- เมื่อเด็กคนหนึ่งก้าวพลาด บางส่วนถูกตัดสินให้เข้ามาอยู่ที่นี่ ‘ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน’ ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในนั้น ทำอย่างไรให้พวกเขาได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต เพื่อวันที่เขาได้ออกไปแล้ว จะสามารถเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้ง
- โครงการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นระบบการจัดการศึกษาภายใต้การพัฒนาทักษะวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต เปลี่ยน ‘ผู้คุม’ เป็น ‘นักจัดการเรียนรู้’ ที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความสนใจด้านการศึกษา
- การจัดการศึกษาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การจัดการศึกษาสายสามัญ คือ กศน. และศูนย์การเรียน และการศึกษาสายอาชีพ 4 หลักสูตร คือ หลักสูตรอาหารว่างยอดนิยม หลักสูตรขนมไทย หลักสูตรหัตถกรรม งานเชื่อม และหลักสูตรการผลิตของที่ระลึกและของชำร่วย
เด็กทุกคนมีความสามารถ มีความถนัดเป็นของตัวเอง ยิ่งถ้าได้รับการสนับสนุนจากสังคม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หรือโรงเรียน เชื่อว่าเขาจะสามารถเปล่งแสงออกมาในเส้นทางของตัวเองได้
เว้นเสียแต่ว่าเมื่อเดินทางมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต แล้วเกิดก้าวผิดจังหวะ พลาดพลั้งเข้าไปพัวพันกับเรื่องที่ผิดกฎหมาย จนต้องเข้ามาอยู่ในสถานพินิจฯ หรือศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ทำให้หลายๆ อย่างในชีวิตของพวกเขามีการเปลี่ยนแปลง ทั้งความฝัน การศึกษาเหมือนถูกแช่แข็ง ที่แย่ไปกว่านั้นคือเด็กบางคนไม่ได้รับการศึกษาที่ควรได้รับตั้งแต่ยังไม่เข้าไปด้วยซ้ำ
แล้วตลอดระยะเวลาที่อยู่หลังกำแพงสูงนั้น ทำอย่างไรให้พวกเขาได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต เพื่อวันที่เขาได้ออกไปแล้ว จะสามารถเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้ง
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงร่วมมือกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มูลนิธิปัญญากัลป์ สนับสนุนระบบการจัดการศึกษาภายใต้การพัฒนาทักษะวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต เปลี่ยน ‘ผู้คุม’ เป็น ‘นักจัดการเรียนรู้’ ที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความสนใจด้านการศึกษา ภายใต้ โครงการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
การพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
