- Empathy, Compassion และ Kindness คือส่วนผสมของคำว่า ‘ความใจดี’ คาแรกเตอร์สำคัญที่ นีท – เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาโรงเรียน ชวนค้นหาและฝึกฝน ผ่านการ์ตูนที่เราดูกันมาตั้งแต่เด็กๆ
- ความใจดี มี 3 รูปแบบด้วยกัน คือ แสดงออกมาตรงๆ ชัดเจน แสดงออกตรงข้าม แบบปากไม่ตรงกับใจ เป็นความใจดีที่ถูกซ่อนไว้ และการพยายามเปลี่ยนแปลงเป็นคนที่ใจดีขึ้น ซึ่งแบบหลังต้องการโอกาสและแรงเสริม
- สำหรับการค้นหาความใจดีและติดตั้งคาแรกเตอร์นี้ออกแบบโดยใช้หลักของแบนดูรา (Bandura) การเรียนรู้จากตัวแบบ คือการที่เราเห็นคนหนึ่งคนทำแล้วทำตาม มี 4 ขั้น คือ สนใจ จำได้ ทำบ่อยๆ และมีแรงจูงใจ
วันนี้คุณ ‘ใจดี’ กับตัวเองและคนข้างๆ บ้างหรือยัง ?
อาจจะฟังดูโลกสวย แต่การดูแลหัวใจตัวเองด้วยการใจดีกับตัวเองบ้าง เป็นสิ่งสำคัญที่เราไม่ควรละเลย เพราะข้อดีของการมีคาแรกเตอร์นี้นอกจากจะทำให้หัวใจเราแข็งแรง ยืดหยุ่นกับตัวเองมากขึ้น ความใจดีของเรายังส่งผลให้ความสัมพันธ์กับคนข้างๆ ดีตามไปด้วย เพราะใครๆ ก็ชอบคนใจดี…จริงไหม?
หากไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี The Potential ชวน นีท – เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาโรงเรียน นักออกแบบการเรียนรู้ และ Influencer เจ้าของช่อง Tiktok Neatto.chan สาวเสิร์ฟอนิเมะ พูดคุยถึงการค้นหาความใจดีของตัวเอง ผ่าน Pop-culture อย่างการ์ตูนที่เราดูกันมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะไม่ว่านิทานหรือการ์ตูน ทุกเรื่องย่อมจบด้วย “เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…” และหากถอดคาแรกเตอร์ของตัวละครออกมา เราจะเห็นความใจดีซ่อนอยู่เสมอ อยู่ที่ว่าจะแสดงออกมาในรูปแบบไหน เช่น ใจดีแบบเปิดเผย แสดงออกตรงๆ เข้าใจง่าย หรืออาจปากไม่ตรงกับใจ แสดงออกตรงกันข้ามกับสิ่งที่พูด หรือเมื่อก่อนเคยใจร้าย แต่วันนี้พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่
แล้วจริงๆ แล้วความใจดีคืออะไร หน้าตาเป็นแบบไหน? จำเป็นต่อเราทุกคนใช่ไหม? เราจะสร้างคาแรกเตอร์ให้กลายเป็นคนใจดีได้อย่างไร? แล้วใจดีแบบไหนไม่ให้โดนเอาเปรียบ? เรามาค้นหาไปพร้อมๆ กัน
‘ความใจดี’ หนึ่งในทักษะสำคัญของชีวิต
