- บุคลิกตั้งแต่วิธีพูดไปจนถึงความนิ่งสงบสยบทุกสถานการณ์ของ ‘หมอเป้ง’ ในซีรีส์ รักฉุดใจนายฉุกเฉิน ถอดแบบมาจาก ‘หมอหนึ่ง’ แทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์
- หมอหนึ่ง – รศ.ดร.นพ.ไชยพร ยุกเซ็น หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คือ ผู้ริเริ่มและดูแลหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ ผลิตนักฉุกเฉินการแพทย์ หรือนายฉุกเฉิน
- มากกว่าตามรอยแต่นี่คือบทสัมภาษณ์เพื่อลงลึกคนในวง ER ซึ่งมีภารกิจสำคัญคือทำให้หัวใจทุกคนกลับมาเต้นแรง
เรื่อง: นลินี มาลีญากุล
ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
คำเตือน: บทความต่อไปนี้เหมาะสำหรับผู้อ่านทุกวัย ดูซีรีส์ รักฉุดใจนายฉุกเฉิน มาแล้วก็อ่านแบบอ๋อตามไปด้วยได้สบายๆ หรือหากใครยังไม่ได้ดู เรื่องราวทั้งหมดนี้ไม่ใกล้เคียงกับคำว่าสปอยล์ แต่อ่านแล้วอาจจะเข้าใจความนิ่งจนบางทีก็เหมือนคนไร้หัวใจของ ‘หมอเป้ง’ และอาจนำไปสู่ความอินกับตัวละครตั้งแต่อีพีแรกที่เริ่มดู |
ขึ้นต้นมาแบบนี้ แง่หนึ่งก็เหมือนการสปอยล์ไปแล้วล่ะ
แต่ถ้าเอ่ยถึง นักฉุกเฉินการแพทย์ (Paramedic) ไม่น้อยค่อนไปทางมาก หลายคนคงส่ายหน้า ไม่รู้จัก ลามไปถึงขั้นไม่เคยใช้บริการ ซึ่งเอาเถอะ ไม่เคยใช้บริการน่ะดีแล้ว
นักฉุกเฉินการแพทย์ ชื่อไม่คุ้นหูสำหรับคนไทย แต่ใกล้ตัวและสนิทใจกับผู้ป่วยรวมถึงญาติที่ประสบความฉุกเฉินทางร่างกายในทุกกรณี พูดให้เห็นภาพมากขึ้น พาราเมดิกคือหน่วยประคับประคองที่หากเกิดอุบัติเหตุ หรือเคสฉุกเฉินประมาณ หัวใจหยุดเต้น จับชีพจรแล้วไม่แน่ใจว่าคนตรงหน้าอยู่หรือไป หายใจลำบาก พาราเมดิกจะต้องเป็นหน่วยแรกที่ไปถึงความฉุกเฉินนั้นๆ เพื่อทำการปฐมพยาบาลให้ทุกอย่างลดระดับความฉุกเฉินลงมาบ้าง จากนั้นจึงนำตัวบุคคลฉุกเฉินนั้นส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาแบบฟูลออพชั่น
สิ่งที่ควรต้องเน้นแบบขีดเส้นใต้หลายๆ รอบคือ นี่ไม่ใช่การทำงานแบบ ไปหาตัวผู้ป่วย จากนั้นก็ช้อนตัวมาส่งโรงพยาบาลให้หมอคนอื่นดูแลเหมือนหลายเคสฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่พาราเมดิกจะอยู่ประเมินตั้งแต่สถานการณ์ในที่เกิดเหตุ ระหว่างนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล รวมถึงเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในห้วงเวลาแสนสั้นแต่ใจต้องนิ่ง เพราะพลาดนิดเดียวอาจเท่ากับชีวิตของคนหนึ่งคน
ที่แน่ๆ ชีวิตคนไม่ใช่เรื่องทดลอง ความรู้สึกของญาติที่รออยู่ก็เช่นกัน สี่ปีของการเรียน วิชาฉุกเฉินการแพทย์ ที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงไม่ใช่แค่ห้องสี่เหลี่ยมที่แค่สร้างบุคลากรทางการแพทย์ตามขนบ
