- “เรากำลังเลี้ยงดูเด็กแบบไหน” ชวนคิดผ่าน ‘The Twelve Senses’ ปรัชญาการเติบโตของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนเป็นผู้ใหญ่ เป็น sensory ในระดับ ‘เซลล์’ และ ‘โซล’ (จิตวิญญาณ) เพื่อประกอบเป็น ‘มนุษย์’ คนหนึ่ง
- ฐานใจในวัย 8-14 ปี พัฒนาการที่เกี่ยวกับการรับรู้โลกภายนอก (เพื่อกลับมาภายใน) ตั้งแต่ smell, taste, sight และ temperature ซึ่งทั้งหมดหมายถึงการก่อสร้าง วิจารณญาณ สร้างรสนิยมหรือบุคลิก การมองเห็นเพื่อตีความและกำหนดลงไปในความทรงจำของสมอง
- The Twelve Senses ไม่ใช่แค่การสร้างลูก ยังคือการใช้ชีวิตของ ‘แม่’ ในนิยามของผู้เลี้ยงดู และเมื่ออ่านจนจบ คุณอาจพบการเป็นแม่ไม่ใช่อะไรอื่น แต่คือการอยู่กับลูกอย่าง ‘มนุษย์’ กับ ‘มนุษย์’
ต่อกันที่ชิ้นที่ 2 (ใครที่เพิ่งเปิดมาเจอชิ้นนี้ คลิกที่นี่ เพื่อกลับไปอ่าน The Twelve Senses ฐานที่ 1 นะคะ)
ถ้าฐานแรก ฐานกาย (senses of touch, of life, of movement, of balance) ว่ากันถึงการพัฒนาฐานกายของเด็ก ในช่วง 0-7 ปีแรก ตั้งแต่การรับสัมผัส, การรู้จักกับความรัก, การพัฒนาเรื่องการเคลื่อนไหว และการสร้างสมดุล ซึ่งทั้งหมดไม่ได้มีความหมายตรงตัวแค่เฉพาะทางพัฒนาการ แต่ ‘ฐานกาย’ ทั้งสี่ยังส่งผลต่อความเต็มพร้อมภายในที่เกี่ยวกับสำนึกเรื่องอิสรภาพ ความสัมพันธ์ เจตจำนงในชีวิต และการตระหนักถึงสมดุลแห่งชีวิต
ฐานที่ 2 ครูณา-อังคณา มาศรังสรรค์ นักการศึกษา กระบวนกร และผู้ก่อตั้งมูลนิธิพื้นที่ปัญญ์รัก (โรงเรียนพ่อแม่ลูก) นิยามว่าคือ ฐาน ‘ใจ’
ฐานนี้จะมีการพัฒนาที่เข้มข้นในเด็กวัย 8-14 ปี เป็นพัฒนาการที่เกี่ยวกับการรับรู้โลกภายนอก (ที่สุดท้ายก็ชวนให้กลับมาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นภายใน) ตั้งแต่ smell, taste, sight และ temperature ซึ่งทั้งหมดนี้จะกลับไปกำหนด วิจารณญาณ สร้างรสนิยมหรือบุคลิก การมองเห็นเพื่อตีความและกำหนดลงไปในความทรงจำของสมอง
แม้ทั้งหมดจะเป็นศาสตร์ของการพัฒนาการรับสัมผัส แต่ผลลัพธ์สุดท้ายที่ฐานใจต้องการไปให้ถึง ก็คือการบอกกับคุณพ่อคุณแม่ หรือทุกคนที่ดูแลเด็กว่า…
คุณคือหนึ่งคนที่เป็นคนช่วยเก็บความทรงจำและช่วยเด็กตีความความรู้สึกที่เขาเพิ่งค้นพบเป็นครั้งแรกๆ ของชีวิต อย่ารีบบอกปัดหรือปฏิเสธอารมณ์ของเด็กๆ (เช่น พอลูกหกล้มก็บอกไม่เจ็บ ลูกร้องไห้บอกว่าห้ามร้อง) เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง เพราะไม่อย่างนั้นเขาอาจเป็นคนที่ไม่เข้าใจแม้ความรู้สึกของตัวเอง หรือไม่กล้าแม้จะแสดงความรู้สึกอีกเลย
Sense 5: Sense of Smell
รู้จัก ‘วิจารณญาณ’ ผ่านศาสตร์การรับกลิ่นที่ทำให้ต้องกลับมาอยู่ (ข้าง) ในตัวเอง
ถ้าเด็กได้ใช้ชีวิตบนฐานกายอย่างมีเสรีภาพ ได้รับประสบการณ์มากมาย ได้อยู่กับผู้คน ได้ผ่านการทะเลาะกับผู้คน กระทั่งได้รับกลิ่นของผู้คนรวมถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งในที่นี้คือ sense of smell การที่เขาได้ดีลกับประสบการณ์ที่ลึกซึ้งเหล่านี้ ทำให้เขาเกิด ‘วิจารณญาณ’ ของชีวิต