ศุภชัย ไตรไทยธีระ ประธานมูลนิธิปัญญากัลป์ พูดถึงการทำงานในโครงการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษา สำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาว่า ในส่วนของมูลนิธินั้นทำหน้าที่ในการระดมข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูล และพัฒนาเป็นชุดโครงการร่วมกับทางกรมพินิจฯ โดยมุ่งหวังให้ศูนย์ฝึกฯ เป็นพื้นที่ที่จะช่วยสร้างเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็ก ซึ่งเรียกพื้นที่นี้ว่า ‘พื้นที่การเรียนรู้’
ปรับเปลี่ยนครูผู้คุมให้กลายเป็น ‘ครูนักจัดการเรียนรู้’ สามารถออกแบบการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ในความดูแลของตนเองได้ รวมถึงปรับเปลี่ยนผู้อำนวยการหรือผู้บริหารศูนย์ฝึกฯ ให้เป็น ‘ครูนักออกแบบการเรียนรู้’ มองภาพรวมของการจัดการศึกษาให้กับเด็กในทุกมิติได้ และสามารถเอื้อให้ครูออกแบบและจัดกิจกรรม รวมถึงประเมินผลที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ได้ ที่สำคัญที่สุดคือการกระตุ้นให้เด็กเป็น ‘ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต’ และมองเห็นว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องที่สำคัญ
ซึ่งภายใต้โครงการนี้มีอยู่ทั้งหมด 6 แผนงาน โดยมีศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี และสถานพินิจฯ 7 แห่งในพื้นที่นี้ที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ และจะมีแผนงานที่ 7 เพิ่มขึ้นมา เพื่อสนันสนุนให้ทุนต่อเนื่อง เนื่องจากว่ามีเด็กๆ ที่จบออกไป แล้วก็มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนต่อเนื่อง ฝึกวิชาชีพต่อเนื่อง รวมถึงการประกอบอาชีพ
แผนงานที่ 1 การพัฒนาบุคคลากรให้เป็นนักจัดการเรียนรู้ โดยจากทำงานกับผู้บริหาร 8 คน, ครูบริบาล (พ่อบ้าน แม่บ้าน) 60 คน, ครูข้ามข่าย (นักจิตศึกษา นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาชีพ) 60 คน และได้ครูแกนนำ 30 คน ที่เป็น ‘ครูนักจัดการเรียนรู้’ ซึ่งประกอบด้วย นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และนักวิชาชีพ
“เราก็มีคอนเซปต์การทำงานที่อยากจะเห็นสมรรถนะครูที่เปลี่ยนไป เห็นพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เห็นครูที่เป็นโค้ช ที่สามารถช่วยโค้ชชีวิตเด็กได้ ให้เด็กๆ เห็นเส้นทางชีวิตของตัวเองชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
เนื่องจากครูก็จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ครูแต่ละคนจะมีเด็กในความดูแลของตัวเอง ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงกับระบบหรือการจัดการเรียนรู้ มองเห็นว่าเด็กคนนี้เหมาะกับการเรียนในระบบไหน เช่น เรียนกศน. นอกจากนี้ครูบางคนที่มีองค์ความรู้ที่เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของตัวเองก็จะถ่ายทอดให้เด็ก อย่างครูที่เชี่ยวชาญด้านช่างไม้ ช่างก่อสร้าง ก็จะเอาความรู้นั้นมาถ่ายทอดให้กับเด็ก”