เพราะทุกเหตุการณ์คือความฉุกเฉินที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตใครสักคน และเป็นห้วงเวลาเดียวกันกับที่พาราเมดิกอาจจะยื้อชีวิตของใครอีกสักคนไว้ไม่ได้ ไปพร้อมๆ กัน
และช่วยไม่ได้อีกว่า เรื่องความเป็นความตายที่ดูเป็นก้อนแสนหนักทั้งทางร่างกายและจิตใจนั้น พาราเมดิกจะต้องถูกเทรนให้ชินกับมันตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเท้าเข้าไปเรียน
“เวลาเราอยู่ใกล้แก หัวใจเรายังเต้นแรงเหมือนเดิมเลย”
จากที่เกริ่นมา นักฉุกเฉินการแพทย์ หรือ พาราเมดิก นั้น คือวิชาชีพที่สำคัญ จำเป็นต้องมี และหากดูซีรีส์หรือภาพยนตร์ต่างประเทศก็จะพอเห็นบุคคลเหล่านี้แวบๆ อยู่ในแทบทุกฉากสำคัญที่ขึ้นอยู่กับความเป็นความตายของคน
อาชีพพาราเมดิกที่ว่า หากย้อนประวัติศาสตร์กันจริงๆ แล้ว มีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรโรมัน แต่ถ้าย้อนไปถึงยุคนั้นก็น่าจะไกลจนจินตนาการอะไรไม่ออก
แต่ในสื่อกระแสหลักนั้น อาชีพพาราเมดิก เป็นที่รู้จักครั้งแรกจากซีรีส์ชื่อดังจากลอสแองเจอลิสอย่าง Emergency! ซึ่งฉายอยู่ในช่วงปี 1972-1979 เลยพอทำให้สันนิษฐานได้ว่า อาชีพนักฉุกเฉินการแพทย์ ก็น่าจะมีอยู่มาก่อนหรือเป็นที่รู้จักโดยคนทั่วไปในช่วงที่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากนี้
แต่กล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงในประเทศไทย หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ เพิ่งจะอนุมัติหลักสูตรและเปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมานี่เอง
ไม่ใช่ว่าไม่มีความสำคัญ แต่เพราะไม่เคยมีคนหยิบความสำคัญมาพูดถึง บวกลบกันแล้ว เราจึงเริ่มช้ากว่าประเทศอื่นเขาอยู่หลักหลายสิบปี
ส่วนจุดเริ่มต้นของอาชีพพาราเมดิกในไทย อาจเล่าเป็นจุดชี้วัดได้ยากสักหน่อย เพราะเอาเข้าจริงมันอาจย้อนไปเกือบ 20 ปีที่แล้ว ตั้งแต่นักเรียนมัธยมต้นคนหนึ่งกรอกแบบฟอร์มความฝันส่วนตัวไว้ว่า อยากไปเป็นแพทย์ข้างสนามให้กับทีมฟุตบอลที่ทำให้หัวใจของเขาเต้นแรงแต่สม่ำเสมออย่างลิเวอร์พูล
“ผมอยากเป็นหมอตั้งแต่อยู่ ม.ต้น แล้ว แต่ว่าความฝันสมัยนั้นไม่ได้อยากเป็นหมอโดยตรงเพื่อช่วยเหลือคนเจ็บ ตอนนั้นแค่คิดแบบเด็กที่ชอบเชียร์บอลคนหนึ่งเลยว่า เราเชียร์ลิเวอร์พูล คิดว่าตัวเองคงไม่มีความสามารถไปเป็นนักฟุตบอลแล้วไปเข้าทีมลิเวอร์พูลได้หรอก แต่วันหนึ่งได้ไปเห็นแพทย์สนามที่อยู่ประจำทีมฟุตบอลกำลังทำงาน นั่นเป็นแรงบันดาลใจจริงๆ ที่ทำให้อยากเรียนหมอ และคือความฝันในตอนนั้น”
