- หนทางรักษาเยียวยาบาดแผลในจิตใจ (Trauma) อาจไม่ใช่การพยายามไป ‘ลบ’ รอยแผลนั้น แต่หมายถึงการ ‘ยอมรับ’ บาดแผลนั้น ปล่อยให้มันคงอยู่ ปล่อยให้มันเตือนสติเราด้วยบทเรียนในอดีต เหมือนกับแนวคิด คินสึงิ (Kintsugi)
- คินสึงิ 【金継ぎ】 คือศิลปะการซ่อมแซมถ้วยชามภาชนะที่แตกบิ่นของชาวญี่ปุ่นโดยการผสานรอยแตกร้าวด้วยทองที่มอบความงามอันเป็น ‘เอกลักษณ์’ หนึ่งเดียวใบเดียวในโลก แต่ความงดงามแปลกตานี้จะเกิดขึ้นได้ การแตกหักแตกสลายต้องเกิดขึ้นก่อน
- ความสมบูรณ์แบบอาจเป็นเพียงแฟนตาซีในนิยายที่มีอยู่จริงแค่ในจินตนาการ ซึ่งในเมื่อความสมบูรณ์แบบไม่มีอยู่จริงในโลกของเรา ก็ควรมองความไม่สมบูรณ์แบบให้เป็นเรื่องปกติ และเป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์คนหนึ่ง
เรามักคิดว่าการเยียวยาบาดแผลในจิตใจ (Trauma) คือการพยายามไป ‘ลบ’ รอยแผลนั้นให้กลับมาสะอาดเนียนกริบเหมือนเดิม เสมือนถ้วยชามที่มีรอยร้าวต้องหาทางเคลือบมันให้กลับมาเงาวับ เสมือนแผลเป็นบนเรือนร่างที่ต้องรีบไปทำศัลยกรรมลบมันออกแม้แผลเป็นนั้นจะมีขนาดแค่เสี้ยวเดียวของร่างกายเราและต้องเพ่งเล็งมองเท่านั้นจึงจะเห็น
แต่ความจริงแล้ว หนทางรักษาเยียวยาใจอาจหมายถึงการ ‘ยอมรับ’ บาดแผลนั้น ปล่อยให้มันคงอยู่ ปล่อยให้มันเตือนสติเราด้วยบทเรียนในอดีต เหมือนที่แนวคิด คินสึงิ (Kintsugi) จากญี่ปุ่นบอกเรา
คินสึงิ – ความงดงามในความไม่สมบูรณ์แบบ
เดิมที คินสึงิ【金継ぎ】คือศิลปะการซ่อมแซมถ้วยชามภาชนะที่แตกบิ่นของชาวญี่ปุ่นที่มีประวัติศาสตร์สืบย้อนกลับไปได้นานกว่า 500 ปี
- คิน 【金】 แปลว่า ทอง
- สึงิ 【継ぎ】แปลว่า การแปะ, ติด, ต่อเข้าด้วยกัน
คินสึงิ จึงหมายถึงการปะติดปะต่อรอยร้าวของถ้วยชามด้วยทอง เป็นวิธีผสานรอยแตกร้าวให้ภาชนะนั้นให้กลับมามีฟังก์ชั่นใช้งานได้ใหม่ โดยนำยางไม้จากต้นอุรุชิของญี่ปุ่นมาผสมเข้าด้วยทอง ก่อนจะเชื่อมต่อไปยังรอยร้าวต่างๆ บนถ้วยชามภาชนะเพื่อยึดมันไว้ด้วยกันไม่ให้แตกร้าวไปมากกว่าเดิม
ทีนี้เมื่อกระบวนการซ่อมแซมเสร็จสิ้นลง เราจะพบเห็นรอยเส้นสีทองที่แตกกิ่งก้านแทรกซึมอยู่ทั่วจานชามภาชนะใบนั้น ซึ่งมันมอบ ‘เอกลักษณ์’ หนึ่งเดียวใบเดียวในโลก และความ ‘งดงาม’ แปลกตาที่ไม่สามารถสร้างสรรค์ได้ด้วยน้ำมือมนุษย์ (หรือเครื่องจักรในโรงงานปัจจุบัน) หากแต่ความงดงามแปลกตานี้จะเกิดขึ้นได้ การแตกหักแตกสลาย…ต้องเกิดขึ้นก่อน
แล้วศิลปะการซ่อมถ้วยชามภาชนะของญี่ปุ่นนี้…มาเกี่ยวอะไรกับการเยียวยาบาดแผลในจิตใจของคนเรา?
