- เมื่อผู้ชมเป็นเจ้าตัวเล็ก ละครอาจไม่ต้องมีบทพูด เพราะสมองของเขาจะจินตนาการไปไกลกว่านั้น
- ละครหุ่นจาก Homemade Puppet กำลังทำหน้าที่นั้น โดยการเล่าเรื่องผ่านภาพประกอบดนตรี กินความยาว 35 นาที แบบไม่มีบทพูดแม้คำเดียว
- สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากละครจบลงคือ เสียงของเด็กที่ดังไม่หยุด แข่งกันพูดเจื้อยแจ้วว่าภาพที่ติดอยู่ในสมองคืออะไรบ้าง
เรื่อง/ภาพ: นลินี ฐิตะวรรณ
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเด็กน้อยอยู่คนหนึ่งที่เอาแต่เฝ้ามองดวงดาวยามค่ำคืน แล้วตัดพ้อกับตัวเองว่าฉันเหงาจังเลย จนกระทั่งวันหนึ่ง ขณะที่เขาหลับใหล ใครบางคนที่แอบได้ยินเด็กน้อยบ่นว่าเหงาก็ปรากฏตัวขึ้น ค่ำคืนของการผจญภัยจึงเริ่มขึ้น เป็นการเดินทางที่จะทำให้ความเหงาหายไปตลอดกาล…
ถ้าเป็นการเล่านิทานเรื่องอื่น ถัดจากบทเกริ่นนำข้างต้น ผ้าม่านสีแดงบนเวทีคงจะเปิดออก ปรากฏฉากชวนฝันอลังการ แต่นั่นใช้ไม่ได้กับ การแสดงผสมระหว่างหุ่นเงาและหุ่นสร้างสรรค์ในชื่อเรื่อง ‘Journey in the Dark’ ที่เล่าเรื่องผ่านภาพประกอบดนตรียาว 35 นาทีแบบไม่มีบทพูดแม้แต่คำเดียว ที่สำคัญคือ ละครเรื่องนี้ออกแบบมาเพื่อให้เด็กอายุ 3-6 ขวบดู
ฉากเวทีถูกสร้างขึ้นจากกระดาษลังเหลือใช้ อุปกรณ์ในการแสดงหากมองด้วยตาเปล่าก็พอจะเก็บรายละเอียดได้ว่ามาจากขยะหรือเศษนู่นเศษนี่มาผสมกัน แถมทุกชิ้นส่วนยังถูกติดตั้งด้วยเทปใสอย่างหยาบ ชนิดที่ผู้ปกครองเข้ามาเห็นครั้งแรกก็เกิดการตั้งคำถามว่า นี่มันอะไรกันเนี่ย
และนั่นคือความตั้งใจของ ต้อม-สุธารัตน์ สินนอง แห่ง Homemade Puppet ที่ตั้งคำถามสนุกๆ ว่า จะเป็นอย่างไรถ้าเราเปลี่ยนของที่ทุกคนมองว่าไม่มีค่าให้เกิดเป็นละครที่ดูแล้วโอ้โหและน่ามหัศจรรย์
และหลังจากนี้คือการผจญภัยไปในโลกแห่งความฝันของเด็กน้อยคนหนึ่งยามหลับใหล
จินตนาการสำคัญกว่าหูฟังตาเห็น
“เรารู้สึกว่ามันมหัศจรรย์ คือเราสามารถทำให้มันอะไรก็ได้ อยู่ดีๆ มันก็มีชีวิต แล้วคนก็เชื่อว่ามันมีชีวิต เด็กก็เชื่อว่ามันมีชีวิต แล้วมันก็กลายเป็นอีกโลกหนึ่ง เวลาที่มันเป็นอุปกรณ์ธรรมดา แล้วพอมันใช้แสงเงามันคนละเรื่องกันเลย เราเลยรู้สึกว่าถ้าลองทำอะไรที่มันดูเป็นขยะๆ อะไรที่มันดูเป็นไปไม่ได้ แล้วให้มันเป็นเงา พอมันเป็นเงาขึ้นมามันแบบฮู้ววว มหัศจรรย์จังเลย”
สุธารัตน์หรือพี่ต้อมของเด็กๆ เริ่มเปิดบทสนทนาว่า เพราะเธอไม่ใช่คนที่มีฝีมือประดิดประดอยฉากและอุปกรณ์อะไรมากมาย ดังนั้นเธอจึงขอกลับไปหาสิ่งที่ง่ายที่สุดคือการหยิบจับเอาวัสดุใกล้ตัวมาแปลงเป็นฉากและหุ่นสำหรับการแสดง แม้ว่าดูเผินๆ ก่อนเริ่มแสดงจะแอบทำให้เหล่าผู้ปกครองหวั่นใจว่าฉันพาลูกมาทำอะไรที่นี่…ก็เถอะ