แผนงานที่ 2 พูดถึงการพัฒนาระบบการจัดการศึกษาทางเลือก (นอกระบบและตามอัธยาศัย) ร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยจะมี 3 แผนให้เลือก คือ การศึกษาสายสามัญ (ศูนย์การเรียนเซนต์ ยอห์นบอสโก, กศน. และสถาบันอุดมศึกษา), การฝึกวิชาชีพ (8 หลักสูตร ได้แก่ ช่างเชื่อมโลหะ, ช่างไฟฟ้า, ช่างไม้และก่อสร้าง, ดนตรี, ช่างศิลปหัตถกรรม, งานช่างสตรี, ช่างตัดผม และเกษตรกรรม), หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น 5 หลักสูตร (หลักสูตรช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ การทำเบเกอรี ช่างตัดเย็บ การนวดเพื่อสุขภาพและการแปรรูปสมุนไพร และคอมพิวเตอร์เพื่อการสร้างอาชีพ)
ในส่วนแผนงานที่ 3 ว่าด้วยเรื่องของการหาสถานที่ประกอบอาชีพให้กับเด็กหลังได้รับการปล่อยตัว รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพเด็กผ่านหลักสูตร Young Boost Up ส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการให้กับเด็ก
“แผนงานที่ 4 ด้านทักษะชีวิต เราก็จะเสริมเรื่องของมิติทางกาย ทางใจ ทางปัญญา และมิติทางสังคม ให้เด็กเข้าใจตัวเอง เชื่อมโยงตัวเองกับนิเวศรอบๆ ได้ ทำความเข้าใจกับสภาพครอบครัว ชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ แล้วก็ให้เด็กค้นหาตัวแบบของตัวเองให้เจอ ให้เขามีไอดอล เพื่อให้เขามีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต แล้วก็ไม่ให้หวนกลับไปทำผิดซ้ำ ซึ่งในส่วนนี้เราต้องมีกระบวนการที่เข้าไปทำกับเด็ก ซึ่งเราก็พัฒนาเครื่องมือชุดนึงเรียกว่าเครื่องมือ 11 ชิ้นจะเป็นเหมือนใบงานให้เด็กๆ ทำงานกับตัวเอง เรียนรู้ผ่านการตั้งคำถามกับตัวเอง แล้วก็ค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง”
เชื่อมโยงสู่แผนงานที่ 5 ในการสร้างความร่วมมือกับชุมชน ขับเคลื่อนกลไกโอบอุ้มคุ้มครองเด็กภายหลังที่ได้รับการปล่อยตัว เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาทำผิดซ้ำ
“เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เขาไปเจอ อาจกลับไปเจอเพื่อกลุ่มเดิมๆ ทำอย่างไรจะมีชุมชนที่คอยโอบอุ้มคุ้มครองเขา ไม่ให้เขากลับไปทำผิดซ้ำ เราก็เลยสร้างความร่วมมือ ซึ่งในแผนงานนี้เราวางแผนไว้ว่าเราทำความร่วมมือกับ 10 ชุมชน นำร่องพื้นที่จังหวัดอุบลฯ ก่อน คัดเลือกโดยเป็นชุมชนที่ปล่อยเด็กตอนกลับออกไปส่วนนึง อีกส่วนเป็นเครือข่ายของศูนย์ยุติธรรมชุมชน ตำบล ที่มีความเข้มแข็ง แล้วเราก็อยากจะยกระดับการทำงานให้เป็นงานเชิงนโยบายระดับพื้นที่ ซึ่งทางท้องถิ่น อบต. จริงๆ แล้วเขามีอำนาจหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานคุ้มครองเด็กในระดับพื้นที่ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก”