หมอหนึ่ง หรือ รศ.ดร.นพ.ไชยพร ยุกเซ็น ตอบคำถามด้วยคำถามอีกรอบว่า “ผมถึงได้ถามว่าจะให้ตอบเรื่องจริงหรือเอาแบบสร้างภาพดี?” เพราะคำตอบข้างบนนั่นไม่น่าจะเป็นเหตุเกี่ยวข้องใดๆ กับการเป็นหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เริ่มพัฒนาหลักสูตรพาราเมดิก จนเริ่มมีคนรู้จักและให้การยอมรับในวิชาชีพ
นอกจากนั้น บุคลิกตั้งแต่วิธีพูดไปจนถึงความนิ่งสงบสยบทุกสถานการณ์ฉุกเฉินของ หมอเป้ง ในซีรีส์ รักฉุดใจนายฉุกเฉิน ที่รับบทโดย ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ ถอดแบบมาจากหมอหนึ่งแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์
“ผมเป็นคนมีแพสชั่นแรงมาก อยากทำอะไรก็จะพยายาม แล้วจะต้องทำให้ได้ แต่ทำให้ได้เนี่ย เริ่มมาจากการไปทีละสเต็ป วางแผนไว้ว่าถ้าอยากเป็นหมอ งั้นต้องเรียนสายวิทย์ไว้ก่อน ผมก็ต้องมาสอบเข้าสายวิทย์ที่โรงเรียนให้ได้ สเต็ปต่อไปก็คือพยายามสอบเข้าคณะแพทย์ให้ได้”
ส่วนการมาไกลจากความฝันแพทย์สนามให้ทีมฟุตบอลที่รัก จนมาเป็นอาจารย์แพทย์อย่างทุกวันนี้ได้ หมอหนึ่งบอกว่า มันเป็นความคิดที่เด็กแสนเด็ก
“แต่ว่ามันคือการกระทำที่ออกแบบมาจากความตั้งใจที่เกิดขึ้นตอนนั้นจริงๆ”
“คนมันจะตกหลุมรักอะ แค่นาทีเดียวมันก็ได้ปะ”
จากเด็กหลังห้อง เรียนบ้างไม่เรียนบ้าง มาสู่การตกหลุมรักในหน้าที่การงานและความหนักของวอร์ดฉุกเฉินอย่างถอนตัวไม่ขึ้นก็ตอนทำงานใช้ทุนตามขนบนักศึกษาแพทย์ หมอหนึ่งเล่าว่า ตอนแรกตั้งใจจะไปใช้ทุนประจำอยู่ที่โรงพยาบาลในจังหวัดตรังซึ่งเป็นบ้านเกิด แต่การจับฉลากไม่ได้เป็นทักษะที่ถูกเทรนมาจากโรงเรียนแพทย์ หลังพ่ายแพ้ให้คะแนนจับฉลาก ลำดับต่อไปคืออย่าเซ็งนาน จากนั้นก็ค้นหาโรงพยาบาลที่ยังว่าง สุดท้ายหมอหนึ่งก็ได้เป็นหมอใช้ทุนอยู่ในโรงพยาบาลที่ขึ้นชื่อว่าโหดระดับมีคนยิงแทงกันทุกวัน
ที่โรงพยาบาลแห่งนี้ หมอหนึ่งจำเป็นต้องเลิกถือตำราการแพทย์ เพราะสถานการณ์ความบาดเจ็บที่ไหลเวียนอยู่ในโรงพยาบาลไม่อนุญาตให้หมอเปิดหนังสือไปรักษาไป จากความรับผิดชอบที่เอาแค่เรียนให้ตัวเองจบๆ ไป ก็เลยกลายมาเป็นหมอที่ใครๆ ก็เรียกหา ไม่ใช่แค่ความแม่นยำในการรักษา แต่เพราะเขาบ้างานหนักชนิดหนักมากต่างหาก
“ตั้งแต่มาอยู่นครศรีธรรมราช ผมเปลี่ยนเป็นอีกคนหนึ่งเลย ปกติหมอจะใช้ทุนกันสามปี วนๆ ไปทุกแผนก พอปีสองก็จะเลือกวอร์ดที่อยากทำงานได้ ก็เลยไปอยู่แผนกศัลยกรรมในปีที่สองและปีที่สาม มันก็ผ่าตัดได้พอสมควร”
แต่ทำอย่างไรได้ เมื่อความมั่นใจสวนทางกับผลการรักษา เก่งมาจากไหนก็อาจจะแพ้โมงยามสั้นๆ ของความผิดหวังในตัวเองกันได้ทั้งนั้น
