- ‘การอ่าน’ สัมพันธ์กับพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างมาก ทั้งการสื่อสาร ทั้งภาษาต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาตนเอง และเป็นต้นทุนที่เปลี่ยนชีวิตเด็กคนหนึ่งได้เลย
- หมอแพม – พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี เจ้าของเพจ ‘หมอแพมชวนอ่าน’ ชวนมองถึงความสำคัญของ ‘การอ่าน’ ที่ไม่ใช่แค่การอ่านออกเขียนได้ แต่รวมไปถึง ‘การอ่านจับใจความ’ ซึ่งเป็นทักษะที่ผู้ใหญ่ควรให้ความสำคัญ และเริ่มลงทุกฝากประจำไว้ให้เด็กตั้งแต่ตอนนี้
- การอ่านเริ่มได้ตั้งแต่ที่บ้าน พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง เมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาหลักสูตรควรเน้นให้เด็กอ่านจับใจความ ฝึกคิดวิเคราะห์ และนำความรู้ไปใช้ได้จริง รวมถึงนโยบายรัฐควรส่งเสริมให้เด็กทุกคน โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบางเข้าถึงหนังสือตั้งแต่แรกเกิด เช่น จัด welcome bag หนังสือ 3 เล่มให้กับคุณแม่
“ภาษาเป็นภาชนะของความคิด ยิ่งเรามีภาษาเยอะ เราก็มีภาชนะใบใหญ่ที่จะใช้บรรยายความคิด ความรู้สึกของตัวเอง…”
“มนุษย์เราคิดเป็นภาษา ถ้าเรามีภาษาในการอธิบายสิ่งที่เราคิดได้ดีกว่า มันก็จะแสดงออกได้ดีกว่า มีพัฒนาการที่ดีกว่า ทั้งเรื่องควบคุมตัวเอง ทั้งเรื่องการสื่อสารกับคนอื่น ท้ายที่สุดแล้วพอสื่อสารกันเข้าใจ สามารถบอกความต้องการได้ เด็กเขาจะมีความสงบภายใน”
หมอแพม – พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี กุมารเวช ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และเจ้าของเพจ ‘หมอแพมชวนอ่าน’ ชวนมองถึงความสำคัญของ ‘การอ่าน’ ที่ไม่ใช่แค่การอ่านออกเขียนได้ แต่รวมไปถึง ‘การอ่านจับใจความ’ ซึ่งเป็นทักษะที่ผู้ใหญ่ควรให้ความสำคัญ และเริ่มลงทุกฝากประจำไว้ให้เด็กตั้งแต่ตอนนี้
นอกจากนี้หมอแพมยังชวนวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาการอ่านของเด็กไทย ที่มีค่าเฉลี่ยลดลงในทุกๆ ปี เห็นได้ชัดจากผลคะแนนสอบ PISA ปี 2022 ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากเมื่อปีที่ผ่านมา
ผลคะแนน PISA สะท้อนว่าเด็กสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้หรือเปล่า
PISA คืออะไร? ข้อมูลจากเว็บไซต์ Pisa Thailand อธิบายไว้ว่า คือโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment) ที่ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD
“หมอเองก็รู้จัก PISA จากการดู TED Talk ของ เซอร์ เคน โรบินสัน (Sir Ken Robinson) แล้วก็ตามหนังสือของเขาที่ชื่อ The creativity school เล่าเกี่ยวกับเรื่องการสอบ PISA ซึ่งจริงๆ แล้วการสอบ PISA ไม่ได้บอกว่าเด็กประเทศนั้นเก่งหรือไม่เก่ง แต่บอกว่าเด็กประเทศนั้นได้รับการศึกษาอยู่ในระบบ และระบบทำให้เขามีความสามารถมากพอที่จะเอาความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้หรือเปล่า นี่คือวัตถุประสงค์ของการสอบ PISA”
และเนื่องจากหมอแพมเองก็เป็นมนุษย์แม่คนหนึ่งด้วยเช่นกัน ซึ่งโจทย์หลักๆ ของคนเป็นพ่อเป็นแม่ก็คือ “เราอยากทำให้ลูกเรามีชีวิตที่ดี หนึ่งในเครื่่องมือที่จะทำให้ลูกเรามีชีวิตที่ดีมันคือการศึกษา” ซึ่งก็จะมีคำถามต่อว่า แล้วการศึกษาของประเทศไทยละเป็นอย่างไร?
