- Stand By Me เป็นภาพยนตร์แนว Coming Of Age สัญชาติอเมริกันที่ดัดแปลงจากนวนิยายเรื่อง The Body ของสตีเวน คิง ราชาแห่งนวนิยายแนวสยองขวัญ
- ภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวของแก๊งเด็กชายวัย 12 ปีที่ชวนกันออกเดินทางเพื่อค้นหาศพของเด็กที่ถูกรถไฟชน โดยหวังว่าการค้นพบนี้จะทำให้พวกเขากลายเป็นฮีโร่และได้รับเหรียญกล้าหาญ
- สิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังคงอยู่ในใจใครหลายๆ คน คือการที่ตัวละครหลักต่างมีแผลใจที่เกิดขึ้นจากผู้ใหญ่ แต่การมีเพื่อนที่รักและความเอาใจใส่ก็ช่วยให้วัยเด็กของพวกเขาไม่โหดร้ายจนเกินไป
หนึ่งในสิ่งที่ผมรู้สึกเสียดายและเสียใจที่สุดตอนเป็นเด็กคือการที่ผมถูกผู้ใหญ่หลายคนบังคับให้ผมต้องเป็น ‘เด็กดี’ ในแบบที่พวกเขาต้องการ
แต่ ‘เด็กดี’ กลับไม่ได้แปลว่าเด็กต้องมีนิสัยดีหรือมีน้ำใจโอบอ้อมอารี แต่เป็นเด็กที่เรียนเก่งในวิชาหลักอย่างคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เพื่อโอกาสในการต่อยอดไปยังอาชีพยอดฮิตอย่างพวกหมอ วิศวะ หรือแม้แต่เจ้าของกิจการในอนาคต
อันที่จริง การเรียนเก่งในวิชาเหล่านั้นก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แถมอาชีพที่ผมกล่าวมาต่างก็ยอดเยี่ยมในแบบของตัวเองทั้งนั้น เพียงแต่สิ่งที่ผมชื่นชอบและถนัดกลับไปขัดแย้งกับค่านิยมของพ่อแม่ เป็นเหตุให้ผมถูกกดดัน เหน็บแนม และบังคับให้เดินตามรอยของพี่ชายที่ดันโชคดีและชอบในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการมาตลอดชีวิต
แม้จะไม่เหมือนกันนัก แต่ ‘กอร์ดี้’ เด็กอายุ 12 ปี จากภาพยนตร์ปี 1986 เรื่อง Stand By Me ก็ชวนให้ผมอดไม่ได้ที่จะรู้สึกเสียดายโอกาสต่างๆ ในวัยเด็กตั้งมากมาย พร้อมกับตั้งคำถามในใจว่า หากวันนั้นพ่อแม่ไม่บังคับผม แถมยังช่วยสนับสนุนให้ผมได้เติบโตไปในเส้นทางของตัวเอง วันนี้ผมจะมีความสุขหรือทุกข์ใจกับวัยเด็กน้อยกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ เพราะกว่าผมจะสามารถยืนยันความฝันเพื่อกลับมาเป็นและทำในสิ่งที่ผมถนัดได้ อายุของผมก็ล่วงเลยเข้าสู่เลข 3 ไปแล้ว
กอร์ดี้เป็นลูกชายคนเล็กที่พ่อแม่ไม่ค่อยให้ความสำคัญแถมถูกเลี้ยงแบบมองข้ามตั้งแต่เด็ก เพราะเดนนิสพี่ชายของเขาเป็นนักอเมริกันฟุตบอลดาวรุ่งชื่อดังที่บรรดาแมวมองทีมดังต่างหมายตัวเขาไปร่วมทีม ดังนั้นไม่ว่ากอร์ดี้จะพูดหรือทำอะไรก็ดูเหมือนจะไร้ตัวตนในสายตาของพ่อแม่เสมอ ซึ่งภาพยนตร์ก็จำลองภาพดังกล่าวผ่านฉากบนโต๊ะกินข้าวที่พ่อแม่เอาแต่คุยกันเรื่องพี่ชายโดยไม่สนใจกอร์ดี้ที่พยายามขอให้พ่อแม่ช่วยส่งจานมันฝรั่งมาให้ หรือตอนที่กอร์ดี้ถามแม่เรื่องกล่องอาหาร แม่กลับไม่คิดจะตอบอะไรเขาสักคำ