“ตอนนั้นเป็นหมอศัลยกรรมที่คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว ดูแลเคสหนักๆ ได้ ทำทุกอย่าง ผ่าตัดอะไรได้หมด ตอนนั้นอยู่โรงพยาบาลเนี่ย เวลาใครมีปัญหาอะไรทั้งโรงพยาบาลจะโทรหาให้ผมมาช่วยดูหน่อย คนไข้ไม่ดี คนไข้แย่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แล้ววันนั้นเป็นวันที่ผมอยู่เวรห้องฉุกเฉิน มีคุณป้าคนหนึ่งเข้ามาใน ER (Emergency Room หรือห้องฉุกเฉิน) ป้าเขาใจสั่นมาก คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ แล้วความที่ตอนนั้นเราคิดว่าเราเก่ง เพราะทุกคนในโรงพยาบาลโทรหาเราหมดเลย แต่ที่จริงเราเก่งแค่บางเรื่อง เจอป้าคนนี้เข้าไปก็รักษาไม่หาย ให้ยาไม่ถูก จนป้าความดันต่ำ อาการก็แย่ลง แต่ว่าไม่ได้เสียชีวิตนะครับ…”
ให้นับเหตุการณ์ข้างต้นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของแพทย์หนุ่ม-หมอหนึ่งสรุปชีวิตไว้ประมาณนี้ เพราะจากวันนั้น เขาก็ค่อยๆ ทำความสามารถของตัวเองให้สูงเท่าความมั่นใจ และพัฒนามันให้ไปด้วยกันได้แบบกราฟที่แปรผันตรงกัน
“วันนั้นผมก็เลยมาคิดแค่ว่า ความเก่งที่เรามั่นใจใช้อะไรในนี้ไม่ได้เลย รู้สึกแย่มากที่เรารักษาคนไข้คนนี้ไม่ได้ มานั่งคิดว่าถ้าเปลี่ยนเป็นหมอคนอื่นรักษา เป็นอาจารย์ที่เก่งจริงๆ มาดูแลป้า เขาอาจจะรักษาได้เร็วขึ้น ตั้งแต่วันนั้นมาเลยอยากเป็นหมอที่ยืนอยู่ในห้องฉุกเฉินด้วยความมั่นใจ แล้วทุกคนที่เข้ามาในวอร์ดจะต้องดีขึ้น ถ้าแย่ลงก็ต้องเป็นเพราะเงื่อนไขอื่นที่นอกเหนือจากการรักษาของเรา นั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผมเลือกเรียน ER”
จะว่าไปนี่ก็ไม่อาจเรียกว่าอาการตกหลุมรัก แต่คือการไม่จมกับความผิดพลาดนานจนเสียงาน ก่อนจะพัฒนามันเป็นความชำนาญทางอาชีพ และพลังในการผลักดันให้การแพทย์ฉุกเฉินมีความรอบคอบและเข้าถึงคนทั่วไปได้มากกว่าเดิม
“ถ้ามี 1 เปอร์เซ็นต์ ที่พี่จะรอด พี่ก็มั่นใจให้มันอยู่ในมือแกนะ”
เมื่อตั้งหลักแล้วว่าหมอฉุกเฉินคือการงานพื้นฐานอาชีพต่อจากนี้ หมอหนึ่งจึงเลือกเรียนต่อเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินอีกสามปีที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แต่ก่อนจะได้เรียนนั้น เรื่องที่หมอหนึ่งพูดว่าคงเป็นโชคชะตา ซึ่งเราไม่คิดมาก่อนว่าคำที่ดูไม่มีวิทยาศาสตร์รองรับอย่างคำนี้ จะหลุดออกมาจากอาจารย์แพทย์ที่ไม่ได้นิ่งแค่มาดคนนี้
แต่เมื่อไม่รู้จะอธิบายความสอดคล้องของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างไร จะเรียกมันว่าโชคชะตา ก็ไม่น่าผิด
