- Sunny เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นที่เล่าเรื่องราวชีวิตของเด็กๆ ในสถานรับเลี้ยงเด็กแห่งหนึ่ง ผ่านมุมมองของตัวละครหลักอย่าง เซย์ และ ฮารุโอะ เด็กทั้งสองคนต่างมีความเป็นมาและความฝันที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ความต้องการที่จะมีครอบครัวที่สมบูรณ์ โดยเน้นไปที่ความหวังและจินตนาการของเด็กๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่ในสถานรับเลี้ยงแห่งนี้
- Sunny อาจจะทำให้ผู้อ่านตระหนักคือการยอมรับถึงตัวตนของ ‘พ่อแม่ที่ไม่พร้อมเลี้ยงลูก’ จริงอยู่ว่าการมีลูกเมื่อพร้อมเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสุดท้ายหลายๆ คนก็ไม่ได้ตั้งใจจะมีลูก หรือแม้แต่มารู้ตัวว่าไม่พร้อมหลังจากเด็กเกิดขึ้นมาแล้ว หรือพ่อแม่ที่พบปัญหาชีวิตหรืออุบัติเหตุตามมาภายหลังจนไม่อาจเลี้ยงลูกของตนได้
- หากเด็กขาดครอบครัวซึ่งเป็นดั่งฐานที่ปลอดภัยที่สุดของเขาไปแล้ว อย่างน้อยก็อยากให้สังคมมีที่ทางประคับประคองให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ยังมองเห็นว่าโลกนี้ยังเป็นที่ที่ดีอยู่บ้าง
หลายๆ ท่านอาจจะคิดว่าหนังสือการ์ตูนเป็นสื่อสำหรับเด็ก แต่จริงๆ แล้วในหลายๆ ประเทศไม่เป็นแบบนั้นนะครับ โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่น ประเทศที่จะเรียกว่าเจ้าแห่งการผลิตหนังสือการ์ตูนก็ว่าได้ ที่นั่นหนังสือการ์ตูนเป็นที่นิยมอ่านแพร่หลายทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่การ์ตูนญี่ปุ่นก็มีหลายแบบ เราอาจจะได้ยินคำว่าการ์ตูน ‘โชเน็น’ ที่แปลว่าเด็กผู้ชาย ซึ่งเจาะกลุ่มเด็กๆ แต่ยังมีการ์ตูนที่เรียกว่า ‘เซเน็น’ ที่แปลว่าผู้ชายผู้ใหญ่ ที่เจาะกลุ่มผู้อ่านวัยผู้ใหญ่โดยเฉพาะด้วย โดยเซเน็นอาจจะมีเนื้อหาที่ ‘หนัก’ กว่าเด็กจะอ่านและเข้าใจหรือสนุก หรืออาจมีเนื้อหาหรือภาพที่รุนแรงไม่เหมาะสำหรับเด็ก หากไล่ดูการ์ตูนที่ขายในไทยเราจะพบแนวนี้น้อยกว่าโชเน็นมาก และยิ่งเป็นเซเน็นที่เน้นเนื้อหาเครียด ไม่ได้เน้นการต่อสู้รุนแรงจะยิ่งหายากขึ้นไปอีก การที่เซเน็นอย่าง ‘Sunny’ ได้รับการแปลและตีพิมพ์ไทยจึงถือว่าไม่เกิดขึ้นบ่อย แม้จะเป็นการ์ตูนที่ได้รับรางวัลก็ตาม (จาก Japan Media Arts Festival ใน พ.ศ. 2560) เพราะเรื่องนี้เป็นการ์ตูนแนวสะท้อนสังคมที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมอ่านนัก
