- ‘รถไฟขนเด็ก’ (il treno dei bambini) นิยายที่อิงประวัติศาสตร์ของอิตาลี ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลงานของ วิออลา ดาร์โดเน (Viola Ardone) แปลเป็นภาษาไทยโดย นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ ที่หยิบยกเรื่องราวความรักที่แม่มีต่อลูก มาเป็นแก่นสำคัญในการเดินเรื่อง
- หนังสือเล่าเรื่องราวของ ‘อเมริโก สเปรันซา’ เด็กชายวัย 7 ขวบที่ถูกพ่อแม่ส่งตัวขึ้นรถไฟขบวนพิเศษ เพื่อไปพักอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ที่เขาไม่เคยรู้จักหน้าค่าตาในช่วงสงคราม และเส้นทางการเติบโตที่ทำให้เขาพบความหมายของคำว่า ‘ครอบครัว’
- ทุกการกระทำในนามของความรัก มีความปรารถนาดีอยู่ในนั้น แต่ก็อย่างที่มีใครบางคนกล่าวไว้ว่า ความรักมักมาพร้อมความไม่เข้าใจ บางครั้ง เราอาจรู้ว่าใครรักเรา ทว่า หลายครั้งที่เราไม่เข้าใจในการกระทำของคนที่รักเราเลย
ใครบางคนกล่าวไว้ว่า ความรักที่แม่มีให้กับลูก คือ ความรักที่ปราศจากเงื่อนไขใดๆ และควรนับเป็นความรักที่บริสุทธิ์ที่สุด หากเทียบกับความรักประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความรักฉันชู้สาว ความรักของมิตรสหาย ความรักชาติ ศาสนา สถาบันองค์กรใดๆ หรือแม้กระทั่งความรักในอุดมการณ์อันสูงส่ง
ไม่แปลกที่เรื่องราวความรักของแม่ จะกลายเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ถูกนำมาใช้ในงานเขียนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนิทานสำหรับเด็ก ไปจนถึงวรรณกรรมคลาสสิก ทั้งในซีกโลกตะวันตกและตะวันออก
วรรณกรรมเรื่อง ‘รถไฟขนเด็ก’ (il treno dei bambini) ผลงานของ วิออลา ดาร์โดเน (Viola Ardone) อาจารย์สอนภาษาละตินและนักเขียนชาวอิตาลี แปลเป็นภาษาไทยโดย นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ เป็นหนังสืออีกเล่มที่หยิบยกเรื่องราวความรักที่แม่มีต่อลูก มาเป็นแก่นสำคัญในการเดินเรื่อง
หนังสือเล่มนี้ เป็นนิยายที่อิงประวัติศาสตร์ของอิตาลี ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งประเทศได้รับความบอบช้ำอย่างหนัก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ ซึ่งตกอยู่ในสภาพขาดแคลนทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค
พรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้เป็นรัฐบาลในขณะนั้น แต่ก็มีบทบาททางการเมืองสูง ดำเนินนโยบายช่วยเหลือประชาชน ด้วยการจัดขบวนรถไฟพิเศษ พาเด็กๆ จากครอบครัวยากจนทางภาคใต้ ขึ้นไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ทางภาคเหนือในช่วงฤดูหนาว
อเมริโก สเปรันซา เด็กชายวัย 7 ขวบในเมืองเนเปิลส์ ที่บุบสลายจากไฟสงคราม คือ หนึ่งในเด็กๆ ที่ถูกพ่อแม่ส่งตัวขึ้นรถไฟขบวนพิเศษ เพื่อไปพักอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ที่เขาไม่เคยรู้จักหน้าค่าตา ณ ดินแดนถิ่นเหนือ ที่ภูมิประเทศ สภาพอากาศ แตกต่างจากเมืองในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่เขาคุ้นเคย