ก่อนอื่นนีทเล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของ ‘ความใจดี’ ที่ตัวเองตีความออกมาจากทักษะ Empathy and Compassion ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน 23 ทักษะของ IDGs: Inner Development Goal ตามที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) หรือ SDGs ไว้ 17 เป้าหมายหลัก เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573 ซึ่งการที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นได้จำเป็นต้องมี 23 สกิล แบ่งเป็น 5 หมวดหมู่ และ ‘ความใจดี’ ที่กำลังจะพูดถึงก็เป็นหนึ่งในนั้น
“ความใจดีมันจะอยู่ในพาร์ทของ Caring for Others and the World คือการที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และหนึ่งทักษะที่เราสามารถมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นได้ มันคือการที่เรามีความใจดีหรือคำว่า empathy and compassion ซึ่งถ้าแปลความหมายโดยรวม ก็หมายความว่ามันคือการที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับคน โดยเรามีปฏิสัมพันธ์กับเขาด้วยความใจดี มีคำว่า kindness มีความใจดีกับเขา มีคำว่า empathy กับเขา เข้าอกเข้าใจเขา และ compassion เมตตาเขาเพื่อช่วยขจัดความทุกข์อะไรบางอย่างออกไปได้ ดังนั้นมันจะมี 3 คำนี้ในความใจดี”
นีทชวนมองต่อในมุมจิตวิทยาว่า 3 คำนี้ (kindness, empathy และ compassion) มีเบื้องลึกเบื้องหลังอย่างไร เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น อย่างคำว่า ใจดี หรือ Kindness เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมา เช่น คุณเป็นคนใจดี เป็นมิตร ชอบช่วยเหลือ ยิ้มง่าย เป็นต้น
ส่วนคำว่า Empathy (ความเข้าอกเข้าใจ) เป็นสิ่งที่อยู่ภายในตัวเรา เป็นความรู้สึกที่เราเข้าใจว่าเขารู้สึกอย่างไร? เป็น Feeling (ความรู้สึก) ว่า I understand your feeling. และคำว่า Compassion คล้ายๆ กับ empathy คือการที่ I understand you.ผสมกับ I would like to help you. (ฉันเข้าใจคุณ และ ฉันอยากจะช่วยคุณ) 3 คำนี้จึงเป็นก้อนรวมที่คุณนีทเรียกว่า ‘ความใจดี’ นั่นเอง
“อันดับแรกคุณจะใจดีกับใครได้คุณต้องมี empathy ก่อน คือเข้าใจความรู้สึกว่า เขากำลังเศร้าเพราะเขาอกหัก เขากำลังเศร้าเพราะเขาโดนแม่ด่า พอมี empathy เสร็จมันต้องเกิด I would like to help you. ก็จะมีความ compassion เข้ามาผสม ว่าเออ…ฉันอยากช่วยแกอะ สุดท้ายคือการช่วยเหลือมันต้องแสดงออกมาแบบ kindness ไม่ใช่แบบสมมติด่าเพื่อน เรื่องแค่นี้ทำไมต้องเศร้า ผู้ชายคนเดียว อันนี้มันไม่ kindness แม้ว่าคุณอยากจะช่วยให้เพื่อนคลายจากความทุกข์ แต่คุณก็ต้องแสดงท่าทาง kindness ออกมา เช่น แกๆ ฉันเข้าใจ มากอดๆ นะ”