Sunny เป็นเรื่องราวของสถานรับเลี้ยงเด็ก ‘โฮชิโนะโกะ’ (แปลว่า ‘เด็กแห่งดวงดาว’) หากพูดถึงสถานรับเลี้ยงเด็ก เราอาจจะนึกถึงแต่เด็กกำพร้า แต่ที่จริงแล้วสถานรับเลี้ยงเด็กยังเป็นที่ดูแลและพักพิงของเด็กที่มาจากพ่อแม่ที่มีปัญหา หรือบ้านมีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมกับเด็ก หรือพ่อแม่มีปัญหาในแง่ต่างๆ จนไม่อาจเลี้ยงลูกตัวเอง ก็สามารถส่งให้ลูกมาอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กแทนได้เช่นกัน ดังนั้นเด็กในสถานรับเลี้ยงอาจจะอยู่แค่ชั่วคราว รอจนกว่าครอบครัวหรือพ่อแม่พร้อมและรับกลับไป หรือเด็กที่อาจจะต้องอยู่ในยาวจนโต เช่น เด็กกำพร้า หรือเด็กที่พ่อแม่ ‘ทิ้ง’ ให้อยู่ในสถานรับเลี้ยงและไม่กลับมารับก็มี นอกจากนี้โฮชิโนะโกะอาจจะแตกต่างจากที่เราจินตนาการถึงสถานรับเลี้ยงเด็กทั่วไปตรงที่สถานที่เป็นเหมือนบ้านหลังหนึ่งแทนที่จะเป็นตึกอาคาร ที่นี่จำนวนเด็กไม่มากเพราะตั้งอยู่ในเมืองเล็กๆ ไม่ค่อยเจริญและมีแสงสีนัก ข้างๆ โฮชิโนะโกะมีที่รกร้าง และมีรถยนต์นิสสัน ซันนี ที่เสียแล้วจอดตายอยู่ และรถคันนี้เป็นสถานที่ที่เด็กๆ จะชอบไปนั่งเล่นกัน และนั่นคือที่มาของชื่อหนังสือครับ
Sunny เปิดเรื่องมาด้วยตัวละครหลักคนแรกคือ ‘เซย์’ เด็กประถมต้นที่ครอบครัวมีปัญหาบางอย่าง จึงไม่พร้อมจะเลี้ยงลูกเอง และต้องให้เซย์อยู่ที่โฮชิโนะโกะ ‘ชั่วคราว’ เซย์จะเหมือนตัวละครที่ทำหน้าที่พาคนอ่านในการทำความรู้จักกับสถานรับเลี้ยงแห่งนี้ และทำให้ได้เห็นว่ามีเด็กหลากหลายแบบที่อยู่ที่นี่ ตั้งแต่ตัวเซย์เองที่ยังทำใจไม่ได้เมื่อได้รู้ความจริงว่าตัวเองอาจจะต้องอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กไปอีกนานหรืออาจจะตลอดไป เด็กกำพร้าที่ไม่มีวันที่พ่อแม่กลับมาแล้ว เด็กที่แม่ป่วยหนักจนเลี้ยงลูกเองไม่ได้ เด็กที่พ่อยังอยู่แต่ติดสุราจนเสียคนเลยพาลูกมาทิ้งไว้ที่นี่ และเด็กที่แม่ไม่พร้อมจะเลี้ยงลูกเองอย่าง ‘ฮารุโอะ’ ตัวละครหลักอีกตัวที่รุ่นราวคราวเดียวกับเซย์
ฮารุโอะอยู่ที่นี่มานานแล้วและปัจจุบันทำตัวเป็นเด็กเกเร ขวางโลก ปฏิเสธสังคมที่มอบความจริงที่โหดร้ายนี้ให้แก่ตัวเอง ซึ่งฮารุโอะจะเป็นคนเน้นย้ำให้เด็กคนอื่นๆ หมดหวังบ่อยๆ ว่าถูกทิ้งแล้ว ไม่ได้กลับไปหาพ่อแม่อีกแล้ว
แม้ว่าเปิดเรื่องมา อาจจะทำให้รู้สึกว่าการ์ตูนนี่คงเป็นอีกหนึ่งสื่อที่เรียก ‘ความสงสาร’ ของเด็กในสถานรับเลี้ยงที่พบเห็นทั่วไปในสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวกับหัวข้อนี้ แต่ Sunny แตกต่างออกไปตรงที่เนื้อเรื่องในภาพรวมไม่ได้เน้นที่ความหมองหม่น ความน่าเวทนา ไม่ได้เน้นที่ฉากฟูมฟายหรือซึมเศร้าของเด็ก แต่จะเป็นการมองโลกผ่านมุมมองของเด็กๆ ซึ่งน่าสนใจอย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะกับผู้ใหญ่อย่างเราๆ ที่อาจจะลืมวิธีคิดในแบบของเด็กไปแล้ว
ลายเส้นของการ์ตูนเรื่องนี้อาจดูแปลกถ้าเทียบกับการ์ตูนเรื่องอื่นๆ โดยไม่ได้วาดคนให้สมจริง แต่นั่นก็ช่วยสร้างบรรยากาศที่ทำให้รู้สึกว่าได้มองโลกผ่านสายตาของเด็กๆ และสิ่งที่เราจะได้อ่านส่วนใหญ่จะไม่ใช่คำพูดของผู้ใหญ่ แต่เป็นบทสนทนาของเด็กๆ ที่อาจจะดูไม่มีแก่นสาร แต่ก็สมจริง
