- โรงเรียนหิ่งห้อย มีแกนหลักคือการใช้ธรรมชาติมาบูรณาการร่วมกับหลักสูตรการเรียนรู้ ผสมผสานความรู้ด้านศิลปะ ทั้งศิลปะการแสดง ละครสร้างสรรค์ เพื่อให้เด็กมีอารมณ์ร่วม และสนุกสนานไปกับการเรียนรู้
- คุยกับ แม่จูน-วรัญญา สุนทรแต คุณแม่ลูกสองผู้สร้าง ‘โรงเรียนหิ่งห้อย’ โดยเป้าหมายเพื่อให้เด็กๆ ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ให้เด็กค้นหาเป้าหมายและพลังของตัวเองเจอ เพื่อเปล่งประกายออกมาในแบบของตัวเอง
- “เราพยายามทำให้เด็กๆ ทุกคนเชื่อว่าพลังที่เขามีนั้นสําคัญกว่าการประสบความสําเร็จเป็นชื่อเสียงเงินทองเสียอีก แต่สิ่งนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยถ้าเราไม่แข็งแรงพอ วัยเด็กคือวัยที่สําคัญที่สุดที่จะก่อร่างสร้างตัวให้เด็กสามารถหาแพสชันของตัวเอง และเปล่งประกายในเวอร์ชันที่ดีที่สุด”
“ถ้าเปรียบเทียบเด็กเป็นต้นไม้ แล้วไม่ได้รับแสงและออกซิเจน เขาจะสามารถโตในโลกนี้ได้ยังไง เพราะเด็กก็เป็นหนึ่งในสรรพสิ่งของธรรมชาติ ดังนั้นต้นไม้ต้องการแสงเพื่อเติบโตยังไง เด็กๆ เองก็ต้องการเช่นกัน”
ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีหมุนไปอย่างรวดเร็วและไม่มีทีท่าจะหยุดนิ่ง หลายหลักสูตรการศึกษาสมัยใหม่จึงเน้นหนักไปที่การเรียนรู้เทคโนโลยี เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กๆ ในอนาคต
แต่ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ แม่จูน-วรัญญา สุนทรแต คุณแม่ลูกสองผู้มีความคิดที่ต่างออกไป ได้สร้าง ‘โรงเรียนหิ่งห้อย’ หรือ ‘Firefly Forest School’ โรงเรียนเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในซอยลาดพร้าว 35 กลางใจเมืองอันวุ่นวาย แต่กลับมีบรรยากาศที่อบอุ่น เต็มไปด้วยธรรมชาติ มีสนามหญ้ากว้างขวาง ฟาร์มไก่ และบ่อน้ำที่เงียบสงบ ที่เธอพยายามสร้างขึ้นมาให้เด็กๆ ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติและได้เรียนรู้จากสภาพแวดล้อมจริง
โรงเรียนแห่งนี้เกิดขึ้นจากความรักของแม่จูนที่มีต่อ ‘น้องกานติ’ ลูกชายคนแรก โดยพยายามหาการศึกษาที่เหมาะกับลูกและทำให้ลูกได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากที่สุด ซึ่งหลังจากการทดลองกับลูกแล้วก็ได้ขยายชุมชนการเรียนรู้นี้ให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งกลายเป็นโรงเรียนหิ่งห้อยในที่สุด
ที่นี่นอกจากจะเป็นโรงเรียนแล้ว ยังเป็น Homeschool Community (ชุมชนบ้านเรียน) ที่มีแกนหลักคือการใช้ธรรมชาติมาบูรณาการร่วมกับหลักสูตรการเรียนรู้ และมีการหยิบเรื่องการแสดงที่แม่จูนถนัดมาผสมผสานกับการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กมีอารมณ์ร่วม และสนุกสนานไปกับการเรียนรู้
อีกหนึ่งเป้าหมายที่แม่จูนคาดหวัง นอกเหนือจากจะให้เด็กๆ ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติแล้ว คือต้องการให้เด็กค้นหาเป้าหมายและพลังของตัวเองเจอ เพื่อที่จะสามารถเปล่งประกายออกมาในแบบของตัวเอง
“พอเรามีเป้าหมายชัดเจน รู้ว่าพลังของเราคืออะไร ก็จะทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีเป้าหมาย จูนเลยอยากจะส่งต่อพลังนี้ให้กับทุกคน อยากทําให้เด็กๆ เชื่อมั่นในพลังของตัวเอง และจูนก็จะส่งเสริมและสนับสนุนเขา ไม่ว่าพลังนั้นจะเป็นสิ่งเล็กหรือใหญ่ เพื่อกระตุ้นให้พลังที่เขามีได้เปล่งแสงออกมา”
เพราะเด็กๆ เป็นหิ่งห้อยที่มีแสงในตัวเอง
ไม่ใช่แค่การเรียนรู้จากธรรมชาติ แต่การให้เด็กได้เรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติและเป็นตัวเอง เป็นสิ่งที่แม่จูนต้องการที่สุด เพราะมองว่าจังหวะของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน และทุกคนสามารถเปล่งประกายได้ในแบบของตัวเอง
“โรงเรียนและห้องเรียนธรรมชาติในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแค่ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม แต่หมายถึงธรรมชาติในตัวเรา และธรรมชาติของผู้อื่นด้วย เราก็รู้สึกว่าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นไปตามจังหวะของเขา
เราพยายามทำให้เด็กๆ ทุกคนเชื่อว่าพลังที่เขามีนั้นสําคัญกว่าการประสบความสําเร็จเป็นชื่อเสียงเงินทองเสียอีก แต่สิ่งนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยถ้าเราไม่แข็งแรงพอ จูนเลยเชื่อว่าวัยเด็กคือวัยที่สําคัญที่สุดที่จะก่อร่างสร้างตัวให้เขาเชื่อแบบนั้น ให้เด็กสามารถหาพลังของตัวเอง และเปล่งประกายตัวเองในเวอร์ชันที่ดีที่สุดเหมือนกับหิ่งห้อย เพราะว่าหิ่งห้อยมีแสงในตัวเอง เป็นแสงเล็กๆ ไม่เหมือนดวงดาวที่อาจจะดูสวยงามเต็มท้องฟ้า แต่จริงๆ แล้วดาวไม่ได้มีแสงจากตัวเอง
เราเลยอยากให้เด็กๆ เป็นหิ่งห้อยที่มีแสงในตัวเอง และเมื่อมาอยู่รวมกันแล้ว แสงสว่างของพวกเขาจะให้ความสว่างกับโลกใบนี้ เพราะคนที่มีแสงในตัวเองคือคนที่รู้จักพลังของตัวเอง การที่เขาเปล่งแสงออกมามันคือความมหัศจรรย์ที่ส่องสว่างและสวยงาม เปรียบเหมือนเวทมนตร์ในผืนป่าแห่งนั้น เราก็รู้สึกว่านี่แหละคือพลังที่จะสามารถสร้างให้แก่ผืนป่านี้ได้”
ใช้ประสบการณ์ในวันวานสานฝันเพื่อลูก
ด้วยความที่แม่จูนเป็นเด็กต่างจังหวัดและเติบโตมากับธรรมชาติ ทำให้เธอเป็นคนที่อินกับธรรมชาติมากๆ วัยเด็กจึงเป็นช่วงเวลาที่แม่จูนรู้สึกว่ามหัศจรรย์ที่สุด เพราะเป็นวัยที่หล่อหลอมให้แม่จูนเป็นตัวเองในทุกวันนี้ อีกทั้งเธอยังมีพ่อแม่ที่คอยผลักดันและสนับสนุนความฝัน ทำให้เธอมีความหวังที่จะส่งพลังให้กับเด็กๆ ต่อ แบบที่เธอเคยได้รับมา