ตัดภาพมาที่วันเดินทางไปสัมภาษณ์เข้าเป็นนักเรียนแพทย์เฉพาะทางที่โรงเรียนแพทย์ถึงสี่แห่งในกรุงเทพฯ เหตุการณ์วันนั้นคือ สามที่แรกไม่สปาร์คจอย จนมาถึงโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่เขาบอกตัวเองว่าอย่างไรก็จะเรียนและเป็นหมอที่นี่ให้ได้ และสุดท้าย เมื่อการงานปรากฏรูปเป็นความรัก หมอหนึ่งจึงไม่ได้เรียนต่อแค่ศาสตร์เฉพาะทาง แต่คือการได้อยู่ทำงานและเป็นอาจารย์แพทย์ที่นี่ต่อไป
และที่เกริ่นมายาวอย่างนี้ ก็เพื่อจะบอกว่า เรื่องราวทั้งหมดคือจุดเริ่มต้นของ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ ที่หมอหนึ่งเป็นผู้ดูแลหลักสูตรเอง สอนเอง และเป็นเหมือนอาจารย์ พี่ชาย และเพื่อนของนักศึกษาไปด้วยในคราวเดียวกัน
“ทั่วประเทศมีหมอฉุกเฉินอยู่เกือบทุกที่แล้ว แต่ที่ยังไม่ใช่ก็คือ เวลาเกิดเหตุอะไรที่บ้านเรา เช่น หัวใจหยุดเต้นหรือหลอดเลือดในสมองแตก คนไทยต้องพยายามเอาตัวมาให้ถึงโรงพยาบาลก่อน โดยขับรถมาให้เร็วที่สุด ให้คนพามา นั่งรถกระบะมา หรือบางคนเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาก็มี สมมุติว่าคนไข้ทุกคนประคับประคองตัวเองได้ก็ดี เพราะถือว่าไม่วิกฤตินัก แต่ถ้าไปดูที่ต่างประเทศจริงๆ มันไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะเขาจะเอาทีมแพทย์ฉุกเฉินไปดูคุณถึงที่บ้านเลย แต่ไทยเรายังต้องเอาตัวเองมาหาหมอฉุกเฉินให้ได้”
จะว่าเลียนแบบต่างประเทศก็ไม่ว่ากัน เพราะถ้าทำแล้วดีต่อคุณภาพชีวิตคนบ้านเรา คำถามคือ ทำไมถึงจะไม่ทำ?
“พอเป็นอาจารย์ได้สักสองปี ผมเลยบอกว่า การแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทยควรมีทีมที่ออกไปดูแลคนไข้ที่บ้าน ควรมีรถฉุกเฉินที่มีคุณภาพ มีบุคลากรที่มีคุณภาพ นั่นจึงเป็นที่มาของหลักสูตรวิชาฉุกเฉินทางการแพทย์ คือต้องมีเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถออกไปกับรถฉุกเฉินเพื่อไปหาคนไข้ที่บ้านก่อน ประคับประคองชีวิตก่อน แล้วส่งต่อมาให้ห้องฉุกเฉิน นี่คือสิ่งที่ผมอยากทำ”
ดูเป็นแพสชั่นที่เกินเลยความฝันชั้น ม.ต้น ไปไกลมาก แค่อยากเป็นแค่แพทย์สนามให้ทีมฟุตบอลที่รัก แต่หมอหนึ่งยืนยันว่าทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะความฝันมันเปลี่ยนกันได้ตามอายุที่มากขึ้น เพียงแต่ว่าแกนหลักของสิ่งที่อยากทำยังเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือความรับผิดชอบ
เพราะเกือบทุกเคสฉุกเฉินในประเทศไทย สาเหตุการตายลึกๆ แล้วน่าจะเพราะการแพทย์ฉุกเฉินเข้าไปถึงในเวลาที่ช้าเกินไป หรือไปถึงแล้วไม่มีองค์ความรู้ในการดูแลที่ดีพอจนบางครั้งกลับทำให้คนไข้อาการแย่กว่าเดิม ในเมื่อหมอฉุกเฉินในโรงพยาบาลแข็งแกร่งพอแล้ว ถ้างั้นหมอหนึ่งขอขยับไปทำทีมที่ออกไปช่วยคนไข้นอกโรงพยาบาลให้เข้มแข็งขึ้นก็แล้วกัน
