- ภัยพิบัติเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาโดยไม่เลือกว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ และแม้เด็กบางคนอาจรู้เรื่องภัยพิบัติมาบ้างแล้วจากในบทเรียน แต่ถ้าไม่มีการเตรียมพร้อมซ้อมปฏิบัติ เมื่อเกิดสถานการณ์จริง เขาอาจไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองให้ปลอดภัยได้ การติดตั้งทักษะการเอาชีวิตรอดจึงจำเป็น
- บทความนี้ชวนคุยกับ ครูเนย – ณัฐสรวงกร คงจุฬากูล หัวหน้ากลุ่มประสบการณ์สุขภาพและสุขภาวะ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงแนวคิดในการออกแบบวิชา ‘อยู่รอดปลอดภัย’ เพื่อเสริมสร้างทักษะการเอาชีวิตรอดจากภัยพิบัติและการลดบทเรียนที่เน้นการท่องจำ
- วิชานี้เป็นวิชาบูรณาการสำหรับเด็ก ม.1 โดยนำเนื้อหาภัยพิบัติจากภูมิศาสตร์ในส่วนของสังคมฯ มาผนวกกับการสอนทักษะเอาชีวิตรอดในส่วนของสุขศึกษา เน้นความรู้เบื้องต้น สร้างทักษะการเอาชีวิตรอด และให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติ ทำให้เด็กรู้ว่าเมื่อเจอสถานการณ์จริงต้องทำอย่างไร
“ภัยพิบัติเป็นเรื่องไกลตัว เด็กไม่ต้องรู้หรอก ปล่อยให้ผู้ใหญ่เขาจัดการกันไป”
คำพูดเหล่านี้มักเกิดขึ้นเมื่อต้องการสอนให้เด็กเอาตัวรอดจากภัยพิบัติ แต่หากลองพิจารณาดีๆ ภัยพิบัติเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาโดยไม่เลือกว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ และแม้เด็กบางคนอาจรู้เรื่องภัยพิบัติมาบ้างแล้วจากในบทเรียน แต่ถ้าไม่มีการเตรียมพร้อมซ้อมปฏิบัติ เมื่อเกิดสถานการณ์จริง เขาอาจไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองให้ปลอดภัยได้ การติดตั้งทักษะนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น
The Potential ชวนคุยกับ ครูเนย – ณัฐสรวงกร คงจุฬากูล หัวหน้ากลุ่มประสบการณ์สุขภาพและสุขภาวะ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงแนวคิดในการออกแบบวิชา ‘อยู่รอดปลอดภัย’ เพื่อเสริมสร้างทักษะการเอาชีวิตรอดจากภัยพิบัติและการลดบทเรียนที่เน้นการท่องจำ
“ถ้าปกติเราเรียนแค่วิชาการ เด็กก็จะไม่ได้รู้ว่าจริงๆ รอบตัวเรามันเกิดภัยพิบัติแบบนี้ขึ้นมาอยู่แล้ว เราเห็นว่ามันสำคัญที่เด็ก ม.1 ควรจะได้เรียนรู้เรื่องนี้ ซึ่งจะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้ แต่ถ้าเด็กมีความรู้ไว้ พอเด็กไปถึงสถานการณ์จริง เด็กก็จะตระหนักรู้ว่าเขาต้องมีสติ ต้องทำอะไร 1 2 3 4 ต่อไป
การออกแบบวิชาควรจะเป็นการออกแบบที่เด็กได้เรียนรู้แล้วปฏิบัติจริง”
วิชา ‘อยู่รอดปลอดภัย’ คืออะไร
