- “หนูมีความฝันว่าอยากทำงานด้านนี้ อยากเป็นพยาบาล ตอนนี้เรียนจบหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลแล้ว ก็จะทำงานก่อน 2 ปี แล้วเรียนต่อพยาบาลให้ได้ เพราะหนูอยากเป็นอาจารย์พยาบาลค่ะ”
- ความฝันของ นัจมี หะเดร์ หรือ มี จะไปต่อไม่ได้เลยถ้าไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาจาก โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล สานต่อความหวังของครอบครัว
- หากถามว่าการได้รับโอกาสทางการศึกษาในครั้งนี้เปลี่ยนชีวิตเราอย่างไร? มีตอบได้ทันทีว่า ทำให้ชีวิตที่ดูเหมือนจะวนลูปสู่การทำงานอย่างเป็นบ้าเป็นหลังเพื่อหาเงินมาเลี้ยงตัวเองและจุนเจือครอบครัว มีความหวังที่จะลืมตาอ้าปากขึ้นมา
“…ไม่มีโอกาสได้เรียน เพราะไม่มีเงิน…”
นี่คือหนึ่งในเหตุผลหลักๆ ของเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถเรียนต่อในระดับที่สูงกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้ โดยข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาว่า ความยากจนหรือด้อยโอกาสทำให้เด็กไทย (6-14 ปี) ยังอยู่นอกระบบการศึกษามากกว่า 430,000 คน และมีเพียง 5% ต่อรุ่น ที่มีโอกาสศึกษาต่อระดับสูง เทียบกับค่าเฉลี่ยของประชากรประเทศที่มีโอกาสถึง 30% อีกทั้งช่องว่างการเข้าถึงการศึกษาระหว่างคนรายได้น้อยกับรายได้ปานกลางยังห่างกันถึง 20 เท่า
ซึ่ง นัจมี หะเดร์ หรือ มี เป็นหนึ่งในเด็กขาดแคลนทุนทรัพย์ ที่วันนี้ได้รับโอกาสทางการศึกษาจาก โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส โดยมีกสศ. เป็นผู้สนับสนุน
มีเล่าว่า เนื่องจากทางบ้านไม่สามารถส่งเสียเธอเรียนต่อในเส้นทางที่ใฝ่ฝัน นั่นก็คือ ‘พยาบาล’ แม้จะมีพี่สาวถึง 2 คน ที่เป็นเสาหลักของครอบครัว แต่ต่างคนก็ต่างต่างมีภาระหน้าที่ของตัวเอง ส่วนพ่อก็ไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากประสบอุบัติเหตุรถคว่ำเมื่อ 6 ปีที่แล้ว อีกทั้งแม่เสียชีวิตในระหว่างที่เธอกำลังได้รับการพิจารณาเรื่องทุนการศึกษา เสมือนฝันสลายแตกเป็นเสี่ยงๆ ถ้าจะบอกว่าโลกใบนี้ช่างใจร้ายกับเธอก็คงไม่ผิดนัก แต่แล้วแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ก็ลอดเข้ามา เมื่อเธอได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลอย่างใจหวัง
จุดเริ่มต้นจาก ‘อาสากู้ภัย’ สู่นักเรียนทุนฯหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล
เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวทั้งพ่อและยายมักเข้าออกโรงพยาบาลอยู่บ่อยๆ ตั้งแต่มียังเด็กๆ เธอจึงอยากทำหน้าที่ดูแลคนในครอบครัวยามเจ็บป่วยได้อย่างที่พี่พยาบาลทำบ้าง การเรียนต่อในหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลจึงเป็นตัวเลือกที่ปักหมุดไว้แต่แรก
