- แอปพลิเคชั่น ‘BuddyThai’ คือเพื่อนคู่ใจของเด็กและวัยรุ่นที่กำลังเผชิญกับผลกระทบด้านสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นการถูกบูลลี่ ความเครียดจากการเรียน หรือแรงกดดันจากครอบครัวและสังคม
- สิ่งสำคัญคือการทำให้พวกเขารู้เท่าทันความรู้สึกตัวเอง หรือมี Self Awareness เพื่อรับมือกับอารมณ์ที่แปรปรวน เมื่อเราเข้าใจตัวเอง เราก็จะเข้าใจผู้อื่น และเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยปกป้องตัวเราเองจากคนอื่น และป้องกันไม่ให้เราเป็นคนที่ไปทําร้ายคนอื่นด้วย
- “หลักๆ เราไม่ได้สอนให้สู้กลับเมื่อโดนบูลลี่ แต่สอนให้เด็กแข็งแกร่ง อย่าไปรู้สึกตัวเล็กตามคนอื่น เราทํายังไงก็ได้ให้เขาแข็งแรงมากพอ ไม่ว่าจะเจอการบูลลี่จากในชีวิตจริงหรือโลกออนไลน์”
“เราไม่ได้พยายามจะมาบอกว่า ให้ไปหยุดคนบูลลี่ หรือการบูลลี่ต้องหายไปเดี๋ยวนี้ แต่สิ่งที่เราพยายามพูดคือ เราเริ่มได้นะ เราเป็นคนหนึ่งคนที่สามารถเริ่มจะเข้าใจตัวเองได้”
“เรื่องลดการบูลลี่มันก็คือการสร้างสุขภาพจิตที่ดีให้กับเด็กๆ เพื่อที่จะลดบาดแผลในวัยเด็กให้กับเขา”
มุมมองที่ได้จากประสบการณ์ในการลงพื้นที่รับฟังปัญหาของเด็กนักเรียนทั่วประเทศ ถูกใช้เป็นแนวทางในการออกแบบแอปพลิเคชั่น ‘BuddyThai’ เพื่อให้เป็นเพื่อนคู่ใจของเด็กและวัยรุ่นที่กำลังเผชิญกับผลกระทบด้านสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นการถูกบูลลี่ ความเครียดจากการเรียน หรือแรงกดดันจากครอบครัวและสังคม
อ้างอิงตามสถิติของกรมสุขภาพจิต พบว่าในปี 2563 เด็กไทยถูกบูลลี่กว่า 600,000 คน ติดอันดับ 2 ของโลก ถ้านับรวมกับปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ซึมเศร้า ความวิตกกังวล ฯลฯ นี่คือปัจจัยที่ขัดขวางการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยและการพัฒนาคุณภาพของสังคมไทยในอนาคต
ที่ผ่านมาแม้ว่าหลายหน่วยงานจะให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นกันมากขึ้น แต่ข้อจำกัดหนึ่งคือการเข้าถึงและสร้างความไว้วางใจเพื่อให้สามารถดูแลและให้การช่วยเหลือเด็กๆ ได้อย่างทันท่วงที แอปพลิเคชัน ‘BuddyThai’ จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเชื่อมต่อความรู้และการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตกับเด็กๆ ที่กำลังมองหาตัวช่วยในเรื่องนี้