“เวลาที่เราเจอเรื่องอะไรหนักๆ ในชีวิต สิ่งที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวหรือทําให้จูนมีพลังได้ คือการที่เรารู้ว่ามีอย่างอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่าเราอยู่ มันยังมีธรรมชาติ มีฤดูกาล มีสิ่งมีชีวิตอีกหลายอย่างที่ใช้ชีวิตและอยู่ร่วมกับเรา เวลาที่จูนเจออะไรอย่างนี้ จะรู้สึกว่าสิ่งที่เราเจอไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต เดี๋ยวมันก็ผ่านไปเหมือนใบไม้ที่เปลี่ยนสี เหมือนฤดูกาลที่เปลี่ยนไป
ประกอบกับการที่เราโตมาในจังหวัดชุมพร ซึ่งมีทั้งทะเลและภูเขา เราก็จะเล่นกับธรรมชาติพวกนี้โดยที่พ่อแม่ไม่เคยห้าม เช่น ชวนกันไปเด็ดหญ้ามาทำใบจรวด หรือชวนลงไปที่คลอง ไปดูธรรมชาติต่างๆ เวลาฝนตกหน้าบ้านก็จะเล่นสไลด์เดอร์โคลน เล่นลื่นกันไปมา เราคิดว่าสิ่งนี้แหละที่ทําให้รู้สึกสนุกและมีความสุข เป็นความสุขจริงๆ ที่ไม่ต้องไปหาจากที่อื่น เพราะคุณพ่อคุณแม่เราก็ไม่ได้มีของขวัญ หรือเงินทองอะไรให้ แต่สิ่งที่พ่อแม่ให้เสมอคือ เวลาและความใส่ใจ เพราะเขาจะพาไปเที่ยว มีเวลาเล่นด้วยตลอด ซึ่งสิ่งนั้นแหละที่สร้างความเข้มแข็งข้างใน ต่อให้จูนจะล้มหรือเจอเรื่องร้ายๆ อะไร จูนก็ยังมีครอบครัวอยู่
ครอบครัวจูนจะพูดตลอดว่า เขาไม่มีอะไรให้นะ มีแค่เวลาและความรักให้ และเขาจะทําทุกอย่างให้เรามีความรู้ติดตัว เพราะคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่สําคัญที่สุด เรารู้เลยว่าพ่อแม่ต้องพยายามมากเพื่อเรา ซึ่งจูนว่านี่แหละสิ่งนี้แหละที่ทําให้จูนเข้มแข็ง และการโตมากับธรรมชาติตั้งแต่เด็กก็ทำให้รู้สึกว่าแม้จะไม่มีคนอื่นรอบตัว แต่เรายังมีสิ่งมีชีวิตต่างๆ คอยเป็นเพื่อนเราอยู่
อีกเรื่องหนึ่งที่จําได้คือ ตั้งแต่ 2-3 ขวบ ตัวเองเป็นคนชอบเต้น ชอบการแสดงมากๆ เหมือนกับเราเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ซึ่งเราก็เติบโตไปเรื่อยๆ ตามเป้าหมาย และสุดท้ายเราก็ไปถึงเป้าหมายของเราจริงๆ เพราะเราเองเข้ามหาวิทยาลัยก็เรียนศิลปะการแสดง ซึ่งเป็นทางที่ชอบมาตั้งแต่เด็ก และพ่อแม่ก็สนับสนุนอย่างเต็มที่
จูนรู้สึกว่าละครเวทีเป็นสิ่งหนึ่งที่สนใจ สุดท้ายก็ได้ทุนจากคณะนิเทศศาสตร์ สาขาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพราะว่าตอนเด็กๆ เราก็ถือว่าเป็นคนตั้งใจเรียนคนหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็ชอบทำกิจกรรมมากๆ เพราะชอบไปให้สุดในทุกๆ ทางทั้งเรียนและกิจกรรม