ทุกรอยร้าวคือเอกลักษณ์ ทุกบาดแผลคือบทเรียนชีวิต
การแตกหักแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน การซ่อมแต่ละครั้งจึงไม่เหมือนกัน เส้นสายสีทองอันงดงามที่ปรากฎจึงไม่เหมือนกันเลยสักใบ และรอยร้าวเหล่านั้นไม่มีแบบแผน (Pattern) นั่นหมายความว่า ทุกถ้วยชาม (หรือคนเราแต่ละคน) ย่อมมีเอกลักษณ์แตกต่างกันของใครของมัน
- 10 ถ้วย 10 รอย 10 ความต่าง
- 100 คน 100 บาดแผล 100 บทเรียนชีวิต
ทีนี้เมื่อผู้พบเห็นสัมผัสได้ถึงความงดงามแปลกใหม่ที่หาจากสิ่งอื่นไม่ได้ จึงเริ่มมีการเปรียบเปรยสะท้อนมายังปรัชญาการใช้ชีวิตของคนเรา พยายามเข้าใจความเปราะบางแตกหักและเซนซิทีฟของจิตใจมนุษย์เราที่เปราะบางแตกหักง่ายไม่ต่างจากถ้วยชามภาชนะเหล่านั้น แต่เราสามารถเลือกที่จะซ่อมแซมเยียวยาแผลในใจได้โดยไม่ต้องปิดซ่อนร่องรอยบาดแผล เพราะคนๆ หนึ่งที่มีร่องรอย ‘บาดแผลแห่งประสบการณ์ชีวิต’ อาจหมายถึงการได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า
เราไม่ได้เขวี้ยงถ้วยชามนั้นทิ้งแล้วไปผลิตหรือซื้อหาอันใหม่ แต่เลือกที่จะซ่อมแซมทำนุบำรุงมันขึ้นมาใหม่โดยที่รู้อยู่แก่ใจว่า มันจะ ‘ทิ้งร่องรอย’ แตกหักที่เป็นเส้นสายทั่วทั้งภาชนะ หรือก็คือ รู้ทั้งรู้ว่ามันจะไม่มีทางกลับมาสมบูรณ์แบบใหม่เอี่ยมเหมือนตอนแรก แต่ก็ยังลงมือซ่อมมันขึ้นมา
เราจะเห็นจุดแตกหักของชีวิตเกิดขึ้นเยอะแยะมากมาย แต่มันไม่ใช่ ‘จุดจบ’ ซะทีเดียว เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นและคงอยู่ก็เท่านั้น คินสึงิจึงเป็นการเยียวยาใจรูปแบบหนึ่ง เป็นการยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบและมองมันด้วยชื่นชมยินดีว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ได้เกิดขึ้น
เยียวยาแผลใจโดยไม่ต้องซ่อนรอยแผลเป็น
ถ้าเราวิ่งหกล้มเข่าแตกจนเลือดอาบ เราก็ควรรีบสมานแผลและพักฟื้นให้กลับมาเดินได้โดยเร็ว เมื่อเข่าดีขึ้น เราอาจพบว่ามันเกิดรอยแผลเป็นขึ้น แต่เราจะไม่ไปมองว่ามันน่าเกลียดหรือเป็น ‘ความผิดพลาดในชีวิต’ ที่เราดันสะเพร่าหกล้ม แต่มองมันอย่างเป็นกลางว่านี่แหล่ะคือ ‘ชีวิต’
ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า คินสึงิไม่ได้ปฏิเสธการ ‘แก้ปัญหา’ เพราะเมื่อเกิดรอยร้าวบนภาชนะ (เกิดปัญหา) ก็ต้องทำการเชื่อมมันด้วยทอง (แก้ปัญหา)
การแก้ปัญหาของแนวคิดคินสึงิไม่ใช่การโยนทิ้งและเปลี่ยนไปใช้ภาชนะใบใหม่ แต่เป็นการซ่อมแซมใบเดิมให้ดีจนกลับมาใช้งานใหม่ได้
และที่สำคัญ จะไม่ไป ‘ปิดบัง’ ภาชนะนั้นด้วยสิ่งห่อหุ้มใหม่เอี่ยมแต่อย่างใด หากแต่จะเปิดเผยร่องรอยการเชื่อมด้วยทองคำที่แตกกิ่งก้านไปทั่วภาชนะ
บัดนี้ ภาชนะใบเดิมยังคงอยู่ คินสึงิจึงเสมือนการ ‘ชุบชีวิต’ อดีตและปัจจุบันให้เชื่อมต่อกันและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ จากที่รังเกียจรอยแผลเป็นและอยากเมินหน้าหนีทุกครั้งที่เห็นมัน เราอาจพบภายหลังว่า ‘ขอบคุณนะที่เจ็บปวด’ เพราะมันทำให้เราเติบโตขึ้นทั้งทางธรรมและทางโลก
