- ‘เอเซีย’ ชาดา สังวรณ์ คือโนรารุ่นใหม่ แห่งคณะโนราเติม วิน-วาด ที่เริ่มต้นความฝันจากความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในครอบครัว และมุ่งมั่นบนเส้นทางที่แตกต่างด้วยความภูมิใจในตัวเอง
- เธอปักธงอนาคตไว้ที่การพาโนราไปให้ถึงการยอมรับในระดับสากล ขณะเดียวกันก็ฝันอยากเห็นโนราเป็นการแสดงที่ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่
- เธอมองว่าโนราเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ หากนำมาออกแบบเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ นอกจากจะช่วยพัฒนาศักยภาพและทำให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเองแล้ว ยังน่าจะช่วยให้ห่างไกลจากความเสี่ยงได้
สีหน้าแววตามุ่งมั่น สีสันสดใสของเครื่องแต่งกายโนรา ลีลาการร่ายรำที่สง่างามสอดประสานไปกับเสียงดนตรี คือพลังการแสดงของ ‘เอเซีย’ โนรารุ่นใหม่แห่งคณะพิพิธภัณฑ์โนราเติม วิน-วาด ในงานโนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน ณ จังหวัดพัทลุง
ด้วยวัยเพียง 18 ปี กับบทบาทนักแสดงและผู้ฝึกสอนโนรา คำถามที่เธอต้องตอบบ่อยครั้ง คือฉากหลังความมั่นใจในการเดินตามฝันบนเส้นทางนี้ที่ถูกแปะป้ายเป็นการแสดงพื้นบ้าน มรดกทางวัฒนธรรมที่ออกจะสวนทางกับกระแสความนิยมของคนรุ่นเดียวกัน
“เราเกิดพร้อมกับเสียงปี่เสียงกลอง ซึ่งเราก็ชอบมันและรู้สึกว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะประเทศไทย ในภาคใต้ ก็คิดว่าควรจะอนุรักษ์ไว้ไม่ให้สูญหายไป” ‘เอเซีย’ ชาดา สังวรณ์ พูดถึงความตั้งใจตั้งแต่เด็กที่ทำให้ตัวเองใกล้แตะหมุดหมายในฝันเข้าไปทุกที
‘ครอบครัวโนรา’ สายใยที่ถักทอความฝัน
เช่นเดียวกับเด็กหลายคน ความใฝ่ฝัน…เริ่มต้นที่ ‘บ้าน’
“ตอนเด็กๆ เราได้เห็นที่บ้านรำโนราก็รู้สึกว่าแปลกจัง มันไม่ได้อยู่ในกิจวัตรประจำวันทั่วไป รู้สึกว่าน่าสนใจ พอโตมาก็รู้ว่าเป็นศิลปวัฒนธรรมที่อยู่มานานมากแล้ว และมันอยู่ในสายเลือดของครอบครัวเราก็ยิ่งทำให้รู้สึกภูมิใจมากที่ได้มายืนอยู่ตรงนี้”
แม้จะเกิดและเติบโตในบรรยากาศของการแสดงโนรา แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้เอเซียปักธงชีวิตไว้กับการแสดงนี้ เธอว่าความรักและความผูกพันระหว่างเธอกับคุณยาย-วราภรณ์ อ๋องเซ่ง คือแรงส่งสำคัญที่ทำให้ตัวเองมั่นใจพอที่จะเลือกทำในสิ่งที่แตกต่างจากคนวัยเดียวกัน
“ที่บ้านสอนให้รำตั้งแต่เด็ก ซึ่งเราก็ชอบด้วย คุณยายเริ่มดัดตัวให้ตั้งแต่ 3 ขวบ พอจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการแสดงจริงจัง คุณยายก็พาไปเรียน ไปฝึกรำโนรา ก็พอรำได้ จนคุณยายตัดสินใจมาเปิดคณะโนราของตนเอง เพื่อเป็นคณะสายตระกูลโดยเฉพาะของครอบครัวเรา ก็เริ่มช่วยยายสอนโนราให้น้องๆ ลูกศิษย์ในคณะด้วย ตอนที่เริ่มสอนอายุประมาณ 7-8 ขวบ เพราะเราเริ่มเรียนแต่เด็ก มันก็ซึมซับเร็ว”