พีเจ-หริสวรรณ ศิริวงศ์ กรรมการผู้จัดการแอปพลิเคชัน BuddyThai บอกว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่าง บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) กรมสุขภาพจิต และกลุ่มโรงเรียนในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร โดยมีความตั้งใจที่จะให้แอปนี้เป็นเหมือน ‘เพื่อนสนิท’ และพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กในทุกเวลา ไม่ว่าจะในยามฉุกเฉิน เวลาที่เด็กรู้สึกโดดเดี่ยว หรือเวลาที่เขาไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใคร โดยมีฟังก์ชั่นฝากข้อความ ให้เด็กๆ สามารถมาเขียนสิ่งที่ตัวเองกำลังรู้สึก หรือความคิด ความกังวลในใจของเขาได้ เป็นเหมือนที่ระบายและคอยรับฟังเขา
โดยจุดเริ่มต้นในการพัฒนาแอปฯมาจากไอเดียของ กึ้ง- เฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) ที่ต้องการหยิบยกประเด็นปัญหาสุขภาพจิต และ ‘การบูลลี่’ มาพูดถึง เพราะมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวทุกคน และสามารถเกิดกับคนได้ในทุกช่วงวัย และมีความเชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้ แต่ต้องประกอบด้วยพื้นฐานที่ดีในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะ ‘ด้านสุขภาพจิต’ เพราะหากเด็กมีสุขภาพจิตที่ดี เขาก็จะสามารถจัดการกับตัวเองและสังคมรอบข้างได้ดี และเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต
“จากสถิติของกรมสุขภาพจิต มีเด็กไทยโดนบูลลี่นับแสนคน ก็เลยเป็นไอเดียของคุณกึ้งที่จึงอยากทำแอปนี้ขึ้นมา ให้เป็นพื้นที่ที่เด็กๆ สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือได้ง่ายขึ้น ได้เรียนรู้จากสื่อที่ friendly ย่อยง่าย เหมาะกับเด็กรุ่นใหม่” พีเจ กล่าว
หลังจากเปิดให้ใช้งานมาระยะหนึ่ง พบว่ามีปัญหามากมายที่เด็กกำลังต้องการความช่วยเหลือ เช่น การถูกทำร้าย ท้องไม่พร้อม ซึมเศร้า ไปจนถึงคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะมีทีมงานคอยคัดกรอง หากเป็นเรื่องฉุกเฉินจะมีการส่งต่อข้อมูลแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที
จากการเก็บข้อมูลของทีมงาน อะไรคือปัญหาที่พบมากที่สุด?
ปัญหาของเด็กทีเราพบมากที่สุดคือโรคซึมเศร้า (Depression) โดยจากการเก็บข้อมูลผ่าน School Tour ก็พบว่าปัจจัยหลักที่ทำให้เด็กเป็นซึมเศร้าคือ ‘โซเชียลมีเดีย’ เพราะมันทําให้เด็กเกิดการเปรียบเทียบกัน ทำให้เขามี Self esteem ต่ำลง เด็กเขาจะรู้สึกว่า ‘ทำไมหนูไม่เก่งอะไรเลย’ ‘หนูไม่มีอะไรดีเลย’ แม้แต่เรื่องเล็กๆ เขาก็ตั้งคำถาม เช่น ทำไมเราเต้นติ๊กต่อกแล้วไม่เห็นจะสวยเหมือนเพื่อน อะไรแบบนี้เป็นต้น พอเกิดแบบนี้ขึ้นก็จะเกิดการเปรียบเทียบและด้อยค่า หรือบางทีเด็กเขาทำอะไรสักอย่างแล้วถูกล้อเลียน
ซึ่งในยุคนี้มันไม่ใช่แค่การล้อเลียนในโรงเรียน แต่ถูกดึงไปล้อเลียนในโลกออนไลน์มากขึ้น กลายเป็น Social Bullying เพราะปัจจุบันมันมีแพลตฟอร์มที่มันเข้ามากระตุ้นให้เกิดขึ้นได้ง่ายและเร็วขึ้นค่ะ