แต่อย่างหนึ่งที่รู้สึกคือ จูนไม่อยากให้ลูกต้องมาแบกความรู้สึกคล้ายๆ กับจูนในวัยเด็ก เพราะตอนนั้นเราเรียนหนักกันเกินไป คาดหวังกับเกรดเฉลี่ย กดดันตัวเองเพื่อเป็นเด็กดีให้ทุกคนภูมิใจ พอโตมาแบบนั้นทำให้มีความคาดหวังและกดดันตัวเอง
ซึ่งจริงๆ แล้วพ่อแม่ไม่ได้กดดันเรื่องเรียนเลย แต่เพราะสังคมต่างหากที่บอกเราว่า ถ้าได้เกรด 4 คือที่สุด คือสิ่งที่ตอกย้ําว่าเราประสบความสำเร็จ กลายเป็นว่าเราเสียเวลา 10 กว่าปี ในตอนเด็กเพื่อพยายามให้ได้ A สอบให้ได้ที่ 1 และได้เกรด 4 ตอนนั้นการเรียนของเราคือการพยายามท่องจำ และโฟกัสว่าทำยังไงให้จำได้ให้มากที่สุด มากกว่าการพยายามทำความเข้าใจกับมัน เพราะสมัยเด็กๆ ครูให้ท่องอะไร ครูพูดอะไรมา เราก็จําและทำตามแบบไม่คิดอะไรเลย
สิ่งนี้เลยทำให้รู้สึกว่าไม่อยากให้ลูกเจอแบบเราเลย เพราะมันไม่ได้ทำให้เข้าไปถึงแก่นของการศึกษาจริงๆ สิ่งที่เราเอามาใช้จริงคือสิ่งที่เราได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ได้เจอผู้คน ได้ซ้อมเต้นหรือได้ทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งกว่าเราจะเจอก็คืออยู่มหาลัยแล้ว เพราะอาจารย์เขาจะสอนให้ตั้งคําถาม สงสัยใคร่รู้ และหาคําตอบด้วยตัวเอง
ดังนั้น ในทุกบทเรียนที่โรงเรียนหิ่งห้อยสอน เราเองก็ต้องศึกษาใหม่หมด
ซึ่งจูนจะบอกคุณครูทุกคนว่า ถ้าเราไม่มีความสงสัยใคร่รู้ หรือ Curiousity เราก็ไม่มีทางที่จะสอนเด็กให้เป็นอย่างนั้นได้ ในทุกๆ บทเรียนก็ต้องตั้งคําถามก่อน ต้องรู้ว่าทําไมเราถึงอยากเรียนเรื่องนี้ เรื่องนั้นมีความสําคัญยังไง และเรามีเป้าหมายอะไร”
กว่าจะมาเป็นโรงเรียนหิ่งห้อย การเรียนรู้บนหลักธรรมชาติ
ก่อนหน้าที่จะหันมาสร้างโรงเรียน แม่จูนทํางานเกี่ยวกับด้านการแสดง สายละครเวที โดยทำสตูดิโอสอนการแสดง สอนร้องเพลง และสอนเต้น ร่วมกับสามี แต่ก็หยุดทำหลังจากที่เริ่มตั้งแต่มี ‘น้องกานติ’ ลูกชายคนแรก และหันมาสนใจหลักสูตรการศึกษาให้กับลูก โดยพยายามมองหาการศึกษาที่เหมาะกับลูกมากที่สุด
“เราอยากทำให้ลูกได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ให้เขาได้ผูกพันกับศิลปะตั้งแต่ยังเล็ก เราก็หาข้อมูลไว้นานแล้วตั้งแต่เริ่มท้อง จนไปเจอกลุ่มหนึ่งในอินสตาแกรม ที่เป็นกลุ่มโฮมสคูลแล้วก็เขาก็ใช้หลักสูตรของชาร์ล็อต เมสัน (Charlotte M. Mason เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ให้เด็กเข้าไปอยู่ในสถานการณ์จริงของชีวิต เรียนรู้และศึกษาจากธรรมชาติ เช่น การเรียนรู้กับกฎของธรรมชาติ) ที่จูนเอามาบูรณาการใช้อยู่ในปัจจุบัน
เรารู้สึกว่ามันสวยงามและเป็นการศึกษาแบบที่เราอยากให้ลูกเราได้อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้น เลยลองศึกษาและซื้อหลักสูตรมาใช้กับลูกดูตอนที่เขาอายุ 3 ขวบ แต่บริบทหลายอย่างที่อังกฤษกับไทยก็ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรธรรมชาติ และฤดูกาล ก็เลยคิดว่าต้องมีการบูรณาการ และปรับให้เหมาะสมกับบริบทของไทย
