- ‘แม่โสสะ’ คือแม่ผู้ที่ไม่ได้ให้กำเนิด แต่เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ ‘แม่ฟูลไทม์’ และพร้อมเป็นครอบครัวทดแทนให้กับเด็กกำพร้าภายใต้ความดูแลของมูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย
- The Potential ชวนก้าวข้ามเรื่องความผูกพันทางสายเลือด และไปคุยกับ ‘แม่อ้อย-ลักษณี เลื่อนล่อง’ คุณแม่ลูก 16 ที่ทุ่มเทเวลาและความรักให้กับเด็กๆ ใน ‘บ้าน 12’ ของหมู่บ้านเด็กโสสะบางปู จังหวัดสมุทรปราการ
- นิยามความเป็นแม่สำหรับแม่อ้อยไม่ได้เกี่ยวกับสายเลือด แต่เป็นเรื่องของความผูกพัน ที่ปรารถนาและคาดหวังให้ลูกๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในสังคม
‘แม่’ คือผู้ให้กำเนิด?
‘แม่’ คือผู้เสียสละ?
‘แม่’ คือพระอรหันต์ของลูก?
ไม่ว่านิยามความเป็นแม่ของคุณคืออะไร The Potential ชวนก้าวข้ามเรื่องความผูกพันทางสายเลือด ไปรู้จักกับผู้หญิงที่ถูกเรียกว่า ‘แม่’ ทั้งที่เธอไม่เคยคลอดลูกเลยสักครั้ง
พวกเธอคือ ‘ผู้หญิงโสด’ ที่เลือกเส้นทางชีวิตเป็นแม่ฟูลไทม์ในนาม ‘แม่โสสะ’ ที่พร้อมเป็นครอบครัวทดแทนให้กับเด็กกำพร้าภายใต้ความดูแลของมูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย
สำหรับผู้ทำหน้าที่แม่โสสะจะต้องเป็นผู้หญิงโสดที่ไม่มีภาระผูกพันและมีความปรารถนาจะอุทิศตนเพื่อเด็กๆ เพราะจะต้องเข้ามาพักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเด็กโสสะเต็มเวลา ซึ่งหลังจากผ่านการคัดเลือกแล้ว มูลนิธิฯจะมีการอบรมความรู้พื้นฐานต่างๆ อาทิ สุขอนามัย จิตวิทยา การปฐมพยาบาล จากนั้นจะต้องฝึกงานในตำแหน่ง ‘คุณน้า’ ก่อนเป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อสั่งสมประสบการณ์และความพร้อมในการเป็นแม่โสสะอย่างเต็มรูปแบบ
และแม้จะไม่ได้เริ่มต้นจากการเป็นครอบครัวเดียวกัน แต่ที่ผ่านมาแม่โสสะทุกคนก็พร้อมเป็นครอบครัวที่ให้ความรัก ความอบอุ่น และการดูแลอย่างไม่มีเงื่อนไขแก่เด็กๆ ไม่ต่างจากแม่ทั่วไป ตั้งแต่เรื่องกินอยู่หลับนอน การเรียน การเข้าสังคม และการใช้ชีวิตในทุกๆ ด้าน ที่สำคัญคือเติมเต็มความรักและความอบอุ่นให้เด็กๆ รู้สึกปลอดภัยและเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ
‘แม่อ้อย’ 18 ปี กับความเป็นแม่ของลูก 16 คน
เพราะความเป็นแม่ไม่ใช่แค่การให้กำเนิด แต่คือการให้ความรักและสร้างสายสัมพันธ์จากการดูแลเอาใจใส่
กว่า 18 ปีที่ ลักษณี เลื่อนล่อง หรือ ‘แม่อ้อย’ ได้เปลี่ยนเส้นทางชีวิตจากคุณครูจากจังหวัดตรัง สู่การเป็นหนึ่งในผู้ทำหน้าที่ ‘แม่โสสะ’ เธอได้ทุ่มเทเวลาและความรักให้กับเด็กๆ ใน ‘บ้าน 12’ ของหมู่บ้านเด็กโสสะบางปู จังหวัดสมุทรปราการ มาแล้วกว่า 16 คน
