- หากเรามีทัศนคติทางบวกกับใคร เราจะอยากให้คนนั้นมีทัศนคติเหมือนกันกับเรา อย่างเพื่อน ครอบครัว หรือแฟน ซึ่งรวมถึงเรื่องการเมืองด้วยเช่นกัน
- เมื่อคนที่เราชอบ ชอบสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนเรา หรือคนที่เราเกลียดกลับมาชอบมาเกลียดอะไรเหมือนเรา เราจะพบกับภาวะไม่สมดุล และจะทำให้เราอึดอัด ลำบากใจ
- เราสามารถปรับให้มีความสมดุลได้โดยการมองอย่างยุติธรรม และประเมินเป้าหมายด้วยข้อเท็จจริง และพยายามลดความสำคัญจากเป้าหมาย
ตอนนี้หัวข้อร้อนแรงที่สุดไม่แพ้วงการบันเทิงก็คือแวดวงการเมือง การเติบโตของโซเชียลเน็ตเวิร์กที่สร้างทั้งพื้นที่อัปเดตข่าวสารความเป็นไปอย่างรวดเร็วจากแหล่งต่างๆ ทั้งวงในวงนอก และยังสร้างพื้นที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองทั้งการโพสต์ การคอมเมนต์ รวมถึงการสร้างสื่อต่าง ๆ เราจะพบว่าตอนนี้ไม่ว่าคนเพศไหนวัยไหนต่างก็สนใจการเมือง มองไปทางไหนก็มีแต่คนคุยเรื่องการเมือง แสดงความคิดเห็นเรื่องการเมือง ซึ่งส่วนตัวผมมองว่าเป็นเรื่องดีครับ เพราะการเมืองคือเรื่องสำคัญของประชาชน ประเทศจะเดินหน้าหรือถอยหลัง เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี จะมีนโยบายส่งเสริมสิ่งที่เราคิดว่าสำคัญหรือไม่นั้นล้วนแต่เกิดจากระบบการปกครองของประเทศ
หากคนที่เราชอบ เขาชอบหรือเกลียดอะไรเหมือนเรา และคนที่เราเกลียด เขาชอบหรือเกลียดอะไรแตกต่างจากเรา เราจะพบกับภาวะสมดุลที่ทำให้สบายใจ แต่ถ้าไม่ คือ คนที่เราชอบ เขาชอบสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนเรา หรือคนที่เราเกลียดกลับมาชอบมาเกลียดอะไรเหมือนเรา เราจะพบกับภาวะไม่สมดุล และจะทำให้เราอึดอัด ลำบากใจ
แต่การเมืองนั้นมีธรรมชาติอย่างหนึ่งคือ ‘การแบ่งขั้ว’ เราอาจจะแบ่งได้หลักๆ เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม กับฝ่ายเสรีนิยม หรือถ้าแบ่งแบบที่ง่ายกว่านั้นก็คือใครชอบพรรคการเมืองไหน และแน่นอนว่าแต่ละพรรคนั้นมีแนวคิดที่แตกต่างกัน คนที่ชื่นชอบคนละพรรคคนละขั้วเวลาคุยเรื่องการเมืองเลยมีโอกาสที่จะเถียงกันว่า ฝั่งไหนที่ถูกฝ่ายไหนผิด หรือฝ่ายไหนหรือดีกว่า และผมเชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะเจอด้วยตัวเองหรือเห็นจากคนรอบตัวที่ทะเลาะกันใหญ่โตและเลิกคบกันเพราะเรื่องการเมืองมาแล้ว