“หนูมีความฝันว่าอยากทำงานด้านนี้ อยากเป็นพยาบาล ตอนนี้เรียนจบหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลแล้ว ก็จะทำงานก่อน 2 ปี แล้วเรียนต่อพยาบาลให้ได้ เพราะหนูอยากเป็นอาจารย์พยาบาลค่ะ” มีเล่าถึงความฝันของตัวเองให้ฟัง ด้วยสีหน้าและแววตาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง เธอดูมีความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่รักและยังสามารถดูแลครอบครัวได้อีกด้วย
ก่อนหน้าที่มีจะมาเป็นนักเรียนทุนฯหลักสูตรพยาบาลนี้ เธอเล่าว่านอกจากทำงานพาร์ตไทม์ที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถจังหวัดภูเก็ต กับพี่สาวช่วงปิดเทอม และขายของออนไลน์ไปด้วย ในช่วงชีวิตมัธยมปลาย ทุกๆ วันเสาร์ – อาทิตย์ ได้มีโอกาสทำงานจิตอาสาหน่วยกู้ชีพพิทักษ์ภัย อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส โดยได้ค่าตอบแทนบ้างเมื่อมีการส่งผู้ป่วยในที่ไกลๆ เรียกว่าเป็นค่าน้ำใจราวๆ 300 – 400 บาทต่อ 1 เคส แต่สิ่งที่ได้มากกว่าค่าตอบแทนนั้น คือประสบการณ์ในการทำงานช่วยเหลือผู้ป่วย เหมือนเป็นการปูพื้นฐานในการเรียนผู้ช่วยพยาบาลไปในตัว
“หนูทำงานจิตอาสาที่หน่วยพิทักษภัยด้วยค่ะ ตอนแรกก็เป็นอาสาสมัคร ช่วยออกเหตุกับพี่ๆ ช่วยจัดเตรียมของอุปกรณ์ต่างๆ แล้วหลังๆ ก็คือหนูออกเหตุเองค่ะ ทำมาได้เกือบ 2 ปีแล้ว ตั้งแต่ก่อนจะได้ทุน ทำตั้งแต่ม.5 เพราะว่าเสาร์-อาทิตย์ หนูไม่ได้เรียนก็เลยไปอาสาค่ะ งานนี้ก็ตื่นเต้นและลุ้นว่าวันนี้เราจะเจอเหตุอะไร หนักไหม หรือว่าเบสิกๆ”
“สิ่งที่หนูได้เรียนรู้จากการทำจิตอาสากู้ภัย คือเขาจะสอนเกี่ยวกับการช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน การทำ CPR ให้กับคนไข้ที่หมดสติ วัดชีพจรไม่ได้ แล้วพอได้มาเรียนผู้ช่วยพยาบาลก็เหมือนเราพอมีพื้นฐานมาบ้างแล้ว ก็เลยง่ายขึ้น”
ทุนเปลี่ยนชีวิต เติมเต็มความหวัง ความฝัน และอนาคต
หากถามว่าการได้รับโอกาสทางการศึกษาในครั้งนี้เปลี่ยนชีวิตเราอย่างไร? มีตอบได้ทันทีว่า ทำให้ชีวิตที่ดูเหมือนจะวนลูปสู่การทำงานอย่างเป็นบ้าเป็นหลังเพื่อหาเงินมาเลี้ยงตัวเองและจุนเจือครอบครัว มีความหวังที่จะลืมตาอ้าปากขึ้นมา เพราะการได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น การได้รับการเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นและเป็นที่ต้องการในอนาคต นั่นหมายถึงโอกาสในการได้รับค่าตอบแทนหรือรายได้ที่สูงขึ้นด้วย สามารถเลื่อนระดับทางสังคม (Social Mobility) ในรุ่นของตน ซึ่งส่งผลไปถึงการขจัดความยากจนข้ามรุ่นได้
