- “หัวใจสำคัญของการศึกษาคือทำให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีชีวิตที่ดีทั้งต่อตัวเอง ผู้อื่น และสังคม” ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช กล่าวในเวทีการจัดการความรู้เพื่อการขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQM) ‘School Zero Dropout’
- โรงเรียนแห่งอนาคตต้องเป็นแหล่งสร้างนวัตกร ต้องสร้างคนที่รู้จักตนเอง คิดเองเป็น เป็นตัวของตัวเอง และเคารพผู้อื่น ต้องสร้าง Agentic Person คือคนที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นมนุษย์ที่มีจิตวิทยาเชิงบวกและมีสุขภาวะที่ดี
- การจะสร้างผู้เรียนที่คิดเป็นและเป็นตัวของตัวเองได้ หัวใจสำคัญคือการสร้างนิเวศเรียนรู้ที่เอื้อต่อ ‘ความหลากหลายของผู้เรียนทุกคน’ ครูและโรงเรียนต้องเอาใจใส่ เคารพ และเข้าใจในความหลากหลายของเด็ก รวมถึงเข้าใจสิ่งที่แตกต่างกันทั้งในด้านพื้นฐานทางสังคมและครอบครัว
“โรงเรียนยุคใหม่ต้องเป็นโรงเรียนสร้างอนาคต เป็นโรงสร้างหลายๆ แบบ สร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์ สร้างการเรียนรู้เชิงรุก สร้างนิเวศการเรียนรู้ที่ดี และเป็นโรงเรียนที่นำไปสู่การสร้างสุขภาวะ เพื่อพัฒนาเด็กสู่ ‘นวัตกร’ และ ‘Agentic Person’ ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง กล้าคิด กล้าทำ และมีจิตสาธารณะทำประโยชน์ให้แก่สังคม” บางช่วงบางตอนของการปาฐกถาพิเศษโดย ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ได้กล่าวให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนและระบบนิเวศทางการเรียนรู้สู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กและเยาวชนในอนาคต ในเวทีการจัดการความรู้เพื่อการขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQM) ‘School Zero Dropout’
สร้างนิเวศการเรียนรู้ที่ดี ต้องมี ‘พื้นที่ปลอดภัย’
“เรื่องระบบนิเวศการเรียนรู้ สิ่งที่ต้องเตือนตลอดเวลา คือ เด็กเรียนรู้ตลอด 24 ชั่วโมง อาทิตย์ละ 7 วัน ปีละ 365 วัน แปลว่า ระบบนิเวศการเรียนรู้หลายอย่างอาจทำลายเด็กโดยไม่ตั้งใจ บางครั้งพ่อแม่หรือครูเองหนุนเด็กบางคนแต่ทำลายเด็กบางคน สิ่งเหล่านี้คือความซับซ้อนในเรื่องการเรียนรู้ของมนุษย์”
ฉะนั้นระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ต้องการคือ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ เพื่อให้เด็กรู้สึกปลอดภัยทั้งในมิติกาย-ใจ
ศ. นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า เราต้องมีพื้นที่ปลอดภัย เพื่อให้พวกเขากล้าตั้งคำถามต่อประเด็นต่างๆ และที่สำคัญคำว่าพื้นที่ปลอดภัยต้องไม่ใช่แค่ปลอดภัยจากการทุบตีหรือกลั่นแกล้ง แต่ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยทางใจด้วย หลายครั้งเด็กถูกบีบคั้นทางใจ ทำอย่างไรที่จะทำให้ระบบนิเวศเอื้อต่อเด็กที่มีอารมณ์หลากหลายแบบ
“ระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ดี เด็กต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบ หมายความว่า ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง และชุมชน ต้องมีวิธีการที่ทำให้เด็กมีส่วนช่วยในการออกแบบระบบนิเวศการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้เขาไม่ข่มเหงหรือรังแกกัน เพราะเขารู้ว่าเขาต้องการอะไร เพื่อนต้องการอะไร เข้าใจความแตกต่างของมนุษย์ ที่สำคัญการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ชักจูงให้เป็นเด็กเติบโตเป็นคนดี มีค่านิยมที่ดี”
‘เรียนรู้จากประสบการณ์’ สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต
การเรียนรู้ที่แท้จริงต้องเป็น ‘การเรียนรู้บูรณาการ’ ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ แต่หัวใจสำคัญที่สุดคือ ‘การเรียนรู้จากประสบการณ์’ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ไม่ใช่เพียงแค่ประสบการณ์ แต่ต้องได้ความคิด วิธีตกผลึก รวมถึงทฤษฎีหรือหลักการ ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า Kolb’s Experiential Learning Cycle
ศ. นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า Kolb’s Experiential Learning Cycle คือวงจรเรียนรู้ของ ดร.เดวิด เอ. โคล์บ (Dr.David A. Kolb) มี 4 ขั้นตอน เริ่มจาก Experiencing เรียนรู้ข้อมูลผ่านการมีประสบการณ์และการลงมือทำ ขั้นตอนที่ 2 คือ Reflecting นำข้อมูลและประสบการณ์ที่ได้มาทบทวน ใคร่ครวญ จากนั้นมาสู่ขั้นตอนที่ 3 คือ Thinking คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ความรู้ออกมาตกผลึกเป็นหลักการหรือทฤษฎี และขั้นตอนสุดท้าย คือ Acting ลงมือทำจากความรู้ใหม่ที่ได้ และเรียนรู้ว่าสิ่งไหนควรทำหรือปรับปรุง
“การเรียนรู้จากประสบการณ์นั้นตรงกันข้ามกับสิ่งที่พวกเราคุ้นเคย เดิมเราเรียนทฤษฎีแล้วนำไปลองปฏิบัติ แต่ในที่นี้บอกว่าให้ปฏิบัติแล้วคิดไปหาทฤษฎี ดังนั้นเด็กคิดทฤษฎีเอง เป็นตัวของตัวเอง ภาษาวิชาการเรียกว่าเป็น ‘Agentic Person’ เป็นคนที่กล้าคิดด้วยตัวเอง มีความคิดของตัวเอง กล้าริเริ่มสร้างสรรค์ แต่ขณะเดียวกันต้องเคารพความคิดคนอื่นด้วย เพราะเหรียญมีสองด้าน ฉะนั้นคิดได้เองแล้ว ต้องเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง อย่ายืนหยัดยืนยันว่าสิ่งที่คิดดีที่สุด ต้องรู้จักอ่านทฤษฎีจากที่อื่น ฟังเพื่อนตกผลึก ต้องฝึกให้เด็กฟังกัน อธิบายซึ่งกันและกันว่าทำไมคิดต่าง เด็กจะได้เข้าใจว่าในโลกใบนี้มีคนที่คิดต่างกันได้
ดังนั้น หัวใจสำคัญของการศึกษาคือทำให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีชีวิตที่ดีทั้งต่อตัวเอง ผู้อื่น และสังคม”
การเรียนรู้จากประสบการณ์เป็นเครื่องมือเรียนรู้จากการปฏิบัติที่ช่วยทำให้พวกเขามีทักษะในการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เป็นการเรียนรู้ไปตลอดชีวิตไม่มีสิ้นสุด ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งในโลกปัจจุบันและอนาคต ฉะนั้นโรงเรียนต้องเป็นแหล่งหนุนการเรียนรู้ตาม Kolb’s Experiential Learning Cycle เป็นการเรียนรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนกระบวนทัศน์และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับระบบการศึกษาไทย
‘สร้างความรู้ใส่ตัว’ ผ่านการเรียนรู้เชิงรุก
ทุกวันนี้แก่นสำคัญของการเรียนรู้ไม่ใช่การรอรับถ่ายทอดจากหนังสือหรือครูเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ผู้เรียนต้องสร้างสมรรถนะการเรียนรู้ทั้ง 4 ด้าน ที่เรียกว่า VASK คือ คุณค่า (Values) ทัศนคติ (Attitude) ทักษะ (Skills) และ ความรู้ (Knowledge) ใส่ตัวเอง ด้วย กระบวนการเรียนรู้เชิงรุก หรือ Active Learning’
ศ. นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า การเรียนรู้แบบ Active Learning หมายความว่าเรียนจากของจริง เป็นการเรียนจากการปฏิบัติและสะท้อนคิด มีหลายโรงเรียนทำกิจกรรมสำรวจชุมชน ทำให้เด็กๆ ได้เห็นว่าชุมชนมีอะไรที่ยังขาดหรือต้องพัฒนาปรับปรุง พวกเขาก็นำมาช่วยกันคิด ออกแบบ ทำโครงการที่จะไปสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน ตอนทำกิจกรรม เด็กๆ ก็ได้เรียนรู้บูรณาการแทบทุกสาระวิชา และยังได้จิตสาธารณะ คือมีจิตใจที่ทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น รวมถึงสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะให้คุณค่าและติดตัวเขาไปจนตาย
“สิ่งสำคัญของการเรียนรู้เชิงรุกคือต้องทำเป็น ‘ทีม’ เพื่อให้เด็กได้ทำงานร่วมกัน ฝึกรับฟังการสะท้อนคิดของคนอื่น ฝึก Give and Take และยังช่วยพัฒนา Soft Skill ในด้านต่างๆ ทั้งทักษะการฟัง การสื่อสาร การเสียสละ การเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น”
สำหรับบทบาทของครูในการกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก ศ. นพ.วิจารณ์ บอกว่า ครูต้องไม่ทำตัวเป็นผู้รู้ แต่ต้องเป็น ‘นักเรียนรู้’ ร่วมกับศิษย์ ผู้ปกครอง ชุมชน หรือแม้แต่เพื่อนครู
“การเรียนรู้แบบ Active Learning ครูต้องไม่เน้นถ่ายทอดความรู้ แต่เน้นทำหน้าที่ออกแบบ เป็น Facilitate และ Coach ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติ และฝึกให้เด็กสะท้อนคิดหลักการด้วยตัวเอง ซึ่งหัวใจสำคัญคือการตั้งคำถาม ซึ่งเท่ากับหนุนให้เด็กสร้างความรู้ใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ ในระหว่างที่เด็กสร้างความรู้ใส่ตัว เด็กจะรู้ว่าบางเรื่องนั้นผิด ต้องเปลี่ยนใหม่ สิ่งนี้คือ ‘Transformative Learning’ เป็นการเรียนรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลา หมายความว่าในการตั้งคำถามเพื่อสะท้อนคิดนั้น ต้องสะท้อนคิดหลายๆ แบบ และมีการท้าทายว่าสิ่งที่เคยเชื่อหรือเคยเห็นนั้นตรงกับที่เคยเชื่อไหม มีใครเปลี่ยนใจบ้าง ซึ่งจะทำให้เด็กเข้าใจว่า ชีวิตของการเรียนรู้คือชีวิตของการเปลี่ยนใจ แต่ว่าไม่ใช่เปลี่ยนแบบเหลาะแหละ ต้องมีหลักการ”
สร้างการเรียนรู้บน ‘ความแตกต่างและหลากหลาย’
การจะสร้างผู้เรียนที่คิดเป็นและเป็นตัวของตัวเองได้ หัวใจสำคัญคือการสร้างนิเวศเรียนรู้ที่เอื้อต่อ ‘ความหลากหลายของผู้เรียนทุกคน’
