- โรงเรียนขโมยอะไรไปจากคุณ? กลายเป็นแฮชแทกที่ได้รับการตอบรับอย่างคึกคักในทวิตเตอร์ มีการแชร์ความรู้สึกกันเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น การถูกขโมยความมั่นใจ ศรัทธา ความฝัน หรือแม้แต่เวลา
- The Potential ชวนครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูสังคมศึกษาและหนึ่งในกลุ่ม ‘ครูขอสอน’ คุยถึงสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ที่มาและความเป็นไปได้ในการหาทางออกร่วมกัน
- สำคัญที่สุดคือต้องมองการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคนในสังคม เปิดพื้นที่ในการพูดคุยและรับฟัง โดยเฉพาะเสียงความต้องการของผู้ที่รับการศึกษา ซึ่งก็คือเด็กและเยาวชน
“โรงเรียนไทยขโมยความมั่นใจของนักเรียนไปหมดจริงๆ เคยถูกถามว่าทำไมโง่ขนาดนี้แค่เพราะไม่ชอบเรียนเลข ทั้งๆ ที่วิชาอื่นก็ทำได้ดี”
“จริงนะที่ว่าโรงเรียนขโมยความมั่นใจ หลายๆ อย่างโดนบั่นทอนไปมาก ทั้งจากครู หรือจากเพื่อนด้วยกันเอง”
“สิ่งที่เสียไปตอนเรียนคือ ความมั่นใจ ความเป็นตัวเอง คำพูดของครูคนเดียวเด็กจำไปจนตายมันมีจริงๆ นะ ไม่อยากได้ความหวังดีที่ toxic มันบั่นทอนจิตใจ”
“ในความคิดส่วนตัวตอนเรียนเหมือนถูกขโมยเวลาในการเรียนรู้ชีวิตภายนอก เพราะได้แค่เรียนรู้จากในห้องสี่เหลี่ยมเท่านั้น”
“ขโมยความฝัน การตอบอาชีพที่อยากจะทำเวลาครูถามหน้าชั้นเรียนเป็นสิ่งที่เรามักจะถูกครูหัวเราะเยาะอยู่เสมอ ครูติตลอดว่าเธอจะทำได้เหรอ จนความฝันเราหายไปทีละอย่าง”
“ขโมยความเป็นมนุษย์และความเท่าเทียมในโรงเรียน ไม่เคยสอนให้เราเข้าใจความหลากหลาย เป็นที่อันตรายสำหรับคนที่ไม่ถนัดในเรื่องเรียน คนกลุ่มนี้จะโดนบูลลี่อย่างหนักหน่วงที่นำโดยครู”
“Self-Esteem ของเรามันต่ำมาก ขนาดอะไรที่เราเก่งๆ ยังต่ำได้ เรื่องอื่นคือไม่มีความมั่นใจเลยตอนอยู่โรงเรียน”
“ขโมยศรัทธา กว้างๆ เลยนะ ศรัทธาในความเชื่อในตัวเอง ศรัทธาในความชอบ เก่งอะที่สามารถขโมยศรัทธาเด็กที่มีเต็มร้อยไปได้”
หลากหลายความเห็นแต่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จากจำนวนหลายหมื่นทวิตของนักเรียนและอดีตนักเรียนที่ปรากฎใน #โรงเรียนขโมยอะไรไปจากคุณ ดันให้แฮชแทกนี้ติดอันดับเทรนด์ทวิตเตอร์เมื่อหลายวันก่อน และเป็นจุดใหญ่ใจความที่ The Potential ชวน ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูรุ่นใหม่ที่มองว่าการศึกษาเป็นเรื่องของคนทั้งสังคม มาคุยให้เห็นบริบทของปัญหาที่สะท้อนหลากหลายมิติ ทั้งอุดมการณ์รัฐ สังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ
“เป้าหมายการศึกษามันไม่ควรผูกขาดโดยกระทรวงศึกษาธิการ โดยนักวิชาการแค่บางกลุ่มที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางว่าควรจะอยู่ภายใต้ชุดคุณค่าแบบไหน หรือวิธีการแบบไหน แต่อย่างน้อยๆ ควรให้สังคมมีส่วนร่วมที่จะกำหนดว่าเราต้องการจะอยู่ในสังคมแบบไหน ต้องการพลเมืองแบบไหน…”
ปัจจุบันเป็นครูทิวเป็นครูสังคมศึกษาระดับมัธยมศึกษาของโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งเคลื่อนไหวในนามกลุ่ม ‘ครูขอสอน’ ขณะเดียวกันก็เป็นนิสิตปริญญาเอก คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คำตอบกับหลายๆ คำถามที่สืบเนื่องจากแฮชแทกดังกล่าว จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์และหาทางเลือกในการออกแบบการศึกษาที่ไม่ทำลายคุณค่าและความฝันของใคร
เมื่อเร็วๆ นี้ในทวิตเตอร์ แฮชแทก #โรงเรียนขโมยอะไรไปจากคุณ ติดเทรนด์อันดับต้นๆ มีคนมาแสดงความเห็นจำนวนมาก ครูทิววิเคราะห์เรื่องนี้อย่างไร
ในระบบการศึกษาไทย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนรัฐหรือเอกชน ซึ่งแน่นอนโรงเรียนรัฐบาลมันเป็นส่วนใหญ่ในประเทศอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคนส่วนใหญ่ก็จะผ่านระบบการศึกษาโดยโรงเรียนรัฐมา ทีนี้ในการจัดการศึกษาโดยระบบโรงเรียน ที่เรียกว่าเป็น Schooling ในแต่ละประเทศ ในแต่ละสังคม อาจจะมีจุดมุ่งหมาย มีเป้าหมายในการจัดการศึกษาที่แตกต่างกันไป รวมถึงวิธีการด้วย ซึ่งมันไปผูกโยงกับอุดมการณ์ของรัฐ หรือวิธีทางสังคม เศรษฐกิจการเมืองของสังคมนั้นๆ รวมไปถึงวัฒนธรรมในแต่ละสังคมด้วย