มีคำพูดโบราณที่ยังคงใช้ได้เสมอคือ “อย่างเถียงกันเรื่องการเมือง และศาสนา” เพราะมันไม่มีวันจบสิ้น แต่ทำไมถึงเป็นแบบนั้น วันนี้เราจะมาดูหัวข้อเกี่ยวกับความรักในอีกรูปแบบ นั่นคือ ‘การรักในจุดยืนการเมือง’ ของตัวเอง ทำไมคนเรานั้นเวลาถกเถียงกันเรื่องการเมืองถึงเอาเป็นเอาตาย ทำไมเราถึงรู้สึกอึดอัด คันปากอยากเถียงเหลือเกินเวลาคนรอบตัวของเรานั้นมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากเรา ขนาดเถียงกับคนรัก เพื่อนฝูง คนในครอบครัวยังต้องเถียงให้ชนะให้ได้ ทำไมบางคนปกป้องพรรคฝั่งที่ตนเองชอบยิ่งเสียกว่าปกป้องแฟนเสียอีก เรามาดูจิตวิทยาเบื้องหลังสิ่งนี้กันครับ
จิตวิทยานั้นเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับเหตุผลของความคิดและการกระทำของมนุษย์ มีหนึ่งในทฤษฎีคลาสสิกที่สำคัญของจิตวิทยามีชื่อว่า Balance theory (ทฤษฎีความสมดุล) ที่บอกว่า คนเราคิดและทำบางสิ่งเพื่อรักษาความสมดุลของทัศนคติระหว่างตัวเรากับสิ่งรอบตัวเอาไว้
‘ทัศนคติ’ หรือ ‘เจตคติ’ ที่ว่าก็คือการตีค่าเป้าหมายหนึ่งๆ ว่าเป็นในทางบวกหรือลบ ชอบหรือเกลียด ดีหรือชั่ว เก่งหรือไม่เก่ง ฯลฯ ส่วนที่ว่า ‘สมดุล’ นั้นหมายถึง หากเรามีทัศนคติทางบวกกับใคร (ประเมินในแง่ดีหรือชอบ) เราจะอยากให้คนนั้นมีทัศนคติเหมือนกันกับเรา อย่างเพื่อน ครอบครัว หรือแฟนนั้น เราก็อยากให้คนเหล่านั้นชอบอาหารแบบเดียวกับเรา ชอบดูหนังแนวเดียวกับเรา และแน่นอนว่าอยากให้เขามีขั้วทางการเมืองเหมือนเราด้วย และสิ่งที่เราไม่ชอบที่เรามีทัศนคติทางลบต่อสิ่งนั้น เราก็ไม่อยากให้คนที่เราชอบไปชอบสิ่งนั้นด้วย ในทางกลับกัน เราไม่อยากให้คนที่เรามีทัศนคติทางลบ (ประเมินในแง่ร้ายหรือเกลียด) มีทัศนคติตรงกับเรา เราจะรู้สึกไม่ดีที่คนนั้นมาชอบอะไรแบบที่เราชอบ เกลียดสิ่งที่เราเกลียด
เพื่อให้เห็นภาพเวลาอธิบายทฤษฎีนี้เรานิยมแสดงเป็นแผนภาพรูปสามเหลี่ยม ซึ่งแสดงถึงคนสองคน (ในตัวอย่างใช้ไอคอนใบหน้าสีฟ้ากับสีส้ม) ว่าทั้งคู่มีทัศนคติต่อกันอย่างไร และทั้งคู่มีทัศนคติต่ออีกสิ่งอย่างไรต่อเป้าหมาย (เครื่องหมาย + และ – คือทัศนคติว่าเป็นไปในทางบวกหรือลบ) เนื่องจากวันนี้เราจะพูดถึงการชอบขั้วหรือพรรคการเมือง เราเลยจะใช้ ‘พรรค’ เป็นเป้าหมาย เรามาดูความสัมพันธ์ทุกรูปแบบกันว่ามีแบบไหนที่สมดุลและไม่สมดุลบ้าง
แบบที่สมดุล ทำให้สบายใจ |
ฉันชอบเธอ ฉันชอบพรรค ก เธอก็ชอบพรรค ก | |
ฉันชอบเธอ ฉันไม่ชอบพรรค ก เธอก็ไม่ชอบพรรค ก | |
ฉันเกลียดเธอ ฉันชอบพรรค ก เธอไม่ชอบพรรค ก | |
ฉันเกลียดเธอ ฉันไม่ชอบพรรค ก เธอชอบพรรค ก |