‘อยู่รอดปลอดภัย’ เป็นวิชาที่เรียนเกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดจากธรรมชาติหรือมนุษย์ ได้แก่ อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว และสึนามิ เป็นวิชาบูรณาการสำหรับเด็ก ม.1 ที่เกิดขึ้นจากวิชากลุ่มมนุษย์และสังคม (สังคมศึกษา) และวิชากลุ่มสุขภาพและสุขภาวะ (สุขศึกษา) โดยนำเนื้อหาภัยพิบัติจากภูมิศาสตร์ในส่วนของสังคมฯ มาผนวกกับการสอนทักษะเอาชีวิตรอดในส่วนของสุขศึกษา และเกิดเป็นวิชาอยู่รอดปลอดภัยขึ้นมา
เมื่อนำบทเรียนเหล่านี้มาสอนในวิชาอยู่รอดปลอดภัย ทำให้สามารถลดทอนเนื้อหาที่อยู่ในกลุ่มวิชาสังคมฯ และสุขศึกษาได้ เพราะว่าเด็กได้เรียนไปแล้ว ไม่ต้องเรียนซ้ำอีก โดยบทเรียนในวิชาอยู่รอดปลอดภัยจะไม่ได้สอนเนื้อหาที่ลึกมาก แต่เน้นความรู้เบื้องต้นและการสร้างทักษะการเอาชีวิตรอด
เป้าหมายหลักๆ คือ
1) เด็กรู้ เข้าใจ และตระหนักถึงการเกิดภัยพิบัติต่างๆ
2) เด็กรู้และมีทักษะในการเอาชีวิตรอดเมื่อเจอภัยพิบัติ
“เช่น ถ้าเกิดไฟไหม้ อัคคีภัยจะทำยังไงต่อ การใช้ถุงพลาสติกทำยังไง การใช้ผ้าใช้ยังไง วิธีการออกมาจากสถานที่นั้นต้องทำยังไง ปกติถ้าเราไม่เคยเรียน ถ้าไฟไหม้แล้วเราต้องออกไป เราจะผลักประตูออกไปเลย แต่พอเด็กรู้ว่ามันผลักไม่ได้นะ มันต้องค่อยๆ แตะประตูดูก่อนว่ามันร้อนรึเปล่า ซึ่งก็จะเป็นทักษะที่ติดตัวเด็กไป ก่อนที่จะเกิดทักษะจริงๆ มันก็ต้องเกิดการฝึกฝน เพราะฉะนั้นเราก็เลยให้เด็กจำลองสถานการณ์จริง”
การออกแบบการเรียนรู้ที่ช่วยให้เด็ก คิดได้+ทำเป็น=เอาตัวรอด
ครูเนยเล่าว่า ในห้องเรียนจะมีนักเรียน 28 คน และครู 3 คนทำหน้าที่สอน เปิดสไลด์ และกระตุ้นเด็ก โดยสลับหน้าที่กันไปเรื่อยๆ และในการสอนหนึ่งหัวข้อจะแบ่งเป็น 3 คาบ คือ
1) ความหมาย ประเภท สาเหตุ และผลกระทบของภัยพิบัติ
2) การเอาตัวรอดจากภัยพิบัติ
3) แนวทางการป้องกันภัยพิบัติ
โดยเรียนทั้งหมด 15 คาบ แบ่งเป็นสัปดาห์ละ 1 คาบ
- คาบที่ 1 ความหมาย ประเภท สาเหตุ และผลกระทบของภัยพิบัติ
“คาบแรกเราทำเป็นเกมผ่าน Kahoot ให้เด็กเล่นเลยค่ะว่า เด็กๆ รู้รึเปล่าว่าภาพแต่ละภาพเนี่ยมันคือภัยพิบัติหรือภัยธรรมดา เด็กเขาแอ็กทีฟมาก เด็กๆ จะติดกับการที่จะเรียนแล้วก็มีเกมที่จะเล่น แล้วเพราะเป็นเด็ก ม.1 ด้วย เราก็เลยใช้เกมมานำก่อนที่จะเริ่มเรียน บางคนก็ตอบถูกตอบผิด แต่ว่าในระหว่างทางเด็กก็ได้เรียนรู้ไปอยู่แล้วว่าสิ่งที่ใช่หรือสิ่งที่ถูกมันคืออะไร แล้วเราก็จะบอกเด็กอยู่แล้วว่าการที่จะตอบคำถามมันไม่ได้มีถูกไม่มีผิดนะ เพราะว่าเขาไม่ได้รู้มาก่อน
หลังจากนั้นเราก็ค่อยดึงเข้าสู่บทเรียนว่า จริงๆ แล้วภัยพิบัตินี้หมายถึงอะไรบ้าง มันเป็นยังไงบ้าง แล้วภัยพิบัตินี้แยกออกเป็นกี่ประเภท ประเภทหลักๆ มันมีอะไรบ้าง จริงๆ มันไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากและไกลตัว มันไม่ได้ต้องลงลึกว่าแผ่นดินชั้นไหนจะแยก แต่ให้เขาแค่สังเกตดูว่าถ้าเกิดว่าเจอแบบนี้มันจะเป็นยังไงต่อ แล้ววิธีการเอาตัวรอดจะเป็นแบบไหน”
