- สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง การรอคอยการออกมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโดยรัฐดูเหมือนจะยังไม่มีความหวัง กระทั่งเริ่มเห็นการแก้ปัญหาหรือดูแลตัวเองโดยประชาชนที่เป็นปัจเจกตามกำลังที่แต่ละคนจะดูแลตัวเองได้ ตั้งแต่หน้ากากอนามัย จนกระทั่งเครื่องฟอกอากาศ หรือการปรับพฤติกรรมที่จะไม่ก่อให้เกิดฝุ่นควัน
- เบิร์ด-นีลชา เฟื่องฟูเกียรติ เป็นหนึ่งคนที่ไม่จำนนต่อสถานการณ์ ค้นคว้าและทำเครื่องฟอกอากาศใช้เอง แทนการซื้อเครื่องฟอกอากาศราคาสูง พร้อมกับส่งต่อความรู้นี้ให้กับคนอื่นๆ ได้ดูแลตัวเอง มีเครื่องฟอกอากาศในราคาต้นทุนที่เข้าถึงได้
- ไม่เพียงการทำเครื่องฟอกอากาศ พี่เบิร์ดยังแลกเปลี่ยนกับเราถึงการใช้ชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นเรื่องปกติเหมือนการแปรงฟัน
เรียกได้ว่าเริ่มต้นปีพวกเราก็ประสบกับปัญหาสุขภาพอย่างหนักหน่วงไม่ว่าจะเป็นปัญหาเจ้าเก่าอย่างฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ที่ยังคงกลับมาหาพวกเรา หรือจะเป็นไวรัสโคโรน่าที่สถานการณ์ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 9,480 ราย (ข้อมูลจากสำนักข่าวไทยรัฐ ณ วันที 31 มกราคม 2563) ประเด็นเร่งด่วนสำหรับหลายๆ คน ท่ามกลางข้อถกเถียงหลายอย่างโดยเฉพาะความคุ้มครองเชิงระบบจากรัฐที่ขยับช้า สิ่งที่ทำได้ในวันนี้คงหนีไม่พ้นการดูแลสุขภาพของตัวเองให้รอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บที่รุมเร้า
ข้อเท็จจริงของเครื่องฟอกอากาศคือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้เราได้สูดอากาศที่มีคุณภาพ ปัจจุบัน(เคย)หาซื้อได้ง่าย หลากหลาย และราคาไม่สูงมาก แต่เมื่อปีที่แล้วราคาของมันพุ่งสูงปรี๊ดพอๆ กับจำนวนฝุ่นในอากาศ เพราะอารมณ์หมั่นไส้ที่ต้องเจอกับการโก่งราคาเป็นเหตุผลให้ นีลชา เฟื่องฟูเกียรติ หรือที่ทุกคนเรียกกันว่า พี่เบิร์ด นักแสดงอิสระและวิทยากรจัดอบรมวิธีการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ลุกขึ้นมาทำเครื่องฟอกอากาศเอง พร้อมกับเผยแพร่ความรู้ไปให้กับคนอื่นๆ
The Potential ขอร่วมด้วยช่วยกันเผยแพร่ความรู้นี้ และปรารถนาดีให้ทุกคนดูแลสุขภาพกันอย่างเต็มกำลังนะคะ
เวลาบ่ายสามโมงครึ่ง ณ ห้องเรียนโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดห้อง workshop สถานที่นัดพบของคนที่อยากเรียนทำเครื่องฟอกอากาศและถังเพาะปุ๋ย ซึ่งวิทยากรที่จะมาสอนในครั้งนี้ คือ พี่เบิร์ด ก่อนจะเริ่มการสอน พี่เบิร์ดเล่าเหตุผลที่ตัวเองชอบทำเครื่องฟอกอากาศ เธอบอกว่าเริ่มทำเมื่อปีที่แล้วช่วงที่ฝุ่น PM 2.5 เพิ่งบูมขึ้นมา พี่เบิร์ดเป็นหนึ่งในคนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ป่วยเป็นไข้ เธอมองหาวิธีป้องกัน ซึ่งต้นตอของปัญหามาจากอากาศที่ไม่ดี ถ้าอยากสูดอากาศดีบริสุทธิ์ก็คงต้องพึ่งตัวช่วยอย่างเครื่องฟอกอากาศ แต่เพราะความนิยมของมันพุ่งสูงปรี๊ด ใครๆ ก็อยากได้ ค่าตัวของเจ้าเครื่องฟอกอากาศก็พุ่งทะยานแตะหลักหมื่น