วิจารณญาณเป็นปัญญาญาณที่ลึกซึ้งมากที่เราไม่สามารถบอกเด็กได้ว่าเธอควรต้องใช้ชีวิตแบบนี้ ทำแบบนี้ แต่มันผ่านเข้ามาในสิ่งที่ถูกเก็บเกี่ยวไว้ในระดับเซลล์ ความทรงจำ ในระดับเซลล์แบบนี้แหละที่ทำให้เขากำหนดบางอย่างของชีวิตได้ ไม่ใช่การที่พ่อแม่บอกว่า “ลูกต้องเข้าใจ เขาเป็นครู ต้องเข้าใจเขา” เด็กไม่เข้าใจหรอก ทั้งหมดถูกตัดสินอยู่ภายใต้ระดับที่ลึกมาก
วิจารณญาณ กับ การได้รับกลิ่น เกี่ยวข้องกันอย่างไร
เวลาที่รับประสบการณ์ ก็จะมีการรับกลิ่นเข้ามาผ่านต่อมรับกลิ่นในจมูกด้วย ถ้าใน spiritual จะบอกว่าต่อมรับกลิ่นนี้อยู่ใกล้ตาที่ 3 การรับกลิ่นผ่านประสบการณ์ตั้งแต่เด็กกระทั่งถึงวันหนึ่งที่เขามีข้อมูลบางอย่างมากพอ จนกลิ่นนี้กลายเป็น ‘วิจารณญาณ’ ที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น
เช่น เวลาที่เด็กเข้าไปอยู่ในสถานการณ์หนึ่ง อยู่ในประสบการณ์หนึ่ง พลังงานทั้งหลายที่ผ่านรูจมูกเข้ามาทางการหายใจจะถูกนำไปประมวลผลทันทีและทำให้เกิดความรู้สึกที่บางคนเรียกว่า ‘ปิ๊งแวบ’ เหมือนกับเราเข้ามาในห้องหนึ่งแล้วรู้สึก ‘กึ๊ก’ กับอะไรบางอย่าง และการ ‘กึ๊ก’ แบบนี้มันคือ
พลังงานที่เข้ามาผ่านลมหายใจ ผ่านการรับกลิ่นที่เราอาจเข้าใจความหมายบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่มันจะ ‘รู้สึก’ ได้ทันที
ทันทีที่ได้กลิ่นกำยานตอนไปวัด ทำให้เราต้องเดินช้าๆ ค่อยๆ เดินอย่างอัตโนมัติ เราจะไม่เข้าไปในที่แบบนั้นแล้วตะโกนลั่น แต่เด็กที่ขาดการรับรู้เขาก็จะเข้าไปสู่สถานการณ์นี้อย่างไม่มีวิจารณญาณ เพราะเด็กไม่เคยอยู่ในประสบการณ์วัยเด็กที่ทำให้เขากลับมาอยู่กับตัวเอง
‘ประสบการณ์รับกลิ่น’ กับ ‘การกลับมาอยู่กับตัวเอง’ ของเด็ก เป็นอย่างไร
ย้อนกลับไปที่ฐานกายในช่วง 0-7 ปีแรก (4 senses แรก) ขณะที่เด็กวิ่งเล่น หรือไม่ว่าเด็กจะทำอะไรสักอย่าง เขาก็ต้องควบคุมตัวเองจากข้างใน เพื่อรู้ว่าตัวเองจะวิ่งได้แค่ไหนและเสียงดังได้อย่างไร
แล้วมันมีผลอะไรต่อ Sense of Smell?
ก็เพราะว่าเวลาที่เขาเข้าไปที่ไหน กลิ่นทำให้เขากลับเข้ามาที่ตัวเองแล้วดูว่า เขาควรเป็นอย่างไรกับที่นั่น
เปรียบเทียบกับการรับกลิ่น ถ้าเข้ามาในห้องหนึ่งซึ่งกินปลาร้ากันอยู่ คุณก็จะได้กลิ่นทันที แต่ถ้าอยู่ไปสักห้านาที ไม่มีกลิ่นใหม่เข้ามาในต่อมรับกลิ่น ต่อมรับกลิ่นก็จะหยุดทำงาน เราเริ่มชิน ไม่ได้กลิ่นแล้ว ตอนนั้น ปิ๊งแวบก็หยุดทำงานเช่นกัน แต่ถ้าเราอยากรับกลิ่นใหม่ก็ต้องออกไปข้างนอกแล้วกลับเข้ามาใหม่
เหมือน ‘ปิ๊งแวบ’ เพราะ ‘ปิ๊ง’ แล้วก็ ‘แวบ’ หายไป เขาต้องเร็วมากที่จะจับความรู้สึกข้างในให้ได้ เช่น เขาเจอใครบางคนที่เขาไม่โอเค แล้วรู้สึกได้ว่าผู้ใหญ่คนนี้ไม่โอเค ก็เพราะเด็กคนนั้นได้กลับมาสู่ตัวเองและรับรู้ความรู้สึกบางอย่างได้ วิจารณญาณของมนุษย์ก็ทำงานในระยะสั้น ถ้ามันส่งสัญญาณแล้วเรารับไม่ได้ ก็แปลว่าเราไม่สามารถเข้าถึงวิจารณญาณของตัวเองได้ ฉะนั้นเด็กที่กลับมาที่ฐานกายบ่อยๆ เขาก็จะเข้าใจสัญญาณบางอย่างในทางธรรมชาติที่บอกกับตัวเองว่า คนนี้ ที่นี่ ตรงนี้ โอเคกับเขามั้ย
