- โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง เขียนโดย คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ นักแสดงชื่อดังชาวญี่ปุ่น แปลไทยโดยผุสดี นาวาวิจิต (สำนักพิมพ์ผีเสื้อญี่ปุ่น) โดยหนังสือเล่มนี้ถูกบันทึกโดย Guinness World Records ว่าเป็นอัตชีวประวัติที่ขายดีที่สุดในโลก
- ตัวละครสำคัญที่ถูกยกย่องเชิดชูจากผู้อ่านมากที่สุดคือครูใหญ่โคบายาชิ นักการศึกษาที่เป็นต้นแบบที่ดีในการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ผ่านวิธีปฏิบัติที่เขามีต่อนักเรียนด้วยความเข้าอกเข้าใจ
หากจะเอ่ยถึงวรรณกรรมเยาวชนจากญี่ปุ่น เชื่อว่าหลายคนคงจะนึกถึง ‘โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง’ ผลงานจากเรื่องจริงของ คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ ที่ Guinness World Records ยกให้เป็นหนังสืออัตชีวประวัติโดยนักเขียนเพียงคนเดียวที่ได้รับการตีพิมพ์มากที่สุดในโลก ด้วยยอดขายมากกว่า 25 ล้านเล่ม
และเนื่องในโอกาสที่โต๊ะโตะจังได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันครั้งแรก ผมจึงถือโอกาสหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านทบทวน พร้อมกับความรู้สึกซาบซึ้งใจและเคารพในตัว ‘ครูใหญ่โคบายาชิ’ ผู้เป็นต้นแบบของ ‘ครู’ ผู้เข้าใจเด็กอย่างแท้จริง
เรื่องราวของโต๊ะโตะจังเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอเป็นเด็กหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่1 ที่เต็มไปด้วยความฝันและจินตนาการ แต่น่าเสียดายที่เธอมักจะรบกวนการเรียนการสอนโดยไม่รู้ตัว ทำให้ถูกไล่ออกจากโรงเรียนเก่า และย้ายมาเรียนที่โรงเรียนโทโมเอ โรงเรียนที่ไม่เหมือนใคร ทั้งห้องเรียนที่สร้างขึ้นจากตู้รถไฟเก่า รวมถึงแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วม และปรับตามความสนใจของพวกเขา ที่สำคัญคือการไม่ปิดกั้นความคิดและจินตนาการ ทำให้เด็กๆ กล้าคิด กล้าฝัน กล้าแสดงออก ซึ่งผมเชื่อว่าจะสามารถดึงศักยภาพของแต่ละคนออกมาได้
มากไปกว่านั้น สิ่งที่สัมผัสใจผมมากที่สุดคือความเมตตาและความเข้าอกเข้าใจของครูโคบายาชิ ตั้งแต่ตอนที่โต๊ะโตะจังมาสมัครเรียนกลางเทอม แทนที่จะซักถามถึงเหตุผลต่างๆ นาๆ ครูใหญ่กลับให้โต๊ะโตะจังพูดอะไรก็ได้ที่เธออยากพูด และตั้งใจฟังโต๊ะโตะจังที่สนุกสนานกับการเล่าเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตเป็นเวลากว่า 4 ชั่วโมง โดยไม่แสดงอาการเบื่อหน่ายหรือตัดสินถูกผิด ก่อนตัดสินใจรับเธอเข้าเรียนทันที ซึ่งการกระทำนี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็กอย่างแท้จริง
ที่โรงเรียนโทโมเอ โต๊ะโตะจังรู้สึกสนุกกับการเรียนมากขึ้น เพราะเธอสามารถเลือกวิชาที่อยากเรียนมาเรียนก่อนในช่วงเช้า อีกทั้งโรงเรียนยังจัดกิจกรรมที่น่าสนใจมาสลับหมุนเวียนไปเรื่อยๆ เช่น การพาเด็กๆ ออกไปทัศนศึกษา การทำค่ายทั้งในและนอกสถานที่เพื่อฝึกฝนทักษะชีวิตและส่งเสริมให้เด็กๆ เรียนรู้ทักษะการทำงานร่วมกันเป็นทีม รวมถึงการเรียนออกกำลังกายประกอบจังหวะเพื่อให้เด็กๆ เคลื่อนไหวตามเสียงเปียโน เพื่อฝึกสมองกับร่างกายของเด็กๆ ให้มีความคิดสร้างสรรค์และทำงานเข้ากันได้ดี ฯลฯ
หนึ่งในฉากที่น่าสนใจที่สุดของหนังสือโต๊ะโตะจังสำหรับใครหลายคน คือฉากที่โต๊ะโตะจังทำกระเป๋าสตางค์ใบโปรดตกหายไปในหลุมส้วมของโรงเรียน เธอจึงใช้กระบวยตักของในบ่อส้วมขึ้นมาส่งผลให้บริเวณนั้นมีสิ่งปฏิกูลต่างๆ กองขึ้นมาเป็นภูเขาขนาดย่อม พอครูใหญ่ผ่านมาเห็น แทนที่จะต่อว่าหรือขัดขวาง เขากลับถามโต๊ะโตะจังอย่างอ่อนโยนราวกับเธอเป็นเพื่อนคนหนึ่ง พร้อมกับฝากให้เธอเก็บทุกอย่างให้เข้าที่ ความใจดีนี้เองทำให้โต๊ะโตะจังรู้สึกถึงความสำคัญและความเชื่อถือที่ครูใหญ่มีให้