แบบที่ไม่สมดุล หรือทำให้อึดอัด ลำบากใจ |
ฉันชอบเธอ ฉันไม่ชอบพรรค ก แต่เธอชอบพรรค ก | |
ฉันชอบเธอ ฉันชอบพรรค ก แต่เธอไม่ชอบพรรค ก | |
ฉันเกลียดเธอ ฉันชอบพรรค ก แต่เธอก็ชอบพรรค ก | |
ฉันเกลียดเธอ ฉันไม่ชอบพรรค ก แต่เธอก็ไม่ชอบพรรค ก |
เมื่อเกิดภาวะไม่สมดุลจะรู้สึกอึดอัดและอยู่ในภาวะที่ต้องเปลี่ยนไปอยู่ในภาวะที่สมดุลให้ได้ เหมือนอย่างถ้าเรามีแฟน และแฟนไปชอบพรรคการเมืองที่เราเกลียด เราจะรู้สึกอึดอัดและต้องการเปลี่ยนให้สมดุล เช่น ทำให้แฟนมาเกลียดพรรคที่เราเกลียด ชอบพรรคที่เราชอบให้ได้ เบื้องหลังของความสบายใจและความอึดอัดนั้นเพราะมนุษย์เรานั้นเป็นสัตว์ที่คิดว่าตนมีเหตุผล เวลาเรามีทัศนคติต่ออะไร เราจะมองหาเหตุผลที่อธิบายทัศนคติของเราเอง การที่เราชอบใครสักคนก็เหมือนกันครับ
– ฉันชอบเธอ เพราะเธอมีความคิดเหมือนฉัน เป็นเหตุผลที่เข้าใจได้ จึงสมดุลและสบายใจ
– ฉันไม่ชอบเธอ เพราะเธอมีความคิดแตกต่างฉัน เป็นเหตุผลที่เข้าใจได้ จึงสมดุลและสบายใจ
– ฉันชอบเธอ แต่เรามีความคิดต่างกัน ถ้าแบบนั้นเธอหรือฉันเป็นคนหนึ่งที่คิดผิด ความไม่สมดุลเกิดขึ้น แบบนี้ไม่สบายใจ
– ฉันไม่ชอบเธอ แต่เรามีความคิดเหมือนกัน ถ้าแบบนั้นเราเกลียดกันทำไม ความไม่สมดุลเกิดขึ้น แบบนี้ไม่สบายใจ
หากชอบไม่เหมือนกัน แสดงว่าฉันหรือเธอที่มองบางอย่างผิด และมนุษย์นั้นโดยธรรมชาติ ไม่อยากเป็นคนผิด หรือไม่อยากเป็น ‘คนโง่’ ถ้าอีกฝ่ายเป็นคนที่เราเกลียด และคิดต่างจากเรา เราจะสบายใจที่จะคิดว่าเราคิดถูก คนนั้นแหละผิด คนนั้นแหละโง่ แต่พอเป็นคนที่เราชอบ เราเองก็ไม่อยากให้อีกฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายผิดหรือโง่ และนั่นเลยทำให้เกิดความไม่สมดุล
แล้วถ้าความไม่สมดุลเกิดขึ้น คนเราจะทำอย่างไรต่อ จากตัวอย่างในกรณีที่ฉันเกลียดพรรค ก แต่คนที่ฉันชอบไปชอบพรรค ก สถานการณ์แบบนี้จะปรับให้สมดุลอย่างไร โดยถ้าต้องการปรับที่ทิศทางของทัศนคติ เราจะปรับได้ 3 ทาง
1) ฉันจะเปลี่ยนไปชอบ พรรค ก เหมือนเธอ 2) ฉันจะพยายามเปลี่ยนเธอให้ชอบ พรรค ก 3) ฉันไม่ชอบเธอแล้ว เพราะเธอมีมุมมองการเมืองแตกต่างจากฉัน |