และแผนงานที่ 6 พูดถึงการจัดการฐานข้อมูลและการวิจัย โดยมีโจทย์วิจัย 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1.ระบบการป้องกัน/การจัดการศึกษา/กลไกโอบอุ้ม เพื่อสร้างความเข้าใจกับชุมชน 2.การส่งเสริมเด็ก ทั้งรูปแบบการศึกษา/อาชีพ/ทักษะชีวิต และ 3.การพัฒนาครู ด้านสมรรถนะครู จิตวิทยา แผนการศึกษารายบุคคล เปลี่ยนครูที่เป็นนักจิตวิทยา ครูศูนย์ฝึกฯ เป็นนักจัดการเรียนรู้
“เรามีการวิจัยในเรื่องของรูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมตามสมรรถนะของเด็กในกระบวนการยุติธรรม โดยเราจะไปดูว่าถ้าเด็กจะมีสมรรถนะตามที่เขาตั้งไว้จะมีรูปแบบการศึกษาหรือการสร้างการเรียนรู้แบบไหนที่มันตอบโจทย์เขา แล้วก็มีการสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กผ่านเครื่องมืออะไร เด็กๆ ชอบเครื่องมือไหนที่สุด และเขามองว่าตัวเองหลังจากออกจากศูนย์ฝึกไปจะมีสมรรถนะไหนติดตัวไปบ้าง ซึ่งจะทำให้เขาสามารถที่จะเป็นผู้ที่เข้มแข็งทางสังคมได้ แล้วก็ใช้ชีวตได้อย่างมีความสุข อีกส่วนก็จะเป็นการส่งเสริมอาชีพ เครื่องมือในการใช้สร้างเสริมทักษะชีวิตของเขา”
“เราก็คาดหวังว่าจะมีเด็กๆ ในความดูแลของพวกเรา เข้าสู่กระบวนการในลักษณะนี้ ได้รับทุนได้รับโอกาสทางการศึกษาจนสำเร็จการศึกษา และอาจจะนำไปสู่การมีวิชาชีพติดตัว คือเรามองว่าเรียนจบมันยังไม่พอ แต่ทำยังไงจะให้เขาเกิดรายได้
เนื่องจากสภาพปัญหาของเด็กๆ ที่เข้ามาในนี้ ส่วนหนึ่งคือเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เราพบว่าปัญหาหลักที่เป็นปัญหาใหญ่เลยก็คือ สถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวค่อนข้างอยู่ในโหมดยากจน และนำไปสู่การเกิดปัญหาในรูปแบบอื่นๆ ตามมา ถ้าเด็กเป็นผู้รอดในสังคมก็จะรอดไปได้ แต่ถ้าเด็กผ่านมาไม่ได้ก็จะมาอยู่ที่เรา แล้วเราก็จะทำหน้าที่ให้เขาเป็นผู้รอดคนใหม่ในสังคม เราก็คิดว่ากระบวนการเหล่านี้มันเป็นกระบวนการที่ได้ช่วยเหลือและทำให้เด็กเปลี่ยนจริงๆ”
‘ศูนย์การเรียน’ รูปแบบการจัดการศึกษาที่เป็นมิตรกับเด็ก
เมื่อเด็กคนหนึ่งก้าวพลาด บางส่วนถูกตัดสินให้เข้ามาอยู่ที่นี่ ‘ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน’ ซึ่งมีภารกิจคือ การดูแล บำบัด แก้ไข ฟื้นฟูและให้การสงเคราะห์เด็กและเยาวชน ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ มีคำพิพากษาให้เข้ารับการฝึกอบรม โดยรับผิดชอบดูแลเยาวชนในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร นครพนม และสกลนคร