ต้อมเล่าว่า แรกเริ่มเดิมที การแสดงหุ่นเงาผสมหุ่นสร้างสรรค์เรื่อง Journey in the Dark นี้ เป็นการแสดงที่เกิดขึ้นเพราะเธอได้รับเชิญจาก Teatrzyk Lalkowy Bajka ประเทศโปแลนด์ เพื่อแสดงให้กับเด็กอนุบาลในโรงละครสำหรับเด็กเล็กที่เมืองวอร์ซอ แต่อุปสรรคสำคัญก็คือภาษา เพราะต่อให้จะมีความสามารถทางภาษาขนาดไหนก็ใช่ว่าจะทำให้คนดูอายุ 3-6 ขวบเข้าใจได้ง่ายๆ
คิดได้ดังนั้น แทนที่จะเล่นละครมีบทพูดทั่วไป ต้อมเลยขอนำบทพูดทั้งหมดออกไป และเล่นละครหุ่นแบบที่ใช้แสงและเงาในการเล่าเรื่องเท่านั้น ผลลัพธ์คือภาพเคลื่อนไหวสุดว้าวที่ไม่น่าเชื่อว่ามันจะมาจากของที่ตั้งอยู่นิ่งๆ และการขยับไฟฉายเพียงไม่กี่ครั้ง
“ตอนนี้เริ่มสนุกกับการแสดงหุ่นเงาที่ไม่ต้องมีคำพูด เพราะว่าจริงๆ แล้วมันพาเขาไปได้ไกลกว่า แล้วพอมันมีเงื่อนไขว่าเราต้องไปเล่นต่างประเทศ สิ่งที่ง่ายที่สุดก็คือเราต้องเล่าด้วยภาพและดนตรีให้ได้ ก็เลยทำเรื่องนี้ ทีนี้ เขามีแค่โจทย์ว่า มันเป็นโรงละครสำหรับเด็ก และเด็กเล็กจะเข้ามาดูที่นี่ เขาก็บอกว่า อยากทำอะไรก็ทำเลย พี่ก็เลยแค่นึกง่ายๆ ว่า เวลาแสดงโรงละครมันจะมืด ถ้าจะชวนไปเดินทางในความมืด มันก็นึกถึงเรื่องความฝันที่มันจะพาเขาไปได้ง่าย ทำยังไงที่เราไม่พูดแล้วเขาพอจะเข้าใจ”
อย่ากลัวที่จะให้เด็กคิดเอง
ความยากของการแสดงก็คือ เมื่อละครไม่มีบทพูด ใช้เพียงดนตรีและภาพประกอบ ต้อมย้ำว่าละครของเธอเปิดโอกาสให้ผู้ชมตีความ ซึ่งนั่นหมายความว่า เมื่อการแสดงหนึ่งรอบจบลง ถ้ามานั่งถามเด็กๆ ว่าละครที่เล่นไปเมื่อกี้เป็นอย่างไรบ้าง คำตอบจากเด็ก 10 คน ก็คงได้บทสรุป 10 อย่าง
ดังนั้นละครจึงไม่ใช่การเล่นเพื่อหาข้อสรุป แต่เล่นเพื่อจะเปิดโอกาสให้จินตนาการของเด็กๆ ทำงาน ที่สำคัญ มันคือการสร้างความมั่นใจให้เด็กๆ ว่า จินตนาการแสนล้ำของพวกเขาก็มีคุณค่าและน่ารับฟัง
“เรามักจะเข้าใจว่า เด็กไม่เข้าใจหรอก แต่เราไม่ใช่คนที่เชื่ออย่างนั้น เราเชื่อว่าเขาเข้าใจมากกว่าเราอีก สมมุติเราถามเขาว่าเข้าใจไหม บางทีก็อาจจะได้คำตอบว่าไม่เข้าใจ แต่ถ้าถามเขาว่าลึกๆ เรื่องมันคืออะไร เขาตอบได้นะคะ เรื่องมันเป็นใคร มีใครอยู่ในนั้น มีฉากไหนบ้าง เขาไปที่ไหน แล้วเขารู้สึกยังไง นี่คือสิ่งที่เด็กเข้าใจนะคะ เพียงแต่ว่าเวลาที่เขาอธิบายเป็นคำพูดแบบมีเหตุผลแบบผู้ใหญ่ มันมีไม่กี่คำที่จะบอกว่าไม่รู้ การไม่รู้ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่เข้าใจ แต่ต้องค่อยๆ ถามเขา เขามีภาษาของเขา เราเชื่อว่าภาษาของเขาที่เขาจูนกับแสงกับภาพ มันก็เป็นเรื่องของเขานะคะ ณ ขณะนั้น เขาจะไปที่ไหน เขาจะไปนึกถึงอะไร หรือเขามีความหวาดกลัวอะไร”
ดังนั้นละครของต้อมจึงเปิดโอกาสให้กับความเป็นไปได้ในทุกๆ ทาง และเชื่อว่าการรับรู้ของเด็กนั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่เขาจะนำมาโยงกับเนื้อเรื่อง ซึ่งการตีความนั้นเป็นเรื่องของผู้ชมมากกว่าตัวเธอเอง
อย่าเลี้ยงเด็กแบบไข่อยู่ในหิน
เมื่อกลับมาแสดงละครหุ่นที่ไทย สิ่งหนึ่งที่ต้อมมักได้ยินจากผู้ปกครองทั้งหลายก็คือ พวกเขาไม่เข้าใจว่าละครหุ่นแบบนี้กำลังสื่อสารอะไร ทำไมอุปกรณ์การแสดงดูมีหน้าตาเหมือนขยะมากกว่า และจริงๆ แล้วเรื่องนี้ต้องการจะสื่อสารอะไรกันแน่