แม่อ้อยเล่าว่า ที่นี่เธอมีโอกาสได้ดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิดอายุเพียง 1 เดือน ซึ่งความรู้สึกแรกที่ได้เห็นเด็กน้อยไร้เดียงสา ทำให้เธอตั้งปณิธานที่จะดูแลเขาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
“แม่ไม่เคยคิดเหมือนกันว่าเราจะสามารถมาทำหน้าที่ตรงนี้ได้ เพราะตัวเองไม่เคยดูแลเด็ก 24 ชั่วโมงมาก่อน แต่ส่วนตัวก็เป็นคนรักเด็กและเคยเป็นครูมาก่อน เลยไม่ได้ต้องปรับตัวอะไรกับเด็กมาก สิ่งที่ต่างคือ ถึงจะต้องดูแลเด็กเหมือนกับครู แต่อาชีพแม่จะต่างออกไปตรงที่แม่ต้องรับผิดชอบทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องมีความรับผิดชอบสูง ต้องอยู่กับเด็ก 24 ชั่วโมง แม่จะพักไม่ได้ ป่วยไม่ได้ หยุดไม่ได้ เพราะเราเป็นแม่เขา
ซึ่งพอเราเข้าบ้านแล้วทางมูลนิธิก็เรียกไปคุยว่าเราต้องฝึกงานเป็น ‘คุณน้า’ ในหมู่บ้านก่อนประมาณ 2 ปี สิ่งหนึ่งคือแม่รู้สึกตั้งแต่ตอนนั้นคือ เราต้องช่วยเหลือเขาให้ตลอดรอดฝั่ง เพราะเด็กๆ ในบ้านเขาไม่มีใคร การมาอยู่ตรงนี้จึงเป็นสิทธิของแม่ที่จะดูแลให้เด็กๆ เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ
แล้วพอหลังๆ เด็กเรียกแม่ว่า ‘แม่’ สิ่งที่แวบขึ้นมาในหัวเลยคือ แม่ต้องช่วยเขา ต้องทำให้เขาประสบความสำเร็จในแบบของตัวเองให้ได้ เพราะเขาไว้ใจเรา และเด็กเขาไม่มีใครเลยนอกจากแม่”
‘บ้าน 12’ ของแม่อ้อยเปรียบเสมือนครอบครัวขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกหลากหลายช่วงวัย ตั้งแต่เด็กเล็กวัย 3 ขวบครึ่ง ไปจนถึงพี่ๆ ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี รวมแล้วกว่า 10 คน ซึ่งการทำหน้าที่แม่ที่ต้องดูแลลูกๆ ในวัยที่แตกต่างกัน บุคลิกและความต้องการก็แตกต่างกัน ถือเป็นภารกิจที่ท้าทายอย่างมาก
“การเป็นแม่ที่นี่ สิ่งสำคัญคือต้องช่วยเหลือเขา ซึ่งหน้าที่ของเราจะหนักกว่าแม่ทั่วๆ ไป เพราะเรามีลูกเป็นสิบคน บวกกับความต้องการของเด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนต้องการแบบนึง แต่เราไม่มีให้เขา เขาก็จะน้อยใจ
ซึ่งพอแม่มีลูกหลายคน ก็ต้องลงรายละเอียดทุกคน เพราะคนๆ หนึ่งมีรายละเอียดเป็นร้อย แม่ต้องใส่ใจทุกคน เวลาลูกๆ กลับมาจากโรงเรียนเขาก็จะมีเรื่องราวมาเล่าให้เราฟังกันทุกคน บางทีพอคนเยอะ ลูกบางคนอาจจะน้อยใจว่าทำไมแม่ไม่ฟังฉัน แม่ก็จะค่อยๆ เข้าไปหาทีละคนให้เขาเล่าเรื่องราวของเขาให้ฟังใหม่อีกรอบ เพื่อที่จะให้เขารู้ว่าแม่ให้ความใส่ใจเขา ให้ความสำคัญเขา
