- เมื่อบางคนเห็นบางสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเองหรือไม่สามารถเชื่อมโยงกับตัวเองได้ จะพยายามหาวิธีทำให้สิ่งนั้นเกี่ยวข้องกับตัวเอง แทนที่จะตระหนักว่าตัวเองไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของสิ่งนั้น นี่คือปรากฎการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย เรียกว่า ‘What About Me Effect’ หรือพฤติกรรม ‘แล้วฉันล่ะ’
- ผู้ที่ใช้เวลาบนโลกออนไลน์เป็นเวลานานอาจหลงคิดไปว่าเนื้อหาล้วนสร้างมาเพื่อตัวเอง เนื่องจากอัลกอริทึมจะสามารถจับทางได้ว่าผู้ใช้รายนี้มีลักษณะนิสัยอย่างไร จึงแนะนำแต่เนื้อหาที่คนนั้นชื่นชอบ เพื่อที่จะทำให้เขาใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์มนี้ต่อไปเรื่อยๆ
- จริงๆ แล้วทุกอย่างไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเรา แม้เนื้อหาที่เราเห็นอาจไม่ได้เชื่อมโยงกับเรา แต่ก็อาจมีประโยชน์กับคนอื่น ดังนั้นอย่ารีบเข้าไปต่อว่าผู้สร้างเนื้อหา แต่ให้ลองมองในมุมของคนอื่นบ้าง เป็นการฝึกฝนความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ไปด้วยในตัว
ในโซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยคอนเทนต์มากมายให้เราเลือกรับชม เมื่อเราดูคอนเทนต์ไหนแล้วเกิดความสนใจ เราก็อยากที่จะอ่านความคิดเห็นของคนอื่นๆ ด้วย เช่น เราดูคลิปสอนทำอาหาร เราก็อยากอ่านคอมเมนต์ว่าคนอื่นคิดว่าสูตรอาหารนี้เป็นอย่างไร ทำแล้วจะอร่อยหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งเรากลับพบว่าช่องคอมเมนต์เต็มไปด้วยคนพิมพ์ต่อว่าเจ้าของคลิปในทำนองว่าคลิปนี้ไม่เห็นเกี่ยวกับตัวเองเลย เช่น “ฉันแพ้อาหารนี้ให้ทำไง?” “ปกติไม่ทำอาหารอยู่แล้ว จำเป็นต้องรู้ด้วยเหรอ?” กล่าวโดยรวมคือคนเหล่านี้มักถามว่า “ทำไมไม่คิดถึงฉันบ้าง แล้วฉันล่ะ?” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า What About Me Effect
What About Me Effect คืออะไร?
เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว Sarah Lockwood ครีเอเตอร์ติ๊กต่อก ได้ลงคลิปกล่าวถึงปรากฏการณ์บางอย่างที่กำลังเกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย โดยเธอเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘What About Me Effect’
What About Me Effect คือเมื่อบางคนเห็นบางสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเองหรือไม่สามารถหาความเชื่อมโยงกับตัวเองได้ คนเหล่านั้นจะพยายามหาวิธีที่จะทำให้สิ่งนั้นเกี่ยวข้องกับตัวเอง แทนที่จะตระหนักว่าตัวเองไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของสิ่งนั้น
เช่น มีผู้หญิงคนหนึ่งทำคลิปเกี่ยวกับ ‘ซุปถั่วสำหรับผู้หญิงมีประจำเดือน’ แต่ในคอมเมนต์ของคลิปนั้นกลับเต็มไปด้วยคนจำนวนมากเข้าต่อว่าเจ้าของคลิปให้นึกถึงตัวเองที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของคลิปนี้บ้าง เช่น “ถ้าฉันไม่ชอบถั่ว ใส่อย่างอื่นแทนได้ไหม” “แล้วคนที่ไม่มีประจำเดือนล่ะ ให้ทำไง”
ในไทยก็มีกรณีที่คล้ายคลึงกัน เช่น ข่าวนักศึกษาไทยสามารถคิดค้น ‘บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเสริมไคโตซานจากเปลือกกุ้ง’ ได้สำเร็จ แต่กลับมีบางคนเข้าไปตำหนิว่าทำไมไม่นึกถึงคนที่แพ้กุ้งบ้าง โดยกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้ตระหนักเลยว่าตัวเองไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของผลิตภัณฑ์นี้
