- บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ‘เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ’ ตอนที่ ๗. ลัทธิบูชาผลงาน โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช
- ลัทธิบูชาผลงาน ผลักดันให้ครูกลายเป็นผู้ส่งมอบผลงานตามหลักสูตร และผลิตสถิติแสดงผลงาน แทนที่จะทำหน้าที่เป็นผู้พัฒนาหลักสูตร เป็นครูที่รับผิดชอบ และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เท่ากับลัทธิบูชาผลงานสร้างความเสื่อมให้แก่วิชาชีพครู
- ระบบการศึกษารับเอาลัทธิบูชาผลงาน (performativity) ไปจากการบริหารงานภาครัฐ ซึ่งรับไปจากวงการธุรกิจอีกต่อหนึ่ง ตามแนวทางการจัดการสมัยใหม่ ของลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) หรือทุนนิยม
บันทึกชุด เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ นี้ ตีความ (ไม่ใช่แปล) จากหนังสือ Teacher Agency : An Ecological Approach (2015) เพื่อหนุนการดำเนินการหลักสูตรฐานสมรรถนะของไทย ให้เป็นหลักสูตรที่มีครูเป็น “ผู้ร่วมสร้าง” (co-creator) โดยขอย้ำว่า ผมเขียนบันทึกชุดนี้แบบตีความสุดๆ ในหลายส่วนได้เสนอมุมมองของตนเองลงไปด้วย ท่านผู้อ่านจึงพึงอ่านอย่างมีวิจารณญาณ อย่าเชื่อโดยง่าย
บันทึกที่ ๗ นี้ ตีความจากบทที่ 5 Performativity and Teacher Agency
ระบบการศึกษารับเอาลัทธิบูชาผลงาน (performativity) ไปจากการบริหารงานภาครัฐ ซึ่งรับไปจากวงการธุรกิจอีกต่อหนึ่ง ตามแนวทางการจัดการสมัยใหม่ ของลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) หรือทุนนิยม ที่เน้นผลประกอบการเหนือสิ่งอื่นใด ลัทธินี้ให้คุณค่าต่อเรื่อง ความคุ้มค่าเงิน กลไกตลาด ความรับผิดรับชอบ (accountability) และความเป็นอิสระของโรงเรียน เท่ากับเกิดการเปลี่ยนพลังอำนาจจากโรงเรียนมีอำนาจภายในตน ไปสู่หน่วยงานภายนอกมีอำนาจเหนือโรงเรียน โรงเรียนต้องทำตามแนวทางที่หน่วยงานภายนอกกำหนด
บันทึกตอนนี้มุ่งทำความเข้าใจว่าลัทธิบูชาผลงานส่งผลต่อความเป็นผู้ก่อการของครูอย่างไร โดยศาสตราจารย์ Mark Priestley ผู้เขียนหนังสือ Teacher Agency อธิบายว่า ลัทธิบูชาผลงานน่าจะมีผลต่อ พลังที่มีอิทธิพลต่อความเป็นผู้ก่อการของครูทั้ง ๓ มิติ คือ (๑) พลังแห่งอดีต หรือการสั่งสมประสบการณ์และการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานที่ผ่านมาของครู (iterational dimension) ดังผลงานวิจัยที่บอกว่าครูที่คุ้นเคยกับระบบหลักสูตรเก่า (หลักสูตรแห่งชาติ ๕ – ๑๔ ที่เน้นการทดสอบผลลัพธ์การเรียนรู้ด้วยการทดสอบมาตรฐาน เมื่อเปลี่ยนมาใช้หลักสูตรใหม่ – Curriculum for Excellence – ที่ให้ความเป็นอิสระมากกว่า ครูเหล่านั้นยังคงปฏิบัติตามแบบเดิม) (๒) พลังแห่งปัจจุบัน หรือการตัดสินใจลงมือปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติของครู ณ จุดของการดำเนินการ (practical – evaluative dimension) ในสภาพที่โรงเรียนถูกกำหนดผลงานจากภายนอก การตัดสินใจขึ้นกับปัจจัยภายนอก ไม่ขึ้นอยู่กับครู และ (๓) พลังจากอนาคต หรือการมองหรือคาดการณ์ไปในอนาคตของครู (projective dimension) ซึ่งหมายถึงความหมายของโรงเรียน ว่าโรงเรียนมีไว้เพื่ออะไร คือถูกลดทอนลงเป็นเพียงเพื่อทำงานให้ได้ผลงานตามที่มีผู้กำหนดให้ทำ ทำให้ครูเพียงแค่สอนเพื่อสอบ และบางครั้งครูก็โกงผลงานเอาดื้อๆ
เท่ากับลัทธิบูชาผลงาน สร้างนิสัยขี้โกง หรือไม่สุจริตให้แก่ครู ยิ่งมีการตรวจสอบติดตามผลมาก ครูยิ่งเชี่ยวชาญการโกง
เขาบอกว่าลัทธิบูชาผลงานของอังกฤษกับของสก็อตแลนด์ต่างกัน ของอังกฤษเน้นกลไกตลาดและการกระจายอำนาจ ส่วนของสก็อตแลนด์เน้นโครงสร้างบังคับบัญชาเป็นชั้นๆ แต่ไม่เคร่งครัดเรื่องความรับผิดรับชอบ แปลกมากที่ลัทธิบูชาผลงานถูกวิพากษ์วิจารณ์มากในวงการวิชาการของต่างประเทศ แต่ไม่มีการยกขึ้นมาถกเถียงเลยในประเทศไทย วงการวิชาการไทยยอมสยบต่ออำนาจเหนืออย่างไม่ตั้งข้อสงสัยในเรื่องผลดีหรือผลร้ายต่อสังคมภาพรวม
ลัทธิบูชาผลงาน, วิชาชีพ, และความเป็นผู้ก่อการ
มีผู้เขียนรายงานทางวิชาการตีพิมพ์ไว้ตั้ง ๒๐ ปีมาแล้ว (Michael Apple, 2001) ว่า ระบบโรงเรียนทั่วโลกได้เปลี่ยนจุดเน้น จากมุ่งสนองความจำเป็นของเด็ก ไปมุ่งสร้างผลลัพธ์การเรียนรู้ และจากการที่โรงเรียนทำเพื่อเด็ก กลายเป็นเด็กทำเพื่อโรงเรียน สะท้อนวัฒนธรรมหรือลัทธิบูชาผลงาน ผมอ่านหนังสือตอนนี้แล้วสะท้อนคิดว่า สภาพนี้เป็นจริงสำหรับระบบการศึกษาไทยด้วย สภาพดังกล่าวบีบบังคับให้ครูต้องหาทางทำให้นักเรียนทำเกรดให้สูงเพื่อรักษาชื่อเสียงของโรงเรียน ซึ่งในสภาพไทยผมคิดว่า โรงเรียนที่ผลการเรียนต่ำ ใช้วิธีสร้างชื่อเสียงโดยฝึกให้นักเรียนเก่งๆ สองสามคน ไปแข่งขันชิงรางวัลชนะเลิศในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เอาไว้ประชาสัมพันธ์
ลัทธิบูชาผลงาน ผลักดันให้ครูกลายเป็นผู้ส่งมอบผลงานตามหลักสูตร และผลิตสถิติแสดงผลงาน แทนที่จะทำหน้าที่เป็นผู้พัฒนาหลักสูตร เป็นครูที่รับผิดชอบ และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เท่ากับลัทธิบูชาผลงานสร้างความเสื่อมให้แก่วิชาชีพครู มีส่วนผลักดันให้ครูจำนวนหนึ่งเป็นนักเล่นเกม คือเล่นเกมผลงาน ที่เป็นผลงานหลอกๆ ไม่ใช่ผลงานที่เป็นคุณค่าแท้จริงของครูและการศึกษา ส่งผลต่อเนื่องให้ครูรู้สึกไม่มั่นใจตนเอง หวั่นไหวในคุณค่าของตนเอง และเล่นเกมคุณค่าหลอกๆ ของตนเองและการศึกษา และที่ร้ายคือในบางกรณีนำไปสู่ความไม่ซื่อสัตย์ในการแสดงผลงานของตน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่หนังสือ Teacher Agency ออกเผยแพร่ มีกระแสใหม่เกิดขึ้น คือกระแสวิชาชีพนิยม (professionalism) ในวงการนโยบายสาธารณะ เน้นบทบาทของผู้ประกอบวิชาชีพในการดำเนินการนโยบายสาธารณะ ดังกรณีที่หลักสูตร Curriculum for Excellence ต้องการให้ครูทำหน้าที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร
ลัทธิบูชาผลงานเน้นควบคุมผลลัพธ์ (output regulation) ของการปฏิบัติงาน โดยที่หลักสูตร National Curriculum (1989) ของอังกฤษเน้นควบคุมปัจจัยนำเข้า (input regulation) เขาบอกว่าการควบคุมผลลัพธ์มีผลลดทอนความเป็นอิสระของครูมากกว่าการควบคุมปัจจัยนำเข้า จึงน่าสนใจมากว่าเมื่อลัทธิบูชาผลงานบรรจบกับนโยบายให้ครูแสดงความเป็นผู้ก่อการ จะเกิดอะไรขึ้น
วิชาชีพนิยม (professionalism) หมายถึง สภาพที่ผู้ประกอบวิชาชีพควบคุมการปฏิบัติงานของตนเอง มากกว่าควบคุมโดยผู้บริโภคในตลาด หรือโดยหน่วยงานกลางของรัฐหรือบริษัท ซึ่งสภาพจริงในปัจจุบันไม่มีวิชาชีพนิยมแบบสุดขั้วดังกล่าว แต่ต้องมีสมดุลระหว่าง ๔ ฝ่ายคือ วงการวิชาชีพ ผู้ใช้บริการ รัฐ และนายจ้าง โดยที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ๔ ฝ่ายนี้ มีพลวัตอยู่ตลอดเวลา
ในสก็อตแลนด์ วิชาชีพครูถือเป็นแนวหน้าของการปฏิรูปบริการภาครัฐ โดยรัฐบาลระบุนโยบายว่า “เป็นบริการที่สนองความต้องการของบุคคลและชุมชน เน้นพัฒนาผลลัพธ์ และต้องคำนึงถึงข้อจำกัดของงบประมาณ” สะท้อนว่า ครูต้องทำหน้าที่ตัดสินใจในสถานการณ์ที่ซับซ้อนของมนุษย์ ซึ่งก็คือต้องใช้ความเป็นครูผู้ก่อการนั่นเอง
ซึ่งหมายความว่า ครูต้องทำหน้าที่ตัดสินใจในสถานการณ์แวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อความเป็นตัวของตัวเองของครู เพราะระบบรัฐดำเนินตามแนวเสรีนิยมใหม่ ผู้ใช้บริการกลายเป็นลูกค้า และรัฐเปลี่ยนบทบาทจากผู้ให้บริการไปเป็นผู้กำกับหรือตรวจสอบ และควบคุมคุณภาพ รวมทั้งระบบรับผิดรับชอบก็เปลี่ยนไป ครูอยู่ในสภาพที่ถูกกำกับโดยปัจจัยภายนอกหลากหลายมิติ กำกับปัจจัยนำเข้าโดยหลักสูตรที่กำหนดรายละเอียดยิบ กำกับผลลัพธ์โดยมีเป้าให้ต้องบรรลุ มีการตรวจสอบโดยศึกษานิเทศก์ รวมทั้งต้องเข้ารับการพัฒนาทักษะวิชาชีพ
บรรยากาศเปลี่ยนจาก การทำงานแบบเป็นหุ้นส่วน เป็นเพื่อนร่วมงาน มีสิทธิใช้ดุลยพินิจ และได้รับความไว้วางใจ ไปเป็นระบบการจัดการ ระบบราชการ กำกับมาตรฐาน ประเมิน และทบทวนผลงาน ซึ่งเป็นระบบนิเวศของลัทธิบูชาผลงาน ซึ่งลิดรอนความเป็นตัวของตัวเอง หรือความเป็นผู้ก่อการ ของครู
มีผู้เสนอว่า ลัทธิบูชาผลงานในโรงเรียน ประกอบด้วย ๓ ส่วนที่ถักทอเข้าด้วยกันคือ (๑) วัฒนธรรมกำหนดเป้าและตรวจสอบ โดยใช้ตัวเลขสถิติ (๒) เน้นกลไกตรวจสอบการดำเนินการ (๓) เน้นกลไกตลาด โดยเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ปกครองนักเรียนเลือกโรงเรียนให้บุตรหลานได้