“เรารู้สึกว่า 3 ตัวนี้มันคือตัวที่จะคลายความเศร้าได้อันดับแรกเลย อย่างคำว่า ความใจดี เรามอง 2 มิติ หนึ่งคือใจดีกับตัวเอง และสองคือใจดีกับคนอื่น ซึ่งใจดีกับตัวเอง เราไม่ค่อยทำเลย ขนาดเราเป็นนักจิตวิทยานะ ยังเผลอบ่นเผลอด่าตัวเองเลย เรายังไม่เมตตากับตัวเองเลย ทั้งๆ ที่เราควรจะเมตตาและให้อภัยตัวเองและเข้าใจตัวเอง หรือบางทีเรายังต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่น หรือคนอื่นอาจจะต้องการความช่วยเหลือจากเรา
ซึ่งไม่ว่าเราจะเมตตากับตัวเอง ใจดีกับตัวเอง หรือใจดีกับผู้อื่น มันทำให้เรารู้สึกอย่างนึงว่า แม้ว่าโลกมันจะอยู่ยาก แต่ถ้าสภาพแวดล้อมมันเอื้อ มันช่วยเหลือเรา ทำให้เรารู้สึกว่าเราเดินไปด้วยกันได้ เรารู้สึกว่าเราต่อสู้กับโลกนี้ได้ โดยที่โลกก็ไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น แล้วเราก็ไม่ได้เดียวดายขนาดนั้น อันนี้เป็นคีย์หลักเลยที่เลือก ‘ความใจดี’ มาเป็นหัวข้อแรกเลย”
ค้นหา ‘ความใจดี’ ของตัวเองผ่านการ์ตูนเรื่องโปรด
สำหรับการค้นหาความใจดีผ่านการ์ตูนนั้น เธอเล่าว่า ส่วนหนึ่งคือความฝัน และความหลงใหลในการ์ตูน ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ที่นำมาใช้ในการศึกษา เพียงแค่นำมาต่อยอดในมุมของนักจิตวิทยา
“การ์ตูนมันเป็นความทรงจำและความฝันในวัยเด็กของเรา เรื่องแรกๆ ที่ดูตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง คือ ‘เซนกิ เทพอสูรสองหน้า’ แล้วก็มี ‘นักซิ่งสายฟ้า Let’s & Go’ โดยสมัยก่อนเราจะสามารถดูการ์ตูนผ่านเทป VDO หรือดูจากทีวีก็ได้ ซึ่งหลักๆ เราก็ชอบดูการ์ตูนเสาร์อาทิตย์ของช่อง 9 ซึ่งทุกคนรู้ไหมว่า? ก่อนจะได้ดูการ์ตูน มันจะมีรายการไฮไลท์การ์ตูน 9 ที่มีพี่นัท–น้องนพ มาเป็นพิธีกร ซึ่งในรายการนั้นจะมีการตั้งคำถาม ให้เราโทรไปตอบคำถาม อย่างเช่น (สมมติ) โปเกม่อนตอนนี้สอนให้เรารู้ว่าอะไร? แล้วก็มีช้อยส์ให้เรากดเลือก เพื่อชิงของรางวัล มันก็เหมือนนิทานอีสปที่ตอนจบมันก็ต้องมี “เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…” เราก็เลยผูกพันกับความเป็นการ์ตูนแบบนี้”
นอกจากความสนุกของการดูการ์ตูนในวัยเด็กแล้ว เธอมองว่าจริงๆ แล้ว การ์ตูนเป็นสื่อการเรียนรู้ที่อยู่กับเรามาตั้งแต่นานแล้ว รายการไฮไลท์การ์ตูน 9 ในวันนั้นจึงทำให้เห็นว่า การ์ตูนไม่ได้ดูแค่ความสนุก แต่มีอะไรที่ซ่อนอยู่ในนั้น
