- ฟัก คือชายคนหนึ่งที่ห่มผ้าเหลืองตั้งแต่เด็ก และด้วยความกตัญญูและชื่อเสียงทางที่ดีของเขา ทำให้ชาวบ้านในตำบลต่างพากันสอนลูกๆ ให้ ‘เอาอย่างฟัก’
- เหตุการณ์ที่ทำให้ฟักกลายเป็นจำเลยสังคม เพราะผู้คนล้วนมีธงคำตอบเปื้อนมลทินในใจ สถานะหัวแถวของเขาก็แปรเป็นหางแถว ไร้ความน่าเชื่อถือไปโดยปริยาย
- อย่าไปคิดว่าตัวเองใฝ่ดีหรือเป็นเหยื่อ หรือคิดว่าตัวอยู่ข้างผู้ถูกกระทำตลอดเวลาขนาดนั้นเพราะบางทีพลังงานขั้วตรงข้ามมันก็รั่วไหลออกมาได้ในทุกคน
ชีวิตของชายชื่อ ฟัก นั้นมีแต่พ่อซึ่งเป็นคนของวัดในตำบลเล็กๆ แห่งหนึ่ง พ่อเลี้ยงเดี่ยวทำงานให้วัดโดยได้ค่าตอบแทนเป็นอาหารสำหรับสองพ่อลูก นอกนั้นก็มีรายได้เพิ่มเติมจากงานรับจ้างเล็กๆ น้อยๆ ต่อมา พ่อของฟักมาเป็นภารโรงที่โรงเรียนอันเป็นที่ที่ฟักได้เรียนจนจบประถม 4 เมื่อเรียนจบฟักก็บวชเณร เป็นเณรที่ขยัน มีผลการสอบและการอ่านใบลานที่โดดเด่น ชาวบ้านวาดหวังว่าภายภาคหน้าเณรน้อยจะได้บวชกลายเป็น พระอาจารย์ฟักผู้น่านับถือ
แต่แล้วเมื่ออายุใกล้บวชพระได้ ฟักกลับตัดสินใจสึกเพื่อมาช่วยงานพ่อที่โรงเรียนและช่วยปรนนิบัติเจ้าอาวาสที่วัดด้วย
เขารู้ว่าพ่อต้องทำงานหนักเขาจึงไม่อาจอาศัยผ้าเหลืองใช้ชีวิตสงบและสบายอยู่คนเดียวได้ ช่วงโรงเรียนปิด หนุ่มฟักออกไปรับจ้างดายหญ้า ตัดฟืน และนำค่าจ้างมาให้พ่อ จากนั้น เขาไปเป็นทหารและยังส่งเงินมาให้พ่อเสมอ ชาวบ้านในตำบลพากันสอนลูกๆ ให้ ‘เอาอย่างฟัก’
แต่ทว่า เมื่อฟักปลดจากทหารและกลับมาบ้าน เขากลับได้พบผู้หญิงชื่อสมทรงมาอยู่กับพ่อ หญิงนางนี้ดูเพี้ยนๆ แต่ก็ไม่ทำร้ายใคร อย่างไรเสียฟักคิดว่าพ่อที่เลี้ยงเขามาควรมีสิทธิ์ทำอะไรก็ได้ที่ทำให้ท่านมีความสุข อีกทั้งเมื่อภาระงานของพ่อที่โรงเรียนเพิ่มมากขึ้น ฟักผู้ไม่อยากให้พ่อทำงานหนักจึงเหมือนเอางานทั้งหมดของพ่อมาทำแทนโดยปริยาย
ไม่นานนักพ่อของเขาก็เสียชีวิต และในไม่ช้า ก็มีคนแพร่ข่าวลือว่าฟักได้แม่เลี้ยงเป็นเมีย ซึ่งนับว่าสะเทือนปมจริยธรรมคนทั้งตำบล..
