- วิชาถิ่นนิยม จากมหา’ลัยเถื่อน ห้องเรียนคือป่า ณ ตีนดอยนางอินเหลาและดอยหลวง เชียงดาว, ร้านกาแฟฮกหลง, สวนเกษตรออร์แกนิค กับ คุณมล-จิราวรรณ คำซาว เกษตรกรวัยสามสิบเกือบกลางที่มีนามสกุลพ่วงท้ายว่าจบปริญญาเอกสาขาจุลชีวิทยา
- course syllabus วิชาถิ่นนิยมบอกว่าจะพาไปให้เห็น-สัมผัส-ชิม-ฟังเสียง-รู้สึก กับการเดินทางของอาหารและชีวิตตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือธรรมชาติ ป่า อาหาร เห็นชีวิตของคนต้นทางและการทำงานที่ต้องหา ‘ประโยชน์ร่วม’ ของคนในท้องถิ่นให้เจอ และวิชานี้อยากทำให้เห็นว่า การทำให้ท้องถิ่นเป็นที่นิยม ก็ต้องมาจากความรื่นรมย์เสียก่อน
ภาพ: สุดารัตน์ สาโรจน์จิตติ
‘ถิ่นนิยม’ คำนี้มันแปลว่าอะไร จะเป็นการ romanticize ความเป็นชุมชนจนสวยงามเกินจริงรึเปล่านะ?
เราถามเอากับ คุณมล-จิราวรรณ คำซาว เกษตรกรวัยสามสิบเกือบกลางที่มีนามสกุลพ่วงท้ายว่าจบปริญญาเอกสาขาจุลชีววิทยา ขณะนั่งรถสองแถวเหลือง มุ่งหน้าเข้าป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง ตีนดอยนางอินเหลาและดอยหลวง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
ที่ถามอย่างนี้ก็เพราะเราและชาวคณะกว่าสิบชีวิตที่เดินทางมาจากหลายจังหวัดของเมืองไทย อาชีพของพวกเขาบ้างเป็นอาจารย์ในมหา’ลัย นักเคลื่อนไหวทำงานกับแรงงาน สื่อมวลชน นักการละคร และอื่นๆ ที่นั่งบนรถเหลืองให้ลมเย็นบนเชียงดาวตีหน้าอยู่นั้น นั่นก็เพราะเราลงทะเบียนในมหา’ลัยเถื่อน ในคาบสุดท้ายมาเรียนวิชา ‘ถิ่นนิยม’ กับเธอ
หากลองเสริชชื่อเธอในอินเทอร์เน็ต คุณมล – ผู้หญิงตรงหน้าที่แต่งตัวด้วยเสื้อเชิตยีนส์กับหมวกเข้าชุด คู่กางเกงสีดำรัดรูปขายาวที่เน้นการป้องกันแดดเป็นการเฉพาะ ในนั้นบันทึกว่า เธอกลับบ้านเกิดปี 55 ในฐานะเกษตรกร ขณะเดียวกันก็เริ่มลุยงานหลายอย่างตั้งแต่ จัดตั้ง “ทุ่งกับดอย” (Learning space) ศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร “ถิ่นนิยม” (working space) การทำงานกับเยาวชนในพื้นที่เรื่องการเรียนรู้ผ่านธรรมชาติโดยเฉพาะ และใช้ความเป็นนักวิทยาศาสตร์พัฒนาสมุนไพรและปุ๋ยชีวภาพให้ใช้ได้จริงและขายได้ในพื้นที่ ในฐานะผู้บริหารบริษัท ซีเอ็นเอ็กซ์ เฮลท์ตี้โปรดักส์ จำกัด ผู้พัฒนาวิจัย ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากวัตถุดิบเกษตรอินทรีย์
บันทึกไว้ก่อนว่า นามสกุลพ่วงท้ายนี้เราไม่เคยรู้มาก่อน ไม่มีใครแนะนำสักนิดว่า ‘ครู’ ของ ‘คลาสถิ่นนิยม’ ตรงหน้า จะมีประวัติและอาชีพ เยอะขนาดนี้