เพราะเด็กก็ไม่ใช่วัยที่จะมานั่งสลดกับเคราะห์กรรมของตัวเอง เด็กเป็นวัยแห่งการเรียนรู้โลกที่กว้างใหญ่ เด็กมีสิ่งที่ไม่รู้อีกมาก เด็กจึงมีความแข็งแกร่งในแบบของตัวเองคือความฝันที่ยิ่งใหญ่ และหวังถึงสิ่งต่างๆ ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด
อย่างเด็กผู้ชายฝันอยากเป็นฮีโรหรือนักกีฬาเท่ๆ เด็กผู้หญิงอยากเป็นเจ้าหญิงหรือนางแบบแต่งตัวสวยๆ ชีวิตในแต่ละวันของเด็ก แม้จะอยู่ที่บ้านพักจึงไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ ‘ความทุกข์’ แต่เป็น ‘การไขว่คว้าความสุข’ เด็กๆ มักจะใช้เวลาว่างกับการนั่งในรถนิสัน ซันนี ที่จอดนิ่งๆ อยู่กับที่ และใช้จินตนาการในการวาดฝันว่าเดินทางไปไหนต่อไหนตามสถานที่ที่แต่ละคนปรารถนา เด็กต่างเพศต่างวัยก็มีความฝันที่แตกต่างกัน และตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าความฝันและจินตนาการก็เป็นเครื่องมืออันทรงพลังให้เด็กใช้ชีวิตต่อไปในข้างหน้าได้
แต่ถึงจะไม่ใช่ประเด็นมุ่งเน้น แต่สิ่งที่แทรกอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือธรรมชาติของเด็กที่ต้องการพ่อแม่ ความรู้สึก ‘ขาดหาย’ จะปรากฏทุกครั้งที่มีโอกาส เด็กที่ยังมีความหวังอย่างเซย์ก็ยังรอจดหมายจากแม่ พยายามหาหนทางไปหาครอบครัวด้วยวิธีของตัวเอง ส่วนฮารุโอะที่ปกติแสดงว่าตัวเองไม่สนใจ ไม่แคร์แม่ที่ทิ้งไป และเข้มแข็ง แต่พอได้ข่าวคราวของแม่ทีไรก็แทบจะเปลี่ยนไปเป็นคนละคน และพร้อมจะทำทุกอย่างให้กลับไปอยู่กับแม่ให้ได้
ตัวละครอีกตัวที่น่าสนใจคือ ‘เคย์’ เด็กที่พ่อที่ติดสุราจนเป็นคนไม่ได้เรื่องได้ราว และแม่ที่ตัดสินใจหนีไป จนต้องอยู่ที่โฮชิโนะโกะจนถึงตอนนี้เขาก็อยู่ในวัยมัธยมต้นแล้ว เคย์ซึ่งเป็นเด็กวัยรุ่นจะมองโลกแตกต่างจากเด็กเล็กๆ คนอื่นเพราะปัญหาในกรอบของโลกความจริงมากกว่า เขาเห็นความไม่เอาไหนของพ่อตัวเองดี และตัดหางปล่อยวัดพ่อไปแล้ว แต่สุดท้ายเรื่องก็จะยังสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการพ่อแม่ลึกๆ ของเขาอยู่ดี
ถึงความขาดหายจะมีอิทธิพลที่หนีไม่พ้นอย่างไร แต่ความขาดหายไม่ใช่เป้าหมายของชีวิต Sunny เองก็สะท้อนให้เห็นว่าเด็กก็ต้องข้ามผ่านปัญหาการขาดพ่อแม่ ให้ได้เด็กบางคนโชคดีที่พ่อแม่มารับกลับไปก็มี แต่เด็กบางคนที่พ่อแม่มารับกลับไป แต่สุดท้ายก็มาทิ้งไว้ที่นี่ใหม่ วนไปวนมา จนแม้แต่ตัวเด็กเองก็ปรับตัวและเข้าใจว่าบ้านของเขาไม่ใช่ที่อยู่ที่เหมาะสมของเขาแล้ว อยู่ที่นี่ยังจะดีเสียกว่า หรือเด็กที่พ่อแม่เสียชีวิตไปแล้ว แต่ชีวิตของเขาก็ต้องเดินหน้าต่อ ต้องปรับตัวเช่นไปอยู่กับผู้ปกครองใหม่ทั้งๆ ที่ไม่อยาก และเด็กที่อยู่กับโฮชิโนโกะจนโตก็ต้องคิดถึงอนาคตของตัวเองมากกว่าการนึกถึงแต่สิ่งที่ขาดหายไป เพราะสุดท้ายตัวเองก็ต้องออกไปเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งในสังคมที่ต้องอยู่ด้วยตนเองให้ได้