พอเอามาใช้กับลูก ก็เห็นว่าทุกๆ วันเขาสนุกกับการเรียน แล้วก็มีอีกหลักสูตรหนึ่งที่นำมาใช้คือ ‘Forest School’ มาจากการที่สามีของเราเป็นคนเยอรมัน เราก็จะไปเยอรมันกันทุกปี แล้วมีวันหนึ่งที่จูนไปเดินในป่าที่เยอรมัน และจูนเห็นว่าเด็กๆ อนุบาลกําลังเดินลงมาจากเขา แล้วก็ถือไม้สติ๊กกันลงมา เราก็สงสัยว่าทําไมเด็กๆ ถึงอยู่ข้างนอกกันในวันธรรมดาที่มีเรียน เห็นเขากําลังก่อไฟ เผามันกัน มีการตั้งซุ้มเป็นเต็นท์ เราเลยไปถามว่ามันคือที่ไหน คืออะไร พอลองหาข้อมูลและศึกษาดูแล้วก็ชอบมาก เราเลยได้รู้จัก Forest School ตั้งแต่ตอนนั้น
แต่จริงๆ ในช่วงที่ขยายคอมมูนิตี้ของเราได้เป็นช่วงการแพร่ระบาดโควิดที่หยุดอยู่กับบ้าน เราเริ่มจากเล่นกับลูกก่อน แล้วโพสต์ลงอินสตาแกรม เฟซบุ๊ก ลงเพจไปเรื่อยๆ แล้วก็เข้าไปอยู่ในกลุ่มโฮมสคูล ตอนนั้นเราแชร์ไอเดียว่าสัปดาห์นี้เราจะทํากิจกรรมนี้ๆ กันนะ จะมีใครมาทําด้วยกันไหม เพื่อนๆ ก็สนใจกัน หลังจากนั้นลองชวนเพื่อนสนิทมาดูว่า ไปไหม? อาทิตย์นี้เราจะเรียนเรื่องไส้เดือนกัน เดี๋ยวเราไปขุดไส้เดือนกันที่สวนรถไฟ เพราะปกติครอบครัวไปสวนรถไฟกันทุกสัปดาห์อยู่แล้ว เพื่อนก็มากัน 4-5 คน พอทำไปสักพัก จาก 5-6 คน ก็กลายเป็น 30 คน เป็นร้อยคน กลุ่มก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนคนเต็มสวนรถไฟเลย
ซึ่งการศึกษาแบบนี้แหละที่เราตั้งใจว่าอยากให้เกิด เพราะเด็กๆ ก็สนุกกับการได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ได้เดินสํารวจ แล้วก็มีเวลากับพ่อแม่ เหมือนเราก็สนุกกันไปด้วยกัน
จูนชอบโมเมนต์นึงที่เด็กๆ ก็แยกไปกลุ่มนึงฟังนิทาน คุณพ่อคุณแม่เขามานั่งรวมตัวกันคุยกันเรื่องชีวิต เรื่องเป้าหมายต่างๆ ซึ่งมันดีต่อใจมากเลย ตอนนั้นจูนก็เลยคิดว่าฉันก็ต้องสร้างคอมมูนิตี้นี้ให้แข็งแรงขึ้น จนเปิดเป็นโรงเรียนนี้ขึ้นมาค่ะ”
ห้องเรียนนอกกรอบที่ออกแบบจากแพสชันของตัวเอง
แม่จูนได้ใช้เวลาศึกษาค้นคว้าหลักสูตรต่างๆ ผสมผสานความรู้ด้านศิลปะและศิลปะการแสดง ทั้งละครสร้างสรรค์ (Creative Drama) ละครเพื่อการศึกษา สำหรับเด็ก เยาวชนและชุมชน (Theatre in Education) การเรียนรู้แบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child-Centered) ผ่านกระบวนการ ‘เล่น สำรวจ ลงมือปฎิบัติ’ คัดสรรวิธีการเรียนรู้ จนกลายเป็นรูปแบบเฉพาะของโรงเรียนหิ่งห้อย