เมื่อผู้คนมีธงคำตอบเปื้อนมลทินในใจอยู่แล้ว ที่เหลือก็แค่อยากให้ฟักขยายรอยด่างให้ฟังไปตามที่ตนคิด ชื่อเสียงทางดีของฟักจึงผันแปรเป็นทางเสื่อม
ฟักเริ่มถูกล้อเลียนและถูกเหยียดมากขึ้นเรื่อยๆ เขาคิดบวชหนีหรือไล่แม่เลี้ยงฟั่นเฟือนไป แต่ก็ทะเลาะกับตัวเองว่าเขาอยากไล่นางไปเพื่อให้ตัวเองบริสุทธิ์คนเดียวโดยไม่สนใจว่าแม่เลี้ยงจะเดือดร้อนอย่างไรหรือเปล่า? เขาทบทวนเช่นนี้จึงไล่นางไปไม่ได้
กระนั้น
เพราะเหตุแห่งมนุษยธรรมของฟักนั้นเองที่ทำให้ฟักกลายเป็นจำเลยสังคม เขากลัดกลุ้มและคิดว่าหากตนมีสถานะเหมือนกำนันและครูใหญ่ของโรงเรียน ชาวบ้านคงไม่กล้ากล่าวหาว่าเขาสมสู่กับเมียพ่อ คงจะบอกว่าเขามีเมตตาเลี้ยงหญิงเสียสติไว้
แต่จะว่าไปก็มีมนุษย์คนหนึ่งในตำบลที่ยอมเชื่อในความบริสุทธิ์ของฟัก นั่นคือสัปเหร่อไข่ซึ่งทั้งผู้ใหญ่และเด็กต่างพากันรังเกียจเพราะกลัวความสกปรกจากศพหรือกลัวผี เขาไม่เห็นว่าฟักโกหกไปแล้วจะได้ประโยชน์อะไร เพราะเขากับฟักตอนนี้ก็ดูเป็นคนปลายแถวไม่ต่างกันเท่าไหร่ ü
แต่เขาก็ถามฟักด้วยว่าก่อนหน้านี้ฟักก็ไม่เคยจะมาหามาคุยกับเขาแบบเพื่อนบ้าน ใช่หรือไม่? ฟักตอนบวชเรียนก็นับว่าอยู่หัวแถวผิดกับตอนนี้ สัปเหร่อกล่าวกับฟัก “ข้าถึงเชื่อเอ็ง เพราะไอ้คนที่ยืนหางแถว พูดอะไรก็ไม่ค่อยมีใครเขาฟังหรอก” และสัปเหร่อไข่นี่เองที่ทำให้ฟักได้รู้จักฤทธิ์เหล้าที่ช่วยให้คำนินทาอันใหญ่โตของชาวบ้านกลายเป็นเรื่องเล็ก
ฟักเริ่มใช้เหล้าย้อมใจ เวลาเมาก็มักพร่ำเพ้อถึงการเป็นพระและการได้ลำดับชั้นของพระซึ่งหมายถึงการยอมรับที่เขาจะได้ด้วย (อ่านเรื่องสมณศักดิ์เพิ่มในนิตยสารธรรมะ มุม) เขาติดเหล้าหนักและไม่อาจเลิกเหล้าตามที่สัญญากับหลวงพ่อไว้ เคราะห์ซ้ำกรรมซัด เขายังถูกครูใหญ่โกงเงินแต่กลับไม่มีใครเชื่อว่าเขาถูกโกง หนำซ้ำเขายังกลับกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาชาวบ้านไปอีก… ต่อมาไม่นาน ชายผู้เป็นเสมือนสัตว์บาดเจ็บสาหัส ก็ตายไปอย่างน่าเวทนา…
ฟักก็จัดลำดับชั้นคนไว้ในใจเหมือนกัน
ใช่หรือไม่ว่า ในตอนแรกฟักเองก็จัดลำดับคนอย่างหลวงพ่อ กำนันและครูใหญ่ ไว้คนละที่(ชั้น)กับสัปเหร่อไข่ เหมือนที่สัปเหร่อตั้งคำถามว่า ก่อนหน้าที่ฟักจะถูกคนแทบทั้งตำบลเข้าใจผิด กลายเป็นคนชายขอบปลายอ้อปลายแขม ฟักคิดจะไปมาหาสู่สัปเหร่อแบบคนรู้จักกันบ้างหรือไม่?