เด็กน้อยจะรู้สึกอย่างไร เมื่อถูกแม่ของตัวเองส่งตัวไปอยู่กับคนอื่น แม้ว่าจะเป็นครอบครัวที่มีทุกอย่างครบครัน ทั้งข้าวปลาอาหาร เครื่องนุ่มห่ม การศึกษา และความรัก
และที่สำคัญ ‘แม่’ ซึ่งอเมริโกเรียกว่า ‘แม่อันโตเนียตตาของผม’ เธอรู้สึกอย่างไร ที่ต้องส่งลูกในสายเลือดของตัวเองไปอยู่กับคนอื่น เหตุผลในนามของความหวังดี มีน้ำหนักมากกว่าความผูกพันของแม่อย่างนั้นหรือ
อันโตเนียตตา : แม่ของอเมริโก
อิตาลี เป็นหนึ่งในประเทศที่มีวัฒนธรรมให้ความสำคัญกับความรักในครอบครัวเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะความรักระหว่างแม่กับลูก
พ่อชาวอิตาลี จะทำหน้าที่เป็นเสาหลักในการหารายได้เข้ามาจุนเจือครอบครัว ขณะที่การเลี้ยงดูฟูมฟัก ตลอดจนให้ความรักแก่ลูก จะเป็นหน้าที่ของผู้เป็นแม่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว จะไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ นอกจากการเป็นแม่บ้าน และ ‘แม่’ อย่างเต็มตัว
แต่ไม่ใช่กับ อันโตเนียตตา
อันโตเนียตตา มีลูกชายสองคน คนแรกชื่อ ‘ลุยจิ’ ป่วยเป็นโรคหอบหืดจนเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก ครั้นพอมีลูกคนที่สอง ซึ่งพ่อของเขาตั้งชื่อให้ว่า’ อเมริโก’ เธอตั้งใจจะเลี้ยงดูลูกคนนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่เธอจะทำได้
ชีวิตไม่ใช่เรื่องง่ายดาย โดยเฉพาะชีวิตของชาวเมืองเนเปิลส์ในยุคหลังสงคราม ความยากจนทำให้พ่อของอเมริโก ตัดสินใจไปหางานทำที่อเมริกา ซึ่งไม่มีใครบอกได้ว่า นั่นเป็นการไปเพื่อเสี่ยงโชค หรือแค่ข้ออ้างในการทอดทิ้งครอบครัว
อันโตเนียตตา ต้องทำงานทุกอย่างเท่าที่สามารถทำได้ ทั้งเก็บเศษผ้าเก่ามาซ่อมแซมแล้วขาย รวมไปถึงการ ‘ขาย’ อะไรบางอย่างให้กับคาเปเฟียร์โร เพื่อนบ้านที่เป็นพ่อค้าขายผ้า ซึ่งทุกครั้งที่คาเปเฟียร์โรมาที่บ้าน อันโตเนียตตาจะไล่ลูกชายให้ออกไปเล่นนอกบ้าน เพราะเธอกับคาเปเฟียร์โร จะต้อง ‘ทำงาน’ ด้วยกันเพียงลำพังสองคน
ทุกอย่างที่อันโตเนียตตาทำ เธอทำเพื่อให้ลูกชายของเธอ ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด นั่นรวมไปถึงการอบรมสั่งสอนให้เขาเป็นคนดี
“แม่อันโตเนียตตาของผมเคยบอกว่า เรายากจนก็จริง แต่ไม่ขโมยของของใคร เพราะไม่อย่างนั้นแล้วเราจะกลายเป็นคนเลว”
ไม่เพียงแต่จะไม่ขโมยของจากคนอื่น อันโตเนียตตายังไม่คิดที่จะ “ขอ” จากใครด้วย เธอเคยพูดกับเพื่อนบ้านคนหนึ่งว่า
“ในชีวิตของฉัน ฉันไม่เคยขออะไรจากใครเลย หรือถ้าขอก็คืนให้เสมอ แต่ถ้าคืนไม่ได้ ฉันก็จะไม่ขอ”
ท่ามกลางเสียงค่อนขอดนินทาจากเพื่อนบ้านว่า เธอกำลังขายลูกกิน ขณะที่บางคนบอกว่า พรรคคอมมิวนิสต์ จะพาเด็กๆ เหล่านั้นไปทำงานที่รัสเซีย บ้างก็ว่า เด็กๆ จะถูกส่งเข้าเตาเผาด้วยซ้ำ อันโตเนียตตา ตัดสินใจส่งลูกชายไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ที่เธอเองก็ไม่รู้จัก เพราะเชื่อว่า นั่นคือหนทางสุดท้ายที่จะให้อเมริโกได้มีอาหารกินอิ่มท้อง ได้รับการศึกษาเล่าเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอไม่เคยได้รับ