เพราะนิยามคำว่า ‘บูลลี่’ ของเราคือการทําให้คนอื่นตัวเล็กลง ไม่ว่าด้วยวิธีไหนก็ตาม เช่น พูดกดเขา แกล้งเขา หรือทําให้เขารู้สึกว่าไม่เข้าพวก ซึ่งสามารถเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นทั้งในชีวิตจริง และในโลกออนไลน์
และจากการไปลงพื้นที่จริงทำให้เห็นว่าปัญหาการบูลลี่และปัญหาสุขภาพจิตของเด็กๆ นี่ถือเป็นประเด็นเร่งด่วนมากๆ น้องๆ เองก็มีการตระหนักรู้ถึงปัญหานี้บ้างแต่ก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมเท่าไหร่ เราได้คุยกับเด็กๆ และคุณครูในหลายๆ โรงเรียน ก็เห็นได้เลยว่าเรื่องของการบูลลี่และปัญหาสุขภาพจิตยังคงวนเวียนในสังคมอยู่เสมอ
กลุ่มเป้าหมายของเราคือเด็กประถมถึงมัธยมต้น ซึ่งเป็นวัยที่จากสถิติแล้วมีปัญหาเรื่องการบูลลี่มากที่สุด คุณกึ้งที่เป็นผู้บริหารเขาก็มองว่า เราควรแก้ปัญหานี้ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยทำให้เขาตระหนักได้ว่า สิ่งที่เขากำลังรู้สึกอยู่คืออารมณ์แบบไหน พฤติกรรมที่เขากำลังทำอยู่ก่อให้เกิดอารมณ์แบบใดและส่งผลยังไงกับคนอื่น รวมถึงเราจะรับมือกับอารมณ์ที่แปรปรวนนี้ยังไงดี
และมองว่าการเตรียมพร้อมในสิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางความคิด และเป็นที่พึ่งพาทางอารมณ์และจิตใจให้เด็กๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะถ้าเด็กและเยาวชนมีภูมิคุ้มกันที่ดี เมื่อถึงวันที่เขาต้องก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นและออกไปเผชิญโลกภายนอก เขาก็จะสามารถจัดการกับตนเองได้ รวมถึงยังสามารถกระจายความรู้เรื่องช่องทางการช่วยเหลือให้แก่เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่ถูกบูลลี่ได้เช่นกันค่ะ
ซึ่งในช่วงแรกก่อนการพัฒนาแอปพลิเคชัน บริษัทก็ได้มีการลงพื้นที่ทำกิจกรรมในรูปแบบ ‘School Tour’ หรือการลงพื้นที่ในต่างจังหวัด โดยมีจุดประสงค์หลักคือ การไปทำกิจกรรมเพื่อมอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบูลลี่ และพัฒนาทักษะต่างๆ ให้แก่เด็กๆ แต่หลังจากการทำกิจกรรมไปช่วงหนึ่ง ก็พบว่าการลงพื้นที่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนเท่าที่ควร เพราะเป็นการแก้ปัญหาแค่เฉพาะระยะสั้นๆ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้กับเด็กในระยะยาว ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถลงพื้นที่ได้ จึงเกิดเป็นไอเดียในการสร้างแอปพลิเคชันขึ้นมาให้ตอบโจทย์ความต้องการของเด็กและสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงค่ะ
ทำไมถึงต้องเป็น ‘BuddyThai’ ?