ในลัทธิบูชาผลงาน เครื่องมือสำคัญคือตัวชี้วัดผลงาน ซึ่งในที่สุดกลายเป็นเป้าหมายไปโดยปริยาย ทำให้คุณค่าของการศึกษาถูกลดทอนลงไป กลายเป็นครูและโรงเรียนทำงานเพื่อตัวชี้วัด ไม่ได้ทำเพื่อนักเรียน คุณค่าส่วนไหนที่ไม่มีในตัวชี้วัดนักเรียนก็มีแนวโน้มจะไม่ได้รับ ลัทธิบูชาผลงานจึงเป็นมายาที่ทำให้เกิดการหลงผิด หลงยึดสิ่งที่เป็นเครื่องมือ (means) คือตัวชี้วัดผลงาน ว่าเป็นเป้าหมาย (end) โดยที่เป้าหมายแท้จริงมีความซับซ้อน และมีส่วนที่เป็นนามธรรม ตัวชี้วัดลดทอนลงเหลือเฉพาะเป้าหมายรูปธรรมที่วัดได้ง่าย กิจการที่มีคุณค่าสูงส่งอย่างการศึกษา จึงถูกลัทธิบูชาผลงานลดทอนคุณค่าลงไป ครูก็ถูกทำให้กลายเป็นเครื่องจักรผลิตผลงานตามตัวชี้วัด อย่างไร้จิตวิญญาณ
ผมขอเสนอว่า ข้อวิเคราะห์ด้านลบในย่อหน้าบน น่าจะเป็นเครื่องเตือนสติครูและบุคลากรการศึกษาไทย ให้ไม่หลงถูกครอบงำโดยลัทธิบูชาผลงาน ครูต้องมีสติปัญญาในลักษณะ “เหมือนลิ้นงูอยู่ในปากงูโดยไม่ได้รับอันตรายจากเขี้ยวงูและพิษงู” หากครูรู้เท่าทัน ก็จะสามารถดำรงความเป็นผู้ก่อการได้ แม้ในระบบนิเวศของลัทธิบูชาผลงาน แต่ในภาพรวม ย่อมหนีไม่พ้นที่ลัทธิบูชาผลงานจะลดทอนความเป็นผู้ก่อการของครู
ที่จริงหนังสือ Teacher Agency ยังสื่อสารความชั่วร้ายของลัทธิบูชาผลงานอีกมาก แต่ผมคิดว่าที่ผมสรุปมาดังข้อความข้างต้นน่าจะเพียงพอแล้ว
ลัทธิบูชาผลงานในสก็อตแลนด์
ลัทธิบูชาผลงานแพร่เข้าไปในสก็อตแลนด์พร้อมกันกับในอังกฤษ โดยรัฐบาลมีนโยบายเลิกใช้การควบคุมปัจจัยนำเข้า ในปี 1997 หันไปควบคุมปัจจัยขาออกหรือผลลัพธ์แทน โดยใช้นโยบายที่เรียกว่า Quality Improvement Initiative ใช้กลไกของระบบรับผิดรับชอบภายนอก ตามแนวลัทธิบูชาผลงานคือ (๑) ประเมินโรงเรียนด้วยผลการสอบ ที่เรียกว่า summative evaluation (๒) เน้นกลไกตรวจสอบภายนอก และ (๓) กลไกตลาด การแข่งขัน ทั้งหมดนั้น ใช้กลไกราชการเข้าไปควบคุมให้ปฏิบัติตาม นำสู่การสร้างผลงานหลอกๆ และคดโกง
เพื่อควบคุมปัจจัยขาออก ปัจจัยที่ ๑ คือการวัดผลงาน ในขณะที่ในอังกฤษ มีการจัดทำตารางจัดระดับ (league table) โรงเรียน อย่างเป็นทางการ สก็อตแลนด์ไม่มี แต่ก็มีภาคเอกชนจัดทำ และมีผลต่อพฤติกรรมของโรงเรียนอย่างมาก และมีผลลดทอนความเป็นผู้ก่อการของครู
การควบคุมปัจจัยขาออกปัจจัยที่ ๒ คือระบบตรวจสอบ (inspection) มีการจัดทำดัชนีวัดความสำเร็จ (performance indicators) และระบบประเมินตนเอง รวมทั้งระบบตรวจสอบเพื่อพัฒนาคุณภาพ (quality improvement audit) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเปลี่ยนแนวทางการทำหน้าที่ จากหน้าที่สนับสนุน มาเป็นทำหน้าที่ตรวจสอบ
ในสก็อตแลนด์การควบคุมปัจจัยขาออกปัจจัยที่ ๓ คือกลไกตลาด ไม่ค่อยชัด เพราะมีกลไกควบคุมจากส่วนกลางอย่างเข้มงวด ซึ่งก่อผลร้ายต่อการสนองความต้องการของนักเรียนจำนวนหนึ่ง
ระบบการศึกษาในสก็อตแลนด์มีลักษณะพิเศษ ๓ ประการคือ (๑) การปฏิบัติตามกฎระเบียบ (๒) การควบคุมจากส่วนกลาง และ (๓) การจัดการการเปลี่ยนแปลงแบบเส้นตรง (หมายความว่าไม่คำนึงถึงความซับซ้อนของการศึกษา) มีการกำหนดตัวชี้วัดระดับคุณภาพ และโรงเรียนต้องรายงานข้อมูลหลักฐานแสดงคุณภาพของตน นำไปสู่ความเสี่ยงของการสร้างข้อมูลหลอกๆ ฟังดูคุ้นๆ นะครับ