อีกสิ่งที่น่าสนใจของ Sunny คือเรื่องไม่ได้อธิบายสถานการณ์ของพ่อแม่ที่ทิ้งลูกไว้ตรงๆ เพราะเรื่องเล่าจากมุมมองของเด็กๆ แต่ถึงแบบนั้นเมื่อเราอ่านเราจะสังเกตถึงความไม่พร้อมของพ่อแม่ที่แตกต่างกันไป บางครอบครัวสถานะทางการเงินไม่ดีพอที่จะเลี้ยงลูกไหว หรือเจ็บป่วยจนเลี้ยงลูกไม่ได้ พ่อแม่บางคนปัญหาอยู่ที่สภาพทางจิตใจที่ไม่พร้อมที่จะมีลูก หรือพ่อแม่ที่สถานะทางสังคมและอาชีพไม่เอื้อต่อการมีเด็กอยู่ด้วย สังคมมักจะมีทัศนคติว่า “ไม่มีเหตุผลใดที่มากพอที่ควรจะทิ้งลูก” แต่หากพิจารณาถึงสถานการณ์ของแต่ละครอบครัวในโลกความจริงแล้ว เราจะพบว่าไม่ใช่ทางที่ดีเสมอไปที่เด็กจะต้องอยู่กับพ่อแม่ที่ไม่พร้อม ไม่ใช่แค่เรื่องเงินเท่านั้น แต่สภาพจิตใจก็เป็นประเด็นสำคัญที่สังคมมักมองข้ามไป ผมไม่ได้สื่อว่าให้มองผู้ใหญ่ที่ทิ้งลูกไว้ที่สถานรับเลี้ยงเด็กเป็นผู้ใหญ่ที่ดี แต่การที่ Sunny แสดงถึงความจำเป็นในแง่มุมของครอบครัวนั้นๆ และทำให้เราเริ่มเห็นความสำคัญของสถานรับเลี้ยงเด็ก เพราะหากไม่มีที่ให้เด็กเหล่านี้อยู่ การที่เด็กจะอยู่กับครอบครัวที่ไม่พร้อมด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตามอาจส่งผลเสียกับเด็กยิ่งกว่า
โฮชิโนะโกะตั้งอยู่ในเมืองเล็กๆ ดังนั้นคนในเมืองมักจะรู้จักกันเองเกือบหมด และทำให้สังคมรู้ว่าเด็กคนนี้มาจากสถานรับเลี้ยงเด็ก และสิ่งนี้สะท้อนอีกปัญหาที่สำคัญที่หลายๆ คนอาจมองข้ามไป แน่นอนว่าในสายตาของคนนอก เด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่เป็นเด็กน่าสงสาร หากเรามองผ่านสายตาของตัวเด็กแล้ว เด็กไม่ต้องการ ‘ความเวทนา’ ‘ความสงสาร’ ที่มีแต่สิ่งลบๆ ที่เขาเองก็ไม่ชอบ แต่เด็กต้องการสิ่งบวกอย่าง ‘ความสุข’ จากทั้งสิ่งที่เอื้อมคว้าได้ในโลกความจริง และ ‘ความฝัน’ ที่หวังว่าจะเป็นจริงลึกๆ
ดังนั้นการที่สังคมคิดถึงเด็กในสถานรับเลี้ยงแล้วแสดงความสงสารเวทนา กลับเป็นการกัดเซาะความรู้สึกของเด็ก ทำให้เด็กกลายเป็น ‘เด็กที่ไม่เหมือนคนอื่น’ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เด็กอยากได้เลย ใครจะอยากอยู่ในตำแหน่งที่แปลกหรือแตกต่างในทางด้อยกว่า อย่างเด็กๆ ก็อยากมีเพื่อนที่มองตนเองว่ามีความเท่าเทียม ไม่ได้อยากให้เพื่อนมองตนเองด้วยความสงสาร หรือแม้แต่กับผู้ใหญ่ที่อาจจะคิดไปเองว่าเด็กพวกนี้อาจจะมีปัญหา ในทางจิตวิทยาแล้วความคาดหวังของคนรอบตัวนั้นส่งผลต่อบุคคลมาก พอคนคิดว่าเด็กคนนี้แตกต่าง การกระทำของคนนั้นก็จะแตกต่างออกไปโดยไม่รู้ตัว เช่น