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า โรงเรียนต้องเอาใจใส่ เคารพ หรือเข้าใจในความหลากหลายของเด็ก เด็กบางคนชอบดนตรี บางคนเรียนหนังสือเก่ง บางคนเรียนหนังสือไม่เก่งแต่เล่นกีฬาเก่ง ดังนั้นทำอย่างไรที่จะปลุกพลังที่ซ่อนเร้นของเขาออกมาได้ และทำให้เขามีชีวิตที่ดี สามารถทำประโยชน์ให้คนอื่น ฉะนั้นครูต้องเอาใจใส่ และเข้าใจสิ่งที่แตกต่างกันทั้งในด้านพื้นฐานทางสังคมและครอบครัว ทำอย่างไรโรงเรียนจะหนุนเด็กทุกประเภทได้
“ครูและโรงเรียนต้องช่วยให้เด็กได้เข้าใจตัวเองและใช้ความแตกต่างหนุนการเรียนรู้ของตัวเองและของเพื่อน ครูต้องเน้นการตั้งคำถามเพื่อสร้างความมั่นใจ แล้วก็มุ่งมั่นสร้าง Growth Mindset ให้กับลูกศิษย์ และปลุกพลังที่ซ่อนเร้นออกมา ทั้งหมดนี้เป็นส่วนที่จะช่วยป้องกันปัญหาการ Drop-out ที่รากเหง้า เมื่อเด็กไม่ชอบเรียนคณิตศาสตร์ แต่พอเต้นแล้วสนุกมาก ก็ให้เขาได้เรียนเต้น เพราะเรื่องการเคลื่อนไหวเขาดี”
โรงเรียนไม่ใช่โรงสอน แต่คือโรงสร้างนวัตกรแห่งอนาคต
ศ. นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า โรงเรียนแห่งอนาคตต้องเป็นแหล่งหนุนการเรียนรู้และพัฒนา อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือต้องมีกลไกการปฏิสัมพันธ์ของระบบการศึกษาแบบ Bottom-Up และ Top-Down เพราะจุดอ่อนที่ผ่านมาคือ เรามี Top-Down มากเกินไป ที่สำคัญคือต้องมีปฏิสัมพันธ์แบบแนวราบ นั่นคือระหว่างโรงเรียน นักเรียน และครูด้วยกันเอง
“เวลาถามว่าโรงเรียนคืออะไร เราจะเผลอตอบไปว่า โรงเรียนเป็นที่เรียนวิชาความรู้ ซึ่งไม่ผิด แต่ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘การพัฒนาความเป็นมนุษย์’ และยังเป็น ‘แหล่งเชื่อมโยงความรู้ทฤษฎีกับการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง’ หมายความว่า เรายังต้องเรียนรู้จากทฤษฎี แต่ขณะเดียวกันต้องกล้าเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และกล้าที่จะบอกว่าทฤษฎีนี้ไม่ครบ ต้องเติมให้ครบ เพื่อให้ใช้ได้จริงในสถานการณ์ของเรา
ฉะนั้นการศึกษาที่มีคุณค่าที่แท้จริงนั้น เราต้องไม่หลับหูหลับตา หรือลุ่มหลงในความถูกผิดในเรื่องของการเรียนรู้มากเกินไป ”
อย่างไรก็ดีสำหรับทิศทางของโรงเรียนแห่งอนาคต ศ.นพ.วิจารณ์ มองว่า ต้องเป็นแหล่งสร้างนวัตกร ต้องสร้างคนที่รู้จักตนเอง คิดเองเป็น เป็นตัวของตัวเอง และเคารพผู้อื่น อีกทั้งยังต้องสร้าง Agentic Person คือคนที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง กล้าคิด กล้าทำประโยชน์ให้แก่สังคม เป็นมนุษย์แห่งสุขภาวะ มีจิตวิทยาเชิงบวกและมีสุขภาวะที่ดี ดังนั้นโรงเรียนไม่ใช่โรงสอนแต่เป็นโรงสร้าง หนุนเด็กให้สร้างความรู้และสมรรถนะอื่นๆ ใส่ตัว
“ความจริงมนุษย์ทุกคนต่างมีพลังซ่อนเร้นอยู่ในตัว เพียงแต่การศึกษาด้วยการบอกหรือสอนให้เชื่อ ไม่สามารถดึงพลังซ่อนเร้นเหล่านั้นออกมาได้ ครูต้องเป็นนักออกแบบ เป็นนักสร้างบันไดเพื่อให้นักเรียนปีนขึ้นไปปลดปล่อยพลัง ขณะที่โรงเรียนและระบบการศึกษาไทยต้องสร้างนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการปลุกพลังที่ซ่อนเร้นในมนุษย์ออกมาให้ได้”