิด เริ่มจากขอโทษเด็กก่อนเลย เพราะเรารู้สึกว่า…เราทำไมแย่จัง ที่ไปตัดสินเขาแบบนั้น”
‘ครูโจ’ วิฑูลย์ แซมสีม่วง โรงเรียนเทศบาล 3 (ชาญวิทยา) จังหวัดเพชรบูรณ์ เล่าประสบการณ์จากครูฝ่ายปกครองที่เด็กๆ ‘กลัว’ สู่ครูที่เด็กๆ ‘รัก’ ในเวที Inspiring Talks คนตัวเล็กผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง มหกรรมวิชาการ สุข Marathon ‘Happiness is Blooming’ จัดโดยสถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม (สพบ.) ภายใต้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายกว่า 100 องค์กร
เรื่องราวของครูโจผู้ใช้การสื่อสารด้วยหัวใจ เข้าใจ และอยู่เคียงข้างนักเรียน ไม่เพียงสร้างการเปลี่ยนแปลงในชั้นเรียนของเขา ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิด โครงการ ‘ครูนางฟ้า’ ที่เสริมศักยภาพครูในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยใช้หลักจิตวิทยาสังคม

จากครูปกครองสายโหด สู่ครูผู้ปกป้องเด็ก
ครูโจเคยเป็นครูฝ่ายปกครองที่คอยกวดขันความประพฤตินักเรียนให้อยู่ในร่องในรอย ด้วยความเชื่อว่า ‘ไม้แข็ง’ จะช่วยป้องปรามเด็กไม่ให้เดินทางผิด ถึงขนาดเคยลงโทษให้เด็กออกจากโรงเรียนมาแล้ว และนั่นได้กลายมาเป็นจุดเปลี่ยนในที่สุด เมื่อครูโจตระหนักว่าสิ่งที่ทำลงไปไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่กลับกลายเป็นการผลักเด็กเข้าสู่เส้นทางที่สุ่มเสี่ยงมากไปกว่าเดิม
ด้วยความรู้สึกผิด ครูโจจึงเข้าไปปรึกษาคุณหมอดวงดาว (พญ.ดวงดาว ศรียากูล) กลุ่มหมอครอบครัวในโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ซึ่งทำงานร่วมกับครูและนักเรียนในโรงเรียน ในการแก้ปัญหาเด็กเปราะบาง เช่น ยาเสพติด ภาวะซึมเศร้า หลังจากนั้นก็พัฒนามาเป็น ‘กระบวนการครูนางฟ้า’ หรือ ‘ครูที่พร้อมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจเด็ก’ และทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า
“มีอยู่วันหนึ่งเด็กเขามีปัญหา แน่นอนครับเรายังไม่รู้วิธีการว่าจะต้องดูแลลูกๆ เรายังไง วิธีตอนนั้นก็คือผลักเด็กออกจากระบบ เราตัดสินเขาเลย เมื่อก่อนผมเป็นอย่างนั้น จนเด็กคนนี้เข้ามาในโรงเรียนเพื่อจะมาขอวุฒิการศึกษา เขาเจอผมแล้วเขาก็ยังกลัวมากเหมือนเดิม กลัวจนตัวสั่น เรารู้สึกผิดที่ทำให้เด็กหลายๆ คน ไม่ใช่แค่เขาคนเดียวที่รู้สึกอย่างนี้กับเรา ก็เลยเดินไปจับมือเขา บอกเขาว่า “หนูครูขอโทษ” ผมขอโทษเด็กก่อนเลยครับ เรารู้สึกว่าเราทำไมแย่จัง”