“ฤดูร้อนนั้น ผมกลายเป็นเด็กล่องหน ในเดือนเมษายน พี่ชายผม เดนนิสตายในอุบัติเหตุรถชน เวลาผ่านไปสี่เดือน ทว่าพ่อแม่ผมยังไม่สามารถทำใจได้”
แม้การสูญเสียมักสอนให้เราตระหนักถึงความสำคัญของคนที่ยังมีชีวิต แต่พ่อแม่ของกอร์ดี้กลับยังคงเฉยชากับเขาเหมือนเดิม โดยพ่อมักคิดว่ากอร์ดี้เป็นเด็กไม่เอาไหน วันๆ เอาแต่เขียนนิยายแต่งเรื่องที่พ่อเองก็ไม่รู้ว่ามันดียังไง แถมยังไปคบกับ ‘คริส’ เด็กที่ถูกชาวเมืองตราหน้าว่าเป็นหัวขโมย
ตอนที่กอร์ดี้กับเพื่อนๆ ชวนกันไปตามหาศพของเด็กชายในป่า เพื่อหวังจะเป็นฮีโร่ที่คนยกย่อง กอร์ดี้กลับดูเป็นคนที่เงียบๆ ไม่ค่อยร่าเริงเมื่อเทียบกับเพื่อนๆ ของเขา แถมยังดูมีท่าทีของคนที่แบกความหนักอึ้งบางอย่างไว้ในใจ ซึ่งภาพยนตร์ก็ค่อยๆ อธิบายถึงความรู้สึกภายในของเขาผ่านฉากต่างๆ เช่น ตอนนอนค้างคืนในป่า…กอร์ดี้ฝันว่าอยู่ในงานศพของพี่ชายโดยพ่อหันมามองเขาและบอกว่าควรจะเป็นเขาต่างหากที่ต้องตาย หรือฉากพบศพเด็กตายตอนท้ายเรื่อง…กอร์ดี้กลับนั่งร้องไห้รำพึงถึงพี่ชายที่จากไป ซึ่งทั้งสองฉากนี้ทำให้ผมเดาได้ว่าสภาพจิตใจของกอร์ดี้นั้นแย่มากๆ แถมยังจมอยู่กับความรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่รักและที่ต้องการของพ่อ
“ทำไมเดนนิสต้องตาย ทำไม มันน่าจะเป็นฉัน ฉันมันไม่มีอะไรดี พ่อพูดอย่างนั้น (ร้องไห้) ฉันมันไม่ดี เขาเกลียดฉัน พ่อฉันเกลียดฉัน เขาเกลียดฉัน โอ้…ให้ตายเถอะพระเจ้า”
สำหรับผม กอร์ดี้เปรียบได้กับตัวแทนของเด็กที่ถูกมองข้าม แม้พี่ชายของเขาจะตายไปแล้วแต่พ่อแม่ก็ไม่เห็นความสำคัญของเขา โดยเฉพาะการที่พ่อแม่ไม่เคยสนใจที่จะรู้สักนิดว่าเขามีทักษะด้านการเขียนที่มากกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน เพราะในหัวของพ่อแม่…การมีลูกเป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลคือเรื่องน่ายินดี ส่วนการเขียนอาจเป็นแค่เรื่องเล่นๆ สนุกๆ ของพวกเด็กๆ
สิ่งที่ผมเห็นใจกอร์ดี้มากๆ คือการที่เขาขาดการนับถือในตัวเอง เขาไม่รู้สึกภาคภูมิใจในพรสวรรค์ของตัวเอง ไม่กล้าแม้แต่จะฝัน แถมยังมักอ้ำๆ อึ้งๆ เวลาถูกถามว่าถนัดทำอะไร
ซึ่งผมเชื่อว่าปัจจัยหลักที่ทำให้กอร์ดี้ไม่รู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองคือวิธีแสดงออกของพ่อแม่ที่ไม่กระตือรือร้นหรือยินดียินร้ายอะไรกับความสามารถของเขา