ทีนี้ด้วยตัวบริบทของสังคมไทยมันเซตระบบการศึกษาขึ้นมาโดยมีลักษณะเฉพาะอยู่แบบหนึ่งที่อาจจะส่งให้เกิดผลลัพธ์แบบนี้ ผมจะเล่าให้ฟังอย่างนี้ครับว่า ตัวกลุ่มครูขอสอนเอง ในปีแรกๆ ที่ตั้งกลุ่มเราทำแบบสำรวจว่า เรามาโรงเรียนทำไม รวมไปถึงเวลาผมไปจัดเวิร์กชอปกับคุณครูหรือนักเรียนในหลายๆ โรงเรียน ก็จะใช้เซตคำถามและกิจกรรมเป็นตัวนำคุยว่าเป้าหมายการศึกษา หรือเป้าหมายในการมาโรงเรียนของนักเรียน คิดว่าเรามาเรียนเพื่ออะไรกัน หรือว่าคุณครูเองมองการสอนของตัวเองยังไง เราก็อิงตามปรัชญาการศึกษาพื้นฐาน 5 แนวคิดที่มันเป็นสากล และมันก็คล้ายๆ กับเฉดอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งก็มีหลายสำนัก หลายวิธีคิด ซึ่งก็จะนำมาสู่การตั้งเป้าหมายในการจัดการศึกษาในโรงเรียน แล้วก็วิธีการด้วย
กลุ่มแรกก็จะมองว่าการศึกษาเป็นไปเพื่อการขัดเกลา หมายความว่ามีคุณธรรมความดีอะไรบางอย่างที่มันสมบูรณ์ มีเหตุมีผล แล้วเราต้องขัดเกลา หรือทำให้ทุกคนมีวิธีคิด มีระเบียบวินัย หรือมีคุณลักษณะที่เป็นแบบนั้นให้ได้
แบบที่สองก็จะมองว่าการศึกษาเป็นไปเพื่อการถ่ายทอด หมายความว่าในสังคมมันมีสิ่งดีงามอยู่ มีคุณค่าอะไรบางอย่างที่ต้องรักษา สืบทอด แล้วก็มองเด็กนักเรียนเป็นแก้วเปล่า มองว่าคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจะต้องถ่ายทอดสิ่งที่รู้ องค์ความรู้ ทักษะอะไรต่างๆ ให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป เพื่อรักษาสืบทอดต่อไป สายนี้ก็จะเป็นมุมมองแบบอนุรักษ์นิยม ซึ่งถามว่าผิดไหมก็ไม่ได้ผิด มันเป็นแค่วิธีคิดแบบหนึ่งในการจัดการศึกษา
แต่ว่าที่เป็นกระแสหลักของโลก เราก็จะพูดถึง Progressivism หรือวิธีคิดที่มองว่าการศึกษามันเป็นไปเพื่อการพัฒนาร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา Learning by Doing การได้ลงมือทำ การที่มองว่านักเรียนเหมือนต้นไม้ที่จะเติบโตได้อย่างอิสระ ได้อย่างเต็มศักยภาพของเขา โรงเรียนหรือรัฐมีหน้าที่ที่จะรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยให้เขาเท่านั้นเอง แล้วก็วิธีคิดที่มองการศึกษาเพื่อการค้นพบตัวเอง ให้นักเรียนได้ลองทำ ลองผิดลองถูก ทำอะไรหลายๆ อย่าง มีวิชาเลือก มีชุมนุม หรือมีกิจกรรมหลากหลายให้เลือกเพื่อจะได้ค้นหาตัวเองว่าอะไรที่ใช่สำหรับเขา
แล้วก็สุดท้ายก็คือ Existentialism การมองการจัดการศึกษาที่เน้นปัญหาของสังคม การชวนให้เขามองข้างในตัวตน มองสังคม และสะท้อนออกมาให้เห็นว่าสังคมที่เป็นอยู่ สิ่งที่กำลังดำรงอยู่ มันเป็นปัญหายังไง แล้วเขาจะใช้กระบวนการศึกษาเพื่อออกไปเปลี่ยนแปลงสังคมนั้น ไปรื้อถอนสิ่งที่มันเป็นอยู่เดิม ในสิ่งที่มันถูกผลิตซ้ำออกมาเรื่อยๆ ความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ อะไรต่างๆ แล้วมาประกอบสร้างใหม่เพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้อย่างไร มันก็จะเป็นแนวคิดที่แตกต่างกัน
ทีนี้พอตอนเราทำแบบสำรวจ ผมก็จะทำอยู่ 2 เซสชัน เซสชันแรกคือสิ่งที่เราอยากให้เป็นคืออะไร ส่วนใหญ่เราก็จะพบว่าเด็กนักเรียนจะตอบในกลุ่มหลัง กลุ่มที่เป็นความคิดแบบก้าวหน้า คือไม่เป็น Progressivism ก็เป็น Existentialism คือแบบค้นพบตัวเอง ได้มีอิสระ ได้เติบโตอย่างเต็มที่ หรือก็จะมีมุมที่เริ่มมีความคิดเชิงวิพากษ์ เริ่มมองการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ส่วนที่มองเห็นว่าเป็นการถ่ายทอด เป็นการขัดเกลาเป็นส่วนน้อย แต่พอถามว่าแล้วที่โรงเรียนเป็นอยู่มันเป็นแบบไหน ปรากฏว่าคำตอบคือการขัดเกลากับถ่ายทอดเยอะ ทุกคนก็เทไปที่สองอย่างนี้
แล้วอะไรที่เป็นตัวสะท้อนถึงวิธีคิดสองแบบนี้บ้าง หนึ่งคือโรงเรียนจะจุ้นจ้านวุ่นวายอยู่กับเสื้อผ้าหน้าผม เหมือนเป็นการขัดเกลา สร้างระเบียบวินัย คือมองเด็กนักเรียนเป็นหินเป็นกรวดที่มันมีส่วนเกินออกมาแล้วจะต้องขัดส่วนที่เราไม่ต้องการออกไป เพื่อให้ได้รูปร่างลักษณะที่เราต้องการ โดยไม่ได้ถามว่าเด็กเขาต้องการอย่างนั้นหรือเปล่า
‘เรา’ ในที่นี้คือผู้ใหญ่หรือผู้ที่กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ต้องการ?