เอเซียบอกว่า การที่เธอค้นพบความสนใจของตัวเองได้เร็วและมีทัศนคติที่ดีน่าจะมาจากคุณยายที่เลี้ยงดูแบบไม่ได้ตึงหรือหย่อนเกินไป แม้จะต่างวัยต่างเจเนอเรชั่นแต่ก็สามารถพูดคุยกันได้เกือบทุกเรื่อง
“คุณยายก็จะเลี้ยงดูเราแบบค่อนข้างตามใจแต่ให้อยู่ในกรอบของวัฒนธรรม กิจกรรมที่ทำด้วยกันก็เช่น พาไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ ซึ่งก็มีเรื่องของการอนุรักษ์ด้วย ก็เลยไม่เครียดเวลาเราทำงานอะไรแบบนี้
ปกติจะใกล้ชิดกับคุณยาย อาจจะมีช่องว่างบ้าง แต่ต่างฝ่ายก็พยายามปรับตัวเขาหากัน คุณยายถึงจะเกิดในยุคที่ไม่มีนวัตกรรมอะไร แต่คุณยายก็พยายามเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆ แล้วก็พยายามจะเข้าใจเด็กรุ่นใหม่ด้วย ต่างคนต่างพยายามเข้าถึงซึ่งกันและกัน หรือว่าเราอาจจะมีโนราเป็นจุดเชื่อมโยง เพราะว่าเป็นสายเลือดของเรา และเราก็เป็นยายหลานกัน เราสนิทกัน ตอนเด็กๆ ก็ไปไหนด้วยกันตลอด ก็เลยคุยกันง่าย
บางครั้งอาจมีมุมมองที่แตกต่างกัน แต่ก็ปรับเข้าหากันได้ด้วยมิตรภาพดีๆ เพราะเราใช้ชีวิตร่วมกัน ต่างคนต่างยอมรับและไว้ใจกัน ไม่มีอะไรปิดบัง แล้วบางเรื่องหนูก็มีความชอบคล้ายๆ กับคุณยาย เพราะคุณยายเลี้ยงมาตั้งแต่เกิดก็อาจจะซึมซับมาจากยายค่อนข้างมาก เกิดความเข้าใจกันเป็นพิเศษ”
‘ฝึกโนรา’ สะสมทักษะชีวิต
เมื่อจุดเริ่มต้นมาจากความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว แม้การฝึกโนราจะค่อนข้างหนักหนาสำหรับเด็กคนหนึ่ง แต่เอเซียบอกว่าเธอไม่ได้รู้สึกกดดันหรือถูกบังคับ ตรงกันข้ามเธอว่าการฝึกโนราไม่เพียงทำให้ได้ใช้เวลากับคุณยายและคนในครอบครัว และยังเป็นการฝึกทักษะการใช้ชีวิตที่ดีอย่างหนึ่ง
“ทักษะที่ได้จากการรำโนรา อย่างน้อยก็ทำให้เรารู้จักการแบ่งเวลา เพราะเราเรียนสายสามัญซึ่งค่อนข้างหนัก แล้วต้องแบ่งเวลามาฝึกรำ ซึ่งก็ไม่ใช่แค่นั้น เพราะต้องเรียนรู้งานหัตถกรรม เช่น งานร้อยลูกปัดด้วย
แล้วเราก็มีเพื่อนที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับงานศิลปวัฒนธรรม ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนกัน พอเพื่อนเห็นว่าเราเป็นแค่คนไม่กี่คนที่มาทำด้านนี้ เขาก็มองว่าเราเก่ง เราก็ภูมิใจ”
แน่นอนว่า เส้นทางการเป็นโนราใช่ว่าจะไร้ซึ่งอุปสรรค ช่วงหนึ่งในชีวิตวัยรุ่น เอเซียเองก็ได้เจอกับแรงปะทะของอุตสาหกรรมการแสดงสมัยใหม่ ซึ่งอาจทำให้หวั่นไหวบ้างแต่ไม่เคยท้อถอย