ถ้าจมูกไม่ถูกฝึกให้รับกลิ่นซึ่งกินความหมายของการกลับมาพิจารณาตัวเองภายใน จะเป็นอย่างไร
เด็กที่ขาดการได้อยู่กับตัวเองก็จะไม่มีวิจารณญาณ อยู่ในวัดก็อยากวิ่งอยากตะโกน ทั้งที่บรรยากาศไม่ได้ส่งให้เขาเป็นแบบนั้น แต่เด็กที่สงบ ต่อให้เป็นเด็กเล็กแค่สี่ห้าขวบ อยู่ที่วัดเขาก็จะนิ่งๆ แต่เด็กที่ถูกห้ามตลอด ถูกจัดการชีวิตตลอด เด็กพวกนี้ยิ่งห้ามยิ่งดุด่า ก็ยิ่งควบคุมตัวเองยาก
หรือกระทั่ง movement เด็กที่จะพาตัวเองไปสู่จุดหนึ่ง มันต้องอยู่กับภาพตัวเองภายใน จัดการตัวเองข้างในถูกมั้ย แต่พอมันถูก interrupt หรือขัดจังหวะมากเข้า เด็กกลุ่มนี้ก็จะไม่ค่อยมีโอกาสได้กลับมาข้างใน เขาจะขาดการเข้าใจตนเอง แล้วก็จะมีผลไปสู่ความสมดุลอื่นๆ อีก
มีวันหนึ่งลูกเราบอกว่าเขาอยากทำเรือใบเหมือนในการ์ตูนโดราเอมอน เราก็ช่วยเขาหาของมาทำจนครบ การที่เขานั่งอยู่กับมันแล้วเห็นเขาหายไปกับโลกใบนี้ ไปขลุกอยู่กับสิ่งตรงหน้า และทำให้เรือใบเกิดขึ้นได้จริง คือการที่เขากลับมาข้างในไม่สนใจโลกภายนอกเลย แต่สนใจอยู่ที่มือและงานของเขา
ความจริงมนุษย์เราก็พบตัวเราเองจากการกลับมาข้างใน เราจะรู้ว่ามีบางอย่างที่ทำแล้วเวลาหายไป โลกใบนี้หายไป เราควรรู้จักข้างในตัวเราเองก่อน ก่อนที่จะมารู้จักความรู้และความคิดข้างนอกตัว การศึกษาและการเลี้ยงดูจึงกลับข้างกับการเติบโตของมนุษย์ เราอยากให้เด็กเก่งเร็วเกินไป ยัดอะไรให้เขารู้โลกภายนอกเร็วเกินไป มากกว่าการรู้จักข้างในตนเอง
Sense 6: Sense of Taste
รู้จัก ‘รสนิยม’ และ ‘บุคลิกภาพ’ ผ่านรสชาติและพลังงานในอาหาร
เราคงเคยได้ยินคำว่า ‘you are what you eat’ แต่เราไม่เคยเข้าใจ ใน sense of taste ทุกสิ่งที่เรากินเข้าไป มันนำพาพลังงานเข้าไปในตัวเราผ่านรสชาติอาหาร ไปสู่การเป็นเซลล์หนึ่งของร่างกาย คือพลังงานเพิ่มเข้าไปในเซลล์นั้น มันจึงมีความหมายมากตอนที่เขากินอาหาร ในบ้านที่ทะเลาะกัน บ้านที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง บ้านที่เต็มไปด้วยพลังงานที่ไม่โอเค คุณก็ทำอาหารด้วยพลังงานที่ไม่โอเคให้ลูกกิน แล้วคุณจะคาดหวังให้ลูกจะมีพลังงานและมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร
sense of taste ยังบอกถึงรสนิยมของเด็ก รสนิยมในการใช้ชีวิต รสนิยมที่จะแต่งตัวแบบนี้ ใช้ชีวิตแบบนี้ อยู่กับผู้คนแบบนี้ เขาอยากได้บ้านแบบนี้ อยากอยู่ในที่แบบนี้ ห้องนอนเขาควรเป็นแบบนี้ นี่คือ taste ผ่านรสนิยม
เรามักนึกถึงอาหารในแง่โภชนาการ เรื่องพลังงาน หรือกำลังแรงกาย แต่อาหารนำไปสู่รสนิยมการใช้ชีวิตยังไง
จริงๆ คาแรคเตอร์ของคน ก็คือ energy ของคน เวลาที่เราเห็นคนคนหนึ่งมีคาแรคเตอร์ที่อ่อนโยน ก็เพราะเขามี energy ที่อ่อนโยน
Taste ไม่ได้ใช่แค่ ‘รสชาติอาหาร’ แต่หมายถึงอารมณ์ในการกิน สิ่งที่แม่ทำ พลังงานที่แม่ป้อนให้?