โอบรับความไม่สมบูรณ์แบบรอบตัวเรา
บางทีการยอมรับอดีตที่ล้มเหลวและโอบกอดความเจ็บปวดในใจ อาจนำไปสู่ความรู้สึกปล่อยวางและมีความสงบสุขในใจมากขึ้นได้ในที่สุด เพราะมันคือการมองโลกในความเป็นจริงที่สุดว่า เราคือ ‘มนุษย์’ ที่ไม่(มีวัน)สมบูรณ์แบบ
Oliver Burkeman ผู้เขียนหนังสือ Four Thousand Weeks: Time Management for Mortals อันโด่งดังบอกว่า มนุษย์เรามีเวลาและทรัพยากรที่จำกัด แม้ว่าเราอยากจะทำทุกอย่างให้ประสบความสำเร็จไปเสียหมด แต่สุดท้ายแล้วเราจะล้มเหลวเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ดี
และคงจะดีมากเลย ถ้าเรามีความใจกว้างยอมรับอดีตอันบกพร่องของผู้อื่นได้ไม่น้อยไปกว่าของตัวเอง และดียิ่งกว่าเมื่อเราพยายามทำให้คนอื่นมีความสุข มีงานวิจัยพบว่า มนุษย์เราจะยิ่งมีความสุขใจขึ้นไปอีกเป็นพิเศษเมื่อได้พยายามช่วยเหลือยกระดับให้คนอื่นมีความสุขตามไปด้วยนอกเหนือจากตัวเอง
ในเมื่อเราสามารถมองผู้อาวุโสที่ผิวพรรณใบหน้าเต็มไปด้วยรอยเหี่ยวย่นว่ามีความ ‘ภูมิฐาน’ เชิงรูปลักษณ์ ไฉนแล้ว เราจะมองรอยบาดแผลทางกายใจของคนเราว่าเป็นสิ่งงดงามน่า ‘ภูมิใจ’ ไม่ได้?
เรานำคินสึงิมาปรับใช้กับเรื่องราวในชีวิตได้อย่างไร?
คินสึงิสอดคล้องกับโลกปัจจุบันที่สิ่งแวดล้อมคือปัญหาใหญ่ระดับโลก แนวคิดคินสึงิมาช่วยเราตรงนี้โดยการ ‘ใช้ซ้ำ’ สิ่งของเดิมๆ ที่อาจเสื่อมสภาพไปบ้างแต่เราพยายามซ่อมแซมมันและใช้ต่อไปให้ได้นานที่สุด ช่วยทั้งสิ่งแวดล้อมและเซฟเงินในกระเป๋า
คินสึงิยังเชื่อมโยงไปถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคนอื่น ไม่ว่าจะครอบครัว เพื่อน หรือคนรัก เราต้องยอมรับความจริงว่ายิ่งความสัมพันธ์เนิ่นนานมากแค่ไหน ยิ่งมีโอกาสกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นธรรมดา แต่เราจะยังจับมือและสานสัมพันธ์กันต่อไปท่ามกลางรอยแผลระหว่างทางได้หรือไม่?
เราอาจเห็นต่างจนมีปากมีเสียงทะเลาะกันและพ่นคำพูดที่ทำร้ายจิตใจอีกฝ่าย แต่เราจะเดินไปขอโทษ ให้อภัยกัน และสานสัมพันธ์กันต่อไปได้หรือไม่?
ความสมบูรณ์แบบอาจเป็นเพียงแฟนตาซีในนิยายที่มีอยู่จริงแค่ในจินตนาการของพวกเรา มันเป็นความฝันที่เราอยากไปให้ถึงแม้จะรู้ว่าไม่มีทางเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง
ในเมื่อความสมบูรณ์แบบไม่มีอยู่จริงในโลกของเรา เราก็ควรมองความไม่สมบูรณ์แบบให้เป็นเรื่องปกติ? มองว่ามันก็เป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์คนหนึ่ง?
รายการอ้างอิง
Price, Amy. “Commentary: My Pandemic Grief and the Japanese Art of Kintsugi.” The BMJ, British Medical Journal Publishing Group, 10 Aug. 2021, https://www.bmj.com/content/374/bmj.n1906.
Titova, Liudmila, and Kennon M. Sheldon. “Happiness Comes from Trying to Make Others Feel Good, Rather than Oneself.” Taylor & Francis, https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/17439760.2021.1897867.