“ที่ผ่านมาก็มีสับสนเหมือนกัน เพราะบางทีก็ไปเจอนวัตกรรมใหม่ ก็พยายามคิดว่าสองฝั่งนี้ควรจะเชื่อมกันยังไง เราก็เรียนในตัวเมือง นวัตกรรมก็ล้ำ ชมรมโนราในโรงเรียนก็ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าไหร่ ก็มองว่าทำไมโนราต้องมาเจอแบบนี้ด้วย น้องๆ ในคณะโนรา ก็ว่าควรจะไปต่อหรือหยุดดี เพราะเขาจะคิดว่าโนราเก่าแล้วมั้ย แล้วเราก็เป็นผู้นำที่ไม่ได้ทีสิทธิมีเสียงมากพอ …จริงๆ ก็ไม่ใช่ง่ายกว่าที่เราจะเดินทางมาถึงจุดนี้ ก็ลำบาก ผ่านอะไรมาเยอะ
เหมือนเวลามีงาน open house พอมีเด็กมาเต้น เขาก็มาดู พอเราขึ้นรำโนรา เขาก็ลุกไป ก็เลยทำให้เด็กมีไฟน้อยลง เพราะเขาอาจจะยังไม่เห็นคุณค่าของโนรามากพอ เราก็เลยรู้สึกว่าเราต้องทำอะไรสักอย่าง”
‘โนราล่าแสงเหนือ’ ฝันไกลไปให้ถึง
‘แสงเหนือ’ นอกจากจะเป็นหมุดหมายในฝันของเอเซีย ยังเป็นภาพสะท้อนความคาดหวังที่จะพาโนราไปให้ถึงการยอมรับในระดับสากล
โครงการโนราล่าแสงเหนือ เป็นกิจกรรมที่เอเซียกับเพื่อนๆ ในวัยมัธยมฯลงทุนลงแรงร่วมกัน ด้วยความตั้งใจที่จะนำศิลปการแสดงนี้ไปให้คนได้รู้จักมากเท่าที่เรี่ยวแรงของเยาวชนอย่างพวกเธอจะทำได้
“ตอนนั้นประมาณปี 2562 โนรายังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ก็เลยคิดว่ายังไม่ใครรู้จักโนราเท่าไหร่ เรานำการแสดงโนราไปเผยแพร่ดีมั้ย เราก็เป็นนักเดินทางตัวน้อยอยู่แล้วด้วย บวกกับเรามีโนราอยู่ในมือ แล้วก็ได้ไปพบปะแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับคนในพื้นที่อื่นๆ ด้วย
แล้วก็เป็นความฝันของพวกเราที่อยากไปรำโนราในภาคเหนือ ไปโชว์ให้เขาดู โดยเราเก็บเงินและไปกันเอง ไม่ได้ขอใคร ค่อยๆ เก็บทุกอาทิตย์ พอได้เงินทุนพอแล้ว ก็ออกเดินทางไปไปรำในที่ต่างๆ ไปรำให้ป่า ให้วัดก็มี
จนถึงวันนี้ที่เราไปมาทั้งหมดก็มี กำแพงเพชร พิษณุโลก หัวหิน นครปฐม ปทุมธานี และตาก ไม่ใช่ภาคเหนือทั้งหมด คือตรงไหนที่มองว่าเป็นพื้นที่น่าสนใจ เราก็ปักธงว่าเราจะไป ไปถึงแล้วเราก็รำเลย ไม่ได้สนใจว่าจะมีใครดูหรือเปล่า แบบฉันจะรำให้ดู ตอนนั้นไปกัน 10 กว่าคน มีทั้งรุ่นน้อง รุ่นพี่ เรียนระดับมัธยมนี่แหละ คุณยายก็ไปด้วยกัน แต่ว่าพอปีหลังๆ ก็เริ่มน้อยลง เพราะว่าบางคนติดเรียน แต่นี่ก็เริ่มมีคนชวนว่าให้เราไปอีกนะ”
‘วิชาโนรา’ การเรียนรู้ที่มากกว่ารักษ์
หลายคนอาจมองว่า โนราเป็นแค่ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน แต่จริงๆ แล้ว โนราเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่มีรากยึดโยงกับพิธีกรรมความเชื่อ รวมถึงองค์ความรู้ที่หลากหลาย
