- Pedagogy of Hope หนังสือที่บอกเล่าความทรงจำแห่งการเดินทางของชีวิต Paulo Freire ผู้เขียน ก่อนและหลังการลี้ภัยทางการเมือง หลังรัฐบาลทหารยึดครองอำนาจในบราซิล ชีวิตที่ต้องระหกระเหินไปยังที่ต่างๆ พัดพาให้เขาได้พบและสนทนากับผู้คนจากหลายแง่มุม ทั้งหมดคือกระบวนการทางการศึกษาที่เขาได้เรียนรู้ ก่อร่างเป็นตัวตนของเขา และเป็นจุดยืนที่เขามีต่อโลกที่อยุติธรรม
- ‘class knowledge’ หรือ ความรู้ของชนชั้น เป็นเรื่องที่นักการศึกษาควรทำความเข้าใจมากขึ้น เรียนรู้ว่าโลกที่คนอื่น (ที่ไม่ใช่เรา) ดำรงอยู่บนเงื่อนไขอะไร จะช่วยให้เราเปิดโปงสภาพความเป็นจริงและเปลี่ยนแปลงมันได้จากใจกลางปัญหา ไม่ใช่การกล่าวโทษปัจเจกหรือมองว่าพวกเขาไร้ซึ่งอำนาจในตัวเอง
- สำหรับ Freire การศึกษาต้องทำให้ผู้คนตระหนักว่า ตัวเขาเองไม่ใช่วัตถุที่ถูกวัดจากนักการศึกษาหรือเจ้าผู้ปกครองว่าเขารู้หรือไม่รู้อะไร ทุกคนมีความสามารถที่จะรู้ และมีความปรารถนาที่จะรู้
เรื่องเล่าในความทรงจำของใครสักคนอาจไม่ใช่เพียงการจดจำว่าเกิดอะไรขึ้น ที่ไหน และเมื่อไหร่ แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ของคนคนหนึ่ง ผ่านการได้ยิน สัมผัส และรู้สึก จนนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่อตัวตนและต่อโลกที่ดำรงอยู่
Pedagogy of hope: reliving pedagogy of the oppressed เป็นหนึ่งในงานเขียนของ Paulo Freire ที่ทำหน้าที่แบบนั้น หนังสือได้บอกเล่าความทรงจำแห่งการเดินทางของชีวิตเขา ทั้งก่อนและหลังการตีพิมพ์การศึกษาของผู้ถูกกดขี่ (Pedagogy of the oppressed) หนังสือซึ่งทรงอิทธิพลที่สุดเล่มหนึ่งในวงการการศึกษาเชิงวิพากษ์ ในอีก Timeline หนึ่งมันคือชีวิตของเขาก่อนและหลังการลี้ภัยทางการเมือง หลังรัฐบาลทหารยึดครองอำนาจในบราซิล ชีวิตที่ต้องระหกระเหินไปยังที่ต่างๆ พัดพาให้เขาได้พบและสนทนากับผู้คนกลุ่มต่างๆ จากหลายแง่มุม
หนังสือ Pedagogy of Hope จึงไม่ใช่งานทฤษฎีแบบเดียวกับ Pedagogy of the oppressed ที่เน้นนำเสนอความคิด และการทำความเข้าใจอำนาจความรู้ การครอบงำ และการปลดแอกจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่อย่างเป็นระบบ แต่เป็นเสมือนอัตชีวประวัติ ที่ Freire ได้เดินทางย้อนกลับไปในความทรงจำในจังหวะช่วงเวลาที่แตกต่างของช่วงชีวิต ด้วยการระลึกถึงมัน รู้สึกกับมัน และสนทนามันอีกครั้ง ทั้งหมดนี้คือกระบวนการทางการศึกษาที่เขาได้เรียนรู้ ก่อร่างเป็นตัวตนของเขา และเป็นจุดยืนที่เขามีต่อโลกที่อยุติธรรม
ความรู้ของชนชั้น