คนที่ต้องการก็คือรัฐ หรือผู้ใหญ่ หรือคนที่มีหน้าที่ในการจัดการศึกษา เพราะที่ผ่านมา เราก็จะมีวิธีคิดที่บอกว่าเด็กเหมือนเป็นผ้าขาว เหมือนเป็นแก้วเปล่า เด็กเหมือนผู้ที่ไม่รู้ ส่วนครูเป็นผู้รู้ หรือผู้ให้ จะต้องคอยถ่ายทอดอะไรต่างๆ หรือมันมีความดีความงามในสังคมที่เราบอกว่าจะต้องรักษาไว้ จะต้องสืบทอด จะต้องมาทำสิ่งนี้ๆ มีกิจกรรมที่ต้องบังคับ เพราะว่าถ้าไม่บังคับ ก็จะไม่มีคนทำ ไม่มีคนทำก็ไม่มีคนรักษาสืบสานมันต่อไป ทั้งที่จริงๆ แล้วมันอาจจะเป็นไปตามกลไกการเปลี่ยนแปลงพลวัตของสังคมก็ได้
ผมคิดว่าในการสำรวจและการทดลองของผมที่ทำกับเด็กนักเรียนและคุณครูอยู่เป็นประจำ มันสะท้อนให้เห็นว่าเป้าหมายในการจัดการศึกษาที่คนเราต้องการกับสิ่งที่เป็นอยู่ มันไม่ได้ไปด้วยกัน มันอาจจะขัดกัน คือเราไม่ได้บอกว่ามันดีหรือไม่ดี จริงๆ แล้วมันอาจจะมีทั้ง 5 เป้าหมาย 5 รูปแบบนี้ ผสมปนเปกันก็ได้ แต่ว่าสัดส่วนของมันควรเป็นอย่างไร
ปัจจุบันกลายเป็นว่าสัดส่วนที่เป็นอยู่มันฝืนกับสิ่งที่มันควรจะเป็นตามความต้องการ เราพูดถึงคำว่า Child Center, Child-oriented มานานมากแล้วหลายสิบปีมาแล้ว แต่ถามว่าทุกวันนี้เราตอบสนองความต้องการ หรืออย่างน้อยๆ ฟังเสียงเขา ฟังเสียงความต้องการของผู้ที่รับการศึกษาก็คือตัวเด็กเยาวชนมากน้อยแค่ไหน
จากที่ไล่ดูความเห็นในทวิตเตอร์ ประเด็นที่มีคนแชร์ประสบการณ์กันมากคือ โรงเรียนขโมยความมั่นใจ Self-Esteem ขโมยความศรัทธา บางคนก็บอกว่าขโมยเวลา คิดว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยมีประสบการณ์ไม่ดีกับโรงเรียน
อยากจะขยายให้เห็นภาพอย่างนี้ครับว่า ประการแรกโดยเฉพาะเด็กนักเรียน ตอนประถมเราอาจไม่รู้สึกอะไรหรอก แต่เราเสียนะ แต่ด้วยช่วงวัยของเขา วัยประถมจะเชื่อครูมากเลย ครูบอกให้ทำอะไรก็จะทำก็อาจจะไม่ได้ตั้งคำถามอะไรเท่าไหร่ แล้วเราก็ไม่ได้ถูกฝึกให้ตั้งคำถามด้วย แต่พอมาในวัยมัธยม ธรรมชาติของเด็กวัยรุ่น คืออายุ 12-13 ปีขึ้นไป สิ่งสำคัญที่สุดของเด็กในวัยนี้ก็คือ Self-Esteem หรือความที่เขาตระหนักหรือเห็นคุณค่าในตัวเอง มองว่าที่ทางของตัวเองอยู่ตรงไหนแล้วมันก็ส่งผลถึง Self Confidence คือความมั่นใจ เราก็จะเห็นว่าเด็กไทยขาดอยู่เยอะ เป็นเพราะอะไร อย่างที่เล่าให้ฟังว่าพอเป้าหมายการศึกษามันเป็นแบบนี้ เราเห็นว่าเด็กในช่วงวัยโดยเฉพาะมัธยม เขากำลังมองหาตัวตนของตัวเอง กำลังต้องการลองผิดลองถูก หรือได้ลองทำอะไรหลายๆ อย่าง เพื่อค้นหาว่าแบบไหนที่เขามั่นใจ หรือแบบไหนที่ใช่กับตัวเขา ปรากฏว่าโรงเรียนก็ไม่ได้ตอบสนอง โรงเรียนก็ไม่ได้เปิดพื้นที่ให้กับเขาอย่างที่มันควรเป็น
คือจริงๆ แล้วโรงเรียนก็มีเปิดพื้นที่แหละ แต่มันอาจจะไม่ตอบสนองต่อเด็กทุกกลุ่ม เด็กทุกคน หรือส่วนใหญ่มีแค่เด็กบางกลุ่มที่ได้พื้นที่ตรงนั้นไป แต่เด็กจำนวนมากที่ไม่ได้มีความชอบ ไม่ได้มีความถนัดที่ตรงกับความต้องการของโรงเรียนของคุณครู ก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เขาก็ไม่ได้เฉิดฉาย ไม่ได้มีพื้นที่ ไม่ได้มีเวทีให้แสดงออก อย่างนี้เป็นต้น