การพูดด้วยน้ำเสียงเวทนา การพูดในเชิงสงสัยว่าจะมีปัญหาหรือไม่ หรือการแสดงออกว่าเด็กพวกนี้คงเศร้าคงทุกข์อยู่เสมอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้เด็กปกติคนหนึ่งที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่กลายเป็นเด็กที่มีปัญหาไปจริงๆ ได้ เพราะได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากเด็กที่อยู่กับพ่อแม่
แม้ Sunny จะเป็นการ์ตูนแนวสะท้อนสังคมที่มุ่งความสมจริง แต่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ เมื่ออ่านแล้วเราคงตระหนักได้ว่า โฮชิโนะโกะ อาจจะเป็นที่ที่ดีอย่างหาได้ยากในโลกความจริง ไม่ใช่เพราะเรื่องสถานที่ หรือสภาพความเป็นอยู่ แต่โฮชิโนะโกะเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กที่ผู้ก่อตั้งและผู้ดูแลมีอุดมการณ์แรงกล้าในการช่วยเหลือ ผู้ก่อตั้งพยายามสร้างสถานที่ที่เป็นครอบครัวของเด็ก ไม่ใช่เป็นเหมือนสถาบันหรือมูลนิธิ ผู้เลี้ยงดูเด็กไม่ได้แค่ทำงาน แต่ทำตัวในฐานะผู้ปกครอง เป็นผู้ใหญ่ที่เปิดรับและเข้าหาให้เด็กพึ่งพิง แต่ก็ไม่ได้เอาแต่แสดงความใจดี การเลี้ยงเด็กมาพร้อมความเข้มงวดในระดับที่สมควร มีการลงโทษ ขีดเส้นชัดเจนและบอกเหตุผลในกฎเกณฑ์ต่างๆ แต่ก็พิจารณาถึงสถานการณ์ของเด็กแต่ละคนไปด้วย และถึงจะฟังแล้วโฮชิโนะโกะดูเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กในอุดมคติ แต่เรื่องก็ยังคงสื่อว่าให้ตระหนักเสมอว่าที่นี่อาจจะไม่เหมาะกับเด็กทุกคน เพราะเด็กแต่ละคนเหมาะกับสถานรับเลี้ยงที่มีบรรยากาศและกฎเกณฑ์แตกต่างกันไป ส่วนหนึ่งคือสังคมรอบๆ สถานรับเลี้ยงก็แตกต่างกันไปด้วย ซึ่งประเด็นนี้อาจไม่ใช่สิ่งสังคมนึกถึงมาก่อน เพราะเด็กกลุ่มนี้ก็มักจะไม่มีทางเลือกในการเลือกที่อยู่ของตัวเองมากนัก และสถานรับเลี้ยงเด็กในหลายๆ ประเทศก็ไม่ได้มีจำนวนมากจนเป็นตัวเลือกได้
เหตุผลหนึ่งที่ผมอยากให้คนลองอ่าน Sunny เพราะแน่นอนว่าในแง่ของการ์ตูนแล้ว ผมว่าเนื้อเรื่องแต่งมาได้ดี คำพูดและลายเส้นสื่ออารมณ์ อ่านได้เพลินๆ และได้เห็นธรรมชาติของเด็กหลายๆ อย่างที่น่าสนใจ แต่อีกเหตุผลคือเมื่ออ่านแล้ว หลายๆ ท่านคงสังเกตเห็นว่าการจัดการสถานรับเลี้ยงเด็กให้เป็นสถานที่ที่ดีเป็นเรื่องยากมาก แต่สถานรับเลี้ยงเด็กก็เป็นสถานที่ที่สำคัญมากเช่นกัน และหลังจากอ่านแล้ว หลายๆ คนคงมีคำถามนี้ในใจว่า “แล้วเราทำอะไรได้บ้าง”
สิ่งแรกสุดที่ผมคิดว่าเป็น ‘ก้าวแรก’ ที่ทำได้ทุกท่านคือ การตระหนักถึงตัวตนของครอบครัวที่มีปัญหาในสังคม ครอบครัวคือหน่วยเล็กที่สุดของสังคม แต่ก็สำคัญที่สุดในสังคมเช่นกัน ถ้าครอบครัวอ่อนแอสังคมก็อ่อนแอตาม อย่าคิดว่าเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่เป็นเพียง ‘กลุ่มเล็กๆ ที่มีปัญหา’ หลายๆ ครั้งที่เด็กกลุ่มนี้ถูกตัดโอกาสออกจากสังคมอย่างน่าเสียดาย และจากการที่ถูกตัดโอกาสยิ่งทำให้เขากลายเป็นผู้ด้อยสิทธิหรือเสียงในการเรียกร้องเพื่อเด็กแบบเดียวกันกับพวกเขา และยิ่งทำให้คนละเลยปัญหาเหล่านี้มากขึ้นไปอีก