“ในที่สุดบ่อก็แทบจะว่างเปล่า แต่ยังไม่ปรากฏวี่แววของกระเป๋าสตางค์ มันอาจจะไปติดอยู่ข้างบ่อหรือพื้นบ่อ แต่โต๊ะโตะจังก็พอใจที่เธอพยายามอย่างดีที่สุดแล้ว
สิ่งซึ่งซ่อนอยู่ในความพอใจนั้นคือความรู้สึกที่ว่า ‘คุณครูใหญ่ไม่โกรธ แต่ยอมรับการกระทำของโต๊ะโตะจังเหมือนเธอเป็นบุคคลที่เชื่อถือได้คนหนึ่ง’ รวมอยู่ด้วย เพียงแต่เธอยังเด็กเกินกว่าจะเข้าใจเท่านั้น
…หลังจากเหตุการณ์นี้แล้ว โต๊ะโตะจังก็ไม่เคยมองลงในโถส้วมอีกเลย เธอเชื่อถือและรักคุณครูใหญ่มากขึ้นด้วย”
หรือจะเป็นฉากช่วงท้ายเรื่องที่ครูใหญ่บอกกับโต๊ะโตะจังว่า “ความจริงหนูเป็นเด็กดี รู้ไหม” ก็ถือเป็นประโยคที่แฟนหนังสือหลายคนประทับใจ เพราะแม้ครูใหญ่จะได้ยินครูหลายคนบ่นถึงวีรกรรมความซุกซนของโต๊ะโตะจัง แต่ครูใหญ่กลับเห็นในสิ่งที่ต่างออกไป ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าครูใหญ่ไม่ได้มีกรอบของคำว่า ‘เด็กดี’ เหมือนครูคนอื่น อีกทั้งสายตาของครูใหญ่ยังมองเห็นในสิ่งที่ครูคนอื่นมองไม่เห็น เช่น โต๊ะโตะจังมีความโอบอ้อมอารีและชอบช่วยเหลือเพื่อนๆ เป็นประจำ ดังนั้นครูใหญ่จึงเสริมความมั่นใจให้โต๊ะโตะจังได้ตระหนักว่าเธอเป็นเด็กที่ดีและมีคุณค่าในสายตาของครูคนนี้เสมอ
“ถ้าตั้งใจฟังให้ดีจะรู้ว่าคำ ‘ความจริง’ นั้นมีความหมายลึกซึ้งทีเดียว คุณครูใหญ่คงอยากบอกโต๊ะโตะจังว่า ‘หนูมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้คนอื่นคิดว่าเป็นคนไม่ดี แต่นิสัยแท้จริงของหนูไม่ได้เลวเลย หนูมีสิ่งดีซึ่งครูเข้าใจดี’”
อย่างไรก็ตาม ยังมีฉากอื่นๆ ที่ส่วนตัวผมรู้สึกประทับใจ แต่อาจไม่ถูกพูดถึงนัก เช่น ตอนที่โต๊ะโตะจังทำผมเปียมาที่โรงเรียนแล้วถูกเพื่อนผู้ชายตัวโตกระชากเปียผมอย่างแรงจนเธอร้องไห้ ครูใหญ่จึงเรียกนักเรียนชายคนดังกล่าวมาอบรมทันที จากนั้นไม่นาน เด็กชายก็รีบมาขอโทษโต๊ะโตะจัง พร้อมให้สัญญาว่าเขาจะปกป้อง อ่อนโยน และทะนุถนอมสุภาพสตรีทุกคน
รวมถึงฉากที่ครูใหญ่ดุครูประจำชั้นของโต๊ะโตะจัง เพราะเธอดันไปแซว ‘ทากาฮาชิ’ เด็กชายที่มีความผิดปกติทางร่างกายในทำนองว่าเขาอาจมีหางเหมือนบรรพบุรษของมนุษย์
ในมุมของครูประจำชั้น เธอเพียงรู้สึกว่านี่เป็นการแซวเล่นสนุกๆ ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ ต่างจากครูใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยและโกรธทัศนคติของครูคนนี้มาก เช่นเดียวกับผมที่มองว่าพฤติกรรมดังกล่าวเข้าข่าย ‘การบูลลี่’ ที่ครูกลายมาเป็น ‘ผู้กระทำ’ เสียเอง ซึ่งอาจส่งผลให้นักเรียนคนอื่นนำคำพูดที่ไม่ทันคิดของครูประจำชั้นมาล้อเลียนทากาฮาชิต่อไปอย่างไม่รู้จบ
อย่างไรก็ตาม ครูใหญ่ไม่ได้บุ่มบ่ามต่อว่าครูคนนี้ในห้องพักครูให้ต้องอับอาย แต่เลือกที่จะตักเตือนเธอเป็นการส่วนตัว โดยแสดงให้เห็นว่าการเป็นครูต้องรู้จักระมัดระวังคำพูด เพราะคำพูดของครูนั้นมีอิทธิพลและส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็กคนหนึ่งได้อย่างมหาศาล
เมื่ออ่านหนังสือจบ ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไม ‘โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง’ ถึงเป็นวรรณกรรมเยาวชนระดับโลก เพราะไม่ใช่แค่เรื่องราวสนุกๆ ของเด็กหญิงผู้เปี่ยมด้วยจินตนาการ แต่ยังเป็นภาพสะท้อนแนวคิดในการจัดการเรียนรู้ผ่านวิธีที่ครูใหญ่โคบายาชิปฏิบัติต่อเด็กๆ ด้วยความเมตตา ให้เกียรติ และเข้าอกเข้าใจ ส่งเสริมให้เด็กได้เห็นคุณค่าในตัวเองและเติบโตในแบบที่ตนเองเป็น ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาอย่างแท้จริง