มันก็ทำให้เรื่องของโอกาสที่เขาอยากจะพัฒนาตัวเองอย่างที่เขาอยากจะเป็น โอกาสที่เขาได้เฉิดฉาย ได้เปล่งแสงออกมา ลดน้อยถอยลงไป สุดท้ายแล้วมันก็จะเหลือพื้นที่แค่สำหรับเด็กที่มีความต้องการ ความถนัดตรงตามสเปกของครูและโรงเรียน ทางวิชาการบ้างอะไรบ้าง ตามที่โรงเรียนจะเรียกใช้ หรือสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนได้
ดูเหมือนว่าเวลามีประเด็นแบบนี้ คนจะโฟกัสไปที่ทัศนคติของครู ในฐานะครูรุ่นใหม่มองเรื่องนี้อย่างไรคะ
ต้องยอมรับก่อนว่าระบบการผลิตครูมันถูกผลิตด้วยวิธีอนุรักษ์นิยมอยู่แล้ว โอเค…เวลาเราเป็นนิสิต นักศึกษาครู อย่างปรัชญาการศึกษาที่ผมยกตัวอย่างไป เราเรียน แต่ก็จำไปอย่างนั้น สุดท้ายแล้วเราไม่เคยกลับมาตั้งคำถามตัวเองเลยว่า เราเชื่อแบบไหน แล้วที่เราจะออกไปปฏิบัติการในห้องเรียน ไปปฏิบัติการในโรงเรียน ไปอยู่กับเด็ก เรากำลังทำด้วยวิธีการภายใต้ความคิดความเชื่อแบบไหน แล้วมันจะส่งผลอย่างไร หรือนโยบายที่กำลังดำเนินอยู่ มันอยู่ภายใต้แนวคิดแบบไหน แล้วมันควรจะเป็นแบบนั้นหรือเปล่า เราไม่เคยถูกสอนให้ตั้งคำถามแบบนั้น
ระบบผลิตครูถูกทำให้ หนึ่ง ถูกครอบด้วยมายาคติว่า ครูคือพระคุณที่สาม คือพ่อแม่คนที่สอง แล้วย้ำความศักดิ์สิทธิ์ด้วยพิธีกรรม ความเชื่อ หรืออะไรต่างๆ เกี่ยวกับครูในสังคมไทย มันก็ทำให้ครูมีอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะกำหนดอะไรต่างๆ ได้ ซึ่งมันก็เอื้อต่อวิธีคิดในการจัดการการศึกษาที่ครูหรือผู้ใหญ่เป็นผู้กำหนด ไม่ได้แชร์อำนาจ ไม่ได้แบ่งปันให้เกิดอำนาจร่วมกับนักเรียนที่จะไปรับฟังหรือไปดูว่าเขาต้องการอะไร เขาอยากเห็นแบบไหน
สองคือ ครูถูกสอนหรือถูกทรีตให้เป็นนักเทคนิคมากกว่า ทำยังไงให้ผลสัมฤทธิ์ดี มีวิธีการไหนที่เด็กเรียนแล้วสนุก ทำเรื่องนี้มีทักษะเรื่องนี้ หรือว่ามีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ได้ดี เราก็จะไปหาเทคนิคหาวิธีการมา สุดท้ายกลายเป็นนักเทคนิคมากกว่านักคิด บางครั้งไปโฟกัสที่วิธีการจนหลงลืมว่าแล้วหลักการของมันคืออะไร หัวใจของมันคืออะไร เราคิดแค่ว่าสิ่งนี้ดี แล้วเราต้องการให้เด็กเป็น มันมีวิธีการไหนบ้างที่จะทำให้เขาเป็นอย่างนี้ได้
ผมยกตัวอย่างเรื่องลูกเสือ ก็มีข้อถกเถียงกันเยอะ แต่วิธีคิดของผู้ใหญ่ ครูหลายคน ทั้งๆ ที่ครูจำนวนมากก็ไม่โอเคกับการสอนลูกเสือ แต่ทำไมล่ะ ผู้ใหญ่ในกระทรวงฯ หรือครูหลายคนก็บอกว่า เราต้องมาคิดนะ ทำยังไงเด็กเขาถึงจะเห็นความสำคัญของลูกเสือ อ้าว…นึกออกมั้ยครับ แทนที่เราจะมาคุยกันว่า จริงๆ แล้วเด็กเขาต้องการอะไร แล้วทำยังไงถึงจะปรับให้ตรงกับเขา เราตั้งธงมาแล้วว่าอันนี้มันดี นี่คือความจริงที่มันควรจะเป็น แต่เด็กไม่รู้เรื่องไม่เห็นคุณค่า เราควรหาวิธีที่จะทำให้เขาเห็นคุณค่า