“จากแค่เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไร เราเริ่มมาหาคำ เวิร์ดดิ้ง หรือแรงบันดาลใจจากการ์ตูนละ เราก็เลยเขียนเรื่องส่งไปนิตยสารเล่มโปรด มันเหมือนเป็นนิตยสารวิชาภาษาไทย ที่เกี่ยวกับเรื่องการเขียน การอ่าน ก็จะมีแนะนำวรรณกรรมต่างๆ แต่ว่าจุดนึงของนิตยสารเล่มโปรดคือเขาจะมีให้เด็กๆ ร่วมตัวกันเป็นกลุ่ม เพื่อลองเขียนบทความส่ง เหมือนเป็นทีมบ.ก.ตัวน้อย ซึ่งตอนนั้นเรามีความอยากเป็นนักเขียน นักพูด ก็เลยส่งเรื่องไป มันเป็นจุดเริ่มต้นของความฝัน”
“เรารู้สึกว่าการ์ตูนมันเรียนรู้อะไรได้เยอะ แต่ว่าหลายๆ ครั้งพอเราโตขึ้นมามันจะมีคำว่า ความฝันกลายเป็นความฝัน เราก็เริ่มรู้สึกว่า ความฝันเกี่ยวกับการ์ตูน เขียนการ์ตูน หรือทำงานสายนี้ ก็กลายเป็นความฝันของเราไป เหมือนทำได้แค่ชีวิตในวัยเด็ก ซึ่งจริงๆ เราอยากทำมาตลอด แต่เราไม่เมตตาตัวเองเลย เราไม่ใจดีกับตัวเอง หรือไม่สามารถเชื่อมั่นอย่างเต็๋มร้อยว่า สิ่งที่เราทำอยู่มันดีจริงๆ นะ
เราทำช่องTiktok ซึ่งเป็นช่องวิเคราะห์การ์ตูนผ่านจิตวิทยา ในตอนที่ทำบางทีเราก็ใจร้ายกับตนเอง บ่นคลิปตนเอง จริงๆ เราก็พยายามใจดีกับตนเองนะ แต่มันก็ไม่ strong พอ เพราะเราก็เป็นคนธรรมดาที่ต้องการคนใจดีมาช่วยอ่าเนอะ เช่น ทาง JAM เชิญเราไปพูดใน Special Live ของ Conan the Movie 25 เจ้าสาวฮัลโลวีน หรือ พี่เอิ้น Pochi Pochi ซึ่งเขาคือคนที่เรานับถือ ก็ชวนไป live เรื่อง “น้องซูเล็ตต้า” ความใจดีที่มีคนมอบโอกาสให้ ทำให้เราคิดว่า สิ่งที่ทำนั้นมีคุณค่า! Social support (การสนับสนุนทางสังคม) มันสำคัญเนอะ”
“เราต้องการกำลังใจ เราต้องการพื้นที่ที่ได้รับการยอมรับว่าสิ่งที่เราทำมันใช่ นั่นคือการที่เราได้รับความใจดีจากคนรอบตัว บางครั้งโลกมันโหดร้ายแล้ว แต่มันก็มีคนใจดีที่อยู่เคียงข้างเรา”
ติดตั้งคาแรกเตอร์ ‘ใจดี’ ผ่านตัวละครในการ์ตูน
เพราะส่วนสำคัญในชีวิตวัยรุ่นล้วนเป็นเรื่องของเพื่อนและความสัมพันธ์ ความใจดีจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้
“เพื่อนคือส่วนสำคัญในชีวิตของเขา มันคือพัฒนาการเลย เพราะฉะนั้นการที่มีทักษะในเรื่องของความใจดี แสดงออกด้วยความใจดีจึงสำคัญ เช่น เมื่อเวลาเพื่อนมีความทุกข์ แล้วคุณอยากจะช่วยเหลือเพื่อน มันทำให้ความสัมพันธ์ในกลุ่มของพวกคุณดี ทำให้เรามีความสุขมากขึ้น สองตัวที่เล่ามามันก็ยังตอบโจทย์วัยรุ่น จริงๆ แล้ว ขั้นตอน How to ไม่สำคัญเท่าคุณ intention อยากจะทำมันหรือเปล่า มันคือความใส่ใจว่าฉันอยากจะทำมัน เรารู้สึกว่าการสร้างบริบทจาก Pop Culture คือจริงๆ มีหลายแบบ ด้วยความที่ชอบอนิเมะที่สุดก็ต้องเลือกสิ่งที่ตัวเองถนัดที่สุด มาสอน ถ้าเราเลือกสิ่งที่ไม่ถนัดมาเราก็จะดูเฟก”