“ฮื่อ (พยักหน้า) โรแมนติกนะคะ ชีวิตที่ได้อยู่กับธรรมชาติ เห็นประโยชน์ร่วม ทำให้คนใช้ประโยชน์จากป่าได้มากที่สุด โรแมนติกค่ะ … ยังไง เดี๋ยวไปดูกันนะ” คุณมลอธิบายสั้นๆ แต่กำลังจะพาเราไปดูให้เห็นกับตายาวๆ ว่า ‘ถิ่นนิยม’ ในความหมายและสิ่งที่เธอทำในฐานะเกษตรกร นักขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อม และนักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ปริญญาตรีถึงเอก ในสาขาชีววิทยา และจุลชีววิทยา ว่ามัน… โรแมนติกขนาดไหน ในแบบไหน
ถิ่นนิยมวิชาแรก
ป่า น้ำ อากาศ อาหาร และหัวเชื้อจุลินทรีย์ใต้ต้นมะเดื่อยักษ์ที่ให้ความรู้สึกว่ามี ‘เจ้าที่’ สิงสู่อยู่
ลงจากรถเหลืองที่หน้าทางเข้าป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง ตีนดอยนาง เด็กๆ จาก ‘แก๊งค์ถิ่นนิยม’ ร่วม 10 คนยืนรออยู่ก่อนแล้ว คุณมลแนะนำว่านี่คือสมาชิก ‘แก๊งค์ถิ่นนิยม’ กลุ่มเยาวชนบ้านหัวทุ่ง เชียงดาว ที่คอยสร้างสรรค์กิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติเชื่อมกับวิถีเกษตรอินทรีย์ แก๊งค์ที่คุณมลชวนเข้าป่ามาเล่นและเรียนกับธรรมชาติตั้งแต่บางคนอยู่อนุบาล จนตอนนี้เด็กๆ อยู่ ม.ต้น ม.ปลาย กันหมดแล้ว
คุณมลพาเดินเข้าไปเปิดคลาสที่หน้าโตรกผาตีนดอยนาง ตรงจุดที่เรียกว่า “จุดน้ำออกรู” เธอเริ่มคลาสด้วยการเล่าว่า
“ปู่ของมลยังทันช่วงที่พื้นที่ป่าตรงนี้ถูกตัดจนเตียนหมด น่าจะเป็นเวลาเกือบร้อยปี ตอนนั้นสยามให้บริษัทอังกฤษชื่อบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่าเข้ามาสัมปทานไม้สักไม้เนื้อแข็งในเขตภาคเหนือ รวมถึงป่าบ้านหัวทุ่งเชียงดาวผืนนี้ด้วย สิ่งที่เกิดคือป่าหาย ไม่มีต้นไม้ เมื่อไม่มีต้นไม้ให้ความชุ่มชื้นดูดซับน้ำฝน ตาน้ำก็แห้ง ไม่มีน้ำให้ชาวบ้านเอาไปใช้เพาะปลูก ภาพนี้สร้างความเจ็บปวดและเป็นบทเรียนที่สาหัสให้คนในชุมชนเป็นอย่างมาก จนชาวบ้านและผู้นำสมัยนั้นต้องประชุมหารือ พูดคุยกันว่าต้องกันพื้นที่ป่าตรงนี้ไว้ให้มันโตและฟื้นตัว ใช้เวลานับยี่สิบ สามสิบปี มันจึงค่อยๆ ฟื้นจนตาน้ำเริ่มกลับคืนมา และมีต้นไม้เติบโตจนเป็นป่าในปัจจุบัน
“เรื่องประหลาดมีว่า ที่จริงตรงนี้เป็นภูเขาหินปูน น้ำที่ต้นไม้ดูดซับไว้จะไหลลงใต้ภูเขาและแทรกอยู่ตามโพรงถ้ำ และเก็บสะสมเอาไว้ แต่เราไม่อาจจะคาดเดาได้ว่ามีปริมาณมากน้อยแค่ไหน แต่ในทุกๆ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 9 ตามปฏิทินล้านนา ชาวบ้านจะมาทำพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ ขอขมาผีขุนน้ำที่ได้ล่วงเกิน และขอให้ผีขุนน้ำดูแลป่า ให้มีป่าและมีน้ำอุดมสมบูรณ์” คุณมลเล่า