“อย่างที่เราเห็นผลคะแนนที่ลดลง โดยเฉพาะการอ่านของเด็กไทย คือต้องบอกว่าคะแนนเราต่ำกว่ามาตรฐานทุกวิชาอยู่แล้วในทุกๆ ปี ซึ่งเราก็คาดคะเนได้อยู่แล้ว เพราะการอ่านมันเป็นต้นทางของทุกเรื่อง ต่อให้มันเป็นโจทย์คณิตศาสตร์ แต่ถ้าอ่านจับใจความไม่ได้ว่าโจทย์ต้องการอะไร ท้ายที่สุดมันก็จะต้องดรอปลง”
“ตัวหมอเองเปิดเพจเรื่องการอ่าน ไปเป็นวิทยากรเกี่ยวกับเรื่องการอ่าน แล้วหมอก็มักจะเอาผลสำรวจของ PISA ไปพูดทุกปีๆ เวลามีเวทีเสวนาต่างๆ ซึ่งต้องพูดอย่างนี้ว่า ‘การอ่านได้’ กับ ‘อ่านเอาความ’ มันไม่เหมือนกัน คือประเทศเราจะบอกว่าเรา success (ความสำเร็จ) ในการทำให้ประชาชนของเราอ่านออกเขียนได้ ประชาชนชาวไทยอ่านออกเสียงได้เกิน 90% แต่ว่าการอ่านที่มันเอาไปใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน มันคือการอ่านแล้วเราสามารถรับสารที่มันเป็นประโยชน์ในสิ่งนั้นๆ คือเด็กไทยขาดทักษะเรื่อง ‘การอ่าน’
แล้วก็แนวข้อสอบของคนไทยด้วย มักจะมีตัวเลือกแค่เพียงหนึ่งเดียว คือเด็กไทยถูกฝึกมาว่า คำถามหนึ่งคำถาม มีคำตอบได้หนึ่งคำตอบ ซึ่งข้อสอบ PISA ไม่ใช่อย่างนั้น เราสามารถให้ความเห็นที่หลากหลาย ถ้าความเห็นนั้นมันเป็นเหตุเป็นผลกัน ที่พอรับได้ จะได้คะแนนทั้งหมด”
หมอแพมยกตัวอย่างแนวข้อสอบ PISA วิชาคณิตศาสตร์ เช่น โจทย์ถามว่า ถ้าเราเป็นเจ้าของตึก ต้องการสร้างชั้นล่างเป็นห้างสรรพสินค้า ชั้นบนอีก 20 ชั้นสร้างเป็นคอนโด ถามว่าตึกนี้จะสูงเท่าไร?
“สูตรมันก็คือ x + 20y = ? ซึ่งเราเป็นเจ้าของตึก เราสามารถกำหนดเองได้ว่าด้านล่างที่เป็นห้างสรรพสินค้าเราจะให้มันสูงเท่าไร 20 เมตร 10 เมตร แล้วชั้นที่เป็นคอนโด เราอยากให้เพดานสูงเท่าไร 2 เมตร 3 เมตร คือมันจะมีเรนจ์คำตอบที่ถูกต้องและสมเหตุสมผล แต่ข้อสอบลักษณะนี้ เด็กไทยถูกแค่สองคน เพราะว่าเราไม่กล้าคิด เราชินกับการทำโจทย์ที่ต้องมีตัวเลือก แต่ PISA เขาไม่ได้ต้องการอย่างนั้น เขาแค่อยากจะรู้ว่าคุณอ่านโจทย์แล้วเข้าใจไหมว่าเราอยู่ในสถานะไหน”
“ชี้ให้เห็นว่า การศึกษาเราเทรนเด็กให้คิดในกรอบเท่านั้น ไม่ได้ใช้ในชีวิตจริง มันก็เลยกลายเป็นว่า คะแนนสอบ PISA มันสามารถที่จะ represent (เป็นตัวแทน) เรื่องของ ‘ความสำเร็จของการให้การศึกษาเด็ก’ ว่าเด็กสามารถใช้ความรู้ไปประกอบอาชีพที่มีคุณภาพได้ไหมในอนาคต
เพราะฉะนั้นเลยเป็นดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจบางอย่าง ซึ่งมันสัมพันธ์กันด้วย ตั้งแต่ปี 2000 จนถึงปี 2022 ที่สอบไป กลายเป็นว่าประเทศที่มีคะแนน PISA ดี จะมีการเติบทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า ซึ่งมีผลต่อการลงทุน มีผลต่อการการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ”
เด็กไทยขาดทักษะ ‘การอ่านจับใจความ’ ต้นทางของการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง
ในเรื่อง ‘การอ่าน’ นั้น ในความเห็นของหมอแพมมองว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการอ่านจับใจความน้อยเกินไป จึงต้องปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้เด็ก
“ถามว่าอะไรสำคัญที่สุดในกลไกการปลูกฝังให้เด็กอ่าน คำตอบก็คือ คนที่จะอ่านให้เด็กฟัง…ไม่ใช่หนังสือ หนังสือถ้าอยากอ่านจริงๆ มันหาได้ แต่ประเด็นคือทำยังไงให้คนที่เป็นพ่อแม่มือใหม่รู้ว่านี่มันสำคัญ โรงพยาบาลของหมออยู่ใกล้สถานสงเคราะห์ สถานสงเคราะห์เนี่ยสำนักพิมพ์ให้หนังสือนิทานมาเยอะมาก ได้รับบริจาคเยอะมาก ประเด็นจึงไม่ใช่เรื่องหนังสือ ประเด็นคือคนที่จะอ่านให้เด็กฟัง
ทีนี้ถามว่าการที่เราปลูกฝังให้เด็กๆ รักการอ่าน มันมีความสำคัญยังไง คือเราต้องเข้าใจว่าเด็กยุคใหม่เติบโตมาในยุคที่ข้อมูลมันเยอะมากๆ ทักษะการคิดของเขาไม่ใช่ว่าเด็กที่จะตอบคำถามได้นะ แต่ต้องเป็นเด็กที่ตั้งคำถามเก่ง คือคำตอบมันมีพร้อมสำหรับเขาแล้ว เพียงแต่เขาหาเจอไหมว่านี่คือคำตอบที่ถูกต้อง อันนี้เรียกว่า ‘การคิดวิเคราะห์’ หรือ Critical Thinking ซึ่งต้องปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก เป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นเองได้”
“ยกตัวอย่างเช่น เขาสงสัยเรื่องสัตว์บางชนิด สมมติเป็นเต่า เต่าเป็นสัตว์ประเภทไหนกันแน่ ถามว่าในอินเทอร์เน็ตไม่มีคำตอบหรอ มีเยอะแยะเลยล่ะ แต่บางทีเขาอาจจะไปหาคำตอบที่มันผิด เพราะฉะนั้นเขาจะต้องมีความคิด ต้องมีตัวกรอง และต้องมีประสบการณ์เก่ามากพอสมควร นี่คือการคิดเชิงวิพากษ์ การคิดเชิงวิเคราะห์ว่า เอ๊ะ…ข้อมูลฉันได้รับมันเป็น ‘ความคิดเห็น’ หรือ ‘ข้อเท็จจริง’ เด็กต้องมีทักษะนี้ เพราะว่าเด็กต้องอยู่ท่ามกลางข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามาหาเขา เพราะฉะนั้นการที่เขาอ่านหนังสือกับพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก มันคือการที่เขารับข้อมูลที่หลากหลายตั้งแต่เด็ก เหมือนกับมีเงินฝากประจำตั้งแต่เล็ก วันละนิดวันละหน่อยแต่ดอกเบี้ยมันทบต้นทบดอก เพราะว่ามันได้รับข้อมูลใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ทุกวันๆ
เด็กคนหนึ่งที่ไม่ได้อ่านกับเด็กที่อ่าน ต่างกันเยอะมาก อันนี้มีข้อมูล งานวิจัย คือคนไทยชอบพูดว่า ก็ไม่เป็นไรหรอกถ้ายังอ่านไม่ออกเดี๋ยวพอเข้าโรงเรียนมันก็อ่านทันกัน คำว่า อ่านทันกันคือการสะกดคำ เด็กทุกคนต่อให้พ่อแม่อ่านหนังสือกับเขา หรือไม่อ่านหนังสือกับเขา ท้ายที่สุดพอเข้าสู่ระบบการศึกษา เขาจะสามารถสะกดคำอ่านหนังสือออกเองได้ แต่ทักษะการอ่านและจับใจความ มันตามกันไม่ทันเลย”
“เด็กทุกคนนั่งอยู่ในห้องเดียวกัน แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนเรียนรู้ได้เท่ากัน คุณครูพูดประโยคหนึ่งประโยค เด็กที่เขามีพื้นฐานมาแล้ว เขาก็ catch up (ตามทัน) ได้เลย แต่เด็กอีกคนนึง เขาต้องเริ่มเชื่อมโยงใหม่ แล้วคนที่ catch up (ตามทัน) ได้เลยลองนึกผล Positive สิ่งที่จะเกิดขึ้นในเชิงบวกกับเขาคืออะไร หนึ่งเขามีความมั่นใจในตัวเอง อาจจะเรียนรู้ได้เร็ว พอเขามั่นใจในตัวเองปั๊บ คุณครูชื่นชม เขามีเรื่องของการพึงพอใจในตนเอง self-efficacy, Self-esteem