ปี 1950 เป็นช่วงเวลาสำคัญของ Freire เมื่อเขาได้เริ่มทำงานกับศูนย์ SESI อย่างจริงจัง และได้ดำเนินโครงการวิจัยเพื่อศึกษาความเข้าใจด้านปฏิบัติการศึกษาในครอบครัว กว่า 1000 ครอบครัวในเมือง Recife ของบราซิล เขาเล่าว่า การวิจัยของเขาไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรมากนัก เป็นเพียงการสัมภาษณ์พ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับลูกๆ อาทิ การลงโทษ การให้รางวัล เหตุผลของการลงโทษ และปฏิกริยาของเด็กๆ แต่สิ่งที่ทำให้ Freire ประหลาดใจคือการไปเยือนหมู่บ้านชาวประมงแห่งหนึ่งที่ดูเหมือนว่าผู้คนจะได้ทำงานอย่างคนที่รักอิสระอย่างการออกเรือไปในมหาสมุทร แต่พวกเขากลับใช้ความรุนแรงในการลงโทษเด็กๆ และเด็กเองก็ถูกคาดหวังจากพ่อแม่ให้ต้องอดทนต่อการลงโทษ ด้วยความเชื่อว่าการลงโทษอย่างหนักจะทำให้พวกเขาเป็นคนที่แข็งแกร่งและเอาตัวรอดจากโลกภายนอกที่โหดร้ายได้ ในตอนนั้น เขาเห็นว่าสิ่งนี้สะท้อนถึงอุดมการณ์อำนาจนิยม (authoritarian ideology) ที่ถูกผลิตซ้ำผ่านความสัมพันธ์ในชีวิตประจำวันของเรา ระหว่างผู้ปกครองและเด็ก หรือระหว่างครูและนักเรียน
หลังจากได้ข้อสรุป Freire มีโอกาสได้เดินทางไปนำเสนอและพูดเกี่ยวกับปัญหาการลงโทษในเมืองต่างๆ ของบราซิล ทว่า มีการบรรยายครั้งหนึ่งที่มีความหมายต่อเขาอย่างมากและยากที่จะลืม ชายคนหนึ่งที่เข้ามาฟังการบรรยายได้ตอบโต้กับเขาอย่างจริงจัง หลังจากที่ Freire ได้บรรยายว่า การเลี้ยงดูลูกควรอยู่บนพื้นฐานของความรักมากกว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรง
ชายคนนี้แสดงความคิดเห็นและความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมาว่า Freire ไม่ได้เข้าใจชีวิตของชนชั้นล่างอย่างพวกเขาดีเท่าไหร่นัก Freire ก็เป็นคนคนหนึ่งที่กำลังยืนอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ต่างจากโลกที่พวกเขายืน ซึ่งปรากฏให้เห็นความแตกต่างระหว่างโลกของชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง ในโลกที่ใครหลายคนยืนอยู่อาจเป็นตำแหน่งที่เด็กๆ มีห้องนอนเป็นของตัวเอง มีห้องครัว ห้องอาบน้ำ ห้องอ่านหนังสือ ที่ที่ผู้คนในบ้านมีเวลาและสร้างความทรงจำดีๆ ร่วมกันได้ แต่ในโลกของชายคนนี้ บ้านที่เขาอาศัยอยู่กับลูกๆ มีพื้นที่จำกัด ขาดแคลนข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต ตัวเขาเองต้องทำงานอย่างหนักเพี่อเลี้ยงดูลูกๆ ร่างกายจึงอ่อนแรงเหนื่อยล้าในแต่ละวัน การจะมีความฝันเพื่อวันพรุ่งนี้เป็นสิ่งต้องห้าม เช่นเดียวกับความสุขหรือความหวัง เขาบอกกับ Freire ว่า
“คุณรู้ไหม ชีวิตเราต่างกัน ลองจินตนาการว่าคุณเป็นผม ที่ต้องกลับบ้านมาเหนื่อยๆ เครียดจากงานที่ทำ แล้วเห็นเด็กกำลังทำบ้านสกปรก หิว ร้องไห้ หรือทำเสียงดัง ในขณะที่คุณต้องรีบเข้านอนในแต่ละวันเพื่อตื่นเข้าไปทำงานในวันพรุ่งนี้ให้ไหว คุณจะทำอย่างไร?”