หรือเด็กจะต้องมีคุณลักษณะแบบนี้ เด็กจะต้องรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วจำเป็นต้องรู้หรือเปล่า…ไม่รู้ แล้วใครเป็นคนกำหนดว่าสิ่งนี้คือความรู้ สิ่งนี้คือความจริง สิ่งนี้คือสิ่งที่เด็กจะต้องรู้หรือทำได้ สุดท้ายผู้ใหญ่กำหนดมาแล้วหาวิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตรงนั้น โดยที่ไม่ได้ถามเด็ก มันก็เลยส่งผลไปว่า ทำไมโรงเรียนถึงขโมยความฝัน เพราะความฝันของเด็กไม่เคยถูกตอบสนอง โรงเรียนขโมยความต้องการ ขโมยตัวตน ขโมยความมั่นใจจากระเบียบ จากรายวิชา จากหลักสูตรที่ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของเขา ไม่ได้ส่งเสริมหรือเปิดพื้นที่ให้มีกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่มีความหลากหลายมากเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการหรือตัวตนของเขา
โรงเรียนขโมยความมั่นใจและตัวตนของเขาจากระเบียบ จากกฎที่ไปลิดรอนลดทอนเนื้อตัวร่างกายของเขา แทนที่จะเป็นโอกาสที่เขาจะได้เรียนรู้ ปรับตัว ลองผิดลองถูก ก็ไปกดทับไว้ ไปบังคับไว้ แล้วสุดท้ายเขาก็ต้องไปเรียนรู้หลังจากออกจากรั้วโรงเรียนไปอีกที
สุดท้ายก็คือการขโมยเวลา เด็กนักเรียนใช้เวลาอยู่กับโรงเรียน เผลอๆ มากกว่าการอยู่บ้านอยู่กับผู้ปกครองด้วยซ้ำ ดังนั้นทำยังไงให้เวลาที่อยู่ที่โรงเรียนเป็นเวลาคุณภาพ เราจะเห็นว่าหลายโรงเรียน เด็กเรียนถึงคาบ 9 คาบ 10 หมายความว่าบางโรงเรียนเด็กเลิก 4 โมง 5 โมง ผมถามว่าเด็กเขามีอะไรที่สนใจหรืออยากจะไปศึกษาด้วยตนเอง หรืออยากจะใช้กิจกรรมที่ได้ไปพัฒนาความสัมพันธ์ มิตรภาพกับเพื่อน หรือได้เรียนรู้เรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากในตำราเรียนที่ถูกกำหนดมา ไปใช้เวลาตรงนั้น อยากจะเล่นกีฬา อยากจะปลดปล่อยพลังงานของตัวเองในช่วงวัยรุ่น มันใช้เวลาตรงไหนได้บ้าง
พอนอกเหนือจากการเรียนในโรงเรียนแล้ว บางบริบท บางโรงเรียน หรือบางครอบครัวก็ตั้งเป้าหมายและใส่ความหวังกับลูก เลิกจากโรงเรียนก็ต้องไปเรียนพิเศษต่อ ด้วยค่านิยมของคนในสังคมที่เราเห็นว่า มันคือการที่เด็กจะต้องรู้ ต้องเก่ง ต้องเข้านั่นเข้านี่ได้ โดยที่ไม่ได้ให้คุณค่ากับความหลากหลาย ไม่ได้ให้คุณค่ากับศาสตร์ต่างๆ ที่แตกต่างกัน การให้คุณค่ากับสายวิทย์/สายศิลป์แตกต่างกัน มันก็ทำให้สุดท้ายทุกคนก็ต้องไปพุ่งไปทำสิ่งที่เป็นตัวเองหรือเปล่าก็ไม่รู้ ไปเสียเวลากับสิ่งที่ถูกกำหนดมา ถูกบังคับมา อย่างนี้เป็นต้น
มันทำให้ไม่มีพื้นที่พอที่จะหายใจ อย่างผมเปิดชุมนุม เปิดชมรมให้เด็กที่สนใจเรื่องกฎหมายเรื่องการเมืองได้มาศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม มาพูดคุยกัน แล้วก็อาจจะมีโอกาสได้ไปแข่งหรือไปอะไรต่างๆ เราก็ส่งเสริมไม่ว่าจะเด็กสายวิทย์หรือสายศิลป์ แต่ปรากฏว่าหาเวลาจะมาเจอกันไม่ได้ แค่เด็กกลุ่มที่สนใจนะ เพราะเด็กบางคนเลิกคาบ 9 เวลา 5 โมง หรือ 6 โมง ก็เป็นเวลาที่ต้องกลับบ้านแล้ว ดังนั้นมันไม่มีช่องว่างมากพอที่จะเหลือให้เขาไปเลือกสิ่งที่เขาสนใจ ไปทำสิ่งที่เขาอยากจะทำ
ด้วยบริบทที่เด็กเหมือนถูกกำหนดถูกบังคับทั้งทางตรงทางอ้อม มันเลยนำมาสู่ข้อสรุปที่หลายๆ คนบอกว่า โรงเรียนขโมยความสุขของเราไป?