จิตติมา กระสานติ์กุล ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี เล่าถึงการบริหารจัดการการเรียนของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนว่า มีการจัดการศึกษาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การจัดการศึกษาสายสามัญ ซึ่งจะเป็นการจัดการเรียนการสอนในวันจันทร์และวันอังคาร และการศึกษาสายอาชีพ จัดการเรียนการสอนในวันพุธ พฤหัสบดี และวันศุกร์ โดยได้รับความร่วมมือจากวิทยาลัยเทคนิคนครอุบลราชธานี โดยมีการจัดการเรียนการสอน 4 หลักสูตร คือ หลักสูตรอาหารว่างยอดนิยม หลักสูตรขนมไทย หลักสูตรหัตถกรรม งานเชื่อม และหลักสูตรการผลิตของที่ระลึกและของชำร่วย
“ในส่วนของศูนย์ฝึกอบรมจะทำหน้าที่ในการดูแลเด็ก เด็กจะได้เรียนทั้งสายสามัญและสายวิชาชีพ ในสายสามัญเดิมเรามีกศน. เป็นหลัก ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นหลักของเราอยู่ แต่เราพบอีกรูปแบบหนึ่ง การเรียนที่เป็นมิตรกับเด็กๆ ก็คือรูปแบบของศูนย์การเรียน เนื่องจากมีความยืดหยุ่น
อย่างเช่น เรามีเด็กที่จบม.1 ครึ่งเข้ามา ก็คือเขาเรียนมาจนถึงม.2 เทอม 1 แล้วเขาโดนจับ ก็มาเรียนจบจบม.2 กับเรา ถ้าถูกปล่อยตัวเขาก็กลับไปต่อในระบบม.3 พร้อมเพื่อน ซึ่งระบบนี้ถ้าเป็นของกศน.จะทำไม่ได้ เพราะกศน.จะต้องเรียนจนจบม.ต้น เรียนจนจบม.ปลาย อันนี้มันก็มีลัษณะที่เป็นมิตรกับเด็กอีกจุดนึง ซึ่งเราก็จะคัดเด็กกลุ่มนี้มาเรียนศูนย์การเรียน เพราะว่าเราจำกัดอายุในการจบ ให้ทันเพื่อนด้านนอก ต้องไม่เร็วไม่ช้าไปกว่ากัน โดยสุดท้ายแล้วถ้าเด็กเรียนจบครบตามหลักสูตร จะได้รับวุฒิบัตร”
เสริมสร้างแรงบันดาลใจ เรียนรู้และค้นหาอาชีพก่อนออกไปเริ่มต้นชีวิตใหม่
“เด็กส่วนใหญ่ที่อยู่ที่นี่มาจากคดียาเสพติด พอศาลสั่งมาเรามีหน้าที่ที่จะต้องเตรียมเขา ฝึกเขา พัฒนาเขา อย่างครูวิชาชีพเขาก็จะพัฒนาเรื่องอาชีพ ครูสามัญก็พัฒนาเรื่องวิชาสามัญ ในส่วนของนักสังคมสงเคราะห์เราก็พัฒนาเรื่องทักษะสังคม ทักษะชีวิต ให้เขาได้เรียนรู้ ให้เขาได้ดึงศักยภาพของตัวเอง หรือให้เขารู้จักตัวตน แล้วก็ให้เกิดความเข้มแข็งในจิตใจ ให้เขารู้ว่าเขามีคุณค่านะ เยียวยาจิตใจเขา แล้วก็ดึงความสามารถศักยภาพที่มีอยู่ว่าเขาควรเอามาใช้ยังไงบ้าง”
จิรารัตน์ ไชยยงค์ นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี เล่าถึงกระบวนการดูแลเด็ก ซึ่งในส่วนของงานนักสังคมสงเคราะห์ หลักๆ คือการดูแลเด็กตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามา ตั้งแต่ในระยะแรกรับ (Orientation Stage) – ระยะฝึกอบรม (Internmediate Stage) – จน ระยะเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย (Pre-Release Stage) โดยคอยประสานกับครอบครัวในทุกๆ เรื่อง
ในระยะเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ครูจิก็มีหน้าที่ในการเสริมทักษะด้านสังคม ทักษะอาชีพให้กับเด็ก โดยทำกิจกรรม เพื่อปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของเด็ก เช่น กิจกรรมเรียนรู้ ‘การค้นหาอาชีพ ผ่านการ์ดอาชีพ’ ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของกระบวนการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยของเด็ก โดยใช้ระยะเวลา 1 – 6 เดือน ก่อนที่จะปล่อยตัว