เขาปิดท้ายด้วยการบอกกับแฟร์ว่า ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่รักลูก แต่เพราะชีวิตมันยาก พวกเขาจึงไม่มีทางเลือกอะไรมากนัก
สำหรับ Freire นี่คือ ‘class knowledge’ หรือ ความรู้ของชนชั้น ที่นักการศึกษาควรทำความเข้าใจให้มากขึ้น นั่นคือการเข้าใจว่าโลกที่คนอื่น (ที่ไม่ใช่เรา) ดำรงอยู่บนเงื่อนไขรูปธรรมของความเป็นจริงอย่างไร หรือในอีกทางหนึ่งคือ การเรียนรู้ที่จะมองโลกจากตำแหน่งแห่งที่ของคนอื่นว่าเขากำลังอยู่ในเงื่อนไขความสัมพันธ์แบบไหน ทำไมเขาถึงตัดสินใจหรือกระทำการแบบนั้น ผ่านการเข้าใจไวยากรณ์ (syntax) และ สัญญะ (semantic) เพราะการทำความเข้าใจจากแง่มุมนี้จะช่วยให้เราเปิดโปงสภาพความเป็นจริงและเปลี่ยนแปลงมันได้จากใจกลางปัญหา ไม่ใช่การกล่าวโทษปัจเจกอย่างง่ายดาย หรือมองว่าพวกเขาไร้ซึ่งอำนาจในตัวเอง
นัยยะของการสนทนาระหว่าง Freire กับชายคนนี้ ยังเป็นการเรียนรู้ครั้งสำคัญที่ทำให้เขาคิดใหม่เกี่ยวกับ ‘pedagogy’ นั่นคือการศึกษาต้องให้ความสำคัญกับความรู้ของประสบการณ์การดำรงอยู่ของมนุษย์คนหนึ่งๆ (knowledge of living experience) ที่ได้ถูกย้ำในหนังสือ pedagogy of the oppressed ในเวลาต่อมา
คุณรู้ แต่เราไม่รู้ เราจึงควรเงียบ ?
หลังรัฐบาลทหารปกครองบราซิล Freire ต้องลี้ภัยไปใช้ชีวิตอยู่ที่ชีลี และทำงานด้านสังคมอยู่หลายปี เขาเล่าว่ามีโอกาสได้เดินทางไปยังที่ต่างๆ ในชีลี ได้มีเพื่อนร่วมทางเป็นคนหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าของชีลี และได้ฟังชาวนาพูดคุยเกี่ยวกับสภาพความเป็นจริงที่เผชิญอยู่เกี่ยวกับการปฏิรูปการเกษตร (agrarian reform) ในการต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดิน เสรีภาพของการผลิต รวมถึงสิทธิในการเข้าถึงความรู้และวัฒนธรรม ฯลฯ
ที่เมืองแห่งหนึ่ง Freire ได้พบเพื่อนชาวนาในค่ำคืนของการสนทนา ชาวนาเอ่ยปากบอกกับเขาว่า พวกเขาไม่มีความรู้อะไรเลย แต่ Freire คือคนที่มีความรู้และควรบอกว่าพวกเขาควรทำอะไร อันที่จริงประโยคแบบนี้เป็นสิ่งที่เขาได้ยินอยู่บ่อยครั้งในการเดินทางไปที่ต่างๆ ลึกลงไปมันคือโลกทัศน์ความสัมพันธ์แบบการศึกษาแบบเจ้าผู้ปกครอง (elitist) กับผู้อยู่ใต้การปกครอง ที่ฝ่ายหนึ่งกำหนดว่าอะไรคือความรู้ และอีกฝ่ายคือคนที่คอยรับความรู้นั้นมา หรือที่แฟร์เรียกมันว่า การศึกษาแบบฝากธนาคาร (Banking Education)