ลัทธิบูชาผลงานกับความเป็นผู้ก่อการของครู
อุดมการณ์ของการศึกษาและความเป็นครู มีความขัดแย้งกับลัทธิบูชาผลงานอย่างชัดเจน ในอังกฤษและสก็อตแลนด์มีกระแสคัดค้าน หรือเตือนสติ ให้เห็นผลร้ายของลัทธิบูชาผลงานในระบบการศึกษา น่าสนใจมากว่าวงการวิชาการด้านการศึกษาไทยไม่เคยศึกษาเรื่องนี้ในบริบทไทยเลย
วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพที่ต้องทำงานกับความซับซ้อน หรือทำงานในสภาพที่มีความซับซ้อนสูง ครูต้องทำงานไปใคร่ครวญสะท้อนคิดไป ซึ่งหมายความว่าต้องตั้งคำถามต่อสภาพที่ตนเผชิญ และต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับการสร้างการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษา ไปสู่การเรียนการสอนแบบสานเสวนา (dialogic pedagogies) เรียนรู้เชิงรุก (active learning) จัดการเรียนรู้เฉพาะคน (individualized learning) และให้ผู้เรียนมีอิสระ หรือเป็นตัวของตัวเอง (student autonomy) ลัทธิบูชาผลงานเป็นตัวปิดกั้นการแสดงบทบาทเหล่านี้ ทีมวิจัยในโครงการ Teacher Agency and Curriculum Change จึงศึกษาเรื่องลัทธิบูชาผลงานใน ๓ โรงเรียนในโครงการวิจัย นำมาเสนอ
ลัทธิบูชาผลงานในโรงเรียนประถม
ที่จริงโรงเรียนประถมในสก็อตแลนด์ได้ดำเนินการตามอุดมการณ์ของหลักสูตรใหม่ Curriculum for Excellence มาเป็นเวลานาน เป็นที่พูดกันในสก็อตแลนด์ว่า “โรงเรียนประถมสอนเด็ก โรงเรียนมัธยมสอนวิชา” แต่เมื่อหลักสูตรใหม่มาถึงโรงเรียนประถมในเมือง ครูทั้งสองคนในโครงการวิจัยส่ออาการวิตก ไม่มั่นใจตนเอง ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะจริงๆ แล้วหลักสูตรใหม่ให้อิสระให้ครูคิดหลักสูตรเอง และคิดวิธีประเมินเอง
ครูทั้งสองคน รวมทั้งผู้บริหาร ยังคงยึดติดอยู่กับหลักสูตรเก่า ที่เน้นการประเมินตรวจสอบระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนอย่างเคร่งครัด ในเมื่อหลักสูตรใหม่ไม่มีเกณฑ์ประเมินมาให้ชัดๆ ครูก็อึดอัด เพราะต้องคิดวิธีประเมินเอง สะท้อนระดับความเป็นผู้ก่อการต่ำ ที่สั่งสมมาจากอิทธิพลของลัทธิบูชาผลงานที่หลักสูตรเก่าบ่มเพาะไว้
ที่จริงโรงเรียนแห่งนี้ มีชื่อเสียงว่าเป็นโรงเรียนคุณภาพสูง แม้จะรับเด็กมาจากพื้นที่ที่พ่อแม่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ และครูทั้งสองก็มีความมุ่งมั่นในอาชีพครู เพื่อมุ่งสร้างความเท่าเทียม ความเป็นธรรมในสังคม แก้ปัญหาความด้อยโอกาส และส่งเสริมให้เกิดการยกฐานะในสังคม รวมทั้งครูทั้งสองมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อนักเรียนให้ดีที่สุด