“เราไม่ใช่แค่อยากอนุรักษ์เพื่อจะสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมอย่างเดียว แต่อยากให้โนราเป็นกิจกรรมการเรียนรู้อีกทางเลือกหนึ่งให้แก่คนรุ่นใหม่ที่จะใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพตัวเองได้ เพราะโนราไม่ได้มีแค่การรำ แต่ยังมีศาสตร์เบื้องหลังอยู่อีกมาก
โนราเหมือนเป็นการออกกำลังกาย และโนรายังมีศาสตร์ที่แยกออกมาอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพิธีกรรม การดูแลสุขภาพกายใจ และภาคบันเทิงที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจ ดูแล้วตลก แล้วก็มีเรื่องงานฝีมือเบื้องหลัง เช่น การร้อยลูกปัด ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เด็กมีสมาธิมากขึ้น ไม่เครียด แล้วเราก็ไม่ต้องไปใช้เวลางมอยู่กับอินเทอร์เน็ต”
ในความเห็นของเอเซีย การนำโนรามาออกแบบการเรียนรู้น่าจะช่วยให้เยาวชนเห็นคุณค่าและพัฒนาตัวเองได้อีกทางหนึ่ง
“อยากให้ศาสตร์โนราเปลี่ยนพฤติกรรมเยาวชนที่อยู่ในสิ่งล่อแหลม เช่น ยาเสพติด ความรุนแรง อบายมุขต่างๆ หนูคิดว่าโนราจะช่วยเยียวยาได้ เราอยากเป็นต้นแบบให้เห็นว่า การที่เรารำโนราทำให้เราไม่ไปมั่วสุมในปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ครอบครัวก็สบายใจ เราไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคม แต่ต้องไม่บังคับให้เยาวชนมาอนุรักษ์นะ ใช้โนราช่วยเปลี่ยนแปลงให้เยาวชนดีขึ้น และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข”
ที่สำคัญการเรียนรู้รากและภูมิปัญญาของโนรายังน่าจะช่วยให้คนรุ่นใหม่เข้าใจความแตกต่างของวิถีชีวิตวัฒนธรรมได้ดีขึ้น
“เพราะว่าโนราจะแตกต่างกันไปตามแต่ละจังหวัด แต่ละตำบล มีท่ารำที่ไม่เหมือนกัน ในเรื่องของพิธีกรรม บางคณะก็มีความเชื่อแตกต่างกัน เราก็ได้ไปเรียนรู้ ขณะเดียวกันหนูไม่ได้มีชีวิตอยู่แค่ในคณะโนรา แต่เราไปเรียนก็เจอโลกภายนอกด้วย ทำให้เรามีความคิดสองแบบควบคู่กัน ไม่ได้ไปในทางใดทางหนึ่ง เราก็ต้องอยู่ให้ได้ในโลกที่มีสองด้าน ต้องเลือกดูเลือกเข้าใจ”
ฝันแค่เอื้อมของ ‘โนรา Gen Z’
ปัจจุบัน ‘โนรา’ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ จากยูเนสโก เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย คนภาคใต้ รวมถึงความภูมิใจอย่างที่สุดของทายาทโนราคนนี้
“ตอนนี้โนราได้รับการยอมรับระดับโลก รู้สึกว่ายูเนสโกช่วยผลักเสียงเล็กๆ ของพวกเราด้วย ทำให้ได้รับการยอมรับ และมีการต่อยอด ก็รู้สึกดีใจ และภูมิใจในฐานะเด็กคนหนึ่งที่ได้รำโนรา”
พร้อมๆ กับก้าวสำคัญในเวทีในระดับนานาชาติของโนรา วันนี้ เอเซียเองก็กำลังก้าวต่อไปสู่อนาคตในรั้วมหาวิทยาลัย กับสถานภาพนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะศิลปกรรม สาขานวัตกรรมการจัดการศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเจ้าตัวมุ่งมั่นที่จะทำให้โนราไม่ใช่แค่มรดกที่ถูกเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ แต่เป็นการแสดงที่ได้รับการยอมรับจากคนรุ่นใหม่ด้วย
