- แม่หลวงทัญกานร์ ยานะโส คือตัวอย่างของนักจัดการเรียนรู้ที่ใช้ฐานทุนทางวัฒนธรรมมายกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งผลลัพธ์ที่มากกว่านั้นคือความภาคภูมิใจในตัวเองและการส่งต่อแรงบันดาลให้คนอื่น
- หลังจากสะสมองค์ความรู้เรื่องการทอผ้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์จนได้รับการยอมรับ ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอยได้พัฒนา ‘หลักสูตรการทอผ้าจกล้านนาและการย้อมสีธรรมชาติ (หินโมคคัลลาน)’
- กุญแจของความสำเร็จอยู่ที่การสร้างความเข้าใจและออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน ปรับตัวและยืดหยุ่นตามบริบทของผู้เรียน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างความมั่นใจให้แต่ละคนสามารถพัฒนาตนเองต่อไปได้
จาก ‘กี่’ ที่ถูกทิ้งร้าง เส้นฝ้ายที่ไม่มีใครเหลียวแล ทัญกานร์ ยานะโส แม่หลวงร่างเล็ก (ผู้ใหญ่บ้าน) แห่งบ้านเชิงดอย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ไม่เพียงพลิกฟื้นภูมิปัญญาที่หลายคนไม่เห็นค่าให้กลับมาเป็นอาชีพสร้างงานสร้างรายได้ ในนาม ‘กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอย’ ยังพัฒนาสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ และต่อยอดเป็น หลักสูตรการทอผ้าจกล้านนาและการย้อมสีธรรมชาติ (หินโมคคัลลาน) ซึ่งเปิดกว้างสำหรับผู้เรียนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่จำกัดพื้นฐานการศึกษา ภาษาหรือชาติพันธุ์
เพราะหลักสูตรทอผ้านี้ถูกออกแบบให้ยืดหยุ่นสำหรับผู้เรียนที่มีความหลากหลาย บนหลักการที่ทั้งผู้ถ่ายทอดความรู้และผู้เรียนรู้ร่วมออกแบบการเรียนรู้ด้วยกัน โดยเป้าหมายปลายทาง…ไม่ใช่แค่การทอผ้าเป็นขายผ้าได้ แต่คือการเสริมสร้างความมั่นใจเพื่อให้แต่ละคนสามารถพัฒนาตนเองต่อไป
“สิ่งที่น่าดีใจไม่ใช่แค่การสร้างอาชีพ เพราะวันนี้ทุกคนได้รับการยกย่องและเคารพนับถือ ว่านี่คือ พ่อครู แม่ครู เขาสามารถเป็นวิทยากรสอนคนอื่นต่อได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สร้างไม่ได้ง่ายๆ ทำให้ชาวบ้านทุกคนเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง” แม่หลวงทัญกานร์ กล่าวด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจ
บทเรียนที่ 1 ก่อร่างสร้างงานบนฐานทุนเดิม
ในอดีตผู้หญิงบ้านเชิงดอยทอผ้าเป็นแทบทุกครัวเรือน และยึดการทอผ้าเป็นอาชีพหลัก ส่วนผู้ชายถ้ามีเวลาว่างก็จะมาร่วมทอผ้าบ้าง เป็นวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่สืบทอดมายาวนาน แต่เมื่อสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป คนในหมู่บ้านก็แทบไม่ทอผ้ากันอีกเลย