แต่ความเคยชินอยู่กับระบบนิเวศของการทำงานเพื่อสนองหน่วยเหนือ หรือแรงกดดันจากภายนอกโรงเรียน และวัฒนธรรมเน้นผลงาน ทำให้ครูไม่คุ้นเคยกับการทำงานแบบคิดริเริ่มสร้างสรรค์เอง เมื่อหลักสูตรใหม่เปิดทางให้ ก็ทำไม่ถูกและกังวลใจ นี่คือสภาพที่ลัทธิบูชาผลงานได้สร้างความอ่อนแอในมิติการเป็นผู้ก่อการไว้ให้แก่ครูที่เป็นครูดี
เพราะผู้บริหารโรงเรียนเป็นห่วงเรื่องผลการเรียนของนักเรียน จึงนำเครื่องมือ InCAS มาใช้ ยิ่งมีผลให้ครูต้องเสียเวลาไปกับการจัดการทดสอบ และเป็นสภาพ “สอนเพื่อสอบ” เข้าไปอีก ซึ่งไม่ตรงกับเป้าหมายของหลักสูตรใหม่
อิทธิพลของลัทธิบูชาผลงาน ทำให้ฝ่ายบริหารกำกับการทำงานของครูด้วยตารางการทำงาน และการตรวจสอบเข้มงวด แถมสำนักงานพื้นที่การศึกษาก็เข้ามาติดตามตรวจสอบ ในลักษณะของการกำกับผลลัพธ์ (output regulation) ทำให้บรรยากาศการทำงานอยู่ในสภาพที่มีความไว้วางใจต่ำต่อครู ยิ่งลดทอนหรือปิดกั้นความเป็นผู้ก่อการของครู
ลัทธิบูชาผลงานในโรงเรียนมัธยมสองแห่ง
ได้กล่าวแล้วว่าหลักสูตรใหม่ Curriculum for Excellence มีแนวโน้มจะสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของโรงเรียนระดับประถมศึกษา แต่โรงเรียนประถมในโครงการวิจัย Teacher Agency and Curriculum Change กลับรวนเรจากการเข้ามาของหลักสูตรใหม่ เพราะครูโดนลัทธิบูชาผลงานกระทำ จนความเป็นผู้ก่อการมีระดับต่ำ จึงน่าจะคาดกันว่า โรงเรียนมัธยมทั้งสองแห่งน่าจะยิ่งซวดเซหนักกว่า แต่ผลการวิจัยบอกว่า มีอยู่โรงเรียนหนึ่งที่เป็นข้อยกเว้น เพราะครูในโรงเรียนแห่งนี้มีปฏิสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นต่อกัน ทำให้ครูมีระดับความเป็นผู้ก่อการสูงมาก และร่วมกันรับมือหลักสูตรใหม่ได้โดยง่าย
หมายความว่า ในโรงเรียนแห่งนี้ ปฏิสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นต่อกันระหว่างครู และระหว่างครูกับผู้บริหาร ทำให้อิทธิพลของปฏิสัมพันธ์ และความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เอาชนะอิทธิพลของลัทธิผลงานได้ ในเรื่องการส่งผลต่อการเป็นผู้ก่อการของครู
สภาพของโรงเรียนชั้นมัธยมในสก็อตแลนด์ เน้นการสอนวิชาสำหรับนำไปสอบให้ได้คะแนนสูง ช่วยให้สถิติผลงานของโรงเรียนดี สาระในหนังสือ Teacher Agency สะท้อนภาพการศึกษาของสก็อตแลนด์อย่างหมดเปลือก เขาบอกว่า ในระดับมัธยมศึกษา พฤติกรรมของชั้นสูงกว่าเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของชั้นต่ำกว่า (principle of downward incrementalism) คือการเรียนการสอนในชั้น ม. ต้น (ม. ๑ และ ๒) ถูกกำหนดโดยความต้องการของชั้น ม. ปลาย เพราะเด็กต้องการเอาผลการเรียนไปเลือกสายเรียนต่อในชั้น ม. ปลาย และโรงเรียนมักให้นักเรียนเลือกสายตั้งแต่จบชั้น ม. ๑ ไม่ใช่เลือกตอนจบชั้น ม. ๒ ด้วยเหตุผลว่า ช่วยให้เด็กตั้งใจเรียนและผลการเรียนดีขึ้น จะเห็นว่าลัทธิบูชาผลงานมีอิทธิพลสูงมาก