ขณะที่จ๋อง-ปองจิต สรรพคุณ* สมาชิกกลุ่มละครมะขามป้อมและหนึ่งในคณะนักเรียนคลาสถิ่นนิยม ช่วยเสริมว่า “มีอยู่ปีหนึ่ง ขณะที่พระสวดทำพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ อยู่ดีๆ ชาวบ้านก็ได้ยินเสียง ‘ฮุกๆๆๆ’ เหมือนเสียงลมพายุออกมาจากโตรกผา ซักพักน้ำก็ไหลทะลักล้นออกมาจากถ้ำอาบโตรกผาเป็นน้ำตกสวยงาม ชาวบ้านเรียกตรงนี้ว่า ‘น้ำออกฮู’ ถ้าเรามาตรงนี้ในช่วงหน้าฝน โตรกตรงหน้าจะกลายเป็นน้ำตก สวยมาก”
“ธรรมชาติเค้าให้โอกาสเรา” คุณมลเสริม
*มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยระหว่างพี่จ๋อน กับ คุณมล คุณมลเล่าให้ฟังบนรถเหลืองว่า พี่จ๋อนเป็นครูสอนละครที่เป็นกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาทำงานทำละครกับเด็กๆ บนเชียงดาวและทำให้คุณมลเป็นเธอในวันนี้ และได้แรงบันดาลใจที่จะทำงานกับเด็กๆ ในชุมชนเรื่องการเรียนรู้เช่นปัจจุบัน
จากหน้าโตรกผา ขุนน้ำรู คุณมลพาคณะเดินลึกเข้าไปบนเส้นทางศึกษาธรรมชาติของป่าชุมชน เดินเข้าอีกนิดเพื่อชวนไปอาบป่า ดูต้นไม้ ดูสมุนไพร และสัมผัสธรรมชาติ และดูการบริการจัดการการใช้ประโยชน์ระหว่างคนกับป่า นั่นคือต้นกาแฟออแกนิคที่ปลูกแทรกตามไม้ป่า ที่กำลังวางแผนต่อยอดการตลาดให้ชุมชน ระหว่างทางกลับออกจากป่าคุณมลเล่าให้เราฟังต่อว่า…
“ชีวิตวัยเด็กของมลไม่ได้เกิดมาในช่วงวิกฤตป่าแบบสมัยนั้นนะ มลโตมา ป่าก็ฟื้นสมบูรณ์แล้ว มลชอบป่าเพราะปู่กับพ่อมักจะพาเข้ามาบ่อยๆ พาหมาเป็นสิบตัวเดินตามเป็นบอดี้การ์ดเข้ามาในป่าด้วย มลจึงเรียนรู้จะสื่อสารกับสัตว์ กับต้นไม้ กับธรรมชาติ รู้จักสมุนไพร เวลาไปเล่นกับเพื่อน เพื่อนล้มมีแผล เราเหมือนแม่หมอที่เสกให้เพื่อนหายได้ง่ายๆ ทันทีโดยเอาสมุนไพรใกล้ตัวที่ปู่สอน นั่นคือสาบเสือที่อยู่ตามข้างทาง สวน ไร่นา มาโปะ แอดวานซ์หน่อยก็ใช้เปล้าโปะไปที่แผล เลือดหยุดและไม่ต้องเสียตัง มันเท่มากเลยอะ (หัวเราะ) มลโตมาแบบนี้
“เวลาไม่ได้เข้าป่าก็ทำไร่ทำสวน พ่อแม่พาเกี่ยวข้าว คุณน้าคุณอาพาหากุ้ง หาปู หาหอยเก็บผักพื้นบ้านตามลำธาร ตรงนี้ทำให้เราฝึก senses หลายอย่าง ละเอียด เชื่อมโยงกับระบบนิเวศ ดิน น้ำ ป่า พืชพรรณ ใบไม้ สัตว์น้อยใหญ่ อารมณ์เหมือนเจ้าหญิง Disney เวลาคุยกับแมลงเลย (หัวเราะ)
“มันเป็นประสบการณ์ที่ฝังในความทรงจำเราว่าป่าและธรรมชาติมันสนุกมากนะ เราเลยอยากทำให้เด็กๆ กลุ่มนี้สนุกแบบที่เรารู้สึก ให้ความสนุกทำงานกับเด็ก” คุณมลเล่า
ซึ่งนี่คงเป็นคำตอบว่าทำไมเธอจึงมีทีมงานเป็น ‘แก๊งค์ถิ่นนิยม’ ที่พาเราเดินศึกษาป่าบ้านหัวทุ่งในวันนี้ รวมทั้งทุกภาพในเฟซบุ๊กส่วนตัวของคุณมล ก็จะมีเด็กๆ กลุ่มนี้ทำงานเป็นทีมไม่ห่างเฟรมด้วย