อีกสิ่งที่ Sunny อาจจะทำให้ผู้อ่านตระหนักคือการยอมรับถึงตัวตนของ ‘พ่อแม่ที่ไม่พร้อมเลี้ยงลูก’ จริงอยู่ว่าการมีลูกเมื่อพร้อมเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสุดท้ายหลายๆ คนก็ไม่ได้ตั้งใจจะมีลูก หรือแม้แต่มารู้ตัวว่าไม่พร้อมหลังจากเด็กเกิดขึ้นมาแล้ว หรือพ่อแม่ที่พบปัญหาชีวิตหรืออุบัติเหตุตามมาภายหลังจนไม่อาจเลี้ยงลูกของตนได้ ชีวิตของเด็กทุกคนเริ่มที่ครอบครัว หากครอบครัวไม่พร้อมแล้วเด็กกลุ่มนี้จะมีอะไรให้พึ่งพิงอีกล่ะครับ เราคงหวังว่าจะมีญาติพี่น้องไปเลี้ยงดูแทนไม่ได้ทุกครั้ง สังคมจึงละเลยเด็กที่ขาดครอบครัวไม่ได้ และละเลยตัวตนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือครอบครัวและเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้
ผมหวังว่าการตระหนักถึงปัญหาในสังคมที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ภาครัฐตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหานี้มากขึ้นเช่นกัน ในยุคที่อัตราการเกิดลดลงนี้ หลาย ๆ ประเทศส่งเสริมให้คนมีลูก แต่ที่จริงแล้วผมเชื่อว่าเราไม่ได้ต้องการแค่ ‘ปริมาณ’ ของประชาชน แต่เราต้องการประชาชนที่มี ‘คุณภาพ’ ซึ่งผู้ใหญ่คงจะมีคุณภาพได้ยากหากชีวิตวัยเด็กของเขาขาดครอบครัวหรือสถานที่ ‘ทดแทนครอบครัว’ และสถานรับเลี้ยงที่ดี อาจจะเป็นไปไม่ได้เลยในโลกความจริงหากไม่มีภาครัฐในการส่งเสริมทางนโยบายและงบประมาณ และคนอื่นอื่นๆ ในสังคมส่งเสริมในด้านสิ่งแวดล้อม แม้เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องของเด็กที่ขาดพ่อแม่แต่ล้มลุกคลุกคลานเติบโตมาได้ดิบได้ดีอยู่บ้าง แต่เราก็คงยอมรับว่ามีเด็กที่ขาดพ่อแม่และไม่อาจจะมีชีวิตที่ดีได้แม้จะพยายามแล้วก็ตามอีกจำนวนมากในสังคม หากเด็กขาดครอบครัวซึ่งเป็นดั่งฐานที่ปลอดภัยที่สุดของเขาไปแล้ว อย่างน้อยก็ผมก็อยากให้สังคมมีที่ทางประคับประคองให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ยังมองเห็นว่าโลกนี้ยังเป็นที่ที่ดีอยู่บ้าง
เติบโตมาแบบขาดสิ่งสำคัญก็จริงแต่ไม่ได้ทนทุกข์ทรมานจากการขาดสิ่งนั้นจนเกินไป และแน่นอนว่าพวกเขาได้รับสิทธิในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานและการศึกษาที่มีคุณภาพ
สังคมที่ดีก็คือสังคมที่ไม่ละเลยไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มไหนจริงไหมครับ
หนังสือที่รีวิว: หนังสือการ์ตูน “Sunny ” ผู้แต่ง: ไทโย มัทสึโมโตะ สำนักพิมพ์สยามอินเตอร์คอมมิค |