- Inside Out บอกเล่าเรื่องราวของไรลีย์ แอนเดอร์สัน เด็กหญิงวัย 11 ปีที่มีชีวิตแสนสุขในรัฐมินนิโซตา ภายใต้การควบคุมดูแลของอารมณ์ทั้งห้า ได้แก่ ลั้ลลา เศร้าซึม ฉุนเฉียว หยะแหยง และกลั๊วกลัว
- วันหนึ่งครอบครัวของไรลีย์จำเป็นต้องย้ายบ้านไปอยู่ที่ซานฟรานซิสโก ทำให้ไรลีย์ต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ และเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่ทำให้เราเห็นบทบาทของอารมณ์ต่างๆ
- จุดน่าสนใจอยู่ที่วันหนึ่งเมื่อลั้ลลาคิดว่าเศร้าซึมนั้นเป็นอารมณ์ส่วนเกิน จึงพยายามขัดขวางไม่ให้เศร้าซึมเข้าควบคุมความคิดของไรลีย์ จนนำมาสู่เรื่องราวชุลมุนและตอนจบสุดประทับใจ
เวลารู้สึกเศร้าใจกับปัญหาชีวิต คุณจะระบายให้ใครฟัง?
สำหรับผม ผมมักเลือกระบายปัญหาของผมกับเสียงในหัวของตัวเอง ซึ่งหลักๆ จะมีเสียงของคนโลกสวยและเสียงของคนคิดลบที่คอยรับฟังและเกลี้ยกล่อมความคิดของผมให้เอนเอียงไปมา สลับกันแพ้สลับกันชนะ และให้คำตอบในชีวิตที่ถูกบ้างผิดบ้างคละเคล้ากันไป
ผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านก็มีความคิดที่ต่อสู้กันในหัวแบบนี้เช่นกัน และความคิดดังกล่าวทำให้ผมหวนนึกถึงเรื่องราวของ ‘ไรลีย์ แอนเดอร์สัน’ เด็กหญิงวัย 11 ปีจากภาพยนตร์เรื่อง Inside Out
ไรลีย์เกิดในรัฐมินนิโซตาทางตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา เธอมีพ่อแม่ที่ให้ความรักความอบอุ่น มีธรรมชาติสวยๆ รายล้อม รวมถึงมิตรภาพอันแน่นแฟ้นจากเพื่อนๆ ทีมฮอกกี้ ทำให้ชีวิตตลอด 11 ปีของหนูน้อยเปี่ยมไปด้วยความทรงจำแห่งความสุข
สิ่งที่น่าสนใจในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการเล่นกับอารมณ์ของสาวน้อยตลอดทั้งเรื่อง โดยเปรียบให้สมองของไรลีย์เป็นดั่งศูนย์บัญชาการทางอารมณ์ ซึ่งมีตัวละครอย่าง เศร้าซึม (Sadness) ฉุนเฉียว (Anger) หยะแหยง (Disgust) กลั๊วกลัว (Fear) และหัวหน้าอย่าง ลั้ลลา (Joy) คอยกำหนดพฤติกรรมของไรลีย์ผ่านแผงควบคุม
1
ตอนไรลีย์ลืมตาขึ้นครั้งแรก เธอไม่รู้เลยว่าเธอเกิดมาพร้อมกับ ‘ลั้ลลา’ หรืออารมณ์แห่งความเบิกบานใจ ผู้ทำหน้าที่บันทึกความทรงจำ รวมถึงคอยหาแผนการที่ช่วยให้ชีวิตของไรลีย์มีแต่ความสุข
เมื่อไรลีย์เติบโตขึ้น สมองของเธอก็เริ่มให้กำเนิดอารมณ์ที่หลากหลายขึ้น อย่างเช่น หากไรลีย์ถูกบังคับให้กินผัก ‘หยะแหยง’ จะทำหน้าที่ต่อต้านผัก ด้วยเหตุผลว่าในผักอาจมีสารพิษเจือปน และหากพ่อแม่ยังคงดึงดันป้อนผักหรือบังคับให้ไรลีย์กินต่อไป ‘ฉุนเฉียว’ ก็จะรับช่วงต่อเข้ามาบังคับแผงควบคุม ด้วยการคว่ำจานอาหารทิ้งจนผักกระจัดกระจายไปทั่วพื้น