“ช่วงนั้นชาวบ้านหันไปปลูกลำไยกัน ก็เป็นเรื่องอาชีพและรายได้ที่ดีกว่า ชาวบ้านก็ทิ้งอุปกรณ์ทอผ้าต่างๆ ขณะที่ตัวเราเองไปเรียนหนังสือและทำงานที่อื่น พอกลับมาบ้านเริ่มรู้สึกว่าทำไมเสียงทอผ้าหายไปหมดเลย ก็มาคิดวิเคราะห์ดูว่าจริงๆ แล้วภูมิปัญญาการทอผ้าไม่ได้หายไปไหน ทุนยังอยู่ ความรู้ยังอยู่ เพียงแต่วิถีอาชีพเท่านั้นที่เปลี่ยนไป ตอนนั้นก็คุยกับเพื่อนว่า เรามาเริ่มตั้งกลุ่มกันใหม่มั้ย เพราะว่าไม่อยากให้สิ่งดีๆ ของชุมชนหายไป ก็มาเริ่มตั้งต้นรวมกลุ่มใหม่เมื่อปี 2550 ไปรวบรวมคนที่ยังรักการทอผ้าอยู่ ซึ่งมีไม่มาก ราว 3-4 คน ช่วยกันขับเคลื่อนเรื่อยมาและพยายามทำการตลาดเพิ่มขึ้น” แม่หลวงทัญกานร์ เล่าถึงจุดตั้งต้นของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอย ซึ่งเธอรั้งตำแหน่งประธานกลุ่ม
การกลับมาพลิกฟื้นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอย ประกอบกับการทำการตลาดที่แข็งขัน ทำให้ ‘ผ้าฝ้ายเชิงดอย’ ได้รับการยอมรับทั้งในส่วนของลวดลายการถักทอที่มีอัตลักษณ์ สีสันโดดเด่นแปลกตา จากการย้อมสีด้วยหินโมคคัลลาน วัตถุดิบจากธรรมชาติที่ผ่านการเฟ้นหาและสร้างสรรค์โดยปราชญ์ชุมชน ส่งผลให้เป็นที่ต้องการของตลาดและมีชื่อเสียงในฐานะผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่แล้วทุกอย่างก็ต้องหยุดชะงักอีกครั้ง เมื่อเกิดการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19
“ทุกอย่างเหมือนปิดสวิตช์หมดเลย กลุ่มได้รับผลกระทบอย่างมาก ขณะเดียวกันชาวบ้านในหมู่บ้านก็ได้รับผลกระทบจากการว่างงาน และการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตอนนั้นจึงตัดสินใจเขียนข้อเสนอ ‘โครงการการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะฝีมือการทอผ้าและเพิ่มโอกาสทางการตลาดของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19’ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในเรื่องของการพัฒนาอาชีพ เพราะหวังเป็นทางรอดของชาวบ้านและสานต่องานของกลุ่มให้เข้มแข็งขึ้น
“ตอนนั้นโชคดีได้รับทุน เป็นจังหวะที่ดี เราได้ไปรวบรวมชาวบ้านที่ยังรักอาชีพนี้อยู่ ไปขอพ่อครูแม่ครูที่เคยย้อมผ้าสีธรรมชาติ เคยทอผ้า ซึ่งตอนนี้ก็อายุเยอะแล้วให้มารวมตัวกันอีกครั้ง มาช่วยกันถ่ายทอดความรู้การทำผ้า และรวบรวมชาวบ้านที่สนใจกลับมาเรียนรู้การทอผ้า มาช่วยกันพัฒนาสานต่อทุนในชุมชน ซึ่งหลังจากที่ทำงานขับเคลื่อนกลุ่มได้ 1 ปี เราก็พบว่าเราทำได้ และกลุ่มมีความเข้มแข็งขึ้นมาก”
บทเรียนที่ 2 ความรู้ที่ถูกเผยแพร่ย่อมไม่สูญหาย
แม่หลวงทัญกานร์ เล่าว่า พื้นเพของอำเภอจอมทองและบริเวณใกล้เคียงจะทำผ้าทอเหมือนกันหมด ดังนั้นจึงต้องการสร้างความแตกต่าง และสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น เพราะนั่นหมายถึงการขยายตลาดให้กว้างขึ้นด้วย