สำหรับการค้นหาความใจดีและติดตั้งคาแรกเตอร์นี้ออกแบบโดยใช้หลักของแบนดูรา (Bandura) การเรียนรู้จากตัวแบบ คือการที่เราเห็นคนหนึ่งคนทำแล้วทำตาม มี 4 ขั้น คือ สนใจ จำได้ ทำบ่อยๆ และมีแรงจูงใจ
“ขั้นแรก กระบวนการที่เรารู้สึกใส่ใจ เราสนใจก่อน เพราะฉะนั้นถ้าเรามาสร้างความใจดีกัน ก็ต้องมีกิมมิกในการเปิดเรื่องผ่านตัวละครที่ชอบ ตัวละครที่คุณชอบมีความใจดีอยู่หรือเปล่า action ไหนที่เขาแสดงความใจดี มันคือการสร้าง attention ความใส่ใจให้กับคุณ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ขั้นต่อมาพอคุณสร้างเสร็จแล้ว ต้องมาคุยกันนะว่า แล้วตัวละครที่เราชอบหรือความใจดีที่เขาแสดงออกมา เขามีวิธีการทำหรือ How to อย่างไร นี่คือขั้นที่ 2
ส่วนขั้นที่ 3 คือการ Practice ซ้อมเพื่อให้เราฝึกบ่อยๆ เราจะได้คุ้นชิน ซึ่งอันนี้จะเป็นกระบวนการทางจิตวิทยาที่เอามาช่วย เช่น เราจะ get feeling เข้าใจเขายังไง ก็อาจจะฝึก empathy กันเล็กน้อย ฝึกวิธีการแสดงออก ถ้าเขามีปัญหาอย่างนี้เราจะช่วยยังไงให้เราไม่เดือดร้อนและช่วยเขาได้ และขั้นสุดท้าย Motivation (แรงจูงใจ) ก็เหมือนพูดคุยกันว่าแล้วสุดท้ายเราทำสิ่งนั้นมันดียังไง”
โดยจะสอนผ่าน 3 กิจกรรม ผ่านคำว่า ‘Feel’ ‘Think’ ‘Act’ เริ่มจากการ Feel ที่ทำให้ทุกคนรู้สึกและเข้าใจกับความใจดีก่อน
“หลังจากนั้นเราก็จะมาถอดแบบความ empathy ละ ว่าเราจะเข้าใจตัวละครแต่ละตัวได้ยังไง ก็คืออาจจะเอาซีนของตัวการ์ตูนมาวิเคราะห์สถานการณ์ เช่น ซีนนี้คนนี้เขารู้สึกยังไง ยกตัวอย่าง ‘ทันจิโร่’ ในเรื่องดาบพิฆาตอสูร ตอนที่เขาต้องไปปราบอสูรข้างขึ้นที่ 6 แล้วพี่น้องของตัวที่เป็นอสูรกำลังจะสลายไป พี่น้องสองคนก็ด่ากันอยู่ เหมือนว่าทำไมเธอถึงทำให้ฉันตาย ทำไมเธอถึงไม่ช่วย ทันจิโร่รู้สึกว่า จริงๆ พี่น้องสองคนนี้ไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น เขาก็พูดกับคนที่เป็นพี่ชายว่า “จริงๆ ไม่ได้รู้สึกอย่างนั้นสินะ” แล้วก็เหมือนพูดอะไรบางอย่างกับพี่ชายประมาณว่า อย่าโกรธกันเลย เพราะคงจะมีคนไม่ชอบคุณเยอะ คุณฆ่าคนไปเยอะ แต่คุณมีกันแค่สองคนพี่น้อง เพราะฉะนั้นรักกันไว้เถอะ
เราก็จะมาถอดว่าตอนนั้นทันจิโร่รู้สึกยังไง เขามี empathy ยังไง อาจจะรู้สึกว่า พี่น้องสองคน ก็มีความโกรธกันอยู่ ก็เลยต่างพ่นความโกรธใส่กัน และสิ่งที่เขาทำคือ ฉันอยากจะ compassion เขาคืออยากจะช่วยเขาก็เลยพูดแบบนั้นไป ซึ่งเป็นการพูดดีๆ ไม่ได้ด่า เราก็จะถอดแบบจากความทันจิโร่ได้ ซึ่งเรารู้สึกว่าความอินนี้มันจะทำให้เรา feel ได้ แล้วเราก็จะสามารถเห็นความ empathy ได้”