Sarah วิเคราะห์ว่า คนที่ชอบแสดงความเห็นว่าทำนองว่า “แล้วฉันล่ะ” อาจเกิดมาจาก ‘การใช้เวลาบนโลกออนไลน์มากเป็นประจำ’ บวกกับ ‘การยึดถือความเป็นปัจเจกนิยมสูง’
ผู้ที่ใช้เวลาบนโลกออนไลน์เป็นเวลานานอาจหลงคิดไปว่าเนื้อหาบนโซเชียลมีเดียล้วนสร้างขึ้นมาเพื่อตัวเอง เนื่องจากเมื่อเราใช้โซเชียลมีเดียเป็นประจำ อัลกอริทึมจะสามารถจับทางได้ว่าผู้ใช้รายนี้มีลักษณะนิสัยเป็นอย่างไร จึงแนะนำแต่เนื้อหาที่คนนั้นชื่นชอบ เพื่อที่จะทำให้เขาใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์มนี้ต่อไปเรื่อยๆ
ด้วยอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน ทำให้การใช้งานแพลตฟอร์มเหล่านี้มีลักษณะเป็น ‘Echo Camber’ หรือ ‘ห้องเสียงสะท้อน’ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ผู้คนอยู่ในพื้นที่ที่พบเจอแต่ความคิดที่คล้ายกัน เปรียบเหมือนกับการอยู่ในห้องที่ได้ยินแต่เสียงตัวเองสะท้อนก้องไปทั่วไป
การอยู่ในห้องเสียงสะท้อนทำให้เรามองไปทางไหนก็เจอแต่คนที่มีความคิดเหมือนๆ กัน ในจุดนี้อาจทำให้เราหลงคิดไปว่าความคิดของตัวเองนั้นถูกต้องแล้ว รู้สึกว่าตัวเองสำคัญ เพราะว่าใครๆ ก็คิดเหมือนกับเรา
เมื่อผู้ที่หลงอยู่ในห้องเสียงสะท้อนไปเจอกับความคิดหรือเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเอง อาจก่อให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเองไม่สำคัญแล้ว จึงพยายามหาวิธีโยงว่าเรื่องเหล่านั้นจะเกี่ยวข้องกับตัวเองได้อย่างไรบ้าง เพื่อกู้คืนความรู้สึกว่าตัวเองยังสำคัญอยู่ โดยหนึ่งในวิธีที่ใช้ก็คือการต่อว่าผู้สร้างเนื้อหาว่า “ทำไมไม่คิดถึงฉันบ้าง ฉันก็สำคัญนะ”
นอกจากนี้ การยึดถือความเป็นปัจเจกนิยมสูงก็เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญ โดย ‘ความเป็นปัจเจกนิยม’ (Individualism) หมายถึง แนวคิดที่บุคคลให้ความสำคัญกับเป้าหมายของตัวเองมากกว่าเป้าหมายของกลุ่ม ยึดถือความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ให้ความสำคัญกับความคิดและความรู้สึกของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ความเป็นปัจเจกนิยมที่มากเกินไปจนเรียกว่า ‘ความเป็นปัจเจกนิยมเกินเหตุ’ หรือ ‘วัฒนธรรมคลั่งอัตตา’ (Hyper-individualism) นำไปสู่การเห็นแก่ตัวและไม่คำนึงผู้อื่น
Joanna Macy นักเขียนและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า วัฒนธรรมคลั่งอัตตาคือการพยายามยกยอให้อัตตา (ตัวตน) ของเราสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่สุด นำไปสู่การแก่งแย่งแข่งขันเพื่อเป้าหมายของตัวเอง วัฒนธรรมเช่นนี้ขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
อีกทั้ง Dennis M. Clausen ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแซนดีเอโก ยังกล่าวว่า ความเป็นปัจเจกนิยมเกินเหตุในปัจจุบันนำไปสู่การแหกคุณค่าที่สังคมยึดถือเพื่อรักษาความสงบสุข เช่น ไม่เคารพกฎจราจร ไม่ยอมสวมหน้ากากอนามัยในช่วงการระบาดของโควิด-19
สรุปคือ บุคคลที่มีความเป็นปัจเจกนิยมเกินเหตุมักถือว่าตัวเองสำคัญที่สุด ดังนั้นเมื่อเจอกับเนื้อหาบนโซเชียลมีเดียที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเอง อาจทำให้ความรู้สึกว่าความสำคัญของตัวเองนั้นถูกสั่นคลอน เลยต่อว่าผู้สร้างเนื้อหาให้คิดถึงฉันด้วย ฉันก็สำคัญ