เขาพูดติดตลกถึงความทุ่มเทในช่วงที่ผ่านมานี้ ก่อนปล่อยให้การลงมือทำหลังจากนั้นพิสูจน์ความตั้งใจอีกที
“เพราะเป้าหมายอย่างเดียวของผมคือ การแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทยต้องพัฒนาขึ้น”
และทีมนักฉุกเฉินการแพทย์จะต้องเป็นคนทำงานที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อยู่กับเคสฉุกเฉินอะไร ก็ต้องได้รับความไว้วางใจทั้งจากบุคลากรทางการแพทย์ด้วยกัน รวมไปถึงคนไข้และญาติที่ไม่ได้ต้องการแค่การพึ่งพาทางกาย แต่รวมถึงมิติด้านจิตใจอีกมหาศาล
ฟังดูเหมือนหน้าที่ของการเป็นหมอนั้นแสนจะยิ่งใหญ่และตัวโตมาก หมอหนึ่งจึงย้ำว่าหมอไม่ได้ใหญ่หรือแสนดีอะไรขนาดนั้น มีคนไข้เสียชีวิตคามือมาแล้วไม่รู้กี่ราย ผิดพลาดและทำญาติเสียน้ำตามาแล้วก็หลายหน แต่จุดยืนและเป้าหมายในการทำงานเป็นเรื่องที่ต้องย้ำกันให้ชัด ไม่เช่นนั้นทีมแพทย์เองนี่แหละที่จะเป๋
ส่วนประโยคจากคมๆ จากซีรีส์ รักฉุดใจนายฉุกเฉิน ที่หมอเป้งหรือซันนี่พูดประมาณว่า คนไข้ที่เข้ามามีโอกาสอยู่ 0 เปอร์เซ็นต์ แต่หมอทำให้มันเพิ่มเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายถึงโอกาสรอดชีวิตของเขานั้น มาจากเคสที่นักฉุกเฉินการแพทย์ต้องการปั๊มหัวใจ แม้คนไข้จะเสียชีวิตมานานพอสมควรแล้ว แต่เมื่อนักศึกษาแพทย์คนหนึ่งเอ่ยถามอาจารย์อย่างเขาว่าควรทำยังไงต่อ หมอหนึ่งจึงตอบแบบคิดมาถี่ถ้วนแล้วว่า
“ควรให้เวลาอีกหน่อยไหม ปั๊มเพิ่มสัก 5-10 นาที ดูว่าเขาจะตอบสนองไหม อย่างน้อยที่ทำอยู่นี่ก็ไม่ได้เป็นเปอร์เซ็นต์ที่ศูนย์ แต่ถ้าหยุดปั๊มตอนนี้เลยก็เท่ากับศูนย์นะ”
แต่ถ้าหลังจากนั้นยังช่วยชีวิตคนตรงหน้าไว้ไม่ได้ ก็อย่าฟูมฟาย เพราะยังมีคนไข้ฉุกเฉินอีกหลายเตียงรอพวกเขาอยู่
“คนไข้เขาไม่มีสิทธิเลือกหมอ พวกคุณต้องเป็นหมอที่ดีที่สุดให้คนไข้”
นี่ก็ไม่ใช่ประโยคที่คนเขียนบทเขียนให้หมอฉุกเฉินทั้งหลายดูเท่ไปเฉยๆ เท่านั้น เพราะมันออกมาจากปากของหมอหนึ่ง ซึ่งถูกเล่าต่อให้ฟังโดย โอ๊ต-สรวิชญ์ วัชรกิจไพศาล และ แจ้-ธนากร ลักษณะมาพันธ์ นักศึกษาฉุกเฉินการแพทย์ในความดูแลของหมอหนึ่งอีกที
เรียกว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นก็ได้ เพราะสำหรับนักศึกษาทั้งสอง ความมุ่งมั่น ตั้งใจ และทุ่มเทให้วิชาชีพนั้นไม่มีอะไรผิดแปลกไปจากหมอหนึ่ง แถมบางทีแพสชั่นเรื่องการพัฒนาบุคลากรด้านการฉุกเฉินการแพทย์นั้น อาจจะเห็นได้ชัดกว่าคำบอกเล่าของหมอหนึ่งเสียอีก