ฟังดูอาจจะง่าย แต่ในความเป็นจริงเราจะพบว่ามันไม่ได้แก้ง่าย ๆ ข้อ 1) กับ ข้อ 2) นั้นยากพอกัน เพราะไม่มีใครอยากเปลี่ยนความทัศนคติตัวเอง เพราะเมื่อไรที่เปลี่ยนแปลว่าตัวเองเป็นฝ่ายผิด กับบางเรื่องคนอาจจะรับไหว เช่น อาหารร้านนั้นไม่อร่อยจริง ๆ หรือ ลองไปกินอีกรอบไหม ลองเปลี่ยนเมนู อาจจะพอเปลี่ยนใจกันได้ ไม่ต้องคิดมาก แต่กับเรื่องการเมืองนั้นคงเปลี่ยนได้ไม่ได้ง่ายๆ เพราะคนเราจะมีขั้วการเมืองแบบไหน มักจะรวมถึงแนวคิดหลายอย่าง ตั้งแต่การตีความทางจริยธรรมถึงความถูกผิด การทำดีหรือทำชั่ว สิ่งนี้คนเรามักจะมีหลักยึดในใจที่ค่อนข้างมั่นคง ไม่ใช่สิ่งที่จะมาเปลี่ยนกันง่ายๆ และยังรวมถึงการตีความด้านความสามารถว่าใครเก่งกว่า ดีกว่า เหมาะกว่า
และที่สำคัญคือสิ่งที่คนนั้นให้คุณค่า เช่น มองว่าผลประโยชน์ หรืออุดมการณ์มาก่อน หากจะเปลี่ยนสิ่งนี้ก็จะไปกระทบว่า “ฉันวิเคราะห์ผิด” หรือ “ฉันโง่ที่ดูผิด” มนุษย์ไม่ชอบความรู้สึกนี้ครับ นี่คือเหตุผลที่การเถียงในหัวข้อการเมืองมันถึงเคร่งเครียดและเถียงกันไม่จบ เพราะต่างฝ่ายต่างพยายามปรับมุมมองของฝั่งตรงข้ามให้มาเป็นเหมือนตน ตนเองจะได้ไม่ผิด ซึ่งมันก็ไม่มีใครอยากเปลี่ยนเพราะไม่อยากเป็นฝ่ายคิดผิด ดังนั้นไปๆ มาๆ เมื่อทะเลาะกันหนักข้อเข้าจะลงเอยเป็นข้อ 3) คือในเมื่อคุยให้มันคิดตรงกันไม่ได้ ก็เลิกชอบ เลิกสนิทกันไปเลยดีกว่าเราอาจจะเคยพบว่าเวลาใครชอบสิ่งไหนมากๆ ‘ยามรักน้ำต้มผักก็หวาน’ ถ้าชอบใครชอบพรรคไหนแล้ว เขาทำอะไรก็ดีไปหมด เรื่องนี้ก็อธิบายได้ด้วย Balance theory เช่นกัน บางครั้งเวลาเถียงเรื่องการเมืองกัน จะพบว่าฝ่ายหนึ่งพยายามปกป้องพรรคที่ตนชอบเหลือเกิน ทั้งๆ ที่เห็นชัดๆ ว่าเขาทำผิดอยู่ ยกตัวอย่างเช่น นายสีฟ้าชอบพรรค ก แต่ในข่าวพรรค ก กลับทำทุจริตคอร์รัปชันและแถมบอกว่าสิ่งนั้นไม่ผิด และนั่นจะสร้างภาวะที่ไม่สมดุลดังแผนภาพสามเหลี่ยมด้านล่าง คือ พรรคที่เราชอบกลับทำสิ่งที่เราไม่ชอบ
ภาวะนี้เปลี่ยนให้สมดุลได้ดังนี้ 1) ฉันรับได้กับเรื่องคอร์รัปชัน 2) พรรค ก ต้องรับคอร์รับชันไม่ได้ 3) ฉันจะไม่ชอบพรรค ก แล้ว |
ข้อ 1) นั้นทำได้ยาก เพราะการเปลี่ยนความเชื่อทางจริยธรรมจากขาวเป็นดำนั้นมันเหมือนบอกว่าวิธีตัดสินของตนเองมันผิดมาทั้งชีวิต ข้อ 2) ก็ยาก เพราะมันจะไปแย้งกับข้อเท็จจริงที่เห็นกันอยู่ในข่าว ส่วนส่วนข้อ 3) ก็ยากเช่นกัน เพราะถ้าเปลี่ยนก็เหมือนตัวเองไปหลงชอบพรรคผิดมาตลอด ทำให้ดูเหมือนตัวเองโง่ แต่พอเปลี่ยนไม่ได้สักทาง คนเราก็ต้องหาทางอื่นที่ทำให้สมดุล และสมองของคนเรายอมทำได้ถึงขั้นบิดเบือนความจริงในระดับที่ตัวเองรับได้ มองใหม่ว่า สิ่งที่พรรค ก ทำ ไม่เรียกว่าคอร์รัปชัน อาจจะพยายามมองแบบเทาๆ หาเหตุผลมาแก้ต่างว่า นั่นคือวิธีทางการเมืองที่ใครๆ ก็ทำกัน หรือนั่นคือการทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม หรือเหตุผลอื่นๆ เพื่อให้ความไม่สมดุลนี้หายไปให้ได้ พอทำแบบนี้ก็กลับมาสมดุลและสบายใจได้เหมือนเดิม ชอบพรรค ก ต่อได้สบายใจ ได้เหมือนเดิม แต่คนที่ฟังที่ไม่ได้ชอบพรรค ก ที่กำลังเถียงด้วยอยู่ก็คงไม่เห็นด้วยแน่ๆ ล่ะครับ และนั่นทำให้ทะเลาะกันไม่จบเสียที
แต่ตอนที่เราเถียงกับใครเรื่องการเมือง ก่อนที่จะไปจับผิดคนรอบตัวว่าใครบ้างที่บิดเบือนความจริง ผมอยากเตือนว่า มนุษย์ทุกคนต่างมีกลไกในการป้องกันความสมดุลในรูปแบบนี้ และหลายๆ ครั้งมนุษย์เราทำลงไปโดยที่ไม่รู้ตัว หากมองจากสายตาคนอื่น อาจจะมองว่าคนนี้มีระบบตรรกะการให้เหตุผลที่พังไปแล้ว มองจากขาวเป็นดำ พูดบิดเบือนความจริง แต่เจ้าตัวจะไม่รู้สึกแบบนั้นเลยก็ไม่แปลก เพราะเขาไม่รู้ตัว แถมพอเกิดขึ้นกับตัวเราเอง เรามักจะไม่รู้ตัวว่าตัวเรากำลังบิดเบือนอยู่ด้วย ดังนั้นอย่าเพิ่งฟันธงว่าคนที่เราเถียงด้วยนั้นเป็นฝ่ายที่บิดเบือน และการไปบอกอีกฝ่ายว่าเขาบิดเบือนนั้น ก็ไม่น่าจะทำให้การทะเลาะกันยุติ แต่จะยิ่งทะเลาะกันหนักกว่าเก่า เพราะคงยากที่ฝ่ายไหนจะยอมรับ ถึงแม้ว่าฝ่ายที่บิดเบือนอาจจะคิดได้ แต่บางทีคนเราก็ไม่อยากเสียหน้า หรือแสดงออกว่าตนเองผิดหรือแพ้ เขาก็จะไม่ยอมรับกับคนที่กำลังเถียงด้วย
นอกจากนี้ แม้หนทางในอดุมคติของการแก้ความไม่สมดุลคือ ให้ทั้งสองคนมองอย่างยุติธรรม และประเมินเป้าหมายด้วยข้อเท็จจริง แต่ในสถานการณ์อย่างการเมืองจะไม่เรียบง่ายขนาดนั้น มีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทำให้การประเมินผิดถูกนั้นคลุมเครือและทำได้ยาก อย่างเช่นหัวข้อการทำผิดกฎหมายที่บางครั้งตีความได้หลายๆ ทาง หรือพฤติกรรมบางอย่างที่อาจจะผิดแต่ให้คุณมากกว่าโทษ ซึ่งคุณและโทษก็ขึ้นอยู่กับสายตาผู้ประเมินอีก และคนส่วนใหญ่ก็เสพการเมืองด้วยการชมจากสื่อ ไม่ได้ทำงานในแวดวงนี้ ไม่เคยเจอไม่เคยคุยกับนักการเมืองตัวจริง บางทีเราเถียงกันด้วยข้อมูลที่เราคาดเดาไปเอง เวลามีเรื่องถกเถียงกัน ทั้งสองฝ่ายก็มักจะไม่มีข้อเท็จจริงชัดเจน ต่อให้อยากหาก็คงไม่รู้จะไปหาจากไหน สุดท้ายคนเลยเลือกข้อมูลที่ทำให้ตัวเองสมดุลไว้ และเลยเถียงกันไม่จบเสียที
Balance theory นั้นไม่ได้อธิบายได้แต่เรื่องการชอบพรรคการเมืองหรือการนิยมขั้วการเมืองนะครับ แต่เราใช้กับสิ่งอื่นๆ ได้ด้วย เช่น เราคงอึดอัดถ้าแฟนเกลียดผลไม้ที่เราชอบ ถ้าหนังที่เราชอบถูกเพื่อนสนิทวิจารณ์เละเทะ ถ้าครอบครัวเราชอบลัทธิงมงายที่เราเกลียดแสนเกลียด