เวลาที่กินอาหาร เขาก็จะรู้จักกับรสชาติของมันว่ามันสร้างความรู้สึก สร้างการรับรู้บางอย่างที่จะกลายเป็นตัวเขาต่อไป เช่น บางทีเรามักคิดว่า ของหวานเป็นสิ่งที่ไม่โอเคกับเด็ก เราเลย ‘แอบ’ ขนมไว้ ไม่ให้เขากิน แต่รสชาติหวานๆ มันบอกถึงความ luxury บอกถึงความสบาย เหมือนตอนที่กินขนมเค้กยามบ่าย ฉะนั้นทุกคนต้องติด เด็กก็ต้องติดอยู่แล้ว แต่การติดด้วย energy ที่ดี คือการที่เด็กได้รู้ว่าชีวิตชั้นช่างดีจัง ไม่ใช่การถูกห้ามที่จะทำให้เกิดความรู้สึกอยากไปแอบกินขนมทีหลัง
เคยเห็นเด็กแอบกินขนมมั้ย? มันก็ยิ่งสวาปาม แต่การที่เราอนุญาตให้เขามีความรุ่มรวยของชีวิตที่แบบว่า… อยู่ต่อหน้าเราแล้วกินอะไรก็อร่อยไปด้วยกัน เด็กแบบนี้ไม่ติดหรอก (เน้นเสียง) แต่เด็กที่ติดส่วนใหญ่คือเด็กที่ถูกห้าม เด็กที่มาค่ายเรา เราจะรู้เลยว่าที่บ้านห้ามเขากินของพวกนี้มากแค่ไหน ถ้ามาถึงแล้วเขากินอย่าง ‘โหย’ นั่นแสดงว่าที่บ้านห้าม เด็กพวกนี้มักไม่ค่อยมีบุคลิกภาพที่ดีเท่าไหร่นัก
การเสพติดอาหารเหมือนการโหยหาความรัก บำบัดความเครียด หรือบอกอะไรได้บางอย่าง
การปฏิเสธอาหารก็บอกว่าเราติดอยู่กับอารมณ์บางอย่างได้ด้วยนะ ทุกอย่างเหมือนเป็นโดมิโนที่ส่งต่อกัน สังเกตว่าบ้านที่มีความสุข เขาไม่ทะเลาะกันเวลาอาหาร
พี่เคยผ่านช่วงที่ตัดสินลูก วิพากษ์วิจารณ์ พยายามที่จะเลี้ยงเขาให้ออกมาเพอร์เฟ็คท์ แต่ตอนนั้นชีวิตเต็มไปด้วยความทุกข์ อย่างตอนกินอาหาร เขาต้องกินของที่มีประโยชน์ ต้องอย่างนั้นอย่างนี้ โดยเฉพาะเวลาที่พ่อเอาขนมมาให้ เราก็จะทะเลาะกับพ่อ บรรยากาศบนโต๊ะอาหารก็ไม่ดีเลย
วันที่พี่รู้ว่าองค์ความรู้นี้คืออะไร พี่ทบทวนตัวเองช่วงที่อยู่บนโต๊ะอาหาร พบว่าตัวเองจัดการผิดหมดเลย เขากินข้าวด้วยความทุกข์ พี่จึงตั้งใจว่าต่อไปนี้จะกินข้าวด้วยความสุข จะกินข้าวด้วย energy ที่ดี
มีงานวิจัยที่เผยแพร่ทาง BBC ว่า เด็กจำนวนไม่น้อยเลย ตอนเกิดมามีต่อมรับรสขมอยู่จำนวนมาก และต่อมรับรสขมนั้น ตามสัญชาตญาณดิบแล้วมันตีความหมายว่าเป็นพิษ เด็กกลุ่มนั้นจะปฏิเสธการกินผักในช่วงแรกของชีวิต เมื่อต่อมนั้นฝ่อไปเด็กจึงกินรสขมได้อย่างสบายใจ หากเราบีบบังคับเด็กกลุ่มนี้ให้กินผัก ไม่เข้าใจความรู้สึกของเขา บางทีเราอาจทำให้เขาปฏิเสธการกินผักไปตลอดชีวิตก็เป็นได้
รสขมนั้นกระตุ้นเจตจำนงของชีวิต เด็กที่กินรสขมได้ เราจะรู้สึกได้ว่าเขามีพลังงานที่ดูก็รู้ว่าเขารู้สึกว่าตัวเองเจ๋ง นั่นเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับเด็ก แต่ทางเข้าที่จะทำให้เขากินผักได้จึงสำคัญมากๆ