“ถ้าตลาดเราดี เราก็สามารถขยายกิจการ ขยายการจ้างงานไปถึงคนอื่นๆ ได้ด้วย ก็เลยเกิดแนวคิดการทำผ้าจกและการแปรรูป นอกจากนี้ก็เน้นในเรื่องของสีธรรมชาติ เพราะพื้นเพชุมชนเรามีสีเปลือกไม้ สีลูกไม้ที่นำมาทำได้ และเรายังมีปราชญ์ชุมชนที่ชอบคิดค้นทดลอง นำหินโมคคัลลานแล้วมาลองย้อมจนได้สีย้อมที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน”
ด้วยเหตุนี้ แม่หลวงทัญกานร์จึงเดินหน้าทำโครงการต่อเนื่องภายใต้การสนับสนุนของกสศ. โดยเน้นการต่อยอดทักษะฝีมือการทอผ้าของสมาชิก ทั้งในด้านการพัฒนาลายผ้าทอ การทอผ้าจกที่กำลังสูญหาย รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งหลังจากได้สะสมองค์ความรู้มาระยะหนึ่ง เธอก็ตระหนักว่าสิ่งที่จะรักษามรดกภูมิปัญญานี้ไว้ก็คือการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่คนรุ่นต่อไป
“ถ้าเราสอนแบบเมื่อก่อน คือถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกผ่านการเรียนรู้แบบครูพักลักจำ ความรู้ก็จะอยู่ในตัวตนของคนคนหนึ่ง แต่ถ้าเราบันทึกเป็นความรู้ หรือทำเป็นหลักสูตร ความรู้เหล่านี้จะไม่สูญหาย และถูกเผยแพร่ออกไปได้กว้างขวางขึ้น คนรับรู้ได้เยอะขึ้น
เพราะเดี๋ยวนี้สถานการณ์โลกเปลี่ยนไป มีวัฒนธรรมเข้ามามากมายหลากหลายเต็มไปหมด ดั้งนั้นถ้าเราหวงความรู้ต่างๆ เหล่านี้ไว้ สุดท้ายสิ่งดีๆ ที่เรามีจะถูกกลืนไป”
ในที่สุดความรู้ที่เปรียบเสมือนสมบัติส่วนตัวของพ่อครูแม่ครู ถ่ายทอดกันครอบครัวหรือในชุมชน ก็ได้รับการรวบรวมและออกแบบเป็น หลักสูตรการทอผ้าจกล้านนาและการย้อมสีธรรมชาติ (หินโมคคัลลาน) และวางแนวทางจัดการเรียนรู้ใน 2 รูปแบบ คือ หลักสูตรเพื่อการศึกษา และ หลักสูตรเพื่อการพัฒนาอาชีพ
“พอเราคิดอยากพัฒนาหลักสูตรก็เป็นความโชคดี เพราะเรามีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งทั้งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) และเทศบาลตำบลสบเตี๊ยะที่เข้ามาช่วยสนับสนุน โดยหลักสูตรตั้งต้นที่ออกแบบมามีทั้งหลักสูตรสำหรับการทำอาชีพ 18 ชั่วโมง และหลักสูตรสำหรับการศึกษา 40 ชั่วโมง รวมทั้งยังนำหลักสูตรนี้มาปรับใช้กับนักเรียนตั้งแต่เด็กอนุบาลจนถึงระดับมัธยม แล้วก็ยังมีการศึกษาทางเลือกด้วย”
แม่หลวงทัญกานร์เล่าว่า ตอนนี้กำลังเริ่มทำกับโรงเรียนสบเตี๊ยะในรูปแบบของหลักสูตรท้องถิ่น โดยในระดับอนุบาลจะเน้นที่การทำกิจกรรม การได้สัมผัสธรรมชาติ มีแผนการสอนเล็กๆ น้อยๆ ส่วนระดับประถมมีการทำงานร่วมกับเทศบาลตำบลสบเตี๊ยะเพื่อส่งเสริมให้หลักสูตรเข้าไปอยู่ในโรงเรียน
“ระดับมัธยมก็มีติดต่อเข้ามาแบบที่เรียนรู้เพื่อทำเป็นชิ้นงานเลย เช่น โรงเรียนจอมทองอยากได้สีม่วงไปใช้ในงานนิทรรศการของกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ให้เด็กมาเรียนรู้นอกเวลาโดยมีครูไปด้วย เพื่อทำสีย้อมขึ้นมาเลย เราก็เขียนแผนการสอนสักประมาณ 8 ชั่วโมง วันละ 2 ชั่วโมง อาทิตย์ละ 2 วัน กลายเป็นหลักสูตรเฉพาะกิจ”