เพราะว่าความสุขไม่เคยเป็นอินดิเคเตอร์ของโรงเรียน ของการจัดการศึกษา เพราะเวลาเราวัดกันที่ทำข้อสอบได้มากน้อยแค่ไหน ทำผลงานเป็นยังไง Productivity ของเด็กเป็นยังไงบ้าง การประเมินโรงเรียนก็มาด้วยเอกสาร ด้วยตัวเลข แต่ในฐานะที่เราเรียนครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์มา
เราต้องเข้าใจว่าอารมณ์มันส่งผลต่อการเรียนรู้ ความรู้สึกของเด็กส่งผลต่อการเรียนรู้ แต่กลายเป็นว่าโรงเรียนไม่เคยโฟกัส หรือไม่เคยคิดตรงนี้ว่าทำอย่างไรนักเรียนจะมีความสุขในการอยู่โรงเรียน แล้วทำให้เขาเกิดการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่
สุดท้ายแล้วโรงเรียนไม่ได้ไปโฟกัสที่การเรียนรู้ ไปโฟกัสที่ตัวเลข ผลลัพธ์ ที่ตัวผลสอบ ว่าอ๋อ…นี่คือร่องรอยที่จะเป็นตัวบ่งบอกได้ว่ามันเกิดการเรียนรู้แล้วนะ ด้วยวิธีไหนก็ตาม เราดูได้จากเด็ก ม.3 ม.6 พอใกล้ช่วงสอบ O-NET ลูกเรียนมา 3 ปียังไงไม่รู้ แต่ 3-4 อาทิตย์สุดท้าย โรงเรียนงดเรียน เอาติวเตอร์มาติวเพื่อให้ทำข้อสอบได้ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตรงนั้นมา เห็นมั้ยว่าสุดท้ายเราไปโฟกัสที่ตัวผลลัพธ์ที่เป็นตัวเลข เป็นในเชิงวิทยาศาสตร์มากกว่าความสุข หรือกระบวนการที่มันเกิดขึ้นระหว่างทางนั้น
ในที่สุดเราก็ได้เด็กที่เป็นซึมเศร้า เด็กที่เรียนเก่งแต่ไม่สามารถจะใช้ชีวิตให้เป็นปกติสุขได้?
ไม่สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ ไม่เข้าใจอารมณ์สังคมของคนอื่น ไม่เข้าใจความแตกต่างหลากหลาย ไม่เข้าใจว่าคนในสังคมมีความคิดแตกต่างหลากหลายในมุมมองแบบไหน ทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น แล้วเราจะหาจุดที่อยู่ร่วมกันได้ยังไง เพราะว่าเราถูกบังคับให้คิดเหมือนกัน ต้องทำเหมือนกัน ต้องเชื่อเหมือนกันมาตลอด การตั้งคำถามคือความผิดแปลก การเป็นสิ่งแปลกปลอมคือสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และแน่นอนว่าก็ไม่มีเด็กคนไหนอยากจะถูกลงโทษ ไม่มีเพื่อน เพียงเพราะเขาต่างจากคนอื่น
ถ้าอย่างนั้นในทัศนะของครูทิว ระบบการศึกษาแบบไหน แนวคิดแบบไหนที่จะดีต่อเด็กๆ ทั้งในวันนี้และอนาคตของพวกเขามากที่สุด
สำหรับผมคิดว่าผมไม่มีคำตอบ หมายความว่าเราควรฟังกันมากกว่านี้ หมายความว่าเป้าหมายการศึกษามันไม่ควรผูกขาดโดยกระทรวงศึกษาธิการ โดยนักวิชาการแค่บางกลุ่มที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางว่าควรจะอยู่ภายใต้ชุดคุณค่าแบบไหน หรือวิธีการแบบไหน แต่อย่างน้อยๆ ควรให้สังคมมีส่วนร่วมที่จะกำหนดว่าเราต้องการจะอยู่ในสังคมแบบไหน ต้องการพลเมืองแบบไหน เพราะว่าการออกแบบระบบการศึกษาในวันนี้ คือการที่บอกว่าเราจะเจอคนทำงาน เจอคนที่อยู่ร่วมในสังคมอีก 10-20 ปีข้างหน้าอย่างไร
ดังนั้น อย่างน้อยๆ ผมว่าวิธีคิดที่สำคัญที่สุด คือการให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม ระบบการศึกษาที่มีความเป็นประชาธิปไตย ให้โอกาสทุกคน ทุกชุดคุณค่าได้ถกเถียง ได้พูดคุยกัน แล้วมันก็จะออกมาเป็นส่วนผสมที่เป็นเป้าหมายของทุกคน เป็นการศึกษาของทุกคนจริงๆ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของนักเรียน ครู หรือผู้ปกครอง แต่คือของทุกคนในสังคม ว่าเราต้องการการศึกษาแบบไหนกันนะ แล้วโดยเฉพาะตัวเด็กที่จะได้รับการศึกษาต้องการอะไร อยากให้ฟังเสียงเขาให้เยอะ
ในฐานะที่ทำงานกับเด็กมาตลอด มีข้อเสนออะไรที่คิดว่าอย่างน้อยควรจะปลดล็อกก่อน หรือปรับก่อน เพื่อให้เด็กไม่ต้องรู้สึกทนทุกข์อยู่ในระบบโรงเรียน