หลังจากที่พี่เข้าใจแล้วว่าถ้าพ่อแม่กินข้าวให้อร่อย กินผักให้อร่อย ท้ายที่สุดลูกจะมองดูเรากินผัก แล้วพบว่าผักกินได้นะ ไม่ตายหรอก ไม่เป็นพิษ ก็ดูอร่อยนะ แล้วเขาก็เริ่มชิมมัน ชิมตอนแรกเขาอาจรู้สึกไม่อร่อย เพราะต่อมรับรสขมเขายังทำงานอยู่ แน่นอนว่าเราต้องให้โอกาสเขา ที่เหลือคือเราก็กินให้อร่อยจนวันหนึ่งเขาอยากลองอีก วันนั้นรสขมที่เข้าไปในชีวิตในทางบวกมันจะไปกระตุ้นความฮึกเหิม ความเชื่อมั่นของเขาได้เอง
แต่ถ้าเราบังคับเขากิน จัดการจนกระทั่งเขาเกลียดผัก ต่อให้ต่อมรับรสขมหายไปเขาก็เกลียดมัน มันเป็นความทรงจำที่ผูกโยงว่ามันคือความทุกข์ทรมาน คือความคลื่นไส้ ความสะอิดสะเอียนที่มากไปกว่าธรรมชาติ คือการทำให้ลูกปรุงแต่งรสกับความรู้สึก ท้ายที่สุดเด็กยิ่งไม่กิน แม้แต่ต้นหอมซอยในข้าวผัดก็กินไม่ได้ และนั่นแหละยิ่งยากกว่าอีก
แค่เรื่องการรับรสอย่างเดียว เหมือนว่าจะมีผลต่อบุคลิกของเราหลายประการเลย
เพราะ sense of taste ให้รสชาติบางอย่างกับชีวิตเพื่อขัดเกลาบุคลิกภาพและความเป็นตัวเขา รสนิยมในชีวิตของเขา เราจะเห็นเลยว่าถ้าเราเรียนรู้โลกไปสักระยะ เรารู้ว่ารสเปรี้ยวมันเป็นตัวกระตุ้น ทำให้เกิดพลังงานหวือหวา กระปรี้กระเปร่า เราก็จะรับรู้ได้ด้วยว่าคนที่มีบุคลิกแบบนี้ ก็มักจะกินอาหารที่มีรสเปรี้ยว หรือคนที่กินอาหารไม่มีรสชาติ ก็จะรู้สึกถึงบุคลิกของเขาอีกแบบหนึ่ง
Sense 7: Sense of Sight
รู้จัก ‘การรับรู้’: การมองเห็นที่เชื่อมกับประสบการณ์เก่า และ ฟังให้ดี อย่าปฏิเสธอารมณ์ของลูก
จมูกปิดไม่ได้ ปากเลือกเปิดหรือปิดได้ แต่ตา น่ากลัวมากเพราะ ปิดตาแต่ก็ดันมองเห็น เนื่องด้วยการรับรู้ทางตามี illusion หรือการตีความสิ่งเร้าที่ลวงตา เราไม่ได้เห็นสิ่งที่ตาเห็น เพราะตารับภาพเข้าไปอยู่ในหน่วยความทรงจำและเชื่อมต่ออะไรเยอะมาก โดยเฉพาะเชื่อมโยงกับภาพความทรงจำในอดีต
ฉะนั้นเวลาที่เราเห็นใครสักคน คิ้วเขา ตาเขา อาจไปเชื่อมโยงกับบางอย่างในอดีตได้ เราจึงตีความภาพข้างหน้าพร้อมกับใส่ความรู้สึกตามความทรงจำในอดีต สมองทำงานอย่างรวดเร็วเสมอ แม้ยามเราหลับตา สมองยังส่งภาพบางอย่างมาปรากฏให้เราเห็นได้อีกเช่นกัน
Sense of Sight ในที่นี้จึงไม่ได้มีความหมายแค่ ‘ตา’ แต่คือการพิจารณาเชื่อมกับการตัดสิน?
เห็นตามประสบการณ์เก่า ซึ่งมันเกี่ยวกับว่าตอนเด็กๆ เขาเก็บความทรงจำเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วยความหมายแบบไหน เช่น ถ้าเขาเคยเจอกับเด็กที่ไม่โอเค พอเขาเจอคนอื่นที่มีพลังงานคล้ายคนในความทรงจำนั้น เขาก็ตัดสินทันทีเลยว่า “คนนี้ไม่โอเค” เคยมั้ยที่เจอใครบางคนครั้งแรกแล้วรู้สึกว่า หน้าตาเขาผิดระเบียบ หรือคนนี้ไม่ถูกจริตเรา?