เรียกได้ว่าอารมณ์แต่ละอารมณ์ต่างสนับสนุนซึ่งกันและกัน จนเป็นที่มาของพฤติกรรม ‘ยี้ผัก’ ของไรลีย์
แต่ลำพังแค่อารมณ์เหล่านี้ ภาพยนตร์คงจืดชืดชวนง่วงนอน ดังนั้นผมจึงรู้สึกสนใจเป็นพิเศษกับการปรากฏตัวของ ‘เศร้าซึม’ ซึ่งหัวหน้าอย่างลั้ลลามองว่าเป็นส่วนเกินและไม่จำเป็นกับไรลีย์สักนิด
แล้วความเปลี่ยนแปลงก็มาถึง เมื่อวันหนึ่งพ่อของไรลีย์ต้องย้ายไปทำงานที่ซานฟรานซิสโก ทำให้ไรลีย์และแม่จำต้องย้ายตามออกไป
ด้วยความที่ซานฟานซิสโกเป็นเมืองดังและผู้คนแออัดพลุกพล่านกว่ามินนิโซตา ทำให้ไรลีย์ต้องเผชิญกับความไม่คุ้นชินหลายอย่าง ลั้ลลาจึงทำการบ้านอย่างหนักเพื่อให้ไรลีย์ผ่านพ้นแต่ละวันไปอย่างราบรื่นและมีความสุข
ฉากแรกที่อยากพูดถึงคือ ฉากเล็กๆ ซึ่งอารมณ์ทุกตัวต่างวุ่นวายกับการทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้กับการไปโรงเรียนใหม่วันแรกของไรลีย์ ยกเว้นเศร้าซึมที่เดินคอตกเพราะไม่รู้จะช่วยอะไร ลั้ลลาจึงเดินมามอบหมายภารกิจโดยขีดเส้นวงกลมให้กับเศร้าซึม พร้อมกำชับให้เศร้าซึมยืนอยู่ในนั้น
น่าสงสารเศร้าซึม เพราะนอกจากไม่มีหน้าที่ให้ทำแล้วยังถูกกักบริเวณแบบเนียนๆ ลั้ลลามองว่าเศร้าซึมเป็นส่วนเกินที่ไร้ประโยชน์ แต่เมื่อพิจารณาดูอีกครั้งหลังชมภาพยนตร์จบ ผมกลับนึกถึงฉากดังกล่าวบ่อยที่สุด เพราะสิ่งที่ลั้ลลาทำนั้นไม่ต่างอะไรกับการทำให้ไรลีย์เป็นเด็กที่ ‘เก็บกด’ โดยไม่รู้ตัว ซึ่งความเก็บกดทางอารมณ์นี้ สามารถพัฒนาไปสู่ปัญหาทางสุขภาพจิตในอนาคต
นอกจากภาวะเก็บกดทางอารมณ์แล้ว ลั้ลลาคล้ายเป็นตัวแทนของความเชื่อที่มองว่า ‘เป็นเด็กต้องยิ้มแย้มแจ่มใส’ ‘ห้ามงอแง’ ‘ห้ามเศร้า’ ฯลฯ ดังนั้น สำหรับลั้ลลา…เศร้าซึมจึงเป็นเหมือนวายร้ายที่ควรอยู่ห่างจากแผงควบคุมให้มากที่สุด
2
ไม่เพียงแค่ลั้ลลาที่ปรารถนาให้ไรลีย์มีแต่ความสุข แม่ของไรลีย์เองก็มักบอกกับเธอแบบนั้น ซึ่งหากย้อนไปดูงานวิจัยด้านความสุขของหลายๆ ประเทศจะพบว่ายิ่งคนเราตั้งเป้าหมายให้ตัวเองมีความสุขเท่าไหร่ พวกเขาก็มักจะทุกข์และห่างเหินกับความสุขมากขึ้นเท่านั้น
ด้วยความที่ไรลีย์เป็นลูกประเภทเลี้ยงง่ายเชื่อฟัง ทำให้ผมรู้สึกว่ายิ่งไรลีย์พยายาม ‘ฝืนยิ้ม’ เวลาที่พ่อยุ่งกับงานจนไม่มีเวลาให้เธอ หรือตอนเหงาๆ เซ็งๆ เธอก็พยายามหาเรื่องทำเพื่อเบี่ยงเบนอารมณ์นั้น ด้วยการชวนแม่ออกไปกินพิซซ่าเพื่อเติมความสุขเล็กๆ น้อยๆ แต่กลับหนีเสือปะจระเข้เพราะพิซซ่าที่ร้านมีแต่หน้าผัก ทำให้สีหน้าเปื้อนยิ้มของเธอหม่นหมองอย่างเห็นได้ชัด
ยิ่งเวลาผ่านไป พ่อของไรลีย์ก็ดูจะวุ่นวายกับงานมากขึ้นจนละเลยที่จะเล่นหรือแม้แต่ส่งไรลีย์เข้านอน ส่วนความสัมพันธ์กับเพื่อนที่โรงเรียนก็ไม่สู้ดีนัก เพราะไรลีย์ไม่มีเพื่อนและกินข้าวเที่ยงคนเดียวประจำ
