- วัยรุ่นไม่ได้มีจิตใจอยากทำอะไรเสี่ยงๆ จริงๆ หรอก แต่ว่าสมองส่วนประเมินความเสี่ยงยังพัฒนาไม่เต็มที่ และยังอาจมีปัจจัยภายนอก เช่น แรงกดดันจากเพื่อนฝูง ซึ่งถ้าทุกคนทำแล้วจะไม่ทำอยู่คนเดียว ก็ยากจะปฏิเสธ และคนก็อยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเสมอ
- มองในมุมกลับ การมองไม่เห็นภัยหรืออันตราย หรือความยากลำบากแสนสาหัสของสิ่งที่จะตามมา ทำให้วัยรุ่นสามารถตัดสินใจทำ ‘เรื่องใหญ่’ ได้ชนิดที่ผู้ใหญ่ไม่กล้าทำ เพราะคิดอย่างรอบคอบรอบด้านจนเกินไป
- ผู้ใหญ่เองก็อย่าห้ามวัยรุ่นไปหมดเสียทุกเรื่อง เพราะตัวเองก็อาจประเมินผิดก็ได้
การตัดสินใจของมนุษย์เป็นเรื่องซับซ้อนมาก
ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องมี ‘มูลค่า’ เป็นอย่างมาก เพราะทำให้ผู้ผลิตสามารถวางเป้าหมายได้อย่างถูกต้องมากขึ้น ในเรื่องทางเศรษฐกิจ อดัม สมิธ พยายามตอบคำถามนี้มาตั้งแต่การพยายามค้นหาคำตอบเรื่องกลไกของการสร้างความมั่งคั่งและการสร้างสังคมที่รุ่งเรือง
เรื่องที่มองย้อนกลับไปแล้วก็ออกจะตลกอยู่สักหน่อยว่า เดิมนั้น ‘แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์’ มีสมมุติฐานข้อหนึ่งซึ่งต่อมาก็ต้องยอมรับว่าเป็นจุดอ่อนของทุกแบบจำลอง นั่นก็คือความเชื่อที่ว่ามนุษย์ตัดสินใจเลือกทำสิ่งต่างๆ (รวมทั้งเลือกซื้อสินค้า) ด้วยความคิดที่มีเหตุผล
เรื่องนี้ไม่จริงเลย!
ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในโลกสมัยใหม่ก็คือ การเลือกซื้อรถยนต์ บางคนที่มีเงินมากสักหน่อยเลือกซื้อรถยนต์ที่มีที่นั่งแค่ 2 ที่ บรรทุกอะไรแทบไม่ได้ และราคาแพงระยับ เพียงเพราะรถยนต์นั้นรูปทรงสวยงาม วิ่งได้เร็วมาก และราคาแพงจนมีคนน้อยมากสามารถเป็นเจ้าของได้ แม้ว่าความจริงก็คือ มันวิ่งได้จริงบนท้องถนนได้แค่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเลขหรือเข็มบนหน้าปัทม์
สาเหตุหลักก็เพื่อแสดงฐานะและอาจมีปัจจัยเรื่องความชื่นชอบในความเร็วมาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งก็เป็น ‘ปัจจัยเสี่ยง’ เรื่องความปลอดภัยอีกต่างหาก
ตัวอย่างคลาสสิกอีกเรื่องหนึ่งคือ ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทศวรรษ 1930 เมื่อเกิดข่าวลือเรื่องธนาคารจะล้ม ผู้คนก็แห่กันไปถอนเงินจนธนาคารล้มไปจริงๆ เพราะไม่มีเงินสดจำนวนมากมายมาให้ถอนได้พร้อมๆ กัน เพราะธรรมดาแล้วเงินที่เราฝากไว้ ธนาคารจะนำไปลงทุนในรูปแบบต่างๆ และจะมีเงินสดเหลืออยู่ส่วนหนึ่งเท่านั้นในระบบเพื่อให้ถอนได้ การแห่ไปถอนเงินพร้อมๆ กัน แม้แต่ธนาคารที่มั่นคงที่สุดก็ยังอาจจะล้มได้ในเวลาแทบจะชั่วข้ามคืนทีเดียว หากไม่สามารถหยิบยืมเงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นมาให้ถอนได้
แต่ทุกครั้งที่เกิดข่าวลือแพร่หลายว่า ธนาคารใดกำลังจะล้ม ผู้คนก็จะแห่กันไปถอนเงินด้วยความตื่นตระหนกทุกครั้งไป!