เดินมาถึงจุดที่ต้นกาแฟเรียงเป็นแถวตลอดข้างทางดินเดินเท้า ต้นกาแฟยืนต้นเรียงรายสลับไม้ป่า โชว์ผลกาแฟสีแดงบ้างเขียวบ้างขึ้นดกไปหมด กาแฟในพื้นที่ป่านี้เป็นกาแฟที่ชาวบ้านร่วมกับปลูกสำนักบริหารพื้นที่ 16 เพื่อกันไฟป่า เพราะถ้ามีต้นกาแฟก็มีรายได้ มีรายได้ชาวบ้านก็อยากดูแล เมื่อชาวบ้านดูแลป่า ไฟป่าก็จะไม่เข้ามาทำลายพื้นที่ตรงนี้
คุณมลบอกว่าให้เราลองเด็ดชิมดู หวานฝาดๆ คือรสชาติที่เรารับรู้และยังจำได้ ครูโอ๋-ผศ. ดร. สุกัญญา สมไพบูลย์ หัวหน้าภาคและอาจารย์ประจำภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่วันนี้เธอเป็นหนึ่งในคณะนักเรียนคลาสถิ่นนิยม ฟังบรรยายที่มาที่ไปของโครงการกาแฟกันไฟ พรางเด็ดผลกาแฟสุกแดงเข้าปากไปหลายผล เอ่ยปากบอกทุกคนว่ากาแฟสดๆ จากต้นรสชาติเหมือนผลไม้เลย ครูโอ๋หันไปถามเด็กๆแก้งค์ถิ่นนิยมด้วยความสงสัยว่าแล้วแบบไหนถึงเอาไปชงดื่มได้ เด็กๆ ช่วยกันตอบว่า “มันคือส่วนเมล็ดตรงนี้ที่พี่คายทิ้งนี่แหละครับ แต่ต้องเอาไปตาก ไปสี คั่ว และบด ถึงจะชงได้” เด็กๆ เป็นครูช่วยคุณมลตอบคำถามนักเรียนในคลาสอย่างผู้มีประสบการณ์
ขณะที่คุณมลเสริมว่า ผลกาแฟที่ทยอยสุกนี้ อีกไม่กี่อาทิตย์ชาวบ้านก็สามารถมาเก็บเพื่อแปรรูปและจำหน่ายได้แล้ว
“ป่าคือต้นทุน” คุณมลบอกเสียงชัด
“นอกจากป่าจะให้น้ำแล้ว ป่าต้องให้ประโยชน์อื่นแก่คนในชุมชนได้อีกด้วย สมัยก่อนประโยชน์ป่าอาจเป็นแค่การตัดไม้ หาของป่า สมัยนี้ถ้าบอกว่าตัดไม้ไม่ได้แล้วจะยังไงต่อ? ชาวบ้านต้องหาประโยชน์จากป่าในรูปแบบอื่น เราต้องช่วยชาวบ้านหาวิธีอื่นที่มีประโยชน์และที่ยั่งยืน การทำกาแฟเป็นหนึ่งในนั้น ไม่ใช่แค่ให้ชาวบ้านปลูก แต่ต้องสร้างสายพานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
“ต้องแปรรูปกาแฟเพิ่มมูลค่าให้ได้มากที่สุดบ่มกาแฟ คั่วโรงคั่ว ทำแบรนด์ ซึ่งเดี๋ยวตอนบ่าย ‘ถิ่นนิยม’ เราจะพาไปชิมกาแฟที่มาจากป่าตรงนี้กันที่ร้านกาแฟ ฮกหลง นะ” คุณมลบอกอย่างติดสนุกปนหลอกล่อให้นักเรียนคลาสนี้ติดตามสตอรี่ตอนต่อไป
ใจคนฟังลอยไปถึงร้านกาแฟชื่อดังแห่งเชียงดาวที่ว่า อยากเห็นว่าจากผลแดงๆ ตรงหน้า ถ้ากลายเป็นน้ำสีดำในถ้วยกาแฟ จะให้รสชาติอย่างไร แต่คุณมลยังไม่ยอมให้เราเดินออกจากป่า เรียกชาวแก๊งค์พาเดินต่อไปยังต้นมะเดื่อยักษ์ ซึ่งจุดนี้คุณมลบอกว่าเป็นจุดไคล์แมกซ์เลยก็ว่าได้
“ป่าคือต้นทุน คือธนาคารทรัพยากร ป่าเป็นแหล่งผลิตน้ำ ผลิตอากาศ ผลิตยาสมุนไพร ผลิตอาหาร เป็นที่ท่องเที่ยว บำบัด พักผ่อน นอกจากนี้ป่ายังเป็นธนาคารจุลินทรีย์สามารถเอาไปต่อยอดทำหัวเชื้อย่อยปุ๋ยใช้ในการเกษตรได้อีกด้วย ”