เพราะเด็กทุกคนต้องการให้แม่ให้ความสำคัญกับเขา ไม่ว่าจะเด็กหรือโตเขาก็ต้องการ เลยเป็นหน้าที่ของเราที่จะลงรายละเอียดว่าลูกแต่ละคนนิสัยยังไง แม่ต้องมีประสาทสัมผัสและสติที่ดีเพื่อที่จะประคองความรู้สึกลูกทุกคน เพราะเด็กแต่ละคนต่างกัน บางครั้งเขาก็มีความน้อยใจ รู้สึกว่าแม่รักคนนั้นคนนี้มากกว่า รักลูกไม่เท่ากัน แม่ก็จะคุยกับเขาด้วยเหตุผล และสอนให้เขารักกัน พยายามบอกเขาว่าบางครั้งปัญหาที่เก็บไว้ก็ต้องวางลงบ้าง ไม่อย่างนั้นจะเป็นเขาเองที่เครียด
การเลี้ยงดูลูกหลายๆ คนพร้อมกัน สิ่งสำคัญคือเราต้องตระหนักว่าเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน และตัวเราต้องเป็นคนกระตุ้นให้เขารู้สึกว่าเขานั้นมีประโยชน์ มีคุณค่า มีสิ่งดีๆ ในตัว แม้ว่าคนอื่นจะไม่เห็น แต่แม่เห็น เพราะเราอยู่กับเขาแทบจะตลอดเวลา”
แม้ไม่ใช่ ‘แม่แท้ๆ’ แต่แค่ลูกรู้ว่า ‘แม่รัก’ ก็พอแล้ว
“ความเป็นแม่ไม่ได้เกี่ยวกับสายเลือด แต่เป็นเรื่องของความผูกพันมากกว่า เรารักเขา อยากให้เขาได้ดี ให้เขาได้รับในสิ่งที่เขาควรจะได้ แม่ก็ไม่รู้ว่าแม่เป็นแม่ได้จริงๆ หรือเปล่า แต่แม่แค่อยากให้เขาเติบโตได้ดี และมีอนาคตที่ดี แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว”
สำหรับแม่อ้อย ความผูกพันที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ที่เธอเลี้ยงดูมานั้น ไม่ได้ต่างจากความผูกพันที่แม่ทั่วไปมีต่อลูกของตนเองเลย การได้กอด ได้เลี้ยงดู และได้เห็นรอยยิ้มของเด็กๆ ทำให้แม่อ้อยรู้สึกถึงความรักของแม่อย่างลึกซึ้ง และการที่ได้เลี้ยงดูพวกเขามาตั้งแต่เด็ก หรือบางคนก็ตั้งแต่แรกเกิด ทำให้เธอรู้สึกว่าเด็กๆ เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของชีวิตเธอไปแล้ว
“มีครั้งหนึ่งเด็กที่แม่เลี้ยงเขามาตั้งแต่ 1 เดือน วันนึงพอเข้าโรงเรียนเขาก็เริ่มสงสัยว่า ทำไมแม่นามสกุลไม่เหมือนกับเขา เขาเลยกลับบ้านมาถามว่า “หนูไม่ใช่ลูกแม่ใช่ไหม” ซึ่งคำถามนี้ก็แทงใจแม่เหมือนกัน เพราะแม่เลี้ยงเขามาแต่อ้อนแต่ออก แต่แม่ก็สื่อสารกับเขาว่า แค่รู้ว่าแม่รักเขาก็พอแล้ว จริงอยู่ที่คนเราทุกคนก็เกิดจากท้องแม่ แต่มันมีปัจจัยหลายอย่างที่อาจทำให้เราไม่ได้อยู่กับคนที่คลอดเราออกมา แต่ก็ถือว่ายังโชคดีที่ได้มาอยู่ตรงนี้ มาเจอกับแม่ มีแม่ที่คอยอยู่กับเขาทุกเวลา
ซึ่งแม่ก็มองว่าครอบครัวของเราก็น่าจะทดแทนครอบครัวจริงๆ ได้ระดับนึงเลย ถ้าเขาไม่ได้มาเจอครอบครัวโสสะเขาก็คงลำบาก เพราะจริงๆ ในสังคมเรา ทุกครอบครัวก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบเสมอไป ทุกครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูกครบก็มีปัญหาของตัวเอง แม่ก็บอกเขาว่า ถ้าวันหนึ่งลูกๆ มีความฝันที่อยากมีครอบครัวที่สมบูรณ์ ก็ให้ตั้งใจเรียน ตั้งใจทำงาน เพื่อที่เขาจะสามารถสร้างครอบครัวของตัวเอง หรือสร้างอะไรที่อยากสร้างในอนาคตได้”