นอกจากนี้ การที่ฟักคิดว่าถ้าหากตนมีหน้ามีตาเหมือนกำนันและครูใหญ่ของโรงเรียน ชาวบ้านคงจะไม่กล้ากล่าวหาเขาว่าเอาเมียพ่อเป็นเมีย อีกทั้งมักพร่ำเพ้อถึงการสอบภาษาบาลีและได้สมณศักดิ์ เหล่านี้ไม่เพียงสะท้อนว่าชาวบ้านในตำบลของฟักถูกบ่มเพาะเรื่องลำดับชั้นทางสังคม (social rank) มาอย่างไร แต่ฟักก็มีลำดับในใจไม่ต่างจากนั้นเท่าไหร่และฟักก็อยากได้ลำดับสูงเหมือนกัน ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะหนึ่งในความหมายของการมีลำดับชั้นทางสังคมสูงกว่าก็คือ การได้รับการสนับสนุนจากชุมชนและวัฒนธรรมมากว่า พูดอะไรคนก็มีแนวโน้มจะเชื่อถือและให้ท้ายมากกว่า
คนไม่สำคัญ
อีกประเด็นคือ คนเรามักจะอยากเป็นเหมือนหรือบางทีก็มีบ้างนิดๆ ที่อิจฉาคนที่เราหรือแวดวงเรา ‘ให้ค่า’ เพราะคิดว่าเขาได้รับการชื่นชมและได้รับการปกป้องแม้จะทำผิดหรือพลาด เช่น เมื่อผู้คนบอกว่าอิจฉา “สาวๆ น่ารักๆ มีแต่คนอยากเป็นเพื่อนและพร้อมให้อภัยเมื่อพวกเธอทำผิด” หรือ “เป็นผู้ชายนี่ได้รับพื้นทางศาสนาง่ายกว่าผู้หญิงเนอะ ต่อให้ใช้เล่ห์กลก็จะมีคนปกป้อง” ก็ตั้งคำถามได้ว่าเหล่านี้อาจเป็นความเชื่อที่ไม่เป็นสากลไหม?
เพราะคนอื่นอาจไม่ได้คิดแบบนั้น และสถานการณ์โดยรวมก็อาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้นทั้งหมด
หลุดจากการเป็นไอ้ฟัก
เวลาคนเราหยิบยกตำนานเรื่องเล่าอะไรขึ้นมา ก็มักคิดว่าตัวเป็นฝ่ายดี ถูกต้องแต่ถูกกระทำ เช่น ฉันเป็นราวกับโยเซฟ (יוֹסֵף) ผู้ถูกใส่ร้ายกลั่นแกล้ง (ดูเพิ่ม คัมภีร์ไบเบิลบทปฐมกาล และถ้าอยากเปลี่ยนเป็นบริบทของอิสลาม ลองหาจากชื่อ ยูซูฟ) หรือฉันมีใจกรุณาต่อสรรพสัตว์แต่ถูกเข้าใจผิด ฯลฯ
เราแต่ละคนอาจเคยรู้สึกถูกกระทำและไม่มีใครเข้าข้าง ผู้คนมีเพียงคำตอบบิดเบี้ยวเกี่ยวกับเรา กระนั้นในเรื่องราวชีวิตของคนอื่น แน่ใจหรือว่าเราไม่ใช่หนึ่งในบรรดาคนที่ผสมโรงกับเรื่องแย่ๆ กับเรื่องของเขาที่อาจจะจริงหรือเท็จก็ได้ หรือดีขึ้นมาอีกหน่อยเราอาจเป็นพวกที่เห็นใจ ไม่เชื่อคำกล่าวหาใคร แต่ก็ไม่ช่วยไม่ว่าเพราะอะไรก็ตาม อย่าไปคิดว่าตัวเองใฝ่ดีหรือเป็นเหยื่อ หรือคิดว่าตัวอยู่ข้างผู้ถูกกระทำตลอดเวลาขนาดนั้นเพราะบางทีพลังงานขั้วตรงข้ามมันก็รั่วไหลออกมาได้ในทุกคน ถ้าเห็นตัวเองได้ในหลายบทในแต่ละชั่ววินาทีที่เลื่อนไหลไป ก็จะหลุดพ้นจากบทไอ้ฟักและบทบาทอื่นๆ ได้
โอกาสการเรียนรู้ของชุมชนและคนที่มีลำดับขั้นทางสังคมสูงกว่า
แม้คนซึ่งมีลำดับขั้นทางสังคมน้อยกว่า (เช่น ผู้น้อย ลูก ลูกน้อง ฯลฯ) ที่รู้สึกได้รับความอยุติธรรมมักต้องรับมือด้วยการปรับที่ใจตัวเอง และในขณะที่คนที่มีลำดับขั้นทางสังคมสูงก็โดนทัวร์ลงได้เหมือนกัน
แต่ก็มีอีกบริบทที่สมาชิกชุมชนมัวโอ้โลมเฉพาะคนที่วัฒนธรรมนั้นๆ ยกขึ้น เช่น พ่อแม่, พระภิกษุ, กระบวนกร (facilitator) ที่น่าจะต้องสามารถช้อนเสียงที่ไม่ถูกได้ยิน ฯลฯ กลายเป็นไม่เปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้รับรู้สิ่งที่ทำพลาดหรือในการกระทำที่คนอื่นรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม ซึ่งทำลายโอกาสการเรียนรู้ของชุมชนและคนที่ได้รับการบูชาสักการะด้วย ทั้งที่หลายกรณี คนทั้งหมดก็อยากและควรเข้าใจภาพรวมให้ลึกซึ้งขึ้น
อย่างในสถานการณ์ครอบครัว หากลูกถูกตีตราว่าขาดความฉลาดทางอารมณ์ ก็น่าจะตั้งคำถามสะท้อนได้เหมือนกันว่าพ่อแม่มีหรือไม่ เพียงไร? มันเป็นหน้าที่ลูกอย่างเดียวที่จะต้องเรียนรู้และทำงานกับโลกภายใน หรือจริงๆ พ่อแม่เองก็มีใจจะเรียนรู้และควรได้รับโอกาสเติบโตเหมือนกัน?