“สำหรับกิจกรรมที่เราทำเรื่องค้นหาอาชีพ จริงๆ แต่ก่อนถ้าไม่มีการ์ดอาชีพ เราบอกให้เด็กๆ เขียน หรือถามเขาเกี่ยวกับอาชีพที่อยากทำ อยากเป็น เขาคิดไม่ออก เด็กๆ เขาก็จะคิดอยู่ในวงแคบ เช่น ทำนา เพราะพ่อแม่ทำนา หรือรับจ้างก่อสร้าง แต่เด็กไม่ได้คิดนอกกรอบ เขามองไม่เห็นว่าอาชีพนอกจากที่อยู่กับพ่อแม่มันมีอาชีพอื่นๆ อีกที่หลากหลายที่เขาสามารถเดินไปถึงตรงนั้นได้ ก็เลยดึงกิจกรรมตรงนี้เขามาให้
ในการ์ดอาชีพก็จะมีอาชีพหลากหลาย เช่น ช่างตัดผม ช่างสัก ยูทูบเบอร์ บางอย่างเด็กถาม ครูครับนักเดินป่าเป็นอาชีพด้วยหรอ ที่เขาทำคลิปเกี่ยวกับการเดินป่า แล้วคนเข้าไปดูคลิปเขาเยอะๆ เขาก็ได้เงิน มีหลากหลายอาชีพมากซึ่งเด็กไม่เคยรู้จัก
อย่างสักลาย มันเป็นอาชีพได้นะ แต่เราต้องไปทำให้มันถูกต้อง ต้องสะอาด ต้องปลอดภัย ต้องมีใบประกอบวิชาชีพด้วย แล้วถ้าตัดผม จบตรงนี้มันน่าจะยังไปเปิดร้านไม่ได้หรอก ลูกๆ ควรไปเรียนต่อสารพัดช่าง หรือสถานบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ไปพัฒนาให้เชี่ยวชาญ”
“ในส่วนของครูนักสังคมสงคราะห์ก็จะคอยเสริมแรงเขาว่า อาชีพนี้สามารถต่อยอดไปได้อย่างไรบ้าง ชี้ช่องทางอาชีพ เราจะเป็นคนประสานส่งต่อ หาแหล่งซัพพอร์ทเขา เราจะทำฝันเขาให้เป็นจริงได้ยังไงบ้าง หาทรัพยากรต่างๆ มาหนุนเสริมเด็ก”
นอกจากนี้ยังมีกระบวนการติดตามภายหลังปล่อย 1 ปี โดยการประสานกับทางผู้ปกครอง ชุมชน สถานพินิจปลายทางที่เด็กจะไปอาศัยอยู่ วางแผนการติดตามภายหลังปล่อย ซึ่งวิธีการติดตามก็จะมีการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน เยี่ยมสถานประกอบการ เยี่ยมสถานศึกษา โดยนักสังคมสงเคราะห์ของศูนย์ฝึกฯ นักสังคมสงเคราะห์ของสถานพินิจ เครือข่ายก็จะเป็นสถานยุติธรรมจังหวัด ศูนย์ยุติธรรมชุมชน อสท. บริษัท SILC ซึ่งจะลงไปติดตามเด็กๆ ที่ผ่านการฝึกวิชาชีพ
“การติดตามไม่ใช่ว่าไปจับว่าเขาทำผิดอะไรบ้าง แต่ติดตามเพื่อให้ความช่วยเหลือ 5 ด้าน หนึ่งเด็กกลับไปมีการศึกษาไหม สองมีงานทำไหม สามครอบครัว มีสัมพันธภาพที่ดีหรือเปล่า สี่ด้านที่อยู่อาศัยหรือชุมชน โอบอุ้มหรือผลักให้เขากลับไปทำผิดอีก และห้าการคบเพื่อนมีเพื่อนที่ดีไหมและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์หรือเปล่า”
“อย่างตอนนี้ที่ติดตามก็คือ พลอย ซึ่งเป็นเด็กที่มีความสามารถ ถ้าพูดในระดับกรมพินิจฯ เอง ทุกศูนย์ฝึกจะรู้จักเขา เขาเป็นเด็กที่มีความสามารถในตัวค่อนข้างเยอะเพียงแต่ฐานครอบครัวไม่เอื้ออำนวย ความเป็นแม่กับตัวเขาค่อนข้างห่างเหินกัน แล้วเขาหาเงินด้วยตัวเองจากการเป็นแดนซ์เซอร์ เป็นนักร้อง แล้วก็เป็นเหยื่อของยาเสพติด พอเขามาอยู่กับเรา เราก็ดูเขา เห็นความสามารถเขา เราก็ดึงศักยภาพเขาทุกอย่างออกมา เขาทำได้หมดเลย ไม่ว่าจะเล่นดนตรี ร้องเพลง กล่าวสุนทรพจน์ to be number one การนำเสนอต่างๆ ดีหมดทุกอย่าง