เริ่มแรกเราไม่อยากให้แอปนี้เป็นแอปที่น่ากลัว ที่พอมีติดเครื่องแล้วจะทำเด็กจะรู้สึกว่า ‘ฉันป่วยเหรอ’ หรือ ‘ฉันเป็นซึมเศร้าเหรอ’ แต่อยากให้เป็นแอปที่ทำให้เด็กรู้สึกว่ามัน Friendly (เป็นมิตร) กับเขา คําว่า ‘Buddy’ เลยถูกหยิบขึ้นมาใช้ เนื่องจากเป็นคำที่เข้าใจได้ง่ายว่าเป็นเพื่อนคู่ใจ
ซึ่งจุดประสงค์หลักของการทําแอปคือ เราอยากสร้างแพลตฟอร์มที่เป็นเพื่อนของผู้ใช้งาน เป็นสะพานเชื่อมให้ ‘คนที่ต้องการความช่วยเหลือ’ ไปเจอความช่วยเหลือที่ถูกต้อง
และเราก็มีความร่วมมือกับโรงเรียนในกลุ่มเขตกรุงเทพมหานคร ที่เป็นพาร์ทเนอร์ เพื่อที่จะลงไปทำ School Tour กับโรงเรียนกลุ่มนี้ ในการให้ความรู้และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับแอป เพราะเขาก็มีนโยบายตรงกับคอนเซ็ปต์ของเราคือ อยากทําให้โรงเรียนเป็นที่ๆ ปลอดภัยสําหรับเด็กทั้งทางกายภาพและทางความรู้สึก จึงเป็นการร่วมมือกันในเฟสแรก แล้วก็ไปร่วมกับกรมสุขภาพจิตในการดำเนินงานหลังจากนั้นถัดมา ซึ่งทางกรมสุขภาพจิตเขาก็เอาข้อมูลความรู้ในหนังสือต่างๆ มาให้เรา ส่วนเราก็ใช้ทีมพัฒนาแอปมาย่อยข้อมูลจากเขาให้เข้าใจง่ายและสนุก เพราะต้องทำให้ดึงดูดเด็กเข้ามา เพื่อที่จะสามารถดึงเขาจากการเล่นโซเชียลอื่นๆ มาเข้าแอปเราทุกวันให้ได้
โดยจุุดเด่นของ BuddyThai ที่เห็นได้ชัดคือ เราเป็นแอปที่มี 3 เลเวล คือ PRE-ON-POST หมายถึงก่อนถูกบูลลี่ ตอนที่ถูกบูลลี่ และหลังการถูกบูลลี่ ซึ่งช่วงก่อนถูกบูลลี่ก็ต้องทำให้เขารู้ว่าควรเข้าใจอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง เข้าใจว่าการบูลลี่คืออะไร และเมื่ออยู่ในสถานการณ์นั้นต้องแก้ไขยังไง ส่วนนี้ก็จะเป็นการให้ความรู้เชิงรุกที่จะอยู่ในฟีเจอร์ของแอป และให้ข้อมูลความรู้ต่างๆ
ส่วนช่วง ON หมายถึงในวันที่อยู่ในสถานการณ์นั้น เช่น กําลังโดนทําร้าย กําลังเศร้ามากๆ เราก็มีปุ่ม SOS หรือปุ่มขอความช่วยเหลือ ที่ไม่ว่าเด็กจะอยู่ที่ไหนเราก็จะเชื่อมต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้
และช่วง POST หมายถึง เมื่อเราโดนบูลลี่แล้ว เรากําลังอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูใจตัวเอง หรืออยากเข้าใจตัวเอง ก็จะมีฟีเจอร์ Mood Tracking ให้ประเมินอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง และสามารถเข้ามาดูได้ว่าภาพรวมความรู้สึกของเราเป็นอย่างไร ดีขึ้นมั้ยหรือแย่ลง นอกจากนี้เราก็มีการวางแผนในเฟสที่ 2 ว่าจะพัฒนาในเรื่องการติดตามผลให้มีการเชื่อมต่อกันอย่างลื่นไหล ไร้รอยต่อ เช่น เมื่อส่งเคสให้กับจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ก็จะสามารถติดตามผลเรื่อยๆ ได้ เพราะเราจะคอยดูแลเด็กจนกว่าจะปิดเคส
ซึ่งในปี 2024 นี้เรามีแผนเพื่อจะเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานมากขึ้น โดยมีการจัด School tour ตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อไปให้ความรู้เรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น ว่าจริงๆ เรื่องนี้มันสำคัญมากนะ และเราก็มีอีกช่องทางหนึ่งที่จะเป็นตัวช่วย เป็นที่ปรึกษาให้กับน้องๆ ได้ ณ ตอนนี้เราจับมือกับสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นน้องๆ ที่เข้าใจเรื่องปัญหาของเด็กจริง ๆ
และเรายังได้จัดกิจกรรมร่วมกับทางหน่วยงานกรุงเทพมหานครที่เล็งเห็นปัญหาในจุดเดียวกันนี้เช่นกัน การลงพื้นที่ไปประชาสัมพันธ์ BuddyThai Application ทำให้ได้เจอเด็กๆ จากหลากหลายกลุ่มมากๆ ทำให้เขาได้รู้จักและลองใช้งานจริง รวมถึงเรายังมีแผนที่จะสนับสนุนให้คุณครู รวมถึงผู้ปกครองหันมาใช้แอปนี้เพื่อสอดส่องพฤติกรรมของเด็กๆ ด้วยเช่นกันค่ะ โดยอาจขยายผลในเฟสถัดไปค่ะ
แล้วแต่ละฟีเจอร์ในแอปสามารถช่วยเด็กได้อย่างไรบ้าง?