ครูเคทแห่งโรงเรียนเชิงเขา กล่าววาทกรรมตอนหนึ่งว่า โรงเรียนไม่น่าจะส่งนักเรียนที่ไม่พร้อมเข้าสอบ เพราะจะทำให้สถิติผลงานของโรงเรียนดูไม่ดี สะท้อนวิธีคิดตามวัฒนธรรมบูชาผลงาน และผลประโยชน์ของโรงเรียนมาก่อนผลประโยชน์ของนักเรียน
เรื่องที่ก่อความอึดอัดแก่ครูมากคือการตรวจสอบ (inspection) ซึ่งในสก็อตแลนด์ การตรวจสอบโรงเรียนมี ๓ ระดับ คือระดับชาติ ระดับพื้นที่การศึกษา และระดับภายในโรงเรียน ระบบตรวจสอบภายในโรงเรียนเรียกว่า observation และทำโดยฝ่ายบริหาร ในโรงเรียนมัธยมมีการตรวจสอบระดับสาขาวิชา ทำโดยหัวหน้าสาขาวิชา
ครูของโรงเรียนชายทะเลสาบทั้งสองคนกล่าวตรงกันว่า ครูไม่ควรต้องเตรียมตัวรับการตรวจสอบ คือผู้ตรวจสอบอยากมาตรวจเมื่อไรก็มาได้เลย เพราะห้องเรียนเป็นสถานที่เปิดอยู่แล้ว เป็นท่าทีที่น่าชื่นชมยิ่ง สะท้อนการเป็นครูที่ทำงานจริง จึงไม่คิดเอาผักชีโรยหน้ารับการตรวจสอบ แต่ครูซูซานแห่งโรงเรียนชายทะเลสาบบอกว่าการตรวจสอบของพื้นที่การศึกษาได้เปลี่ยนไป จากเดิมเป็นการตรวจสอบเพื่อสนับสนุนส่งเสริม กลายเป็นตรวจสอบเพื่อควบคุม ไม่มีการให้คำแนะนำป้อนกลับเพื่อการพัฒนา ที่ร้ายคือผู้ตรวจการณ์เหล่านี้ไม่รู้จริง ไม่ได้ทำงานสอนมานานหลายปีแล้ว
หลักสูตรใหม่ Curriculum for Excellence เน้นให้ความเป็นอิสระแก่ครู จึงขัดแย้งกับวัฒนธรรมบูชาผลงาน (performativity) อย่างจัง ทำให้ครูบอกว่าตนชอบการให้อิสระ แต่ก็กลัวที่จะลงมือดำเนินการเพราะห่วงเรื่องการตรวจสอบที่ยังคงเดิม
สรุป
เรื่องราวทั้งหมดนี้สะท้อนนโยบายที่ขัดกันระหว่างหลักสูตร Curriculum for Excellence กับลัทธิบูชาผลงานและการตรวจสอบ ก่อสภาพยากลำบากแก่ครู คือครูต้องทำงานอยู่ภายใต้สองนโยบายที่ขัดกันเอง และเนื่องจากครูคุ้นกับสภาพการทำงานแบบควบคุมสั่งการจากส่วนกลางภายใต้ลัทธิผลงานมานาน ๒๐ ปี จึงบั่นทอนความเป็นผู้ก่อการลงไป ทำให้ไม่กล้าดำเนินการตามแนวของหลักสูตรใหม่ สภาพนี้ไม่รุนแรงในโรงเรียนริมทะเลสาบ เพราะความสัมพันธ์แนวราบระหว่างผู้บริหารกับครู ก่อความไว้วางใจระหว่างกันในกลุ่มครูและผู้บริหาร ทำให้ครูในโรงเรียนนี้แสดงพฤติกรรมและวาทกรรมของผู้ก่อการออกมา
สามารถอ่านบทความ เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ ตอนที่ 1 – 6 ได้ที่นี่
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 1.ปณิธานสู่ระบบการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 ของไทย – The Potential
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 2. ครูผู้ก่อการคือใคร เกิดขึ้นได้อย่างไร – The Potential
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 4. ความเชื่อและปณิธานความมุ่งมั่นของครู – The Potential
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 5. คลังคำและวาทกรรมของครู – The Potential
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 6. คุณค่าของปฏิสัมพันธ์ – The Potential