เช่นเดียวกับสถานการณ์ของอารมณ์ภายในที่ชุลมุนสุดขีด เมื่อลั้ลลาและเศร้าซึมทะเลาะกันจนมีเหตุให้ทั้งคู่ถูกระบบความจำดูดหายไปจากศูนย์บัญชาการ แผงควบคุมจึงขาดผู้นำ และเป็นฉุนเฉียวที่ทำให้ไรลีย์ตระหนักว่าที่ผ่านมาเธอเครียดและเก็บกดแค่ไหนกับการปรับตัวกับชีวิตในซานฟรานซิสโก
เมื่อคนเราเครียดหรือโกรธเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผมมองว่าเป็นธรรมดาที่เรามักจะหาผู้ร้าย ซึ่งสำหรับไรลีย์ ตัวร้ายที่พรากความสุขของเธอไปคือ ‘พ่อกับแม่’ ที่ย้ายเมืองโดยไม่ถามความรู้สึกเธอสักคำ ดังนั้นไรลีย์จึงวางแผนหนีออกจากบ้านเพื่อกลับไปยังมินนิโซตาอีกครั้ง
ฟากลั้ลลากับเศร้าซึมก็พยายามร่วมมือหาทางกลับไปยังศูนย์บัญชาการอีกครั้ง ซึ่งโชคดีที่ทั้งคู่พบกับ ‘บิงบอง’ หรือเจ้าช้างในจินตนาการที่ไรลีย์ในวัยเด็กสมมติขึ้นเพื่อเป็นเพื่อนเล่นของเธอยามต้องอยู่คนเดียว
บิงบองอาสานำทั้งคู่ไปขึ้นรถไฟเพื่อกลับไปยังศูนย์บัญชาการ แต่ระหว่างทาง บิงบองพบว่าพาหนะคู่กายของตัวเองถูกเจ้าหน้าที่ความทรงจำกวาดต้อนลงไปในเหวลึก ทำให้บิงบองทรุดตัวนั่งอย่างหมดอาลัยตายอยาก
เช่นนี้ ลั้ลลาที่ใจร้อนอยากรีบกลับศูนย์บัญชาการเต็มทนจึงรีบเข้าไปปลอบบิงบองในสไตล์ตัวเอง เช่น การทำท่าตลกโปกฮา หรือการชวนให้บิงบองมองโลกในแง่ดี ไม่ต้องคิดมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทว่ากลับไม่ช่วยให้บิงบองรู้สึกดีขึ้น ซ้ำยังดูเสียใจมากกว่าเดิม
“เฮ้ ไม่เป็นอะไรหรอก พวกเราแก้ไขได้ แค่ต้องกลับไปศูนย์สั่งการ สถานีรถไฟไปตรงไหน…หรือจะเล่นเกมนี้ไหมล่ะ เกมนี้สนุกนะ เธอชี้ทางสถานีรถไฟแล้วเราก็ไปกันเลย สนุกไหมล่ะ เร็วเลยไปสถานีรถไฟกัน”
ผมรำคาญความเห็นแก่ตัวของลั้ลลาในฉากนี้มาก เพราะเธอไม่เพียงเข้าไปปลอบใจเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่ยังทำแบบขอไปที โดยไม่คำนึงถึง ‘กาลเทศะ’ และ ‘หัวใจอันบอบช้ำ’ ของบิงบองสักนิด
กลับกันผมเริ่มรู้สึกรักตัวละครอย่างเศร้าซึมมากขึ้น เพราะหลังจากลั้ลลาล้มเหลว เศร้าซึมก็เดินเข้าไปหาบิงบองด้วยสีหน้าสำรวมและเศร้าสลด
“เสียใจด้วย เขาเอาจรวดไป เขาเอาของรักนายไป หมดเลยไม่เหลือเลย เสียใจด้วย…นายกับไรลีย์เคยผจญภัยด้วยกันสนุกมากเลย”
นอกจากการแสดงความเสียใจแล้ว เศร้าซึมได้ทำหน้าที่ของเพื่อนอย่างสมบูรณ์แบบด้วยการรับฟังบิงบองระบายความทุกข์อย่างตั้งใจ พร้อมกับกล่าวสนับสนุนสิ่งที่บิงบองพูดอย่างรู้จังหวะ กระทั่งบิงบองรู้สึกดีขึ้น นั่นเพราะเวลาเสียใจสิ่งที่เราต้องการคือคนที่เข้าใจมากกว่าคนที่ทำตัวเป็นผู้พิพากษา
3