ผมให้สามส่วนแล้วกันครับ ส่วนแรกคิดว่าเป็นเรื่องวิธีคิดและวัฒนธรรม เรียกว่าทัศนคติก็ได้ หรือวิธีคิดที่อยู่ภายใต้ชุดคุณค่าบางชุดที่มันส่งผลต่อวัฒนธรรมที่เป็นอำนาจนิยม แล้วมันไปขวางการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง โอเคว่ามันจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลง หรือจะเป็นแบบไหนมาถกเถียงกันได้ แต่การที่มันปิดกั้นไม่ให้ถกเถียง หรือบังคับว่าจะต้องมีสิ่งนี้ หรือเป็นอย่างนี้เท่านั้น ตรงนี้ต้องเปลี่ยนก่อน ซึ่งมันอาจจะเป็นผลพวงมาจากระบบราชการที่ครอบระบบการศึกษาอีกทีหนึ่ง
สองคือ ตัวกฎระเบียบที่ไม่ได้มีไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือประโยชน์ของผู้เรียน แต่เป็นไปเพื่อการควบคุม ทำให้ง่ายต่อการควบคุม ซึ่งก็เป็นผลพวงมาจากข้อแรก ที่มันมาจากวิธีคิดและวัฒนธรรมที่เป็นอำนาจนิยม ก็ส่งผลต่อกฎระเบียบที่จะต้องมาบังคับควบคุม มามีอำนาจเหนือเนื้อตัวร่างกายและความคิดของเด็ก
สุดท้ายก็คือ ตัวหลักสูตร ผมคิดว่าตรงนี้เป็นหัวใจหลักในการจัดการการศึกษา ตัวคนจัดการศึกษาเองบางทีก็อาจจะหลงลืมมันไป หลายครั้งผู้บริหารมุ่งไปที่แผนยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ นโยบาย แต่หลักสูตรคือหัวใจของโรงเรียน ทุกอย่างในโรงเรียนควรจะวิ่งตามหลักสูตร หมายความว่าโรงเรียนควรกำหนดเป้าหมายของผู้เรียนตามหลักสูตรไว้แล้วว่าควรจะเป็นอย่างไร โครงสร้างหลักสูตรเป็นอย่างไร มีรายวิชาไหน หรือกิจกรรมนอกหลักสูตรวิชาไหนบ้างที่จะมาส่งเสริมผู้เรียนให้บรรลุเป้าหมายนั้นที่ทุกคนร่วมกันสร้างขึ้นมา จำนวนชั่วโมงในหลักสูตรที่ลดน้อยลง และเนื้อหาหลักสูตรที่ควรจะบังคับเท่าที่จำเป็น คำว่าเท่าที่จำเป็น อ้าว…แล้วใครจะเป็นคนบอกว่าจำเป็น ไม่จำเป็น ก็ควรมาตั้งเป้าหมายร่วมกันว่า อย่างน้อยๆ อะไรบ้างที่จำเป็น อะไรที่มันเป็นสิ่งที่รัฐบอกว่าจำเป็น แต่เด็กบอกว่าไม่จำเป็นแล้ว สังคมบอกว่าเรื่องนี้ถ้าอยากจะเรียนก็ให้ไปเรียนเอง หรือให้เลือกเรียนก็ได้ ควรจะยืดหยุ่น เปิดสเปซให้ได้มีตัวเลือกมากกว่านี้ ผมคิดว่าตรงนี้น่าจะเป็นโจทย์สำคัญ
แน่นอนว่า Schooling ยังคงจำเป็น หลายคนบอก หลังจากโควิดมันไม่จำเป็นแล้ว เดี๋ยวนี้เรียนรู้ที่ไหนยังไงได้ แน่นอนว่างบางคนบางครอบครัวอาจพร้อมที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือว่ามีทรัพยากรพอที่จะสนับสนุน แต่คนในสังคมอีกจำนวนมากยังต้องพึ่งพาระบบการศึกษาที่รัฐจัดให้ และนี่คือโอกาสที่จะทำให้เขาได้พัฒนาตัวเอง ตามสิทธิมนุษยชน ตามสิทธิเด็กที่ควรจะมี ดังนั้น Schooling ยังจำเป็นอยู่ แต่ควรเป็นอย่างไรต่างหาก
สุดท้ายกลับมาที่แฮชแทกที่เป็นจุดเริ่มต้นของการพูดคุยในวันนี้ สมมติเราเปลี่ยนไปในทิศทางตรงข้ามว่า #โรงเรียนควรให้อะไรกับคุณ คำตอบควรเป็นอะไรคะ
แทนที่จะคุยกันว่าโรงเรียนขโมยอะไร โรงเรียนควรจะสนับสนุนอะไร หรือให้อะไรกับเรา แน่นอนว่าหลายๆ อย่าง ถ้าเรามีทรัพยากรเพียงพอ ทุกคนในสังคมมีทรัพยากรเพียงพอ ทุกคนก็ไปขวนขวายของตัวเองได้อยู่แล้วในทุกอย่างที่ตัวเองต้องการ แต่การที่มีโรงเรียนอยู่เพื่อเป็นบริการสาธารณะ ดังนั้นอะไรที่คิดว่ารัฐหรือโรงเรียนควรจัดหาให้ ไม่ว่าจะเป็นครู ผู้เชี่ยวชาญ หรือวิทยากร หรืออะไรก็ตามที่จะมาช่วยสนับสนุนส่งเสริม ให้ข้อแนะนำ ให้ความรู้ หรืออะไรต่างๆ เพื่อไปเติมเต็มสิ่งที่ผู้เรียนต้องการ โรงเรียนก็ทำ ทรัพยากรอย่างเช่น ห้อง พื้นที่ อุปกรณ์อะไรต่างๆ โรงเรียนจัดหาให้ และเด็กทุกคนควรมีโอกาสที่จะเข้าถึงได้ถ้าต้องการ
เด็กต้องการแสดงออก ต้องการการยอมรับ ต้องการเห็นคุณค่าตัวเอง โรงเรียนจัดพื้นที่ให้ ให้เด็กได้เรียนรู้และเติบโตจากการลงมือทำอะไรบางอย่าง และเป็นพื้นที่ให้เขาได้แสดงออกเพื่อให้เกิดความตระหนักในคุณค่าของตนเอง ให้เกิดการยอมรับในวงเพื่อน