มัดดาเลนา : แม่ผู้มีบาดแผลในใจ
ตัวละครสำคัญอีกตัวของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเปรียบเหมือนแม่คนที่สองของอเมริโก คือ ‘มัดดาเลนา’ หญิงสาวผมสั้นสวมกางเกงเหมือนผู้ชาย สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ผู้เป็นแกนนำสำคัญในการพาเด็กๆ ขึ้นรถไฟไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ทางภาคเหนือ เธอเป็นคนกล้าหาญ เคยต่อสู้กับทหารนาซีเยอรมันจนได้รับเหรียญประกาศเกียรติคุณ และยังเปี่ยมด้วยอุดมการณ์อันสูงส่ง
มัดดาเลนา เชื่อว่า ความหิวโหยไม่ใช่ความผิด แต่เป็นความอยุติธรรม และผู้หญิงจะต้องรวมตัวกันเพื่อทำสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น
แม้ว่าภาพลักษณ์จะดูเหมือนสาวแกร่ง ก๋ากั่น แต่ตัวตนที่แท้จริงของเธอ ไม่ต่างอะไรจากแม่พระผู้คอยปลอบประโลมเด็กๆ ที่ต้องพลัดพรากจากครอบครัวโดยสายเลือด ก่อนจะไปสู่อ้อมกอดของครอบครัวอุปถัมภ์
“ความรักมีหลายรูปแบบ ไม่เฉพาะในแบบที่พวกเธอคิด” มัดดาเลนา ขัดขึ้น “อย่างการมาอยู่บนรถไฟกับเด็กซนๆ เยอะแยะอย่างนี้ไม่เรียกว่าความรักหรอกหรือ แล้วพวกแม่ๆ ที่ยอมให้พวกเธอขึ้นรถไฟไปอยู่เมืองไกลๆ… นั่นก็ไม่เรียกว่าความรักเหมือนกันหรือ”
ทว่า บางครั้ง ภายใต้ผิวหน้าอันงดงามของความรัก อาจจะมีความเจ็บปวดร้าวรานซุกซ่อนอยู่ มัดดาเลนา เคยตั้งท้องและคลอดลูกสาวตั้งแต่ยังวัยรุ่น ด้วยความหวาดกลัวว่าจะถูกขับออกจากพรรค เพราะทำให้เสื่อมเสีย เธอตัดสินใจทำบางสิ่งบางอย่างให้ลูกสาวของเธอหายไปจากชีวิต
อาจกล่าวได้ว่า ความพยายามของมัดดาเลนา ในการผลักดันโครงการรถไฟขบวนพิเศษ เพื่อช่วยเหลือเด็กๆที่ตกทุกข์ได้ยาก แท้ที่จริงแล้ว ก็คือ ความพยายามไถ่บาปแต่ครั้งวัยเยาว์ของเธอ
“สิ่งที่ฉันไม่อาจทำให้ลูกสาวของฉันได้ ฉันก็ทำให้ลูกๆ ของคนอื่น”
แน่นอน ชีวิตไม่ได้เรียบง่ายและตรงไปตรงมา มัดดาเลนา ไม่รู้เลยว่า ความปรารถนาดีของเธอ ทำให้ชีวิตของเด็กชายที่ชื่อ อเมริโก เปลี่ยนไปอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด
อเมริโก : ลูกชายของแม่
อเมริโก สเปรันซา ไม่ใช่เด็กดีตามแบบฉบับ จะเรียกว่าเป็นเด็กกะล่อนก็ไม่น่าจะผิด เขาถูกครูตบกบาลอยู่บ่อยๆ เคยร่วมมือกับเพื่อนจับหนูมาตัดหาง ทาสีสวยๆ หลอกขายคนที่อยากเลี้ยงแฮมสเตอร์
แต่เขาเป็นเด็กจิตใจดี และรักแม่สุดหัวใจ เมื่อแม่บอกให้เขาขึ้นรถไฟเพื่อไปอยู่กับครอบครัวอื่นในช่วงฤดูหนาว เขาก็ยินดีไปโดยไม่อิดออด (แม้ว่าอีกเหตุผลหนึ่งที่ยอมไป จะเป็นเพราะคาดหวังจะได้รองเท้าคู่ใหม่ก็เถอะ)
ไม่เพียงแต่รองเท้าคู่ใหม่เท่านั้น เมื่ออยู่กับครอบครัวเบนเวนูติ อเมริโกยังได้อะไรอีกหลายอย่าง ทั้งอาหารอร่อย ความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่พี่น้อง และที่สำคัญ เด็กน้อยได้ค้นพบสิ่งใหม่ที่เขารัก นั่นคือ เครื่องดนตรีที่มื่ชื่อว่า ไวโอลิน