เวลาที่พ่อแม่ เก็บหน่วยความจำให้กับเด็ก เราทำให้เด็กรู้สึกกับหน้าตาของคนที่ไม่ถูกจริตพ่อแม่เต็มไปหมด เราวิพากษ์วิจารณ์ผู้คนและสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว เขาก็ซึมซับ จะพบว่าเด็กคนนั้นกลายเป็นวัยรุ่นที่ไม่มีความสุขกับใครเลย ไอ้นั่นก็ไม่ชอบ ไอ้นี่ก็ไม่ใช่ ไอ้นั่นก็ไม่โอเค เพราะเราไม่ได้เห็นอย่างที่เราเห็น เราเห็นตามประสบการณ์เก่า ตีความตามประสบการณ์เก่า ไม่ใช่ความจริง ไม่ใช่สัจจะ คนห้าคนเข้ามาดูหนัง เข้ามาทำกิจกรรมอะไรบางอย่าง เขาก็กลับไปเล่าให้คนอื่นฟังไม่เหมือนกัน
เช่นกัน พี่น้องสองคนเข้าสู่ประสบการณ์เดียวกัน เจอพ่อแม่เดียวกัน เขาจดจำไม่เหมือนกัน เพราะการมองเห็นของเขามันถูกเชื่อมโยงกับประสบการณ์เก่า และเขาตีความไปตามนั้น
เราจึงจำเป็นต้องฟังเด็กมากๆ เพราะ sense of sight ที่เด็กมองเห็น มันจะระบุเลยว่าชอบหรือไม่ชอบ ตรงนี้แหละ สิ่งสำคัญที่เราควรได้ยินว่า เขาไม่ชอบเพราะอะไร
ในช่วง 4 senses นี้มันเป็นความรู้สึกล้วนๆ เขาชอบกินอะไร อยู่ห้องนี้เพราะชอบ เพราะรู้สึกดี อันนี้โอเคหรือไม่โอเค มันคือการกลับมาที่ความรู้สึกล้วนๆ แต่เรามักปฏิเสธความรู้สึกเด็ก พอเด็กบอกว่าไม่ชอบครูคนนี้ เราก็ “ไม่ได้ลูก เขาเป็นครู” พอเด็กบอกหนาว “ไม่หนาวลูก อดทน” แต่พอหน้าหนาว ลูกไม่ใส่เสื้อกันหนาวเพราะเขาร้อน บอกลูกว่า “ต้องใส่ลูก ไม่หนาวไม่ได้ ต้องหนาว”
การถูกปฏิเสธแบบนี้ ส่งผลในระยะยาวต่อเด็กอย่างไร
เวลาที่คนเราอายุเยอะๆ แล้วไปปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร เพื่อเท่าทันอารมณ์ถูกมั้ย? เพราะว่าตอนเราเป็นเด็กนั้น เราควรได้เรียนรู้เรื่องอารมณ์ รู้จักกับอารมณ์ เข้าใจแล้วจึงเท่าทันอารมณ์ แต่เด็กๆ กลับถูกปฏิเสธอารมณ์มาตลอดชีวิตเลย แล้วพอตอนแก่เลยต้องกลับมาตามหาการเท่าทันอารมณ์
ถ้าเขาบอกว่า “ไม่ชอบ” แล้วเราถามเขาว่า “ไม่ชอบเพราะอะไรลูก มันเป็นยังไงเหรอ” เขาจะกลับมาที่ตัวเองทันที การที่เด็กได้ทบทวนความชอบหรือไม่ สมองของเขาเกิดการทำงานเยอะมากเพื่อทบทวนและทำความเข้าใจชีวิต แค่การปฏิเสธอารมณ์นี่ก็เล่าได้อีกเป็นเล่มเลยนะ (หัวเราะ)
ยกตัวอย่างเบสิค เด็กหกล้ม เลือดไหล พ่อแม่พูดว่า “ไม่เจ็บลูก ไม่ร้องไห้” เด็กไม่มีข้อมูลอะไรมาก่อนเลย วันหนึ่งเห็นเลือด แล้วเขาก็เคยรู้สึกว่าปกติผิวเขาเป็นแบบหนึ่ง วันนี้เป็นอีกแบบนี้ มันต้องผิดปกติอะไรสักอย่าง แต่เราไม่ให้ความหมายกับเขาและกลับบอกว่า “ไม่เป็นไรลูก” พอเขาร้องไห้ เราบอก “ไม่เจ็บลูก” เอ๊ะ… มันคืออะไรนะ?
แม่เองก็มาด้วยพลังงานที่ panic หรือเต็มไปด้วยความกังวล ถึงตอนจะใส่ยาก็บอกลูกว่า “ไม่แสบ ไม่มีอะไร” พอใส่เข้าไปแล้วเป็นไง? เขาไม่เชื่อความรู้สึกของเขา เขาไม่เชื่อคำพูดของแม่ เพราะว่าเขาเคว้งในอวกาศว่ามันคืออะไร มีใครนิยามความรู้สึกนี้ให้ทีได้มั้ย
เวลาที่เด็กเท่าทันอารมณ์หมายความว่า สมองซีกขวารู้สึกแบบนี้ ถูกเชื่อมโยงกับสมองซีกซ้ายเพื่อตีความว่า แบบนี้เรียกว่า ‘เจ็บ’ ‘เสียใจ’ แต่พอมันไม่ถูกตีความ ข้างในมีแต่ความรู้สึกล้วนๆ ตีความไม่ได้ พอตีความไม่ได้วันหนึ่งเมื่อโตขึ้น พอเข้าสู่ประสบการณ์บางอย่างที่คล้ายเดิม อารมณ์มันก็กลับมาไฮแจ็คเราได้ตลอดเวลา ชีวิตคนที่ถูกปฏิเสธอารมณ์บ่อยๆ จึงถูกไฮแจ็คให้ใช้ชีวิตไปตามอารมณ์ เพราะเขาไม่เข้าใจมันนั่นเอง
เหมือนเราไม่ได้ถูกตีความจากความรู้สึกที่เป็นจริง แต่ถูก interrupt จากความรู้สึกของแม่? จากความกลัวของแม่
จากการปฏิเสธว่า “ไม่มีอะไร” “เป็นลูกผู้ชายอย่าร้องไห้” เขาก็ไม่ได้กลับมาทำความเข้าใจว่า อันนี้เขารู้สึกเสียใจ เพราะอะไรเขาถึงเสียใจ อันนี้เขาเรียกว่าเจ็บ ฉันทำอะไรเหรอถึงสร้างความเจ็บให้ตัวเอง คือมันไม่สอดคล้องกับความเจ็บที่เกิดขึ้น เพราะทุกอย่างถูกปฏิเสธหมด
ไม่ชอบเรียนเลข/ต้องชอบ ภาษาอังกฤษยาก/ไม่ยากหรอกลูก ทำโจทย์เลขไม่ได้/ง่ายนิดเดียว ทั้งที่จริงๆ ตอนที่เราเป็นเด็ก มันง่ายหรือยาก? นี่คือความสับสนของเด็กเต็มไปหมด สุดท้ายเขาไม่เคยกลับมาดูความรู้สึก เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไร เมื่อเขารู้สึกว่าเขากำลังรู้สึก ทุกคนจะบอกว่ามันเป็นอีกสิ่ง ท้ายที่สุดคนที่ถูกปฏิเสธบ่อยๆ ก็จะกลายเป็นคนที่ ‘เลิกแสดงความรู้สึก’ บอกความรู้สึกไม่ได้ว่ากำลังเป็นอะไร เลยเป็นไปตามอารมณ์
เพราะอธิบายออกไปไม่ได้?