ประเด็นหลักคือ เราต้องการให้ผู้ใช้รู้สึกว่าแอปเรามีประโยชน์สําหรับเขา ซึ่งฟีเจอร์หลักที่มีตอนนี้คือ Mood Tracking, แบบสอบถาม-แบบฝึกหัด และปุ่ม SOS ฉุกเฉิน
อย่างการทํา Mood Tracking ก็เป็นการทำให้เด็กรู้เท่าทันความรู้สึกตัวเอง หรือมี Self Awareness คือได้รู้ว่าตอนนี้เขากำลังสะสมความเครียดอยู่นะ ตอนนี้เขาต้องการความช่วยเหลือ ทำให้เขาได้สังเกตตัวเองว่า เอ๊ะ ทำไมเราเศร้าต่อเนื่อง หรือเรามีความสุขต่อเนื่อง
โดยคำว่า ‘Self Awareness’ ในที่นี้คือคีย์เวิร์ดหลักที่จะช่วยสร้างให้เด็กเรียนรู้ที่จะแข็งแกร่งมากพอที่จะอยู่ได้ในทุกสถานะ โดยการสร้างเกราะป้องกันให้ตัวเอง
นอกจากนี้ เมื่อเราเข้าใจตัวเอง เราก็จะเข้าใจผู้อื่น และเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้มากขึ้น ซึ่งก็เป็นขั้นตอนของมัน ที่เมื่อเราเห็นว่าเรามีข้อดีอะไร มีข้อเสียอะไร เราก็จะเริ่มเห็นคนอื่นว่าเขาก็เก่งในเรื่องของเขา และมีข้อดีหรือข้อเสียที่แตกต่างออกไปไม่เหมือนกับเรา พอเรายอมรับในความแตกต่างได้ ปัญหาเรื่องการบูลลี่ก็จะน้อยลง
ส่วนแบบสอบถามและแบบฝึกหัด จุดประสงค์หลักคือต้องการจำลองเป็นเพื่อนชวนคิดและเพื่อนที่ให้ความรู้ ซึ่งรูปแบบของส่วนนี้คือการแปลงแบบสอบถามที่มันยากๆ ให้สนุก ด้วยกับกับกับผู้ใช้งาน โดยการสร้างสถานการณ์สมมติขึ้นมาให้เด็กเลือกตอบ ว่าถ้าเป็นเขาจะเลือกทางไหน หากเด็กตอบผิดก็จะมีคำอธิบายเด้งขึ้นมาทำให้เขาเข้าใจมากขึ้น อันนี้ก็จะเป็นส่วนที่ช่วย Educate สานต่อ ว่าเมื่อเด็กเขาเริ่มเข้าใจความแตกต่าง เริ่มรู้เท่าทางความรู้สึกตัวเองแล้ว ถัดมาก็ต้องรู้จักการอยู่รอดในสังคม รู้ว่าหากเกิดเหตุการณ์นี้ฉันต้องทํายังไง หรือ สิ่งที่ฉันเป็นอยู่เรียกว่าอะไร แล้วส่งผลอะไรบ้าง