“ตอนแรกหนูก็หวังแค่ว่าเรียนให้ม.6 ค่ะ เพราะไม่สามารถที่จะเรียนได้ ด้วยฐานะที่บ้านก็ไม่ดี แล้วก็ได้มาเจอทุนนี้ ทุนนี้ได้เปลี่ยนชีวิตหนูไปมากค่ะ
จากที่คนคนนึงจะไม่ได้เรียนแล้ว เพราะเราไม่มีตังค์ เลยคิดว่าจบแล้วไม่ต้องไปเรียน ก็ไปทำงาน แล้วก็มีทุนมายื่นมือให้หนู นับว่าเป็นบันไดขั้นแรกเลยค่ะ ที่ทำให้หนูได้เรียนต่อ แล้วก็ช่วยสานฝันของหนูให้ได้เข้าใกล้ความเป็นจริงค่ะ นั่นก็คืออาจารย์พยาบาล”
ถึงตอนนี้มีได้เรียนจบในหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลตามระยะเวลาที่กำหนดไว้นั่นคือ 1 ปี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้รับประกาศนียบัตรทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล รุ่นที่ 4 ประจำปีการศึกษา 2566 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2567 ณ หอประชุมคณะพยาบาลศาสตร์ เขตบางนาค คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส
“หลังจากเรียนจบแล้ว อนาคตข้างหน้าก็คือหนูอาจจะทำงานไปก่อน แล้วก็เรียนต่อคณะพยาบาล แล้วก็จะเรียนต่อป.โทด้วยค่ะ เพราะว่าฝันอยากจะเป็นอาจารย์พยาบาล”
จากความมุ่งมั่นพยายามและมีใจรักในสิ่งที่ทำอย่างเต็มเปี่ยม เชื่อว่าต่อจากนี้การเป็นอาจารย์พยาบาลคงไม่ไกลเกินเอื้อมของเธอคนนี้แน่นอน
“ถ้ามองย้อนกลับไป ถ้าไม่ได้รับโอกาสนี้ หนูคิดว่าชีวิตตอนนี้ก็น่าจะทำงานงกๆ อยู่ อาจจะไปทำงานที่มาเลเซีย หรือไม่ก็ไปทำงานที่ภูเก็ตกับพี่สาวค่ะ ซึ่งก็ไม่ได้มีทางเลือกมากเท่าไหร่”
“หนูเลยมองว่าการได้รับโอกาสในการเรียนสำคัญมากค่ะ อย่างทุนนี้เขาจะมอบทุนการศึกษาให้หนู แต่ละเดือนเขาก็จะโอนให้หนู หนูก็เอาเงินส่วนนี้แบ่งไปให้พ่อบ้างในแต่ละเดือน
เพราะนอกจากจะสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายในการกินอยู่ ค่าเรียน ยังสนับสนุนกิจกรรมปรับบุคลิกภาพ การแต่งหน้า การสัมภาษณ์ยังไงให้ได้งาน แล้วก็เสริมด้านภาษาอังกฤษกับภาษาอาหรับ เพราะว่าที่โรงพยาบาลนราธิวาสมีชาวต่างชาติมาใช้บริการเยอะค่ะ”
สุดท้ายนี้ มีขอส่งสารฝากไปถึงน้องๆ หรือพี่ๆ ที่กำลังรู้สึกหมดหวังในชีวิต อยากเรียนต่อแต่ยังขาดแคลนทุนทรัพย์ ไม่รู้ว่าจะไปเส้นทางไหนดี
“หนูอยากจะบอกว่าทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงมอบโอกาสให้กับเรา แล้วก็อยากจะฝากน้องๆ ที่ไม่มีทุนในการศึกษา ให้ลองมาสมัครทุนนี้ดูค่ะ เพราะว่าทุนนี้เปลี่ยนชีวิตหนู หนูก็อยากส่งต่อโอกาสตรงนี้ให้คนอื่นๆ ด้วย อยากส่งข่าวสารให้กับคนทั่วประเทศได้รู้ว่ามีทุนดีๆ แบบนี้ให้กับเราอยู่ แล้วก็ถ้าหนูมีโอกาสได้เป็นผู้ให้หนูก็จะให้ หนูมีแผนว่าถ้าสมมติหนูเรียนจบในคณะที่หนูอยากเรียนแล้วก็ทำอาชีพที่หนูอยากทำ หนูก็จะกลับมาพัฒนาอนามัยในหมู่บ้านด้วยค่ะ”