โดยทักษะสำคัญที่ครูโจมองว่าเป็นกุญแจสู่ความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างครูกับนักเรียน นั่นก็คือ ‘การสื่อสาร’
“การสื่อสารเป็นจุดสำคัญมากๆ สำหรับทุกเพศ ทุกวัย ทุกช่วงอายุ คือรับฟังให้เยอะ รับฟังเขาว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาจริงๆ แล้วก็ให้เข้าใจในสิ่งที่เป็นเขาว่าเขาทำแบบนี้มีตัวแปร มีเหตุผลอะไร อย่าไปตัดสินเขา
สิ่งที่เขาทำมันจะถูกจะผิด สุดท้ายเขาตัดสินใจจะเลือกแบบนี้ ผิดเขาก็ต้องยอมรับ แล้วตระหนักถึงสิ่งที่มันเกิดขึ้น มองต่อว่าก้าวต่อไปหลังจากนี้จะเดินยังไง เรามีหน้าที่ประคองเขาให้จบครับ วันนี้เราได้ให้สกิลในเรื่องของมุมมองความคิดในการเข้าใจตัวเอง ในการมองโลก เขาจะโตเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างไม่ทำร้ายตัวเองและทำร้ายใคร”
“เมื่อก่อนเวลาผมเจอเด็กที่ทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมก็เรียกมาคุยแล้วทำโทษตามกระบวนการ ก็คือ วิ่งรอบสนามอะไรแบบนี้ แล้วก็มีใช้ระบบไม้เรียวด้วย แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ประมาณ 7-8 ปีแล้วที่ผมไม่ได้จับไม้อีกเลย เพราะเรารู้แล้วว่ามันไม่ได้ช่วยอะไรเลยในเรื่องนี้”

คู่มือดูแลเด็ก เริ่มต้นที่เปลี่ยนมายเซ็ตครู
หลังจากที่ครูโจเปลี่ยนมายเซ็ตของตัวเองในการดูแลเด็ก คาบแนะแนว และชุมนุมวิชาลูกเสือส่วนหนึ่งจึงกลายเป็นเหมือนคลินิกจิตวิทยาขนาดย่อมๆ ในโรงเรียน ซึ่งครูโจพยายามปั้นเด็กให้มีทักษะการสื่อสารเชิงบวก เสริมสร้างแรงบันดาลในการเปลี่ยนพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น เพื่อหวังขยายการช่วยเหลือเด็กได้อย่างทั่วถึง
“ผมได้เครื่องมือจากคุณหมอมาเป็นตัว MI หรือ Motivational Interviewing ก็คือการสร้างแรงจูงใจเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กับ LICBT หรือ Low-Intensity Cognitive Behavioral Therapy เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตวิทยาสังคม
คือผมไปเรียนรู้ก่อน แล้วก็ได้เอามาลองใช้พูดคุยกับเด็ก และคอยสังเกตว่าในการพูดคุยกันแต่ละครั้งเด็กมีการเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง โดยการเปลี่ยนแปลงก็จะมีหลายระยะด้วยกัน ระยะที่ 1 ก็คือ เมินเฉย ไม่ฟัง ไม่รับรู้ระยะที่ 2 ก็คือ ลังเล คิดอยู่ว่าจะฟังหรือไม่ฟังดี จะทำหรือไม่ทำ ระยะ 3 คือ ตัดสินใจ ระยะที่ 4 คือ ลงมือทำ ระยะที่ 5 คือ ทำอย่างต่อเนื่อง และอาจจะกลับไปวนลูประยะ 1-3 ใหม่ และระยะสุดท้าย ระยะที่ 6 คือน้อยคนที่จะเจอระยะนี้ได้ คือกลับไปมีปัญหาซ้ำ”