“อยากให้คนรุ่นใหม่ที่ยังไม่รู้จักโนราได้มาช่วยกันสานต่อโนรา เพราะไม่ใช่แค่การอนุรักษ์ แต่โนรายังช่วยพัฒนาศักยภาพเราในหลายๆ อย่าง ทั้งได้ออกกำลังกาย ได้ฝึกสมาธิ เป็นศาสตร์ที่น่าสนใจและอยากให้มาลองเรียนรู้ดู เผื่อว่าจะชอบ เพราะว่าเป็นสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจ และช่วยกันรักษาศิลปวัฒนธรรมที่น่าภูมิใจของบ้านเรา”
แต่ถ้ามองไปถึงความฝันในด้านอาชีพแล้ว เอเซียพูดพร้อมรอยยิ้มเล็กๆว่า “หนูอยากเป็นทูตวัฒนธรรม จะได้พาโนราไปโชว์ไกลๆ เลย”
ซึ่งตอนนี้เจ้าตัวก็มีอีกบทบาทหนึ่งที่น่าจะถือเป็นการชิมลางการเป็นทูตวัฒนธรรม นั่นคือ การได้รับเชิญให้ไปพูดในเวทีต่างๆ
“พอเขารู้ว่าเราทั้งเรียนทั้งรำ ก็ได้รับเชิญไปพูดเรื่องการลดปัจจัยเสี่ยงในตัวเยาวชน เพราะเขาเห็นว่าเราเป็นเยาวชนที่ไม่อยู่ในปัจจัยเสี่ยงใดๆ เลย เพราะว่าเรารำโนรา ร้อยลูกปัด เหมือนเรามีภูมิคุ้มกันจากวัฒนธรรมด้านนี้อยู่ แล้วยิ่งวงพูดคุยที่เขาเชิญเอาไปลงสื่อ ทำให้ได้แชร์ทัศนคติต่อเพื่อนๆ คนอื่น เราก็ยิ่งภูมิใจ
ตอนไปนำเสนอแรกๆ เราก็กลัว เพราะมีแต่คนเก่ง แต่ท่านผู้อาวุโสก็บอกว่าเราก็เป็นคนเก่งเหมือนกัน เหมือนเราเป็นคนรุ่นใหม่ที่ยังคงสืบสานวัฒนธรรม เขาก็สนใจ ให้เกียรติเรา เหมือนเราไม่ใช่แค่คนดีที่ปรับตัวอยู่ในสังคมได้ แต่เรายังพาวัฒนธรรมไปเผยแพร่ได้ อย่างน้อยยังสืบสานให้วัฒนธรรมยังคงอยู่ไม่จางหาย”
เอเซียบอกว่า การได้รำโนราคือความสุข แต่ก็เหนื่อยมากเหมือนกัน พร้อมทั้งฝากถึงเด็กคนอื่นๆ ที่ยังค้นไม่เจอความชอบความหลงใหลของตัวเองว่า…อย่าเพิ่งท้อ สำหรับเธออาจจะโชคดีที่ความชอบนั้นเป็นสิ่งที่ครอบครัวสนับสนุนอยู่แล้ว
“การที่เราค้นพบตัวเอง ได้ทำตามฝัน อาจเพราะว่าโตมาก็เจอเสียงปี่เสียงกลองเลย เราได้ซึมซับมาตั้งแต่เด็ก เหมือนเรามีกรอบมาเรียบร้อยแล้ว แต่เราก็ไม่รู้สึกอึดอัด และครอบครัวก็ไม่ได้บังคับ
หนูดีใจที่เกิดมาก็ได้ยินเสียงปี่เสียงกลอง แล้วเราก็ชอบ คุณยายก็สนับสนุนเต็มที่ แล้วเรายิ่งชอบยิ่งทำซ้ำๆ ฝันก็ยิ่งไกลออกไป ภูมิใจและเชื่อว่าฝันเราจะยังไปอีกไกลแน่นอน”
งานโนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน จัดโดยศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย, กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, สสส. และ สกสว. ณ วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เมื่อวันที่ 17-19 มีนาคม 2566 |