ชีวิตการเป็น ‘แม่’ การเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ
สำหรับผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่เคยมีประสบการณ์เลี้ยงเด็กหรือเป็นแม่คนมาก่อน การต้องมาดูแลเด็กตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องใหญ่ ถือเป็นความรับผิดชอบที่หนักอึ้ง ซึ่งแม่อ้อยบอกว่า สำหรับตนเองทุกๆ วันคือการเรียนรู้ในทุกๆ เรื่อง เพื่อสอนลูกๆ ให้ดีที่สุด
“เอาจริงๆ ก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าการเป็นแม่จะต้องมาสอนทุกเรื่องขนาดนี้ โดยเฉพาะเราที่ไม่เคยเลี้ยงเด็กมาก่อนด้วย แต่ต้องสอนเขาทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งการใช้ชีวิต เพศศึกษา การศึกษา และสังคม บางทีแม่ยังรู้สึกทึ่งตัวเองเลยว่าไปเอาที่ไหนมาสอนเยอะแยะ แต่มันก็เป็นภาคบังคับว่าต้องสอนลูก
บางเรื่องที่คิดว่าเขาอาจจะแก้ปัญหาเองได้ ปรากฏว่าบางครั้งเขาก็ยังคิดถึงแม่เป็นคนแรกๆ ซึ่งแม่เองก็ดีใจที่แม้ว่าเขาจะโตแล้วแต่ก็ยังนึกถึงแม่อยู่ แต่โดยภาพรวมแล้ว เด็กๆ ที่โตสุดเขาก็จะดูแลตัวเองได้ ถ้ามีปัญหาที่ไม่ได้หนักหนามาก ก็จะปล่อยให้เขาลองแก้ด้วยตัวเองก่อน แต่ถ้าแก้ไม่ได้ก็ให้มาหาแม่ มาแก้ไขปัญหาร่วมกัน ให้เขากล้าตัดสินใจด้วยตัวเอง และบอกเขาทุกครั้งว่าถ้าเขาไม่ได้ทำอะไรที่ผิดก็ไม่ต้องกลัว จะสอนให้เขายืนหยัดด้วยตัวเองให้ได้ ดูแลตัวเองให้ได้มากที่สุด”
และเพราะการเป็นแม่เปรียบเสมือนการเดินบนเส้นด้ายที่ต้องคอยทรงตัวและเผชิญกับปัญหาที่คาดไม่ถึงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของลูกที่กำลังเติบโต ปัญหาของตัวเอง การรักษาสมดุลในทุกๆ สถานการณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
“การอยู่ตรงนี้ปัญหาคือสิ่งที่เราต้องเจอแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของเด็ก ของผู้ใหญ่ และของตัวเราเองด้วย เราเองเลยต้องมีสติและใจเย็นให้มาก เราจะจัดการไม่ได้เลยถ้าไม่มีสติแล้วโวยวายด้วยอารมณ์
การสอนของแม่ก็ปรับไปตามยุคสมัย เพราะบางทีวัยรุ่นจะมีความคิดเป็นของตัวเอง และฟังเพื่อนมากกว่า จะมีเด็กเล็กๆ ที่ฟัง ส่วนโตๆ เขาเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง เราก็ย้ำว่าคิดได้ทำได้ แต่อย่าให้มันเลยกรอบไปมากนัก เพราะเดี๋ยวเกิดปัญหาจะแก้ยาก