ลั้ลลากับเศร้าซึมหาทางกลับศูนย์บัญชาการได้ในช่วงที่ไรลีย์กำลังขึ้นรถบัสเพื่อหนีพ่อแม่ไปยังมินนิโซตา พวกอารมณ์ตัวน้อยจึงรีบบอกลั้ลลาให้รีบแก้สถานการณ์ที่แผงควบคุม แต่ลั้ลลากลับยกหน้าที่นี้ให้เศร้าซึม เพราะลั้ลลาได้ทำลายอคติในใจตัวเองและเรียนรู้ว่าความเศร้าไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เพียงแต่ต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากความเศร้าในเวลาที่เหมาะสม
“เธอทำได้ ไรลีย์ต้องการเธอ” ลั้ลลาให้กำลังใจเศร้าซึม
หลังคำพูดของลั้ลลา ผมสังเกตว่าเศร้าซึมมีสีหน้าที่มั่นใจมากขึ้น ก่อนช่วยเพื่อนๆ ยับยั้งการหนีของไรลีย์ได้สำเร็จ และตัดสินใจรวมพลังกับลั้ลลาในการบรรจุพลังแห่งความสุขและความเศร้าผสมผสานในความทรงจำวัยเด็กอันแสนอบอุ่น ทำให้ไรลีย์รีบวิ่งกลับบ้านและโผกอดพ่อแม่ด้วยความรู้สึกที่แสนวิเศษ
นอกจากการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้สำเร็จ ลั้ลลาเองก็ตระหนักถึงความสำคัญของเศร้าซึมมากขึ้น หลังตรวจพบว่าหนึ่งในความทรงจำหลักที่ไรลีย์มีความสุขที่สุด คือภาพตอนที่ไรลีย์อยู่รัฐมินนิโซตาและกอดกับพ่อแม่ใต้ต้นไม้ ก่อนถูกเพื่อนๆ วิ่งมาห้อมล้อมพร้อมกับยกไรลีย์โยนขึ้นฟ้าในชุดฮอกกี้ราวกับกำลังเฉลิมฉลองอะไรสักอย่าง
ด้วยความสงสัยว่าอะไรทำให้ไรลีย์มีความสุขขนาดนี้ ลั้ลลาจึงย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ก่อนหน้า
ภาพของไรลีย์ที่พลาดการทำคะแนนสำคัญในสนามฮอกกี้จนทีมของเธอพ่ายแพ้ เวลานั้นเศร้าซึมได้เข้ามาควบคุมให้ไรลีย์ร้องไห้ออกมาเพื่อระบายความผิดหวัง ทำให้พ่อแม่กับเพื่อนๆ ของเธอรับรู้ถึงความรู้สึกนั้น และรีบเข้ามาปลอบประโลมไรลีย์จนเธอรู้สึกดีขึ้น ก่อนหัวเราะได้อีกครั้งท่ามกลางผู้คนที่รักเธอ
หลังจากชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมมองว่าอารมณ์เศร้าโศกเสียใจไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไป แต่การปล่อยให้อารมณ์ชี้นำชีวิตต่างหากคือปัญหา
ดังนั้นหากเราสามารถเผชิญกับอารมณ์แต่ละชนิดอย่างมีสติและเท่าทัน โกรธในเวลาที่ต้องปกป้องตัวเอง ร้องไห้เวลาที่อ่อนแอ กลัวในสิ่งที่อาจเป็นภัยในอนาคต หรือแม้แต่เศร้าเพื่อให้รู้ว่าบางครั้งเราต้องการกำลังใจ เพราะมันอาจทำให้เราได้พบเพื่อนแท้ที่มี ‘ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น’ (Empathy) เหมือนกับที่เศร้าซึมมีให้กับบิงบอง
Inside Out เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันระดับมาสเตอร์พีซของค่าย Pixar (Disney) ที่คว้ารางวัลออสการ์และลูกโลกทองคำ สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม ในปีพ.ศ. 2559 โดยได้ Pete Doctor (“Up” , “Monster,Inc.”) นั่งแท่นผู้กำกับ |