“ตอนที่ศึกษาประวัติของหลักสูตร ชาร์ล็อต เมสัน ก็เลยมาลองดูว่าเราทําอะไรเพิ่มเติมได้บ้าง และปกติจูนก็เป็นคนออกแบบหลักสูตรอยู่แล้ว เลยเอาเรื่องการแสดงที่เราถนัดเข้ามาประยุกต์ด้วย และเราก็นำมาใช้ทุกๆ โมเมนต์ของการเรียนเลย โดยการสร้างธีมในแต่ละห้องเรียน
ตัวอย่างเช่นในชั่วโมงภาษา แล้วเราต้องการสอนตัว A เราก็จะนำธีม ‘มด’ มาใช้ เพราะถ้าให้เด็กแค่มานั่งเขียนอย่างเดียวเขาก็ไม่สนุก เด็กไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม เราเลยจะเล่านิทานเรื่องอะไรก็ได้ที่มีตัว ‘A’ แล้วก็ใช้เสียงเพลงให้เขาได้จําและฝึกฝน เพื่อที่เด็กจะสามารถสนุกไปกับการเต้น การร้องเพลง ซึ่งเราก็ไม่ได้อยากให้เขาแค่ร้องเฉยๆ แต่อยากให้เขาได้ใส่ความรู้สึกร่วมลงไปด้วย แล้วพาเด็กๆ ออกไปข้างนอกห้องเรียนไปเขียน A บนทราย ไปหยิบก้อนหินหรือกิ่งไม้มาสร้างเป็น A แล้วก็มาดูในกล่องปริศนาว่าอะไรบ้างเป็นตัว A คือเราจะหยิบ Sensory (การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัส) ต่างๆ ให้เด็กได้ลองทำลองใช้จริง แล้วพอเขาเข้าใจแล้ว เขียนได้แล้ว ก็จะให้เด็กๆ มาเดินกันเป็นรูปตัว A อะไรแบบนี้ ซึ่งกระบวนการนี้จูนเอามาบูรณาการเป็นของตัวเอง หรือห้องเรียนทำอาหารที่เราต้องการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ เราก็จะสร้างเป็นธีมแม่มด เป็นต้น
โรงเรียนหิ่งห้อยนั้นก็จะมีการแบ่งฤดูกาลใน 1 ปี ซึ่งก็จะมี ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว โดยแม่จูนได้หยิบเอาแต่ละฤดูกาลในช่วงนั้นๆ มาใช้เป็นธีมการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กๆ เกิดความรู้สึกร่วม และได้เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงตามธรรมชาติ
“เราจะดูว่าช่วงนั้นธรรมชาติเป็นแบบไหน อย่างเช่น ช่วงเดือนเมษามีผีเสื้อเยอะ เราก็จะเรียนเรื่องผีเสื้อและผึ้งกัน หรือเดือนมิถุนายนเป็นหน้าฝน ก็จะเรียนเรื่องใต้ดิน เช่น ไส้เดือน หอยทาก และสัตว์ต่างๆ ที่อยู่ในดิน แต่ละฤดูกาลก็จะสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในธรรมชาติ
หรือเวลาที่เราจะเรียนเกี่ยวกับเรื่องเมล็ดพืช และต้นไม้ พอเรียนจบเราก็จะพาเด็กลองเข้าไปในป่าจริงๆ เลย โดยทุกๆ เดือนจะมีการจัดแคมป์ต่างจังหวัดเพื่อให้เด็กได้เรียนแล้วนำไปใช้ ถ้าเรียนเรื่องหอยและปะการัง ก็จะพาไปทะเลไปเกาะ และใส่ธีมลงไปเพื่อให้เด็กรู้สึกตื่นตาตื่นใจมากขึ้น เช่น ธีม Pirate (โจรสลัด) ให้เด็กๆ ตามหาสมบัติในท้องทะเล มีกัปตันฮุคและปีเตอร์แพนมาต่อสู้กัน เราก็จะเอาสมบัติไปฝังไว้ตามทราย เด็กๆ เขาก็จะไปล่องเรือกัน ได้ขุดหาสมบัติ พร้อมกับแกะรอย หาแผ่นป้ายคำบอกใบ้ต่างๆ เพื่อฝึกภาษา และท้ายสุดเราก็จะสอดแทรกว่าสมบัติในท้องทะเลจริงๆ นั้นมีหลายอย่าง ทั้งหอย ทราย และปลา และธรรมชาติต่างๆ อีกมากมาย”