ต้นมะเดื่อที่อยู่ตรงหน้าสูงใหญ่จนต้องแหงนคอมอง กะด้วยสายตาอาจต้องแขนผู้ใหญ่ราว 10 คนโอบจึงจะรอบ คุณมลชวนให้พวกเราเข้าไปยืนใกล้ๆ และบอกว่า “ที่พามาต้นนี้เพราะอยากให้มาดูจุลินทรีย์ที่จะเอาไปทำหัวเชื้อย่อยปุ๋ยต่อ แล้วทำไมต้องมาเก็บถึงในป่า? นั่นก็เพราะในป่ามีความหลากหลายของจุลินทรีย์มากมาย อีกทั้งมีความคุ้นชินและทนต่อสภาพอากาศท้องถิ่น หัวเชื้อทำปุ๋ยที่ขายตามท้องตลาดใช้ได้ก็จริงอยู่แต่ดีที่สุดก็ต้องเป็นจุลินทรีย์ที่เก็บในท้องถิ่นนี่แหละ
“วิธีเก็บ ให้เอามือจับไปที่ใบไม้กิ่งไม้ย่อยสลายเป็นผงดำทับถมอยู่ใต้โคนต้นไม้ หัวเชื้อจะอยู่โคนต้นที่มีร่มเงาพรางแสงแดด จับแล้วจะรู้สึกเบาและร่วนกว่าดินร่วนทั่วไป ดมดูแล้วกลิ่นต้องคล้ายเห็ด ถ้าสัมผัสและกลิ่นเป็นแบบนี้คือ ‘ใช้ได้’ ส่วนวิธีสังเกตว่าหัวเชื้อจากต้นไหนให้คุณภาพดีที่สุด ให้สังเกตว่าเวลาเราเข้าใกล้ต้นนั้นแล้วรู้สึกขนลุกเหมือนมีเจ้าที่สิงอยู่ ถ้าใช่… ต้นนั้นดีที่สุด
ความขนลุกที่ว่า หมายถึงอุณหภูมิ อากาศ ความชื้น ประจุบวกลบ พลังงานที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่อยู่ ณ จุดนั้น ต้องให้ความรู้สึกขนลุกแบบนั้นถึงจะใช้ได้”
คุณมลพูดจบก็ทำเราขนลุกเพราะบรรยากาศใต้ต้นมะเดื่อยักษ์เป็นแบบนั้นจริงๆ ด้วย
ถิ่นนิยมวิชาที่สอง
ก่อนจะเป็นที่ ‘นิยม’ ต้องทำให้ท้องถิ่นมีความรื่นรมย์เสียก่อน
“การจัดการเรียนรู้เพื่อนำสิ่งที่รู้นั้นไปเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างมันต้องใช้คนเยอะนะ แล้วการใช้คนเยอะมาทำงาน คนที่มาเค้าต้องมีผลประโยชน์ หลักๆ เลยคือเงิน แต่ถ้าไม่ใช่เงินก็ต้องเป็น ‘ประโยชน์ร่วม’ การค้นให้เจอ ‘ประโยชน์ร่วม’ มันไม่ใช่แบบ ‘ฉันจะเอาแบบนี้ พวกเธอมาทำกับฉัน’ ไม่ใช่ ต้องใจกว้าง ต้องพยายามไปคุยกับคนเยอะๆ หาประโยชน์ร่วมระหว่างเรากับคนอื่นให้ได้ ซึ่ง ทุกคนมีความเห็นแก่ตัวหมดนะ ทุกคนจะคิดถึงเรื่องของตัวเอง คิดถึงความสุขของตัวเอง แล้วความสุขของเราที่ตรงกับของเขามันอยู่ตรงไหน นั่นแหละมันต้องหาจุดร่วมกันนี้ให้เจอ
“ประโยชน์ร่วมของเชียงดาวคืออะไร? คนเชียงดาวรักและเคารพดอยหลวงเชียงดาวมาก แล้วจะรักษาธรรมชาติของดอยหลวงตรงนี้ไว้เพื่ออะไร? บางคนอาจเอาจุดนี้ไปทำทัวร์ท่องเที่ยว บางคนอยากแค่กลับบ้านมาดูมาพักผ่อน บางคนอยากมีวิวดีๆ ไว้วาดภาพ บางคนอยากมีดอยหลวงเพราะว่าอยากมีธรรมชาติไว้เดินป่าเรียนรู้ นั่นแปลว่าเป้าร่วมของเราคือการมีไว้ซึ่งดอยหลวงเชียงดาวถูกมั้ย?”