ยิ่งคนเหล่านั้นมีความสำคัญกับเราหรือเราชอบมากเท่าไร เมื่อเกิดความไม่สมดุลก็จะยิ่งรู้สึกอึดอัดมากเท่านั้น และในทางตรงกันข้ามเราจะไม่รู้สึกอะไรกับคนที่เราไม่ได้ให้ความสำคัญ
เช่น เราอยากให้เพื่อนสนิทชอบหรือไม่ชอบอะไรเหมือนเราแต่เราคงไม่ค่อยสนใจเพื่อนร่วมงานที่ไม่ได้สนิทว่าจะมาชอบอะไรเหมือนเราไหม นอกจากนี้ถ้าเป้าหมายของทัศนคติมีความสำคัญกับเรามากเท่าไร เมื่อเกิดความไม่สมดุลก็จะยิ่งรู้สึกอึดอัดมากขึ้นเท่านั้น เช่น รสนิยมในการเลือกยี่ห้อกระดาษชำระของแฟนจะเป็นอย่างไร ก็คงไม่ได้ทำให้เราอึดอัดเหมือนเรื่องแนวคิดทางศาสนา
Balance theory อธิบายความสัมพันธ์ของมนุษย์กับทัศนคติต่อสิ่งต่างๆ ในรูปแบบไม่ซับซ้อน แต่ในชีวิตจริง มนุษย์เรามีความเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก และมีทัศนคติต่อเป้าหมายนับไม่ถ้วน ไม่ได้มีแค่ 3 สิ่งเป็นสามเหลี่ยมเรียบง่ายแบบนี้ เช่น เรามีทัศนคติในความสัมพันธ์กับแฟน เพื่อน คนอื่นๆ ในครอบครัว และบุคคลเหล่านี้ต่างก็มีทัศนคติกับคนอื่นๆ และต่อสิ่งต่างๆ จำนวนมหาศาล ในความเป็นจริงเราต้องพบกับความสัมพันธ์ที่มากกว่าสามทางหรือมีความเกี่ยวโยงกันซับซ้อน ภายหลังจึงมีคนคิดขึ้นทฤษฎีเครือข่ายทางสังคมที่ (Social network analysis) ที่มีแสดงเป็นเครือข่ายซับซ้อนกว่า Balance theory เราอาจจะจินตนาการว่าความสัมพันธ์ของเราตอนอยู่ในสังคมนั้นโยงใยกับบุคคลจำนวนมากเหมือนใยแมงมุม และการกระทำของคนหนึ่งก็ส่งผลต่อคนรอบๆ ตัวต่อกันไปเป็นทอดๆ อย่างไรก็ตามในการเรียนรู้จิตวิทยาเบื้องต้น เราอาจจะพบว่าตำราหลายๆ เล่ม ยังคงกล่าวถึง Balance theory อยู่เพราะเห็นภาพและเข้าใจง่าย
หลายๆ คนพออ่านถึงตรงนี้อาจจะมีคำถามว่า แล้วจะทำอย่างไรหากเราพบกับความไม่สมดุลซึ่งเกิดจากการที่เราและคนที่เรารักมีทัศนคติแตกต่างกัน เรื่องนี้คงเกิดได้ในชีวิตประจำวัน เพราะน้อยคนที่จะชอบหรือเกลียดอะไรเหมือนกันทุกอย่าง และการที่จะเปลี่ยนตัวเราหรือเปลี่ยนอีกฝ่ายนั้นก็เป็นเรื่องยาก
ผมเสนอว่าหากเกิดการถกเถียงกันเมื่อไรผมคิดว่าเราคงต้องเริ่มจัดการจากตัวเราก่อน ทำความเข้าใจอีกฝ่ายว่ามีทัศนคติต่อเป้าหมายแตกต่างจากมุมมองของเรา อีกฝ่ายเลยอาจพูดในสิ่งที่เราคิดว่าไม่มีเหตุผลหรือไม่เข้าท่า หรือแม้แต่เราเองอาจจะกำลังพูดแบบนั้นอยู่ก็ได้ นี่คือธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการปกป้องตนเองไม่ให้เป็นฝ่ายผิด หรือฝ่ายโง่ แต่หากคุยกันแล้วไม่รู้เรื่องเสียที ต่างฝ่ายต่างยังคงมองด้วยมุมมองเดิม ๆ ก็อาจจะเปล่าประโยชน์ที่จะเถียงกัน ถ้ายังต้องการรักษาความสัมพันธ์ไว้ การเลี่ยงไม่พูดอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