นักจิตวิทยาชื่อ แดเนียล แบร์นูลลี (Daniel Bernoulli) พบว่าปัจจัยหนึ่งที่กระทบต่อการตัดสินใจของผู้คนก็คือ จำนวนรายได้ที่เขาได้รับอยู่ โดยไม่ขึ้นโดยตรงกับผลประโยชน์ที่จะได้รับและความสูญเสียที่เขาอาจต้องจ่าย เช่น หากเป็นคนที่มีรายได้ต่อปีอยู่ที่ 10,000 ปอนด์ การตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการได้เงินเพิ่มอีก 500 ปอนด์จะต้องให้ความสำคัญมาก ต่างจากนักกีฬาฟุตบอลที่อาจจะได้เฉลี่ย 50,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ (เพียงสัปดาห์เดียวก็ได้มากกว่าคนทั่วไปทำงานทั้งปี 5 เท่าแล้ว)
กรณีหลังเงินจำนวน 500 ปอนด์แทบไม่กระตุ้นให้เกิดความสนใจด้วยซ้ำไป
เมื่อถึงศตวรรษที่ 20 จึงเกิดแบบจำลองใหม่ๆ ที่พิจารณาว่า มนุษย์ไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผลและใช้เหตุผลในการตัดสินใจเสมอไป งานวิจัยทำนองนี้มีนักจิตวิทยา 2 คนคือ แดเนียล คาห์นีแมน (Daniel Kahneman) และ เอมอส ทเวอร์สกี (Amos Tversky) ที่มีส่วนอย่างมากในการบุกเบิก โดยทั้งคู่ทดลองจนรู้ว่า มนุษย์เกลียดการสูญเสียมากกว่าหากเทียบกับความชอบได้รับ
หากให้อาสาสมัครทอดลูกเต๋าโดยระบุตัวเลขไว้ว่า ถ้าทอดได้หมายเลขใดหมายเลขหนึ่งจะได้เงิน 100 ปอนด์ การทำแบบนี้จะเทียบความรู้สึกไม่ได้เลยกับการระบุว่า หากอาสาสมัครทอดเต๋าออกมาเป็นบางตัวเลขแล้วจะต้องเสียเงิน 100 ปอนด์ ยกตัวอย่างให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น หากกำหนดว่าทอดได้เลข 6 จะได้ 100 ปอนด์ อาสาสมัครก็ย่อมจะอยากทอด เพราะมีแต่ได้กับเท่าทุน ไม่มีเสีย
แต่หากตั้งกฎว่าคุณจะได้เงิน 100 ปอนด์ หากทอดได้เลข 3, 4, 5 หรือ 6 แต่หากทอยออกมาเป็นเลข 1 หรือ 2 จะต้องจ่าย 100 ปอนด์ กรณีหลังนี้คุณยังจะกล้าเล่นอยู่ไหม? โอกาสได้หรือเสียคุ้มค่าจะเสี่ยงเพียงใด?