ฟีเจอร์สำคัญสุดท้ายคือ ปุ่ม SOS เป็นพื้นที่ที่เด็กสามารถขอความช่วยเหลือได้ทันที จุดประสงค์หลักคือ เราอยากจะตอบโจทย์ในเรื่องของการที่เด็กไม่รู้ว่าจะไปขอความช่วยเหลือจากไหนดี ที่ไหนคือที่ที่ถูกต้อง นี่ก็จะเป็นการแมตช์ให้ถูกเรื่อง เช่น คิดฆ่าตัวตาย ต้องโทรเบอร์นี้ หรือถูกทําร้าย ต้องโทรอีกเบอร์หนึ่ง ฟีเจอร์นี้เป็นอีกทางหนึ่งที่เราช่วยชี้ช่องให้เขารู้ว่าทุกปัญหามีทางออกค่ะ
ซึ่งหลังจากเปิดตัวแอปอออกไป มีผลตอบรับในทางที่ค่อนข้างดีค่ะ เพราะตอนนี้ก็มียอดดาวน์โหลดกว่า 5,000 ดาวน์โหลด แล้วก็มีคนเข้ามาใช้งานฟีเจอร์ SOS เป็นหมื่นๆ ครั้ง ก็เห็นได้เลยว่าผู้ใช้งานที่ใช้ประโยชน์จากแอปที่เราพยายามพัฒนาได้อย่างดีเลยค่ะ
โดยกลุ่มเป้าหมายที่เราลงไปทำงานด้วยก็จะมีตั้งแต่มัธยมต้นและมัธยมปลาย แต่ช่วงอายุของผู้ใช้งานจริงค่อนข้างโตกว่ากลุ่มเป้าหมายที่เราคาดไว้ เนื่องจากตอนแรกเราคิดว่าเป็นกลุ่มอายุ 9-15 ปี แต่ในความจริงคือเป็นกลุ่มวัยมัธยมไปจนถึงพ้นมัธยม แต่จากฟีดแบ็คของคุณครู เขาก็บอกว่าแอปนี้อาจจะเหมาะกับเด็กโตมากกว่า ที่เขาพอจะคิดวิเคราะห์แยกแยะได้ว่าเขากำลังอยู่ในสถานการณ์ไหน และกำลังประสบปัญหาอะไร
เรามองเห็นแนวทางการพัฒนาแอปในอนาคตมากขึ้นด้วยค่ะ การทำ School Tour ได้รับการร่วมมือกับน้องๆ สภาเด็กแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความตระหนักรู้ และรู้เท่าทันปัญหาเด็กและเยาวชนในประเทศไทยเป็นอย่างดี แล้วก็จากการลงพื้นที่ School Tour ตามโรงเรียนต่างๆ ก็ทำให้เราได้รับฟีดแบ็คจากเด็ก ผู้ปกครองและคุณครูอยู่เสมอ เพราะเขามองว่าในบางเรื่องครูก็เข้าไปช่วยเหลือไม่ทัน หรือบางครั้งตัวผู้ปกครองเองก็อาจจะเป็นต้นเหตุที่ทำให้เด็กเครียด แอปบัดดี้เลยวางตัวให้เป็นเสมือนเพื่อนที่ทุกคนสามารถไว้ใจได้ค่ะ
ตอนที่ไปลง School Tour มีกระบวนการทำงานและสื่อสารกับเด็กยังไง?