ในบริบทอื่นๆ ถ้ากัลยาณมิตรกล้าเตือนในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้า ก็อย่าอาจหาญต่อหน้าเฉพาะกับสามัญชนคนอ่อนอำนาจวาสนา ฟักก็ทำดีบ้างพลาดบ้าง ครูใหญ่เองก็ทำดีบ้างทำผิดบ้างได้ ลองคิดว่า ถ้าผู้คนในตำบลที่ฟักอยู่สามารถรับฟังได้ว่าครูใหญ่ที่อาจเคยเกื้อกูลคนมามาก ก็สามารถโกหกและโกงไอ้ฟักผู้ถูกสังคมดูแคลนได้เหมือนกัน
คนทั้งชุมชนเองก็มีโอกาสที่จะได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นอีกหน่อย
อ้างอิง
คำพิพากษา โดย ชาติ กอบจิตติ
คันฉ่องส่องตัวตน “บทวิเคราะห์สถานการณ์ เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษฏ์ กับความเป็นไปของคณะสงฆ์” โดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งกล่าวถึงธรรมยุติกนิกาย มหานิกาย และสมณศักดิ์ไว้มาก
ยิว โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
คัมภีร์กุรอาน ขอบคุณเพื่อนอิสลามที่เล่าเรื่องยูซูฟให้ฟังและ ขอบคุณน้องเจิน วราลักษณ์ สำหรับการเชื่อมร้อยโยเซฟที่ปรากฏใน ยิว คริสต์ อิสลาม
นิตยสารธรรมะ มุม พฤศจิกายน-ธันวาคม พ.ศ. 2554 ฉบับที่ 18 โดย พระถนอมสิงห์ สุโกสโล (โกศลนาวิน) บรรณาธิการ และ อลิชา ตรีโรจนานนท์ บรรณาธิการที่ปรึกษา; ขอบคุณ คุณต่อ ถนอมสิงห์ โกศลนาวิน ผู้ชำนาญในปาฏิโมกข์ ที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมในระดับสังคมเรื่อยมาขอบคุณ ป๊อป กิตติพงษ์ หาญเจริญ ที่กล้าท้วงติงคนที่ดูมีสถานะมากในวงสนทนาต่างๆ รวมถึงกระตุ้นผู้อื่นให้ใช้พลังงานเช่นนั้นด้วย, ขอบคุณซือ ที่กล้าแสดงความรู้สึกของตนเองทำให้กลุ่มได้เรียนรู้, ขอบคุณ แบต สุปรียส์ กาญจนพิศศาล ที่ชี้ให้เห็นความพ้องกันของการปกครองคณะสงฆ์และกระทรวงมหาดไทย ดูเพิ่ม Buddhism and Politics in Thailand โดย สมบูรณ์ สุขสำราญ, ขอบคุณพระวัดสายมหานิกายแห่งหนึ่ง ที่ทำให้เข้าใจมุมมองจากใจของฝั่งมหานิกายต่อสายธรรมยุติกนิกายมากขึ้น, ขอบคุณพี่ชุ ชุติมา มณีวัฒนา