ใช่ และก็ไม่มีประโยชน์ที่จะอธิบาย จะบอกแม่ว่ามันรู้สึกแย่ แม่ก็บอกว่า “ไม่เป็นไร” พอเขาเริ่มเป็นวัยรุ่น เขาไม่รู้จะเริ่มพูดกับใคร เขาก็เลิกพูดกับเรา เพราะว่าเราไม่เคยเข้าใจความรู้สึกเขาเลย แล้วเราก็งงว่าทำไมเขาเลิกสื่อสารกับฉัน ก็เพราะ ‘ฉัน’ ไม่เคยเข้าใจความรู้สึก ‘เขา’ เลย
เหมือนเป็นวงจร เพราะแม่ปฏิเสธความรู้สึกตัวเอง เพราะกลัวว่าลูกร้องแล้วฉันจะตื่นตระหนก ถ้าลูกบอกว่าไม่ชอบเลข แล้วแม่จะทำยังไงต่อ
อยู่กับความรู้สึกของเขาจริงๆ เพื่อให้เขากลับมาดูความรู้สึก เท่าทันความรู้สึก และเขาจะเท่าทันตัวเองง่ายมาก เพราะความรู้สึก เมื่อเห็น มันจะดับเร็ว แต่เวลาที่เราไม่เห็นมัน มันจะมีพลังมากขึ้นๆ
เหมือนว่าพูดปัดๆ ไป แต่สุดท้ายก็มีผลกระทบอยู่ดี
ใช่ เพราะเราไม่ได้อยู่กับความเป็นจริง ถึงบอกว่าเวลาที่อยู่กับลูกก็มีน้อย แล้วเรายังไม่อยู่กับความเป็นจริงของชีวิต แล้วลูกจะเรียนจากอะไร? ตรงนี้แหละคือเรื่องของการเท่าทันอารมณ์ เวลาคุณจะพูดอะไร ลองถามตัวเองก่อนว่ามันจะเกิดอะไรกันแน่ แล้วมันจะทำให้เราช้าลงในการทำบางอย่างเพื่อปฏิเสธอารมณ์เขา
กล่าวได้ไหมว่า Sense of Sight คือการตีความสิ่งที่มองเห็นจากประสบการณ์เก่า ซึ่งอยู่ที่ว่าเราเก็บบันทึกที่ผ่านการตีความในอดีตไว้อย่างไร ซึ่งการตีความความทรงจำก็เกี่ยวพันกับการเท่าทันอารมณ์ด้วย
และการเท่าทันอารมณ์ทั้งหมดก็เป็นไปเพื่อให้รู้จักตัวเอง รู้ว่าเขาชอบไม่ชอบอะไร เพราะทุกสิ่งที่เห็นก็คือการประเมินความชอบและไม่ชอบของชีวิต ถ้าเราทำให้เขาเท่าทัน จากความไม่ชอบกลายเป็นความเข้าใจ มันก็จะทำให้สิ่งที่เป็น illusion ของชีวิตมันน้อยลง
Sense 8: Sense of Warmth
รู้จัก ‘ความอบอุ่น’: พื้นที่พิเศษ ผลลัพธ์ความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูก
คนจะเรียกเซนส์นี้ว่า sense of temperature มนุษย์เรามักเลือกอยู่ในที่ที่อุณหภูมิพอดิบพอดีกับชีวิต
มันจึงไม่แปลกว่า ถ้าบ้านไหนที่เย็นชามากเกินไป ลูกกลัวความเย็นชาก็ขังตัวเองในห้อง บ้านไหนร้อนมากไป ลูกก็ไปอยู่นอกบ้าน และมันไม่ได้มาจากความคิด แต่คือร่างกายที่ขับเคลื่อนพาตัวเองไปสู่อุณหภูมิที่พอจะมีชีวิตอยู่ได้
อย่างที่เคยบอกไปว่า ชีวิตพี่มันคือการทดลองเนอะ ถ้าเราคุยกันเรื่องนี้เมื่อสิบปีก่อนพี่อาจพูดไม่ชัด แต่วันนี้มันผ่านมาถึงวันที่ลูกอายุ 18 กับ 14 ปี เรายังกอดคอกันเดินแม่ลูก แต่มันก็ไม่ใช่ความวุ่นวายแบบ “คุยไรกันเยอะแยะ” บางทีเป็นแค่เราสามคนเดินกอดคอกันเงียบๆ แต่มันเป็นอุณหภูมิที่โอเค
คนเป็นแม่รู้สึกยังไง