นอกจากความใจดีที่แสดงออกมาตรงๆ ชัดเจนแบบ ‘ทันจิโร่’ แล้ว ในชีวิตจริงเราอาจเจอคนที่เขาใจดีแต่เราไม่รู้ เป็นความใจดีที่ถูกซ่อนไว้ แสดงออกตรงข้ามกับคำพูด และการพยายามเปลี่ยนแปลงเป็นคนที่ใจดีขึ้น ซึ่งแบบหลังต้องการโอกาสและแรงเสริม
“ยกตัวอย่าง ‘ดาเมียน’ จาก Spy x Family จริงๆ ถ้าเราดูคาแรกเตอร์คนนี้แบบผ่านๆ นะ เป็นเด็กผู้ชายที่เป็นลูกคนใหญ่คนโต ดูมีความหยิ่งๆ ยกตนข่มท่านนิดๆ แต่มีฉากสองสามตอนที่เราจะได้เห็นความใจดีของเขา ความใจดีของเขามันซ่อนอยู่บนความหยิ่งของเขา เขาไม่ได้พูดตรงๆ ว่าผมอยากจะช่วยเหลือ มันจะมีตอนนึงที่นักเรียนเขาแข่งดอร์จบอลกัน แล้วอาเนียที่เป็นตัวละครหลักล้ม แต่ตอนแรกดาเมียนจะไม่ช่วย เพราะว่าถ้าฉันแข่งชนะฉันอาจจะได้รางวัล แต่สุดท้ายสิ่งที่ดาเมียนทำก็คือมากันลูกบอลให้อาเนียแล้วตัวเองก็ต้องออกจากการแข่งขัน สิ่งนี้มันคือความใจดีที่ซ่อนอยู่ ไม่อย่างนั้นเขาก็ไม่ช่วยหรอก ซึ่งสิ่งนี้มันจะทำให้เรายืดหยุ่นเรื่องบางเรื่องมากขึ้น
อย่างเวลาที่เรามองคน เราจะเริ่มไม่ได้มองแค่สิ่งที่เขาทำแค่ทำตอนนี้ แต่เราจะเริ่มถอดว่า หรือเขาจะมีความใจดีซ่อนอยู่นะ”
ในกระบวนการนี้ นอกจากการค้นหาความใจดีผ่านตัวละครแล้ว นีทมองว่าเราต้องถามตัวเองว่า ถ้าเราเป็นดาเมียนเราจะทำอย่างไรให้เขาแสดงความใจดีออกมาได้ตรงๆ ได้มากกว่านี้? หรือบางครั้งเราอาจจะเจอคนที่มีคาแรกเตอร์อีกแบบที่นีทใช้คำว่า ‘ความใจดีที่เปลี่ยนแปลงไป’ คือการพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคนที่ใจดีขึ้น ซึ่งสิ่งที่เราควรทำคือการยอมรับและให้โอกาส
“อีกอันนึงคือรู้สึกว่าเราอาจจะต้องยอมรับความใจดีที่เปลี่ยนแปลงไป คือตัวละครบางตัวตอนแรกไม่ได้ใจดี แต่พอเขาเจอเหตุการณ์อะไรบางอย่าง แล้วเขาเป็นคนใจดี เราก็ควรจะให้ second chance (โอกาสที่สอง) บางทีเราต้องเข้าใจ คนเราอาจจะมีนิสัยไม่ดีได้ แต่ถ้าเขาปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงเราก็ควรจะให้โอกาสเขา ให้พื้นที่เขา เวลาเราเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ดีก็ต้องการคำชมนะ ซึ่งมันคือขั้นสุดท้ายของ bandura คือเราเปลี่ยนแล้วเราก็ต้องการเสริมแรงด้วยการชม การยอมรับว่าสิ่งที่คุณทำมันดี”
ส่วนคำว่า Think คือการที่เราคิดมากขึ้น หลังจากที่ถอดความใจดีของตัวละครออกมาแล้ว ลองดึงพฤติกรรมที่ดีของตัวละครนั้นมาเลือกใช้