จะเห็นได้ว่าแม่จูนได้นำกระบวนการของละครและการแสดงเข้ามาประยุกต์ใช้กับทุกๆ มิติของการเรียนการสอน เพราะเธอคิดว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสำหรับเด็กวัยนี้ ซึ่งเป็นวัยที่ง่ายต่อการสร้างความรู้สึกร่วมและสร้างประสบการณ์ร่วม และมองว่าความทรงจําที่จะอยู่ระยะยาวและถาวร คือความทรงจําที่เรามีประสบการณ์และความรู้สึกร่วม
“แต่วิชาที่เป็นที่จดจำที่สุดสำหรับเด็กๆ และผู้ปกครองจะเป็นวิชา Life Skills (ทักษะชีวิต) หรือ Survival Skills (ทักษะการเอาตัวรอด) เราก็จะเชิญวิทยากร มีรถดับเพลิง รถพยาบาล รถตํารวจมา หรือว่าถ้าเกิดไม่มีแขกรับเชิญ เราก็จะก่อไฟกลางสนาม ตักน้ําจากในบ่อ หรือว่าพาไปเก็บไข่จากในฟาร์มไก่ที่โรงเรียนเลี้ยงไว้ สอนว่าเราตอกไข่ยังไง ก่อไฟยังไง เด็กๆ ก็จะใช้อุปกรณ์ก่อไฟเป็นกัน กลุ่มเด็กโตจะได้ทดสอบและรีเช็คความเข้าใจหลังเรียนเกี่ยวกับการก่อไฟแบบไม่มีเตาแก๊สและการทำอาหารเบื้องต้นว่าเขาทำเป็นไหม
มีการสอนและเทรนเรื่องการกู้ชีพ CPR วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ความรู้เรื่องยาต่างๆ ว่ายาชนิดไหนใช้กับแผลแบบไหน รวมถึงมีวิชาหนีไฟหรือที่เขาสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ แล้วก็มีอยู่ปีหนึ่งที่เราเอารถมาให้เขาลองสาธิตจริง ว่าหากติดอยู่ในรถต้องทำยังไง เด็กๆ ก็จะเป็นคนทุบกระจกเอง ต้องดึงอะไรในรถออกมาใช้งัด ซึ่งกิจกรรมที่เล่ามาคือทุกคนชอบกันมาก”
ปลายทางคือให้เด็กๆ เติบโตเป็นคนที่ดีในเวอร์ชันของตัวเอง
นอกเหนือจากทักษะชีวิตและทักษะทางวิชาการแล้ว ความสงสัยใคร่รู้ หรือ Curiosity ก็เป็นอีกทักษะหนึ่งที่แม่จูนอยากให้เด็กๆ มีติดตัวไปหลังจากเรียนจบจากโรงเรียนไป
“เราบอกเด็กๆ เสมอว่า อย่าเชื่อในสิ่งที่ใครบอกมา แต่ต้องพิสูจน์แล้วก็หาคําตอบด้วยตัวเอง แต่ว่าอีกคุณลักษณะหนึ่งของเด็กๆ ที่นี่จะได้ติดตัวออกไปคือ การที่สามารถสื่อสารความรู้สึกตัวเองได้เป็นอย่างดี
สื่อสารได้ว่าเขาไม่ชอบอันนี้ เพราะรู้สึกว่ามันทําให้กลัว ทำให้เสียใจ ทุกคนจะต้องเข้าใจว่าทําไมถึงโกรธ ทําไมถึงเศร้า ทําไมถึงน้ําตาไหล เพราะเขาจะถูกเทรนมาให้เข้าใจและสํารวจอารมณ์ของตัวเอง
อีกอย่างคือโดยพื้นฐานเขาจะบอกว่าเด็กๆ ที่นี่ดูมีความมั่นใจในตัวเอง มีความสุขกับสิ่งที่ทําและดูเป็นคนมีชีวิตชีวา เพราะเขาจะกล้าพูดกล้าแสดงความคิดเห็น อยากที่จะแชร์เรื่องราวของตัวเองให้คนอื่นฟัง แล้วก็รู้สึกว่าเขามีความเห็นอกเห็นใจค่ะ เด็กๆ ที่นี่จะสังเกตได้ว่าคนอื่นรอบตัวรู้สึกยังไง แล้วจะเข้าหาเพื่อช่วยแก้ปัญหา ค่อนข้างที่จะมีทักษะของการเข้าสังคมสูงมาก”
แม่จูนมองว่าการทำให้เด็กมีทักษะชีวิตเป็นสิ่งสำคัญมาก ในด้านวิชาการก็สำคัญไม่แพ้กัน แต่จริงๆ แล้วสองอย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่เรียนรู้ควบคู่กันได้ ไม่จำเป็นต้องแยกออกจากกัน
“เราสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา กับทุกอย่างในชีวิต เพราะองค์ความรู้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ที่นี่เราก็ไม่เคยแยกด้านวิชาการออกจากการเรียนรู้ทักษะชีวิต ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญควบคู่กัน ถ้าเกิดว่าเขามีแค่ทักษะชีวิตอย่างเดียว ก็อาจจะสามารถอยู่รอดในสังคมได้ แต่สุดท้ายก็นำไปต่อยอดไม่ได้ หรือถ้าได้แค่ด้านวิชาการ แต่ไม่มีทักษะชีวิต ใช้ชีวิตไม่เป็นก็จะลำบาก
เพราะโลกของเราเปลี่ยนไปในทุกๆ วัน เราเลยควรที่จะส่งเสริมให้เด็กๆ มีทักษะของการใช้ชีวิตและการปรับตัวกับธรรมชาติ ซึ่งนี่จะทําให้เขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ต่อไปได้
นี่เลยเป็นสาเหตุที่จูนสร้างโรงเรียนหิ่งห้อยขึ้นมา เพราะทุกๆ อย่างในวัยเด็กจะหลอมรวมให้เขากลายเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า ซึ่งจูนและคุณครูทุกคนก็มีหน้าที่ดูแลเด็กๆ ให้เติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดีที่สุดในเวอร์ชันของตัวเองค่ะ”
มากกว่าโรงเรียน คือพื้นที่เรียนรู้และแบ่งปันพลังงานบวกแก่ทุกครอบครัว
โรงเรียนหิ่งห้อยไม่ได้เป็นแค่เพียงโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่โอบรับทุกครอบครัวให้เข้ามาแลกเปลี่ยนหรือปรึกษาปัญหาต่างๆ และคาดหวังว่าจะเป็นพื้นที่ที่ช่วยส่งพลังให้กับทุกคนได้
“พื้นที่ตรงนี้เปิดต้อนรับทุกคนค่ะ จะเข้ามาเป็น Play Group เล่นด้วยกัน เข้ามาเยี่ยมชม หรือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวโรงเรียนหิ่งห้อยของเรา จูนก็ยินดีเลย เรารู้สึกว่าที่นี่ไม่ใช่แค่โรงเรียนของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่แค่พื้นที่ของกลุ่มเฉพาะบุคคล แต่จูนอยากจะให้โรงเรียนหิ่งห้อยเป็นพื้นที่ที่ใครก็ตามที่อยากจะเข้ามาหาพลังงาน เข้ามาขอคําปรึกษา หรือเข้ามามีเพื่อน
แม้กระทั่งพ่อแม่ที่ทําโฮมสคูลอยู่ที่บ้าน ก็สามารถติดต่อเข้ามาปรึกษาปัญหาได้ จูนอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่ส่วนรวมของทุกคน เพราะตั้งใจจะสร้างพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ และชุมชนของพวกเราทุกคน จูนหวังว่าพื้นที่บ้านหลังนี้จะแบ่งปันพลังงานดีๆ ให้ได้ ซึ่งในอนาคตก็อยากจะขยายไปที่อื่นเพิ่มด้วย เพื่อที่สร้างคอมมูนิตี้ที่เห็นเด็กเจอแสงของตัวเอง แล้วเปล่งประกายให้ป่าของเรามีเวทมนตร์ต่อไป” แม่จูนกล่าวส่งท้าย