คำถามคือ ไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้คนเดียว นักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำหมู่บ้าน แม้มีอำนาจในมือก็ใช่ว่าจะทำทั้งหมดนี้ได้
“ต้องมีบารมี” คุณมลตอบ
บารมีที่ว่าไม่ใช่อำนาจ ไม่ใช่ยศ หรือตำแหน่งการเมืองใด และไม่ใช่เพียงปริญญา 3 ใบที่ตั้งในบ้าน คุณมลบอกว่าเป็นเพราะความดีที่ทำ การทำประโยชน์ร่วมกับคนในพื้นที่มาตั้งแต่เล็กจนโตช่วยงานในพื้นที่มาแต่เล็กแต่น้อย ชาวบ้านทุกคนเลยเห็นและไว้ใจว่าคนนี้ใช้การได้ ทำให้การกลับบ้านในฐานะเกษตรกรที่ใช้วิชาการมาพัฒนาชุมชน การทำงานกับเด็กๆ ในหมู่บ้าน บูรณาการทำงานกับภาครัฐ ทั้งหมดนี้จึงได้รับความไว้วางใจในฐานะผู้นำเกษตรกรคนรุ่นใหม่ ในการเปลี่ยนเกษตรเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร แต่เคล็ดลับการขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อม คุณมลไม่ได้ทำด้วยการไปแลคเชอร์ชาวบ้านหรือเด็กๆ สิ่งที่ทำคือการให้คุณค่าภูมิปัญญาผู้ใหญ่ เคารพในภูมิปัญญาการอนุรักษ์แบบท้องถิ่น ร่วมกับการนำมาออกแบบกิจกรรมจัดประสบการณ์ ใช้ ‘ความสนุก’ และ ‘รื่นรมย์’ เข้ามาทำงานแทน
“การเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญนะ แต่การเรียนรู้ที่ว่าก็ไม่ใช่แค่มานั่งแลคเชอร์ ตัวเราเองก็ไม่เคยชอบการเรียนแบบแลคเชอร์เลย อย่างที่บอกว่าเราโตมากับป่า เราเลยชอบและเชื่อว่าจะเอาเรื่องกิน-เที่ยว-อยู่ มาทำและสร้างประสบการณ์ให้ฝังเข้าไปใน memory ของคน สร้างการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนเราให้ลุกขึ้นมาพัฒนาอะไรสักอย่าง
“ใช้ senses ทั้งหมดของเราให้เป็นประโยชน์ หู-ตา-จมูก-ปาก-สัมผัส นั่งดูเค้า นั่งฟังเค้า แค่ชิมเราก็รู้ว่าอันนี้ต่างหรือไม่ต่าง เราชอบใช้ senses พวกนี้มาจัดเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องง่าย และเราจะใช้เด็กเป็นตัวชี้วัด ถ้าเราอธิบายเรื่องจุลินทรีย์ เรื่องธรรมชาติในเชิงวิทยาศาสตร์แล้วเด็กเข้าใจ คนที่ไม่ใช่สายเดียวกับเราก็จะเข้าใจง่ายขึ้นเช่นกัน”
ปีที่แล้วเราจึงได้เห็นคุณมลร่วมกับ แพรี่พาย-อมตา จิตตะเสนีย์ บิ้วตี้บล็อกเกอร์ชื่อดัง สื่อสารเรื่องการเรียนรู้สีจากธรรมชาติแล้วมาสกัดทำเป็นเป็นสีแต่งหน้าจากธรรมชาติหรือแม้แต่ทำงานร่วมกับเชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ ผู้ชนะรายการ Top Chef Thailand คนแรก ทำป๊อบอัพโปรเจค โดยชวนเชฟจากโรงแรมในเชียงใหม่ทำโครงการ Jiang Mai Organic จัด Chef Table อาหารตามฤดูกาลที่มาจากป่าบนเชียงดาว โดยมีเด็กๆ แก้งค์ถิ่นนิยมเป็นผู้ช่วยกันจัดหาวัตถุดิบตามฤดูกาลในชุมชน แนะนำวัตถุดิบให้กับเชฟและแขกที่มารว่มรับประทานอาหาร
ในคำว่า ‘ถิ่นนิยม’ ต้องเป็นเฉพาะคนเชียงดาวโดยกำเนิดรึเปล่า เราเห็นคนเชียงดาวอพยพขึ้นมาอยู่เยอะมาก คุณคิดถึงประเด็นนี้อย่างไร? – ที่ถามแบบนี้เพราะเรายังสงสัยในความหมายของคำว่า ‘ถิ่นนิยม’