เพราะดวงตาของพวกเขาทั้งสองแข่งกันวิบวับเวลาเล่าถึงทุกประสบการณ์ในหน้าที่การงาน แถมไฟฝันของเด็กหนุ่ม มันช่วยสร้างเสริมความทะเยอทะยานทางวิชาชีพและเผื่อแผ่ออกมาถึงคนอื่นได้เป็นอย่างดี
“ด้วยความที่ความรู้ทางการแพทย์มันเปลี่ยนทุกวัน สิ่งสำคัญที่ได้จากอาจารย์ก็คือ เราต้องทบทวนตัวเองทุกวัน เพราะพรุ่งนี้ตื่นมามันอาจจะเปลี่ยนเป็นอีกเรื่องแล้วก็ได้ ถ้าเกิดข้อสงสัยอะไรในเคสที่ทำงานอยู่ก็ต้องกลับไปค้น ไปหา ไปอ่าน”
“เพราะคนไข้เขาไม่มีสิทธิเลือกหมอเลย เราจึงต้องเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในคนไข้ให้ได้ ถ้าวันนี้เราทำพลาด วันหน้าเราจะได้ไม่เป็นแบบเดิมอีก จะต้องไม่มีใครรักษาไม่หาย หรือตายด้วยเรื่องเดิมๆ ที่เราเคยทำพลาดมาแล้ว”
นั่งฟังโอ๊ต นักฉุกเฉินการแพทย์พูดมาอย่างข้างต้นก็ใจฟู เพราะตลอดหลายสิบนาทีตรงหน้ากับโอ๊ตคือความมั่นใจที่พูดออกมาแล้วดูเหมือนไร้เดียงสา ทว่าหนักแน่นในน้ำเสียง
แต่อิหยังๆ อยู่เหมือนกันใช่ไหม เพราะชื่ออาชีพที่ว่า ‘นักฉุกเฉินการแพทย์’ มันยาวจนขี้เกียจเรียกให้จบ ครั้นจะย่อให้สั้นก็ไม่รู้จะย่อยังไง จะเรียกว่าหมอก็ไม่ได้ เพราะพวกเขายืนยันว่า เป็นนักศึกษาฉุกเฉินการแพทย์ ที่ทำงานเป็นตรงกลางของหมอและพยาบาล แถมมีข้อกำหนดชัดเจนว่า นักฉุกเฉินการแพทย์ทำอะไรได้บ้าง และส่วนไหนคือหน้าที่ที่ต้องส่งต่อให้หมอดูแล
“ถ้าตอบให้เข้าใจสั้นๆ ผมจะบอกว่าผมเป็นแพทย์ฉุกเฉินที่ดูแลคนไข้นอกโรงพยาบาล แต่ถามว่าน้อยใจไหม ก็อาจจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่ถามว่าผมจะนิยามตัวเองสั้นๆ ยังไงได้บ้าง ก็ยาก จะเรียกว่าหมอ ก็ไม่ใช่หมอ แล้วจะเรียกว่าอะไรดี สิ่งที่อยากทำคือน่าจะต้องประชาสัมพันธ์หรือทำกิจกรรมอะไรให้เขาเห็นภาพอาชีพของเรามากขึ้น คำนิยามสั้นๆ มันคงตามมาหลังจากนั้น”
ข้างต้นคือการพยายามชวน ‘แจ้’ นักศึกษาฉุกเฉินการแพทย์ มาทบทวนนิยามและที่ทางของตน แม้ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปว่าต่อไปนี้เราควรเรียกพาราเมดิกอย่างพวกเขาว่าอะไรที่เข้าใจง่ายเหมือนหมอและพยาบาลดี เพราะที่ผ่านมาแจ้ก็เคยเจอเหตุการณ์กระอักกระอ่วนอย่างสายตาที่ไม่ไว้ใจจากญาติคนไข้ ที่เขานั่งรถฉุกเฉินไปประคับประคองอาการถึงบ้านเมื่อสักพักที่ผ่านมา
“ก็บอกเขาไม่ได้เหมือนกันว่าเราเป็นอะไร แต่ตอนนั้นไม่ได้สนใจอะไรมาก คนไข้ตรงหน้าต้องดีขึ้นก่อน ก็เลยบอกญาติไปว่า เดี๋ยวผมอธิบาย (ว่าผมทำงานอะไร) แต่ขอทำงานก่อนนะ”
เพราะอย่างที่หมอหนึ่ง อาจารย์ของพวกเขาบอก ไม่ว่าจะสถานการณ์ไหน พวกเขาก็ต้องเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้ ต่อให้คนจะเข้าใจหรือเรียก ‘นักฉุกเฉินการแพทย์’ ว่าอย่างไรก็ตาม