บทเรียนที่ 3 ทุกคนเรียนรู้ได้ภายใต้การออกแบบร่วมกัน
สำหรับหลักสูตรการทอผ้าจกและการย้อมมีธรรมชาติเพื่อการศึกษา ระยะเวลา 40 ชั่วโมง ล่าสุดวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอยได้นำไปขยายผลจัดการเรียนรู้ให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บ้านเมืองอาง บ้านขุนยะและบ้านขุนแปะ ซึ่งอุปสรรคทั้งในด้านภาษา วัฒนธรรมและวิถีชีวิต กลายเป็นบททดสอบสำคัญของการนำหลักสูตรไปใช้จริง
“กว่าจะสำเร็จได้ต้องมีการปรับตัวอย่างมากทั้งผู้สอนและผู้เรียน เพราะต้องปรับไปตามบริบทของผู้เรียน เนื่องจากส่วนใหญ่ชาวบ้านมีงานของเขาอยู่แล้ว ในหนึ่งสัปดาห์จะว่างประมาณ 3 วัน ซึ่งใน 3 วัน ก็ต้องมานั่งพูดคุยกันว่า เขาจะเรียนวันไหน พร้อมวันไหน เวลาไหน และแม้จะนับจำนวนเวลาเรียนได้ 40 ชั่วโมง แต่บางคนใช้เวลานานกว่านั้น ส่วนสุดท้ายการประเมินผลก็ต้องมีการพูดคุยกัน”
การจัดการเรียนรู้ภายใต้หลักสูตรนี้จึงไม่ได้มีเพียงผู้เรียนฝ่ายเดียวที่ต้องปรับตัว รวมถึงทำความเข้าใจการทอผ้าในรูปแบบที่แตกต่างไป แต่ทีมผู้สอนเองก็ได้ประสบการณ์การออกแบบและพัฒนาหลักสูตรในแง่มุมต่างๆ เช่นเดียวกัน
แม่หลวงทัญกานร์บอกว่าตนเองได้เรียนรู้เยอะมาก อย่างแรกคือการทำงานที่ไม่สามารถทำคนเดียวได้ ต้องมีทีมงานและมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง สองคือการไปถ่ายทอดความรู้ให้คนอื่น ผู้สอนต้องมีความรู้มีความชำนาญพอสมควรก่อน ส่วนที่เหลือถือเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน
“ยกตัวอย่าง วิทยากรที่เป็นพ่อครูแม่ครู ท่านชำนาญเรื่องกี่มือ แต่กี่เอวไม่ชำนาญ ก็ต้องปรับ หาคนที่สามารถปรับการใช้กี่มือไปใช้กับกี่เอวได้ แล้วอย่าคิดว่าสิ่งที่เราคิดหรือกระบวนการที่เตรียมมานั้นดีแล้วใช้ได้เลย คือไม่ใช่ว่าไปถึงก็สอนได้เลย
อย่างการนำหลักสูตรไปขยายผลในพื้นที่นี้ จริงๆ แล้วเราเข้าไปซึมซับในชุมชนเขาก่อนตั้งแต่ปีแรก เป็นการเตรียมความพร้อมชุมชน เราต้องไปแสดงความจริงใจให้เขาเห็น เรามาทำจริงนะ ไม่ได้มาเล่นๆ ให้เขาเห็นภาพว่าเมื่อเราร่วมงานกันแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเขาเอง
เวลาสอน เราต้องปรับตัวและมีการพูดคุยกัน ต้องออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน ต้องชัดเจนในการเขียนแผนงานร่วมกัน เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้สอนและผู้เรียน สิ่งสำคัญคือทำให้เขารู้สึกว่าอยากเรียนด้วย
ที่สำคัญต้องมีความยืดหยุ่นตลอด สมมติว่าวันนี้นัดผู้เรียน 9 โมง แต่บางทีกว่าผู้เรียนรู้จะมาถึง เพราะว่าเขาตื่นเช้ามาก็ต้องเอาวัวควายไปในสวน ต้องทำอาหารให้สามี ต้องเก็บผักให้เรียบร้อยก่อนถึงจะมาได้”