“พี่ยุทธ เจ้าของร้านกาแฟฮกหลงไม่ใช่คนเชียงดาว แต่เป็นคนใต้ที่รักและขึ้นมาที่นี่ พี่ๆ ที่มะขามป้อมส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่คนเชียงดาว หมายถึงว่ามันไม่เกี่ยวหรอกค่ะว่าจะเป็นคนเชียงดาวแท้ๆ หรือไม่ คนเชียงดาวที่ไม่ได้รักเชียงดาวก็มี การที่เราเป็นคนชอบคุยกับคนแปลกๆ ใหม่ๆ ได้แชร์ไอเดียกัน ได้รู้ว่าเค้าย้ายมาเพราะอะไร การที่เราเปิดใจเปิดรับคนใหม่ๆ ทำจะให้เราได้เจอคอนเนกชันที่จะมาร่วมพัฒนาเชียงดาวด้วยกัน เราเป็นคนท้องถิ่น เราอย่าตั้งแง่ว่า ‘เฮ้ย มาคุยกับเราเพราะอยากซื้อที่แค่นั้น’ มันไม่ใช่แบบนั้น เราไม่สามารถจำกัดไม่ให้คนมาซื้อที่ได้ มันมีคนใหม่เข้ามาอยู่แล้ว แต่จะอยู่กันยังไงมากกว่า ถึงบอกว่าเราต้องกลับไปที่ ‘ประโยชน์ร่วม’ แล้วกลายเป็นว่าคนใหม่ๆ ที่เข้ามาจะเป็นกำลังสำคัญในการทำงานขับเคลื่อนเชียงดาวด้วยนะ” คุณมลเล่า
ต้องขีดเส้นใต้ไว้ว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการใช้ ‘ความรื่นรมย์’ เข้ามาทำงานเพื่อยกระดับความเป็นท้องถิ่นให้กลายเป็นที่นิมยมขึ้นมาโดยไม่ต้องแลคเชอร์
ถิ่นนิยมวิชาสุดท้าย:
‘วันหนึ่งเชียงดาวจะเป็นพื้นที่พื้นที่เกษตรอินทรีย์’ และ ครูธรรมชาติแก๊งค์ถิ่นนิยม ที่ทำให้เห็นว่า เกษตรกรเป็นอาชีพที่เป็นไปได้
หลังไปกินข้าวแต๋นโบราณสูตรคุณยาย(สุดขึ้นชื่อ)ที่บ้านคุณมล จิบกาแฟที่ร้านฮกหลงและชีสเค้กที่ใช้บลูเบอร์รี่ออร์แกนิค เราเดินทางมาปิดคลาส ‘ถิ่นนิยม’ กันที่สวนบัวชมพู ณ จอมคีรี ของคุณแหม่ม-ศรัณยา กิตติคุณไพศาล พื้นที่กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรและพื้นที่เกษตรออร์แกนิคใหญ่ของเชียงดาว เพาะปลูกตั้งแต่ข้าว กุหลาบ ดอกเก๊กฮวย อัญชัญ ซึ่งดอกไม้ทั้งสามชนิดนี้ได้นำมาอบและแปรรูปเป็นชาดอกไม้ออร์แกนิคเพื่อจำหน่าย
“ทำเชียงดาวเป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์” คุณมลพูดเสียงชัดและว่า การค่อยเปลี่ยนพื้นที่และสร้างผลผลิตได้จริง เดินทางมาได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว
“เราไม่กลัวนายทุนเลยนะ เพราะการทำงานในพื้นที่เกษตรออร์แกนิคนี่ต้องใช้คนตัวเล็กๆ เยอะมาก และเราทำได้ คนที่เข้ามาก็เข้มแข็งโดยธรรมชาติ เราทำให้เขาเห็นได้ว่าเปลี่ยนแล้วมันจะมีดอกผลอะไรตามมาบ้าง เราได้ประโยชน์อะไรจากมัน ไม่กลัวเลย” คุณมลพูดขณะหันหน้าเข้าหาสวนกุหลาบออร์แกนิคสุดลูกหูลูกตา
ก่อนจากกันไปจริงๆ คุณมลพาเรามาลองชิมชาเก๊กฮวย อัญชัญ และกุหลาบที่เราเพิ่งลงไปเดินและฟังการเปลี่ยนแปลงของคนในพื้นที่เรื่องเกษตรออร์แกนิค เตรียมสไลด์ฉายสรุปให้เห็นภาพอีกหนึ่งงานสำคัญของเธอ นั่นคือการเป็น ทีมแก๊งค์ถิ่นนิยม เป็นพี่ใหญ่ที่ชวนเด็กๆ เข้าป่า ลงนา เที่ยวป่า ทำกิจกรรมต่างๆในชุมชนรวมถึงไปทุกที่ที่เกษตรกรนักวิชาการคุณมลไป