- คาบที่ 2 การเอาตัวรอดจากภัยพิบัติ
ครูจะบรรยายและสอนถึงขั้นตอนในการเอาชีวิตรอดจากภัยพิบัตินั้นๆ ก่อน เช่น เมื่อเกิดอัคคีภัย เราต้องมองหาบันไดหนีไฟเพื่อออกจากอาคารแล้วไปรวมตัวที่ ‘จุดรวมพล’ โดยในระหว่างการหนีไฟอาจใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเพื่อช่วยในการหนีไฟได้ ซึ่งครูก็จะอธิบายว่าอุปกรณ์เหล่านี้สามารถนำมาใช้งานอย่างไรได้บ้าง
หรือหากไม่สามารถหนีออกจากอาคารได้ เราควรหรือไม่ควรจะไปหลบที่ไหน เช่น ไม่ควรหลบในห้องน้ำหรือในโอ่ง เพราะในนั้นจะเกิดความร้อนสะสมและทำให้คนที่หลบอยู่ข้างในเสียชีวิตได้
ครูเนยเล่าถึงบรรยากาศตอนที่ซ้อมหนีไฟว่า ครูจะให้เด็กเลือกอุปกรณ์ก่อนว่าจะใช้อะไรในการช่วยหนีไฟ ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้รอบๆ ตัว เช่น ผ้า ถุงพลาสติก กระป๋อง เป็นต้น แล้วจึงสอบถามเด็กว่าอุปกรณ์ที่เลือกมาจะนำไปใช้อย่างไรได้บ้าง จากนั้นครูทำการเปิดเสียงกริ่งเตือนไฟไหม้ขึ้นโดยไม่ได้เตี๊ยมกับเด็กไว้ก่อน เพื่อจำลองสถานการณ์ให้สมจริง เมื่อได้ยินเสียงกริ่งเด็กๆ ต่างก็รีบวิ่งออกจากห้องพร้อมกับใช้อุปกรณ์ต่างๆ แล้วไปรวมกันที่จุดรวมพล
ในการซ้อมหนีไฟ เด็กๆ ทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ครูเนยบอกว่าก็มีเด็กบางคนติดเล่นบ้างไม่จริงจังบ้าง แต่ครูก็เชื่อว่าอย่างน้อยเด็กก็ได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติในการเอาตัวรอด ซึ่งจะเป็นทักษะที่ติดตัวไป เขาจะจดจำและนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้
- คาบที่ 3 แนวทางการป้องกันภัยพิบัติ
ในคาบนี้จะเป็นการสรุปเนื้อหาและกิจกรรมที่เกิดขึ้นในคาบที่ 1 และ 2 เพื่อดึงไปสู่การสอนถึงแนวทางการป้องกันภัยพิบัตินั้น จากนั้นจะมีใบงานให้เด็กทำ ซึ่งมีคำถาม เช่น “ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับตัวเอง เด็กจะป้องกันอย่างไร” เด็กก็จะได้แสดงความรู้ที่ตัวเองได้เรียนรู้มาจากคาบที่ 1 และ 2 แล้วมาตอบในใบงาน เป็นการประเมินไปในตัวว่าเด็กมีความรู้ความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน
ครูเนยขยายความการจัดการเรียนรู้ในวิชานี้ว่า “ส่วนใหญ่คือเราอยากได้ Active Learning (การเรียนรู้เชิงรุก) แต่จริงๆ Active Learning มันก็ไม่ได้หมายความว่ามันต้องมีการทำอะไรตลอด แต่แค่ในหัวของเด็กมันคิดตามไปด้วย คนจะเข้าใจว่า Active Learning มันคือการต้องปฏิบัติ ต้องมีการเล่นเกม ต้องมีการลงมือทำเลยนะ แต่จริงๆ แล้ว มันไม่ได้ต้องลงมือทำตลอดเวลา”