มันแค่ยืนยันว่าเราเป็นแม่ที่โอเค เขาถึงกล้าอยู่ใกล้ จริงๆ sense of temperature มันเหมือนกับการเผยผลลัพธ์ให้เห็นว่า อุณหภูมิที่อยู่กันมา ผลลัพธ์มันเป็นยังไงและมันไม่ได้เป็นเรื่องทางกายภาพนะ เราอยู่กับลูกด้วยอุณหภูมิ
วันหนึ่ง ตอนลูกคนโตอยู่ในช่วงปิดเทอมกำลังจะขึ้น ม.5 ระหว่างที่นอนเล่นอยู่บ้านเขาก็ถามว่า ถ้าเขาไปเที่ยว 4 วันโดยไม่มีผู้ใหญ่เลยจะได้มั้ย? จำไม่ได้แล้วว่าพี่นอนเล่นอยู่หรือทำอะไร แต่จำได้ว่าหันไปบอกเขาว่า “เออ ก็ไปดิ” เขาตอบกลับว่า “นึกแล้วว่าต้องเป็นแบบนี้ ลูกบอกเพื่อนไปว่า ‘คอยดูนะว่าแม่จะตอบว่า เออ ก็ไปดิ’ โดยไม่ถามอะไรเลย” เราก็งงแล้วถามลูกกลับไปว่า “แล้วจริงๆ มันต้องถามอะไรเหรอ” (หัวเราะ) เขาบอกว่า แม่ของเพื่อนลูกคนหนึ่งไปเช่าโรงแรมอยู่ใกล้ๆ แล้วเราก็แบบ “เฮ้ย ลูกเราเรียนที่โรงเรียนนี้ อยู่หอพักกันเองมาเป็นปีโดยไม่มีแม่คุม แล้วการจะไปอยู่หัวหิน 4 วัน ต้องมีแม่คุมด้วยเหรอ?” เขาก็หัวเราะ
คือมันเป็นอุณหภูมิของคนที่อยู่ด้วยกันอะ ไม่ต้องมากลัวกันว่าต้องโกหกหรือต้องอะไร แล้วเขาก็โอเคที่จะอยู่กับเรา แต่คำว่า ‘อยู่กับเรา’ ในเด็กวัยรุ่น เขาไม่ได้อยู่กับเราทางกายภาพนะ แม้ตัวเขาก็เร่ร่อนไปใช้ชีวิตของเขาเอง เรียนหนังสือ อยู่กับเพื่อน แต่ทุกครั้งที่กลับบ้าน เขาอยู่กับเรา มันมีความสุข กินอะไรกันอร่อย คุยกันสนุก จบแล้ว
วันๆ สิ่งที่ยากคือ “วันนี้กินไรดี” คือนี่ยากแล้ว (เสียงหนัก) ครูท่านหนึ่งเคยบอกว่า ไม่รู้ว่าจะสร้างความทุกข์กันไปทำไม เพราะความทุกข์แค่ แก่ เจ็บ ตาย หรือ เจอหายนะ ภัยพิบัติ แค่นี้มนุษย์ก็ต้องทุกข์มากพอแล้ว แค่จะทำให้ไม่เจ็บป่วย เจอภัยพิบัติแล้วไม่เป็นไร แก่และตาย พวกนี้คือความทุกข์อยู่แล้ว เรายังจะสร้างความทุกข์กันมากขึ้นไปกว่านี้อีกเพื่ออะไร เราสร้างความทุกข์ต่อกันจนกระทั่งอุณหภูมิในบ้านมันไม่โอเค ไปเพื่ออะไรเหรอ?
สรุปได้ไหมว่า Sense of Warmth หรือ Sense of Temperature ก็คือความรู้สึกปลอดภัย ความสบายที่จะอยู่ด้วยกัน
การที่ลูกรู้สึกว่าบ้านเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นที่ที่ลูกรู้สึกมีพลัง มีตัวเชื่อมระหว่างเรากับเขา จนแม้ว่ายามที่เขาอยู่ไกลแค่ไหน เขาก็ยังรู้สึกปลอดภัย มันมีบางอย่างที่เขารู้สึกว่าเราอยู่กับเขาตลอดเวลานั้น มันพิเศษมาก อยากให้พ่อแม่ลองใคร่ครวญดูว่า เด็กที่รู้สึกชีวิตปลอดภัยจะมีพลังชีวิตที่จะเรียนรู้หรือใช้ชีวิตดีๆ ได้แค่ไหน
อ่านเซนส์ที่ 1-4 ได้ที่ EP.1: THE TWELVE SENSES ปรัชญาการเติบโตของมนุษย์ตั้งแต่ระดับ ‘เซลล์’ และ ‘โซล’
เซนส์ที่ 9-12 ได้ที่ EP.3: THE TWELVE SENSES ปรัชญาการเติบโตของมนุษย์ตั้งแต่ระดับ ‘เซลล์’ และ ‘โซล’