“ปี 60 มลสมัครเข้าโครงการ ‘เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด’ จัดโดย มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ดีแทค และ กรมส่งเสริมการเกษตร ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรแค่คิดว่าถ้าต้องทำงานนี้ก็ควรต้องทำเป็นเครือข่าย ไปหาเครือข่าย วันที่ประกาศผลว่าเรามีชื่อเข้าชิงและให้เดินทางไปรับรางวัลที่กรุงเทพฯ เขาให้เราเดินทางไปกับผู้ติดตามอีก 1 คน แต่เรารู้สึกว่าเด็กๆ ที่ทำกับเราเค้าเป็นทีมเรา ร่วมทุกข์ร่วมสุขในการพัฒนาบ้านเกิดมาด้วยกัน เค้าควรอยู่ตรงนั้น เงินรางวัลอันดับที่น้อยที่สุดที่มลจะได้คือ 30,000 บาท ตอนนั้นคิดแค่ว่ามันพอเป็นเงินที่พาเด็กๆ ขึ้นรถไฟไปกันได้ …งั้นไปกัน เราจึงยกทีมเด็กๆ แก๊งค์ถิ่นนิยมไปทั้งหมด 7 คน รวมคุณอาเป็นผู้ติดตามช่วยดูแลเด็ก 1 คน สรุปทีมเราไปรับรางวัลด้วยกัน 9 คน
“ตอนจะประกาศผล เขาให้เรา กับ ผู้ติดตามเข้าไปในห้องประกาศผลได้อีก 1 คน เราจึงนัดให้เด็กๆ ไปแอบเข้ามาดูพิธีประกาศตรงประตูหลัง และมาแอบหลบดูที่ขอบกั้นฉากหลังงานแบบเงียบที่สุด กลัวคนจับได้เพราะเราไม่ได้แจ้งใครว่าจะเอาเด็กๆ มา ทันทีที่ประกาศรางวัลว่าเราได้ที่ 1 มีเสียงเฮมาจากข้างเวที ใจหายเลย ไหนตกลงกันแล้วว่าต้องเงียบ หันไปอีกทีเห็นเด็กๆ นั่งบนเก้าอี้เรียบร้อย เจ้าหน้าที่เห็นเด็กๆ แอบอยู่เลยหาเก้าอี้มาให้นั่ง
“ไม่ใช่แค่เวทีนี้นะคะ แต่กับการพาเด็กๆ ไปกับเชฟพี่ตาม พาไป chef table ไปกับพี่แพร (คุณแพรี่พาย) เพราะอยากให้เค้าเห็นว่าการเป็นคนท้องถิ่น เป็นเกษตรกร มีองค์ความรู้ภูมิปัญญาบ้านๆ มันเจ๋งและเท่ขนาดไหน มันไม่ได้เป็นองค์ความรู้ที่เชย หรือเป็นอาชีพที่ถูกดูถูก มลอยากให้เค้าได้อยู่และเห็นคุณค่า และร่วมภูมิใจไปกับทุกช่วงเวลาที่ดีแบบนี้ด้วยกัน” คุณมลยิ้ม
ถิ่นนิยม จะกลายเป็นการ romanticize ความเป็นอยู่ของท้องถิ่นให้ดูโรแมนติกเกินจริงมั้ย คำถามนี้มันย้อนกลับมาที่คนตั้งคำถามอย่างฉันแล้วล่ะว่า เวลาพูดถึงชุมชนแล้วมันให้ภาพเป็นแบบไหน แต่กับคลาสนี้ คุณมลพาให้เห็นเชียงดาวในมุมที่คนในท้องถิ่นที่หาและเห็น ‘ประโยชน์ร่วม’ ใช้ประโยชน์จากท้องถิ่น เห็นคุณค่า เรียนรู้และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนามันได้
วันที่ต้องเดินทางออกจากเชียงดาว ในความทรงจำเรายังจำได้ถึง รูป-รส-กลิ่น-สัมผัส-ความรู้สึก ตอนที่เดินอยู่ในป่าและทัวร์ไปเกือบทั่วดอยเชียงดาว ในความคิดมีอยู่สองก้อนใหญ่ๆ คือ หนึ่ง-เราอิจฉาเด็กๆ ที่มีครู พี่ เพื่อน หัวหน้าแก้งค์ที่พาไปมีประสบการณ์หลากหลายโดยเฉพาะในป่าอย่างที่คนโตมาในเมืองอย่างชั้นไม่เคยมี ไม่เคยถูกฝึกให้ละเอียดและเชื่อมกับธรรมชาติจริงจังเช่นนั้น เราอยากเป็นคนละเอียดและมีทักษะพิเศษแบบนั้นบ้าง
สอง-อยากให้มีคลาสถิ่นนิยมแบบนี้ในพื้นที่อื่นๆ อีก เบื่อแล้วจะเรียนเรื่องสิ่งแวดล้อมในห้องเรียนหรือมีประสบการณ์ในห้างที่มีแต่ความหนาวจากแอร์คอนดิชัน ถ้ามีวิชาแบบนี้เยอะๆ ก็คงดี