“มันเป็นความหมั่นไส้ เรียกว่าตั้งคำถามในใจว่าทำไมเราไม่ได้รับความยุติธรรมในการซื้อเครื่องฟอกอากาศในราคาที่ปกติ เพราะช่วงนั้นเขาขึ้นราคาเป็น 2 เท่า พี่มีตังค์ก็จริงแต่พี่รู้สึกว่าทำไม? ทำไมต้องจ่ายเงินขนาดนั้นให้กับระบบที่จัดการอะไรไม่ได้ เราเป็นผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบ”
ประกอบกับอุปนิสัยส่วนตัวที่ชอบทำงาน DIY พี่เบิร์ดเลือกที่จะไม่ง้อซื้อเครื่องฟอกอากาศที่ราคาสูง แต่ทำขึ้นมาเอง แหล่งข้อมูลในยุคนี้คงหนีไม่พ้น Google และ Youtube พี่เบิร์ดเรียนรู้วิธีทำเครื่องฟอกอากาศจากการดูคลิป ซึ่งครูของพี่เบิร์ดมีตั้งแต่เด็กประถม ผู้ใหญ่ ไปจนถึงชาวต่างชาติ
1 ปี เป็นระยะเวลาที่พี่เบิร์ดศึกษาการทำเครื่องฟอกอากาศ เธอบอกว่าเหมือนกับการทำงานวิจัยขนาดย่อม เครื่องฟอกอากาศที่พี่เบิร์ดทำมีมากมายหลายรุ่น ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพัฒนาไปเรื่อยๆ จากรุ่นที่เอาพัดลมมามัดกับแผ่นกรองด้วยหนังยาง จนไปถึงทำเป็นเครื่องที่ใช้ในปัจจุบัน พี่เบิร์ดก็ไม่เก็บความรู้นี้ไว้คนเดียว แต่ยังแชร์ต่อไปให้คนอื่นๆ ผ่านสังคมเฟซบุ๊ก มีเพื่อนบางคนที่ติดต่อขอให้พี่เบิร์ดประกอบเครื่องฟอกอากาศให้ หรือที่ชวนให้พี่เบิร์ดมาสอนทำเวิร์คช็อปแบบครั้งนี้
“ทำปุ๊บวัดปั๊บ มีทดลองทั้งแบบปิดห้อง แบบเปิดห้องให้อากาศถ่ายเท แบบเปิดแอร์ วัดว่าตัวกรองอันไหนทำงานได้ดีกว่ากัน จดบันทึกไว้คร่าวๆ เกณฑ์การวัดของเรา คือ หนึ่งกรองได้ในพื้นที่ห้องแบบนี้ สองราคาคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป” พี่เบิร์ดเล่า
ลงมือทำเครื่องฟอกอากาศ
เวิร์คช็อปครั้งนี้ เครื่องฟอกอากาศรุ่นที่พี่เบิร์ดนำมาสอน คือ รุ่นทรงกระบอกและรุ่นพรหมลิขิต พี่เบิร์ดเริ่มต้นด้วยการสาธิตทำเจ้าเครื่องรุ่นทรงกระบอก ต้นแบบที่พี่เบิร์ดนำมาโชว์เป็นทรงกระบอกขนาดปานกลาง ลักษณะคล้ายกระติกน้ำร้อน
ขั้นตอนการทำเครื่องฟอกอากาศรุ่นทรงกระบอก
อุปกรณ์สำหรับทำเครื่องฟอกอากาศรุ่นนี้ประกอบด้วย ไส้กรองอากาศทั่วไปทรงกระบอก พัดลมดูดอากาศทรงกลมขนาด 6 นิ้ว (ซื้อสำเร็จ) และแผ่นโฟมยาง
ขั้นตอนที่ 1 เริ่มจากประกอบพัดลมดูดอากาศที่ซื้อมาแบบสำเร็จรูปนั้นให้เสร็จสมบูรณ์
ขั้นตอนที่ 2 นำปากกระบอกแผ่นกรอง (สีฟ้า) ทาบกับแผ่นโฟมยาง (สีเหลือง) เพื่อวัดขนาด จากนั้นจึงตัดแผ่นโฟมยางนั้นให้เป็นวงแหวนใช้คั่นระหว่างพัดลมดูดอากาศกับเครื่องกรอง ป้องกันไม่ให้แผ่นกรองละลายเมื่อเจอกับความร้อน
ขั้นตอนที่ 3 นำอุปกรณ์ทั้งหมดมาประกอบ เริ่มจากเอาแผ่นโฟมยางที่ตัดแล้วมาติดกับปากกระบอกแผ่นกรอง (สีฟ้า) โดยใช้เทปกาวสองหน้าเป็นตัวเชื่อม จากนั้นนำพัดลมดูดอากาศมาวางทับแผ่นโฟมยาง (สีฟ้า) ใช้เทปกาวสองหน้าเป็นตัวเชื่อมเช่นเดิม ก็เป็นอันเสร็จพร้อมนำไปใช้งาน