ตอนนี้เขามีความฝันเรื่องดนตรีอยู่ เราก็จะพยายามหาแหล่ง หาที่เขาจะสามารถเรียนได้ สนับสนุนเขาได้ สุดท้ายเขาก็จะมารับใบประกาศจบม.6 ของเซนต์ ยอห์นบอสโก ศูนย์การศึกษาทางเลือก”
โอกาสทางการศึกษา ทำให้เห็นคุณค่าในตัวเอง
“หนูเข้ามาอยู่ในศูนย์ฯ ตอนอายุ 17 ปี ตอนนี้หนู 21 แล้ว ตอนนั้นหนูเป็นคนที่ไม่มีความฝัน ไม่มีเป้าหมายในตัวเองเลยค่ะ ก็คือในวันนั้นหรือในช่วงนั้นทำอะไรได้ ใครหยิบยื่นอะไรให้ก็คือทำหมดทุกอย่าง หรือตัวเองอยากทำอะไรก็คือทำในตอนนั้นเลย ไม่มีคิดว่าอนาคตอยากจะหยุดที่ตรงไหน อยากจะมีความฝันเป็นอะไร อยากทำงานอะไรที่มันมั่นคงแน่นอน ไม่มีเลยค่ะ” พลอย หนึ่งในเยาวชนที่เข้ารับวุฒิบัตร ผู้สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เล่าถึงภูมิหลังของชีวิตตัวเองก่อนเข้ามาอยู่ที่ศูนย์ฝึกฯ ให้ฟัง
“พอเข้ามา ครูในศูนย์ฝึกเขาก็สอนหลายอย่าง ทั้งทักษะอาชีพต่างๆ เช่น เราได้เรียนถักไหมพรม ทำขนม ทำหน้ากากผ้า เรียนตัดเย็บเสื้อผ้าต่างๆ แล้วก็จะมีเรียนดนตรี ช่วงนั้นหนูเรียนไวโอลินด้วย สัปดาห์ละ 2 วัน ส่วนเรื่องเรียนวิชาการ ช่วงแรกที่เข้ามาเอกสารหนูไม่ครบเลยเสียเวลาไป 1 ปีเต็มๆ ที่ไม่ได้เรียนต่อ แล้วก็มาเรียนที่ศูนย์การเรียนจนจบม.6”
นอกจากได้เรียนต่อจนจบมัธยมศึกษาตอนปลายในรูปแบบของศูนย์การเรียน ได้ฝึกทักษะอาชีพต่างๆ แล้ว พลอยบอกว่า ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 ครูได้สอนให้เธอตั้งเป้าหมายในชีวิต มองอนาคตของตัวเองให้เป็น เมื่อมีความฝันแล้วก็ต้องเรียนรู้ ฝึกฝน หาทางสร้างให้ความฝันนั้นเป็นจริง ซึ่งพลอยมีความฝันอยากเป็นนักร้อง นักดนตรี และนักแต่งเพลง
“โอกาสที่ได้รับทำให้เราเรียนจนจบม.6 ทั้งที่หนูก็อายุเยอะแล้ว ถ้าเกิดหนูอยู่ข้างนอกหนูก็คงจะไม่ได้เรียน คงจะเล่นๆ ไปเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย แต่พอเข้ามาหนูอายุเยอะแล้ว คืออายุหนูมันไม่ใช่ช่วงที่จะต้องกลับไปเรียน ม.1 ใหม่แล้ว พอเข้ามาในนี้หนูได้เรียนจบทั้งม.3 และม.6 ทั้งการศึกษาแล้วก็วิชาชีพ คือหนูได้เรียนรู้วิชาชีพต่างๆ อาชีพมันมีเยอะแยะ มันไม่ได้มีแค่อาชีพก่อสร้าง ไม่ได้มีแค่อาชีพที่มันหนักๆ ทำขนมเราก็มีรายได้ได้”
ทั้งนี้สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้และเกิดการเปลี่ยนแปลงคือเรื่องของความคิด “เอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น แล้วมันทำให้เราไม่ใช้อารมณ์ตัวเองตัดสินทุกอย่าง ทำให้เราฟังเหตุผลคนอื่น และในบางครั้งที่เพื่อนเขาทำผิดเหมือนเรามองเห็นแล้วเราอยู่เฉยๆ ไม่ได้ เราก็ต้องบอกค่ะ เหมือนรู้ที่จะเข้าใจตัวเองแล้วก็เข้าใจคนอื่นด้วย”