“บางทีมัน abstract มากๆ จนพาให้ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ เขาจะสงสัยว่ามันคืออะไร มันหมายความว่ายังไง อยากรู้ว่ามันคืออะไร แต่ในความเป็นจริงแล้วเราไม่ได้อยากเล่าว่ามันคืออะไร เพราะว่าเราเข้าใจได้ว่ามันคืออะไร เพียงแต่ว่าดีเทลมันไม่เหมือนกันหรอก เวลาเล่นที่ไทย พ่อแม่จะชอบบอกว่า อะไรเนี่ย ทำไมมันไม่มีคำพูด มันหมายความว่ายังไง ทุกคนต้องการคำตอบว่ามันคืออะไร แต่เราหลีกเลี่ยงที่จะตอบว่ามันคืออะไร เราแค่รู้สึกว่าทุกคนสามารถไปตีความเองได้ แต่ว่าเขาอาจจะไม่ค่อยชิน”
ต้อมย้ำว่าเราไม่ควรเลี้ยงเด็กแบบไข่อยู่ในหิน และพยายามหาข้อสรุปทุกอย่างเพื่อป้อนให้เด็กจนบางทีก็ไปปิดกั้นความคิดหรือจินตนาการที่พวกเขามี เพราะนอกจากจะทำให้เด็กไม่กล้าพูดไม่กล้าแสดงออก มันยังทำให้เด็กเข้าใจว่า สิ่งที่พวกเขาคิดหรือจินตนาการเป็นเรื่องผิดและไม่ควรทำ
ผลคือเราจะได้เด็กที่เติบโตมาแบบมีภูมิคุ้มกันจากพ่อแม่ที่ปกป้องไม่ให้พวกเขาได้สูดอากาศบริสุทธิ์ในโลกจริงๆ
ต้อมยกตัวอย่างการแสดงที่โรงเรียนอนุบาลรอบหนึ่งที่คุณครูขอให้เธอเอาฉากเด็กกระโดดลงน้ำออก เพราะดูอันตรายและน่ากลัวเกินไป แต่ปรากฏว่าเด็กกลับชอบฉากนี้มากเป็นพิเศษ เพราะต่อจากนั้นตัวละครในเรื่องจะได้ไปผจญภัยในโลกใต้น้ำ ผ่านเทคนิคการแสดงที่เล่นสีและเงาจนทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของภาพผ่านเงาตกกระทบ
“รอบที่แล้ว ซีนที่เด็กชอบที่สุดเป็นซีนที่ผู้ใหญ่ที่พี่คุยด้วยบอกว่า ช่วยเอาออกไปเหอะ พี่ว่ามันไม่ดี ซีนตกน้ำ จมน้ำ เขาบอกว่ามันดูน่ากลัวจังเลย แต่ซีนนั้นเป็นซีนที่เด็กชอบที่สุดเลย คือเด็กไม่ได้รู้สึกว่ามันน่ากลัว มันเหมือนกับว่าเราปกป้องเด็กว่าอย่าพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้เลย คือบางทีมันเป็นมุมมองของคนโต แต่เราคิดว่าเราสื่อสารได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับว่าเรามีท่าทียังไงที่จะคุยกับเขามากกว่า”
ละครจบ ห้องกลับมาสว่างอีกครั้ง แต่เรื่องนี้จะลงท้ายว่า ‘จบบริบูรณ์’ ไม่ได้ เพราะดูแล้วเด็กน้อยทั้งหลายยังส่งเสียงแจ๋ว สนุกกับการถอดความละครหุ่นที่เพิ่งแสดงจบไปราวกับว่าเรื่องเล่าของหุ่น แสง และเงาที่เพิ่งปรากฏยังโลดแล่นอยู่ในจินตนาการที่ไม่มีวันจบสิ้นของพวกเขา
พื้นที่หรือแหล่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสร้างสรรค์จึงไม่ได้อยู่แค่ในบ้านและโรงเรียนเสมอไป แต่ยังหมายถึงห้องเรียนใหญ่ๆ ที่เรียกว่าโลก ที่จะช่วยเพิ่มความรู้และแรงบันดาลใจให้เด็กๆ เอามาต่อยอดได้ หากคิดไม่ออกว่าจะพาเด็กๆ ไปที่ไหน ลองติดตามเฟซบุ๊ค Fathom Bookspace ไว้ แล้วรอพบกับกิจกรรมเสริมสร้างความสร้างสรรค์ได้อีกเพียบ สามารถติดตามการแสดงครั้งต่อๆ ไปของต้อมได้ที่เฟซบุ๊ค homemadepuppet |