ลูกเองแม้จะโตและออกไปอยู่ข้างนอกแล้ว บางคนก็ยังพบปัญหาอยู่บ้าง สิ่งที่ทำได้ก็คือบอกให้ลูกใจเย็นและค่อยๆ แก้ปัญหาไป อันไหนที่ไม่เกินกำลัง หรือถ้าช่วยได้แม่ก็ช่วย แต่อันไหนเป็นสิ่งที่ลูกต้องปรับตัวเอง ก็ต้องจัดการปัญหาด้วยตัวเอง เขาจะได้เข้าใจและเรียนรู้ว่าการใช้ชีวิตในสังคมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
ทุกวันนี้แม่ก็โทรหาพูดคุยกับลูกตลอดเวลา วันหนึ่งไม่รู้กี่ร้อยสายจากลูกๆ ทั้งคนเล็กคนโต วางสายคนนั้น คนนี้ก็โทรมา เพราะเขาเคยชินกับการมีแม่มาแต่เด็ก แม่ก็พยายามบอกเขาให้ตัดสินใจบางอย่างเองบ้าง อะไรที่ควรทำก็ทำ อะไรไม่ควรก็อย่าไปทำ ทำทุกอย่างให้อยู่ในกรอบของกฎระเบียบ ไม่ต้องไปแหกกฎมากมายเพราะมันไม่ได้ช่วยอะไรเลย”
ความภูมิใจในฐานะ ‘แม่’ เพียงแค่เห็นลูกเติบโตเข้มแข็งและมีชีวิตที่ดี
เกือบ 20 ปีกับการทำหน้าที่แม่โสสะ เมื่อถามถึงความสุขของแม่อ้อย เธอตอบทันทีว่า คือการได้เห็นลูกๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดี การได้อบรมสั่งสอนลูกๆ ให้เป็นคนดีของสังคมเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง แม้ว่าระหว่างทางจะต้องเผชิญกับอุปสรรคและความผิดหวังบ้าง แต่การได้เห็นลูกประสบความสำเร็จและมีความสุข คือรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต
“สิ่งที่เรามีความสุขคือการที่เห็นลูกๆ ที่เราเลี้ยงเติบโตขึ้นมาเป็นคนดีของสังคม เขายอมรับตัวเอง และสังคมยอมรับเขา ซึ่งความภูมิใจที่สุดของแม่คือ แม่ภูมิใจที่เลี้ยงลูกๆ ไม่เป็นปัญหาของสังคม สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องสร้างความเข้มแข็งให้เขาก่อน เพราะถ้าออกไปข้างนอกแล้วคิดว่าลำบาก มันก็จะลำบาก แต่ถ้าเราออกไปด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง เราก็จะต่อสู้กับทุกอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาได้ แม่ก็บอกเขาให้เข้มแข็ง พึ่งพาตัวเอง และพี่น้องก็อย่าทิ้งกัน
แต่บางครั้งก็อาจจะมีเสียใจบ้าง ถ้าหากสิ่งที่แม่สอนแล้วเขามองข้าม นั่นคือความเสียใจสําหรับแม่ แต่แม่เองก็มีลิมิต วันนี้แม่เสียใจได้ แต่พรุ่งนี้แม่จะต้องไม่เสียใจ แม่ต้องสร้างกําลังใจให้ได้ เพราะว่าเรามีลูกหลายคนถ้าเรามานั่งจดจ่ออยู่ว่าฉันเสียใจกับเธอมากนะ แล้วคนอื่นล่ะ คนอื่นเขาต้องการกําลังใจเหมือนกัน ถ้าเราอ่อนแอทุกอย่างก็จบ แต่วันนึงความเสียใจก็จะหมดไป เมื่อเราคิดที่จะอภัยให้เขา เราก็จะลืมสิ่งนั้นไป
แต่ถึงยังไงแม่ก็ดีใจที่ได้มาทํางานตรงนี้ แม่มีความรู้สึกว่าเราอาจจะไม่ได้ช่วยสังคมโดยตรง แต่เราก็ได้ช่วยบางส่วนเพื่อให้เด็กๆ ที่เขาเคยมีความทุกข์มีความยากลําบากได้หมดทุกข์ และมีความสุข ซึ่งแม่เชื่อว่าลูกที่แม่เลี้ยงเขาก็มีความสุข เพราะเขาได้รับในสิ่งที่ดี”
