- ‘What can you do about it’ คือสารคดีของประเทศญี่ปุ่นที่ติดตามชีวิตประจำวันของคุณลุง ‘มาโกโตะซัง’ ผู้มีอาการออทิสซึมอ่อนๆ แต่มีบุคลิกอันแหวกแนวและน่าสนใจ
- คนที่มีอาการออทิสซึมและบกพร่องทางสติปัญญาในระดับเล็กน้อย หรือมีความบกพร่องทางพัฒนาการนั้นสามารถทำอะไรเองได้ ดูแลตัวเองได้ดี แค่อาจจะใช้เวลามากหน่อยในการทำความเข้าใจอะไรๆ เมื่อเทียบกับคนที่มีระดับสติปัญญาแบบปกติเท่านั้น
- นอกจากเรื่องราวชีวิตของคุณลุงมาโกโตะแล้ว ยังทำให้เห็นว่าประเทศญี่ปุ่นมีสวัสดิการที่รองรับผู้คนในประเทศของเขาเพื่อช่วยให้พวกเขาได้มีชีวิตที่ดีขึ้นจริงๆ
‘What can you do about it’ เป็นสารคดีของประเทศญี่ปุ่นที่เราได้ดูในช่วงนี้แล้วรู้สึกเพลินใจจนอยากนำมาเขียนเล่าให้ทุกคนได้อ่าน สารคดีได้เล่าเรื่องราวของผู้กำกับคนหนึ่งที่ไปติดตามชีวิตประจำวันของคุณลุงผู้มีอาการออทิสซึมอ่อนๆ ซึ่งผู้กำกับได้ค้นพบบุคลิกอันแหวกแนวและน่าสนใจของคุณลุงจนต้องถ่ายวีดีโอเก็บเอาไว้
คุณลุง หรือ ‘มาโกโตะซัง’ อายุ 61 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการออทิสซึมและบกพร่องทางสติปัญญาในระดับเล็กน้อย ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มผู้มีความบกพร่องทางพัฒนาการ หรือมีชื่อเรียกว่า Pervasive Developmental Disorder หรือ PDD
เราจะได้เห็นว่าส่วนใหญ่แล้วเขาสามารถทำอะไรเองได้ ดูแลตัวเองได้ดี แค่อาจจะใช้เวลามากหน่อยในการทำความเข้าใจอะไรๆ เมื่อเทียบกับคนที่มีระดับสติปัญญาแบบปกติเท่านั้นเอง
ในสารคดีเราจะได้เห็นมาโกโตะซังทำท่าทางอะไรซ้ำๆ วางของที่เดิมย้ำไปย้ำมา มีครั้งนึงเราจะได้ดูเขาเดินออกจากบ้านไปนิดนึง แล้วย้อนกลับไปกลับมาดูหน้าบ้าน 7-8 รอบเพื่อเช็คความเรียบร้อย บางครั้งก็จะได้ดูฉากเขายืนบ้วนน้ำล้างปากในห้องครัวอยู่หลายนาที
ตัวผู้กำกับเองก็ได้รับการวินิจฉัยว่ามีสภาวะหนึ่งซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มบกพร่องทางปัญญา (Developmental Disability) อยู่ในกลุ่มคล้ายๆ กับที่ลุงของเขาเป็น
แต่อาการของเขาออกแนวสมองไฮเปอร์ (ADHD หรือ attention-deficit hyperactivity disorder) เขามักจะฝันกลางวันคิดถึงอย่างอื่นแม้จะรู้ว่ามีสิ่งที่ต้องทำกองอยู่ตรงหน้า เขามักจะเลื่อนสิ่งที่สำคัญไปแล้วมานั่งกังวลสงสัยว่าเขาป่วยหรือเขาแค่ขี้เกียจกันแน่
เขาตัดสินใจมาเยี่ยมมาโกโตะซังบ่อยๆ เพื่อเข้าใจมุมมองของคุณลุงที่มีต่อโลกใบนี้ และเพื่อทำความเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็นไปด้วย
ก่อนหน้าที่ผู้กำกับจะมาถ่ายทำชีวิตของมาโกโตะซังนั้น มาโกโตะซังอาศัยอยู่กับแม่ของเขาสองคนมาตลอดเป็นเวลา 40 ปี จนแม่มาเสียชีวิตไป เขาจึงต้องอาศัยอยู่ในบ้านคนเดียวตลอด 10 ปีให้หลัง
ปัจจุบันพี่สาวที่เป็นลูกพี่ลูกน้องได้รับหน้าที่เป็นผู้ปกครองให้มาโกโตะซัง นางจะคอยมาเยี่ยมและช่วยดูแลมาโกโตะอยู่บ่อยๆ แล้วพี่สาวคนนี้นี่แหละที่ช่วยทำให้ลุงมาโกโตะได้รับสวัสดิการและบำนาญสำหรับผู้มีทุพพลภาพซึ่งทำให้ลุงสามารถอยู่คนเดียวได้อย่างมีอิสระ
นอกจากนี้สารคดีก็ได้พาเราไปเอ็นจอยกับความสัมพันธ์ของชายสองคน (มาโกโตะซังและผู้กำกับ) ลุงกับหลานที่พากันไปเที่ยว ดูกีฬา ร้องคาราโอเกะ ชมดอกไม้ ไปงานเทศกาล พูดคุยเรื่องเกี่ยวกับเพศบ้าง เรื่องชีวิตบ้าง และเรายังได้พบสิ่งที่น่าสนใจมากๆ คือ