“จากนั้น Action เราอาจจะเขียนเป็น action Plan อาจจะมีสถานการณ์ว่า ฉันจะเริ่มนับหนึ่ง ในการช่วยเหลือจากใครก่อนดี เพราะสุดท้ายแล้ว แม้ว่าเราจะวางแผนมา ถ้าเราไม่แสดงออกก็จบ แอ็กชั่นนี้คือเหมือนแค่หนึ่งแอ็กชั่นเล็กๆ ที่วันนี้คุณจะเอากลับไปทำ เพื่อทำให้คุณเป็นคนใจดีที่มากขึ้น เช่น เห็นเพื่อนร้องไห้เพราะอกหัก แอ็กของฉันคือเป็นห่วงเพื่อน ไม่อยากให้เพื่อนเศร้าเพราะเลิกกับแฟน ถ้าคุณมีความ empathy คุณเข้าใจว่าเพื่อนเศร้า คุณมี compassion ที่อยากจะช่วยเหลือเขา เราแสดงออกแบบ kindness ปลอบว่า “ไม่เป็นไรนะแก” แล้วตบไหล่เบาๆ แค่นี้คือดู kindness แล้ว เดี๋ยวอยากด่าต่อค่อยว่ากัน สุดท้ายเราแค่ต้องการคนที่เข้าใจ ปลอบก่อนแล้วค่อยสอนกัน”
สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันด้วยการเป็นคนใจดี แบบไม่โดนเอาเปรียบ
ใครๆ ก็อยากให้คนอื่นใจดีด้วย เพราะความใจดีที่เรามีให้คนอื่น ความใจดีที่เรามีให้ตัวเอง และความใจดีที่เรามีให้กันและกัน เป็นส่วนผสมสำคัญที่ทำให้คนเรารู้สึกว่าโลกมันไม่โดดเดี่ยว แล้วในมุมของจิตวิทยาความใจดีนั้นสำคัญอย่างไร?
“ถ้าถามว่า ความใจดีช่วยอะไรเราบ้าง หนึ่งก็คือถ้าเราพูดแบบทั่วไป แบบที่เราไม่ได้มีปัญหาในชีวิต คุณสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนได้ ใครๆ ก็ชอบคนใจดี ไม่มีใครชอบคนขี้ด่า คนเห็นแก่ตัว สองคือเราพูดในมุมที่เราเริ่มมีปัญหาละ เวลาที่เรามีปัญหา ใครๆ ก็ต้องการคนช่วยเหลือ ใครๆ ก็ต้องการคนเข้าใจ ถ้าเมื่อไรก็ตามที่เรามีความใจดี แล้วเรามอบความใจดีให้แก่กัน มันทำให้ Relationship (ความสัมพันธ์) เราดี แล้วมันทำให้สุขภาวะเราดี
เราเคยเขียนบทความลงใน potential ชื่อว่า PERMA (ระบุที่มาของความสุขและทุกข์ด้วยหลัก PERMA และจงวาดวงกลมความทุกข์ให้เต็มกระดาษเอสี่!) มันเป็นสุขภาวะที่ทำให้คนเรามีความสุข มันมีด้วยกันอยู่ 5 ตัว P E R M A หนึ่งองค์ประกอบนั้นคือตัว R – Relationship ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ซึ่งการที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เมื่อมีปัญหาแน่นอนว่ายังมีคนที่คอยช่วยเหลือเราเสมอ”
และเพื่อไม่ให้เสียสมดุล เราจำเป็นต้องบาลานซ์ความใจดีของเราให้ได้ เพราะอะไรที่มากเกินไปย่อมมีผลเสีย ซึ่งสิ่งที่ควรระวังของความใจดี คือการใจดีแบบที่ตัวเราไม่รู้สึกแย่ ไม่เช่นนั้นเราจะถูกเอารัดเอาเปรียบจากความใจดีของเรา
“สุดท้ายแล้ว เราจะต้องมาดูว่า สิ่งไหนที่เราทำได้ โดยที่เราไม่ได้เปลี่ยนตัวเองไปทั้งหมด อันนี้คือความสำคัญว่า เราเป็นคนใจดีแบบที่เราเป็นได้ หรือถ้าวันนี้เรารู้สึกไม่ไหว เราจะตอบปฏิเสธอย่าง assertive (กล้าแสดงออก) เขายังไง เข้าใจนะ แต่ว่า…เราก็ไม่ไหวเหมือนกัน เราก็ต้องใจดีกับตัวเอง ถ้าวันนี้เรารู้สึกไม่ไหว เราจะมีการปฏิเสธเพื่อนยังไงให้เพื่อนก็ไม่เสียความรู้สึก แล้วเราก็ไม่ต้องยอมเพื่อคนอื่นขนาดนั้น”