ความในใจจากแม่อ้อย ถึง ‘แม่ๆ’ และอนาคตของตัวเอง
“อยากจะให้แม่ทุกคนพูดคุยเอาใจใส่ลูกมากขึ้น คอยถามสารทุกข์สุขดิบลูก บางทีแม้ภายนอกเด็กวัยรุ่นจะดูเบื่อดูรำคาญ แต่แม่เชื่อว่าลึกๆ แล้ว ในใจเขาก็อยากหาแม่ กอดแม่ เพราะฉะนั้นจะต้องใช้ความเอาใจใส่ในการเลี้ยงดู
ทุกคนที่มีลูก แม่พยายามบอกให้พูดคุยกับลูกมากขึ้น ดูแลลูกให้เหมือนวันแรกที่เราเลี้ยงดูเขามา เพราะจริงๆ แล้วคำว่ารักลูก เราพูดได้ทุกคน แต่ถ้ามากกว่าความรักคือความผูกพัน เข้าใจว่าด้วยความเป็นแม่เราก็จะมีความคาดหวัง มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ลูกเติบโตไปเป็นคนดีของสังคม เพราะฉะนั้นทุกอย่างจึงต้องช่วยเหลือกัน ไม่ว่าจะในบ้าน หมู่บ้าน หรือในสังคมข้างนอก
ความรักและความเอาใจใส่เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความรัก ต้องช่วยกันดูแล ไม่ว่าจะพ่อหรือแม่ ทุกคนมีบทบาทต้องดูแลเลี้ยงดูลูกเท่ากัน ถ้าทั้งพ่อและแม่ช่วยกันได้ ก็อยากให้ช่วยกัน เพราะว่าพ่อกับแม่เหมือนครูคนแรกของลูก ยังไงเขาก็ต้องหันมามองพ่อกับแม่เป็นแบบอย่าง”
สำหรับแม่อ้อยเองกับบทบาทของแม่โสสะ ความผูกพันที่เกิดขึ้นกับลูกๆ ทุกคนเปรียบเสมือนสายใยอันแน่นแฟ้นที่ทำให้เธอตัดสินใจเดินต่อบนเส้นทางนี้ เพราะความภาคภูมิใจที่ได้เห็นลูกๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีคือสิ่งตอบแทนที่ล้ำค่า และเป็นแรงบันดาลใจให้เธอยังคงสานต่อบทบาทของ ‘แม่’ เพื่อมอบความรักและโอกาสให้กับเด็กๆ ที่ขาดโอกาสต่อไป
“จริงๆ พอทำไปเรื่อยๆ ก็ไม่ได้คิดล่วงหน้าว่าจะทำต่อไปอีกกี่ปี แต่คิดว่าแม่อยากเห็นอนาคตของลูก อยากจะส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเขา ซึ่งถ้าถามว่าการเป็นแม่โสสะ พอเกษียณอายุ 60 แล้วยังต้องทําอยู่มั้ย แม่ก็ยินดีที่จะยังทําอยู่เพราะว่าเรามีลูกเยอะ และเป็นลูกที่เราเลี้ยงมา แม่จะตัดลูกๆ ออกจากชีวิตได้ยังไงล่ะ ในเมื่อแม่เลี้ยงมาตั้งแต่เล็กๆ ป้อนข้าว ป้อนน้ำ เห็นเขาเติบโต เรียนจบประถม มัธยม จนจบปริญญาตรี สุดท้ายแล้วเขาก็ยังมีสายสัมพันธ์กับเรา กับพี่น้องในบ้านเดียวกัน แล้วก็กับพี่น้องในหมู่บ้านเด็กโสสะทุกคนเสมอ ทุกคนจะมีความสัมพันธ์กัน จะมีความรัก รักน้อง รักแม่ และรักองค์กร
ถ้าไม่รัก แม่ทํางานที่นี่ไม่ได้ เราเห็นลูกเราเจ็บ เห็นลูกเราร้อง คนที่เป็นแม่ทุกคน แม้ไม่ได้เป็นแม่แท้ๆ เราก็มีความรู้สึกอยากปกป้อง อยากดูแล อยากโอบกอด แม่ถึงบอกว่า ความรักมันเกิดมาจากความผูกพันค่ะ” แม่อ้อยกล่าวทิ้งท้าย