ครูโจใช้คำถามปลายเปิดในการพูดคุยกับเด็กเสมอ เช่น คำถามง่ายๆ แสดงถึงความห่วงใย อย่าง “วันนี้เป็นยังไงบ้างลูก?” ให้เด็กค่อยๆ เปิดใจ แล้วเขาจะเล่าปัญหาสารทุกข์สุขดิบในชีวิตให้ฟังเอง
นอกจากนี้ก็จะมีกิจกรรมชุมนุมที่เป็นประโยชน์กับเด็กๆ มากมาย โดยแบ่งเป็นระดับชั้น ม.1 เรียนรู้เรื่องการใช้สื่อ เพราะในช่วงวัยที่เริ่มใช้สื่อมากและเสพติดได้ง่าย ม.2 เป็นเรื่องคุณแม่วัยใส ที่จำเป็นต้องให้ความรู้และดูแลอย่างใกล้ชิด ม.3 เน้นที่เรื่องสารเสพติดกับอาชีพที่ใช่ ตัวเลือกที่ชอบ ในส่วนมัธยมศึกษาตอนปลาย จะเน้นกระบวนการหมอน้อย เรียนรู้การดูแลสุขภาพกายใจและจิตวิทยาสังคมต่างๆ
“พอเขาได้ทำกิจกรรมแล้วเห็นผลที่ดี พฤติกรรมเปลี่ยน เข้าใจตัวเองมากขึ้น ก็ปั้นเขาให้มาเป็นอาสาสมัครในการดำเนินกิจกรรมกับครู ซึ่งก็มีทั้งเด็กที่เคยอยู่ในกลุ่มเปราะบาง มีปัญหา และเด็กที่ไม่ได้มีปัญหาอะไร เขาก็มาเรียนรู้ด้วยกัน เพื่อเข้าใจกันมากขึ้น”

“ผมมองว่าทุกคนมีปัญหาหมด เด็กบางคนเขาอาจเหมือนไม่ได้เป็นอะไร แต่จริงๆ เป็นนะ แต่พอเขาได้พูดคุยกันเขาจะเยียวยากันเอง แต่ถามว่าการที่เขาเป็นเด็กด้วยกันการเยียวยาของเขามันจะมีประสิทธิภาพ หรือช่วยได้มากน้อยแค่ไหน เชื่อไหมว่าเขาโอเค เพราะว่าช่องว่างระหว่างวัยเรากับเด็กมันเยอะ พอมันเยอะ การที่เด็กจะวกเข้ามาหาเราก็ยาก แต่ถ้าปัญหาไหนใหญ่เกินกว่าจะแก้ได้ เขาก็จะส่งต่อมาให้เรา เราก็จะดูต่อว่าควรจะให้คำปรึกษายังไง”
บทบาทของครูโจจึงเป็นเหมือนโค้ช ที่คอยเฝ้าสังเกตการณ์ก่อน เมื่อถึงเวลาจึงค่อยลงสนาม โดยครูโจได้ยกตัวอย่างบทสนทนาที่ใช้พูดคุยกับเด็ก เช่น เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าที่ทางโรงเรียนกำลังรณรงค์กันอยู่
“สิ่งที่ผมห่วงตอนนี้ก็คือบุหรี่ไฟฟ้า เพราะมันกระจายเยอะมาก บางคนเริ่มตั้งแต่ประถม แล้วบางคนเท่าที่ถามดูใช้มา 2-3 ปีแล้ว ผมก็บอกว่า จะให้ครูห้ามมันก็คงห้ามยาก แต่ว่าวันนี้ตัวเองรับได้ใช่ไหมว่าสิ่งที่ใช้อยู่มันมีผลกระทบยังไงบ้าง เราก็จะคุยประมาณนี้
ต้องบอกก่อนว่าห้ามโกรธพ่อแม่นะ ห้ามโกรธคุณครู โกรธเพื่อน เพราะอะไร เพราะทุกคนรัก แล้วสิ่งที่ตัวเองทำอยู่คืออะไร ในระยะ 1 ปี 2 ปี 3 ปี มันจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง รับได้ใช่ไหม วันนี้ถ้าเราเบามัน หยุดมัน ภาพนั้นมันจะไม่เกิดขึ้นเลย ซึ่งเราไม่ได้คุยที่เดียวจบ เป็นการทําซ้ำๆๆ อย่างต่อเนื่อง แล้วสุดท้ายก็ให้เขาเป็นคนตัดสินใจเองว่าเขาจะใช้มันต่อหรือจะหยุด”