ขั้นตอนการทำเครื่องฟอกอากาศรุ่นพรหมลิขิต
อุปกรณ์สำหรับทำเครื่องฟอกอากาศรุ่นนี้ประกอบด้วย พัดลมดูดอากาศทรงสี่เหลี่ยมขนาด 10 นิ้ว กล่องลังกล่องเดิมที่ใส่พัดลมมา แผ่นกรองอากาศทั่วไป คัตเตอร์ และเทปผ้า
ขั้นตอนที่ 1 เริ่มจากประกอบพัดลมดูดอากาศที่ซื้อมาสำเร็จรูปนั้นให้เสร็จสมบูรณ์
ขั้นตอนที่ 2 ทำตัวเคสใส่พัดลม
- ด้านหน้ากล่อง: ตัดขอบลังออกให้หมด
- ด้านหลังกล่อง: ด้านหลังของกล่องจะเป็นส่วนที่เอาไว้วางแผ่นกรอง ขั้นตอนนี้เราต้องเจาะรูกล่องด้านหลัง โดยจะเหลือพื้นที่ขอบลังไว้ดังรูป วิธีการคือเอาพัดลมมาวางทับฝากล่องแล้วใช้ดินสอร่างหรือจะเอาไม้บรรทัดมาขีดเส้นขอบดังรูปก็ได้ จากนั้นก็ตัดกล่องด้วยคัตเตอร์ แล้วนำเทปผ้ามาพันกับขอบกล่องเพื่อเก็บงานให้เรียบร้อย
ขั้นตอนที่ 3 เจาะรูด้านข้างของกล่องเพื่อเป็นช่องสำหรับสายไฟพัดลม
ขั้นตอนที่ 4 ประกอบเครื่องฟอกอากาศ โดยเริ่มจากใส่แผ่นกรองลงไปชั้นในสุด (ในด้านที่ตัดให้เหลือขอบเอาไว้) จากนั้นใส่พัดลมดูดอากาศเข้าไปในกล่อง จากนั้นเอากระดาษลังที่ใช้หุ้มตัวพัดลมไว้อยู่แล้ว (ตอนแกะพัดลมออกมาจากกล่องจะมีกระดาษที่ล็อกตัวพัดลมกับกล่องอยู่) มาประกบหน้าพัดลมเป็นหน้ากากดังรูป เพื่อล็อกไม่ให้ตัวพัดลมหลุดออก เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
ที่มาของชื่อรุ่นนี้พี่เบิร์ดอธิบายว่า เพราะกล่องลังที่ใส่พัดลมมามันพอดีกับเครื่องฟอกอากาศ เลยเป็นที่มาของชื่อรุ่นพรหมลิขิต
หลังจากสอนเสร็จก็ถึงเวลาที่จะได้พูดคุยกับพี่เบิร์ดเพิ่มเติม คำถามแรกที่ถูกถาม คือ เหตุผลที่พี่เบิร์ดยังคงทำเครื่องฟอกอากาศอยู่ ทั้งๆ ที่ตอนนี้ราคาของเครื่องก็ลดลงมากแล้ว คำตอบของพี่เบิร์ด เพราะความชอบส่วนตัวล้วนๆ แม้ว่าตอนนี้ราคาเครื่องฟอกอากาศจะไม่ได้พุ่งสูงแล้ว แต่ข้อดีของการทำเครื่องฟอกอากาศเอง คือ สามารถเปลี่ยนแผ่นกรองง่าย เพราะเครื่องกรองสำเร็จรูปบางรุ่นหาซื้อตัวแผ่นกรองเปลี่ยนยาก
“ทางเลือกย่อมมีมากกว่าหนึ่งเสมอในการอยู่ในโลกนี้ ใช่ เราอยู่ในระบบทุนนิยม ระบอบการเมืองแบบนี้ รัฐบาลนี้ ฟังก์ชันสังคมแบบนี้ แต่มีวิธีการอยู่ที่ไม่ได้มีวิธีการเดียว มีปรัชญาอยู่แบบพอเพียง ปรัชญาอยู่แบบใช้แหลก มีหลายทางให้คุณได้เลือก”
ในโลกนี้ไม่มีขยะ มีแต่ของที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ซ้ำ
นอกจากทำเครื่องฟอกอากาศใช้เองแล้ว พี่เบิร์ดยังใช้ชีวิตด้วยการแยกขยะ เป็นสิ่งที่ทำมาตลอดตั้งแต่อายุ 17 ปี เริ่มจากทำที่บ้าน ขยายไปสู่คนรอบข้าง สถานที่ทำงาน วัด ตัวของพี่เบิร์ดเองก็ได้รับการขัดเกลาจากสังคม สภาพแวดล้อมที่ทำให้รู้สึกว่า ‘เราต้องแยกขยะ’ ทำมาเรื่อยๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต เหมือนกับการแปรงฟัน ดื่มน้ำ