จริงๆ เรื่องการบูลลี่ก็มีคอนเซ็ปต์เหมือนกับแคมเปญหยุดใช้ถุงพลาสติก เพื่อลดโลกร้อน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนเรามองไม่เห็นภาพว่าการหยุดใช้แค่คนเดียวจะส่งผลอะไร
รู้แค่ว่าเป็นปัญหาใหญ่ แต่ก็เหมือนจับต้องไม่ได้ ทำให้ไม่รู้ว่าควรเริ่มที่ตรงไหน แต่ถ้าเราทำให้ทุกคนมองเห็นเป็นภาพในฐานะคนหนึ่งคน ที่ถ้าเราไม่เริ่ม แล้วใครจะเริ่ม การที่คนหนึ่งคนเริ่ม มันก็จะเป็นการสร้างตัวอย่างให้คนรอบข้างเห็นและสร้างอิทธิพลให้คนอื่นทำตามได้ ทำให้สิ่งที่เราทำกลายเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งในการสร้างสังคมที่ดีค่ะ
เพราะเราไม่ได้พยายามจะมาบอกว่า ให้ไปหยุดคนบูลลี่ หรือการบูลลี่ต้องหายไปเดี๋ยวนี้ ทุกอย่างต้องเป็นศูนย์ แต่สิ่งที่เราพยายามเข้าไปพูดคือ เราเริ่มได้นะ เราเป็นคนหนึ่งคนที่สามารถเริ่มจะเข้าใจตัวเองได้ นี่คือคอนเซ็ปต์ของเรา ที่รู้สึกว่าการได้ลงพื้นที่ และการได้เข้าไปเจอเด็กยังคงเป็นเรื่องสําคัญที่เราจะไปให้กําลังใจเขา
ซึ่งตอนลงพื้นที่เราไม่ได้มีเวลาเยอะมากพอที่จะอยู่กับเด็กทั้งวัน แต่เป็นการเข้าไปในช่วงพักเที่ยงสั้นๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเข้าไปก็ต้องเข้าถึงเด็กด้วยความสนุก โดยตั้งจุดประสงค์หลักของกิจกรรมให้เชื่อมโยงกับสิ่งที่เราต้องกรสื่อสาร เช่น ให้เล่นเกมกอดคอกัน โยกซ้ายโยกขวาโดยห้ามล้ม จุดประสงค์ของกิจกรรมนี้คือทำให้เด็กเขาเห็นภาพเปรียบเทียบว่า หากเราอยู่คนเดียว เราก็ไม่รู้หรอกว่าเราจะล้มหรือไม่ล้ม แต่ถ้าเรามีเพื่อนที่ช่วยพยุงกัน มีคนข้างๆ คอยดึงขึ้นมา ก็จะทำให้เราแข็งแรงมากขึ้น
หรือกิจกรรม ‘Pass Love Forward’ คือการเขียนกระดาษโน้ตขอบคุณคนข้างๆ แล้วส่งต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเต็มกระดาษ เราก็จะอธิบายเขาว่า การชื่นชมกันนั้นเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ชมอะไรก็ได้ แต่เราทำให้ทุกอย่างเป็นไปในทางบวกก็พอ อันนี้เราก็เหมือนสอนให้เขารู้จักแสดงออกอารมณ์ในทางบวกให้แก่คนอื่น โดยเริ่มจากอะไรง่ายๆ และสามารถเริ่มต้นได้ด้วยตัวเอง
นอกจากนี้ก็มีการเชิญวิทยากร หรือแขกรับเชิญจากหลากหลายวงการ เช่นจากสภาเด็กบ้าง จากกลุ่มนักร้องบ้าง หรืออินฟลูเอนเซอร์ใน TikTok มาพูดถึงประเด็นเรื่องการบูลลี่ เพื่อที่จะทำให้เด็กเขารู้สึกว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ในฐานะไหนก็ล้วนเคยมีประสบการณ์ร่วมเหมือนกับเขา
แต่หลักๆ เราไม่ได้สอนให้สู้กลับเมื่อโดนบูลลี่ แต่สอนให้เด็กแข็งแกร่ง อย่าไปรู้สึกตัวเล็กตามคนอื่น เราทํายังไงก็ได้ให้เขาแข็งแรงมากพอ ไม่ว่าจะเจอการบูลลี่จากในชีวิตจริงหรือโลกออนไลน์
นอกจากนี้ เราก็เข้าไปให้ความรู้แก่เด็กในหลากหลายรูปแบบเพื่อให้เด็กรับรู้สิทธิของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการถูกคุ้มครองอย่างถูกต้อง การขอความช่วยเหลืออย่างถูกต้อง และสิทธิในการดํารงชีวิตด้วยค่ะ
จากประสบการณ์ในการลงพื้นที่และรวบรวมข้อมูลสำหรับทำแอปนี้ คิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยสร้างสุขภาพจิตที่ดีให้กับเด็กคืออะไร?