ในขณะที่คนอีกคนหนึ่งจุดสตาร์ท มันไม่เท่ากันถามว่าเด็กเขารู้ไหม? เขาไม่รู้ เขาไม่รู้ว่าทำไมเขาถึงทำได้ไม่ดีเท่าเพื่อน เขาโทษตัวเอง มันก็เลยกลายเป็น ฉันทำไม่ได้ ไม่ต้องพยายามหรอก แล้วเด็กมันจะวนเวียนอย่างนี้
ถ้าเรารอให้ระบบการศึกษามาเชฟลูกเรา ท้ายที่สุดมันจะมีเด็กแค่บางคน หยิบมือเท่านั้นแหละที่เขารู้สึกว่าตัวเขาโอเค มันจะมีเด็กอีกหลายคนที่มันโดนระบบเชฟว่า ต่อให้เธอพยายามเธอก็ไม่ได้หรอก ทำไม่ได้หรอก”
ส่งเสริมการอ่านตั้งแต่ปฐมวัย ความเท่าเทียมที่เด็กทุกคนเข้าถึงได้
ที่ผ่านมาหมอแพมย้ำเสมอผ่านเพจเฟซบุ๊กของตัวเองและในที่นี้ว่า ‘การอ่าน’ เริ่มได้ตั้งแต่ที่บ้าน เริ่มได้ในครอบครัว แต่จะทำอย่างไรให้คนรู้ว่า “เราสร้างความเท่าเทียมให้เด็กได้ เพียงแค่เราเข้าใจว่าการอ่านมันสำคัญมากๆ” จึงเป็นเหตุผลให้หมอแพมเปิดเพจ หมอแพมชวนอ่าน ด้วย
“เราต้องยอมรับก่อนว่าประเทศเราความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูงมากๆ แน่นอนเด็กที่ฐานะดีกว่าเข้าถึงโอกาสมากกว่า เขาก็ต้องเรียนได้ดีกว่า เด็กที่โรงเรียนมีงบประมาณเข้าถึงกว่า มีอุปกรณ์พร้อมกว่า เขาก็ต้องทำได้ดีกว่าอยู่แล้ว แล้วจะเหลืออะไรให้เด็กที่เป็นกลุ่มเปราะบาง สิ่งที่เหลือคือ ความเท่าเทียมที่สมองเขาจะได้พัฒนาไปพร้อมๆ กับเพื่อน คือถ้าสมองโดนเชฟตั้งแต่เด็ก อย่างน้อยๆ ต่อให้เขาไม่ได้รวยมาก ไม่ได้อยู่ในโรงเรียนที่เป็นจุดศูนย์กลาง แต่สมองเขามันพร้อมที่จะพัฒนาทุกเมื่อ เมื่อได้รับข้อมูล นี่มันคือการสร้างความเท่าเทียมตั้งแต่ที่เขายังอยู่ในช่วงปฐมวัย ซึ่งเราไม่ค่อยนึกถึง และจริงๆ มันทำได้”
หมอแพมอธิบายต่อว่าที่กล้าพูดเช่นนั้น ก็เพราะว่าตัวเองก็เคยเป็นหนึ่งในกลุ่มเด็ก Resilient student (นักเรียนที่มาจากพื้นฐานครอบครัวที่มีฐานะไม่ดีนัก แต่มีการเรียนที่ดี) ซึ่งมีการศึกษาว่า ทำไมเด็กกลุ่มนี้ถึงทำคะแนนได้ดี นั่นเป็นเพราะว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่พ่อแม่ใส่ใจ พ่อแม่อ่านหนังสือด้วยจนถึงอายุ 15 ปี นี่คือคำตอบ ซึ่งประเทศไทยมี Resilient student 15%
“หมอก็คิดว่าตัวเองเป็นเด็กคนนั้น เพราะว่าจริงๆ หมอพื้นฐานพื้นเพเป็นเด็กอำเภอบ้านนอกเลยของจังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วก็เรามีเพื่อนวัยเด็ก เราก็เห็นว่าอนาคตของเราคือฉีกออกมาจากเพื่อนวัยเด็กเยอะมาก คือเราสามารถเลื่อนชนชั้นทางสังคมได้เลย แล้วเราก็คิดต่อว่า เอ๊ะ…มันมีปัจจัยอะไรนะ ทั้งๆ ที่สตาร์ทพร้อมกัน เราก็มานั่งคิดตอนที่โตแล้วว่าทำไม? เออมันคือนิสัยรักการอ่านจริงๆ เพราะว่าครอบครัวก็คือคุณแม่อาชีพรับจ้าง ไม่ได้เป็นข้าราชการอะไร แถมเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวอีก แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นชัดเลยคือ แม่ปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน เพราะว่าตอนเด็กๆ บ้านเป็นร้านเสริมสวย ก็คือจะมีนิตยสารสกุลไทย หญิงไทยในร้าน แล้วในนั้นมันจะมีหน้าที่เป็นนิทานหรือเรื่องสั้นอยู่นิดๆ ในเล่ม เราก็จะให้ผู้ใหญ่อ่านให้ฟังเสมอ แล้วก็วันหยุดแม่ก็จะพาไปห้องสมุดชุมชนคืออ่านจนหมดในนั้น แล้วเหมือนพออ่านหนังสือเองได้ ที่บ้านมันจะมีหนังสือของพ่อ นิยายจีน อุ้ยเซี่ยวป้อ อะไรพวกนี้ คืออ่านตลอด”
“การอ่านไม่ใช่แค่ทำให้เรากลายเป็นนักอ่าน แต่คนที่อ่านหนังสือจะมีทักษะของการหาข้อมูลอะไรบางอย่าง คือเวลาเราอยากรู้อะไร เราจะคิดเป็นสเต็ปเลยว่า เดี๋ยวฉันจะต้องไปหาข้อมูล เดี๋ยวไปที่ห้องสมุด ไปหาที่ร้านหนังสือ ซึ่งอันนี้มันคือ Core Value ( คุณค่าหลัก) ของการที่จะให้เด็กๆ เป็นนักอ่านด้วยนะคะ คือข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตมันหาง่าย ไม่รู้ว่าอะไรมันคือเรื่องจริง เรื่องไม่จริง
การที่เด็กอ่านหนังสืออย่างน้อยๆ เขามีตัวอย่างที่ดีอยู่แล้ว คือหนังสือเล่มกับบทความทางอินเทอร์เน็ต เรื่องเลเวลของภาษา เรื่องของความฉาบฉวยมันคนละระดับกัน ถ้าเด็กที่เคยได้สัมผัสกับหนังสือเล่ม หรือภาษาที่มันดี เขาจะรู้ว่านี่คือของดี แล้วก็ด้วยความที่ตัวเองเป็นอาจารย์แพทย์ด้วย เราอ่านรายงานของนิสิต เราจะเห็นเลยว่า เดี๋ยวนี้น้องๆ รุ่นใหม่เขาไม่เข้าใจว่านี่คือภาษาเขียน นี่คือภาษาพูด เพราะว่าข้อมูลในอินเทอเน็ตส่วนใหญ่ใช้คำที่ง่ายขึ้น อันนั้นมันก็โอเคแหละ ภาษามันมีการเปลี่ยนแปลง แต่เรามองเห็นเลยว่ามันไม่มีกำแพงกั้นระหว่างภาษาพูดกับภาษาเขียนอีกต่อไปแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป๊ะตลอดเวลา แต่ชี้ให้เห็นว่าการที่เด็กเขาได้สัมผัสกับหนังสือ ภาษาวรรณกรรมตั้งแต่เด็ก นอกจากคลังศัพท์เขาจะดีแล้ว มันจะมีลำดับของการใช้ภาษา เรียกว่าการใช้ภาษาที่รุ่มรวย”
“ภาษาเป็นภาชนะของความคิด ยิ่งเรามีภาษาเยอะ เราก็มีภาชนะใบใหญ่ที่จะใช้บรรยายความคิด ความรู้สึกของตัวเอง
อันนี้พูดไปถึงเรื่องจิตวิทยาการเลี้ยงเด็กด้วย เด็กที่เขาได้ภาษาดี เขาสามารถสื่อสารกับพ่อแม่ได้ เขาจะไม่ frustrate (หงุดหงิด, อึดอัดใจ) รู้สึกยังไงเขาพูดขึ้นมาได้ สื่อสารกับแม่ได้ดี อย่างน้อยก็รู้ความรู้สึกตัวเอง เห็นไหมว่าทุกอย่างมันเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน มันไม่ใช่แค่เรื่องว่าอ่านหนังสือกับลูกวันละ 20 นาที ไม่ใช่หรอก มันเหมือนการฝากประจำตั้งแต่เด็ก มันออกดอกออกผล แล้วก็ไปส่งผลถึงอายุ 15 ปี”
‘นิทานภาพ’ เชื่อมโยงการเรียนรู้ของเด็กได้ดีที่สุด, ‘หน้าจอ’ สมองสนุกแต่เชื่อมโยงไม่ทัน
หมอแพมย้ำว่า การอ่านสัมพันธ์กับพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กอย่างมาก ดังทีได้กล่าวไปข้างต้นว่า “ภาษาเป็นภาชนะของความคิด”