กุญแจของความสำเร็จจึงอยู่ที่การสร้างความเข้าใจและออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน ปรับตัวและยืดหยุ่น ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่จะเป็นสะพานเชื่อมก็คือ ‘การสื่อสาร’
“ถ้าเราต้องไปสื่อสารให้คนที่ฟังเราไม่รู้เรื่อง และเราก็ฟังเขาไม่รู้เรื่อง ต้องดูว่าอะไรคือองค์ประกอบที่จะช่วยให้เราทำงานตรงนี้ได้ เช่น ใครจะมาเป็นล่ามให้เรา ใครที่เขาให้ความเชื่อมั่น อย่างพื้นที่ตรงนี้ เราเลือกเพราะชุมชนมีโรงเรียนของ สกร. อยู่ มีครูที่คุยกับผู้เรียนได้ และผู้เรียนรวมถึงชุมชนก็ให้ความเชื่อถือ ให้ความเคารพ ขณะเดียวกันเราต้องเข้าไปทำความรู้จักกับผู้นำชุมชน ให้เขาเห็นถึงความตั้งใจ ขออนุญาตเขาในการเข้ามาทำงานในพื้นที่ เมื่อผู้นำชุมชนรับรู้ เห็นดีเห็นงาม เครือข่ายต่างๆ ที่เข้ามาหนุนเสริมก็จะมีความมั่นใจ แล้วตัวเราเอง เวลาเราเข้าไปก็ต้องเข้าไปแบบกลมกลืน ทำให้เขารู้สึกเหมือนเพื่อน เหมือนญาติ คอยถามสารทุกข์สุขดิบเขา”
สำคัญที่สุดคือเป้าหมายปลายทาง แม่หลวงทัญกานร์ย้ำว่า องค์ความรู้ที่นำเข้าไปสอนก็ไม่ใช่แค่การทอผ้า แต่เป็นการเสริมสร้างความรู้ที่จะสร้างความมั่นใจให้เขาพัฒนาตนเองต่อไปได้
“การทำงานต้องทำไปเป็นระบบพร้อมๆ กัน ไม่ใช่แค่สอนทอผ้า แต่สอนให้เขาเรียนรู้เรื่องอื่นที่เป็นองค์ประกอบไปด้วย เช่น คุณทอผ้า รู้ว่าทอผ้าทำยังไง ทอผ้าเสร็จได้ผลงานออกมาหน้าตาแบบนี้ เราทำให้เขาเห็นภาพและมั่นใจว่าทำออกมาแล้วโอเคใช้ได้ แต่การที่เขาจะขายของได้ ต้องชี้ให้เขาเห็นว่าต้องมีเรื่องราวต่างๆ จากชุมชน ต้องรู้ว่าจุดเด่นของชุมชนเราคืออะไร เพราะฉะนั้นการเล่าเรื่องราวต่างๆ จะทำให้เขาคิดและหันกลับมามอง แล้วเขาจะเห็นว่าเรื่องราวเหล่านั้นเป็นความรู้ทั้งนั้นเลย เป็นองค์ประกอบสำคัญ ต้องทำให้เขาเห็นให้ได้”
บทเรียนที่ 4 ความสำเร็จที่แท้จริง คือคุณค่าและความภูมิใจของผู้ร่วมเรียนรู้
ถึงวันนี้อาจกล่าวได้ว่าวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอยคือตัวอย่างพื้นที่เรียนรู้ที่ครบวงจร ทั้งการหนุนเสริมให้พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยกลายเป็นพ่อครูแม่ครูผู้ไม่เคยหยุดเรียนรู้ การเก็บรวบรวมองค์ความรู้และถ่ายทอดผ่านหลักสูตรการทอผ้าฯ รวมไปถึงการเปิดแหล่งผลิตผ้าทอเป็นแหล่งเรียนรู้การทอผ้าและการย้อมสีธรรมชาติให้กับคนทั่วไปที่สนใจ ซึ่งแน่นอนว่าวิทยากรก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือชาวบ้านที่เคยเป็นผู้ร่วมเรียนรู้นั่นเอง