อีกทางหนึ่งที่ลดความไม่สมดุลได้คือ การพยายามลดความสำคัญจากเป้าหมายแทน อย่างที่เราคุยกันว่าถ้าเป้าหมายไม่สำคัญ เราก็จะรู้สึกอึดอัดน้อยลง แต่การจะบอกว่าการเมืองไม่สำคัญ ก็อาจจะลำบากหน่อย เพราะอย่างที่ผมกล่าวไปว่าการเมืองนั้นต่างส่งผลต่อชีวิตประจำวันและอนาคตของเราอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นเราอาจจะต้องพยายามหาสิ่งอื่นที่สำคัญกว่ามาเพื่อสร้างความสมดุลชุดใหม่ให้เรากับคนที่เรารักแทน นั่นก็คือเราทั้งคู่ต่างเห็นด้วยว่าเราคิดแตกต่างกันได้ จริงอยู่ว่าอาจจะอึดอัดใจที่สามเหลี่ยมของการเมืองมันยังไม่สมดุล แต่หากสามเหลี่ยมที่เกิดจากเป้าหมายใหม่ที่ยึดมั่นถึงการยอมรับการคิดต่างนี้เป็นสิ่งที่ทั้งคู่ให้ความสำคัญ ผมคิดว่านั่นจะทำให้ไม่ต้องลงเอยที่จะเปลี่ยนให้สมดุลโดยการเลิกการเป็นคนรักไปแทน
และท้ายสุดคือทัศนคติของเราต่อสิ่งใดๆ ก็ตาม แม้ว่าจะบางอย่างอาจจะเปลี่ยนแปลงยาก แต่มันก็เปลี่ยนแปลงได้เสมอ วันดีคืนดีสถานการณ์เปลี่ยนไป หรือเราได้รู้มุมมองใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของเรา เราก็อาจจะเปลี่ยนความคิดไป คนรอบตัวเราก็เช่นกัน แล้ววันหนึ่งความสัมพันธ์ของเราอาจจะสมดุลขึ้นมาเองในอนาคตที่ไม่เคยแน่นอนก็ได้
รายการอ้างอิง
Franzoi, S. L. (2009). Social Psychology (5th edition). McGraw-Hill
Galupo, M. P. (2007). Friendship patterns of sexual minority individuals in adulthood. Journal of social and personal relationships, 24(1), 139-151.
Heider, F. (1946). Attitudes and cognitive organization. The Journal of psychology, 21(1), 107-112.
Otte, E., & Rousseau, R. (2002). Social network analysis: a powerful strategy, also for the information sciences. Journal of information Science, 28(6), 441-453.
Rambaran, J. A., Dijkstra, J. K., Munniksma, A., & Cillessen, A. H. (2015). The development of adolescents’ friendships and antipathies: A longitudinal multivariate network test of balance theory. Social Networks, 43, 162-176.