ไม่นับรวมกับการที่พ่อแม่ต่างก็สนใจแต่เรื่องพี่ชาย รวมถึงการเปรียบเทียบไลฟ์สไตล์ของลูกสองคน (เช่น การคบเพื่อน) ล้วนแต่บั่นทอนความนับถือตนเองของกอร์ดี้ให้ลดลง เหมือนตอนที่คริสชื่นชมความสามารถของกอร์ดี้ในฐานะนักเขียน แต่กอร์ดี้กลับตอบว่า “ช่างมันเถอะ ฉันไม่อยากเป็นนักเขียน มันเป็นอะไรที่งี่เง่าและเสียเวลาเปล่าๆ!” ซึ่งผมเชื่อว่ากอร์ดี้มองตัวเองแบบนี้เพราะพ่อของเขาไม่ยอมรับพรสวรรค์ของเขา
นอกจากความโหดร้ายที่กอร์ดี้ต้องเผชิญ จุดที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ดีต่อใจคงเป็นการที่ตัวละครเด็กต่างมีบาดแผลทางใจแต่พวกเขาก็ช่วยเยียวยาความรู้สึกของกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นกอร์ดี้ที่เชียร์ให้คริสตัดสินใจเรียนต่อโรงเรียนมัธยม หรือการที่คริสให้กำลังใจกอร์ดี้และเตือนให้เขาตระหนักถึงพรสวรรค์ที่พระเจ้าประทานให้แก่เขา
“นายจะเป็นนักเขียนที่ดีในวันหนึ่งกอร์ดี้…ฉันรู้พ่อนายรู้สึกยังไงต่อนาย เขาไม่สนใจนายเลย เขาสนแต่เดนนิสและไม่ต้องพยายามบอกฉันเป็นอย่างอื่น นายยังเด็กกอร์ดี้ ฉันอยากเป็นพ่อนายจริงๆ นายจะไม่ได้พูดไปทั่วว่าจะลงเรียนวิชาช่าง ถ้าฉันเป็นพ่อนาย
มันเหมือนพระเจ้าประทานอะไรให้นาย เรื่องต่างๆ ที่นายแต่งขึ้น และท่านกล่าวว่า “นี่สำหรับลูก จงพยายามอย่าสูญเสียมันไป” แต่เด็กๆ สูญเสียทุกอย่าง เว้นแต่จะมีใครคอยดูแลพวกเขา และถ้าพ่อแม่นายไม่เอาไหนในหน้าที่นั้น บางทีฉันก็ควรจะทำให้”
นี่เป็นประโยคที่ผมชอบมากที่สุดในภาพยนตร์ อาจเพราะพ่อแม่ของผมไม่เคยยอมรับและเปิดใจให้กับความสามารถของผม แถมยังชอบวิจารณ์ผมในลักษณะที่ทำให้หมดกำลังใจจนผมกลายเป็นคนที่ขาดความมั่นใจ แต่โชคดีที่ผมยังมีพี่ชายที่แม้จะเป็นลูกในอุดมคติของพ่อแม่ทุกอย่าง แต่พี่กลับเข้าใจสิ่งที่ผมเป็น ทั้งยังคอยสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้ผมได้ทำในสิ่งที่รัก ทำให้ผมรู้สึกมีพลังใจที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าโดยไม่ยอมให้คำพูดลบๆ ของใครในอดีตมาฉุดรั้งไม่ให้ผมได้ทำในสิ่งที่หัวใจของผมปรารถนา
อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่ามีคนมากมายที่เจอเรื่องราวคล้ายกับกอร์ดี้ ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเด็กที่เจ็บปวดเพราะผู้ใหญ่ และอาจไม่ได้โชคดีหรือเข้มแข็งพอที่จะยืนหยัดในความฝันของตัวเอง เพียงเพราะถูกพ่อแม่บังคับให้เป็นลูกในอุดมคติของตัวเอง ซึ่งบ่อยครั้งอุดมคตินั้นได้กลายเป็นมายาคติที่ปิดกั้นทำลายความสามารถของเด็กไม่ให้เปล่งประกาย จนทำให้พรสวรรค์ที่มีนั้นสูญเปล่าและดับสลายไปในวัยเยาว์