เรื่องพวกนี้พี่เบิร์ดบอกว่ามันเกิดมาจากความสนใจ ตัวพี่เบิร์ดเองก็สนใจเรื่องแยกขยะ ถึงขั้นไปลงเรียนวิชาแยกขยะกับวงษ์พาณิชย์ สิ่งที่ได้จากการไปเรียน คือ โลกนี้ไม่มีขยะ พี่เบิร์ดขยายต่อว่าประโยคนี้ไม่ใช่คำคมในหนังสือ แต่เป็นความจริง เรื่อง zero waste มันเป็นความจริง ขึ้นอยู่กับการจัดการทรัพยากรให้เป็น ถ้ามองว่ามันเป็นขยะก็จบเลย เพราะสุดท้ายแล้วมันไม่มีขยะ มีแต่สิ่งที่ใช้เสร็จแล้วนำกลับไปใช้หมุนเวียนต่อ
“มีคนทำอยู่นะ มันยังไม่พอเท่านั้นเอง ทำไปเรื่อยๆ เถอะ สัดส่วนคนทำจะมากจะน้อยแต่ไม่เคยมีคนหยุดทำ คนทำตลอด ไม่งั้นพี่จะเอาแนวคิดมาจากไหน
“มีคนทำแอบตามซอกต่างๆ ทุกที่ เดียวนี้ยิ่งเยอะขึ้น แต่มันยังไม่พอเป็นอิมแพค เป็นแพ็คเกจใหญ่ที่ทำให้ทุกคนเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ ที่ทุกคนต้องทำ ยังเดินทางไปไม่ถึงจุดนั้น แต่อีกหน่อยทางนี้คงเป็นทางรอด เพราะขยะล้นโลก
“ใครไม่ทำพี่ไม่ว่า แต่ว่าพี่แค่ไม่รอให้มีรถขนขยะรุ่นใหม่หรือรอสเตชั่นแยกขยะใหม่ที่จะสร้างเสร็จ ทำจากต้นทางคือเรา จะไปเปลี่ยนโรงงาน ไปเปลี่ยนบ้านคนอื่นไม่ได้ แต่มันเปลี่ยนที่มือเราได้ พี่แยกขยะพ่อไม่แยกพี่ก็ไม่ได้ว่าอะไรพ่อ พี่ก็แยกของพี่ต่อ แต่บอกว่าอันนี้อย่าไปทิ้งอะไรปนนะจะไปขาย ทำมา 20 กว่าปีละทำมาเรื่อยๆ”
ใช้ชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นเรื่องปกติ
“พี่เชื่อมั่นว่าคนก็มีความพยายามเอาตัวรอดทุกวันนี้ มันเหนื่อยแล้ว เศรษฐกิจก็เท่านี้ โรคภัยก็มา แล้วต้องมาทำอะไรแบบนี้อีก มันก็เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว”
บทบาทของพี่เบิร์ดมีทั้งนักแสดงอิสระ วิทยากรจัดอบรมวิธีการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ และทำกลุ่มละครสำหรับเด็กและครอบครัวชื่อว่ากลุ่มคิดแจ่ม ทั้งหมดเป็นงานที่ทำเกี่ยวกับการสื่อสาร ทำให้พี่เบิร์ดรู้ว่าคนเราสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้ด้วยตัวเอง ถ้ามันเป็นสิ่งที่เขาชินเขาชอบอยู่แล้วใครล่ะจะอยากเปลี่ยน สิ่งที่พี่เบิร์ดทำไม่ใช่การไปบอกให้เขาเปลี่ยน แต่เป็นการบอกว่ามันมีหลายทางเลือก อย่างทางเลือกที่พี่เบิร์ดใช้ชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“ความเชื่อมั่นในประเทศนี้ที่ยังเหลืออยู่คือเชื่อมั่นในตัวบุคคล ประชาชน ที่มันจะทำอะไรด้วยมือตัวเองได้เท่าที่ลมหายใจมันยังมี”
แม้บทสนทนาจะจบลง แต่สิ่งที่ได้กลับไปยังคงอยู่ ไอเดียการใช้ชีวิตที่เริ่มด้วยตัวเราเอง ทำเครื่องฟอกอากาศใช้เอง ไม่ต้องรอคนอื่น หรืออย่างการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เริ่มทำจากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราอย่างการแยกขยะ ลองใช้ชีวิตให้สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติเหมือนการแปรงฟัน อาบน้ำ กินข้าว ทำให้มันกลายเป็นเรื่องปกติ
*เนื่องจากเป็นการทำเครื่องฟอกอากาศแบบ DIY ผู้ใช้ควรหมั่นตรวจสอบและดูแล คอยตรวจเช็คการใช้งาน หากเครื่องร้อนเกินไปควรปิดเพื่อพักเครื่อง