สิ่งที่คาห์นีแมนกับทเวอร์สกีค้นพบก็คือ โอกาสที่จะเสียเงิน ‘มีน้ำหนัก’ ต่อการตัดสินใจเล่นหรือไม่เล่น มากกว่าเรื่องโอกาสความน่าจะชนะได้เงินเป็นอย่างมาก พูดอีกอย่างคือแม้เราอยากจะได้ก็ตาม แต่เรากลัวจะเสียมากกว่า
แม้ว่าตามหลักเหตุผลแล้ว เรามีโอกาสได้มากกว่าเสียถึงเท่าตัวดังตัวอย่างการทอดลูกเต๋าที่ยกมานี้
อีกการทดลองหนึ่งเป็นการให้ตัดสินใจบนข้อมูลสมมุติทางด้านการแพทย์ กลุ่มทดลองแรกได้ข้อมูลว่ามีผู้ป่วยหนัก 600 คนที่อาจจะเสียชีวิตได้ ขณะที่การรักษาทำได้ 2 แบบ แบบแรกจะช่วยรักษาให้ผู้ป่วย 200 คนหายได้ แต่การรักษาแบบที่ 2 มีโอกาสราว 1/3 ที่ทั้ง 600 คนจะได้รับการรักษาจนหายได้ แต่ก็มีโอกาส 2/3 ที่จะไม่มีรอดเลยสักคนเดียว
จากนั้นจึงทดลองกับกลุ่มทดลองที่ 2 แม้จะได้รับข้อมูลชุดเดียวกัน แต่คราวนี้ใช้คำพูดที่แตกต่างออกไป โดยแจ้งว่าสำหรับการรักษาแบบแรกนั้นจะมีผู้ป่วยที่เสียชีวิต 400 คน ในขณะที่การรักษาแบบที่ 2 นั้นมีโอกาส 1/3 ที่จะไม่มีใครเสียชีวิตเลย และมีโอกาส 2/3 ที่ผู้ป่วยทุกคนจะเสียชีวิต
หากสังเกตให้ดีจะเห็นได้ว่า โอกาสของทั้งสองวิธีไม่ได้แตกต่างกันเลย แต่ในกลุ่มทดลองแรก ข้อมูลจะเป็นแบบ ‘ช่วยชีวิต’ ในขณะที่กลุ่มทดลองที่ 2 นั้น ข้อมูลที่ให้เน้นไปที่ ‘การเสียชีวิต’ ผลลัพธ์คือ คนส่วนใหญ่ในกลุ่มแรกเลือกวิธีการรักษาแบบแรก ในขณะที่คนส่วนใหญ่ในกลุ่มที่ 2 เลือกวิธีการรักษาแบบที่ 2
ดังนั้น ข้อมูลชุดเดียวกันแท้ๆ แค่นำเสนอแตกต่างกัน ก็ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาเป็นอย่างมาก
ในโลกแห่งความเป็นจริง ข้อมูลประกอบการตัดสินอาจไม่ได้มีลักษณะดำขาวหรือมีตัวเลขที่ตรวจวัดได้ชัดเจนเช่นนี้ อีกทั้งยังมักต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็วแบบเหตุการณ์เฉพาะหน้าอีกด้วย ในสถานการณ์แบบนี้ สมองจะหันกลับไปใช้โหมดสัญชาตญาณที่เริ่มพัฒนาขึ้นเมื่อนานมาแล้วและติดตัวเรามาตั้งแต่สมัยยังเป็นพรานล่าสัตว์หาของป่าอยู่ในทุ่งซาวันนาห์ในทวีปแอฟริกา
ในสมัยนั้นการตัดสินใจอย่างรวดเร็วช่วยให้รอดชีวิตจากผู้ล่าได้
ความรู้สึกกลัวเมื่อขึ้นเครื่องบินหากเทียบกับนั่งในรถยนต์ ก็เป็นผลกระทบทางอ้อมจากชีวิตเมื่อหลายหมื่นปีก่อน ซึ่งหากดูจากสถิติแล้ว กรณีแรกปลอดภัยมากกว่ากรณีหลังอย่างเทียบกันไม่ได้เลย เรามีแนวโน้มจะยึดติดกับเรื่องที่คุ้นเคยมากกว่าจนทำให้ประเมินเรื่องความปลอดภัยผิดเพี้ยนความจริงไปมาก
การเลือกซื้อบ้านซึ่งคนทั่วไปทำไม่บ่อยก็เข้าข่ายกรณีนี้เช่นกัน คือคนมักจะประเมินมูลค่าบ้านในใจและมักยึดติดกับค่าดังกล่าวที่อันที่จริงแล้วบางทีก็เป็นแค่ค่าที่สุ่มขึ้นมา จนทำให้อาจประเมินมูลค่าบ้านจริงๆ ผิดไปเป็นโยชน์
ยิ่งในโลกสมัยใหม่ที่เรามีตัวเลือกมากมาย เช่น ในตอนเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต เราอาจจะมึนงงกับตัวเลือกสินค้าในหมวดเดียวกันที่มีมากมายมหาศาลจนตัดสินใจไม่ถูก สิ่งที่คนส่วนใหญ่เลือกทำจึงมักอาศัยหลักง่ายๆ เช่น เลือกตามความคุ้นเคยหรือตามราคา (เลือกอันที่ถูกกว่า)
ในกรณีของการเลือกซื้อรถยนต์ วิธีการที่อาจช่วยได้ก็เช่น การทำรายการลักษณะของรถยนต์ที่คุณต้องการ จากนั้นก็นำเอารถยนต์แต่ละคันที่พอจะอยู่ในข่ายซื้อไหวมาอยู่ในตาราง แล้วให้คะแนน อาจจะให้คะแนนเป็นช่วง 1-10 หรือ -5 ถึง +5 ก็ได้ แล้วก็ไล่ให้คะแนนไป
เมื่อรวมคะแนนในตอนท้ายสุด เราก็จะได้รถยนต์ที่ตรงกับ ‘ความต้องการ’ ของเรามากที่สุด โดยตัดอคติต่างๆ ออก
สุดท้ายมาดูประเด็นที่ยกมาเป็นหัวข้อไว้ก็คือ ทำไมวัยรุ่นชอบทำอะไรเสี่ยงๆ ไม่ว่าจะขับรถเร็วมาก ดื่มหนัก เที่ยวหนัก หรือลองยาเสพติด?