“คือมนุษย์เรา พอเราเรียนรู้ภาษาแม่ปุ๊บ เราจะคิดเป็นภาษา เราไม่ได้คิดเป็นรหัส ถ้าเรามีภาษาในการอธิบายสิ่งที่เราคิดได้ดีกว่า ก็จะแสดงออกได้ดีกว่า มีพัฒนาการที่ดีกว่า ทั้งเรื่องควบคุมตัวเอง ทั้งเรื่องการสื่อสารกับคนอื่น ท้ายที่สุดแล้วพอสื่อสารกันเข้าใจ สามารถบอกความต้องการได้ เด็กเขาจะมีความสงบภายใน แล้วมันจะมีความรู้สึกแบบว่า “ฉันทำได้” มีความเชื่อมั่นในตนเอง สิ่งนี้ที่ตอกย้ำเขาทุกวันๆๆ ในขณะที่เด็กที่รู้สึกว่า ทำไม่ได้ๆๆ มันก็จะตอกย้ำทุกวันๆๆ อย่างนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันสำคัญจริงๆ เรื่องการอ่าน”
นอกจากนี้ ความกังวลที่หมอแพมยังคงมีในใจและเป็นห่วงเด็กไทยนั่นก็คือ การติดหน้าจอ
“ต้องยอมรับว่า เด็กทุกคนยุคนี้เราห้ามเขาไม่ได้แล้วจริงๆ คือเขาเกิดมาปุ๊บ เทคโนโลยี เรื่องของมือถือ หน้าจอมันมาเลย สื่อทางหน้าจอมันดีไซน์มาให้เราติดอยู่แล้ว เพราะว่ามันมีภาพ แสง สี เสียง ถ้าเด็กไม่เคยอ่านหนังสือ แล้วอยู่ดีๆ เจอสื่อแรกเป็นสื่อหน้าจอ คิดว่าเด็กจะย้อนกลับไปหาหนังสือได้ไหม มันยากมาก เพราะหนังสือมันไม่ได้มีฟังก์ชันที่แบบครบจบในที่เดียวแบบนั้น
มีงานวิจัยเรื่อง สื่อที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงในสมองของเด็กได้สูงสุด ก็คือเขาเอาเด็กกลุ่มนึง ให้รับสามสื่อ หนึ่งคือเปิดให้ดูหน้าจอ สองคืออ่านนิทาน สามคือให้เด็กฟังนิทานเรื่องเดียวกัน สมมติว่าเป็นนิทานนะ เด็กที่ดูหน้าจอ สมองส่วนรับประสาทสัมผัส รับแสง สี เสียง การเคลื่อนไหว แค่รับข้อมูลมันเหนื่อยแล้ว เพราะฉะนั้นมันจะไม่เกิดการเชื่อมโยงกับของเก่า นักวิจัยเขาเรียกว่า too hot ร้อนเกินไป ไม่เกิดการเชื่อมโยง ซึ่งเด็กเขาต้องเรียนรู้ว่าของเก่าเมื่อวานเอามาเชื่อมโยงกับที่เรียนรู้ใหม่วันนี้ เด็กดูหน้าจอเขาได้ความสุข แต่สมองมันร้อนมากเลย มันรับข้อมูล แต่มันไม่เกิดการเชื่อมโยง
ส่วนอ่านนิทานมันมีภาพ มีเสียงของแม่ในการอ่าน เด็กเขาเท่าทันว่า อ๋อ…อันนี้เมื่อวานเรียนมาแล้วหนิ มันเกิดการเชื่อมโยง อันนี้คือ just right (ความพอดี) แต่ถ้าให้ฟังอย่างเดียว เด็กไม่เห็นภาพ ไม่สามารถเชื่อมโยงคำใหม่ๆ ได้ เพราะว่าเวลาคนเราจะเรียนรู้คำศัพท์ มันต้องเห็นทั้งภาพทั้งเสียง เพื่อที่จะตอกย้ำว่าศัพท์คำนั้นเรียกว่าอะไร เพราะฉะนั้นการฟังอย่างเดียว มันก็คือเย็นเกินไป เปเปอร์นี้จึงตอบคำถามว่า นิทานภาพ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงในการเรียนรู้ของเด็กได้สูงสุด”
ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงต้องเห็นถึงความสำคัญของการอ่านหนังสือกับลูกตั้งแต่เล็ก อย่าเลี้ยงลูกด้วยหน้าจอ!
“ถ้าให้ดูหน้าจอตั้งแต่เด็กๆ การเชื่อมโยง การเรียนรู้ภาษามันจะเสีย สำหรับหมอ น้อยกว่าสองขวบคือห้ามหน้าจอทุกชนิด ถ้าเด็กดูหน้าจอเกิดอะไรขึ้น บางคนบอกว่า เด็กนั่งดูนิ่งๆ พ่อแม่เข้าใจผิดคิดว่าเด็กมีสมาธิ อันนั้นไม่ได้เรียกมีสมาธิ เรียกว่าถอนตัวไม่ขึ้น แต่สมองไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย
สมองสนุกแต่สมองเชื่อมโยงไม่ทัน เด็กกลุ่มนี้จะพูดช้า เพราะเวลาเด็กเรียนรู้เรื่องภาษามันต้องได้ยินเสียง เห็นรูปปาก เวลาแม่พูดแล้วมันต้องมีบริบทว่า อยู่ดีๆ เราจะพูดว่าเห่าขึ้นมา เด็กจะรู้ไหมว่ามันคืออะไร มันต้องมีบริบท หมาเห่า เขาถึงจะเข้าใจ หนังสือภาพให้ทั้งหมดนั้นกับเขาได้เลย เห็นภาพ เห็นบริบท เห็นเรื่องราวที่แม่พูด”
หมอแพมเสริมว่า ถ้าพ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยหน้าจอ ผลที่ได้คือ เด็กจะพูดได้ช้า แต่จะพูดด้วยภาษาประหลาด หรือที่เรียกว่าภาษา jargon (จากอน) คือเด็กอยากพูด แต่ฟังตามไม่ทัน เพราะไม่มีต้นแบบ
‘โรงเรียน’ และ ‘นโยบายรัฐ’ ต้องส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ คิดเป็น ทำเป็น วิเคราะห์ได้
เมื่อถามว่า แล้วเราจะช่วยกันแก้ปัญหานี้อย่างไรดี เพื่อที่จะส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ คิดเป็น ทำเป็น วิเคราะห์ได้ นอกจากการส่งเสริมการอ่านในระดับครอบครัวแล้ว โรงเรียน รวมไปถึงนโยบายของรัฐควรจะปรับเปลี่ยนอย่างไร? หมอแพมให้คำตอบว่า…
“ในส่วนของโรงเรียนหมอคิดว่าแบ่งออกเป็นสองอย่างคือ เรื่องของ ‘หลักสูตร’ กับ ‘ครู’ หลักสูตรที่เราทำๆ ตามกันมา ต่อให้เด็กเก่ง แต่เรียนในบริบทของหลักสูตรที่ไม่ได้ถูกให้คิดวิเคราะห์ เขาก็ไม่ได้ถูกให้บรรยายสิ่งที่คิด หรือวิพากษ์วิจารณ์ เพราะมันมีช้อยส์ มีคำตอบที่ตายตัว ก็ข้อสอบที่แชร์กันบ่อยๆ ที่ถามเรื่อง หน้าที่ในครอบครัว เด็กเลือกข้อที่แม่เป็นคนหาเลี้ยง แล้วคุณครูบอกว่าผิด ซึ่งจริงๆ อันนี้มันคือความล้าหลังของหลังสูตร ทั้งเนื้อหาและการประเมินด้วย เดี๋ยวนี้ครอบครัวมีความหลากหลายสูงมาก มันไม่ใช่ว่าพ่อต้องทำงานนอกบ้าน แม่ต้องทำงานบ้านเท่านั้น”
นอกจากหลักสูตรจะต้องทำตามทันโลกแล้ว หมอแพมมองว่า คนเขียนหลักสูตรต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ด้วยว่า โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก
“เราต้อง predict (ทำนาย, คาดการณ์) หลักสูตรด้วย ซึ่งใดๆ นั้น เข้าใจว่า การเขียนหลักสูตรมันยาก แต่ว่าการเรียนของเด็กมันต้องมี Core บางอย่าง เช่น ฝึกให้เขาคิด เป็นหลักสูตรที่ใช้การประเมินผลแบบปลายเปิดไหม ให้มันมีความหลากหลายขึ้นไหม และต้องนึกถึงในกลุ่มเด็กทั้งหมด รวมกลุ่มเด็กเปราะบางด้วย
ถามว่าคะแนน PISA มีไหมโรงเรียนที่ทำได้ดี มีค่ะ ก็คือโรงเรียนที่เน้นวิทยาศาสตร์ กับโรงเรียนสาธิต อันนี้คืออยู่ในค่าเฉลี่ยของ OECD แล้วโรงเรียนอื่นๆ อีกกว่า 90% ของประเทศเราละ คือถ้าจะพูดว่าประเทศไทยมีดีไหม มีค่ะ แต่ถามว่ามันมากพอไหมที่มันจะเฉลี่ยดึงค่าเฉลี่ยของประเทศ มันคือไม่ได้”
หลักสูตรต้องทบทวนอย่างหนักถึงเป้าหมายในการเรียนรู้ของเด็ก สอนไปเพื่ออะไร? ให้เด็กรู้ไปทำไม?