“เราพัฒนาจากคนที่เริ่มเรียนรู้จนเดี๋ยวนี้เป็นวิทยากรได้หมดแล้ว ถ้ามีผู้ที่สนใจอยากเข้ามาศึกษาที่แหล่งเรียนรู้ของเรา ในกลุ่มก็จะมีการพูดคุยกันก่อน วางแผนเป็นกระบวนการขั้นตอน ซึ่งเรามีคอร์สที่เข้าไปส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับทีมวิทยากรซึ่งก็คือชาวบ้านในโครงการด้วย พอเขาได้รับการฝึกฝนไปเรื่อยๆ เขาจะเริ่มเรียนรู้ด้วยตัวเองว่าต้องทำอย่างไร และสุดท้ายเขาก็สามารถที่จะถ่ายทอดความรู้ต่างๆ เหล่านี้ออกไปยังผู้คนที่เข้ามาเรียนรู้ได้ แล้วก็ยังเป็นวิทยากรประจำหลักสูตรได้ด้วย”
สำหรับคนที่สนใจเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ผ้าฝ้ายเชิงดอย สามารถเดินทางไปที่ชุมชนได้เลยจะมีชาวบ้านในกลุ่มนำชม แต่ถ้าเป็นสถาบันการศึกษาหรือกลุ่มที่ต้องการให้มีการจัดกิจกรรมหรือการบรรยายพิเศษ แนะนำให้ติดต่อไปก่อน
“โดยส่วนใหญ่ผ้าทอก็จะเป็นแค่ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ แต่เราได้พัฒนาเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์ มีทั้งเสื้อผ้าสำเร็จรูป หมวก กระเป๋า แล้วก็ยังมีลายปักอื่นๆ ที่เสริมเข้าไปด้วย”
ในฐานะผู้ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับการพลิกฟื้นคืนคุณค่าให้กับมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นนี้ แม่หลวงทัญกานร์มองว่า คุณค่าความสำเร็จของการรวมกลุ่มผ้าฝ้ายเชิงดอยไม่เพียงรักษาภูมิปัญญา และแก้ปัญหาปากท้องให้คนในชุมชน แต่ยังยกระดับชาวบ้านสู่การเป็นวิทยากรเพื่อส่งต่อความรู้ให้อยู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน
“จากคนที่มาเรียนรู้กับเรา หรือว่าทำงานกับเราตั้งแต่ปีที่เราเริ่มก่อตั้งกลุ่ม จนมาถึงตอนนี้เขาสามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากคนรับจ้างมาทอผ้าเป็นอาชีพหลักได้ สิ่งที่น่าดีใจไม่ใช่แค่การสร้างอาชีพ เพราะวันนี้ทุกคนได้รับการยกย่องและเคารพนับถือ ว่านี่คือ พ่อครู แม่ครู เขาสามารถเป็นวิทยากรสอนคนอื่นต่อได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สร้างไม่ได้ง่ายๆ ทำให้ชาวบ้านทุกคนเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง”
และแน่นอนว่า ท้ายที่สุด…คนที่ภูมิใจไม่น้อยไปกว่าใครก็คือตัวแม่หลวงนั่นเอง
“จริงๆ มีหลายอย่างมากที่เราภูมิใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่สามารถดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมในเรื่องการแต่งกาย การส่งเสริมให้ทุกคนมองเห็นคุณค่าของตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนมีไม่เท่ากัน
เราจะมองคนรวยว่าเขามั่นใจ เพราะเขามีเงิน แต่เราจะไปสร้างความมั่นใจให้กับคนที่เขาด้อยโอกาสได้อย่างไร นั่นก็คือการสร้างจากตัวตนของเขาเอง เมื่อเขารู้จักคุณค่าของตัวเอง มันจะเด่นชัดออกมาที่ผลงาน เหมือนกับการที่เราปลูกพืชอย่างหนึ่ง เมื่อเราหว่านเมล็ดลงไป พอเราเห็นมันงอกงามออกมา นั่นคือความสำเร็จ และเราเกิดความภูมิใจ”