โรงเรียนให้การปกป้องคุ้มครองจากสิ่งที่จะไปคุกคาม ลดทอน ไม่ว่าจะเป็นการถูกรังแก การถูกละเมิด ไม่ให้ความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การที่เขาไม่ได้เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ โรงเรียนต้องปกป้อง กฎต่างๆ ควรจะมีไว้เพื่อปกป้องเด็กมากกว่าเป็นไปเพื่อการควบคุม ผมว่านี่คือสิ่งที่โรงเรียนควรทำหน้าที่ในการสนับสนุนให้กับผู้เรียน ไม่ใช่เพียงแต่คอยควบคุมอย่างเดียว กฎระเบียบมันมีได้ แต่มีไปเพื่อรักษาประโยชน์ของผู้เรียน ของการอยู่ร่วมกัน
ถ้าเด็กบอกว่า “ขออิสระทางความคิด อิสระในการแสดงออก” ถือเป็นข้อเรียกร้องที่สุดโต่งไปไหมคะในมุมมองของครู
ผมว่าไม่ได้เป็นความคิดที่สุดโต่ง หลายเรื่องเลยที่เด็กเรียกร้อง ถ้ามีพื้นที่พูดคุย เด็กเขาฟัง แล้วเด็กเขามีเหตุผลมากพอ บางเรื่องเด็กเขาไม่ได้รับข้อมูลหรือเหตุผลมากมายหลายมุมเพียงพอ หลายครั้งพอเรากะเกณฑ์เรื่องนั้นเรื่องนี้ไป เราก็ใช้อำนาจ เราไม่เคยใช้เหตุผล หรือไม่เคยเปิดพื้นที่ที่จะพูดหรือจะฟัง หลายครั้งเรามีพื้นที่ที่ใช้แต่อำนาจ แต่เราไม่มีพื้นที่รับฟัง เช่น เดี๋ยวโรงเรียนจะใช้พื้นที่เพื่ออธิบายชี้แจงเรื่องนั้นเรื่องนี้ นักเรียนมีข้อสงสัย หรือนักเรียนอยากจะแสดงออก หรือนักเรียนคิดว่าควรเป็นอย่างไร นักเรียนว่ามา แล้วโรงเรียนจะฟัง พอฟังเสร็จแล้ว มีข้อกังวลที่นักเรียนอาจจะไม่ได้นึกถึง หรือโรงเรียนยังมีข้อกังวลใจอะไรก็พูดแลกเปลี่ยนกัน แล้วถ้านักเรียนบอกว่ามันจะไม่เกิดสิ่งนั้นขึ้นหรอก หรือเราก็ใช้วิธีการนี้แทนสิ ถ้าเกิดกลัวว่าจะเกิดสิ่งนั้น เห็นมั้ยว่ามันมีทางออกใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่มันไม่มี หมายถึงว่าไม่มีพื้นที่แบบนี้เกิดขึ้น ดังนั้นมันไม่สุดโต่ง
หมายถึงไม่มี ‘พื้นที่ปลอดภัย’?
ที่ผมบอกว่าโรงเรียนควรจะสนับสนุนทั้งหมด ควรจะปกป้อง ควรมีพื้นที่ให้เขาแสดงออก มันคือการเป็นพื้นที่ปลอดภัยนั่นแหละ เป็น Save Space ที่ทำให้เขารู้สึกว่าสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ สามารถที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการถูกละเมิดอะไรบางอย่างทั้งร่างกายและจิตใจ
สุดท้ายครูทิวอยากส่งเมสเซจอะไรไปถึงสังคม หรือภาครัฐ เกี่ยวกับการจัดการศึกษาที่อย่างน้อยไม่ควรทำให้ใครรู้สึกว่าถูกขโมยอะไรไป
ระบบการศึกษา หรือตัวการศึกษา หรือตัวหลักสูตร หรือโรงเรียนเอง เรามักถูกวาทกรรมที่เรียกว่า Depoliticize หมายถึงว่า ถูกทำให้ปราศจากการเมือง เขาบอกว่าหลักสูตรเป็นเรื่องของวิชาการ ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่พอมองไปลึกๆ แล้ว ทุกอย่างมันอยู่ภายใต้ชุดคุณค่าทางอุดมการณ์ ทางเศรษฐกิจและสังคมการเมืองหมดเลย ดังนั้นสังคมควรที่จะร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ว่าเราอยากเห็นการศึกษาแบบไหน หลักสูตรแบบไหน โรงเรียนแบบไหน เป้าหมายการศึกษาแบบไหน ถามว่าเราจะแสดงออกยังไง เราก็แสดงเจตจำนงผ่านกลไกทางการเมือง เพราะว่าบริการสาธารณะ หรือการจัดการต่างๆ ของรัฐ มันก็มีระบบที่เป็นประชาธิปไตยที่ให้มีการเลือกตัวแทนของเราไปทำหน้าที่จัดการอยู่แล้ว ดังนั้นเราก็แสดงเจตจำนงแบบนั้น
รวมไปถึงเราต้องส่งเสียงเรียกร้องว่าต่อให้ใครจะเข้ามาอยู่ มาดูแลการศึกษาจะต้องมีพื้นที่ให้กับสังคมและประชาชน ให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบการศึกษา อย่าคิดให้ว่าการศึกษาเป็นเรื่องของกระทรวงศึกษาฯ ของครู ของนักเรียน แต่มันคือของคนทั้งสังคม เราต้องร่วมกันเป็นเจ้าของการศึกษา ร่วมกันเป็นเจ้าของอนาคตนี้ด้วยกัน