เรื่องการรู้เท่าทันตัวเอง หรือ Self awareness ก็เป็นเรื่องสำคัญค่ะ เพราะมันทําให้เรารู้ว่าเราคิดอะไรอยู่ เป็นแบบไหนอยู่ เพราะฉะนั้นมันก็จะช่วยปกป้องตัวเราเองจากคนอื่น และป้องกันไม่ให้เราเป็นคนที่ไปทําร้ายคนอื่นด้วย ทำให้เราเห็นความรู้สึกตัวเอง เห็นข้อดีและข้อเสียของตัวเอง และยอมรับตัวเองว่าความแตกต่างของเรามันคือไม้บรรทัดของเราเอง
เพราะการมี Self awareness จะนำไปสู่การสร้าง Self Esteem ที่ทําให้เด็กมั่นใจในการเป็นตัวเองมากขึ้น และนี่คือกุญแจสําคัญในการที่เขาจะแข็งแกร่งและอยู่ในสังคมนี้ได้ และนอกจากนี้การเข้าใจตัวเองก็จะส่งผลให้เริ่มเข้าใจผู้อื่น และเมื่อเข้าใจผู้อื่นเราจะเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้นค่ะ
เพราะจริงๆ เรื่องลดการบูลลี่มันก็คือการสร้างสุขภาพจิตที่ดีให้กับเด็กๆ เพื่อที่จะลดบาดแผลในวัยเด็กให้กับเขา แต่พูดถึงเรื่องสุขภาพจิตแล้ว มันก็เป็นสิ่งที่จับต้องยากมาก เหมือนเป็นสิ่งที่อยู่ใต้ภูเขาน้ําแข็ง ที่เราไม่เคยเห็นมันเลยว่าหน้าตาเป็นยังไง ไม่เคยรู้เลยว่าเกิดขึ้นตอนไหนด้วยซ้ํา แต่มันคือสิ่งที่หล่อหลอมให้เราเติบโตมากลายเป็นคนคนหนึ่ง
เพราะฉะนั้นวัยเด็กคือวัยที่กำลังสร้างภูเขาน้ําแข็ง ที่กำลังสร้างฐานข้างล่างจนกลายมาเป็นตัวตนของเขาที่จะต้องใช้ชีวิตต่อไปในสังคม นี่จึงเป็นจุดที่สําคัญมาก
อีกสิ่งสำคัญเลยคือพ่อแม่ ครู และผู้ปกครอง ที่เป็นคนที่จะช่วยเด็กๆ สร้างภูเขาน้ำแข็ง และผลักดันและร่วมด้วยช่วยกันกับเด็กให้เขาเติบโตมาอย่างมีคุณภาพให้ได้ คอยเป็นกำลังใจ และพื้นที่ปลอดภัยให้กับเขา รวมถึงอยู่ข้างๆ เขาด้วยความเข้าใจ ว่าเด็กยุคนี้มีความกดดันของเขา เพราะผู้ใหญ่ต้องเข้าใจก่อนว่าในวัยเรายังไม่มีโซเชียลมีเดีย สภาพสังคมของเราแตกต่างกัน เราเลยไม่ควรเอาไม้บรรทัดของเราไปวัดหรือตัดสินใคร
เพราะไม้บรรทัดในโลกใบนี้มีมากมายเต็มไปหมด ทั้งไม้บรรทัดของสังคม ไม้บรรทัดของโลก ไม้บรรทัดของโรงเรียน หรือไม้บรรทัดของบริษัท เพราะความคาดหวังของแต่ละคนนั้นมีเต็มไปหมด แต่สิ่งที่ยากคือการเลือกไม้บรรทัดให้ตัวเอง
ดังนั้นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองคือการช่วยเหลือและนําพาให้เด็กเขาได้พบเจอกับไม้บรรทัดที่ดีที่สุดของเขา เพื่อที่เขาจะสามารถเป็นตัวเองได้อย่างมั่นใจ และเติบโตอย่างมีความสุขในสังคมที่เขาอยู่ค่ะ