“อันที่สองคือน่าจะมีคนวิเคราะห์เยอะ คือเรื่องของคุณครูผู้สอน ขาดแคลนมากจริงๆ หมอไปอ่านตามเพจก็คือมีเรื่องน่าเศร้าหลายอย่าง ซึ่งจะปฏิเสธคงไม่ใช่ ทำไมอาชีพครูถึงไม่สามารถ improve (พัฒนา, ส่งเสริม) เด็กเก่งเข้าไป ทำไมเด็กที่เก่งในสายวิชาชีพครูต้องลาออกมาเป็นติวเตอร์ชื่อดัง จะบอกว่าประเทศเราไม่มีครูที่เก่งก็ไม่ใช่นะ แต่มันมีไม่มากพอ ไม่มากพอสักอย่าง
เพราะฉะนั้นหมอว่าต้องดันคนที่เก่งให้ปริมาณมันมากขึ้น แล้วก็ถึงเวลาคืนครูให้ห้องเรียนจริงๆ สักที และในการจัดการเรียนการสอน ครูเองก็ควรจะให้ความสำคัญกับกระบวนการที่มาซึ่งคำตอบ มากกว่าคำตอบของมัน ถอยออกมาเป็น FA อย่าเป็นทิชเชอร์ อย่าสอนอย่างเดียว แต่ฟังเด็กว่าเขามีความคิดยังไง ถ้ามันจะผิดมันจะถูกเดี๋ยวค่อยตบให้มันเข้ารูปเข้ารอย”
หนังสือเป็นเครื่องมือที่ใช้เลี้ยงลูกที่ดีที่สุดที่รัฐควรส่งเสริม
จากประสบการณ์ของตัวเองและในฐานะแม่คนหนึ่ง รวมถึงความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัย หมอแพมย้ำชัดว่า หนังสือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้เลี้ยงลูกได้ดีที่สุด
“จริงๆ มันจะมีสี่อย่างคือ เล่นกับลูก การเป็นโรลโมเดล โอบกอดสัมผัส อันที่สี่คือหนังสือ ทำไปเถอะตอนช่วงปฐมวัยยังไงก็ได้ผลบวกๆ”
เพราะฉะนั้น ยิ่งเริ่มอ่านหนังสือให้ลูกฟังได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี ฝึกไปจนกลายเป็นการอ่านที่มีคุณภาพ โดยหมอแพมแชร์ทริคสำหรับการอ่านที่มีคุณภาพว่า “หนึ่ง เริ่มให้เร็ว สอง ถ้าลูกยังอยากให้เราอ่านก็อ่านต่อไปเรื่อยๆ เพราะว่าจริงๆ การอ่านไม่ใช่แค่การอ่าน มันเป็นการพูดคุย เรียนรู้ซึ่งกันและกัน แสดงความคิดเห็น”
“การอ่านให้ลูกฟัง ผลดีก็คือลูกได้แบ่งปันความคิดเห็นกับเรา เหมือนตอนอ่านมันก็จะมี issue (ปัญหา) ที่เอามาคุยกัน เช่น ถ้าหนูเป็นคนนี้หนูจะทำยังไง แล้วเขาก็จะเรียนรู้แนวความคิดของเราด้วย เขาจะเรียนรู้ความเป็นเรา ซึ่งมันได้ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ ได้ทั้งเรื่องการปลูกฝังคุณค่าอะไรบางอย่างนะ”
นอกจากนี้อีกบทบาทหนึ่งหมอแพมเป็นคณะกรรมการของมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านด้วย ซึ่งมูลนิธิมีข้อเรียกร้องเรื่องของ ‘หนังสือถ้วนหน้า’ คล้ายกับเป็น welcome bag ของเด็กแรกเกิด
“เด็กแรกเกิดจะต้องได้กระเป๋าที่มีหนังสือนิทานกับของเล่นเสริมพัฒนาการอันจำเป็นกับเด็กกลับบ้าน คือเคยเหมือนจะผ่าน เราต้องการแค่ว่า เด็กหนึ่งคนขอหนังสือพื้นฐาน 3 เล่ม ให้พ่อแม่มีติดบ้านไว้ เพราะว่างานวิจัยมันก็บอกแล้วว่า การที่มีหนังสืออยู่ในบ้าน เพิ่มโอกาสในการอ่านได้มากกว่า ก่อนจะอ่านมันต้องมีก่อน ทีนี้เราไม่ไปพูดถึงกลุ่มชนชั้นสูงหรือกลุ่มคนที่เขาหาได้ง่าย พวกนี้คือเขาซื้อเยอะอยู่แล้ว เราลองไปนึกถึงเด็กในสลัม เด็กกลุ่มเปราะบางที่แบบพ่อแม่หาเช้ากินค่ำ การซื้อหนังสือนิทานสามเล่มเป็นเรื่องหนัก สมมติหนังสือเล่มละร้อย สามเล่มสามร้อย บางทีรายได้ต่อวันมันไม่ถึงด้วยซ้ำ คือมันจะอะไรมากมายถ้ารัฐจะให้ งบประมาณตรงนี้มันถือว่าน้อยมาก ก็หวังว่ารัฐจะมองเห็นและให้ความสำคัญ คือถ้าเขามองเห็นว่าสิ่งนี้สำคัญ ยังไงก็ผ่าน
ถ้าเรามองรัฐเป็นเพื่อนคนนึง เราก็จะบอกกับเพื่อนว่า ไม่มีหรอกคำว่าไม่มีเวลา มันอยู่ที่ว่าแกเห็นว่าสิ่งนั้นมันสำคัญมากพอไหม คนเราจะจัดสรรให้กับสิ่งที่ตัวเองคิดว่าสำคัญ ก็หวังใจว่าเพื่อนคนนั้นซึ่งชื่อว่า ‘รัฐ’ จะเข้าใจว่า ถ้าจะลงทุนอะไรให้ลงทุนในเด็ก เป็นการลงทุนที่ได้ผลในระยะยาวมากที่สุด ได้พลเมืองที่มีคุณภาพในสังคมด้วย”