Step by Step เริ่มต้นที่ตัวเรา
สภาพแวดล้อม หรือสังคมรอบข้างที่เอื้อต่อคาแรกเตอร์ความใจดีนั้นก็สำคัญ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่ที่การสอน ว่าเราสอนให้เด็กได้แสดงความใจดีไหม
“เด็กทุกคนมีคาแรกเตอร์นี้ แต่สิ่งสำคัญคือสังคมให้โอกาสเขาในการแสดงออกมาหรือเปล่า อย่างบางทีเด็กมาช่วยแล้วเราบอกไม่ต้องทำเลย ทำแล้ววุ่นวายมากขึ้น กลายเป็นว่าเด็กจะเรียนรู้เลยนะ ว่าคุณไม่ชอบ ซึ่งสิ่งนี้มันก็เป็นไปตามหลักการเสริมแรง ว่าสิ่งที่เราตอบสนอง แสดงกลับไปต่อพฤติกรรมของเด็กนั้น เสริมแรงให้เด็กอยากใจดีหรือไม่ เช่น เด็กมาช่วย แล้วเราขอบคุณ มันเป็นการเสริมแรงให้เขาอยากทำต่อ แต่ถ้าเด็กมาช่วยแล้วเขาทำได้ไม่ดี และคุณไปดุเขา เขาจะรู้สึกว่างั้นไม่ช่วยละกัน เพราะการโดนดุทำให้เขาเข้าใจได้ว่าสิ่งที่เขาทำมันไม่ดีใช่ไหม มันคือการไม่เสริมแรงให้อยากทำ หรือลดการช่วยเหลือลง กลายเป็นว่าคุณทำให้เขาไม่เกิดความใจดี ดังนั้นสิ่งแวดล้อมจึงสำคัญ เพราะมีทั้งส่งเสริมและไม่ส่งเสริม”
สำหรับคนที่อาจยังค้นหาความใจดีทั้งหมดที่พูดมาไม่เจอ ในฐานะนักจิตวิทยา นีทแนะนำว่า เริ่มจากเราเข้าใจความรู้สึกตัวเองให้ได้ก่อน
“เราทุกคนมีความใจดี เริ่มต้นง่ายๆ คือเข้าใจความรู้สึกทั้งตัวเองและเพื่อนก่อน ว่าเขารู้สึกยังไง? เราพอจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง? แล้วลองแอ็กชั่นดูแบบสั้นๆ อาจจะเริ่มง่ายๆ ก่อนก็ได้ อย่างนั่งบีทีเอสเห็นคนชราเราลุกให้เขานั่ง นี่ก็คือความใจดีที่เราแสดงออกมา จริงๆ ความใจดีไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ ทำได้จากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และเอาที่เราไม่เดือนร้อนด้วยนะ”
สุดท้ายนี้นีทสรุปสั้นๆ ว่า “ความใจดีมันทำให้เรามีความสุขมากขึ้นด้วย เพราะเรารู้สึกว่ามีคนใจดีกับเรา โลกมันไม่ได้โหดร้ายกับเรามากเกินไป สิ่งๆ นี้คือสิ่งสำคัญที่เราว่ามันเพียงพอและมันจำเป็นสำหรับทุกคนในตอนนี้ เพราะในโลกที่ใจร้ายก็ยังมีคนใจดี มันก็อาจจะดูโลกสวยแหละ แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นข้อเท็จจริงที่อยากจะบอกทุกคน”
แค่เราใจดีกับตัวเองก่อน เราก็เพิ่มคนใจดีให้กับสังคมได้แล้วหนึ่งคน อย่าละเลยความใจดีกับตัวเองไปเลยนะ ในวันแย่ๆ ปลอบตัวเองก่อนว่า “แกไม่เป็นไรนะ” แล้วค่อยๆ หาทางออกให้กับปัญหาดีไหม