ทุกอย่างไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเรา
โซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยเนื้อหามากมาย การที่เราพบเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวข้องกับเราก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เราต้องตระหนักในข้อนี้ไว้ โดย Sarah บอกว่า ถ้าเรามัวแต่พยายามทำให้ทุกเรื่องเกี่ยวข้องกับเรา เราคงเป็นบ้าตายพอดี เช่น ถ้าเราแพ้กลูเตน (โปรตีนชนิดหนึ่งที่พบในขนมปัง) เราไม่ต้องไปคอมเมนต์ด่าคนที่ทำคลิปขนมปังทุกคลิปเลยหรือ
นอกจากนี้ แม้บางอย่างจะไม่เกี่ยวข้องกับเรา แต่ถ้าเรารู้แล้วไม่ได้เสียหายอะไรก็ลองฟังเก็บไว้เป็นความรู้ดู เราไม่มีทางรู้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น บางทีความรู้เหล่านี้อาจเป็นประโยชน์กับตัวเราก็ได้
คำถามที่ว่า ‘รู้แล้วได้อะไร’ ในบางครั้งก็ไม่สามารถตอบเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน บางคนใช้ความรู้จากหลายๆ เรื่องมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต ผ่านการเก็บเล็กผสมน้อยจนเกิดเป็นปัญญา การรู้ไม่จำเป็นต้องได้ผลลัพธ์ที่จับต้องได้ในขณะนั้น แต่ผลที่ได้จะเป็นประโยชน์ในอนาคตอย่างแน่นอน
การถามว่า ‘รู้แล้วได้อะไร’ เป็นเรื่องที่ดี ช่วยให้เรากลับมาพิจารณาว่าตัวเองได้เรียนรู้สิ่งใดจากเรื่องนี้ แต่ในขณะเดียวกัน การถามคำถามนี้ต้องไม่ใช่สิ่งที่ปิดกั้นการเรียนรู้ของเราเสียเอง
สุดท้าย การแก้ไขพฤติกรรม ‘แล้วฉันล่ะ’ คือให้ลองเปลี่ยนความคิดจาก ‘What About Me’ เป็น ‘What About the Others’ แม้เนื้อหาที่เราเห็นอาจไม่ได้เกี่ยวข้องหรือมีประโยชน์กับเรา แต่เนื้อหานั้นอาจมีประโยชน์กับคนอื่นก็ได้ ดังนั้นเราจึงอย่ารีบเข้าไปต่อว่าผู้สร้างเนื้อหา แต่ให้ลองมองในมุมของคนอื่นบ้าง เป็นการฝึกฝนความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ไปด้วยในตัว
จากตัวอย่างของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเสริมไคโตซานจากเปลือกกุ้ง แม้ว่าเราจะแพ้กุ้ง แต่ก็ให้ลองคิดในมุมของคนที่ไม่แพ้กุ้งดูว่าเขาจะได้รับประโยชน์อย่างไร เช่น เป็นอาหารทางเลือกอย่างหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อีกทั้งยังช่วยลดขยะจากอาหารได้ด้วย เป็นนวัตกรรมที่สร้างความยั่งยืนให้กับอาหารของมนุษย์ท่ามกลางโลกที่แปรเปลี่ยนไปอย่างไม่แน่นอน
อ้างอิง
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2016). Individualism – Collectivism : ความเป็นปัจเจกนิยม – คติรวมหมู่.
ไทยรัฐออนไลน์. (2023). บะหมี่ฯ เปลือกกุ้ง นวัตกรรมอาหารสร้างความยั่งยืน.
นักเดินทางด้านใน Inside Explorer. (2018). “วัฒนธรรมคลั่งอัตตา” (Hyper-Individualism).
สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน. (2022). ‘Echo Chamber’ เราต่างมีกะลาคนละใบ…ที่เข้าใจว่าคือโลกกว้าง.
สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ. (2023). ‘ก็โลกไม่ได้หมุนรอบตัวเรานี่!’ รู้จัก What About Me Effect เมื่อทุกอย่างไม่ได้เกิดมาเพื่อเราคนเดียว.
Angela Serna-Norzagaray. (2024). The “what about me?” effect and hyperindividualism.
Dennis M. Clausen. (2021). Is Hyper-individualism Undermining the Social Contract?
Kelsey Borresen. (2023). The ‘What About Me Effect’ Is Rampant On Social Media. Are You Guilty Of It?