เราจะได้เห็นว่าประเทศญี่ปุ่นมีสวัสดิการที่รองรับผู้คนในประเทศของเขาเพื่อช่วยให้พวกเขาได้มีชีวิตที่ดีขึ้นจริงๆ
อย่างคุณลุงที่มีอาการออทิสซึม ก็จะมีเงินเดือนให้ มีสวัสดิการรองรับให้เขาสามารถใช้ชีวิตเองได้โดยส่งคนมาซัพพอร์ตเขาอย่างสม่ำเสมอ เช่น กลุ่มอาสาสมัครช่วยรับฟังที่มาคอยคุยด้วยเดือนละ 2 ครั้ง คนช่วยพาไปช้อปปิ้งของกินของใช้เข้าบ้านเพื่อช่วยควบคุมรายจ่ายให้อยู่ในกำหนด คนทำความสะอาดบ้านที่มาช่วยอาทิตย์ละ 2 ครั้ง และเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาที่มาคอยพูดคุยเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับสวัสดิการอย่างลึกซึ้งอีกทาง
ส่วนตัวแล้วเราชอบกลุ่มรับฟังที่สุด กลุ่มรับฟังนี้คือคุณป้าใจดีสองคนที่ดูผ่านการอบรบมาอย่างดี มีการให้คำแนะนำที่เหมือนเป็นญาติผู้ใหญ่มาแสดงความห่วงใยต่อลูกหลานของตัวเอง มีความเปิดกว้างและเข้าใจสภาวะที่มาโกโตะซังเป็นจริงๆ
หลายครั้งจะได้ยินมาโกโตะซังพูดติดปากว่า “แล้วเราจะทำอะไรได้ละเนอะ” (What can you do about it?) กับบางเหตุการณ์ที่ทำให้เขาไม่ได้มีอิสระอย่างแท้จริง การที่เขาเป็นบุคคลทุพพลภาพทำให้เขายังมีข้อจำกัดในการใช้ชีวิต เขาไม่สามารถตัดสินใจอะไรเองได้ 100% ซึ่งอาจจะทำให้เขารู้สึกว่าเขาทำได้แค่เท่านี้
แต่เราก็รู้สึกว่าการที่มีสวัสดิการเข้ามาซัพพอร์ตมันช่วยผ่อนความเครียด และน่าจะผ่อนปัญหาใหญ่หลายอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นได้
อย่างตอนที่มาโกโตะซังโดนเพื่อนบ้านร้องเรียนว่าเขาทิ้งถุงพลาสติกหน้าบ้านหลายครั้งแล้ว ซึ่งในญี่ปุ่นกฎหมายการทิ้งขยะของเขาคงเข้มแข็งกว่าไทยมาก เพื่อนบ้านบอกว่าถ้าทำอีกจะแจ้งตำรวจแล้วนะ กลุ่มรับฟังก็ค่อยๆ ถามหาสาเหตุกับมาโกโตะซัง ลุงก็บอกสาเหตุว่าเขาชอบดูเวลาถุงปลิวลม เขาพูดว่า “เขารู้ว่าเขาไม่ควรทำแบบนี้ แต่ไม่รู้ว่าเพราะอะไรเขาถึงทำมันอยู่ดี เขาอาจจะบ้าก็ได้ถึงได้ทำมัน”
กลุ่มรับฟังก็บอกว่า
“มันไม่เกี่ยวหรอกว่ามาโกโตะซังบ้ารึเปล่า ประเด็นมันเกี่ยวกับการควบคุมตัวเอง ซึ่งมาโกโตะซังรู้อยู่แล้วว่ามันผิด”
คนที่มีอาการนี้ส่วนใหญ่จะชอบจดจ่อกับบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งในกรณีของลุงมาโกโตะคือการมองถุงพลาสติกปลิวพลิ้วไหวไปกับลม ทุกคนจึงพยายามช่วยกันคิดหาทางออกว่าจะทำยังไงให้ลุงไม่ทำอย่างนั้นอีก เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
สุดท้ายลุงมาโกโตะก็เสนอว่าจะเขียนป้ายติดไว้หน้าประตูเพื่อเตือนตัวเองไม่ให้ทำอีก กลุ่มรับฟังก็ชื่นชมว่า
“มาโกโตะซังควรจะภูมิใจในตัวเองนะ ที่สามารถคิดและทำสิ่งนี้ขึ้นมาเองได้ มันจะโอเคแน่เพราะมาโกโตะซังได้พยายามเต็มที่แล้ว”
ลองคิดดูว่าถ้ามาโกโตะซังไม่มีกลุ่มคนเหล่านี้มาช่วยซัพพอร์ต เขาอาจรู้สึกไร้คนที่เข้าใจแล้วเกิดเป็นปมในใจ หรือเขาอาจจะทะเลาะกับเพื่อนบ้านจนกลายเป็นปัญหาใหญ่โตขึ้นก็ได้
เมื่อได้ดูเรื่องนี้เรารู้สึกขอบคุณผู้กำกับที่ทำให้เรารู้จักสิ่งที่มาโกโตะซังเป็น ได้เห็นความหลากหลายของมนุษย์ ได้รู้ว่าเขามีชีวิตยังไงในประเทศที่มีกฎหมายและสวัสดิการคอยช่วยให้ประชาชนมีชีวิตที่สุขสบายขึ้น แล้วยังรู้สึกเอ็นดูที่ได้เห็นความอินโนเซนต์ จริงใจจากมนุษย์(เหมือนเด็ก)คนหนึ่งที่เติบโตในร่างของชายวัยกลางคน และได้เห็นมิตรภาพที่อบอุ่นของชายสองคน ซึ่งได้มาใช้เวลาร่วมกัน เจอคนที่เข้าใจ และทำให้โลกของพวกเขาไม่เหงาจนเกินไป