“เด็กกลุ่มนี้เขาต้องการการยอมรับ เมื่อเรามีพื้นที่มีเวทีให้เขาได้ทำ แล้วก็ให้ได้เห็นคุณค่าในตัวเอง เขาจะลุกออกมาจากตรงนั้นได้ไว ซึ่งเราก็ต้องหาวิธีให้เขาเรื่อยๆ มันก็เป็นโจทย์สำคัญทั้งนั้น การที่เราเข้าใจคนเดียวมันไม่ได้ เราต้องหาตัวคูณ นั่นก็คือน้องๆ ที่เป็น ‘หมอน้อย’ ให้เข้าใจเหมือนเรา แล้วก็ต้องติดตั้งสกิลในเรื่องของกระบวนการ หรือมายด์เซ็ตให้กับเด็กกลุ่มนี้ให้ไว เพื่อให้เขาจะช่วยเหลือกัน”

ช่วยเหลือดูแลกันด้วยหลักจิตวิทยาสังคม
นอกจากการปรับมายเซ็ตให้เด็กๆ รวมถึงติดตั้งทักษะการสื่อสารเพื่อให้พวกเขาสามารถดูแลกันได้ในเบื้องต้นแล้ว ครูโจบอกว่าการช่วยเหลือเด็กๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่สุ่มเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือเด็กที่มีปัญหาด้านต่างๆ ต้องทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนครูและผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนและร่วมมือเป็นอย่างดี
ในส่วนของคุณครูที่ท่านต้องดูแลเด็กห้องหนึ่งราว 30 คน ต่างก็ช่วยคัดกรองเด็กในเบื้องต้น หากเห็นใครมีปัญหาก็จะส่งไม้ต่อมาให้ครูโจเริ่มกระบวนการดูแลช่วยเหลือ ซึ่งครูโจบอกว่าเด็กๆ เหล่านี้นอกจากจะได้เครื่องมือในการปรับทัศนคติของตนเอง ยังสามารถนำไปปรับใช้กับครอบครัว ได้อีกด้วย
“อย่างเด็กคนนึงพ่อแม่แยกทางกัน เขาอยู่กับยาย แล้วพูดกับยายค่อนข้างแรง แล้วยายก็พูดแรงกลับเหมือนกัน จนเด็กมานั่งทำกิจกรรมกับเรา เราก็บอกเด็กว่าให้ลองเปลี่ยนคำพูด หนูลองถามยายก็ได้ ยายพูดอย่างนี้กับหนู ยายรู้สึกว่ายายเป็นทุกข์ไหม ใช้คำถามปลายเปิดมากขึ้น แล้วหนูลองทำอะไรบางอย่างให้ยายเห็น ยายจะได้เชื่อใจ ทำให้เขาไว้ใจเราสิลูก เราก็คุยกับเขาแบบนี้ ตอนนี้เด็กเขาเปลี่ยนไปเยอะ วิธีพูดกับยายก็น่ารักขึ้น ยายก็เลิกใช้คำพูดแรงๆ ด้วย แล้วเขาก็ไม่ขาดเรียนแล้ว”
ครูโจมักจะย้ำกับเด็กเสมอว่า “สิ่งที่เราเคยทำมาก่อนหน้านี้มันอาจจะไม่ได้ดี แต่ให้เรียนรู้มัน เราจะได้รู้ว่าเราจะเดินต่อยังไง”
ดังนั้น หัวใจสำคัญในการที่ครูคนหนึ่งจะดูแลเด็กได้ก็คือ ครูจะต้องมีใจที่เมตตาต่อเด็ก ให้ความใส่ใจ และรับฟังโดยไม่ตัดสิน
“วันนี้สิ่งที่ผมอยากทำต่อก็คือ สร้างเมล็ดต้นกล้าที่เขาได้สกิลในการสื่อสาร กระบวนการ MI เพื่อขยายการดูแลกัน ลดปัญหาต่างๆ ที่มักเกิดกับเด็กทุกช่วงวัย แล้วก็อยากเห็นภาพคุณครูทั่วประเทศเลย ได้เข้าใจในเรื่องของหลักการของการใช้จิตวิทยาสังคม” ครูโจทิ้งท้าย