ครั้นหมดฤดูหนาว ถึงเวลากลับคืนบ้านเกิด อเมริโก และเด็กๆ ที่ขึ้นรถไฟขบวนพิเศษมาด้วยกัน ต่างรู้สึกหนักอึ้งในใจ เหมือนพวกเขากำลังต้องออกเดินทางออกจากบ้าน ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว พวกเขากำลังกลับบ้านต่างหาก
ต็อมมาซี เพื่อนของอเมริโก ใช้คำว่า “เราถูกแบ่งเป็นสองซีกเสียแล้ว”
จิตใจของอเมริโกถูกแบ่งเป็นสองซีกเสียแล้ว เด็กน้อยเริ่มสับสนและลังเลใจว่า ครอบครัวไหนคือครอบครัวของเขา และที่สำคัญ เขามีสิทธิที่จะเลือกครอบครัวหรือไม่
ในตอนที่กลับมาอยู่กับแม่อันโตเนียตตาอีกครั้ง ในใจของอเมริโกเต็มไปด้วยความสับสน เขารักแม่ของเขา แต่เขาก็รักครอบครัวใหม่ด้วยเช่นกัน แล้วถ้าจำเป็นต้องเลือก เขาเองก็ไม่รู้ว่าจะเลือกใคร
สุดท้าย กลายเป็นแม่อันโตเนียตตา ที่เป็นคนทำให้อเมริโกตัดสินใจได้ในที่สุด เธอปิดบังไม่ให้เขารู้ว่าครอบครัวอุปถัมภ์ส่งจดหมายและฝากข้าวของมาให้ตลอด และที่สำคัญ เธอยึดไวโอลิน เครื่องดนตรีสุดรักของอเมริโก ซึ่งไม่ต่างจากการพรากเอาความฝันไปจากเด็กน้อย
“เอ็งต้องตื่นจากความฝันนั้นเสียทีนะ อเมริ ชีวิตของเอ็งอยู่ที่นี่…” แม่อันโตเนียตตา ตะคอกใส่หน้าเด็กน้อย พร้อมเสริมว่า “แม่ทำสิ่งที่ดีสำหรับเอ็ง”
การกระทำของแม่อันโตเนียตตา ทำให้อเมริโกตัดสินใจหนีออกจากบ้าน ไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ เขาเติบโตกลายเป็นนักไวโอลินที่มีชื่อเสียง ภายใต้ชื่อ อเมริโก เบนเวนูติ แต่เหมือนชีวิตยังหลงทาง เขาไม่เคยกลับไปเจอหน้าแม่อันโตเนียตตาอีกเลย จนถึงวันที่แม่เขาจากโลกนี้ไป
อเมริโก กลับมาบ้านเกิดอีกครั้ง กลับมาเพื่อค้นหาและพบเจอหลายสิ่งหลายอย่าง รวมถึงความหมายของคำว่า ‘ครอบครัว’
สำหรับผมแล้ว หนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่นิยายฟีลกู้ด ไม่ใช่วรรณกรรมสำหรับเด็ก หากแต่เป็นเรื่องราวชีวิตจริงของคนๆ หนึ่ง ที่เส้นทางชีวิตของเขา ถูกถักทอ ถูกร้อยรัด หรือกระทั่งถูกลากจูงด้วยความรักของผู้คนหลายคน
แน่นอนว่า ทุกการกระทำในนามของความรัก มีความปรารถนาดีอยู่ในนั้น แต่ก็อย่างที่มีใครบางคนกล่าวไว้ว่า ความรักมักมาพร้อมความไม่เข้าใจ บางครั้ง เราอาจรู้ว่าใครรักเรา ทว่า หลายครั้งที่เราไม่เข้าใจในการกระทำของคนที่รักเราเลย
แต่ก็นั่นแหละ บางสิ่งบางอย่าง โดยเฉพาะเรื่องราวของความรัก อาจไม่จำเป็นต้องใช้ความเข้าใจ แค่ใช้ความรู้สึกก็พอ
หนังสือเล่มนี้ก็เช่นกัน ที่มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่เข้าใจ และชวนให้ขบคิดสงสัย ซึ่งก็อาจเป็นเจตนาของผู้เขียนที่ต้องการให้เราคิดต่อไปเอง ไม่ว่าจะเป็น ใครคือพ่อที่แท้จริงของอเมริโก คนที่ไปเสี่ยงโชคที่อเมริกา หรือเพื่อนบ้านที่ชื่อคาเปเฟียร์โร (ผู้มีชื่อจริงว่า ลุยจิ อเมริโอ) หรือแม้แต่การกระทำหลายๆ อย่างของแม่อันโตเนียตตา
แต่ก็นั่นแหละ บางสิ่งบางอย่าง โดยเฉพาะเรื่องราวของความรัก อาจไม่จำเป็นต้องใช้ความเข้าใจ แค่ใช้ความรู้สึกก็พอ
ผมอดไม่ได้ที่จะนึกถึงคำพูดของมัดดาเลนา ที่บอกกับอเมริโกว่า
“อเมริ บางครั้ง คนที่ปล่อยเราไปก็รักเรามากกว่าคนที่รั้งเราไว้”