สำหรับ Freire การศึกษาต้องเป็น populist หรืออยู่ข้างมวลชน เป็นการกระทำร่วมกัน การศึกษาต้องทำให้ผู้คนตระหนักว่า ตัวเขาเองไม่ใช่วัตถุที่ถูกวัดจากนักการศึกษาหรือเจ้าผู้ปกครองว่าเขารู้หรือไม่รู้อะไร แต่เขาสามารถเห็นว่าตัวเองเรียนรู้ได้ ทุกคนมีความสามารถที่จะรู้ และมีความปรารถนาที่จะรู้ ดังนั้น เราไม่ควรจัดวางให้เขาเป็นผู้ไร้เดียงสา หรือทะนุถนอมให้เขาด้วยรอยยิ้มมากกว่าจะตั้งคำถามใดๆ หรือเติมเต็มความเงียบลงไปด้วยการพร่ำบอกว่าพวกเขาไม่รู้อะไร แต่การศึกษาคือการยอมรับและสร้างปัญหาลงไปในการสนทนาร่วมกัน
ด้วยเหตุนี้ในค่ำคืนนั้น Freire จึงชวนชาวนาเล่นเกมหนึ่ง เป็นเกมง่ายๆ ที่ผลัดกันถามคำถามๆ หากใครตอบได้ก็จะได้คะแนนไป ต่างฝ่ายต่างสลับกันถามและตอบ แล้วก็ต่างฝ่ายก็ต่างตอบคำถามอีกฝ่ายไม่ได้ เช่น Freire ถามชาวนาว่าอะไรคือความคิดสำคัญของมาร์กซ์และเฮเกล ชาวนาตอบไม่ได้ ในทางตรงกันข้ามชาวนาถามเขากลับว่า soil liming คืออะไร เขาก็ตอบไม่ได้เช่นกัน
เขาไม่ได้จบเกมด้วยการบอกว่า ทำไมเขาควรเล่นเกมนี้ แต่ในทางกลับกันเขาได้ชวนสนทนาลึกซึ้งมากขึ้น ไม่ใช่ว่าตัวเขาจะรู้ไปหมด และก็ไม่ใช่ว่าชาวนาจะไม่รู้อะไรเลย เราต่างมีส่วนที่เรารู้และไม่รู้ แต่คำถามที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ “ทำไมผมรู้บางสิ่ง แต่พวกคุณไม่รู้” Paulo Freire ถาม ในตอนนั้นเองชาวนาก็เริ่มถกเถียงกันอย่างเข้มข้น พวกเขาเริ่มมองเห็นจากโลกประสบการณ์ของพวกเขาที่ไม่ได้ไปโรงเรียน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่โชคชะตาจากพระเจ้า แต่มันคือโครงสร้างทางสังคมที่กลุ่มคนในบางชนชั้นได้รับประโยชน์มากกว่าคนอีกกลุ่ม Freire เห็นว่านี่คือสิ่งสำคัญของการศึกษา คือต้องทำให้ผู้คนสามารถพัฒนาภาษาของการต่อสู้ขึ้นมาได้
นี่คือเรื่องเล่าจากความทรงจำหนึ่งใน Pedagogy of Hope ที่ไม่ได้บอกเพียงว่า Paulo Freire เรียนรู้และแปรเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้เป็นความหวังและการต่อสู้ในช่วงชีวิตของเขาอย่างไร แต่ยังเป็นบทสนทนาให้เราในฐานะคนทำงานการศึกษากลับมาทบทวนว่าเรากำลังมองเห็นใครบางคนจากตำแหน่งแห่งที่แบบไหน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น และความเข้าใจนั้นนำมาสู่การให้ความหมายการศึกษาอย่างไร
หมายเหตุ
หยิบยกมาจากบางส่วนจากบทที่ 1 ของหนังสือ Pedagogy of Hope: Reliving Pedagogy of the Oppressed (ฉบับ Bloomsbury Revelations ตีพิมพ์ปี 2014)