มีการทดลองให้วัยรุ่นทำแบบสอบถามเรื่องพฤติกรรมเสี่ยงๆ ผลคือพวกวัยรุ่นก็รู้ว่า พฤติกรรมเหล่านี้มีความเสี่ยงสูง แต่เมื่อวัดระยะเวลาที่ใช้ในการตัดสินใจก่อนตอบ พบว่าวัยรุ่นใช้เวลามากกว่าพวกผู้ใหญ่อย่างเห็นได้ชัด
คำตอบอาจจะอยู่ที่สมองของวัยรุ่นส่วนที่ใช้ประเมินความเสี่ยงยังพัฒนาไปได้ไม่เต็มที่ สมองส่วนดังกล่าวคือสมองส่วนพูหน้า (frontal lobe) ตรงหน้าผาก กล่าวอย่างจำเพาะมากขึ้นไปอีกคือ เป็นบริเวณที่มีชื่อว่า เวนโทรมีเดียล (ventromedial) และดอร์โซแลเทอรัล (dorsolateral) ของสมองส่วนพูหน้านี้
วัยรุ่นจึงไม่ได้มีจิตใจอยากทำอะไรเสี่ยงๆ จริงๆ หรอก เป็นแต่ว่าสมองส่วนประเมินความเสี่ยงยังพัฒนาไม่เต็มที่เท่านั้น นอกจากนั้นยังอาจมีปัจจัยภายนอก เช่น แรงกดดันจากเพื่อนฝูง (pressure) ซึ่งถ้าทุกคนทำแล้วจะไม่ทำอยู่คนเดียว ก็ยากจะปฏิเสธจริงๆ และคนก็อยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเสมอ
ผู้ใหญ่ทั้งหลายจึงควรเข้าใจธรรมชาติแบบนี้ของวัยรุ่น เพื่อการสร้างสัมพันธภาพระหว่างวัยที่ดี
มองในมุมกลับ การมองไม่เห็นภัยหรืออันตราย หรือความยากลำบากแสนสาหัสของสิ่งที่จะตามมา ทำให้วัยรุ่นสามารถตัดสินใจทำ ‘เรื่องใหญ่’ ได้ชนิดที่ผู้ใหญ่ไม่กล้าทำ เพราะคิดอย่างรอบคอบรอบด้านจนเกินไป เมื่อรวมกับประสบการณ์ความล้มเหลวในอดีต จึงทำให้ไม่กล้ารับงานใหญ่ที่ประเมินว่าใหญ่เกินตัว
ดังนั้น ผู้ใหญ่เองก็อย่าห้ามวัยรุ่นไปหมดเสียทุกเรื่อง เพราะตัวเองก็อาจประเมินผิดก็ได้
มีแต่วัยรุ่นที่มีพลังล้นเหลือและ ‘กล้าเสี่ยง’ แบบนี้เท่านั้นที่คิดว่า ตัวเองสามารถเปลี่ยนโลกได้ และบางกรณีก็ทำได้จริงๆ เสียด้วย!
เอกสารอ้างอิง
[1] Edoardo Albert (2022) Deciding is Difficult. Psychology Now, vol 2, pp.115-119