ลงมือทำในที่นี้หมายถึงสมองมันลงมือทำที่จะคิด คิด คิด คิด แล้วก็ตอบออกมาได้ หรือว่าทำออกมาในใบงาน หรือว่าทำออกมาเป็นชิ้นงาน”
นอกจากนี้ ครูเนยยังกล่าวถึงวิธีการกระตุ้นของครูในคาบเรียนว่า “เราเปลี่ยนจากการเปรียบเทียบ เป็นการแนะนำแทนว่า ‘เราลองแบบนี้ไหม’ ลองทั้งผิดลองทั้งถูก ลองดูสิว่าความต่างมันเห็นไหม เด็กเห็นไหมว่ามันต่างกันยังไง เพราะว่าบางทีเด็กก็เซนซิทีฟกับการที่เราบอกว่า ‘คุณผิดนะ’ เมื่อเราบอกว่าลองทำแบบนี้ดูไหม เด็กเขาก็จะโอเค รู้สึกว่าเขารับฟังกว่ากับการที่บอกเขาแบบนี้”
คือทักษะชีวิต
เมื่อนำเนื้อหาในบทเรียนมาให้เด็กได้ลองปฏิบัติจริง ครูเนยบอกว่าทำให้เขามีฟีดแบ็กที่ดีมีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะรู้ว่าสิ่งที่เรียนไปนั้นมีประโยชน์อย่างไร
“เมื่อก่อนเราก็เรียนๆ ไป มีหน้าที่เรียนก็เรียน ถ้าอันไหนไม่สนใจเราก็ทำเฉยๆ แต่เด็กสมัยนี้จะชอบตั้งคำถามว่า ‘เรียนไปเพื่ออะไร’ ‘เรียนทำไม’
ถ้าเราตอบไม่ได้ (ว่าเรียนแล้วได้อะไร) มันก็จะยิ่งกลายเป็น ‘อ้าว แล้วครูสอนทำไม ถ้าครูไม่มีเหตุผลว่าครูจะให้เรียนไปเพื่ออะไร’
ที่โรงเรียนนี้ (สาธิต มธ.) จะใช้การตั้งคำถามเป็นหลักเลยสำหรับเด็กๆ เพราะฉะนั้นเราก็เลยต้องตอบให้ได้ว่าเรียนไปเพื่ออะไร ถ้าเราตอบได้ว่าเรียนเพื่ออะไร เด็กเขาก็จะโอเค แต่ถ้าเด็กรู้สึกว่าไม่อยากเรียน เราก็มีวิธีจูงใจด้วยการ ‘ลองก่อนไหม’ อันนี้ได้ไหม อันนี้ไม่ได้ ลองอันนี้ไหม ลองต่อไปเรื่อยๆ ก็ได้ ค่อยๆ หาไป เด็กจะรับฟัง แล้วก็เรียนรู้ตามไปด้วย”
ซึ่งการจัดการเรียนรู้ในลักษณะนี้ โดยเฉพาะการปรับประยุกต์วิชานี้ให้เน้นการปฏิบัติจริง เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน เพราะทำให้เด็กรู้ว่าเมื่อเจอสถานการณ์จริงต้องทำอย่างไร
“บางคนเขาก็จะมีพื้นฐานรู้อยู่แล้วว่าแผ่นดินไหวเกิดขึ้นจากอะไร หรือว่าอุทกภัยมีแบบอะไรบ้าง แต่พอเราเอามาแล้วก็มาผสมกับการที่ให้เด็กปฏิบัติ เด็กก็จะรู้อีกว่าถ้าจะหนีต้องหนียังไง จะต้องเอาตัวรอดยังไง”
สุดท้าย ครูเนยกล่าวสรุปว่าสมัยนี้ความรู้เป็นสิ่งที่หาได้ง่าย เด็กส่วนใหญ่มักจะใช้เทคโนโลยีในการหาความรู้กันเป็นเรื่องปกติ ครูควรนำความรู้เหล่านั้นมาส่งเสริมเป็นกิจกรรมให้เขาได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ เพื่อเสริมสร้างทักษะที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตจริง นอกจากนี้ ในการจัดการเรียนรู้ควรจะมีการฟีดแบ็กซึ่งกันและกัน เพื่อเช็กว่าเด็กมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ครูสอนไปหรือไม่ และเพื่อให้ครูได้ปรับปรุงแนวทางการสอนที่เหมาะสมกับเด็กต่อไป